The Rise of Chappell Roan ศิลปินเควียร์ผู้ปลดปล่อยตัวเองจากบ้านเคร่งศาสนา เพื่อมาเป็นมาดอนนาคนต่อไป?
...
Summary
- Chappell Roan ศิลปินเควียร์ที่กำลังเป็นที่จับตาในวงการเพลงอเมริกัน หลังจากปล่อยเพลง Good Luck, Babe! ว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่งพยายามปฏิเสธความรู้สึกตัวเองต่อผู้หญิงอีกคน ด้วยเนื้อเพลงที่สื่อสารตรงใจคอมมูนิตี้ทำให้โรนกลายเป็นขวัญใจของ LGBTQ ทันที
- ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าโรนเติบโตในเมืองเล็กๆ กับครอบครัวเคร่งศาสนาที่มักสอนว่าการชอบเพศเดียวกันคือบาป แต่เมื่อเธอได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงในแอลเอ ทำให้โรนได้ลองไปคลับเกย์ครั้งแรก จากนั้นโลกของเธอก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
- เธอจึงตัดสินใจสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา ตัวตนที่จะเป็นอะไรก็ได้อย่างที่เธออยากเป็น ไม่เขินอายให้กับเรื่องเพศ ไม่ลังเลที่จะแสดงความบ้าให้โลกนี้เห็น และตัวตนนั้นมีชื่อว่า แชปเพล โรน ซึ่งถูกอกถูกใจคนรุ่นใหม่จนมีคนยกย่องให้เธอคือมาดอนนาของเจนซี
...
Good Luck, Babe! คือซิงเกิลล่าสุดของ Chappell Roan ศิลปินวัย 26 ปีที่กำลังโด่งดังและเป็นกระแสในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคอมมูนิตี้ของคนหลากหลายทางเพศ เพราะเพลงของเธอบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของ LGBTQ โดยเฉพาะความรู้สึกต่อสถานการณ์แบบ situationship จะว่าเป็นเพื่อนก็ไม่ใช่ จะให้เป็นแฟนก็ไม่เชิง Good Luck, Babe! จึงตอบโจทย์คนทุกเพศที่กำลังเผชิญกับความสัมพันธ์นี้ จนอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ซิงเกิลนี้ทะยานขึ้นชาร์ต Billboard Hot 100 ทำให้ตอนนี้มันเป็น 1 ใน 10 เพลงที่มีคนกดฟังมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา
ประเด็นไม่ใช่แค่ซิงเกิลเดียวที่ทำให้โรนกลายเป็นกระแส แต่ตัวเธอเองก็ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้คนฟัง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งแดร็กขึ้นเวที ใส่เสื้อผ้าแบบเว่อร์วัง สวมวิกผมฟู แต่งหน้าขาว ทาอายแชว์โดวสีสดใส บางงานที่เธอขึ้นไปร้องเพลงจะเผยให้เห็นลิปติดอยู่ที่ฟัน จะว่าเป็นความตั้งใจก็ใช่ แต่เธอก็ปล่อยไว้อย่างนั้น ไม่เขินอายในสิ่งที่ทำ
