สงครามยูเครน-รัสเซียยังไม่จบง่ายๆ เพราะมีข่าวประเดิมต้นปี 2025 ว่าทหารเกาหลีเหนือถูกส่งไปช่วยกองทัพรัสเซียต่อสู้กับกองทัพยูเครนที่นำกำลังบุกภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซียในปฏิบัติการฉับพลันเมื่อปี 2024 และยังเป็นฝ่ายยึดครองพื้นที่ดังกล่าวอยู่จนถึงปัจจุบัน สะท้อนว่าความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างยูเครน-รัสเซียได้ลุกลามบานปลายไปยังประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาคอย่างชัดเจนยิ่งกว่าเดิม
โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน แถลงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ X เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลของเขาพร้อมแลกเปลี่ยนตัวทหารเกาหลีเหนือซึ่งถูกจับเป็นเชลยสงครามกับทหารยูเครนที่ถูกรัสเซียจับกุมเอาไว้ แต่สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างอิงอดีตทหารเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์รายหนึ่ง ระบุว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือไม่มีทางยอมรับข้อเสนอนี้ เพราะทหารฝั่งเหนือถูกสั่งสอนมาให้พลีชีพแทนที่จะถูกจับเป็นเชลย
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงที่ให้ข้อมูลกับ Reuters ระบุด้วยว่า ชะตากรรมของทหารเกาหลีเหนือที่ถูกส่งกลับประเทศในฐานะเชลยสงครามอาจตกอยู่ในภาวะ ‘ตายดีกว่าอยู่’ เพราะทหารที่ไม่ยอมพลีชีพจะถูกมองเป็นผู้ทรยศชาติ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านผู้นำ และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อครอบครัวของทหารคนดังกล่าวด้วย ประเด็นนี้สอดคล้องกับคำให้การของทหารยูเครนที่ระบุว่า ทหารเกาหลีเหนือที่เข้าร่วมรบกับทหารรัสเซียในภูมิภาคเคิร์สก์หลายรายไม่ยอมถูกจับกุม โดยเลือกจุดชนวนระเบิดฆ่าตัวตาย
นอกจากนี้ รัฐบาลยูเครนและหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งเกาหลีใต้ยังยืนยันตรงกันว่า ทหารเกาหลีเหนือได้รับคำสั่งให้ไป ‘ฝึกซ้อมรบ’ ร่วมกับรัสเซีย แต่พอเอาเข้าจริงกลับถูกส่งไปแนวหน้าเพื่อรบในสมรภูมิการต่อสู้จริงในภูมิภาคเคิร์สก์ โดยประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครนระบุผ่าน X ว่า ทหารเกาหลีเหนือที่เสียชีวิตในสมรภูมิเคิร์สก์มีจำนวนประมาณ 3,000 นายจากทหารทั้งหมด 11,000 นายที่ถูกส่งมา แต่รัฐบาลเกาหลีเหนือและรัสเซียไม่ยอมรับข้อมูลนี้ และบอกว่าเป็นการปล่อยข่าวปลอมของฝ่ายศัตรู
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์นี้คือ ความร่วมมือทางการทหารระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซียทวีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงที่สนับสนุนแนวคิดโลกเสรีจับตามองอย่างระแวดระวังมากกว่าเดิม เพราะทั้งเกาหลีเหนือและรัสเซียต่างก็ถูกจัดอยู่ในฝั่งประเทศ ‘เผด็จการอำนาจนิยม’ ด้วยกันทั้งคู่ ทำให้กลุ่มประเทศโลกเสรีบางส่วนวิตกกังวลว่าความร่วมมือครั้งนี้อาจนำไปสู่ความวุ่นวายโกลาหลซึ่งส่งผลกระทบเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ระลอกใหม่จนยากจะรับมือ
ทั้งนี้ การอุบัติขึ้นของสงครามยูเครน-รัสเซียในปี 2022 หลังรัสเซียเปิดปฏิบัติการพิเศษทางการทหารบนแผ่นดินยูเครน ทำให้หลายประเทศทั่วโลกตกอยู่ในภาวะปั่นป่วนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่ขึ้นลงอย่างแปรปรวน กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากยูเครน-รัสเซียประสบภาวะขาดแคลนจนหยุดชะงัก มีผู้อพยพหนีภัยสงครามยูเครนและผู้หลบหนีการเกณฑ์ทหารในรัสเซียหลั่งไหลมายังหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังถึงปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การผนึกกำลังระหว่างรัสเซีย-เกาหลีเหนือในสมรภูมิยูเครนรอบใหม่นี้จะถูกมองเป็นหนึ่งในประเด็นที่ทั่วโลกอาจต้องเตรียมพร้อมรับแรงกระแทกอีกครั้ง
