Humberger Menu

สงครามยาเสพติด = อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ?

ภาพเหตุการณ์ที่ โรดริโก ดูแตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ วัย 79 ปี ปรากฏตัวผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์เพื่อรายงานตัวต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) ในเมืองเฮกของเนเธอร์แลนด์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2025 นับว่าเป็นข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในเวทีการเมืองโลก เพราะนี่คืออดีตผู้นำฟิลิปปินส์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความโผงผาง ฝักใฝ่อำนาจนิยม และไม่สนใจเสียงทักท้วงขององค์กรสิทธิมนุษยชน แต่สุดท้ายก็ต้องเผชิญกับการไต่สวนคดีที่เกี่ยวพันกับนโยบายอันอื้อฉาวในอดีตของตัวเอง

อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้สนับสนุนดูแตร์เตจำนวนหนึ่งได้ไปรวมตัวกันหน้าสำนักงานใหญ่ ICC ในเฮกเพื่อให้กำลังใจและแสดงจุดยืนเคียงข้างอดีตประธานาธิบดีที่พวกเขามองว่าเป็นผู้ธำรงความปลอดภัยให้กับบ้านเกิดด้วยการกวาดล้างแก๊งค้ายาเสพติดให้หมดไป และยังมองว่าข้อกล่าวหาของดูแตร์เตคือการใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง 

ซารา และ โรดริโก ดูแตร์เต 

เพราะช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ซารา ดูแตร์เต ลูกสาวคนโตของ โรดริโก ดูแตร์เต ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน มีความขัดแย้งอย่างเปิดเผยและยากที่จะประสานรอยร้าวกับประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ ‘บองบอง’ ผู้ได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่งหลังจากที่ โรดริโก ดูแตร์เต หมดวาระไป โดยปมแตกหักระหว่างรองประธานาธิบดีซารากับประธานาธิบดีบองบองก็มีชนวนเหตุจากการที่รัฐบาลฟิลิปปินส์รับลูกจาก ICC เปิดทางให้องค์กรตำรวจสากล (Interpol) รวบรวมหลักฐานและประสานงานเพื่อขออนุมัติหมายจับกุมดูแตร์เตผู้พ่อจากการทำสงครามยาเสพติดในอดีตนั่นเอง

รองประธานาธิบดีซาราประณามว่าการส่งตัวพ่อของตนเองซึ่งเป็นอดีตผู้นำไปขึ้นศาลโลกก็คือการสยบยอมให้ต่างชาติละเมิดอธิปไตยฟิลิปปินส์ โดยเป็นการพาดพิงถึงประธานาธิบดีบองบองและกระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์โดยตรง ทำให้ทั้งสองฝ่ายแก้ต่างว่าการส่งตัวอดีตประธานาธิบดีดูแตร์เตไปขึ้นศาลในกรุงเฮกคือการเคารพและปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นพันธกิจที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องยึดมั่นเอาไว้

เฟอร์ดินานด์ 'บอง บอง' มาร์กอส จูเนียร์ 

ทางฝั่งผู้สนับสนุนดูแตร์เตมองว่าตระกูลมาร์กอสใช้ ICC เป็นข้ออ้างเพื่อสกัด ซารา ดูแตร์เต ไม่ให้เป็นตัวเก็งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในศึกเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศที่จะจัดขึ้นภายในปี 2028 และซาราก็พูดผ่านสื่อว่าเธออาจจะจ้างคนไปลอบสังหารครอบครัวประธานาธิบดีจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตในฟิลิปปินส์เมื่อไม่นานมานี้

'ราชวงศ์การเมือง' ในฟิลิปปินส์ ทั้งขู่ฆ่า ทุจริต ละเมิดสิทธิพลเมือง แต่ยังได้รับความนิยม

ด้วยเหตุนี้ การที่รัฐบาลบองบองไฟเขียวให้ตำรวจจับกุมและส่งตัวดูแตร์เตซึ่งเป็นอดีตผู้นำทรงอิทธิพลและสมาชิกคนสำคัญของตระกูลการเมืองเก่าแก่ซึ่งถูกกล่าวขานว่าแข็งแกร่งและหยั่งรากลึกในฟิลิปปินส์ประหนึ่ง ‘ราชวงศ์’ จึงถูกเปรียบเปรยเป็นการประลองกำลังของขั้วอำนาจทางการเมืองฟิลิปปินส์อย่างไม่มีทางเลี่ยง 

