Humberger Menu

Summer Sonic กลายเป็นเทศกาลดนตรี ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นได้ยังไง? คุยกับนาโอกิ ชิมิซุ ผู้ก่อตั้ง Summer Sonic

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Subculture

Music

Culture

6 เม.ย. 67

creator
ศรัณยู ตรีสุคนธ์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • เทศกาลดนตรี Summer Sonic เป็นเทศกาลดนตรีที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 23 ปีก่อนในประเทศญี่ปุ่น เอกลักษณ์ของเทศกาลคือไลน์อัปศิลปินคุณภาพ และตอบโจทย์ทั้งแฟนเพลงที่ชอบศิลปินอินดี้จัดๆ ไปจนถึงเมนสตรีมจ๋าๆ
  • เมื่อเวลาผ่านไปมันก็กลายเป็นเทศกาลดนตรีที่ประสบความสำเร็จ และมีแฟนๆ ต่างประเทศจำนวนมากเดินทางไปชม
  • และในปี 2024 Summer Sonic กำลังจะมาจัดแสดงที่ไทย ไทยรัฐพลัสจึงขอชวนผู้อ่านทุกคนไปรู้จักกับ Summer Sonic ให้มากขึ้น ผ่านบทสนทนากับ นาโอกิ ชิมิซุ ชายญี่ปุ่นผู้รักในเสียงดนตรี และเป็นผู้ก่อตั้งเทศกาลนี้ขึ้นมากับมือ

...


ภาพ : จิตติมา หลักบุญ


เป็นเวลานานถึง 23 ปีแล้วที่เทศกาลดนตรี Summer Sonic ปรากฏตัวขึ้น เทศกาลนี้ก่อตั้งขึ้นโดย นาโอกิ ชิมิซุ ชายชาวญี่ปุ่นธรรมดาๆ คนหนึ่งที่แทบจะหายใจเข้าออกเป็นเสียงดนตรี 

เขาทำความฝันให้เป็นจริงได้ในที่สุดเมื่อปี 2000 จากการจัดเทศกาลดนตรี Summer Sonic ครั้งแรกที่ Fuji-Q Highland พร้อมกันนั้นเขาก็ก่อตั้งบริษัท Creativeman Productions ขึ้นมาเพื่อดูแลจัดการเทศกาลดนตรีที่เขาปลุกปั้นมากับมือ

ความไม่ธรรมดาของ นาโอกิ ชิมิซุ ก็คือ แม้ 23 ปีก่อนเขาจะจัด Summer Sonic ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ก็สามารถดึงวงดนตรีระดับโลกทั้งในสายเมนสตรีมและอินดี้อย่าง Green Day, Sigur Rós, Coldplay, Ween, 311, Mansun และราชาเพลงโซลผู้ล่วงลับอย่าง เจมส์ บราวน์ มาเล่นคอนเสิร์ตได้

Summer Sonic ได้รับการจับตามองนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยในปี 2010 Summer Sonic ได้รับการยอมรับและยกย่องว่าเป็นเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น

ในปี 2024 นี้แฟนเพลงชาวไทยกำลังจะได้สัมผัสกับ Summer Sonic บ้างแล้ว เราจึงขอชวนผู้อ่านทุกคนไปรู้จักกับ Summer Sonic ให้มากขึ้น ผ่านบทสนทนากับชายญี่ปุ่นผู้ก่อตั้งเทศกาลคนนี้



งานแถลงข่าวกับรัฐบาลไทยและการประกาศไลน์อัปแรกของงาน

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา นาโอกิ ชิมิซุ ในฐานะประธานกรรมการบริหารบริษัท Creativeman Productions ได้เดินทางมาร่วมงานแถลงข่าวเทศกาลดนตรี Summer Sonic Bangkok 2024 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานในงานแถลงข่าว และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติมาร่วมงานในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยด้วย 