การส่งทหารเกาหลีเหนือไปร่วมรบในสงครามระหว่างยูเครน-รัสเซีย เป็นเงื่อนไขหนึ่งของสนธิสัญญาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างเกาหลีเหนือ-รัสเซีย (North Korean-Russia Comprehensive Strategic Partnership Treaty) ซึ่งทั้งสองประเทศให้สัตยาบันกันไปในเดือนกันยายน 2024
เนื้อหาดังกล่าวชี้ชัดว่าประเทศคู่สัญญาจะต้องให้ความช่วยเหลือด้านการทหารในกรณีที่ประเทศใดประเทศหนึ่งถูกคุกคามจากภัยหรือกำลังพลภายนอกประเทศ
อย่างไรก็ดี ความร่วมมือทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซียไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสองประเทศเป็นพันธมิตรฝ่ายคอมมิวนิสต์กันมานานแล้ว โดยมีความร่วมมือที่ชัดเจนตั้งแต่ยุคสงครามเกาหลีสองฝ่ายและยุคสงครามเย็น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซียอาจลดระดับลงไปบ้างบางช่วง เพราะรัสเซียต้องประเมินว่ารัฐบาลจีนแต่ละยุคมีท่าทีอย่างไรต่อเกาหลีเหนือ ในฐานะที่จีนเป็นชาติมหาอำนาจและเป็นพันธมิตรที่สำคัญต่อรัสเซียยิ่งกว่า และบางห้วงเวลาจีนก็ไม่พอใจเกาหลีเหนือที่พยายามแสดงแสนยานุภาพทางทหารจนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
บทวิเคราะห์บางส่วนจากสถาบันศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Chatham House และ Council on Foreign Relations ที่เผยแพร่ช่วงปี 2023-2024 ประเมินคล้ายกันว่า ปัจจัยที่ทำให้เกาหลีเหนือหันไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับรัสเซียรอบใหม่เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล แห่งเกาหลีใต้เข้ารับตำแหน่งในปี 2022 และประกาศนโยบายแข็งกร้าวหลายอย่างที่พุ่งเป้าในการ ‘กำราบ’ เกาหลีเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการขู่จะยกเลิกเขตปลอดทหาร การลดบทบาทหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมการรวมชาติระหว่างเกาหลีทั้งสองฝ่าย และการแสดงความเห็นผ่านสื่อบ่อยครั้งว่ารัฐบาลของเขาตกเป็นเป้าคุกคามจากเกาหลีเหนือ
ความหวาดระแวงเกาหลีเหนือยังถูกประธานาธิบดี ยุน ซอก-ยอล ใช้เป็นข้ออ้างในการประกาศกฎอัยการศึกช่วงเดือนธันวาคม 2024 แต่กฎหมายนี้เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกวาดล้างและจับกุมผู้เห็นต่างจากรัฐบาลในยุคที่เผด็จการทหารปกครองเกาหลีใต้ช่วงทศวรรษ 1980-1990 ทำให้ประชาชนกับนักการเมืองฝั่งประชาธิปไตยรวมตัวต่อต้านกฎอัยการศึกที่ประกาศโดยประธานาธิบดียุน กลายเป็นชนวนให้สภาเกาหลีใต้พิจารณาลงมติถอดถอนยุนพ้นจากตำแหน่งแ ละนำไปสู่การจับกุมตัวในวันที่ 15 มกราคม 2025
นักวิเคราะห์ประเมินว่า ความปั่นป่วนทางการเมืองเกาหลีใต้จะดำเนินต่อไปอีกพักใหญ่ แต่การยกระดับความร่วมมือทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือและรัสเซียจะยิ่งทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกยิ่งเผชิญกับความตึงเครียดและผันผวนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะรัฐบาลเกาหลีใต้ซึ่งเป็นเหมือนอำนาจถ่วงดุลกับเกาหลีเหนือมาโดยตลอดกำลังตกอยู่ในภาวะอ่อนแอ-ไร้เสถียรภาพ อาจทำให้ ‘อักษะแห่งปีศาจยุคใหม่’ หรือ New Axis of Evil กลายเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงในเวทีโลกยิ่งกว่าเดิม
‘อักษะแห่งปีศาจยุคใหม่’ หรือ New Axis of Evil คืออะไร
