HER. นิทรรศการไร้กรอบกำหนดที่ตั้งใจอยากให้คนมาฟังเสียงศิลปะของศิลปินหญิง
...
LATEST
Summary
- HER. นิทรรศการที่ตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้คนมักจำกัดกรอบงานของศิลปินหญิง พลางชักชวนให้คิดว่าเราเคยตั้งคำถามและวิจารณ์ผลงานของศิลปินชายด้วยมุมมองเดียวกันหรือไม่ ผ่านผลงานจากศิลปินหญิงจำนวน 6 คน ที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นแบบไร้โจทย์และกรอบจำกัด
- จัดแสดงที่ ATT 19 ซอยเจริญกรุง 30 พื้นที่จัดแสดงศิลปะที่มีความพิเศษอยู่ที่การเอาตึกเก่ากว่า 120 ปีของโรงเรียนสอนภาษาจีนมารีโนเวตใหม่ โดยยังคงรายละเอียดสถาปัตยกรรมเก่าเอาไว้ จัดแสดงถึงวันที่ 24 กันยายน 2566
...
เวลาพูดถึงศิลปินหญิง ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนมักจะตีกรอบว่าผลงานของศิลปินเหล่านั้นคงสะท้อนถึงเพศสภาพของตน เส้นสาย สีสัน หากมีความอ่อนหวาน หรือสดใส ก็มักนิยามเอาง่ายๆ ว่าเป็นเพราะนี่คือผลงานจากศิลปินหญิง หรือหากผลงานมีรายละเอียดให้ตีความ หลายครั้งผู้ชมก็มักแอบคิดว่างานเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับเฟมินิสต์ในแง่ใดแง่หนึ่งหรือเปล่า
HER. คือนิทรรศการที่เกิดขึ้นเพื่อตั้งคำถามว่า เหตุใดผู้คนมักจำกัดกรอบงานของศิลปินหญิง พลางชักชวนให้คิดว่าเราเคยตั้งคำถามและวิจารณ์ผลงานของศิลปินชายด้วยมุมมองเดียวกันหรือไม่ ผ่านผลงานจากศิลปินหญิงจำนวน 6 คน ที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นแบบไร้โจทย์และกรอบจำกัด
“เราเชิญชวนให้ศิลปินแสดงออกอย่างอิสระผ่านผลงานของพวกเขา ศิลปินแต่ละท่านสำรวจหัวข้อที่แตกต่างกัน เจาะลึกเข้าไปในโลกแห่งความฝัน จินตนาการ และความซับซ้อนของโครงสร้างทางสังคม วิจารณ์ทุนนิยม ไปจนถึงพยายามจะทำความรู้จักและค้นพบตัวเองผ่านงานศิลปะ
“HER. มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนความคิดและหันกลับมาสนใจในเสียงศิลปะของพวกเขา แทนที่จะยึดติดกับบรรทัดฐานทางสังคม ATT 19 หวังว่านิทรรศการนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินที่จัดแสดง รวมถึงผู้ชมของเราด้วยว่าแท้จริงแล้วเราสามารถท้าทายการเหมารวมที่ฝังรากลึกในสังคม และให้พื้นที่แก่ศิลปินหญิงในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้ถูกจำกัดโดยบทบาทของเพศได้” คือคำแนะนำนิทรรศการจากมุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์ และธีรพจน์ ธีโรภาส ผู้เป็นภัณฑารักษ์ของงานนี้
สถานที่จัดแสดงของนิทรรศการครั้งนี้คือ ATT 19 พื้นที่จัดแสดงศิลปะที่มีความพิเศษอยู่ที่การเอาตึกเก่ากว่า 120 ปีของโรงเรียนสอนภาษาจีนมารีโนเวตใหม่ โดยยังคงรายละเอียดครั้งเก่าเอาไว้ผ่านสถาปัตยกรรมอย่างบานประตู ผนัง และเพดาน