ในงานแถลงข่าวได้มีการประกาศไลน์อัปศิลปินชุดแรกออกมา ซึ่งก็มีทั้งศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น YOASOBI ศิลปินดูโอญี่ปุ่นที่มาแรงมากๆ ในตอนนี้, Lauv, Laufey, Aurora, Nothing But Thieves, Henry Moodie ส่วนศิลปินไทยก็มีอาทิ Bodyslam ที่จะมาขึ้นโชว์กับศิลปินรับเชิญสุดพิเศษ BABYMETAL และ F.Hero นอกจากนี้ก็ยังมี ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี และ วี-วิโอเลต วอเทียร์ ด้วย

ไทยรัฐพลัสมีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับคุณนาโอกิ ชิมิซุ เกี่ยวกับการจัดเทศกาลดนตรี Summer Sonic ครั้งแรกในไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคมปีนี้อย่างเป็นกันเองที่ห้องอาหาร Stock.Room โรงแรม Kimpton Maa-lai ย่านสุขุมวิท โดยคำถามแรกที่เราอยากรู้จากปากของคุณ นาโอกิก็คือ เขารู้สึกอย่างไรบ้างที่รัฐบาลไทยให้ความสนใจเทศกาลดนตรีที่เขาเป็นคนปั้นขึ้นมาเองกับมือ จนกลายเป็นเทศกาลดนตรีระดับแถวหน้าของเอเชียไปแล้วในเวลานี้ 

“ก่อนอื่นเลยผมต้องบอกว่าตกใจมากๆ เพราะถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น งานแถลงข่าวเทศกาลดนตรีจะไม่มีนักข่าวมาเยอะขนาดนี้ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีทางแน่นอนที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะมาร่วมงานด้วย มันทำให้ผมมองเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่ให้ความสนใจและสนับสนุนในเรื่องของดนตรี อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้อย่างชัดเจนเลยก็คือความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นมีความแน่นแฟ้นมากแค่ไหน” คุณนาโอกิ พูดด้วยน้ำเสียงที่สบายแต่แอบซ่อนไว้ด้วยความจริงจัง



กลยุทธ์การสร้างฐานแฟนเทศกาลในไทย

อีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ Summer Sonic ในญี่ปุ่นมีฐานแฟนเพลงที่แข็งแรงมากอยู่แล้ว และมีผู้หลงใหลในเสียงดนตรีจากทั้งในเอเชียและทั่วโลกไปร่วมงานเป็นประจำ เรียกได้ว่าบัตรขายหมดแทบทุกปี แล้วการจัด Summer Sonic ในไทยครั้งนี้ นาโอกิ จะมีกลยุทธ์อย่างไรบ้าง

“ผมมองว่า Summer Sonic เป็นเทศกาลดนตรีที่ทั้งคนไทยและคนต่างชาติโดยเฉพาะในเอเชียต่างก็รู้จักกันอยู่แล้วนะครับ Summer Sonic มีคนที่รักในศิลปินและดนตรีให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง (Loyalty) กับงานไม่น้อยเลย ส่วนการได้มาจัดเทศกาลดนตรีในไทยก็น่าจะเป็นการสร้างโอกาสในการนำศิลปินเอเชียมาเล่นคอนเสิร์ตได้มากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์ที่ผมวางเอาไว้ก็คือ Summer Sonic ในไทยจะมีความแตกต่างไปจาก Summer Sonic ที่ญี่ปุ่นเล็กน้อย”

จุดเด่นของ Summer Sonic ที่มีมาโดยตลอดก็คือการนำศิลปินนานาชาติมาแสดงคอนเสิร์ตในงาน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แล้วไลน์อัปศิลปินญี่ปุ่นที่ไทยในปีนี้ล่ะจะมีการนำเสนอมากน้อยแค่ไหน 

“การจัด Summer Sonic มีการพูดคุยในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะมีเสียงเรียกร้องมาค่อนข้างมากเหมือนกัน ทางเราก็อยากจะให้มีศิลปินญี่ปุ่นมามีส่วนร่วมในเทศกาลอย่างน้อย 2-4 วง หรือถ้าเป็นไปได้ก็อยากที่จะเพิ่มจำนวนให้มากกว่านั้น แต่ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่มีสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจอย่างเดียว มันอยู่ที่ฝั่งไทยและฝั่งญี่ปุ่นที่จะต้องมาหารือกันอีกที YOASOBI เป็นวงที่ทางฝั่งไทยและญี่ปุ่นได้หารือกันและได้เห็นตรงกันแล้วว่าเป็นศิลปินที่เหมาะสม” คำตอบของคุณนาโอกิ ในข้อนี้บ่งชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะมีศิลปินญี่ปุ่นเด่นๆ มาร่วมงานแน่นอน ขอให้แฟนๆ ตั้งหน้าตั้งตารอเอาไว้ได้เลย