แต่อีกด้านหนึ่ง การจับกุมดูแตร์เตผู้พ่อทำให้องค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนจำนวนมากประสานเสียงสนับสนุนด้วยความยินดี พร้อมทั้งเรียกร้องว่าทั่วโลกควรทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการทำสงครามต่อต้านยาเสพติดให้รอบด้านมากขึ้นอีกด้วย 

ผู้เสียชีวิตจากสงครามยาเสพติดฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประกาศสงครามแก๊งค้ายาเสพติด เพราะไทยเองก็เป็นหนึ่งในต้นแบบของอดีตประธานาธิบดีดูแตร์เต และยังมีอีกหลายประเทศที่เคยทำสงครามยาเสพติดมาก่อน แต่ตัดสินใจยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนนโยบายด้านยาเสพติดในเวลาต่อมา ทำให้นักสิทธิมนุษยชนและองค์กรสาธารณสุขจำนวนหนึ่งเห็นตรงกันว่าทั่วโลกควรหาทางศึกษาข้อดีข้อเสียไปจนถึงความล้มเหลวของสงครามยาเสพติด เพื่อจะได้ไม่ต้องเอาอนาคตหรือทรัพยากรของประเทศไปเสี่ยงโดยเปล่าประโยชน์ และอาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดการสูญเสียชีวิตของประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมได้ด้วย

สงครามยาเสพติดของดูแตร์เตและข้อกล่าวหา ‘ละเมิดสิทธิมนุษยชน’

โรดริโก ดูแตร์เต เคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาช่วงปี 1998–2010 และ 2013-2016 ก่อนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในปี 2016 และอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2022

ระหว่างที่ดูแตร์เตรับตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญทั้งสองตำแหน่ง มีการบังคับใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด แต่ประเด็นอื้อฉาวที่สุดเกิดขึ้นในช่วงปีแรกซึ่งดูแตร์เตรับตำแหน่งประธานาธิบดีและประกาศสงครามยาเสพติด (War on Drugs) เต็มรูปแบบ โดยมอบอำนาจพิเศษแก่ตำรวจ ทหาร และกองกำลังเฉพาะกิจ ซึ่งรวมถึงอาสาสมัครในชุมชนต่างๆ ให้สามารถจับกุม คุมตัว และใช้อาวุธกับผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดได้โดยไม่ต้องรอให้ศาลอนุมัติหมายจับกุมหรือตรวจสอบหลักฐานตามขั้นตอนทางกฎหมายทั่วไป 

สำนักข่าว NPR, Inquirer และ PBS รายงานว่าผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดในฟิลิปปินส์ถูกวิสามัญฆาตกรรมราว 3,000 คนช่วงปี 2016-2017 หลังดูแตร์เตประกาศนโยบายสงครามยาเสพติด ทั้งยังทำให้ประชาชนจำนวนมากถูกคุกคามเพราะการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ โดยมีรายงานว่าคนในชุมชนผู้มีรายได้น้อยมักถูกบุกตรวจค้นด้วยวิธีการเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายร่างกาย การลวนลามและละเมิดทางเพศ ทั้งยังพบเบาะแสว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตรีดไถเงินสินบนแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยด้วย

โรดริโก ดูแตร์เต

ทางด้านกระทรวงมหาดไทยฟิลิปปินส์เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตในระหว่างการปราบปรามยาเสพติดตลอด 6 ปีที่ดูแตร์เตดำรงตำแหน่ง โดยย้ำว่ามีจำนวน 6,000 คนเท่านั้น แต่องค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ประเมินว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตในสงครามยาเสพติดที่แท้จริงน่าจะมีมากกว่า 30,000 คน 

ด้วยเหตุนี้ จูด ซาบิโอ ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวฟิลิปปินส์ จึงรับหน้าที่ตัวแทนเครือข่ายผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจากสงครามยาเสพติด รวบรวมหลักฐานไปยื่นฟ้องดูแตร์เตต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ในปี 2017 เพื่อให้ไต่สวนหรือเอาผิดดูแตร์เตในข้อหาว่าเกี่ยวพันการฆาตกรรมและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

