Humberger Menu

รำลึกถึง ริวอิจิ ซากาโมโตะ ศิลปินผู้มอง ‘สรรพเสียง’ และ ‘สรรพสิ่ง’ เป็นหนึ่งเดียวกัน

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Subculture

Music

Culture

3 เม.ย. 66

creator
ศรัณยู ตรีสุคนธ์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • “ผมเกิดที่ญี่ปุ่น แต่ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนญี่ปุ่น ผมชอบแนวความคิดที่ว่า ผมเป็นคนแปลกหน้าในโลกนี้ เพราะมันเปิดโอกาสให้ผมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา” คือคำพูดของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ คอมโพสเซอร์ระดับตำนานของโลก เจ้าของผลงานสุดคลาสสิกมากมาย ทั้งในโลกของศาสตร์ดนตรี ภาพยนตร์ และศิลปะร่วมสมัย โดยเฉพาะสกอร์หนังอันทรงพลังจาก Merry Christmas, Mr. Lawrence / The Last Emperor ไปจนถึง The Revenant
  • ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต ริวอิจิ ซากาโมโตะ เดินทางไปในหลายเมืองสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโตเกียว, ปารีส และ นิวยอร์ก เพียงเพื่อสดับรับฟัง ‘เสียง’ ของเมืองเหล่านั้น ซึ่งความแปลกประหลาด ก็คือ เขาได้ยินเสียงบางเสียงที่ตัวเองไม่เคยได้ยินมาก่อน เขาจึงนำมันมาพัฒนาต่อยอดเป็นเสียงดนตรีในอัลบั้ม 12 ด้วยความเชื่อที่ว่า เสียงทุกเสียงสามารถสร้างความรู้สึกได้ “สิ่งที่ผมคิดก่อนที่จะทำอัลบั้ม 12 ก็คือ ผมอยากได้ยินอะไร? บางที ผมอาจจะไม่อยากได้ยินอะไรเลย ซึ่งก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร” เขาเปรย
  • ริวอิจิเสียชีวิตลงในวัย 71 ปี เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา แต่การประกาศข่าวการจากไปของเขา กลับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน หลังจากที่ได้จัดพิธีศพไปแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการต่อสู้กับโรคมะเร็งเป็นครั้งสุดท้ายนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา

...


“ถึงแม้ว่าชีวิตจะผันผ่านเรื่องราวมามากมาย ได้ทำหลายสิ่งที่อยากทำ แต่ ‘ดนตรี’ คือสิ่งที่ผมรักมากที่สุด ผมหวังว่าตัวเองจะมีแรงกำลังมากพอที่จะสร้างผลงานเพลงตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เหมือนกับ โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค และ โคลด เดอบุสซี สองคีตกวีที่ผมชื่นชม”

ริวอิจิ ซากาโมโตะ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารญี่ปุ่น Shincho เอาไว้เช่นนั้น ในขณะที่กำลังต่อสู้กับโรคมะเร็งลำไส้ระยะที่ 4 ในช่วงกลางปี 2022 

แม้การรักษาด้วยการผ่าตัดในเดือนตุลาคมและธันวาคมจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่เซลล์มะเร็งที่กระจายไปยังปอดทั้งสองข้าง ทำให้สุขภาพโดยรวมของริวอิจิไม่ถือว่าสู้ดีนัก และมีวี่แววว่ามันจะแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ภายในร่างกาย จนการรักษาให้หายขาดอาจจะต้องพึ่ง ‘ปาฏิหาริย์’ 

แต่ริวอิจิก็ไม่เคยฟูมฟายกับโรคร้ายที่ตัวเองเผชิญ เขายังคงเดินหน้าทำงานเพลงต่อไป



เผชิญหน้ากับความตาย

โรคมะเร็งเข้ามาคุกคามชีวิตของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ มาตั้งแต่ปี 2014 ส่งผลให้เขาจำเป็นต้องพักการทำงานเพลงไปนานนับปี เพื่อรักษาตัวจากโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก แต่ริวอิจิก็หวนคืนสู่วงการในปี 2015 และได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมรู้สึกดีขึ้นมากแล้ว แต่ใครจะรู้ล่ะว่ามะเร็งจะกลับมาอีกเมื่อไร อาจจะอีก 3 ปี 5 ปี หรืออีก 10 ปี แล้วการรักษาด้วยการฉายรังสี ก็ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผมอ่อนแอลงไปมาก” 