อุปสรรคที่ต้องฟันฝ่ากว่าจะถึงวันนี้

สิ่งที่นักข่าวคนอื่นอยากรู้ ซึ่งรวมถึงตัวผมเองด้วยก็คือในฐานะผู้ก่อตั้งเทศกาล ช่วงที่เริ่มก่อตั้ง Summer Sonic มีอุปสรรคหรือปัญหาอะไรบ้าง และกว่าจะประสบความสำเร็จขนาดนี้เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง 

“อุปสรรคอย่างแรกที่ผมเจอก็คือตอนที่ติดต่อ เจมส์ บราวน์ มาเล่นในงาน ตอนนั้น เจมส์ บราวน์ ขึ้นโชว์ก่อนที่วงเฮดไลน์เนอร์จะเล่น เวลาของโชว์ที่วางเอาไว้คือ 1 ชั่วโมง แต่ เจมส์ บราวน์ เล่นเกินเวลาไป ที่ญี่ปุ่นเรื่องเวลาเป็นมารยาทที่สำคัญมากและจะเล่นเกินกำหนดไม่ได้เลย ในมุมของคนจัดงานนี่คือปัญหา และถ้ามองให้ลึกลงไปมันคือการจัดงานที่ไม่ประสบความสำเร็จ 

“ส่วนการที่ Summer Sonic ประสบความสำเร็จได้เหมือนในทุกวันนี้ ผมมองว่ามันเกิดจากการเรียนรู้จากความเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว แต่ก่อนเราจัดงานโดยเน้นวงร็อกเป็นหลัก แต่พอเวลาผ่านไปผมก็อยากจะได้นักร้องหญิงอย่าง Beyoncé มาบ้าง หรือการเพิ่มศิลปิน เค-ป๊อป เข้าไปบ้าง ความสำเร็จมาจากการค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตครับ”



ไลน์อัปศิลปินระดับฟ้าประทาน

ในฐานะที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Summer Sonic คนหนึ่ง จากการที่ได้ไปเทศกาลดนตรีนี้มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ผมมองว่าจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์มากๆ สำหรับ Summer Sonic คือไลน์อัปที่ตอบโจทย์ทั้งแฟนเพลงที่ชอบศิลปินอินดี้จัดๆ และเมนสตรีมจ๋าๆ ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีแรกในการจัดงาน) 

ผมอยากรู้ว่าคุณนาโอกิ มีเคล็ดลับในการคัดเลือกไลน์อัปศิลปินอย่างไรให้มีความสมดุลได้ดีขนาดนี้และทำให้อย่างน้อย ก็ผมคนหนึ่งล่ะที่เคยวางแผนเอาไว้เลยว่าจะไป Summer Sonic ให้มากครั้งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเชื่อมั่นในความไม่ธรรมดาของไลน์อัป ซึ่งคุณนาโอกิตอบกลับมาว่า 

“ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณมากๆ เลยครับที่ให้ความกรุณากลับไปงาน Summer Sonic ที่ญี่ปุ่นหลายครั้ง ผมในฐานะที่เดินทางไปดูเทศกาลดนตรีมาแล้วทั่วโลกเข้าใจความรู้สึกของคุณเป็นอย่างดี แล้วก็มีหลายคนมากที่มาบอกผมว่าได้กลับไปงาน Summer Sonic หลายครั้งด้วยเหตุผลเดียวกัน”