หลังจากนั้นเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นำโดย Amnesty International และ Human Rights Watch (HRW) ก็เป็นอีกหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการร้องเรียนต่อ ICC ให้นำตัวดูแตร์เตมาขึ้นศาลเพื่อสอบปากคำและให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อผู้เสียชีวิตจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ แต่ช่วงที่ดูแตร์เตดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หน่วยงานต่างๆ ของฟิลิปปินส์ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับ ICC โดยอ้างว่าฟิลิปปินส์ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกธรรมนูญกรุงโรมแล้ว ทำให้คดีล่าช้ามาหลายปี

นอกจากนี้ ดูแตร์เตยังใช้วาจาและท่าทีดุเด็ดเผ็ดร้อนจนเข้าขั้นหยาบคายหลายครั้งเพื่อตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายสงครามยาเสพติดของตัวเอง โดยสำนักข่าว CBS News รายงานว่าดูแตร์เตด่า บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 44 ว่า ‘ลูกโสเภณี’ ทั้งยังบอกให้โอบามา ‘ไปลงนรก’ เมื่อเดือนกันยายน 2016 เพราะไม่พอใจที่สหรัฐฯ แถลงประณามการสังหารผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดในฟิลิปปินส์ ซึ่งโอบามาก็ได้ตอบโต้ด้วยการยกเลิกการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศซึ่งลาวเป็นเจ้าภาพ ทำให้ดูแตร์เตออกแถลงการณ์ขออภัยโอบามาในเวลาต่อมา

ไม่เพียงเท่านั้น ดูแตร์เตยังแสดงความเห็นอันอื้อฉาวโดยไม่คำนึงถึงหลักความถูกต้องทางการเมืองใดๆ อีกครั้ง โดยยกกรณีที่นาซีเยอรมนีสังหารหมู่ชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเปรียบเทียบกับการทำสงครามยาเสพติดในฟิลิปปินส์ ซึ่งเขาระบุว่า “ฮิตเลอร์ฆ่ายิวไป 3 ล้านคน ขี้ยาในฟิลิปปินส์ก็มี 3 ล้านคน ผมยินดีที่จะฆ่าคนพวกนี้ทิ้ง” ทั้งยังกล่าวด้วยว่า “น่าเสียดายที่ฟิลิปปินส์ไม่มีฮิตเลอร์” 

คำพูดนี้ของดูแตร์เตเจอกระแสต่อต้านจากประชาคมโลกอย่างมาก เพราะนอกจากจะไม่เคารพเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อซึ่งถูกนาซีเยอรมนีสังหารในอดีต เขายังส่งเสริมให้ใช้กำลังเข่นฆ่าผู้ติดยาโดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายหรือหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งยังเป็นการให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน เพราะคนยิวที่ถูกนาซีสังหารหมู่ก็มีจำนวนกว่า 6 ล้านคน แต่ดูแตร์เตไม่ได้ออกมาขออภัยต่อสาธารณชนในกรณีนี้แต่อย่างใด 

จนกระทั่งดูแตร์เตถูกจับกุมที่กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์และถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินไปคุมขังที่ศูนย์กักตัวของ ICC เมื่อวันที่ 12-13 มีนาคม 2025 ทนายความของดูแตร์เตได้ร้องเรียนว่า ICC ปฏิบัติต่อดูแตร์เตในวัยเกือบ 80 ปีโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพอันอ่อนแอของเขา แต่โฆษก ICC แถลงยืนยันว่าผลตรวจสุขภาพบ่งชี้ว่าดูแตร์เตยังแข็งแรงดีทั้งร่างกายและทางใจ ทำให้เครือข่ายเหยื่อและครอบครัวเหยื่อที่เสียชีวิตในสงครามยาเสพติดบางส่วนแสดงความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่านี่คือ “ความยุติธรรมที่กำลังเริ่มต้น” 

ไทยแลนด์โมเดล: ต้นแบบสงครามยาเสพติดที่ดูแตร์เตเดินซ้ำรอย

แม้ดูแตร์เตจะเป็นอดีตผู้นำคนแรกของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งถูกส่งตัวไปเข้ารับการไต่สวนและพิจารณาคดีที่ ICC แต่ฟิลิปปินส์ไม่ใช่ประเทศแรกที่ประกาศสงครามยาเสพติดจนทำให้มีผู้คนล้มตายไปนับพันคน

ประเทศไทยในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เคยประกาศสงครามยาเสพติดมาแล้วในปี 2003 (พ.ศ. 2546) และอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณก็ตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์การวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดด้วยวาทะที่กลายเป็นตำนานเช่นกัน โดยเขากล่าวกับสื่อมวลชนไทยว่า “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อผม” หลังมีเสียงท้วงติงจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนมาตรการใช้กำลังกับผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดโดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดถี่ถ้วน 

ขณะเดียวกัน The Conversation และ Human Rights Watch ยังรายงานด้วยว่าการทำสงครามยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดูแตร์เตไม่ได้เรียนรู้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยสามารถสะท้อนความล้มเหลวของนโยบายนี้ได้เป็นอย่างดี โดยมีการพูดถึงประเด็น ‘ฆ่าตัดตอน’ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในการปราบปรามพุ่งเป้าไปยังผู้ค้ายาเสพติดหรือผู้เสพรายย่อยเป็นหลัก และการใช้กำลังอาวุธกับคนกลุ่มนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่การสอบสวนขยายผลกลับไม่สามารถสาวไปถึงผู้ค้าที่มีบทบาทในระดับแกนนำการผลิตหรือผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการค้ายาได้ 

นอกจากนี้ยังมีรายงานซึ่งบ่งชี้ว่าอดีตนายกฯ ทักษิณใช้วาทกรรมที่ส่อไปในทางชี้นำ กระตุ้น ปลุกเร้า และกดดันเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ใช้ความรุนแรงขั้นเด็ดขาดในการดำเนินการกับผู้ต้องสงสัยในคดีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายสงครามยาเสพติด โดยครั้งหนึ่งอดีตนายกฯ ระบุในทำนองว่า “แม้การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะมีผู้ที่ต้องบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตบ้างก็เป็นเรื่องปกติ”  

กรณีอื้อฉาวในสงครามยาเสพติดที่เกี่ยวพันกับคนในรัฐบาลอีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2004 (พ.ศ.2547) ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยคอมมานโดได้กราดยิงปืนใส่บ้านประชาชนหลังหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากได้รับการประสานงานจาก ยงยุทธ ติยะไพรัช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หลังมีผู้ร้องเรียนว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด อีกทั้งเจ้าของบ้านยังได้ยิงปืนตอบโต้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เกิดการนำกำลังบุกค้นบ้านและเก็บหลักฐานบางส่วนไปตรวจสอบ

หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สรุปว่าผู้อาศัยในบ้านหลังดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทำให้เลขาธิการนายกฯ ซึ่งตอนแรกมาสังเกตการณ์ในที่เกิดเหตุด้วยเดินทางกลับทันทีหลังทราบว่าไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ และตำรวจได้นำตู้เย็นจากที่เกิดเหตุมาคืนแก่เจ้าของบ้านในวันที่ 13 กรกฎาคม 2004 พบว่ามีกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ค้างอยู่ตามจุดต่างๆ ของตู้เย็นรวมกว่า 20 นัด เจ้าของบ้านจึงเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชนที่ไปรายงานข่าว ทำให้เลขาธิการนายกฯ ได้รับฉายาจากสื่อในเวลาต่อมาว่า ‘ยุทธ ตู้เย็น’

อย่างไรก็ดี รัฐบาลทักษิณประกาศสงครามยาเสพติดได้ไม่กี่ปีก็ถูกรัฐประหารยึดอำนาจในเดือนกันยายน 2006 (พ.ศ.2549) ซึ่งนำไปสู่การลี้ภัยทางการเมืองนานหลายปี และในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับที่อดีตนายกฯ ลี้ภัย ก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) เพื่อสรุปข้อเท็จจริงในคดีที่เกี่ยวกับการทำสงครามยาเสพติดยุคทักษิณ 

เว็บไซต์ MGR Online รายงานผลสอบสวนของ คตน. โดยระบุว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตราว 2,500 คนช่วงประกาศสงครามยาเสพติดสมัยรัฐบาลทักษิณ มีผู้ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกวิสามัญฆาตกรรมมากถึง 1,400 คน ส่วนผู้ที่พบประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีจำนวนเพียง 1,100 คนเท่านั้น สะท้อนว่าประชาชนจำนวนมากเสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรมภายใต้เงื้อมมือของรัฐบาลทักษิณ