และก็เป็นอย่างที่เจ้าตัวได้ทำนายไว้ เพราะถึงแม้จะหายขาดจากมะเร็งคอหอยแล้ว โรคร้ายก็ยังกลับมาในปี 2021 และครั้งนี้มันลุกลามเกินที่จะรักษาได้แล้ว ท้ายที่สุด ริวอิจิจึงเสียชีวิตลงในวัย 71 ปี เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา แต่การประกาศข่าวการจากไปของเขา กลับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน หลังจากที่ได้จัดพิธีศพไปแล้ว


ริวอิจิ ซากาโมโตะ มองว่า ธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติคือการเกิดดับไม่รู้จบ และตัวเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสัจธรรมนี้

share


ริวอิจิ ซากาโมโตะ มองว่า ธรรมชาติคือการเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติคือการเกิดดับไม่รู้จบ และตัวเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสัจธรรมนี้

การเผชิญหน้ากับความตายที่รออยู่ ทำให้เขาสร้างสรรค์ผลงานเพลงอย่าง async (2017) ออกมา โดยอัลบั้มชุดนี้ได้นำเอาดนตรีอะคูสติกและอิเล็กทรอนิกส์มาผสมผสานกัน ด้วยโครงสร้างอันเป็นแบบฉบับเฉพาะตัว มีการนำบทพูดของบุคคลสำคัญที่ริวอิจิยกย่อง อย่าง เดวิด ซิลเวียน นักร้องนำแห่งวง Japan และ พอล โบวล์ส ซึ่งเป็นทั้งนักประพันธ์เพลงและนักเขียน มาใส่ไว้ในอัลบั้ม ส่วนซาวนด์ที่มิกซ์ไว้ก็นำมาจากเสียงบนท้องถนนในเมือง 

ประเด็นของงานเพลงชุดนี้กระตุ้นให้เราสัมผัสกับความงามในสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด ไปจนถึงการเผยมุมมองของริวอิจิในลักษณะมนุษยนิยมอีกด้วย


    

12 : อัลบั้มชุดสุดท้ายในชีวิตของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ

12 คืออัลบั้มเดี่ยวชุดสุดท้ายในชีวิตของริวอิจิ ที่เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานเพลงในแนว ‘มินิมอล อิเล็กทรอนิกส์’ โดยมีสิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ อัลบั้มชุดนี้มีเสียงหายใจของตัวริวอิจิเอง รวมถึงการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเขา รวมอยู่ในเสียงสังเคราะห์ พร้อมด้วยเสียงเปียโนในอัลบั้มที่ฟังดูบางเบา คล้ายกับตั้งใจให้ผู้ฟังได้ยิน ‘เสียงอื่น’ ที่สุขุมลุ่มลึกกว่า

นี่จึงเป็นงานเพลงที่เพิ่มขอบเขต ‘ความเป็นไปได้’ ของการสร้างสรรค์ซาวนด์ในลักษณะงานแอมเบียนต์และดนตรีทดลอง ให้เทียบเท่ากับอารมณ์และจินตนาการของผู้ฟังที่อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เมื่อทิ้งช่วงการฟังเพลงในอัลบั้มชุดนี้ไประยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะกลับมาฟังมันอีกครั้ง ซึ่งเป็นความตั้งใจของริวอิจิเอง เพราะเขาก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า “12 คืองานสกอร์ประกอบหนังของ อังเดร ทาร์คอฟสกี ที่ไม่เคยมีอยู่จริง เพราะผมคิดถึงหนังของทาร์คอฟสกีตลอดเวลา ในระหว่างการทำอัลบั้มชุดนี้”


สิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ อัลบั้มชุดนี้มีเสียงหายใจของตัวริวอิจิเอง รวมถึงการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเขา รวมอยู่ในเสียงสังเคราะห์ พร้อมด้วยเสียงเปียโนในอัลบั้มที่ฟังดูบางเบา คล้ายกับตั้งใจให้ผู้ฟังได้ยิน ‘เสียงอื่น’ ที่สุขุมลุ่มลึกกว่า