ท่าเต้นและลีลาซึ่งล้วนถ่ายทอดมาจากวัฒนธรรมแดร็ก หรือบ้างก็เหมือนนักระบำเปลื้องผ้า ซึ่งนับว่าหาดูได้ยากในศิลปินเพลงป๊อป ขณะเดียวกัน โรนยังเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชนไปด้วย เช่น ในงาน Governors Ball เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เธอแต่งตัวเป็นเทพีเสรีภาพ ซึ่งไม่ใช่การสวมเสื้อผ้าให้เหมือนรูปปั้น แต่คือการทาสีเขียวไปเลยทั้งตัว เอาให้เหมือนกันยันเนื้อตัวจริงๆ ไปเลยนั่นแหละ ซึ่งการแต่งตัวแบบนี้ไม่ใช่เพื่อความสนุกอย่างเดียว แต่เธอต้องการสื่อสารถึงสิทธิและเสรีภาพของคนหลากหลายทางเพศด้วย
‘การค้นพบแชปเพล โรน ในเดือนไพรด์นี่เป็นความรู้สึกที่ถูกต้องมากๆ’ แฟนเพลงคนหนึ่งคอมเมนต์ใต้เพลง Pink Pony Club ของโรน
แต่เห็นเธอไปสุดทุกอย่างในฐานะศิลปินแบบนี้ ใครจะนึกว่านักร้องสาวเติบโตขึ้นในเมืองเล็กๆ ในรัฐมิสซูรี ที่ปราศจากแสงสีและสิ่งตื่นตาตื่นใจ เธอต้องไปโบสถ์กับครอบครัวสัปดาห์ละสามครั้ง แถมยังถูกปลูกฝังการรักเพศเดียวกันคือบาป ไม่เพียงเท่านั้น เพราะก่อนจะโด่งดังเป็นพลุแตก โรนยังเคยถูกยกเลิกสัญญาจากค่ายเพลงจนต้องกลับบ้านไปทำงานเป็นบาริสต้าเพื่อเก็บเงินมาทำเพลงยกสุดท้ายที่เมืองใหญ่!
จะว่าไป เธอจึงไปได้ดีกับอัลบั้มเต็มที่ปล่อยออกมาอย่าง The Rise and Fall of a Midwest Princess ซึ่งมันก็เป็นเรื่องราวชีวิตที่วูบไหวและสุดจะสวิงเช่นนี้เองที่ทำให้บรรดา Gen-Z พากันคลั่งไคล้และยกให้แชปเพล โรนเป็น Madonna ของพวกเขาเลยทีเดียว
เมื่อ ‘ลูกสาวพระเจ้า’ จะปลดแอกจากบาปไปสู่การเป็นแดร็กควีน
แชปเพล โรน มีชื่อจริงว่า ไคลีย์ โรส แอมสตัตซ์ เกิดในเมืองเล็กๆ ชื่อวิลลาร์ด รัฐมิสซูรี (เมืองนี้มีประชากรแค่ 6,000 คนเท่านั้น) โดยเธอยังได้รับการเลี้ยงดูในฐานะ ‘ลูกสาวพระเจ้า’ เพราะที่บ้านเป็นคริสเตียนเคร่งที่ศาสนามากๆ
แม้ว่าวัยเยาว์จะอยู่ในรั้วของศาสนา แต่นั่นก็ไม่ได้ปิดกั้นเด็กสาวจากอิทธิพลของเพลงป๊อปช่วงปลายยุค 2000s ถึงช่วงต้น 2010s ศิลปินอย่าง คีชา, เลดี้ กาก้า และเคธี เพอร์รี คือป๊อปสตาร์คนโปรดของโรน อย่างตอนที่เอ็มวีเพลง Alejandro ของเลดี้ กาก้าปล่อยออกมา ซึ่งโรนยังเรียนอยู่ ม.ต้น ด้วยความที่อยู่ในรั้วศาสนามาตลอด ครั้งแรกที่ได้ดูเอ็มวีเด็กสาวถึงกับอุทานว่า “โห นี่มันหนังโป๊เหรอ” ออกมาเลยทีเดียว