นอกจากนี้ยังมีรายงานของคณะวิจัยที่เสนอแนะต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สรุปว่า “การกำหนดและการดำเนินนโยบายทำสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดของรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ.2546 ก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญาลักษณะต่างๆ ซึ่งกระทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีหรือการประทุษร้ายต่อประชากรพลเรือนในวงกว้างและอย่างเป็นระบบ” และ “มีลักษณะเป็นการก่อ ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’ (Crime Against Humanity) ตามนัยข้อ 7 แห่งธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ” จริงๆ ทั้งยังเสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนผลักดันแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบเดียวกันซ้ำรอย

อย่างไรก็ดี ในทัศนะของผู้สนับสนุนทักษิณบางส่วนมองว่าการตรวจสอบใดๆ ที่เกิดขึ้นช่วงหลังรัฐประหารนับเป็นความพยายามไล่ล่าเอาผิดซึ่งถูกกดดันโดยฝ่ายที่หวังผลทางการเมืองในการล้มล้างรัฐบาลทักษิณ จึงไม่มีความชอบธรรมและไม่น่าเชื่อถือ 

ประเทศไหนบ้างที่ประกาศสงครามยาเสพติดในรอบ 5 ทศวรรษ

ถึงแม้ไทยจะถูกมองเป็นต้นแบบการทำสงครามยาเสพติดให้ฟิลิปปินส์ตามรอย แต่ประเทศที่ประกาศนโยบายนี้ยังมีอีกหลายประเทศ และผลลัพธ์ที่ได้ก็แตกต่างกันออกไป

Content

สหรัฐอเมริกา

ข้อมูลจากองค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในลาตินอเมริกา Washington Office on Latin America (WOLA) ระบุว่ารัฐบาลประธานาธิบดี รีชาร์ด นิกสัน แห่งสหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่มสงครามยาเสพติดในปี 1971 ด้วยการประกาศว่ายาเสพติดคือ ‘ศัตรูหมายเลขหนึ่งของประชาชน’ (public enemy number one) และสหรัฐฯ ได้กลายเป็นผู้นำสงครามยาเสพติดระดับโลก เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ทุ่มงบให้หน่วยงานปราบปรามยาเสพติดเป็นจำนวนมหาศาลตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา และไม่ได้สนับสนุนแค่หน่วยงานในสหรัฐฯ แต่รวมถึงหลายประเทศที่เกี่ยวพันกับการผลิตและขนยาเสพติดข้ามพรมแดน 

เมื่อเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน มีการเพิ่มบทลงโทษและยกระดับการจับกุมผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติดในปี 1986 โดยขยายผลไปยังผู้ค้าและผู้เสพรายย่อยที่ไม่มีประวัติก่อเหตุร้ายแรงมาก่อน ทำให้ผู้ถูกจับกุมในคดียาเสพติดทั่วสหรัฐฯ เพิ่มจาก 50,000 คน ช่วงปี 1980 กลายเป็น 400,000 คนในปี 1997 ทั้งยังมีการอนุมัติงบประมาณถึงปีละ 1,700 ล้านดอลลาร์ในการทำสงครามยาเสพติด ซึ่งมีการนำงบส่วนนี้ไปสนับสนุนประเทศในแถบลาตินอเมริกาให้ปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติด้วย

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง มิลตัน ฟรีดแมน ระบุว่าการปราบปรามและจับกุมผู้ค้าและผู้เสพอย่างเข้มงวดยิ่งทำให้ความต้องการยาเสพติดในตลาดพุ่งสูงขึ้นตามหลักการเรื่องอุปสงค์อุปทาน และผู้ค้ารายใหม่ก็พร้อมจะเข้าสู่ขบวนการค้ายาเสพติดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเม็ดเงินจากการค้ายาเสพติดคิดเป็นวงเงินมหาศาล 

ขณะเดียวกัน องค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนก็รายงานว่าการจับกุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดของเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่มีอคติและเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มประชากรผิวดำ ผู้มีเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนผิวขาว และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความรู้สึกไม่เท่าเทียมระหว่างคนในสังคม

ในปี 2024 สำนักข่าว NBC News ระบุด้วยว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ทุ่มงบในสงครามยาเสพติดเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา แต่สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศปลายทางของยาเสพติดหลายประเภท ทั้งโคเคน เฮโรอีน และล่าสุดคือเฟนทานิล ซึ่งที่จริงแล้วเป็นยาระงับปวดออกฤทธิ์แรง แต่กลับถูกนำมาเสพแทนยาเสพติดอย่างแพร่หลาย 

