15 ปี ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ สลายการชุมนุม 10 เมษายน 53
...
Summary
- การชุมนุมของ นปช. คนเสื้อแดง ปี 2553 เริ่มต้นเมื่อ 12 มีนาคม ‘12 มีนา 12 นาฬิกา ลั่นกลองศึกเขย่าขวัญอำมาตย์’ ด้วยข้อเรียกร้องหลักคือ ยุบสภาฯ ขับไล่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
- รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งหน่วยงานพิเศษ ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน’ หรือ ศอฉ. ขึ้นมา โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ
- การ ‘ขอคืนพื้นที่’ หรือปฏิบัติการสลายการชุมนุมภายใต้คำสั่งของ ศอฉ. ทำให้มีผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน 2553 ทั้งหมด 20 กว่าราย และศาลมีคำสั่งในหลายคดีว่า กระสุนมาจากฝั่งทหาร
...
ครบรอบ 15 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 ‘ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่’ บริเวณสะพานผ่านฟ้าถึงสี่แยกคอกวัว
ย้อนเหตุการณ์สลายการชุมนุม
การชุมนุมของ นปช. คนเสื้อแดง ปี 2553 เริ่มต้นเมื่อ 12 มีนาคม ‘12 มีนา 12 นาฬิกา ลั่นกลองศึกเขย่าขวัญอำมาตย์’ ด้วยข้อเรียกร้องหลักคือ ยุบสภาฯ ขับไล่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2551 หลังการยุบพรรคพลังประชาชน และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะเป็นอีกครั้งที่พรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาฯ ถูกทำให้หายไปจากกระดานการเมือง เหมือนที่เคยเกิดกับไทยรักไทยไปก่อนหน้า ตามมาด้วยการยึดทรัพย์ ทักษิณ ชินวัตร
ช่วงการชุมนุมอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งหน่วยงานพิเศษ ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน’ หรือ ศอฉ. ขึ้นมาในวันที่ 7 เมษายน 2553 เพื่อรับมือกับการชุมนุมที่ยืดเยื้อในกรุงเทพฯ โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ
เหตุการณ์สำคัญก่อนถึงวันที่ 10 เมษายน คือ การบุกยึดสถานีดาวเทียมไทยคม จังหวัดปทุมธานี โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ในวันที่ 8 เมษายน และพยายามตัดสัญญาณพีเพิลแชนเนล (People Channel) ที่ถ่ายทอดการปราศรัยและการชุมนุมของ นปช. ด้วยเหตุผลจากรัฐบาลว่า ดำเนินการขัดต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคง จนเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่
คืนวันที่ 9 เมษายน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงว่าผู้ชุมนุมแสดงออกถึงความเหิมเกริม และรัฐบาลจะขอทำหน้าที่รักษากฎหมาย ซึ่งคาดการณ์กันว่า รัฐบาลพยายามจะขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมให้ได้ก่อนสงกรานต์
และปฏิบัติการที่รัฐบาลเรียกว่า ‘ขอคืนพื้นที่’ ก็เกิดขึ้นในหนึ่งวันถัดมา โดยคาดว่า ปฏิบัติการจะกินเวลาไม่เกินเย็นวันที่ 10 เมษายน และจากที่ประเมินกันว่า การสลายการชุมนุมจะเกิดขึ้นที่ราชประสงค์ แต่เวทีสะพานผ่านฟ้ากลับเป็นพื้นที่แรกที่ถูกขอคืน โดยไม่มีคำเตือนล่วงหน้า
ปฏิบัติการขอพื้นที่คืนเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่าย ตั้งแต่พื้นที่ชุมนุมสะพานผ่านฟ้ามาถึงแยกคอกวัว ฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารโปรยแก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์ ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการใช้กระสุนความเร็วสูง ทั้งยิงศีรษะและลำตัว ช่วงค่ำ มีภาพปรากฏว่ามีกลุ่มชายชุดดำเป็นผู้โจมตีทหาร ส่วนฝั่งทหารก็ทำการซุ่มยิงผู้ชุมนุมจากที่สูง
สำหรับผู้เสียชีวิตวันที่ 10 เมษายน ศาลมีคำสั่งในหลายคดีว่ากระสุนมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ เช่น กรณี เกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ จรูญ ฉายแม้น และ สยาม วัฒนนุกูล ถูกยิงหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ส่วนคดีชายชุดดำ ได้มีการยกฟ้องจำเลยในปี 2564
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหาร จากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ไว้ดังนี้
1. เกรียงไกร คำน้อย
2. อนันท์ ชินสงคราม
3. มนต์ชัย แซ่จอง
4. ธวัฒนะชัย กลัดสุข
5. ไพรศล ทิพย์ลม
6. อำพน ตติยรัตน์
7. อนันต์ สิริกุลวาณิชย์
8. เทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์
9. สวาท วางาม
10. บุญธรรม ทองผุย
11. สมิง แตงเพชร
12. สมศักดิ์ แก้วสาร
13. นภพล เผ่าพนัส
14. บุญจันทร์ ไหมประเสริฐ
15. ยุทธนา ทองเจริญพูลพร
16. วสันต์ ภู่ทอง
17. สยาม วัฒนนุกุล
18. จรูญ ฉายแม้น
19. ฮิโรยูกิ มูราโมโต้
20. ทศชัย เมฆงามฟ้า
21. คนึง ฉัตรเท
22. มานะ อาจราญ
23. พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม
24. พลทหารภูริวัฒน์ ประพันธ์
25. พลทหารอนุพงษ์ เมืองรำพัน
26. พลทหารสิงหา อ่อนทรง
27. พลทหารอนุพงศ์ หอมมาลี
นิรโทษกรรมให้คนเป็น
10 เมษายน 2568 คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) จัดงานรำลึก 15 ปี สลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 ในชื่อ ‘นิรโทษกรรมให้คนเป็น ทวงความยุติธรรมให้คนตาย’ เนื่องจากในยุครัฐบาลเพื่อไทย มีการขับเคลื่อนเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง และล้างความผิดให้กับทุกคดีที่มีแรงจูงใจจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยมีกำหนดการพูดคุยในสภาวาระแรกวันที่ 9 เมษายน 2568 แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่มีการพิจารณา และถูกเลื่อนไปสมัยหน้า เพราะสภามีวาระเร่งด่วนเรื่องมาตรการรับมือนโยบายภาษีใหม่ของสหรัฐฯ
ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีทั้งหมด 4 ร่าง คือ
- ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เสนอโดย ภาคประชาชน
- ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พรรครวมไทยสร้างชาติ
- ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พรรคครูไทยเพื่อประชาชน
- ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคก้าวไกล
อ้างอิงข้อมูลจาก iLaw ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ผู้ถูกดำเนินคดี รวมถึงผู้ที่ถูกพิพากษาไปจนถึงศาลฎีกา ไร้มลทินจากคดีความทางการเมือง
แต่ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสี่ฉบับ ก็มีความแตกต่างกันคือ กำหนดกรอบระยะเวลาและฐานความผิดที่จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม เช่น คดีมาตรา 112 และการทำรัฐประหาร
