ผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซ พยายามฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเองระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำ
...
Summary
- 27 มิถุนายน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว 1 คนพยายามฆ่าตัวตาย 2 คนทำร้ายตัวเอง และอีก 1 คนอดอาหาร สาเหตุของทั้งหมดมาจากการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว
- พลพล หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกคุมขัง กินพาราหลายสิบเม็ด หวังฆ่าตัวตาย แต่ได้รับการช่วยเหลือส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังไม่มีความคืบหน้า
- ผู้ต้องหาคดีการเมือง ทั้งมาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซ ที่ยังไม่ได้ประกันตัว มีอย่างน้อย 22 คน
...
หลังจากการชุมนุมที่ของกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ซ’ บริเวณแยกดินแดง ช่วงวันที่ 11, 14 และ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ชุมนุมถูกจับกุม 13 คน โดย 11 คนไม่ได้ประกันตัว และถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายนเป็นต้นมา
ล่าสุด 27 มิถุนายน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว 1 คนพยายามฆ่าตัวตาย 2 คนทำร้ายตัวเอง และอีก 1 คนอดอาหาร สาเหตุของทั้งหมดมาจากการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว
จากการเข้าเยี่ยมของทนายความ ได้ข้อมูลจาก ธีรวิทย์ หนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว ว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้จัดกล่องยาสามัญประจำบ้านไว้ให้ผู้ต้องขัง ในฐานะที่อาวุโสที่สุด ธีรวิทย์จึงทำหน้าที่ดูแลกล่องยาทั้งหมด
วันที่ 25 มิถุนายน พลพล หนึ่งในผู้ต้องขังมีอาการผิดปกติ มึนงง หน้าซีด สับสน และอาเจียน หลังจากช่วยกันตรวจสอบ พบแผงยาพาราเซตามอลถูกแกะแล้วหลายแพงซ่อนอยู่ใต้ที่นอนของพลพล ธีรวิทย์ คาดว่า น่าจะถูกหยิบไปจากกล่องยาคืนวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งต่อมา พลพลยอมรับว่ารับประทานยาเข้าไปทั้งหมดหลายสิบเม็ดเพื่อพยายามฆ่าตัวตาย
หลังเพื่อนผู้ต้องขังแจ้งให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทราบ พลพลจึงถูกนำตัวส่งตัวไปล้างท้องที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าอาการคืบหน้าเป็นอย่างไร
ศูนย์ทนายฯ ถ่ายทอดสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมระหว่างถูกคุมขังจากธีรวิทย์ว่า หลายคนมีอาการเครียด โดยเฉพาะพลพลวัย 20 ปี มีอาการเครียดหนักที่สุด
พลพลถูกกล่าวหาว่า มีส่วนในการเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 โดยเมื่อวันที่พลพลเดินทางไปแสดงความบริสุทธิ์กับตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ด้วยตนเองเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนเอง ว่าไม่ได้มีส่วนร่วมกับการก่อเหตุ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา 5 ข้อกล่าวหา ทั้งที่ไม่ได้มีการออกหมายจับมาก่อน ต่อมาถูกนำตัวไปยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญา และศาลได้อนุญาตให้ฝากขังมาตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2565
ส่วนผู้ต้องขังจากกลุ่มทะลุแก๊ซอีกหลายคนที่มีปัญหาความเครียด ก็เริ่มกินอาหารได้เพียงวันละมื้อ และมีผู้ต้องขัง 2 ราย คือ พุฒิพงศ์ และ ใบบุญ ใช้ฝาปลากระป๋องกรีดแขนตัวเองมากกว่า 10 แผล ประท้วงที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังและมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว
ส่วนตัวธีรวิทย์ ก็อดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน โดยรับประทานแต่น้ำเปล่ากับเกลือแร่ จนร่างกายอ่อนแรงมาก ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ
ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน บุ้ง และ ใบปอ
จากที่มีรายงานข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การอดข้าวเกิน 20 ของ บุ้ง - เนติพร นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ทำให้อาการทรุด ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทำให้วันที่ 23 มิถุนายน ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวบุ้งและใบปออีกครั้ง เป็นครั้งที่ 5 โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันคนละ 200,000 บาท ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยอ้างเหตุอาการป่วยของจำเลยทั้งสองสามารถรักษาภายในเรือนจำได้ วันถัดมา 24 มิถุนายน ทนายความจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
วันที่ 27 มิถุนายน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งบุ้งและใบปอเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วจำเลยที่ 2 และ 3 ถูกฟ้องว่าร่วมกับพวกกระทำความผิดหลายข้อหาบางข้อหามีอัตราโทษสูงและมีลักษณะเป็นการกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไปถือเป็นเรื่องร้ายแรง”
“ประกอบกับศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 และ 3 ในระหว่างสอบสวน โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง”