ทั้งนี้ สถิติคนอเมริกันเสียชีวิตจากการเสพยาเฟนทานิลเกินขนาดคิดเป็นสัดส่วน 21 ต่อ 100,000 ประชากร ซึ่งอ้างอิงผลสำรวจของหน่วยงานรัฐในปี 2018 

โคลอมเบีย

ช่วงทศวรรษ 1960 รัฐบาลโคลอมเบียเข้าสู่การทำสงครามยาเสพติดครั้งใหญ่โดยมีคู่ต่อสู้ที่สำคัญคือแก๊งค้ายาซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และกองกำลังติดอาวุธเพื่อการปฏิวัติโคลอมเบีย (FARC) ผู้อยู่เบื้องหลังการบุกรุกป่าเพื่อปลูกต้นโคคา ส่งผลให้โคลอมเบียเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตโคเคนรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เปิดเผยว่าพื้นที่ปลูกโคคาในโคลอมเบียเพิ่มจาก 50,000 เฮกตาร์ในทศวรรษ 1980 กลายเป็น 212,000 เฮกตาร์ในปี 2020

ช่วงแรกของสงครามยาเสพติดในโคลอมเบีย สหรัฐฯ ทุ่มงบช่วยเหลือรัฐบาลโคลอมเบียในการสู้กับกลุ่มกบฏ FARC ซึ่งชูอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และเป็นผู้ปลูกโคคาขายให้แก๊งค้ายาเสพติดเพื่อนำเงินมาสนับสนุนการต่อสู้ของตัวเอง จนกระทั่งรัฐบาลโคลอมเบียบรรลุภารกิจในการปลดอาวุธกลุ่ม FARC ช่วงปี 2000-2010 แต่ปัญหายาเสพติดในโคลอมเบียก็ยังไม่หมดไป เพราะความยากจนทำให้ประชาชนโคลอมเบียจำนวนมากยังคงปลูกโคคาเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือน การผลิตโคเคนและยาเสพติดอื่นๆ จึงยังคงแพร่ระบาดทั่วประเทศ 

แม้จะมีการใช้กำลังอาวุธปราบปรามกลุ่มค้ายา แต่ภาครัฐเจอการต่อสู้กลับจนกลายเป็นปัญหาความรุนแรงและสถิติคดีฆาตกรรมในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกโคคา ซึ่งรวมถึงกรณีแก๊งต่างๆ ขัดแย้งกันจนถึงขั้นใช้กำลังอาวุธด้วย 

เม็กซิโก

เม็กซิโกประสบปัญหาคล้ายโคลอมเบีย คือกลุ่มกบฏในอดีตผันตัวเป็นแก๊งค้ายาเสพติด และกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่นก็อาศัยการค้ายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ ทำให้เกิดการปะทะแย่งชิงอาณาเขตระหว่างแก๊งเป็นประจำ ผลที่ตามมาคือคดีอาชญากรรมในเม็กซิโกสูงกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก 

จนกระทั่งปี 2006 ประธานาธิบดี เฟลิเป กัลเดรอน ผู้นำเม็กซิโกในขณะนั้น ได้ประกาศสงครามยาเสพติดเพื่อกวาดล้างแก๊งค้ายาซึ่งตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยนโยบายสงครามยาเสพติดของกัลเดรอนมุ่งเน้นที่การใช้กำลังอาวุธปราบปรามอย่างเด็ดขาด และผู้สนับสนุนรายใหญ่ของการทำสงครามยาเสพติดในเม็กซิโกก็คือเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากยาเสพติดที่ทะลักข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศตัวเอง แต่ผลที่ตามมาคือเกิดคดีความรุนแรงรายวัน ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐบาลมีส่วนในการทุจริตรับสินบนจากแก๊งค้ายา

องค์กรวิจัยด้านนโยบายสาธารณะในสหรัฐฯ CATO Institute รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตในการทำสงครามยาเสพติดเม็กซิโกระหว่างปี 2006-2018 ประมาณ 125,000-150,000 คน โดยตัวเลขไม่ชัดเจน เป็นเพราะหลายกรณีไม่อาจระบุได้ว่าผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจริงหรือไม่ ถือเป็นตัวเลขความสูญเสียที่สูงกว่าการทำสงครามยาเสพติดในประเทศอื่นทั่วโลก แต่การค้ายาเสพติดในเม็กซิโกกลับไม่ลดลง เพราะการปราบปรามยิ่งทำให้ราคายาเสพติดพุ่งสูง และเป็นโอกาสที่แก๊งค้ายาจะทำรายได้เพิ่มขึ้น 