ด้านล่างของพื้นที่จัดแสดงงาน ถูกแบ่งเป็นร้านขายของน่าเดินชม เพราะทุกชิ้นล้วนมีรายละเอียดดีเทลรอให้คนที่สนใจมาจับจอง ส่วนด้านบน แม้จะมีการตีแบ่งเป็นห้องเพื่อให้จัดแสดงงานได้มากขึ้น แต่ก็เป็นห้องที่โล่งโปร่ง มีขนาดใหญ่โตพอที่จะเดินชมได้อย่างไม่แออัด
เราเลือกเลี้ยวขวาหลังอ่านรายละเอียดหลักของนิทรรศการที่โถงกลางจบ งานแรกที่รอต้อนรับเราจึงเป็นผลงานของ ธีมา รักษะจิตร
แรงบันดาลใจของงานชุดนี้มาจากความพยายามในการค้นหาตัวตนที่สูงกว่าของตัวเอง เธอจึงออกสำรวจสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์มักยึดถือและกำหนดว่าเป็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ โครงสร้างทางสังคม ศาสนา บทบาท สถานะ หรือกระทั่งยศถาบรรดาศักดิ์ ผ่านผลงานที่ชื่อ No Time, No One, No Thing, No Where และ No Body ภาพวาดกึ่งนามธรรมที่ใช้สีสันหลักๆ แค่สองสี และเน้นใช้รูปร่างต่างๆ มาประกอบกันให้มองเห็นและตีความเป็นภาพ
เมื่อใช้เวลาจดจ้องและคิดตาม จึงเหมือนเราค่อยๆ ได้ค้นหาความหมายของคำว่า ‘ตัวตน’ อีกครั้ง โดยภาพที่เราชอบคือ No Thing ที่มีลักษณะเหมือนเป็นก้อนหินวางซ้อนกัน ทำให้รู้สึกว่าบางครั้งความรู้สึกหนักอึ้งในใจ การกดดันตัวเองเพื่อจะได้รับคำชมจากผู้อื่น หรือการพยายามอย่างหนักเพื่อจะได้มาซึ่งของบางอย่าง เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ ความเป็นตัวตน คือสิ่งที่จริงๆ แล้ว ตัวตนที่แท้จริงของเราอาจไม่ได้ต้องการ เพียงแต่เราต้องทำเพราะแคร์สายตาคนรอบข้างที่เราคิดเองว่าเขาจับจ้องอยู่ พอได้เห็นภาพก้อนหินของธีมา ควบคู่กับภาพ No Body จึงเหมือนได้วางคอนฟลิกต์ในใจลง และโอบกอดความเป็นตัวเองอีกครั้ง
ในห้องเล็กๆ ใกล้กันมีผลงานของ พราวฟ้า สันติอัศวราภรณ์ คอยดึงดูดให้ใครต่อใครเข้าไปชื่นชมอยู่ไม่ขาดสาย
ศิลปินใช้สีสันสดใส และภาพดูน่าสนุกสนานของคณะละครสัตว์มาล่อหลอกให้คนเจอกับไอเดียเบื้องหลังภาพที่มีการวิจารณ์และเสียดสีระบบทุนนิยม เช่น to the moon ภาพที่สื่อถึงความตะเกียกตะกายอยากจะหนี สปริงตัวออกจากกล่องอันคับแคบ, Where there’s room sunlight for everyone ภาพที่สื่อว่าการมีแสงแดดในห้องก็นับเป็นพริวิลเลจอย่างหนึ่ง และภาพอื่นๆ ที่มีวัตถุโบราณหรูหรา การใช้สินค้าแบรนด์หรูมาสื่อถึงการแสวงหาความมั่งคั่งและสถานะทางสังคมอย่างไม่ลดละ
“ฉันนำเสนอความน่าขันและขัดแย้งของระบบทุนนิยม และในขณะเดียวกันก็สร้างอาณาจักรในฝัน ซึ่งมีความเรียบง่ายและมีความปรารถนาแบบเด็กๆ ปกคลุมอยู่ ฉันพยายามท้าทายผู้ชมให้ตั้งคำถามกับสังคมของเราและแนวคิดเรื่องวัตถุนิยม - ไร้สาระ น่ารำคาญ แต่หากจูงใจในเวลาเดียวกัน - จะเป็นอย่างไรหากเราหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์นี้ได้ สิ่งต่างๆ จะเรียบง่ายจริงๆ ได้ไหม?”