โรนรู้ตัวดีว่าเมื่อโตขึ้นเธออยากเป็นศิลปินป๊อปแบบไอดอลเหล่านั้นบ้าง เธอชอบนั่งดูงานประกาศรับรางวัลต่างๆ แถมสมัย ม.ต้น เธอยังเคยไปโชว์ร้องเพลงในเวทีโรงเรียน ซึ่งทำให้ครอบครัวและเพื่อนๆ ได้รู้ว่า เด็กสาวร้องเพลงได้เป็นอย่างดี
พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เธอเริ่มเขียนเพลงด้วยความตั้งใจ เพราะตกหลุมรักรุ่นพี่ที่เป็นนักเรียนมอร์มอนคนหนึ่ง เมื่อโตขึ้น เธอก็เริ่มคัฟเวอร์เพลงลงยูทูบ แล้วค่ายแอตแลนติกส์เรคคอร์ดก็มาเห็นเข้า “เหมือนถูกลอตเตอรี่เลย!” เธอคิดเมื่อค่ายชวนเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัด
“ฉันอายุ 17 แล้วคิดว่าตัวเองจะชนะรางวัลแกรมมี่แล้ว มันตลกนะ เพราะว่าเมื่อคุณเซ็นสัญญากับค่ายแล้ว นั่นหมายความว่า งานของจริงกำลังเริ่มต้น” โรนกล่าว
เด็กสาวจากมิสซูรีตัดสินใจไม่ใช้ชื่อจริงในฐานะศิลปิน แต่เลือกใช้ชื่อในวงการแทน โดยหยิบเอานามสกุลของคุณปู่ที่ล่วงลับไปแล้วอย่าง ‘แชปเพล’ มาประกอบกับเพลงโปรดของเขาอย่าง The Strawberry Roan จนออกมาเป็นชื่อ แชปเพล โรน ในท้ายที่สุด
พอปี 2017 เธอเดินทางไปกลับระหว่างบ้านและลอสแอนเจลิสเพื่อทำเพลง และปล่อยซิงเกิลแรกออกมาชื่อว่า Good Hurt ก่อนที่อีพีแรกชื่อ School Nights จะปล่อยตามออกมา ครั้งนั้นเพลงของโรนให้ห้วงอารมณ์แปรปรวนระหว่างความตื่นเต้นและความมืดมนของการรัก ‘แบดบอย’ โดยถ่ายทอดมันผ่านซาวนด์อินดี้ป๊อปที่มีอารมณ์เศร้าหมอง ซึ่งเจ้าตัวมองว่า “เป็นเพลงป๊อปที่มืดหม่นและน่าหงุดหงิดจริงๆ มันน่าเบื่อมาก” แต่ด้วยเสียงร้องของเธอ ทำให้มีคนจำนวนหนึ่งชื่นชอบ และติดตามผลงาน แต่ก็ยังไม่ใช่กลุ่มใหญ่มากพอที่จะทำให้เป็นที่พูดถึงในวงกว้างได้
แต่ในเมื่อเราเดินทางมาถึงวันที่ได้ลองทำตามฝันแล้ว เราก็ต้องทำต่อไปจนกว่าจะถึงเป้าหมายใช่ไหม โรนในช่วงวัยรุ่นตอนปลายก็คิดเช่นนั้น เธอจึงเร่งรีบกับการพัฒนาฝีมือตัวเอง แต่ชีวิตก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้น ภาวะยากลำบากทำให้เกิดความเครียด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยสวยงามกลับแปลกประหลาดบนเส้นทางที่เลือกเดิน
“ฉันรู้สึกไม่พร้อมมาก ฉันไม่รู้ว่าตัวเองต้องเสียสละมากแค่ไหน ฉันไม่ได้เรียน ม.6 ไม่ได้ไปงานพรอม เรียนไม่จบ ฉันพลาดอะไรหลายอย่างที่จะเป็นช่วงสุดท้ายของการเป็นวัยรุ่นเพื่อจะมาทำอาชีพนี้” เธอให้สัมภาษณ์กับ The Rolling Stones
ปี 2018 เธอตัดสินใจย้ายมาอยู่ลอสแอนเจลิสเต็มตัว ปลดปล่อยตัวเองจากกรอบแนวคิดอนุรักษนิยมของครอบครัวเพื่อลองมาใช้ชีวิตด้วยแนวทางตัวเอง