share


“ดนตรีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ผมหมายถึงว่า เวลาคุณฟังเพลงอะไรก็ตาม มันจะคงอยู่ในความรู้สึกเพียงชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น คุณอาจจะรำลึกถึงมันได้เมื่อพบกับประสบการณ์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของบทเพลง หรือแม้แต่ท่วงทำนองของมัน แต่ซาวนด์ซึ่งเป็นการสั่นไหวของคลื่นเสียงมัน ‘พิเศษ’ กว่านั้น คลื่นเสียงที่ถูกออกแบบมาอย่างสมดุลและรัดกุม จะสร้างความรู้สึกบางอย่าง ลึกเข้าไปในโสตประสาทและจิตวิญญาณ คุณจะสัมผัสถึงความเร้นลับที่งดงามนั้นได้เสมอ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ยินสิ่งใดๆ อีกแล้ว เพราะความรู้สึกนั้นได้เข้าไปค้างเติ่งอยู่ในกระแสสำนึกของคุณแล้ว” 

คำพูดของดังกล่าวของริวอิจิ ทำให้นึกถึง บีโธเฟน ในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาประพันธ์ ‘ซิมโฟนีหมายเลข 9’ อันโด่งดังที่มีความยาวถึง 70 นาทีได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ยินอะไรเลย เพราะหูหนวกสนิทไปแล้ว ซึ่งบีโธเฟนทำเช่นนั้นได้ ก็เพราะเขารู้จักสมดุลของซาวนด์ทั้งมวล โน้ตที่บรรเลงอยู่ในห้วงความคิดคำนึง ทำให้คีตกวีท่านนี้ยังคงแต่งเพลงท่ามกลางความเงียบได้ 

และสัมผัสได้ถึงความงดงามของเสียงดนตรี – ดั่งบทกวีที่คงไว้ซึ่งความงามอันเป็นนิจนิรันดร์



Yellow Magic Orchestra บิดาของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ทั้งปวง

ริวอิจิ ซากาโมโตะ สนใจดนตรีมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เขาจบการศึกษาในสาขาการประพันธ์เพลงจาก Tokyo National University of Fine Arts and Music ซึ่งเป็นสถาบันสอนศิลปะและดนตรีระดับประเทศในปี 1970 และจบการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ในสาขาดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และดนตรีชาติพันธุ์ศึกษา (Ethnic Music) โดยตรง เพื่อศึกษาวัฒนธรรมดนตรีเฉพาะกลุ่มของคนพื้นถิ่นทั่วโลก เนื่องจากความสนใจในดนตรี เวิลด์ มิวสิก ที่หลากหลาย (เขาสนใจในดนตรีอินเดียและแอฟริกันเป็นพิเศษ) และการร่ำเรียนดนตรีคลาสสิกมานาน 

เขาเริ่มทดลองนำเครื่องดนตรีสังเคราะห์ที่หยิบยืมจากสถาบันที่เรียน อย่างซินธิไซเซอร์แบบแอนาล็อกของบริษัท Buchla, Moog และ ARP มาสร้างดนตรีทางเลือก ก่อนที่จะตั้งวง Yellow Magic Orchestra (YMO) ขึ้นมาเสียอีก

YMO ถือกำเนิดขึ้นในปี 1978 โดยประกอบไปด้วย ฮารุโอมิ ‘แฮร์รี’ โฮโซโนะ, ยูกิฮิโระ ทากาฮาชิ และริวอิจิเอง โดยถือเป็นวงดนตรีที่วางรากฐานให้กับดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์อย่างมั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน “วงของเราได้รับอิทธิพลทางดนตรีอย่างมากมาจากวง Kraftwerk (วงดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์รุ่นบุกเบิกจากประเทศเยอรมนี) สมาชิกทุกคนเป็นแฟนเพลงตัวกลั่นของวงนี้ แต่เราไม่อยากทำเพลงเลียนแบบ Kraftwerk ทุกคนเห็นตรงกันว่า เราควรทำดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่มีกลิ่นอายของดนตรีเอเชียและวัฒนธรรมญี่ปุ่นจริงๆ เราอยากเป็นวงเทคโนป๊อปที่เป็นตัวแทนของชาวเอเชีย” ริวอิจิ กล่าว


ริวอิจิในหนัง Merry Christmas, Mr. Lawrence

 