งานของศิลปินคนที่สามอย่าง ดีใจ โกสิยพงษ์ อาจดูเรียบง่าย แต่ในความเรียบง่ายนั้นกลับมีรายละเอียดอยู่ไม่น้อย
ภาพสี่เหลี่ยมวางไปมาคล้ายเกม Tetris สะท้อนถึงไอเดียของดีใจที่ว่าความทรงจำเป็นสิ่งที่มักจะเลือนราง งานที่เธอทำครั้งนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหา ทำความเข้าใจ และบันทึกความทรงจำของตัวเอง ด้วยการสร้างระบบขึ้นมาใหม่ แทนที่จะถ่ายทอดผ่านภาษาและคำที่ถูกกำหนดและให้ความหมายไว้แล้วโดยคนในสังคม
เราจึงไม่อาจคาดเดา หรือตีความได้ว่าผลงานตรงหน้านี้บันทึกถึงความทรงจำหรือเรื่องใดของศิลปินบ้าง แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็เปิดเผยว่าในระหว่างขั้นตอนการทำงาน เธอค้นพบว่าแม้แต่สีก็ยังมีความหมายและความสัมพันธ์ของมันเอง การหลีกหนีอิทธิพลของสังคมในจิตใต้สำนึกแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ในระหว่างทางเดินชมงานศิลปะของศิลปินคนอื่นๆ ผลงานของ ชนากานต์ เสมาชัย ถูกจัดวางไว้เคียงกันตลอดทางเดิน แม้ตั้งอยู่บนชั้นอย่างกลมกลืนกับบรรยากาศของแกลเลอรี แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังดึงดูดให้หยุดยืนชม
งานของเธอมีคาแรกเตอร์ไดโนเสาร์เป็นดาวเด่น ปรากฏอยู่ในทุกชิ้นงานไม่ว่าจะเป็น sculpture หรือแก้วเซรามิก “ฉันจินตนาการว่า ไดโนเสาร์จากเรื่องเล่าของฉันจะรู้สึกอย่างไร หากมันมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน มันคงรู้สึกเป็นคนนอกและไม่รู้จักโลกตามที่มันเคยเข้าใจ บางครั้งฉันก็รู้สึกเหมือนเป็นไดโนเสาร์ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และกลัวว่าฉันจะไม่เข้าพวก อย่างไรก็ตาม ในที่สุดฉันก็เรียนรู้ที่จะยอมรับตัวตนที่แท้จริงของฉัน โดยเข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงนั้นไม่จำเป็นต้องวิ่งตามคนอื่น”
ผลงานที่เราชอบมากที่สุดคือผลงานของ ณภัทร สินไตรรัตน์ ที่นำเสนอผลงานในรูปแบบของงานตัดแปะกระดาษ หรือคอลลาจ แม้งานของเธอจะพูดถึงเรื่องราวความทรงจำส่วนตัว แต่ก็ทำงานกับเรามาก เพราะเป็นความทรงจำเกี่ยวกับคุณยาย
งานชุดนี้มีที่มาจากการที่เธออาศัยอยู่ข้างบ้านคุณยายมาทั้งชีวิต และหลังจากที่คุณยายเสียไป บ้านหลังนั้นจึงถูกทุบทิ้ง “ฉันคิดว่ามันเป็นแรงบันดาลใจที่ยากจะเผชิญหน้าที่สุดในการสร้างงานของฉัน ชิ้นส่วนเหล่านี้พยายามรวมความทรงจำเกี่ยวกับพื้นที่ของเธอ สิ่งของของเธอ และความทรงจำที่เรามีในบ้านหลังนี้เข้าด้วยกัน ฉันใช้เทคนิคตัดแปะ (collage) โดยทำกระดาษสีของตัวเองจากสีกวอช (Gouache) ผสมผสานรูปทรงนามธรรมและลายเส้นที่แสดงถึงความทรงจำทั้งหมดที่ฉันรวบรวมได้ระหว่างการรื้อถอนบ้าน”
เป็นงานที่รับรู้ได้ถึงความอ่อนโยน และความผูกพันของทั้งสองคน แม้ผู้ชมงานอย่างเราจะไม่เคยรู้จักศิลปินเลยก็ตาม
งานของศิลปินคนสุดท้าย คืองานสีน้ำที่เป็นตัวแทนของการเดินทางสู่ความเงียบสงบ
บงกชทิพย์ ภิรมย์ภักดี ได้แรงบันดาลใจจากความฝันที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และการจินตนาการถึงสถานที่ที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติ ความสุข และความเงียบสงบ ซึ่งเป็นสิ่งที่คอยปลอบประโลมและเป็นที่พักพิงในยามที่ศิลปินทุกข์ใจ
บงกชทิพย์เล่าว่า การใช้เทคนิคเปียกบนเปียก (wet on wet) ให้สีทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ เคลื่อนที่ไปอย่างอิสระบนผืนผ้าใบ ไม่ได้ควบคุมผลลัพธ์ไว้ว่าจะให้ชิ้นงานออกมามีหน้าตาอย่างไร ทำให้เธอเหมือนได้ทำสมาธิและบำบัดจิตใจให้สงบสุข
ความสงบนั้นก็แบ่งมาถึงผู้ชมงานอย่างเราด้วย เพราะตลอดเส้นทางที่ได้เดินผ่านรูปหลากสี หยดสีน้ำฟุ้งๆ นี้ก็ช่วยปัดเป่าความเครียดให้หายไป เหมือนได้เดินอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่ผันเปลี่ยนฤดูกาลไปเรื่อยๆ
นิทรรศการ HER. จากศิลปินหญิงทั้ง 6 คนนี้ จะจัดแสดงถึงวันที่ 24 กันยายนนี้ มาชมกันได้ที่ ATT 19 ซอยเจริญกรุง 30 นะ