“ผมมองว่า Summer Sonic โด่งดังขึ้นมาได้ก็เพราะการคัดเลือกศิลปินครับ มันคือการใช้ศักยภาพของศิลปิน เพราะศิลปินที่มาโชว์บนเวที Summer Sonic ค่อนข้างมีพลังอยู่แล้ว และการแชร์ไลน์อัปศิลปินเดียวกันทั้งที่ ชิบะ และ โอซาก้า ก็สร้างเอกลักษณ์ให้กับงานได้ดี 

“ในอนาคตผมวางแผนเอาไว้แล้วครับว่าอยากจะแชร์ศิลปินจากทั้ง ชิบะ, โอซาก้า และกรุงเทพฯ ด้วยการเล่นแบบสลับวันกันเหมือนกับที่เราแชร์ศิลปินระหว่าง ชิบะ และ โอซาก้า ผมว่านี่คือจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครของ Summer Sonic แต่ผมยังบอกถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินในอนาคตในตอนนี้ไม่ได้ครับ”

นอกจากนี้คุณนาโอกิยังกล่าวเสริมอีกว่า “จากการที่ผมได้ไปเทศกาลดนตรีมาเยอะมากทั่วโลกเพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าวัฒนธรรมดนตรีของแต่ละที่เป็นยังไง มันช่วยให้ผมเข้าใจเทรนด์หรือกระแสดนตรีที่จะนำมาประยุกต์กับการจัดเทศกาลดนตรี Summer Sonic ด้วย นั่นคืออย่างแรกนะครับ” 

“อย่างที่ 2 คือผมทำสัญญาที่ผูกไว้กับเอเย่นต์ที่เป็นผู้จัดการของศิลปินจำนวนมาก เอเย่นต์บางบริษัทมีศิลปินในสังกัดอยู่ถึง 50 ศิลปินเลย หน้าที่ของผมก็คือคอยไปดูว่าเอเย่นต์บริษัทนี้มีศิลปินที่น่าสนใจยังไง และมีใครบ้าง โดยศิลปินที่อยู่ภายใต้การดูแลของเอเย่นต์เหล่านี้มีอยู่ทั่วโลกเลย ทั้งในยุโรป, อเมริกาและทวีปอื่นๆ ไม่ใช่แค่ในเอเชียเท่านั้น ทำให้ผมเห็นศักยภาพของศิลปินมากขึ้นและทำให้การติดต่อศิลปินมาแสดงคอนเสิร์ตราบรื่นรวดเร็วมากขึ้นด้วยครับ”



แล้ว Summer Sonic ครั้งแรกในไทยล่ะ คุณคาดหวังกับจำนวนผู้ชมมากแค่ไหน?

“จริงๆ แล้วผมก็อยากให้คนมา Summer Sonic Bangkok เยอะๆ นะครับ อยากขายบัตรให้ได้มากๆ แต่ด้วยความที่เราเพิ่งจะจัดกันที่นี่เป็นครั้งแรก มันก็เลยยังไม่มีผลงานหรือคะแนนความพึงพอใจในอดีต 

“มันอาจจะทำให้คนลังเลว่าจะไปดีหรือเปล่า เพราะไม่รู้ว่าปีแรกจะเป็นยังไง ส่วนศิลปินก็จะผ่านโปรโมเตอร์เอเจนซี่นั่นนี่เยอะแยะไปหมด ก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถดีลศิลปินที่เราอยากให้มาเล่นที่นี่ได้หรือเปล่า ผมเลยคิดว่าปีแรกอาจจะยังไม่คำนึงถึงจำนวนผู้ชมเท่าไร แต่เราจะเน้นการสร้างชื่อเสียงและผลงานเอาไว้ให้คนเชื่อถือก่อน ซึ่งก็จะทำให้ปีต่อๆ มาคนมาร่วมงานเยอะขึ้น และจะสามารถนำศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับที่สูงมากขึ้นมาร่วมงานได้ด้วย” คุณนาโอกิ เผยถึงเป้าหมายคร่าวๆ ที่ได้วางเอาไว้

Summer Sonic Bangkok จะจัดขึ้นแบบอินดอร์ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ ซึ่งต่างไปจากที่ญี่ปุ่นที่มีการจัดเอาต์ดอร์ด้วย การจัดงานที่อยู่ในที่ร่มทั้งหมดจะสร้างความพิเศษให้กับงานได้อย่างไรกัน เราสงสัย 