“ก่อนหน้านี้ ฉันได้ยินมาว่า เมืองนี้มีปิศาจและซาตานอาศัยอยู่ที่นี่” เธอจึงรู้สึกว่าใจหนึ่งก็รู้สึกขวัญหนีดีฝ่อ แต่ใจหนึ่งก็ตื่นเต้น เพราะขนาดแค่เดินเข้าซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังอย่าง Trader Joe’s แล้วเห็นว่ามีผู้หญิงใส่สปอร์ตบาร์กำลังเลือกซื้อของ เธอยังรู้สึกตัวสั่น เพราะมันดูสุดขั้วมากหากเกิดขึ้นในวิลลาร์ด บ้านเกิดของเธอ
“แต่พอได้มาอยู่ที่เวสต์ฮอลลีวูดจริงๆ ทำให้ฉันได้เปิดโลกว่า ทุกสิ่งที่เคยกลัวมันไม่ใช่ความจริงเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อะไรก็ตามที่ฉันถูกสอนมาเกี่ยวกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ”
แต่เพราะต้องการเปิดโลก โรนเลยได้เดินทางไป The Abbey บาร์เกย์ในแอลเอ ที่นั่นทำให้เธอรู้สึกหลายอย่าง ทั้งอึ้งให้กับท่าทางและลวดลายของโชว์ที่นั่น ไปจนถึงการหวนนึกถึงความรู้สึกของตัวเองที่เคยชอบพอกับเพื่อนผู้หญิงสมัยเด็กๆ แต่เธอทำอะไรกับมันไม่ได้
สาวในวัย 22 ที่ได้ย่างเท้าเข้าไปยังคลับเกย์ครั้งแรก กลับสัมผัสได้ถึงอิสรภาพอันแปลกประหลาด “ฉันโตมากับแนวคิดที่ว่าการเป็นเกย์เป็นเรื่องเลวร้ายและเป็นบาป” เธอกล่าว “แต่พอได้เขาไปเห็น มันอิมแพ็กต์มาก เหมือนเวทมนตร์เลย ทุกอย่างมันอยู่ขั้วตรงข้ามกับสิ่งที่ฉันถูกสอนมา การได้ไปคลับเกย์ครั้งแรกทำให้ฉันรู้สึกถึงจิตวิญญาณของตัวเอง”
ทั้งนี้ ในระหว่างที่ไปเยือน The Abbey มันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่โรนกำลังทำงานร่วมกันกับ แดน ไนโกร โปรดิวเซอร์ที่พาเพลงของโอลิเวียร์ ร็อดริโกขึ้นชาร์ตเพลงครั้งแรกตั้งแต่เดบิวต์อยู่พอดี โรนจึงหยิบเอาความรู้สึกของการเข้าคลับเกย์มาแต่งเพลงชื่อว่า Pink Pony Club ว่าด้วยคนที่หนีแม่มาทำงานเป็นนักเต้นระบำเปลื้องผ้าในคลับ โดยไนโกรเป็นโปรดิวเซอร์เพลงนี้ให้
‘หนูรู้ว่าอยากให้อยู่บ้าน แต่หนูไม่สามารถเพิกเฉยต่อภาพอันบ้าคลั่งของตัวเองที่แอลเอได้แล้ว / หนูได้ยินว่ามันมีสถานที่พิเศษ ที่ที่ผู้ชายหรือผู้หญิงสามารถเป็นควีนได้ทุกๆ วัน’
‘คงจะไม่ได้ทำให้แม่ภูมิใจ มันจะทำให้เกิดเหตุแบบที่ แม่เห็นลูกสาวตัวน้อย รู้เลยว่าเธอจะกรีดร้อง ‘โอ้ พระเจ้า หนูทำอะไรลงไปลูก? หนูเป็นม้าโพนี่สีชมพู แล้วก็เต้นบนเวที’ / โอ๊ย แม่ หนูแค่สนุกบนเวทีกับส้นสูงคู่นี้ / มันคือที่ของหนู คลับโพนี่สีชมพู!’
