‘ความหลากเพศที่ไม่สุดทาง’ ของ Emmy Awards 2021 กับเวทีรางวัลที่ไม่ควร ‘แบ่งเพศ’
...
LATEST
Summary
- เพิ่งผ่านพ้นกันไป สำหรับงานประกาศรางวัลผลงานบันเทิงทางโทรทัศน์ของชาวอเมริกันอย่าง Primetime Emmy Awards 2021 หรือ เอ็มมี่ อวอร์ดส์ ครั้งที่ 73 ซึ่งในปีนี้ ก็ดูจะยิ่งคึกคักและน่าจับตาเป็นพิเศษ เมื่อปรากฏรายชื่อของผู้เข้าชิงรางวัลจำนวนไม่น้อย ที่เป็น LGBTQ+ หรือ ‘ผู้มีความหลากหลายทางเพศ’
- โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมหลังจากการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง เอ็มเจ โรดริเกซ นักแสดงนำจาก Pose -ซีรีส์เรื่องดังที่ว่าด้วยชีวิตอันล้มลุกคลุกคลานของคนหลากเพศในนิวยอร์กช่วงยุค 80-90- ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็น ‘ผู้หญิงข้ามเพศคนแรก’ ที่สามารถเข้าชิงรางวัลในสาขาการแสดงหลักอย่าง ‘นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในซีรีส์ดราม่า’ บนเวทีเอ็มมี่ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีชาว LGBTQ+ อีกจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสได้เข้าชิงในสาขาการแสดงต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ
- แต่ถึงอย่างนั้น เอเชีย เคต ดิลลอน นักแสดงเพศนอนไบนารี (Nonbinary - กล่าวคือไม่เป็นทั้งเพศหญิงหรือเพศชาย) ก็ให้สัมภาษณ์ว่า แม้รายชื่อผู้เข้าชิงปีนี้จะเต็มไปด้วย LGBTQ+ แต่เจ้าตัวก็ยังกังขากับวิธีการแบ่งประเภทรางวัลดั้งเดิมแบบ ‘แยกแค่หญิง/ชาย’ ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาตลอดเจ็ดทศวรรษของเอ็มมี่อยู่ดี
...
เพิ่งผ่านพ้นกันไปเมื่อช่วงเช้า (ตามเวลาในบ้านเรา - ขณะที่ในบ้านเขา คือคืนวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน) สำหรับงานประกาศรางวัลผลงานบันเทิงทางโทรทัศน์ของชาวอเมริกันอย่าง Primetime Emmy Awards 2021 หรือ เอ็มมี่ อวอร์ดส์ ครั้งที่ 73 ซึ่งในปีนี้ ก็ดูจะยิ่งคึกคักและน่าจับตาเป็นพิเศษ เมื่อปรากฏรายชื่อของผู้เข้าชิงรางวัลจำนวนไม่น้อย ที่เป็น LGBTQ+ หรือ ‘ผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ โดยเฉพาะในสาขาหลักๆ ที่เริ่มมีการคัดเลือกนักแสดงตาม ‘เพศสภาพ’ มากกว่า ‘เพศกำเนิด’ ซึ่งเหล่านี้ก็น่าจะถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการเริ่มต้นเข้าสู่ทศวรรษใหม่ของวงการบันเทิงอเมริกัน (และโลก)
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปี 2021 นี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender Person) ถูกกีดกัน, กลั่นแกล้ง, ทำร้าย, กดดันจนฆ่าตัวตาย หรือทำให้เสียชีวิตด้วยวิธีการอันโหดเหี้ยมทารุณ ‘มากที่สุด’ เป็นประวัติการณ์ (แค่เฉพาะทรานส์ฯ ก็มีจำนวนผู้ถูกสังหารไม่ต่ำกว่า 30 รายแล้ว) จนหลายคนมองว่า การที่เอ็มมี่ปีนี้ มีรายชื่อผู้เข้าชิงชาว LGBTQ+ ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ก็อาจช่วยให้คนหลากเพศในอเมริกามี ‘กำลังใจ’ มากขึ้น หลังต้องผ่านเหตุการณ์เลวร้ายครั้งแล้วครั้งเล่ามาตลอดช่วงสามไตรมาสแรก
(จากซ้าย) เอ็มเจ โรดริเกซ กับ บิลลี พอร์เตอร์ ใน Pose
โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมหลังจากการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง เอ็มเจ โรดริเกซ นักแสดงนำจาก Pose -ซีรีส์เรื่องดังที่ว่าด้วยชีวิตอันล้มลุกคลุกคลานในนิวยอร์กช่วงยุค 80-90 ของ ‘คุณแม่ข้ามเพศ’ และลูกๆ อุปโลกน์ชาวเควียร์แห่งบ้านอีแวนเจลิสตาของเธอ- ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็น ‘ผู้หญิงข้ามเพศคนแรก’ ที่สามารถเข้าชิงรางวัลในสาขาการแสดงหลักอย่าง ‘นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในซีรีส์ดราม่า’ บนเวทีเอ็มมี่ -- ซึ่งโรดริเกซเองก็ได้ออกมาแสดงความปลาบปลื้มผ่านโซเชียลมีเดีย และยังอุทิศการเข้าชิงครั้งประวัติศาสตร์นี้ให้แก่กลุ่มคนผิวดำ, ละติน และทรานส์ฯ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งในเลือดเนื้อตัวตนของเธอเอง (โดยก่อนหน้านี้ บิลลี พอร์เตอร์ อีกหนึ่งนักแสดงนำจาก Pose ก็เคยเป็น ‘เกย์ผิวดำแบบเปิดเผยคนแรก’ ที่ชนะรางวัล ‘นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในซีรีส์ดราม่า’ เมื่อปี 2019 มาแล้ว และปีนี้ เขาก็ยังได้ชิงอีกเป็นหนที่ 3 ด้วย)
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีชาว LGBTQ+ อีกจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสได้เข้าชิงในสาขาการแสดงต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น เอ็มมา คอร์ริน นักแสดงเควียร์ ผู้รับบท เจ้าหญิงไดอานาแห่งเวลส์ จากซีรีส์ The Crown ที่เข้าชิงสาขาเดียวกับโรดริเกซ (และเคยชนะรางวัลเดียวกันจากบทนี้บนเวทีลูกโลกทองคำมาแล้ว), จิลเลียน แอนเดอร์สัน สาวไบเซ็กชวล ผู้รับบทอดีตนายกฯ หญิงเหล็กของอังกฤษ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ จาก The Crown ที่ชิง ‘นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมในซีรีส์ดราม่า’ หรือ โบเวน หยาง เกย์หนุ่มเชื้อสายจีน-อเมริกัน นักแสดงตลกรับเชิญจากรายการ Saturday Night Live ที่ชิง ‘นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมในซีรีส์ตลก’ -- ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วมีนักแสดง LGBTQ+ ที่เข้าชิงไม่ต่ำกว่าสิบรายชื่อ
แต่กระนั้น ผลรางวัลที่ออกมาก็ดูจะเป็นการ ‘ดับฝัน’ ของกองเชียร์ฝั่งเควียร์อยู่พอสมควร เมื่อโรดริเกซและคอร์รินต้องพ่ายให้แก่อีกหนึ่งตัวเก็งอย่าง โอลิเวีย โคลแมน จากบท ราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ใน The Crown ขณะที่นักแสดงหลากเพศรายอื่นๆ ก็ล้วนมาไกลได้แค่ ‘เข้าชิง’ เช่นกัน จะมีก็แต่แอนเดอร์สัน ผู้มีชื่อชั้นในวงการอยู่แล้วเท่านั้น ที่สามารถคว้ารางวัลมานอนกอดได้ (เธอแจ้งเกิดจากซีรีส์ The X-Files ในยุค 90 จากบทนักสืบ สกัลลี ก่อนทำการแสดงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน) รวมถึงความสำเร็จของคนบันเทิงผู้อยู่มานานอย่าง รูพอล แห่งมหากาพย์รายการแข่งขันแต่งหญิงสุดบรรเจิด RuPaul’s Drag Race ที่คว้าเอ็มมี่ได้เป็นตัวที่ 11 -ทั้งในฐานะของผู้สร้างสรรค์และพิธีกรรายการ- ซึ่งส่งให้เขากลายเป็นคนผิวสี (และเควียร์) ที่ชนะรางวัลนี้มากครั้งที่สุด
รูพอล (คนที่สองจากซ้าย) และทีมจาก RuPaul’s Drag Race ในงานเอ็มมี่