“การจัดงานที่ไทยค่อนข้างท้าทายครับ อย่างแรกเลยคือเดือนสิงหาคมยังคงเป็นเดือนที่ร้อนอยู่มาก ทางเราก็ได้รับรีเควสต์มาเลยว่าต้องจัดงานแบบอินดอร์ แต่หลังจากนี้ต่อไปก็ต้องดูความเหมาะสมว่าจะเป็นยังไง ถ้าจะจัดแบบเอาต์ดอร์ก็ต้องมาดูสถานที่กันอีกว่าจะสามารถจัดที่ไหนได้บ้าง แล้วก็ต้องดูศิลปินที่จะเรียกมาเล่นด้วย สมมติในอนาคตเราจัด Summer Sonic ที่ไทยในฤดูอื่น ศิลปินที่ผมดีลมาก็อาจจะต้องนำไปจัดที่ญี่ปุ่นต่อด้วย แต่อาจจะจัดภายใต้ชื่องานอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องมีการปรึกษาทดลองปรับเปลี่ยนกันไปครับ” คุณนาโอกิ ตอบ


เทศกาลดนตรีกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน บอกว่าในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 3 แสนห้าหมื่นคนที่มางาน Summer Sonic ในฐานะผู้ก่อตั้งมองว่าเทศกาลดนตรีมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีได้อย่างไรบ้าง 

“สำหรับตัวผมเอง คิดว่า Summer Sonic มีผลทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะว่ามีแขกจากต่างประเทศมาร่วมชมมากขึ้นทุกปี ซึ่งในตอนนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ให้ความสนใจงาน Summer Sonic มากขึ้นด้วย ส่วนผมเองมาจัด Summer Sonic ในไทยก็คาดหวังว่าจะทำให้ผู้ชมจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยมาท่องเที่ยวในประเทศไทยและมาร่วมเทศกาลกันด้วย” 

นอกจากนี้คุณนาโอกิ ก็ได้แสดงความเห็นผ่านมุมมองเทศกาลดนตรีในญี่ปุ่นด้วยว่า “ที่ญี่ปุ่นเอง คน 3 แสนคนมาเที่ยวในงาน ก็ไม่ได้มาแค่อีเวนต์ผมอย่างเดียวนะครับ เพราะว่าคนญี่ปุ่นตั้งแต่ฮอกไกโดมาจนถึงโอกินาวา ทั่วทุกจังหวัดก็มีเทศกาลดนตรีแบบนี้อยู่แล้ว ส่วนศิลปินก็จะเป็นศิลปินท้องถิ่นหรือศิลปินภายในประเทศ คนก็จะเดินทางมาดูมาชม ผมมองว่าเทศกาลดนตรีเป็นงานที่กระตุ้นสภาวะทางเศรษฐกิจได้มากๆ เลยครับ”



วัฒนธรรมการชมเทศกาลดนตรีที่แตกต่างกันระหว่างญี่ปุ่นกับไทย

คุณนาโอกิ ค่อนข้างสงสัยในเรื่องของการจัดเทศกาลดนตรีในไทยอยู่พอสมควร ซึ่งเขาได้แสดงความเห็นว่า “ที่ญี่ปุ่นเทศกาลดนตรีส่วนใหญ่จะจบในเวลา 3-4 ทุ่ม ไม่เหมือนประเทศไทยที่เทศกาลดนตรีเลิกดึกมาก อันนี้คือความแตกต่างอย่างแรก แต่ที่ญี่ปุ่นก็มีข้อยกเว้นบ้างเหมือนกัน อย่างที่ฮอกไกโดจะมีเทศกาลดนตรีอยู่เทศกาลหนึ่ง ที่จัดทั้งวันทั้งคืนจนถึงเช้า แล้วก็มีแคมปิ้งอยู่ในนั้นด้วย ผมมองว่ามันน่าสนใจมากเลยนะ ถ้าใครมีโอกาสก็อยากให้ลองไปดูครับ”