ทางเลือกอื่นๆ เมื่อ UN บอกว่าสงครามยาเสพติดคือ ‘ความล้มเหลว’

สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า อดีตประธานาธิบดี โรดริโก ดูแตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ยืนยันว่าเขาจะไม่ขอโทษและไม่รู้สึกเสียใจแต่อย่างใดที่ประกาศสงครามยาเสพติดในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จนตัวเองถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 

ผู้สนับสนุนดูแตร์เตจำนวนมากก็คิดแบบเดียวกันว่าการทำสงครามยาเสพติดคือสิ่งจำเป็นและเป็นนโยบายที่ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น แต่คณะผู้เชี่ยวชาญพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) กลับเห็นต่างออกไป

คณะผู้เชี่ยวชาญฯ ออกแถลงการณ์ในวันต่อต้านยาเสพติดโลกเมื่อปี 2023 เรียกร้องให้ทั่วโลกยุติสงครามยาเสพติดอย่างถาวร พร้อมให้เหตุผลว่าการใช้นโยบายความรุนแรงในการปราบปรามยาเสพติดไม่ได้ผลอย่างที่หลายประเทศตั้งเป้าไว้ เพราะรากเหง้าของปัญหายาเสพติดเกี่ยวพันกับประเด็นทางสังคมหลายอย่าง เช่น ความยากจน การขาดโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ ตลอดจนปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งรู้เห็นเป็นใจกับขบวนการค้ายาเสพติด 

การใช้ความรุนแรงกวาดล้างผู้ค้ายาเสพติดจึงยิ่งทำให้เกิดการตอบโต้กลับอย่างไม่รู้จบ ทั้งยังทำให้ตลาดค้ายาเสพติดเติบโตกว่าเดิม และการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศมีแนวโน้มจะรุนแรงเกินกว่าเหตุ หรือไม่ก็พุ่งเป้าไปยังประชากรชายขอบของสังคมเนื่องจากมีมายาคติว่าคนกลุ่มนี้คือผู้ค้ายาเสพติด ทั้งที่ความเป็นจริงผู้สมรู้ร่วมคิดในขบวนการค้ายาเสพติดมีหลายระดับและดำเนินการอย่างเป็นระบบ แต่กลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยกลับถูกเจ้าหน้าที่เพ่งเล็งและถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากที่สุด

ขณะที่ โวลเคอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่ UNHRC ก็ออกมาย้ำเรื่องนี้อีกครั้งช่วงปลายปี 2024 โดยระบุว่าสงครามยาเสพติดล้วนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง (‘War on drugs has failed, completely and utterly’) พร้อมเสนอให้แต่ละประเทศทั่วโลกพิจารณานโยบายอื่นๆ ในการต่อสู้กับยาเสพติดแทนการใช้ความรุนแรง

เช่นเดียวกับรายงานของ BBC สถาบัน CATO Institute และ Oxford Department of International Development ต่างก็ระบุว่าหลายประเทศหันไปใช้วิธีการผ่อนผันโทษแก่ผู้เสพและผู้ค้ายารายย่อย โดยเน้นการเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้ารับการบำบัดเพื่อจะได้หลุดพ้นจากวังวนยาเสพติดได้อย่างรวดเร็วกว่าการลงโทษด้วยการจับกุมคุมขังในคดีอาญา โดยมีงานวิจัยบ่งชี้ว่าวิธีการนี้จะช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น ตำรวจ เพราะหลายประเทศมีกำลังพลด้านนี้ไม่เพียงพอ รวมถึงเจ้าหน้าที่เรือนจำซึ่งประสบปัญหานักโทษแน่นคุกในช่วงที่มีการกวาดล้างยาเสพติดครั้งใหญ่

ประเทศที่ปรับเปลี่ยนนโยบายการใช้กำลังปราบปรามหรือเพิ่มบทลงโทษในคดียาเสพติดไปสู่การผ่อนผันโทษ การผลักดันโครงการบำบัดยาเสพติด ไปจนถึงการแก้ไขบัญชียาเสพติดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ โปรตุเกส ปารากวัย แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และประเทศไทยซึ่งเพิ่งจะถอดกัญชาและกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวกับกัญชาและกระท่อมราว 4,000 คนได้รับการปล่อยตัว