แม้แนวดนตรีของ Yellow Magic Orchestra เป็นอิเล็กทรอนิกส์ก็จริง แต่ท่ามกลางแนวดนตรี (ที่ส่วนมากสื่อเป็นฝ่ายจำกัดความให้) อย่างซินธ์ป๊อป, ไซเบอร์พังก์, แอมเบียนต์ เฮาส์, เทคโน และอื่นๆ ที่ทางวงสร้างสรรค์ออกมา หากตัดเครื่องดนตรีสังเคราะห์ที่วงใช้ในการบรรเลงออกไป โดยเนื้อแท้แล้ว งานเพลงของ YMO มีสีสันของดนตรีที่มีความหลากหลายในแง่ของ ‘ชาติพันธุ์’ ซึ่งแผ่ขยายไปทั่วทุกตัวโน้ต 

ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นถิ่นดั้งเดิมของญี่ปุ่นโบราณอย่าง Merry Christmas, Mr. Lawrence สกอร์หลักของหนังชื่อเดียวกันของผู้กำกับ นางิสะ โอชิมะ (ซึ่งริวอิจิได้สวมบทเป็น ผู้กองโยโนอิ ประชันบทบาทกับ เดวิด โบวี และ ทาเคชิ คิตาโนะ ด้วย) ซึ่งทำนองของเพลงนี้ได้ขจรขจายไปทั่วโลก และแทบจะเป็นต้นแบบของดนตรีคลาสสิกและอิเล็กทรอนิกส์ทั้งมวล ไล่ไปตั้งแต่งานสกอร์ประกอบหนังของ สตูดิโอ จิบลิ หลายต่อหลายเรื่องของคอมโพสเซอร์ โจ ฮิซาอิชิ ไปจนถึงงานเพลงป๊อปของ อูทาดะ ฮิคารุ

“ผมเป็นหนี้บุญคุณ นางิสะ โอชิมะ อย่างมหาศาล เขาเชื่อมั่นในตัวผม และให้อิสระในการทำงานแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งในฐานะนักแสดงและคอมโพสเซอร์ ทั้งๆ ที่มันเป็นหนังเรื่องแรกที่ผมแสดง และเป็นงานสกอร์หนังเรื่องแรกที่ผมทำ ช่วงแรกผมไปไม่ถูก ว่าจะทำมันออกมาอย่างไร ผมก็เลยถาม เจเรมี โทมัส โปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้ เขาบอกให้ผมไปดูหนังเรื่อง Citizen Kane (ของผู้กำกับ ออร์สัน เวลล์ส) เพื่อดูความสอดคล้องกันระหว่างดนตรีประกอบกับคาแรกเตอร์ตัวละคร ผมเคารพและชื่นชมงานสกอร์ของ เบอร์นาร์ด เฮอร์มาน นะ แต่ดนตรีที่เขาทำไม่ประทับใจผมเท่าไร ผมเลยสร้างดนตรีประกอบหนังเรื่องนี้ด้วยวิธีของผมเอง” ริวอิจิรำลึกถึงเมื่อครั้งที่เขาทำดนตรีประกอบหนังเรื่องแรก

ชายผู้นี้เชื่อมั่นในสัญชาตญาณของตัวเองเสมอ ด้วยเหตุนี้ด้วยการนำจังหวะดนตรีที่แปลกใหม่, การใช้บีตจากซินธิไซเซอร์ที่หนักหน่วง, การผสมผสานดนตรีไซคีเดลิก, แจ๊ซ, ดนตรีทดลอง, ดนตรีคลาสสิก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โน้ตซ้ำๆ แบบ Motif) และดนตรีป๊อป ทำให้งานเพลงของวง Yellow Magic Orchestra ส่งอิทธิพลอย่างยิ่งยวดต่อแนวเพลงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นฮิปฮอป, เทคโน, เอซิด เฮาส์, แทรนซ์, ซิตี้ ป๊อป, ชิบูยาเกะ แม้กระทั่งดนตรีเคป๊อปในปัจจุบัน – ซึ่งอาจจะส่งผลมากกว่าดนตรีเจป๊อปในบ้านเกิดของเขาเสียอีก



ภาษาภาพยนตร์, ภาษาดนตรี

ในฐานะศิลปินเดี่ยว งานเพลงของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ มีความลึกซึ้งและเรียบง่ายอย่างยิ่ง 