ต้องย้อนกลับไปที่การแปะฉลากบางประเทศว่าเป็นอักษะแห่งปีศาจ หรือ Axis of Evil ซึ่งริเริ่มโดยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกา หลังจากเขาประกาศสงครามต่อต้านก่อการร้ายเพื่อตอบโต้กลุ่มติดอาวุธผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายนปี 2001
ประเทศที่ถูกบุชกล่าวหาว่าเป็นอักษะแห่งปีศาจในครั้งนั้น ได้แก่ อิรัก อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ซึ่งทางการสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเป็นประเทศที่สนับสนุนโครงการพัฒนาอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูง (Weapons of Mass Destruction: WMDs) และเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อการร้ายซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ
นอกจากนี้ การใช้คำว่า Axis of Evil ยังมีนัยพาดพิงกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะ หรือ Axis of Powers ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้เรียกแกนนำในการก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย โดยประเทศที่เป็นฝ่ายอักษะในยุคนั้น ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น
เมื่ออดีตประธานาธิบดีบุชนำคำว่า Axis มาเรียกประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐฯ ทั้งที่ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจนจึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นการแบ่งแยกโลกเป็นฝักฝ่าย และในทางปฏิบัติก็ทำให้หลายประเทศจำเป็นต้อง ‘เลือกข้าง’ ในสงครามต่อต้านก่อการร้ายที่นำโดยสหรัฐฯ เช่นกัน
แต่หลังจากสงครามต่อต้านก่อการร้ายของสหรัฐฯ นำไปสู่การแทรกแซงกิจการภายในของหลายประเทศเป็นเวลานานนับทศวรรษ ทำให้ทหารและพลเรือนอเมริกันเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก กระแสต่อต้านนโยบายการทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายจึงก่อตัวขึ้น นำไปสู่การถอนทหารอเมริกันออกจากหลายสมรภูมิต่างแดน ทำให้คำว่าอักษะแห่งปีศาจถูกลดทอนความสำคัญลงไป
จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในปี 2022 นักวิเคราะห์ฝั่งโลกเสรีหลายรายจึงกลับมาใช้คำว่า ‘อักษะแห่งปีศาจยุคใหม่’ หรือ New Axis of Evil เมื่อกล่าวถึงประเทศที่เป็นฝ่ายตรงข้ามสหรัฐฯ โดยหมายถึง รัสเซีย จีน อิหร่าน เกาหลีเหนือ และบางบทวิเคราะห์ยังรวมถึงเวเนซุเอลากับซีเรียด้วย โดยคำนี้ถูกใช้ในสื่อเพิ่มขึ้นเมื่อเกาหลีเหนือกับรัสเซียยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในปี 2024 ที่ผ่านมา เพราะทั้งสองชาติกลายเป็นแนวร่วมที่เข้มแข็งขึ้นหลังผนึกกำลังกันอย่างเป็นทางการ
การเรียกกลุ่มประเทศฝั่งตรงข้ามกับสหรัฐฯ ซึ่งตั้งตัวเป็นแกนนำโลกเสรีประชาธิปไตยว่าเป็นฝ่าย ‘ปีศาจ’ เป็นผลจากที่ประเทศเหล่านี้มีรัฐบาลอำนาจนิยม สืบทอดอำนาจด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล และมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงด้วยการกวาดล้างจับกุมผู้เห็นต่างจากรัฐด้วยวิธีการรุนแรง ทั้งในแง่กฎหมายและการใช้กำลังอาวุธปราบปราม รวมถึงการปิดกั้นสื่อมวลชนไม่ให้รายงานข้อมูลอย่างรอบด้านหรือสอบทานการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
กลุ่มประเทศที่จัดอยู่ในฝั่งอักษะแห่งปีศาจก็วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ เช่นกัน โดยระบุว่าสหรัฐฯ มักจะทำตัวเป็นตำรวจโลก แต่กลับใช้ข้ออ้างเรื่องการปกป้องประชาธิปไตยแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น แต่ถ้าพันธมิตรของสหรัฐฯ ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเองกลับมองข้ามและเลือกที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศตัวเองเป็นหลัก ทำให้สหรัฐฯ ถูกกล่าวหาว่าเป็นมหาอำนาจที่ตีสองหน้าและมีพฤติกรรมสองมาตรฐาน หลายประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ ก็หันไปสานสัมพันธ์เพิ่มเติมกับประเทศขั้วตรงข้ามไม่น้อยเลย
ประเด็นเชื่อมโยงไปยังความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้
เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่มีรากเหง้าจากบรรพบุรุษเชื้อสายเดียวกันกับเกาหลีใต้ แต่ทั้งสองประเทศแตกหักจนกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในสงครามเกาหลีช่วงปี 1950-1953 เพราะเกาหลีทั้งสองฝ่ายเลือกอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน โดยผู้นำฝั่งเกาหลีเหนือเลือกระบอบคอมมิวนิสต์ ขณะที่ผู้นำฝั่งเกาหลีใต้ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำโลกฝ่ายเสรีประชาธิปไตย
แม้สงครามเกาหลีจะจบลงด้วยการเจรจาหยุดยิงร่วมกัน แต่เกาหลีทั้งสองฝ่ายยังไม่เคยประกาศยุติสงครามอย่างเป็นทางการ ทำให้ทั้งสองประเทศยังเป็นคู่สงครามกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
ในขณะที่เกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านจากยุคเผด็จการทหารเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย เกาหลีเหนือยังคงความเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ปิดตัวเองจากต่างชาติ จนถูกวิจารณ์ว่าเป็นประเทศล้าหลัง ไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงของโลก ประชาชนเกาหลีเหนือเหมือนถูกแช่แข็งเพราะไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตด้วยเจตจำนงของตัวเอง แต่ถูกสอนให้คำนึงถึงอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์และคำสอนของผู้นำ ‘ตระกูลคิม’ ที่สืบทอดอำนาจให้แก่ทายาทของตัวเอง
ด้วยสถานะประเทศที่มีเพื่อนบ้านเป็นคู่สงคราม ทำให้นโยบายด้านความมั่นคงของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีการระแวดระวังภัยคุกคามจากอีกฝ่ายมาโดยตลอด แม้รัฐบาลเกาหลีใต้บางชุดจะพยายามผลักดันนโยบายรวมชาติเกาหลีหรือฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตและทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชนเชื้อชาติเดียวกัน แต่นโยบายเหล่านั้นไม่แน่นอนและไม่ต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลในแต่ละยุคสมัย
เมื่อ ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มีแนวคิดชาตินิยมและต่อต้านความหลากหลายเข้ารับตำแหน่งในปี 2022 ท่าทีของเกาหลีใต้ต่อเกาหลีเหนือก็แข็งกร้าวขึ้น ทำให้ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ประกาศตอบโต้ด้วยแนวทางแข็งกร้าวไม่แพ้กัน โดยมีคำสั่งให้รัฐบาลของตัวเองพัฒนาโครงการด้านอาวุธอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงแสนยานุภาพทางทหารให้โลกประจักษ์ จึงมีการทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยต่างๆ ในทะเลตะวันออกอยู่เนืองๆ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
แต่สิ่งที่เป็นความคืบหน้าที่สุดของเกาหลีเหนือคือการลงนามในสนธิสัญญาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านร่วมกับรัสเซียจนสำเร็จ เพราะเท่ากับว่าเกาหลีเหนือมีประเทศมหาอำนาจหนุนหลังอย่างเป็นทางการเพิ่มเติมจากจีน เพื่อคัดง้างและถ่วงดุลกับเกาหลีใต้ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ได้ อีกทั้งรัสเซียยังสามารถเป็นกันชนในกรณีที่เกาหลีเหนือถูกกดดันจากจีนได้ด้วย
บทวิเคราะห์หลายชิ้นประเมินว่าสนธิสัญญานี้เป็นผลดีกับเกาหลีเหนือหลายด้าน ไม่ใช่แง่ความมั่นคงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงผลประโยชน์ด้านการขยายตลาดแรงงานและสินค้าส่งออก เช่น สิ่งทอและแร่ธรรมชาติ ไปยังรัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งน่าจะช่วยให้เกาหลีเหนือเอาตัวรอดจากภาวะฝืดเคืองเพราะถูกชาติภาคีสหประชาชาติ (UN Member Countries) คว่ำบาตรในแง่ต่างๆ มาอย่างยาวนาน
ส่วนเหตุผลที่ทำให้เกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตรจากชาติสมาชิก UN ส่วนหนึ่งมาจากความดึงดันที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเองด้วย เข้าข่ายละเมิดข้อห้ามหรือข้อตกลงของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) แต่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับรัสเซียมีแนวโน้มจะทำให้เกาหลีเหนือได้รับความสนับสนุนในเวทีโลกเพิ่มขึ้น เพราะประเทศที่เลือกเป็นพันธมิตรกับรัสเซียแทนที่จะเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย
ในแง่การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ รัสเซียต้องทำตามเงื่อนไขเรื่องการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีทางการทหารกับเกาหลีเหนือ ซึ่งจะช่วยให้เกาหลีเหนือมีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ด้านความมั่นคงเพิ่มเติมจากเดิมที่พึ่งพาจีนและหน่วยงานภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งยังมีรายงานที่บ่งชี้ด้วยว่าโรงงานอาวุธของเกาหลีเหนือจะรับหน้าที่เป็นผู้ผลิตกระสุนจำนวนมากให้กับรัสเซียเพื่อนำไปใช้ในสงครามยูเครน และอาจขยายตลาดอาวุธไปยังกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรรัสเซียได้ด้วย
ขณะเดียวกัน รัสเซียก็สามารถขยายตลาดส่งออกสินค้าประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากอาวุธไปยังเกาหลีเหนือได้ โดยเฉพาะพลังงานเชื้อเพลิงที่รัสเซียมีอยู่อย่างเหลือเฟือ ขณะที่เกาหลีเหนือก็มีทรัพยากรธรรมชาติอีกเป็นจำนวนมาก เช่น แร่แรร์เอิร์ธ แร่เหล็ก และถ่านหิน ที่รัสเซียอาจเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม จึงเป็นโอกาสดีแบบ ‘วิน-วิน’ ทั้งสองฝ่ายที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยรัสเซียจะเป็นฝ่ายลงทุนและให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือด้านนี้ ควบคู่กับการส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการเมือง การทหาร และข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศและอุตสาหกรรมความมั่นคง
สนธิสัญญาระหว่างเกาหลีเหนือ-รัสเซีย มีแนวโน้มจะส่งผลดีกับประเทศทวิภาคีอย่างแน่นอน แต่ในทางกลับกัน นานาชาติอาจต้องเฝ้าระวังผลที่จะตามมาจากการยกระดับความร่วมมือของทั้งสองประเทศ
นักวิเคราะห์ในสถาบันวิจัยต่างประเทศมองว่าความเป็นหุ้นส่วนของเกาหลีเหนือและรัสเซียคือความร่วมมือที่เป็นอันตรายต่อโลก ทำให้นานาประเทศตกอยู่ในภาวะตึงเครียดจากอาวุธนิวเคลียร์ได้ เพราะทั้งเกาหลีเหนือและรัสเซียต่างครอบครองนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งคู่ ประกอบกับผู้นำรัสเซียและเกาหลีเหนือมักนำพาประเทศเข้าสู่ความขัดแย้งในด้านต่างๆ โดยไม่เลือกวิธีการ จึงมีแนวโน้มว่าทั้งสองประเทศอาจยั่วยุหรือทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศเพิ่มเติมได้
ที่สำคัญคือ รัฐบาลเกาหลีเหนือและรัสเซียถูกมองว่าเป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจผ่านผู้นำที่พยายามยื้อตำแหน่งยาวนานหลายทศวรรษ ทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลทางการเมืองล้มเหลว สถาบันการเมืองไม่โปร่งใสและไม่มีความเป็นธรรมให้กับผู้เห็นต่างจากรัฐ ทำให้การกำกับและตรวจสอบและป้องกันการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุของผู้นำรัฐบาลไม่เกิดขึ้นจริง
บทวิเคราะห์หลายชิ้นยังอ้างถึงการทำสงครามยูเครนที่เริ่มโดยฝั่งรัสเซีย และการยั่วยุทางทหารด้วยการพัฒนาและทดสอบการยิงขีปนาวุธพิสัยต่างๆ อย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือ พร้อมระบุว่าเมื่อทั้งสองประเทศร่วมมือกันก็ยิ่งส่งเสริมให้แต่ละฝ่ายมีความมั่นใจที่จะดำรงท่าทีแข็งกร้าวและยึดมั่นในระบอบอำนาจนิยมเช่นนี้ต่อไป แต่สิ่งที่ตามมาจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเหล่านี้อาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก
สำนักข่าว Aljazeera และ The Guardian อ้างอิงนักวิเคราะห์ที่ระบุว่าการผนึกกำลังของเกาหลีเหนือและรัสเซียในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนผ่านผู้นำรัฐบาลจากโจ ไบเดน ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ไปสู่ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และเป็นอดีตประธานาธิบดีผู้ประกาศใช้นโยบายปั่นป่วนโลกหลายอย่างในอดีต จะยิ่งทำให้สถานการณ์โลกมีความเปราะบางยิ่งขึ้น เพราะดูเหมือนว่าทรัมป์จะไม่มีความสนใจในประเด็นการรักษาความสัมพันธ์ทางการเมืองและความมั่นคงในเอเชียมากนัก
แม้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะยังเป็นพันธมิตรที่สำคัญของรัฐบาลทรัมป์สมัยที่ 2 แต่ไม่อาจคาดเดานโยบายทรัมป์ที่จะมีต่อจีน เกาหลีเหนือ และรัสเซียได้ เพราะเขามีจุดยืนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา บางครั้งแข็งกร้าวและบางครั้งก็ออกความเห็นสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากทรัมป์ปล่อยให้ภูมิภาคเอเชียอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนและรัสเซียในอนาคต ก็น่ากังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งหรือการแทรกแซงทางการเมืองในดินแดนที่เป็นข้อพิพาทของทั้งสองชาติมหาอำนาจอยู่ก่อนแล้ว
ประเด็นความขัดแย้งในเอเชียที่อาจลุกลามบานปลายยุครัฐบาลทรัมป์สมัย 2 นอกเหนือจากการแผ่ขยายอำนาจทางการทหารของเกาหลีเหนือและรัสเซียที่นักวิเคราะห์แนะนำให้ทั่วโลกเตรียมตัวรับมือ ได้แก่ ข้อพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำมาโดยตลอด แต่ถูกแย้งโดยชาติสมาชิกอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย ตามด้วยกรณีไต้หวัน ซึ่งจีนประกาศว่าจะรวมชาติให้ได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งที่คนไต้หวันจำนวนมากแสดงออกด้วยการเลือกผู้สมัครพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายอิสรภาพไต้หวันมาเป็นผู้นำรัฐบาล
หากความขัดแย้งเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้น รัสเซีย เกาหลีเหนือ และจีน จะผนึกกำลังกันโดยอัตโนมัติเพื่อถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐฯ ที่เป็นปฏิปักษ์กับทั้งสามประเทศ ทำให้ความร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือกับรัสเซียถูกเปรียบกับแว่นขยายที่ทำให้ทั่วโลกมองเห็นชัดขึ้นว่าภูมิภาคเอเชียและอีกหลายพื้นที่ทั่วโลกตกอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพ ขณะที่ความร่วมมือระหว่างประเทศก็ขาดเอกภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ความมั่นคง หรือการปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยบ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงของโลกด้วยกันทั้งสิ้น