เธอเปลี่ยนทั้งดนตรีและภาพลักษณ์จากผู้หญิงเศร้าหม่นหมองในอีพีแรกมาเป็นผู้หญิงที่ค่อยๆ ปลดปล่อยตัวเองจากอะไรบางอย่าง เพียงแต่ว่าหลังจากปล่อยเพลงนี้ออกมา กระแสตอบรับก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก โรนทำเพลงออกมาได้อีกเพียงสองซิงเกิลต่อจากนั้น ค่ายก็ยกเลิกสัญญากับเธอไป ด้วยเพราะยอดขายไม่ได้เป็นไปตามคาด ใจเธอแหลกสลาย โรนจึงกลับบ้าน
“ฉันรู้สึกว่ามันล้มเหลว แต่ฉันรู้ว่าลึกๆ มันไม่ใช่” พอกลับไปที่เมืองวิลลาร์ด เธอไปทำงานพาร์ตไทม์ที่ร้านตู้กาแฟแบบไดรฟ์ทรู และวางแผนว่าจะเก็บเงินจำนวนหนึ่งเพื่อกลับไปที่แอลเอ ให้เวลาตัวเองหนึ่งปีเพื่อทุ่มเทให้กับความฝันอีกครั้ง
“ฉันไม่มีเงิน แต่ฉันจะผลักมันไปให้ได้ ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในปลายปีหน้า มันคือสัญญาณว่าฉันต้องย้ายกลับบ้าน” โรนให้คำมั่นสัญญากับตัวเอง โดยตอนแรก เธอกลับมาทำงานในฐานะศิลปินอิสระก่อน แต่งเพลงที่บอกถึงตัวตน และให้เพื่อนมาช่วยทำเอ็มวี ผ่านไป 2-3 เดือน ไนโกรชวนเธอเซ็นสัญญากับค่าย Amusement ซึ่งเป็นค่ายลูกของ Island Record ที่เขาดูแลอยู่
ในภาวะที่โรนกระสับกระส่าย กังวลใจ และรู้สึกว่าถูกละเลย ไนโกรกลายเป็นแรงผลักดันให้เธอทำงานเพื่อตัวเอง “แดนมองมาที่ฉัน แล้วบอกว่า เธอจะต้องทำอาชีพตัวเองพังแน่ๆ ถ้าไม่เริ่มทำมันด้วยตัวเอง”
นี่เองคือที่มาของ The Rise and Fall of a Midwest Princess อัลบั้มที่กำลังเป็นกระแสอย่างถึงที่สุดในช่วงต้นปี 2024 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเพลง Red Wine Supernova, HOT TO GO!, Casual ซึ่งล้วนนำเสนอสถานการณ์ความรักสัมพันธ์และความรู้สึกของ LGBTQ การปลดปล่อยตัวเองออกจากกรงขังแนวคิดบาปของคนรักเพศเดียวกัน โดยแม้ว่าจะถ่ายทอดออกมาผ่านดนตรีเก่าๆ ในยุค 80s แต่มันกลับติดหูคนรุ่นใหม่ จนทำให้เธอกลายเป็นไอดอลที่วัยรุ่นยุคนี้ภาคภูมิใจที่ได้ฟัง
แชปเพล โรน คือ แดร็กควีนที่จะไปให้สุดในแบบที่ลูกสาวพระเจ้าไม่ทำ
หากลองย้อนกลับไปดูเอ็มวีเพลง Pink Pony Club เราจะเห็นโรนใส่เสื้อแจ็กเกตสีเงินสีเดียวกันกับชุดลีโอทาร์ตข้างใน เธอเริ่มต้นร้องเพลงอย่างเก้ๆ กังๆ ราวกับมีความวิตกกังวลปะปนในใจ แต่เมื่อได้เปล่งท่วงทำนองต่างๆ แล้ว ร่างกายค่อยๆ ออกท่าทางตามดนตรี
วิ่งไปตามท่วงทำนอง กระโดดไปรอบๆ ร้านอาหาร โดยมีชายสูงวัยกลุ่มหนึ่งนั่งหน้างง และแม้ว่าในทีแรกหญิงสาวจะดูกังวลกับสายตาเหล่านั้น แต่เมื่อเธอได้ลุกขึ้นเต้นไปเรื่อยๆ โรนก็ไม่ได้สนใจชายเหล่านั้นอีกต่อไป