“ผมรักการอ่านบทกวี เฝ้ามองดูความเปลี่ยนแปลงตามวิถีของธรรมชาติ ผมรักความเงียบสงบ เพราะความสงบทำให้ผมตระหนักถึงความงามที่หลากหลาย ซึ่งหลายครั้งมันแปรเปลี่ยนมาเป็นโน้ตที่ร้อยเรียงกันอย่างสอดคล้องสวยงาม ทุกวันนี้ ผมรักการดูหนังด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังเงียบ ผมชื่นชมภาพยนตร์ศิลปะของ อังเดร ทาร์คอฟสกี, โรแบร์ เบรสซง และ อิงมาร์ เบิร์กแมน เป็นพิเศษ

“หนังของคนทำหนังเหล่านี้ ล้วนพูดถึงความไม่แน่นอน, ความทุกข์ยาก และความตาย มันทำให้ผมครุ่นคิดคำนึงถึงชีวิตและสรรพสิ่งในความหมายที่ลึกซึ้งมากขึ้น ผมชอบหนังที่ดำเนินไปอย่างเนิบช้า และไม่แสดงออกมากนัก แต่ผมสัมผัสได้ถึงความไม่มั่นคงอย่างยิ่งภายในจิตใจของตัวละคร ภาษาภาพยนตร์ทำให้คุณสามารถดิ่งลึกลงสู่เรื่องราวได้ 

“เช่นเดียวกับดนตรี ผมมองมันเหมือนกับการดำเนินเรื่องของหนังเหล่านี้ มันเชื่องช้ามากๆ แต่หากนำอารมณ์ของเราเข้าไปข้องเกี่ยวกับชีวิตของตัวละครด้วย ผมก็พบว่าชีวิตนั้นช่างสั้นนัก ผมจึงวางตัวโน้ตในหน้ากระดาษหนึ่ง แบบเดียวกับเรื่องราวในภาพยนตร์ มันมีที่ว่างเหลือเฟือ ซึ่งคุณจะใส่โน้ตให้เรียบง่าย หรือซับซ้อนแค่ไหนก็ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือการใส่สีสันและรูปทรงให้กับโน้ตแต่ละตัว เพื่อเพิ่มความลึกซึ้งให้กับสุ้มเสียงของมัน” ริวอิจิเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขายังคงทำเพลงต่อไป แม้ว่าจะป่วยหนักสักเพียงใดก็ตาม

“สำหรับผม ‘ที่ว่าง’ ระหว่างสรรพสิ่งนั้น สำคัญที่สุด” 



‘สรรพเสียง’ สู่ความจริงของ ‘สรรพสิ่ง’

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ในช่วงท้ายๆ ของชีวิต ริวอิจิ ซากาโมโตะ เดินทางไปในหลายเมืองสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นโตเกียว, ปารีส และ นิวยอร์ก เพียงเพื่อสดับรับฟัง ‘เสียง’ ของเมืองเหล่านั้น ซึ่งความแปลกประหลาด ก็คือ เขาได้ยินเสียงบางเสียงที่ตัวเองไม่เคยได้ยินมาก่อน เขาจึงนำมันมาพัฒนาต่อยอดเป็นเสียงดนตรีในอัลบั้ม 12 ด้วยความเชื่อที่ว่า เสียงทุกเสียงสามารถสร้างความรู้สึกได้ 

โซโล่อัลบั้มในยุคหลังๆ ของริวอิจิ ‘ตกผลึก’ ทั้งในฐานะของนักประพันธ์เพลง และผู้มองเห็นความจริงของชีวิต ที่เมื่อมองเข้าไปลึกๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า มันเต็มไปด้วย ‘ความว่าง’ และก็เป็นความว่างนี่เองที่จะทำให้เราสัมผัสได้ถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของทุกๆ สิ่ง 

“ดนตรีทุกแนวมีรูปแบบ (Form) ของมัน อย่างเช่น เพลงโซนาตาในศตวรรษที่ 18 ที่ โมสาร์ต และ จอร์จ ฟริเดอริก ฮันเดล มีความเข้มงวดในเรื่องของรูปแบบการประพันธ์อย่างมาก หรือแม้กระทั่งดนตรีป๊อปก็มีรูปแบบของมัน ผมไม่ต้องการทำดนตรีโดยอาศัยรูปแบบอีกแล้ว เพราะหลักการเป็นตัวปิดกั้นอิสระทางความคิดเกินไป ดังนั้น สิ่งที่ผมคิดก่อนที่จะทำอัลบั้ม 12 ก็คือ ผมอยากได้ยินอะไร? บางที ผมอาจจะไม่อยากได้ยินอะไรเลย ซึ่งก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร – ซึ่งความมุ่งมาดปรารถนาส่วนตัว ก็คือการได้ทำตามแนวทางของผมเอง นั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด” ริวอิจิ กล่าว