“แต่จำเลยที่ 2 และ 3 ผิดเงื่อนไขจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 และ 3 กรณีจึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นนี้จำเลยที่ 2 และ 3 อาจจะหลบหนีหรือก่อให้เกิดภัยอันตรายประการอื่น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”
บุ้งและใบปอถูกจับกุมจากการทำโพลสำรวจความเห็นเรื่องความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ หลังถูกถอนประกัน ทั้งคู่ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม จนถึงวันนี้เป็นเวลา 57 วัน และได้อดอาหารประท้วงมาแล้ว 27 วัน
โครงการ ‘ฝากส่งใจถึงเพื่อนในเรือนจำ’
หลังมีผู้ชุมนุมถูกจับกุมหลายคนและไม่ได้สิทธิประกันตัว กลุ่ม ‘ทะลุแก๊ซ’ ได้โพสต์ข้อความบนเพจ ทะลุแก๊ซ - Thalugaz เชิญชวนส่งกำลังใจถึงนักเคลื่อนไหวที่ยังอยู่ในเรือนจำว่า
“อยู่ในคุกมันเหงา ทุกข์ใจ และโดดเดี่ยว ขอกำลังใจจากคนข้างนอกให้พี่น้องเราที่อยู่ในเรือนจำได้ไหม บางทีข้อความจากทุกคนอาจจะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจที่บอบช้ำได้บ้าง”
โครงการ #ส่งใจถึงเพื่อนในเรือนจำ เป็นการส่งข้อความให้กำลังใจผ่านการเข้าเยี่ยมโดยทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) โดยจะรวบรวมทุกวันเสาร์ เพื่อนำเข้าเยี่ยมในสัปดาห์ถัดไป
“โดยหวังว่าพลังบวกเหล่านี้จะเปรียบเสมือนจดหมายเพิ่มกำลังใจและความหวังให้กับทุกคนที่อยู่ในเรือนจำ”
ทั้งนี้ ในแคมเปญรณรงค์ ยังได้ระบุชื่อนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังและไม่ได้ประกันตัว ทั้งกรณีมาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, ครอบครองวัตถุระเบิด และผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซ ไว้ อ้างอิงจากข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องขังจากคดีการเมืองตั้งแต่มีนาคม และยังไม่ได้รับการประกันตัว มีดังนี้
คทาธร สมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พบวัตถุระเบิดในครอบครอง ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่ 11 เมษายน
คงเพชร สมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พบวัตถุระเบิดในครอบครอง ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่ 11 เมษายน
พรพจน์ แจ้งกระจ่าง ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนกับการปาระเบิดปิงปองหน้ากรมทหารราบที่ 1 ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่ 13 เมษายน
ใบปอ จาก ‘กลุ่มทะลุวัง’ คดีมาตรา 112 ถูกเพิกถอนประกันตัวในชั้นสอบสวน เมื่อ 3 พฤษภาคม
บุ้ง เนติพร จาก ‘กลุ่มทะลุวัง’ คดีมาตรา 112 ถูกเพิกถอนประกันตัวในชั้นสอบสวน เมื่อ 3 พฤษภาคม
เอกชัย หงส์กังวาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลฎีกา ตั้งแต่ 19 เมษายน
สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดง คดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ ตั้งแต่ 28 เมษายน
พลทหารเมธิน (นามสมมติ) ถูกกล่าวหาจากถ้อยคำที่โต้เถียงกับคู่กรณีที่ขับรถเฉี่ยวชนกัน โดยถูกนำไปแจ้งความมาตรา 112 ก่อนถูกออกหมายจับ และถูกฝากขังต่อศาลทหาร 19 มีนาคม
วัชรพล ผู้ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ #ม็อบ11มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกกล่าวหาเรื่องการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ถูกคุมขังตั้งแต่ 13 มิถุนายน
จตุพล ผู้ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ #ม็อบ11มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกกล่าวหาเรื่องการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ถูกคุมขังตั้งแต่ 16 มิถุนายน
ณัฐพล ผู้ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ #ม็อบ11มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกกล่าวหาเรื่องการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน
พลพล ผู้ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ #ม็อบ11มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกกล่าวหาเรื่องการทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน
พุฒิพงศ์ ผู้ชุมนุม #ม็อบ15มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกกล่าวหาว่าเผายางรถยนต์ ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน
ศศลักษณ์ (ภูมิ) ผู้ชุมนุม #ม็อบ14มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน
พิชัย เลิศจินตวงษ์ ผู้ชุมนุม #ม็อบ14มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน
ใบบุญ (โอม) ผู้ชุมนุม #ม็อบ14มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน
สมชาย ผู้ชุมนุม #ม็อบ14มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน
อัครพล ผู้ชุมนุม #ม็อบ14มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน
ธีรวิทย์ ผู้ชุมนุม #ม็อบ14มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน
หนึ่ง เกตุสกุล ผู้ชุมนุม #ม็อบ14มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน
วรวุฒิ ผู้ชุมนุม #ม็อบ14มิถุนา65 บริเวณดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน
ร็อก (สงวนนามสกุล) ผู้ชุมนุม #ม็อบ19มิถุนา65 บริเวณดินแดงถูกกล่าวหาว่าครอบครองระเบิด ถูกคุมขังตั้งแต่ 20 มิถุนายน