เธอกระโดดโลดเต้นไปตามเคาน์เตอร์บาร์ จนถึงช่วงท้ายที่ปรากฏภาพแดร็กและเกย์ทั่วร้าน เธอก็ได้แสดงออกถึงอิสระของตัวเองมากขึ้น
จะบอกว่า Pink Pony Club คือจุดที่โรนตระหนักรู้ถึงตัวตนข้างในก็ว่าได้ เพราะเนื้อเพลงนี้สื่อสารถึงสิ่งที่โรนชอบและอยากทำ และแม้ว่าจะยังมีความกังวลว่าคุณแม่ของเธอจะว่าอะไรบ้าง ครอบครัวจะรู้สึกแย่ไหม แต่เธอก็ย้ำชัดในเนื้อเพลงว่า ‘หนูแค่กำลังสนุกอะ’ (I’m just having fun)
โรนพัฒนาตัวตนข้างในอยู่เสมอ จาก Pink Pony Club ไปสู่เพลง Naked In Manhattan และเพลง Red Wine Supernova ซึ่งเปิดเผยความเป็นเควียร์และการแอบชอบผู้หญิงมากขึ้น “ฉันคบกับผู้ชายมาตลอด ฉันไม่เคยแม้กระทั่งจูบกับผู้หญิง แต่พอแต่งเพลงพวกนี้ออกมา มันคือทั้งหมดที่ฉันหวังว่าชีวิตจะเป็นได้” เธอให้สัมภาษณ์กับ Los Angeles Times
ถ้าหากไปดูในเอ็มวีเพลง Naked In Manhattan (ซึ่งเธอถ่ายเองกับเพื่อน) เราจะเริ่มเห็นพัฒนาการแต่งตัวของโรนที่จะค่อยๆ มีสีสัน ชุดแบบไฮเปอร์เฟมินีน และเห็นเค้าของความเป็น ‘ป๊อปสตาร์เสื้อมือสอง’ ซึ่งเธอหยิบจับนู่นใส่นี่จากร้านเสื้อมือสอง กลิ่นอายแบบนี้จะนำไปสู่แดร็กควีนตามที่เธอประทับใจในคลับเกย์แห่งนั้น
ระหว่างนั้น เธอได้ออกเพลง Femininomenon และ Casual แล้วเธอก็ได้รับเชิญให้เล่นเปิดคอนเสิร์ตของโอลิเวียร์ ร็อดริโก ซึ่งช่วงเวลานี้นี่แหละที่ความเป็น ‘แชปเพล โรน’ เด่นชัดอย่างถึงที่สุด เธอพัฒนาตัวเองให้เป็นแดร็กเต็มขั้น แต่งตัวเต็มยศ บุคลิกท่าทางจัดจ้านเกินพิกัด ซึ่งผู้ชมชื่นชอบมากๆ
“อย่าเรียกฉันว่าที่รัก อย่าเรียกฉันว่าไคลีย์” โรนจะพูดประโยคนี้ก่อนเล่นคอนเสิร์ต เพราะตอนขึ้นแสดงเธอจะหยุดเป็นไคลีย์ และปล่อยให้แชปเพล โรนออกมาเจอผู้คน
“แชปเพลคือสิ่งที่ไคลีย์รู้สึกละอายที่จะเป็น” เธอจึงปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างออกมาในตัวตนนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การแต่งตัว แต่คือการพูดเรื่องเซ็กซ์ โดยเฉพาะการพูดอะไรสองแง่สองง่าม และการเปิดเผยถึงความขัดข้องใจทางเพศ
“ฉันมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการพูดเรื่องเซ็กซ์ในฐานะไคลีย์ เช่น ตอนดูฉากเซ็กซ์หรือจีบคนอื่น! ฉันรู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องทางเพศมากๆ แต่ในฐานะแชปเพล แดร็กควีนที่ฉันเล่นเธอไม่ใช่แบบนั้น เธอมีความมั่นใจและสบายใจมากในการร้องเพลงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น” เธอกล่าว