แม้แต่โคลอมเบียซึ่งเป็นแหล่งปลูกโคคารายใหญ่และสู้รบกับกลุ่มกบฏและแก๊งค้ายาเสพติดจนประเทศเต็มไปด้วยปัญหาความรุนแรงก็ตระหนักเช่นกันว่าการใช้กำลังอาวุธปราบปรามกลุ่มอาชญากรเหล่านี้ไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งยังสูญเสียงบประมาณจำนวนมากไปกับการต่อสู้และบูรณะชุมชนหรือสมบัติสาธารณะที่ได้รับความเสียหายจากนโยบายเหล่านี้ หลังจากปี 2011 เป็นต้นมา รัฐบาลโคลอมเบียจึงพยายามผลักดันการปรับแก้กฎหมายยาเสพติดและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดให้ผู้ปลูกโคคาหันไปปลูกพืชอื่นๆ แทน

แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือแต่ละประเทศมีปัญหายาเสพติดที่แตกต่างกันออกไป โดยกรณีของสหรัฐฯ ในปัจจุบันนอกจากจะยังมีปัญหาเรื่องโคเคนเรื้อรังแล้ว ยังมีปัญหาเฟนทานิลเถื่อนทะลักข้ามพรมแดนแทบจะทุกทางอีกด้วย 

ผลสำรวจความคิดเห็นคนอเมริกันซึ่งจัดทำโดย Gallup Poll บวกกับผลวิจัยของหน่วยงานป้องกันยาเสพติดสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้คนอเมริกันเสพยา มีตั้งแต่ปัญหาส่วนตัวไปจนถึงความป่วยไข้เรื้อรังและความอยากรู้อยากลอง ประกอบกับยาเสพติดเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยาก การลดหรือควบคุมจำนวนผู้เสพและผู้ค้ายาในสังคมอเมริกันจึงประสบความสำเร็จได้ยากถ้าหากรัฐบาลไม่ตระหนักถึงรากเหง้าปัญหาเหล่านี้

กรณีของไทยจะพบว่า ‘ยาบ้า’ เป็นยาเสพติดราคาถูกที่แพร่หลายในผู้ใช้หลากหลายกลุ่มและหลากหลายช่วงวัย มีตั้งแต่เยาวชนไปจนถึงคนวัยทำงาน และแหล่งผลิตยาบ้าก็อยู่ในสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเชื่อมต่อระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและลาว แต่สงครามกลางเมืองและสถานการณ์ปั่นป่วนในพม่าที่เริ่มขึ้นหลังเกิดรัฐประหารปี 2021 ส่งผลให้การผลิตยาเสพติดในสามเหลี่ยมทองคำมีกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ในระหว่างที่รัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ สู้รบกัน ขบวนการค้ายาเสพติดก็ใช้จังหวะนี้ขยายฐานการผลิตและกระจายสินค้าผิดกฎหมายข้ามพรมแดนได้อย่างสะดวกง่ายดายขึ้น ทั้งยังมีเบาะแสว่ากองกำลังบางกลุ่ม รวมถึงฝ่ายรัฐบาลพม่าเอง ต่างก็อาศัยรายได้ที่กลุ่มค้ายาเสพติดจ่ายให้เพื่อนำไปสนับสนุนการต่อสู้และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตัวเอง 

บรรดาประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องการจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังอาจต้องพิจารณาหาทางกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าและกลุ่มติดอาวุธต่างๆ สงบศึกกันให้ได้ก่อน พร้อมผลักดันให้พม่ากลับสู่สภาวะปกติและจัดตั้งรัฐบาลที่มีเอกภาพมาต่อสู้กับขบวนการค้ายาเสพติดอย่างเป็นกิจลักษณะมากกว่าที่เป็นอยู่ 

แต่เรื่องใหญ่อีกประการหนึ่งคือรายได้ต่อปีที่หมุนเวียนในเครือข่ายค้ายาเสพติดทั่วโลกซึ่งสถาบัน CATO Institute ประเมินไว้ คิดเป็นเงินมหาศาลราว 426,000 ล้านดอลลาร์ถึง 652,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกมีปัญหาทุจริตเรื้อรังทั้งในภาครัฐและเอกชนซึ่งต่างก็พร้อมจะร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจผิดกฎหมายได้ทุกเมื่อถ้ามีผลประโยชน์มากพอ

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