เอเชีย เคต ดิลลอน นักแสดงเพศนอนไบนารี (Nonbinary - กล่าวคือไม่เป็นทั้งเพศหญิงหรือเพศชาย) เจ้าของบท ‘ตัวละครนอนไบนารีตัวแรกในประวัติศาสตร์โทรทัศน์อเมริกัน’ เมื่อปี 2017 จากซีรีส์ Billions ให้สัมภาษณ์ว่า แม้รายชื่อผู้เข้าชิงปีนี้จะเต็มไปด้วย LGBTQ+ แต่เจ้าตัวก็ยังกังขากับวิธีการแบ่งประเภทรางวัลดั้งเดิมแบบ ‘แยกแค่หญิง/ชาย’ ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาตลอดเจ็ดทศวรรษของเอ็มมี่อยู่ดี “เมื่อรางวัลมันถูกนำเสนออยู่บนตัวเลือกเพียงเท่านี้ แล้วฉันไม่ได้เป็นเพศหนึ่งเพศใดในนั้น มันเลยเหมือนกับคนเพศฉันถูกทำให้ ‘หายไป’ มันเหมือนเป็นการถูกกีดกันน่ะ แล้วการที่เวทีเหล่านี้ยังคงเชิดชูวิธีคิดแบบแบ่งแค่สองขั้ว (Binary) ต่อไป มันถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ เลยนะ”
ดิลลอนเคยคัดง้างกับแนวคิดแบ่งแยกเฉพาะเพศชาย-หญิงบนเวทีรางวัลบันเทิงของอเมริกามาสักพักใหญ่แล้ว เพราะหลังจากที่เจ้าตัวถูกเชิญให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงสำหรับ Screen Actors Guild Awards (รางวัลบันเทิงที่โหวตโดยสมาคมนักแสดง) เมื่อปีที่แล้ว เธอก็ตัดสินใจเขียนจดหมายเปิดผนึกลงใน Variety เพื่อแนะนำให้เวทีเหล่านี้เลิกแบ่งรางวัลการแสดงออกเป็นแค่ ‘เพศชาย’ กับ ‘เพศหญิง’ เสียที เพราะมันถือเป็นการมองข้ามความหลากหลายทางเพศในโลกทุกวันนี้ และเสนอให้ปรับเปลี่ยนมันเป็นเพียงรางวัลทางการแสดงที่สามารถมอบให้ ‘นักแสดงคนไหนก็ได้ ไม่ว่าจะมีเพศอะไรก็ตาม’ -- ซึ่งทางผู้จัด SAG Awards ก็ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ว่า พวกเขาคงต้องยึดประเภทรางวัลเช่นเดิมไปก่อน เนื่องจากการปรับเปลี่ยนต้องใช้การพูดคุยภายในสมาคมกัน ‘อีกยาว’ เพราะมันถือเป็นเรื่องใหญ่
เอเชีย เคต ดิลลอน ใน Billions
ส่วนในฝั่งของ Television Academy ผู้จัดงานเอ็มมี่เอง ก็เคยออกมาประกาศก่อนหน้าที่จะเผยรายชื่อผู้เข้าชิงว่า นักแสดงที่ชนะรางวัลในปีนี้จะได้รับใบประกาศและตัวรางวัลที่ไม่มีการใช้คำระบุ ‘เพศ’ ตามประเภทของรางวัล หากแต่จะใช้คำว่า ‘ผู้แสดง’ (Performer) แทน ซึ่งดิลลอนก็ยังโต้แย้งว่า แต่สุดท้ายแล้ว ในการที่จะสามารถเข้าชิงในสาขาใดสาขาหนึ่งได้นั้น เหล่านักแสดงก็ยังต้องถูกบังคับให้เลือกว่าจะอยู่ฝั่ง ‘นักแสดงชาย’ หรือ ‘นักแสดงหญิง’ ก่อนอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ยังมีเวทีรางวัลในระดับสากลอีกจำนวนไม่น้อยที่เริ่มมีการมอบรางวัลแบบ ‘ปราศจากการระบุเพศ’ มาสักพักใหญ่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น MTV Movies & TV Awards, Television Critics Association Awards และเทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลิน เป็นต้น โดยดิลลอนเคยกล่าวเอาไว้ในงานมอบรางวัลของ MTV เมื่อปี 2017 ว่า “การแบ่งแยกความแตกต่างเดียวที่เราควรมีบนเวทีรางวัลก็คือ ใครสามารถทำการแสดงได้โดดเด่นกว่ากันเท่านั้นก็พอแล้ว”
อนึ่ง งานเอ็มมี่ในปีนี้ ยังถือเป็นปีแรกที่ได้กลับมาจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ในสถานที่จริง ผ่านการใช้พื้นที่เปิดโล่งและมาตรการป้องกันที่รัดกุม แทนการส่ง-มอบรางวัลกันผ่านหน้าจอเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาที่เคยน่าหวาดวิตกกว่านี้เมื่อปี 2020 นั่นเอง