Summer Sonic ที่ญี่ปุ่นมีความเป็นระเบียบในการจัดงานทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นและลงเวทีเมื่อแสดงเสร็จของศิลปินที่ตรงเป๊ะในระดับนาทีต่อนาที การจัดคิวศิลปินที่ขึ้นโชว์ในแต่ละเวทีที่ราบรื่นมากๆ การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งในเรื่องอาหาร ห้องน้ำ เครื่องดื่ม สินค้าขายของที่ระลึกที่มีการโซนนิ่งอย่างชัดเจน และที่สำคัญที่สุดก็คือการจัดเวทีใน Makuhari Messe ซึ่งจริงๆแล้วเป็นการเปลี่ยนศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ให้เป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่ดีมากๆ และมีหลายเวทีติดๆ กัน 

สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างก็คือระบบเสียงที่ยอดเยี่ยมและการชมโชว์ที่แฟนๆ สามารถดูโชว์วงนี้ครึ่งหนึ่งและเดินไปชมโชว์ครึ่งหลังของอีกวงได้ในระยะไม่ห่างกันมากนัก แถมโชว์ของวงสุดท้ายก็ยังจบตรงเวลาเป๊ะในแบบที่สามารถนั่งรถไฟกลับที่พักที่อยู่ในโตเกียว ซึ่งห่างจากชิบะพอสมควรได้ในแบบชิลๆ 

เมื่อ Summer Sonic เคยสร้างความประทับใจได้ขนาดนี้ สิ่งที่ผมอยากรู้มากที่สุดก็คือ Summer Sonic Bangkok จะสามารถรักษามาตรฐานแบบนั้นเอาไว้ได้หรือเปล่า

“การจัดการตารางเป็นสิ่งที่สำคัญมากครับ การจัดเวทีให้อยู่ใกล้กันและตารางการขึ้นโชว์ของศิลปินที่มีเวลาเหลื่อมกันน้อยมากก็เป็นแผนที่ทางทีมงานได้วางกันเอาไว้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่พอมาทำที่ต่างประเทศผมคิดว่ามันมีความยากอยู่ 

“สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการจัดการตารางเวลานี่แหละครับ เพราะในต่างประเทศแฟนๆ จะไม่อยากให้ศิลปินคนนี้มาเล่นเวลาซ้อนกัน หรือว่าเวลาเดียวกันกับศิลปินอีกคน อย่างเช่นอยากให้วงเล็กมาเล่นก่อน ส่วนวงใหญ่ไว้ทีหลัง อันนี้เป็นปัญหาที่ผมต้องจัดการว่าจะทำยังไงเพื่อให้มันเข้ากันได้ ทำให้ทุกอย่างลงตัวที่สุด” 

คุณนาโอกิ ตอบในแบบค่อนข้างครุ่นคิดทีเดียวก่อนที่จะเสริมต่อว่า “อย่างที่ญี่ปุ่นเองก็เคยมีปัญหาเหมือนกันครับ ที่โอซาก้ามีอยู่ปีนึงที่วง Oasis และวง The Black Crowes มาแสดง ความดังของสองวงนี้อยู่ในระดับเดียวกันเลย แต่คนไปดูวง Oasis เยอะมากจนมีคนไปดูโชว์ของวง The Black Crowes น้อย คืออยู่ที่หลักไม่กี่พันคนเท่านั้นเอง แฟนเพลงโกรธมากครับ เพราะหลายคนอยากดูทั้ง 2 วง 

“ผมก็คิดว่าจะทำยังไงดีกับเวลาที่มันซ้อนกันอยู่ ผมเลยแก้ปัญหาด้วยการจัดการเวลาใหม่ในวันต่อมาซึ่งทั้ง 2 วงจะไปเล่นที่ชิบะ ผมต้องยอมให้งานเลิกช้ากว่าเดิม โดยให้โชว์ของวง The Black Crowes ให้ไปอยู่หลังกว่า เพื่อให้แฟนเพลงได้ดูโชว์ของ Oasis ก่อน นี่คือการแก้ปัญหาในตอนนั้นครับ”



เฮดไลน์เนอร์ในฝันของคุณนาโอกิ ชิมิซุ

เป็นที่รู้กันดีว่า Summer Sonic มีศิลปินระดับแถวหน้าของโลกเป็นเฮดไลน์เนอร์มาตลอด แล้วตัวคุณนาโอกิเองล่ะ มีเฮดไลนเนอร์ศิลปินในฝันที่อยากจัดบ้างไหม?

“ผมจัดงาน Summer Sonic มา 20 กว่าปี ก็มีวงที่อยากจะให้มาแสดงคอนเสิร์ตอยู่หลายวงเลยครับ อย่างวง Blue Spring ซึ่งเป็นศิลปินที่ผมชอบมากมานานแล้วก็ยังไม่เคยดึงมาเล่นในงานได้เลย หรือวงระดับตำนานอย่าง Queen และอีกหลายวง (ล่ามยอมรับตามตรงว่าจำชื่อได้ไม่หมด แต่เท่าที่แอบได้ยินมา ดูเหมือนว่าเขาจะอยากได้ สตีวี วันเดอร์ และ Prince มาเล่นด้วย) คือผมทำงานนี้มานานมาก มันมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ไม่สามารถดึงบางวงมาเล่นได้ ส่วนศิลปินบางคนก็เสียชีวิตไปแล้วด้วยครับ”

หลังจากที่จบการสัมภาษณ์ ผมได้แอบเข้าไปคุยกับคุณนาโอกิ ชิมิซุ เป็นการส่วนตัว ด้วยความชื่นชมที่ก่อตั้งเทศกาลดนตรีที่ยอดเยี่ยมขนาดนี้ขึ้นมา เพราะถ้าหากไม่มี Summer Sonic ที่ผมเดินทางไปดูแล้วดูอีกหลายครั้ง ผมคงไม่รักดนตรีและหลงใหลในการชมคอนเสิร์ตอย่างทุ่มเทและจริงจังมากขนาดนี้ 

ผมบอกคุณนาโอกิ ไปว่า “Summer Sonic มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมเป็นผมเหมือนในทุกวันนี้และถ้าไม่มี Summer Sonic เราสองคนคงไม่มีโอกาสได้มาเจอกันแน่ๆ ครับ” คุณนาโอกิ ยิ้มตอบแล้วกล่าวขอบคุณ 



“ปี 2016 คือครั้งล่าสุดที่ผมไป Summer Sonic ที่ญี่ปุ่น ผมได้ดู Radiohead เล่นปิดเทศกาล มันเป็นหนึ่งในโชว์ที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ดูมาเลยนะ” คุณนาโอกิ ตอบกลับมาทันทีว่า “ผมหวังว่าจะสามารถพาวง Radiohead มาเล่นที่ Summer Sonic Bangkok ให้ได้ในอนาคตนะ แล้วเรามาดูวงนี้เล่นสดด้วยกัน”

เราทั้งคู่ต่างก็หัวเราะและขอบคุณกันและกัน ก่อนที่จะสิ้นสุดบทสนทนาอันแสนสั้นแต่ยาวนานในจิตใจนี้

เทศกาลดนตรี Summer Sonic Bangkok ปี 2024 จะจัดขึ้นที่ในระหว่างวันที่ 24 และ 25 สิงหาคมนี้ที่ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 เมืองทอง ธานี โดยงานนี้ทาง Bangkok Connect เป็นผู้จัดไทยที่ได้จับมือกับทางคุณนาโอกิ ชิมิซุ และทีมงานฝ่ายญี่ปุ่นในการทำสัญญาข้อตกลงจนทำให้เกิดการเตรียมจัดงาน Summer Sonic ครั้งแรกในไทยขึ้นมาได้ 

ในส่วนของไลน์อัปศิลปินเพิ่มเติมจะมีการอัปเดตในอีกไม่นานเกินรอ รวมถึงราคาบัตรเข้าชมที่จะประกาศในไม่ช้าด้วย

Stay Tuned!



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

เจาะลึก Summer Sonic เทศกาลดนตรีฤดูร้อนที่สะท้อนความหลงใหลในเสียงดนตรีอย่างฝังรากลึกของชาวอาทิตย์อุทัย

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat