มาตรา 32 กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากการห้ามโฆษณาถึงวันปลดล็อกพูดถึงเหล้าเบียร์อย่างเสรีชน
...
LATEST
Summary
- สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ ... พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมาตรา 32 ที่ถูกแก้ไข จะทำให้การประชาสัมพันธ์เหล้าเบียร์สามารถทำได้
- ต้นทางของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เริ่มต้นจากการต่อต้านการเข้าตลาดหุ้นของเบียร์เจ้าใหญ่ จนต่อมากลายเป็นกฎหมายห้ามโฆษณายุคหลังรัฐประหาร 2549 ในสมัย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์
- สาระสำคัญของการแก้ไขมาตรา 32 อยู่ที่การใช้นิยามอย่างกว้างของคำว่า ‘ประชาสัมพันธ์’ เพื่อไม่ให้มีการตีกรอบเรื่องการโฆษณาหรือกล่าวถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเด็นอื่นๆ ให้ตายตัวมากเกินไป โดยบุคคลทั่วไปสามารถแสดงผลิตภัณฑ์ได้ หากไม่มีเจตนาเพื่อการค้า
...
หลังจากคลุมเครือและเป็นกฎหมายมาตราสำคัญที่ได้ชื่อว่า ‘ล้าหลัง’ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในที่สุด การแก้กฎหมายมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ผ่านสภา ปลดล็อกให้โฆษณาประชาสัมพันธ์เหล้าเบียร์สามารถทำได้
วันที่ 19 มีนาคม 2568 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ ... พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว 38 มาตรา
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับร่างแก้ไข 365 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง
รายละเอียดของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงในหมวดของการโฆษณา คือ
มาตรา 32 เดิม (พ.ศ. 2551)
“ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม
“การโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทําได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กําหนดในกฎกระทรวง”
ร่างแก้ไข มาตรา 32/1
“ห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เว้นแต่เป็นการให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ หรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุม”
ร่างแก้ไข มาตรา 32/2
“ห้ามผู้ใดใช้ชื่อเสียงเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนสื่อสารข้อมูล ต่อสาธารณชนโดยการแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดหรืออ้าง สรรพคุณหรือโดยมุ่งหมายชักจูงใจให้ผู้อื่นบริโภคครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยตรงหรือโดยอ้อม เว้นแต่ เป็นการสื่อสารทางวิชาการให้แก่สมาชิกในวงจํากัด เฉพาะผู้ประกอบการผลิต นําเข้า หรือขายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด โดยคําแนะนําของคณะกรรมการควบคุม”
สาระสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้ อยู่ที่การใช้นิยามอย่างกว้างของคำว่า ‘ประชาสัมพันธ์’ เพื่อไม่ให้มีการตีกรอบเรื่องการโฆษณาหรือกล่าวถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเด็นอื่นๆ ให้ตายตัวมากเกินไป โดยบุคคลทั่วไปสามารถแสดงผลิตภัณฑ์ได้ หากไม่มีเจตนาเพื่อการค้า เช่น การรีวิวเบียร์ที่เคยเป็นคดีความ ให้ผู้ประกอบการสามารถประชาสัมพันธ์ชื่อและรายละเอียดสินค้าได้มากขึ้น โดยต้องไม่เป็นการเชิญชวนให้ดื่ม และห้ามนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตราเสมือนมาโฆษณาเพื่อให้เข้าใจว่าเป็นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เมื่อครั้ง “ความสุขที่คุณดื่มได้” ยังอยู่ในจอทีวี
ย้อนไปหลายสิบปีก่อน โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องสามัญที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันทางโทรทัศน์ กับประโยคเช่น “ความสุขที่คุณดื่มได้” หรือ “ความภูมิใจของนักดื่มเบียร์”
แต่ราวปี 2548 มีกระแสข่าวเบียร์ไทยยี่ห้อดังเจ้าหนึ่งพยายามเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เกิดกระแสต่อต้าน โดยเฉพาะจากกลุ่มชาวพุทธ ที่มองว่าเป็นการส่งเสริมสิ่งมึนเมา ใช้อบายมุขมอมเมาประชาชนเป็นสินค้าเพื่อหวังสร้างรายได้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มนายทุน
ก่อนรัฐประหาร 2549 กระแสชุมนุมขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร แพร่กระจายทั่วประเทศในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ช่วงปี 2548 เมื่อมีกระแสว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเบียร์ช้าง จะจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ม็อบกองทัพธรรมที่นำโดย พลตรีจำลอง ศรีเมือง ก็เริ่มชุมนุมต่อต้าน และพยายามเรียกร้องให้มีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการโฆษณาและการขาย
วันที่ 24 มกราคม 2549 กระทรวงสาธารณสุขโดย พินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีกระทรวง ได้เสนอรายงานต่อ ครม. ว่า กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะคณะอนุกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ มีมติเห็นชอบกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลฺผ่านสื่อทุกชนิดโดยสิ้นเชิง และควบคุมการส่งเสริมการขาย รวมถึงการใช้สัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ต่อสาธารณชน
ต่อมาเริ่มมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อบริษัทเครื่องดื่มยื่นเรื่องต่อรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้ผ่อนผันประกาศห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกระทรวงสาธารณสุข แต่คณะทำงานพิจารณาการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ประกอบด้วยกลุ่มแพทย์และนักวิชาการยืนยันว่า การโฆษณามีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ซึ่งในขณะนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และ พ.ร.บ.อาหาร ซึ่งทั้งสองฉบับไม่สามารถควบคุมการโฆษณาได้
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยให้รับข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณา และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนส่งให้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป
พลตรีจำลอง ศรีเมือง ประธานกองทัพธรรม ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิก สนช. ยุคหลังรัฐประหาร กล่าวว่า มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มธุรกิจสุราเพื่อจะล้มกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีคำสั่งออกมา และจะมีผลบังคับใช้ 3 ธันวาคม 2549 และเชื่อว่า การออกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องทำในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์เท่านั้น เพราะเป็นนโยบายทางสังคมที่แสดงรูปธรรมของการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่มีวันทำได้สำเร็จ เพราะต้องเจอกับอำนาจอิทธิพลของบริษัทเหล้าที่จะเข้ามาอุปถัมภ์พรรคการเมืองคอยชี้นำ
หลังจากผ่านการพิจารณากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่บังคับใช้ยาวนานก็ออกมาในนามกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 ในรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยมีเนื้อหาควบคุมการโฆษณาระบุไว้ในมาตรา 32 ที่เพิ่งผ่านการแก้ไขไปเมื่อ 19 มีนาคม 2568
ทำไมประชาชนอยากแก้ไขมาตรา 32
รายละเอียด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่สำคัญคือเป็นกฎหมายเก่าที่ออกมาตั้งแต่ปี 2551 จากความพยายามควบคุมการโฆษณาของเจ้าใหญ่ในช่วงที่พยายามจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้โทษค่าปรับที่พ่วงตามมาคือ 50,000 บาท แต่ปัจจุบัน นิยามของ ‘สื่อ’ และการสื่อสารเปลี่ยนไป ความผิดจากการขึ้นบิลบอร์ดโฆษณากับเขียนรีวิวเครื่องดื่มลงโซเชียลมีเดีย จึงมีปรับที่ 50,000 บาท เท่ากัน โดยมาตรา 32 ที่ระบุว่า
“ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”
ที่สำคัญคือ 80 เปอร์เซ็นต์ของ 50,000 บาท ถูกคิดเป็นรางวัลนำจับ เป็นช่องทางให้ใครบางคนวิ่งหาหลักฐานความผิดเพื่อหารายได้เป็นอาชีพ
ที่ผ่านมา มีผู้ค้ารายย่อยประสบภัยจากมาตรา 32 ปรับเป็นจำนวนมาก ทั้งร้านลาบที่มีโปสเตอร์ ร้านอาหารที่มีรูปในเมนู ร้านคราฟต์เบียร์ที่รีวิวสินค้า ส่วนใหญ่ยอมจ่ายแล้วจบ แต่ก็ยังมีบางคนที่ยอมสู้คดีแล้วขึ้นศาล เพราะเชื่อว่า การพูดถึงสิ่งที่เป็น ‘ศิลปะและสุนทรียศาสตร์’ ควรทำได้
ด้วยการตีความอย่างกว้างขวางจนสามารถใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งและหาผลประโยชน์ได้ จึงทำให้มาตรา 32 นี้ ถูกเรียกว่าเป็นประมวลกฎหมายอาญา ‘มาตรา 112’ ของวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กรณีคลาสสิกคือ อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ จากเพจ ‘แดกเบียร์ให้เพลียแคม’ ซึ่งเขียนรีวิวเบียร์ลงเพจ แต่ต้องเจอกับค่าปรับหลักแสนและมีโทษจำคุก (ต่อมาอาทิตย์เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสัดส่วนของภาคประชาชน)
ช่วงปี 2564 มีการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายประเด็น ทั้งสุราชุมชน สุราก้าวหน้า เพื่อทลายการผูกขาดของทุนใหญ่ การแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ถูกมองว่าล้าสมัย เพราะบังคับใช้มา 13 ปี และออกมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย จึงมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภา 5 ร่าง คือ
1. ร่างของเครือข่ายผู้สนับสนุนการผ่อนคลายเพื่อส่งเสริมธุรกิจแอลกอฮอล์
2. ร่างของเครือข่ายผู้สนับสนุนการควบคุมการเข้าถึงแอลกอฮอล์ที่เคร่งครัดขึ้น
3. ร่างของเพื่อไทย โดย ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ เป็นผู้เสนอ
4. ร่างของคณะรัฐมนตรี โดย กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้เสนอ
5. ร่างของก้าวไกล โดย เท่าพิภพ ลิ้มจิตกร เป็นผู้เสนอ
อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ที่ผ่านการทำงานของคณะกรรมาธิการมากว่า 1 ปี และเพิ่งผ่านสภา ยังพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ไม่ทันสมัยประชุมนี้ รวมทั้งการเขียนกฎหมายลูกใน พ.ร.บ. คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะเดินหน้าได้ในสมัยประชุมหน้าเดือนกรกฎาคม หากผ่านก็จะต้องรอการบังคับใช้ภายใน 60 วัน เท่ากับว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ การประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โพสต์รูป หรือรีวิวความมึนเมาอย่างสุนทรี ก็จะสามารถทำได้ โดยมีกรอบของกฎหมายควบคุม