เราอยากชวนให้ลองฟังเพลง Casual ที่เธอเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ situationship โดยโรนเล่าถึงฉากเซ็กซ์ในท่อนหนึ่งว่า ‘คุกเข่าลงตรงที่นั่งคนขับ / แล้วเธอก็กำลังกินฉันเข้าไปทั้งตัว / อย่างนี้เรียกว่าสบายๆ ไหม? / มันยากที่จะเป็นความสัมพันธ์สบายๆ นะ ถ้าบราตัวโปรดของฉันยังอยู่ในตู้เสื้อผ้าของเธอ’
Casual กลายเป็นเพลงตัวแทนความอิหลักอิเหลื่อทางความสัมพันธ์ที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่ามันถ่ายทอดแทนใจพวกเขา จนถึงตอนนี้ เพลงนี้มียอดสตรีมไปแล้วกว่า 80 ล้านครั้งในสปอติฟาย
เจ้าหญิงแห่งมิดเวสต์ มาดอนนาของเจนซี และอนาคตป๊อปสตาร์คนต่อไป?
โรนไต่ระดับความไวรัลมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เธอปล่อยเพลง Good Luck, Babe! และขึ้นแสดงในเทศกาลดนตรีโคเชลล่าช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังไม่นับรวมการแสดงในงาน Governor Balls ที่เธอทาตัวเขียวแต่งตัวเป็นเทพีเสรีภาพ และเธอยังกล่าวถึงบทกวีที่ปรากฏบนรูปปั้นและเชื่อมโยงว่าอิสรภาพเหล่านั้นย่อมหมายถึงสิทธิสตรี กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะอิสรภาพของคนที่ถูกกดขี่ในพื้นที่ที่พวกเขาถูกยึดครองไป การเป็นปากเป็นเสียงแห่งยุคสมัย ทำให้คนรุ่นใหม่ชื่นชอบในตัวเธอ และกลับไปติดตามผลงานเก่าๆ ของเธอเยอะขึ้น
มีคำชื่นชมในผลงานของโรนมากมาย แต่ประเด็นที่คนพูดถึงกันมากคือ ตัวตนที่เธอนำเสนออยู่นี้ ทำให้หลายคนนึกถึงป๊อปสตาร์อย่าง มาดอนนา หรือเลดี้ กาก้า ถึงขั้นมีคนบอกว่า ไปเปิดเพลงโรนอยู่ที่บ้าน แล้วแม่ได้ยินเข้า จึงบอกว่า เพลงนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังฟังมาดอนนาเลย เจนซีเลยแสดงความเห็นใน X กันว่า ‘ก็เธอเป็นมาดอนนาในยุคของเรา’
อย่างเพลง Pink Pony Club ชาว LGBTQ หลายคนที่ได้ฟังเพลงนี้ ต่างลงความเห็นว่า มันเป็นสตอรี่ที่แทนใจวัยเด็กของพวกเขา ในเวลาต่อมามันกลายเป็นกระแสใน TikTok โดยเฉพาะท่อนที่ว่า ‘แม่เห็นลูกสาวตัวน้อย รู้เลยว่าเธอจะกรีดร้อง ‘โอ้ พระเจ้า หนูทำอะไรลงไปลูก? หนูเป็นม้าโพนี่สีชมพู แล้วก็เต้นบนเวที’ / โอ๊ย แม่ หนูแค่สนุกบนเวทีกับส้นสูงคู่นี้ / มันคือที่ของหนู คลับโพนี่สีชมพู!’