“สิ่งที่ผมคิดก่อนที่จะทำอัลบั้ม 12 ก็คือ ผมอยากได้ยินอะไร? บางที ผมอาจจะไม่อยากได้ยินอะไรเลย ซึ่งก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร” ริวอิจิ กล่าว

share


บางที ริวอิจิอาจจะมองเห็นสัจธรรมของดนตรีที่ว่า แท้จริงแล้ว มันคือการจัดการและเรียบเรียงการสั่นไหวของคลื่นเสียงให้อยู่ในทิศทางที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่สร้างมันขึ้นมา ซึ่งอาจไม่ต้องเป็นการเรียบเรียงในรูปแบบที่ชัดเจนก็ได้ เพราะสำหรับความไพเราะในการสดับฟัง ‘ดนตรี’ -หรือที่จริงแล้ว ก็คือการเรียงลำดับความยาวสั้นของคลื่นเสียงจนมีความงดงามสละสลวย- นั้น ความเงียบและความไม่ต่อเนื่องของโน้ต ก็สามารถนับเป็นความงามในอีกรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน 

สังขารที่ร่วงโรย และการไม่สามารถบังคับให้มะเร็งหยุดแพร่กระจายได้ แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ซึ่งนั่นทำให้ริวอิจิหันมาสนใจธรรมชาติมากขึ้น



อัจฉริยภาพทางดนตรี และความเป็นศิลปิน

ริวอิจิ ซากาโมโตะ เคยได้เข้าชิงรางวัลทางดนตรีมาแบบนับไม่ถ้วน โดยผลงานที่โดดเด่น ก็คือ Merry Christmas, Mr. Lawrence / The Sheltering Sky และ Little Buddha (แบร์นาร์โด แบร์โตลุชชี) / High Heels (เปโดร อัลโมโดวาร์) / Tokyo Decadence (หนังพิงก์ฟิล์มของผู้กำกับ เรียว มูราคามิ) / Snake Eyes (ไบรอัน เดอ พัลมา) / The Revenant (อาเลฆันโดร กอนซาเลซ อิญญาร์ริตู) โดยรางวัลที่ถือว่าสำคัญและเป็นที่จดจำที่สุด ก็คือ การคว้ารางวัลออสการ์ และรางวัลแกรมมี่ สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม จากหนังเรื่อง The Last Emperor (แบร์นาร์โด แบร์โตลุชชี) เมื่อปี 1987 

อนึ่ง ผลงานการทำดนตรีประกอบชิ้นท้ายๆ ในชีวิตของริวอิจิ คือการทำสกอร์ประกอบหนังเรื่อง Monster ให้ผู้กำกับ ฮิโรคาสุ โคเระเอดะ และผลงานชิ้นใหม่ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล



อย่างไรก็ดี ย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 ผู้กำกับ สตีเฟน โนมูระ ชีเบิล เคยสร้างหนังสารคดีเรื่อง CODA ที่ไม่ได้โฟกัสไปยังความเป็นอัจฉริยภาพทางดนตรีของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ มากเท่ากับการเป็นนักเคลื่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมของเขา ซึ่งเวลานั้น ริวอิจิกลายเป็นหนึ่งในผู้นำการต่อต้านการใช้พลังงานปรมาณู หลังจากที่เกิดเหตุสึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมร้ายแรง 

นอกจากนี้ งานศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ริวอิจิร่วมสร้างสรรค์ขึ้นมา ก็มีทั้งศิลปะแนวจัดวาง และงานแสดงนาฏลีลาสื่อผสมทดลองเรื่อง Life (1999) อีกทั้งเขายังชื่นชมการสร้างงานดนตรีทดลองด้วยเครื่องเคาะภายในครัวเรือนของศิลปินหัวก้าวหน้าอย่าง จอห์น เคจ, ดนตรีพื้นเมืองในหลากหลายถิ่นฐานของชาวเอเชีย ไปจนถึงดนตรีร็อกแอนด์โรลของวง The Rolling Stones และ The Beatles ด้วย



“ผมฟังเพลงของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ ครั้งแรกที่เม็กซิโกในปี 1983 เพลงเพลงนั้นคือ Merry Christmas, Mr. Lawrence ซึ่งเพียงแค่ไม่กี่โน้ตที่ได้ฟัง ผมก็สัมผัสได้ถึงความงดงามอย่างลึกซึ้งในระดับจักรวาลแล้ว เขาใช้โน้ตไม่กี่ตัวและใช้ความเงียบที่ซุกซ่อนระหว่างโน้ต เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมที่ยิ่งใหญ่ ผมไม่คิดไม่ฝันเลยว่า วันหนึ่ง ชายคนนี้จะยอมมาทำดนตรีประกอบให้หนังของผม เพราะ The Revenant เป็นหนังที่คอมโพสเซอร์ต้องเข้าใจความเร้นลับของความเงียบในระดับจิตวิญญาณ และริวอิจิคือคนที่เข้าใจมันได้ดีที่สุด” นี่คือคำกล่าวยกย่องริวอิจิของผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง อาเลฆันโดร กอนซาเลซ อิญญาร์ริตู

ส่วน Flying Lotus ศิลปินแนวอิเล็กทรอสิกส์และฮิปฮอปหัวก้าวหน้า ก็เผยว่า “คุณจะรู้ได้ทันทีว่า ริวอิจิคืออัจฉริยะ เมื่อคุณได้ฟังเพลง Thousand Knives อย่างครุ่นคิดพิจารณา มันคืองานเพลงยุคแรกๆ ของเขาแต่มันยังคงฟังล้ำสมัยอยู่เลย ถึงคุณจะเอามันกลับมาฟังในวันนี้ ริวอิจิมาหาผมที่แอลเอเพื่อทำงานร่วมกัน ซึ่งสิ่งที่เขาทำอยู่นานเลย ก็คือการใช้นิ้วเคาะพื้นผิวต่างๆ เพื่อฟังการสั่นของคลื่นเสียงตามมวลของวัตถุ เขาบอกว่า สรรพสิ่งมีคุณลักษณะเฉพาะในตัวของมันเอง และเสียงคือสิ่งที่อธิบายสรรพสิ่งได้ครอบคลุมที่สุด เขาค้นพบความงามในสิ่งที่เรียบง่ายได้เสมอ”


“ผมเกิดที่ญี่ปุ่น แต่ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนญี่ปุ่น” ริวอิจิว่า “ผมชอบแนวความคิดที่ว่า ผมเป็นคนแปลกหน้าในโลกนี้ เพราะมันเปิดโอกาสให้ผมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา”

share


“ผมเกิดที่ญี่ปุ่น แต่ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนญี่ปุ่น” ริวอิจิว่า “ผมชอบแนวความคิดที่ว่า ผมเป็นคนแปลกหน้าในโลกนี้ เพราะมันเปิดโอกาสให้ผมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ผมไม่เชื่อในเรื่องสัญชาติ, เชื้อชาติ, ชนชาติ และอาณาเขต” นี่คือความเชื่อส่วนตัวที่สะท้อนให้เห็นผ่านงานเพลงของเขา ที่ไร้ซึ่งพรมแดนกั้นขวางใดๆ 

เพราะสำหรับชายคนนี้แล้ว ‘ดนตรี’ เป็นเอกสิทธิ์ของคนทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะสื่อสารด้วยภาษาใดก็ตาม


อ้างอิง : criterion.com, thequietus.com, npr.org



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

Weekend Alive ให้ภาพยนตร์-เพลง-หนังสือเหล่านี้ช่วยฟื้นชีวิตชีวา เพราะสัปดาห์นี้หายใจช้าๆ ได้ก็เก่งแล้ว

พูดจาภาษาอาร์แอนด์บีกับ Corinne Bailey Rae ศิลปินที่บอกให้เรากล้าเป็นตัวของตัวเอง

PELUPO Journal บันทึกถึงเทศกาลดนตรีเพลูโป้ 2025 ความทรงจำและดนตรีดีๆ ในฤดูร้อน

โลกที่มืดมนและสุขสว่าง – ธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ: รู้จักดนตรีแนว ‘แบล็กเกซ’ ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ ผ่านเรื่องราวของวง Alcest

ภวังค์แห่งดนตรี ในการเดินทางเกือบ 30 ปีของวง AIR คุยกับคู่หู ‘นิโกลา โกแดง’ และ ‘ฌอง-เบอนัวต์ ดังเคล’

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat