สามที่ปรึกษาประธานอาเซียน กับมุมมองต่อรัฐบาลทหารที่แตกต่าง จะร่วมมือแก้ปัญหาในพม่าได้อย่างไร
...
LATEST
Summary
- นายกรัฐมนตรี อันวา อิบราฮิม ของมาเลเซีย ประกาศว่าจะแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ จอร์จ เอี่ยว และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เรตโน มาร์ซูดี เป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของประธานอาเซียน
- ประเด็นสำคัญที่สุดที่อาเซียนต้องร่วมแก้ปัญหาคือ วิกฤตการณ์ในพม่า แต่ทั้งสามนักการเมืองระดับสูงซึ่งจะเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ก็มีแนวทางและมุมมองต่อพม่าที่แตกต่างกัน
- ข้อสังเกตสำคัญคือ ในกรณีของทักษิณ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำรัฐบาลทหารพม่า รวมทั้งไทยก็มีแนวคิดเอนเอียงไปทางจีน ดังนั้น หากจีนเข้ามามีอิทธิพล การทำงานของกลุ่มอาเซียนก็อาจไร้ความหมาย
...
นายกรัฐมนตรี อันวา อิบราฮิม ของมาเลเซีย ประกาศเอาไว้เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่าจะแต่งตั้งอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร, อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ จอร์จ เอี่ยว (George Yeo) และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เรตโน มาร์ซูดี (Retno Marsudi) เป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของประธานอาเซียน เพื่อช่วยให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ที่เป็นกิจการงานของกลุ่มอาเซียน
แม้ว่าอาเซียนจะเคยมีประเพณีในการคัดเลือกให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์จากประเทศสมาชิกให้มาช่วยให้คำแนะนำปรึกษาหารือ หรือที่รู้จักกันในนามของ Eminent Person’s Group แต่ก็เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระยะสั้นที่ประธานอาเซียนจะเลือกอดีตผู้นำหรือรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอื่นมาเป็นที่ปรึกษา
อันวา อิบราฮิม
อันวาได้พบกับทักษิณครั้งหนึ่งเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2024 สื่อมวลชนรายงานว่าทั้งสองได้หารือกันในหลายเรื่อง รวมทั้งปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ของไทยและวิกฤตการณ์พม่า แต่ก็ยังไม่เป็นที่รับรู้แน่ชัดว่านายกรัฐมนตรีอันวา ในฐานะประธานอาเซียน ต้องการจะให้ที่ปรึกษาทั้งหลายของเขาทำอะไร และยังไม่นับว่าจะทำอะไรได้แค่ไหนอีกด้วย
อาเซียนมีประเด็นปัญหามากมายที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ที่ถือว่าเร่งด่วนและวิกฤติที่สุดเห็นทีจะหนีไม่พ้นปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในพม่าซึ่งยืดเยื้อเข้าขั้นสงครามกลางเมือง สร้างผลกระทบต่อภูมิภาคในวงกว้าง จนหลายประเทศสมาชิกอาเซียนต้องการและจำเป็นจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าด้วยประสบการณ์แนวคิดและแนวทางที่แตกต่างกันอย่างมากของที่ปรึกษาทั้งสามคนจะเสนอทางเลือกแบบไหนให้กับประธานอาเซียนในการแก้ไขปัญหาพม่า
ทักษิณ ชินวัตร
อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณอยู่ในตำแหน่งระหว่างปี 2001-2006 ซึ่งก็เป็นห้วงเวลาที่รัฐบาลทหารพม่าภายใต้การนำของ ตัน ฉ่วย มีความขัดแย้งกับ ออง ซาน ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) อย่างมาก โดยเฉพาะฝ่ายหลังถูกจับกุมและกักขังในบริเวณบ้านอยู่นานหลายปี