มีแฟนเพลงบอกว่า Pink Pony Club มีกลิ่นอายแบบเพลง Girl Just Wanna Have Fun ของ ซินดี ลอเปอร์ ซึ่งเป็นเพลงที่สื่อถึงความเท่าเทียมทางเพศ และกลายเป็นเพื่อนหญิงพลังหญิงจนถึงทุกวันนี้
“เพลงของโรนก็กำลังเป็น Girl Just Wanna Have Fun ในยุคของเรา” แฟนเพลงใน X กล่าว สื่อสารว่า Pink Pony Club เป็นเพลงที่บอกความรู้สึกของคนในคอมมูนิตี้ LGBTQ ไปแล้ว
ประเด็นไม่ได้อยู่แค่ว่าเธอกำลังเป็นอีกเสียงที่สะท้อนความต้องการของยุคสมัย แต่วิธีการนำเสนอตัวตน การแสดงคอนเสิร์ต ไปจนถึงดนตรีที่เธอเลือกถ่ายทอดก็ล้วนสร้างความรู้สึกใหม่ๆ ให้กับคนฟัง แม้กระทั่ง Charli XCX ยังกล่าวชื่นชมว่าโรนเป็นศิลปินที่เธอกำลังติดตามอยู่ เพราะเธอมีอะไรที่แตกต่างกับศิลปินคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด สื่อต่างประเทศหลายเจ้าก็เขียนบทความว่า โรนเป็นศิลปินที่น่าจับตามองอนาคตอันรุ่งโรจน์ เพราะเธอมีส่วนผสมหลายอย่างที่ปูทางไปสู่การเป็นป๊อปสตาร์ได้ ไม่ว่าจะการคิดนอกกรอบ การเขียนเพลงที่เชื่อมโยงกับคอมมูนิตี้เควียร์ และการกล้าหาญที่จะเป็นตัวเอง
หรืออย่างการแสดงของเธอที่แสดงตัวตนออกมาขั้นสุด แถมยังจัดธีมคอนเสิร์ตในแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน และชวนให้คนมาแต่งแดร็กเป็นเพื่อนกัน ในแต่ละครั้งที่ขึ้นแสดงโรนจึงจัดจ้านไปด้วยสีสัน ความสนุก และเซอร์ไพรส์อยู่เสมอ
มีคอมเมนต์จำนวนหนึ่งที่เปิดประเด็นว่า ‘เธอเป็นหญิงแท้ แล้วทำไมแต่งตัวเป็นแดร็ก?’แต่ก็มีแฟนๆ จำนวนมากไปตอบกลับว่า ‘ก็เพราะว่าเธอทำได้ไงล่ะ ทำไมทุกเพศจะแต่งแดร็กไม่ได้ล่ะ’
สิ่งที่โรนทำจึงไม่ใช่แค่การเป็นตัวเองอย่างซื่อสัตย์ แต่มันคือการขับเคลื่อนให้วัฒนธรรมแดร็กกลายเป็นสิ่งธรรมดาในหมู่ตลาดป๊อป และที่สำคัญ โรนแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงก็ชอบผู้หญิงได้ ผู้หญิงก็ทำแบบนี้ได้ แต่งตัวด้วยชุดเว่อร์วัง แต่งหน้าขาว ตาสีฟ้า ทำตัวตลก แต่ร้องเพลงถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน เพื่อสื่อสารว่า แม้ฉันเศร้าแต่ฉันก็เป็นคนสดใสร่าเริง ทำไมผู้หญิงจะคิดแบบนี้ไม่ได้ล่ะ? โลกนี้มีความหลากหลายของความเป็นหญิง และความหลากหลายของการเป็น LGBTQ นะ
นี่แหละคือส่วนผสมของ The Rise and Fall of a Midwest Princess ไม่ว่าจะล้มเหลวหรือเกิดใหม่ เธอก็เป็นอะไรก็ได้อย่างที่อยากเป็น
“ตัวตนทั้งหมดนี้คือการให้เกียรติตัวฉันในวัย 10 ขวบ ความพยายามในการให้เกียรติตัวฉันในเวอร์ชันที่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้เป็น” โรนอธิบาย
อ้างอิง: theguardian.com, people.com, vox.com, theconversation.com
