Save Micro Cinema ทำไมเราถึงต้องปกป้องโรงหนังอิสระ
...
LATEST
Summary
- เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 Doc Club & Pub. ประกาศยุติการให้บริการฉายภาพยนตร์ เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันไม่เอื้อให้โรงหนังขนาดเล็กสามารถขออนุญาตเป็นโรงมหรสพได้ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับโรงหนังในห้างสรรพสินค้า
- แต่นอกเหนือจากประเด็นเรื่องกฎหมาย สิ่งที่น่าพูดถึงคือความสำคัญของ Microcinema ในฐานะพื้นที่ทางวัฒนธรรม ที่ไม่เพียงเป็นสถานที่ฉายหนัง แต่เป็นบ้านของภาพยนตร์นอกกระแส หนังสารคดี และหนังอิสระที่อาจไม่ได้ทำเงินแต่เต็มไปด้วยคุณค่าทางศิลปะและความคิด
...
ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัด ความทรงจำที่ผมมีต่อ ‘โรงภาพยนตร์’ จึงยึดโยงอยู่กับห้างสรรพสินค้า อย่างพอจะดูหนังสักเรื่องก็ต้องนัดกับเพื่อนๆ ไปห้างฯ และถึงแม้ว่าพ่อกับแม่จะเคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งอาคารผุพังหลังเก่าแถวบ้านจะเคยเป็น ‘โรงหนัง stand alone’ แต่ผมก็นึกภาพตามไม่ออกหรอก เพราะตั้งแต่ที่พอจำความ ‘ชั้นบนสุดของห้างฯ’ คือนิยามเดียวของโรงภาพยนตร์ที่ผมมี
กระทั่งเมื่อเติบโตขึ้นมาจนได้เข้ามาเรียนมหา’ลัยที่กรุงเทพฯ นั่นแหละ ที่ผมถึงได้ตระหนักว่า จริงๆ แล้วมุมมอง ภาพจำ หรือกระทั่งความเข้าใจที่ผมมีต่อโรงภาพยนตร์นั้นมันช่างคับแคบเสียเหลือเกิน
2.
หากนิยามโรงหนัง stand alone อย่างหลวมๆ เราอาจบอกว่ามันคือโรงภาพยนตร์ที่ไม่ได้ผูกติดอยู่กับห้างฯ และหน้าที่ของอาคารหลังนี้ก็เพื่อฉายหนังเป็นหลัก ในแง่นี้ สกาลาน่าจะเป็นโรงหนัง stand alone แห่งแรกๆ ที่ผมได้สัมผัส ซึ่งมันก็เริ่มต้นจากเหตุผลง่ายๆ ว่า ราคาตั๋วหนังที่นี่ค่อนข้างน่ารัก และเพียงไม่นานนัก ผมก็ตกหลุมรักการเดินทาง ‘เพื่อไปดูหนัง’ ที่สกาลาโดยไม่รู้ตัว
จนพอการดูหนังกลายเป็นกิจกรรมหลักในชีวิตประจำวัน พื้นที่ดูหนังของผมก็ค่อยๆ ขยับไปสู่ลิโด้ House RCA และ Doc Club and Pub. ไล่เรียงตามลำดับกันไป ผมได้ดูหนังมากขึ้น พร้อมๆ กันก็ได้เรียนรู้ว่า โลกของภาพยนตร์นั้นหลากหลายกว่าที่ผมเข้าใจ เพราะหากย้อนกลับไปในวัยเด็ก หนังที่ได้ดูโดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นหนัง Box Office ที่มาพร้อมกับโปรดักชันยิ่งใหญ่ ตรงกันข้ามกับโรงหนังทางเลือกเหล่านี้ที่มักจะหยิบยื่นความหลากหลาย หนังสารคดี หนังอินดี้ ไปจนถึงหนังอาร์ตเฮาส์นอกกระแส สับเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่เรื่อยไป จนรู้ตัวอีกที วันหยุดของผมก็มักจะเวียนวนอยู่กับโรงภาพยนตร์เล็กๆ เหล่านี้ แทนที่จะไปดูหนังในห้างสรรพสินค้าอย่างที่ผ่านมา
สำหรับผม โรงภาพยนตร์ทางเลือกไม่เพียงแต่จะช่วยเปิดกะลา หากมันยังยืนยันกับผมว่า ในโลกนี้ยังมีภาพยนตร์อีกมากมายที่ชวนให้เรียนรู้ ถกเถียง และต่อยอดเป็นบทสนทนา เพียงแต่มันก็อาจไม่ใช่หนังทำเงินเสมอไป และคงเพราะเหตุนี้ที่ภาพยนตร์เหล่านั้นก็มักจะถูกมองข้าม ไม่ถูกรับรู้ หรือหล่นหายไปจากความสนใจ ท่ามกลางโรงหนังมัลติเพล็กซ์ที่คอยแต่จะกลืนกินทุกสิ่งที่อยู่ร่ำไป การหยัดยืนอย่างท้าทายของโรงหนังทางเลือกก็เป็นไปเพื่อยืนยันในความหลากหลายของโลกภาพยนตร์
แต่ก็อย่างที่รู้กัน เมื่อปี 2561 เดินทางมาถึง โรงภาพยนตร์ลิโด้ก็จำเป็นต้องหยุดกิจการลงไป ไม่กี่ปีต่อจากนั้น ท่ามกลางเสียงคัดค้านของกลุ่มคนที่รักภาพยนตร์และศิลปวัฒนธรรม ก็ถึงคราวของสกาลาก็ถูกทุบทำลายทิ้งจนเหลือแต่เพียงประวัติศาสตร์ ขณะ House RCA โยกย้ายไปสู่พื้นที่ใหม่ บนเส้นทางของโรงภาพยนตร์ทางเลือกที่บ้างก็แตกดับและบ้างปรับเปลี่ยนไป เหตุการณ์ล่าสุดที่เพิ่งจะเกิดขึ้นกับโรงภาพยนตร์ทางเลือกอย่าง Doc Club & Pub.. ก็ตอกย้ำถึงความไม่ง่ายที่โรงหนังอิสระในประเทศนี้ต้องเผชิญ
3.
เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 16 ธันวาคม 2567 เฟซบุ๊กของ Doc Club & Pub.. ได้โพสต์แจ้งว่า จำเป็นต้องยุติการให้บริการในส่วนการฉายภาพยนตร์ และชี้แจงเหตุผลซึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมายเกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์ การขออนุญาตการเป็นโรงมหรสพ รวมถึง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ และกฎกระทรวงในปัจจุบัน ที่ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมดในการอนุญาตตัวอาคารและโรงมหรสพ ไม่ว่าจะเป็นโรงขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ หรือห้องฉายหนังเล็กในอาคารห้องแถว โดยมีเนื้อความส่วนหนึ่งกล่าวว่า
“อุปสรรคสำคัญที่สุดที่จะทำให้ Microcinema เกิดขึ้นได้ยากนั้น ไม่ใช่เรื่องของโลเคชั่น ทุน หรือแม้แต่คอนเทนต์ มากเท่ากับการที่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ และกฎกระทรวงในปัจจุบันซึ่ง ‘ใช้หลักเกณฑ์ในการอนุญาตตัวอาคารและโรงมหรสพ เกณฑ์เดียวกันทั้งหมด’ ไม่ว่าจะเป็นโรงขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ หรือห้องฉายหนังเล็กจิ๋วในอาคารห้องแถว ทั้งเรื่องการกำหนดระยะทางเดิน ความกว้างของบันได ฯลฯ”
ต่อมา Doc Club & Pub.. ได้อธิบายย่อหน้านี้เพิ่มเติมเพื่อชี้ให้เห็นว่า กฎหมายควบคุมอาคารและความปลอดภัยที่ใช้อยู่นี้ถูกร่างขึ้นก่อนที่จะมีแนวคิดเรื่องโรงหนังอิสระขนาดเล็ก ส่งผลให้อาคารพาณิชย์ทั่วไปในประเทศไทยไม่สามารถขออนุญาตเปิดเป็นโรงภาพยนตร์ได้เลย ซึ่งในบริบทนี้จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมี 'โรงหนังห้องแถว' ในประเทศไทย และโรงมหรสพจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในอาคารขนาดใหญ่เท่านั้น ตรงกันข้ามกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกระทั่งประเทศใกล้ๆ อย่างเวียดนาม ที่ได้มีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยไม่จัดให้พื้นที่ฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับ 'โรงมหรสพ' และมีกฎระเบียบเฉพาะที่เหมาะสมกับขนาดและลักษณะการใช้งานของพื้นที่เหล่านี้
โพสต์ของ Doc Club & Pub.. ส่งแรงกระเพื่อมและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะต่อประเด็นความล้าหลังของกฎหมาย ทว่าภายในคืนเดียวกัน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านภาพยนตร์ สารคดี และแอนิเมชัน ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติก็ได้แชร์โพสต์และชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวผ่านทาง เฟซบุ๊ก THACCA-Thailand Creative Culture Agency ว่าได้มีการคุยกับผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีลักษณะนี้เป็นระยะๆ และในร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการนำเสนอโดยพรรคการเมืองก็ได้คำนึงถึงการแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นสำคัญ และในส่วนของปัญหาที่เกิดจากกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เบื้องต้นมีการนัดคุยกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายฯ (กฎกระทรวง) ทั้งของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 25 ธันวาคม 2567 นี้ สำหรับกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการแจ้งไปยังที่ปรึกษารัฐมนตรี และประสานงานกับอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมแล้ว
“เรามุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว และเรายืนยันว่าปัญหานี้จะถูกแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ในอนาคตอย่างแน่นอน จึงเรียนมาเพื่อทำความเข้าใจในข้อห่วงใยของทุกท่าน”
แน่นอนว่า การดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็วนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ถึงอย่างนั้น เราก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่า กรณีของ Doc Club & Pub.. จะคลี่คลายไปในทิศทางใด อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนนี้ ประเด็นที่เราอาจต้องมาเน้นย้ำกันอย่างจริงจังคือ ทำไมเราถึงต้องยืนยันการมีอยู่ของโรงหนังอิสระ Microcinema สำคัญอย่างไร
แน่นอนว่าการดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็วในกรณีของ Doc Club & Pub. ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม เราก็ยังไม่อาจรู้ได้ว่ากรณีนี้จะคลี่คลายไปในทิศทางใด เพราะการดำรงอยู่ของโรงหนังอิสระมักเผชิญหน้ากับความท้าทายอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนนี้ ประเด็นที่เราอาจต้องมาเน้นย้ำกันอย่างจริงจังอาจไม่ใช่แค่การปกป้องการมีอยู่ของโรงหนังอิสระหรือ Microcinema เท่านั้น แต่คือการเปล่งเสียงยันยันว่า การมีพื้นที่สำหรับความแตกต่างหลากหลายนั้นจำเป็นและสำคัญกับสังคมเรามากมายเพียงใด
4.
ในความหมายหนึ่ง Microcinema ชวนให้เรานึกถึงพื้นที่ฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กที่อาจมีพื้นที่ไม่มากนัก อาจตั้งอยู่ในอาคารพาณิชย์หรือห้องแถว ทำหน้าที่เป็นทางเลือกนอกเหนือจากโรงภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้า โดยเน้นฉายหนังนอกกระแส หนังอิสระ และหนังสารคดี ทว่าในเปเปอร์เรื่อง
“Digital Video, Microcinema, and the Rhetoric of Media Democratization” ของ ไคล์ คอนเวย์ (Kyle Conway) ได้ชี้ให้เห็นว่า Microcinema เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในวงการภาพยนตร์อิสระ ที่เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยเริ่มจากแนวคิดของคู่สามีภรรยาในซานฟรานซิสโกที่ต้องการสร้างพื้นที่ทางเลือกสำหรับการฉายภาพยนตร์ คล้ายกับโรงเบียร์ขนาดเล็กของวงการหนัง
Conway อธิบายว่า จุดเด่นของ Microcinema อยู่ที่ความยืดหยุ่นและความเป็นกันเอง สถานที่จัดฉายอาจเป็นที่ไหนก็ได้ ตั้งแต่บาร์เล็กๆ ร้านกาแฟ ไปจนถึงสถานที่ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นโรงหนังได้อย่างโรงงานเก่าๆ หรือโรงอาบน้ำสาธารณะ แน่นอนว่า ประเด็นสำคัญย่อมไม่ใช่ความสะดวกสบายของสถานที่ แต่คือการสร้างพื้นที่ซึ่งผู้คนจะได้มาร่วมชมภาพยนตร์ไปด้วยกันในบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง
ความน่าสนใจอีกอย่างคือ แนวคิดของ Microcinema สอดรับกับการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้การสร้างหนังมีต้นทุนต่ำลง ส่งผลให้เกิดคนทำหนังหน้าใหม่ๆ ที่สามารถทำหนังได้ด้วยงบประมาณที่จำกัด ซึ่ง Microcinema ก็เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้นำเสนอผลงาน พบปะและแลกเปลี่ยนบทสนทนากับคนดูนั่นเอง
อย่างไรก็ดี การจัดตั้ง Microcinema ก็มักจะเผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดอยู่เสมอ ทั้งเรื่องการหาสถานที่ อุปกรณ์ฉาย การคัดเลือกหนัง การประชาสัมพันธ์ให้ถึงผู้ชม และที่สำคัญคือการหาเงินทุนสนับสนุน แต่ก็ด้วยความมุ่งมั่นของผู้จัดและการสนับสนุนของชุมชนนั่นเอง ที่บาง Microcinema ก็สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและกลายเป็นส่วนสำคัญต่อการก่อร่างและหล่อหลอมวัฒนธรรมหนังอิสระในท้องถิ่นหนึ่งๆ ได้
ด้วยเหตุนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า Microcinema จึงไม่ใช่แค่สถานที่ฉายหนัง แต่เป็นการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่พยายามสร้างทางเลือกใหม่ในการชมและเผยแพร่ภาพยนตร์ เป็นการท้าทายระบบการฉายหนังกระแสหลัก และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างประชาธิปไตยทางสื่อในระดับรากหญ้า แม้จะเป็นเพียงการเคลื่อนไหวขนาดเล็ก แต่ก็มีความหมายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวัฒนธรรมภาพยนตร์อิสระให้เติบโตอย่างยั่งยืน
แนวคิดของคอนเวย์เกี่ยวกับ Microcinema สะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกต่อการพยายามสร้างและรักษาพื้นที่ทางเลือกสำหรับภาพยนตร์ ซึ่งหากเราลองเชื่อมโยงเข้ากับกรณีของ Doc Club & Pub.. จะพบว่า พ้นไปจากเรื่องการต่อสู้เพื่อสถานฉายหนังที่แล้ว ความจำเป็นในการปกป้องโรงภาพยนตร์อิสระคือการปกป้อง ‘ระบบนิเวศทางวัฒนธรรม’ ซึ่งช่วยค้ำจุนและยืนยันความหลากหลายในวงการภาพยนตร์ไทยให้ดำรงอยู่เสมอมา
โรงภาพยนตร์อิสระไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ฉายหนัง แต่คือพื้นที่เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นบ้านให้กับภาพยนตร์ที่อาจไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อแสวงหากำไร แต่คุณค่าของมันมีไว้เพื่อขยายพรมแดนของการสร้างสรรค์ในวงการภาพยนตร์ ซึ่งเมื่อไม่มีโรงหนังอิสระ ไม่เพียงแต่คนดูจะสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงหนังที่หลากหลายไปเท่านั้น แต่ผู้สร้างภาพยนตร์ก็จะสูญเสียพื้นที่ในการนำเสนอผลงานที่แหวกแนวและท้าทาย การมีอยู่ของโรงหนังอิสระจึงเป็นการรับประกันว่าวงการภาพยนตร์จะไม่ถูกผูกขาดด้วยระบบทุนและรสนิยมกระแสหลักเพียงอย่างเดียว
สำหรับผม โรงหนังอิสระจึงเปรียบเสมือนพื้นที่แห่งการทดลอง การค้นพบ และการพัฒนาภาษาภาพยนตร์รูปแบบใหม่ๆ ที่อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทำหนังรุ่นต่อไป การสูญเสียพื้นที่เหล่านี้จึงไม่ต่างจากการสูญเสียห้องทดลองทางความคิดและจินตนาการที่จะช่วยผลักดันให้วงการภาพยนตร์เติบโตอย่างมีคุณภาพ แตกต่าง และยั่งยืน
ในขณะที่โรงภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้ามักจะให้ความสำคัญกับภาพยนตร์ที่สร้างรายได้ โรงหนังอิสระกลับเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับภาพยนตร์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นหนังสารคดีที่สำรวจประเด็นทางสังคมอย่างซับซ้อน หนังทดลองที่ท้าทายขนบการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ หรือหนังอิสระที่สะท้อนมุมมองใหม่ๆ ต่อชีวิต ซึ่งก็เป็นความหลากหลายเหล่านี้ที่ไม่เพียงแต่สร้างทางเลือกให้กับผู้ชม หากยังช่วยพัฒนาการรับชมภาพยนตร์ให้ลึกซึ้งแหลมคม และกล้าได้กล้าเสียขึ้นอีกด้วย
โรงหนังอิสระยังมักจะเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การพูดคุย และการถกเถียงเกี่ยวกับภาพยนตร์ ซึ่งช่วยสร้างชุมชนของคนรักหนังที่มีความหลากหลายทางความคิดและรสนิยม การมีพื้นที่เช่นนี้ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาวัฒนธรรมการวิจารณ์ภาพยนตร์ แต่ยังช่วยสร้างความเข้าใจและการยอมรับในความแตกต่างทางความคิดและศิลปะ
ผมคิดว่า ความสำคัญในการปกป้องโรงหนังอิสระจึงลึกซึ้งยิ่งกว่าเรื่องสถานที่ฉายหนัง แต่มันคือการปกป้องระบบนิเวศทางวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงวงการภาพยนตร์ เป็นการรักษาพื้นที่แห่งเสรีภาพในการสร้างสรรค์ และเป็นการรับประกันว่าศิลปะภาพยนตร์จะยังมีที่ทางที่ไม่ถูกกำหนดด้วยรายได้และกระแสนิยมเพียงอย่างเดียว
5.
สถานการณ์ของ Doc Club & Pub.. เปิดเผยให้เห็นถึงวิกฤตสำคัญในวงการภาพยนตร์ไทย ที่มากกว่าแค่การสูญเสียโรงหนังขนาดเล็กอีกหนึ่งแห่ง แต่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ของพื้นที่วัฒนธรรมทางเลือกที่พยายามยืนหยัดท่ามกลางข้อจำกัดของกฎหมายที่ล้าหลังเกินไป
โดยเฉพาะในยุคที่โรงภาพยนตร์ถูกผูกขาดด้วยห้างสรรพสินค้า Microcinema อย่าง Doc Club & Pub.. ทำหน้าที่มากกว่าการเป็นสถานที่ฉายหนัง แต่เป็นพื้นที่ต่อขยายซึ่งช่วยเปิดโลกทัศน์และขยายพรมแดนการรับชมภาพยนตร์ของผู้ชมไทย จากหนัง Box Office สู่หนังนอกกระแส หนังสารคดี และหนังอิสระที่อาจไม่ได้ทำเงินแต่เต็มไปด้วยคุณค่าทางศิลปะและความคิด เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสกับมิติใหม่ๆ ของภาพยนตร์ที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยรายได้และกระแสนิยม
ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ของโรงหนังขนาดเล็กเหล่านี้ยังเป็นการท้าทายระบบผูกขาดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ที่มักจะให้ความสำคัญกับหนังกระแสหลักและรายได้มากกว่าคุณค่าทางศิลปะและวัฒนธรรม การที่โรงภาพยนตร์ของ Doc Club & Pub.. อาจต้องปิดตัวลงเพราะข้อจำกัดทางกฎหมาย จึงไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สำคัญ แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายที่ล้าสมัยอาจกำลังกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของวัฒนธรรมภาพยนตร์ในสังคมไทย
มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เราจะเห็นว่าโรงหนังไม่เคยเป็นเพียงสถานที่ฉายภาพยนตร์ แต่เป็นพื้นที่ทางสังคมที่ผู้คนมาพบปะ แลกเปลี่ยน และเรียนรู้ร่วมกัน ในยุคที่สื่อดิจิทัลกำลังเปลี่ยนวิถีการดูหนังของผู้คน และห้างสรรพสินค้ากลายเป็นบ้านหลังใหม่ของโรงภาพยนตร์ การดำรงอยู่ของโรงหนังอิสระจึงมีความหมายมากกว่าที่เคย
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์ที่เทคโนโลยีและทุนนิยมเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การดำรงอยู่ของพื้นที่อย่าง Doc Club & Pub.. จึงมีความหมายมากกว่าการเป็นเพียงโรงฉายภาพยนตร์ขนาดเล็ก แต่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นการยืนยันว่าในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ เรายังต้องการพื้นที่ที่ผู้คนจะได้มาพบปะ แบ่งปัน และเติบโตไปด้วยกัน ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปเช่นไร ตราบใดที่ยังมีผู้คนที่เชื่อในพลังของภาพยนตร์และการแบ่งปัน พื้นที่เช่นนี้ก็จะยังคงมีความหมายและจำเป็นต้องดำรงอยู่ต่อไป
6.
ที่ Doc Club & Pub. มีป้ายแผ่นหนึ่งติดอยู่เหนือบาร์ เป็นถ้อยคำของ แอกเนส วาร์ดา (Agnes Varda) ผู้กำกับเบลเยียมคนสำคัญว่า 'I am small. I was always small. But only physically.' หรือ 'ฉันตัวเล็ก เป็นเช่นนี้เสมอมา แต่นั่นก็เพียงแค่ร่างกายของฉัน'
ผมคิดว่า ถ้อยคำนี้สะท้อนตัวตนของ Doc Club & Pub. ได้อย่างงดงาม เพราะแม้จะเป็นเพียงโรงหนังเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอกหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่การมีอยู่ คุณค่า และคุณูปการของมันกลับยิ่งใหญ่และแผ่ขยายไกลเกินกว่าพื้นที่เล็กๆ ของมัน
เพราะไม่ว่าจะเป็นวาร์ดา Doc Club & Pub.. หรือ Microcinema กายภาพก็ใช่เรื่องสลักสำคัญแต่อย่างใด
Long Live Microcinema!