รัฐบาลไทยภายใต้การนำของทักษิณได้ริเริ่มแผนสันติภาพที่รู้จักกันในชื่อ Bangkok Process ขึ้นมาในปี 2003 ด้วยวัตถุประสงค์ช่วยไกล่เกลี่ยสันติภาพและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในพม่า แม้ว่าความพยายามครั้งนั้นจะไม่บรรลุผลทันที แต่ก็ส่งเสริมให้ฐานะของประเทศไทยโดดเด่นไม่น้อย อีกทั้งทักษิณได้รักษาสายสัมพันธ์กับผู้นำทางทหารของพม่าเอาไว้อย่างต่อเนื่อง แม้แต่ในเวลาที่ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ปรากฏมีรายงานข่าวในปี 2013 ว่าทักษิณได้พบปะเป็นการส่วนตัวกับ มิน อ่อง หล่าย และช่วงสงกรานต์ปีที่แล้วปรากฏมีข่าวอีกว่า ทักษิณเชิญผู้แทนของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มมาพบเพื่อหารือเรื่องแนวทางในการสร้างสันติภาพ
จอร์จ เอี่ยว
จอร์จ เอี่ยว อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ น่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รับรู้และเกี่ยวข้องกับพัฒนาทางการเมืองพม่ายาวนานที่สุดคนหนึ่ง เพราะเขาอยู่ในตำแหน่งระหว่างปี 2004-2011 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กลุ่มอาเซียนทั้งผลักดันและกดดันให้รัฐบาลทหารพม่ายอมประนีประนอมและขับเคลื่อนประเทศไปสู่สันติภาพ ความปรองดอง และประชาธิปไตย เขามีส่วนสำคัญในการกดดันให้พม่ายอมสละตำแหน่งประธานอาเซียนจนกว่าจะพัฒนาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย กระทั่งพม่าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในปี 2008 และสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ได้ในปี 2010
อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ผู้นี้มีความเป็นนักการทูตมืออาชีพ เขาไม่ปฏิเสธบทบาททางการเมืองของทหารพม่า แต่ในทำนองเดียวกัน จอร์จ เอี่ยว ไม่ได้มีความคิดว่าจะต้องเอาอกเอาใจรัฐบาลทหารเสมอไป บางเวลาเขาเรียกร้องให้กลุ่มอาเซียนออกแรงกดดันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้วยซ้ำ
เรตโน มาร์ซูดี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย อยู่ในตำแหน่งระหว่างปี 2014-2024 มีประสบการณ์กับปัญหาพม่าร่วมสมัยปัจจุบัน เธอเป็นผู้ที่มีจุดยืนต่อรัฐบาลทหารพม่าแข็งกร้าวที่สุด และเป็นคนเดียวในบรรดาที่ปรึกษาสามคนของประธานอาเซียนที่ได้เคยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารพม่าอย่างเสมอต้นเสมอปลายและมีความโน้มเอียงที่จะเห็นอกเห็นใจฝ่ายต่อต้านมากที่สุดเช่นกัน
เรตโน มาร์ซูดี
มาร์ซูดีเรียกร้องให้กลุ่มอาเซียนเปิดการติดต่อกับฝ่ายต่อต้านอย่างเปิดเผยเพื่อรับฟังข้อเรียกร้องต้องการของพวกเขา สื่อมวลชนรายงานว่าระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งเธอได้พบปะกับทุกฝ่ายที่มีส่วนได้เสียในวิกฤตการณ์พม่าทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่า 300 ครั้ง
ควรจะกล่าวไว้ด้วยว่า ด้วยท่าทีซึ่งแข็งกร้าวต่อรัฐบาลสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และเห็นใจฝ่ายต่อต้านเช่นนั้น ทำให้เธอไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้นำทหารพม่าและสมาชิกอาเซียนบางประเทศเท่าที่ควร อินโดนีเซียจึงไม่สามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาในระหว่างที่เป็นประธานอาเซียนในปี 2023
แต่เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ก็ควรจะกล่าวด้วยว่าท่าทีแบบนั้นก็คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่าใดนัก เพราะประธานอาเซียนที่โน้มเอียงไปทางรัฐบาลทหารอย่างกัมพูชาและลาวก็ทำไม่สำเร็จเช่นกัน แม้จะมีโอกาสส่งผู้แทนไปเยือนเนปิดอว์ และพบกับ มิน อ่อง หล่าย ด้วยก็ตาม
บรรดาที่ปรึกษาของอันวามีจุดอ่อนและจุดแข็งต่างกันค่อนข้างมาก ผู้อาวุโสสูงสุดมากประสบการณ์อย่างทักษิณนั้นเป็นนักการเมืองสายสัจนิยม-ปฏิบัตินิยม เขาอาจจะมีเครือข่ายมากมายทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เข้าได้กับมหาอำนาจหลายฝ่าย ทั้งสหรัฐฯ จีน แม้แต่รัสเซีย แต่ด้วยความที่ทักษิณสนิทสนมกับ มิน อ่อง หล่าย เป็นการส่วนตัว อีกทั้งเคยมีผลประโยชน์ทางธุรกิจในพม่าอยู่ด้วย ทำให้เขาไม่ได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายต่อต้านและกลุ่มชาติพันธุ์มากนัก
คุณสมบัติและแนวทางของทักษิณตรงกันข้ามกับมาร์ซูดีซึ่งเป็นนักการเมืองที่เชิดชูหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ไม่ยอมประนีประนอมง่ายๆ มีแนวโน้มว่าคำแนะนำของเธอต่อประธานอาเซียนในกิจการพม่าอาจไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับทักษิณไปเลยก็เป็นได้ แต่การได้ จอร์จ เอี่ยว นักการทูตมืออาชีพที่เป็นสายกลางมาอยู่ในทีมที่ปรึกษาด้วยก็เป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด และอาจจะทำให้อันวาได้คำแนะนำที่สมดุล แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่า ทั้งสามคนจะยอมรับการนำและการตัดสินใจของอันวามากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายในการแก้ไขวิกฤติพม่าไม่ได้อยู่ที่ความเห็นและแนวทางแก้ปัญหาที่แตกต่างกันของบรรดาที่ปรึกษาเท่านั้น ท่าทีและนโยบายของประเทศสมาชิก ประกอบกับบทบาทของจีน ก็เป็นสิ่งท้าทายที่สำคัญเช่นกัน
รัฐบาลของหลายประเทศในอาเซียน เฉพาะอย่างยิ่งไทย ซึ่งรับอิทธิพลของทักษิณอยู่อย่างล้นเหลือ มีแนวทางและแนวโน้มเดินตามเกมของจีน คือจะแก้ไขปัญหาโดยยึดเอาสภาบริหารแห่งรัฐเป็นศูนย์กลาง และเจรจาบีบบังคับต่อรอง (deal) ให้บรรดาฝ่ายต่อต้านยอมรับการเลือกตั้งที่ มิน อ่อง หล่าย กำลังจะจัดให้มีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ไม่ว่ามันจะบริสุทธิ์ ยุติธรรม หรือเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมแค่ไหนหรือไม่ก็ตาม
ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับอันวาและอาเซียนด้วยว่าจะเลือกทางใด ถ้าปล่อยให้จีนและ มิน อ่อง หล่าย ดำเนินการตามแผนการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจจะเกิดสันติภาพและเสถียรภาพในพม่าระยะสั้น และสามารถหาทางออกให้กับทหารพม่าได้ แต่ผลที่ตามมาอาจทำให้พม่าไร้เสถียรภาพในระยะยาว เพราะต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงประการหนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ก่อนปี 2010 อย่างมาก คือ ฝ่ายต่อต้านและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์รุกคืบจนอาจจะถึงขั้น ‘ปลดปล่อย’ พื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ระบอบการปกครองของสภาบริหารแห่งรัฐเสื่อมทรุด เศรษฐกิจทรุดโทรม รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ต่อให้เป็นฝ่ายที่กองทัพให้การหนุนหลัง ไม่น่าจะบริหารประเทศได้ราบรื่น ก็จะทำให้ปัญหาวนกลับมาอยู่ที่เดิมอยู่นั่นเอง
ที่สำคัญ ถ้าหากกลุ่มอาเซียนปล่อยให้จีนชี้นำพม่าซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนได้เช่นนั้น กลุ่มอาเซียนก็หมดความหมาย ไร้ความน่าเชื่อถือ ทั้งในสายตาพม่าและในสายตานานาชาติ
