Humberger Menu

ไม่ตั้งใจดูหนัง แต่ทำไมเข้าใจ? เบื้องหลังกลยุทธ์ Netflix ที่ตั้งใจทำหนังและซีรีส์ให้ผู้ชมที่ชอบเปิดทิ้งไว้

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Subculture

Film & Series

Culture

5 ม.ค. 68

creator
ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • Netflix คิดกลยุทธ์ในการทำหนังหรือซีรีส์ที่แม้ผู้ชมจะไม่ได้ตั้งใจดู แต่ก็ยังเข้าใจเนื้อหาเหล่านั้นได้ เนื่องจากคนดูหนังที่บ้านส่วนใหญ่มักวอกแวกไปทำกิจกรรมอื่นและเลือกเปิดหนังให้เล่นต่อเนื่องไปโดยไม่กดหยุด แม้จะไม่ตั้งใจดูก็ตาม
  • Netflix จะมีหมายเหตุที่ระบุกับนักเขียนต้นฉบับทุกคนว่า จะต้องให้ตัวละครมีบทพูดว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อให้ผู้ชมที่เปิดหนังเหล่านี้โดยไม่ได้ตั้งใจดูสามารถเข้าใจเนื้อหาของเรื่องได้
  • คนบางส่วนยังตั้งข้อสงสัยอีกว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอื่นๆ เช่น Prime Video, Apple TV หรือ Disney+ ที่เป็นคู่แข่งของ Netflix ก็อาจนำกลยุทธ์เหล่านี้มาใช้ด้วยหรือไม่
  • ท้ายที่สุด มันจะกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยรวม ทั้งคุณภาพการแสดง และการเขียนบทที่ต้องบรรยายเยอะจนเกินไปหรือเปล่า

...


ช่วงหยุดยาวปีใหม่นี้เชื่อว่าหลายคนคงได้มีเวลาพักผ่อน และบางคนเลือกที่จะนั่งดูหนังหรือซีรีส์ที่เคยดองไว้นมนานหรือดูเรื่องใหม่ๆ ที่เพิ่งออกฉาย ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่โด่งดังมากอยู่ในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นเรื่องสควิดเกม ซีซั่น 2 (Squid Game 2) ใน Netflix 

เราเป็นคนหนึ่งที่เลือกดู Squid Game 2 ในช่วงหยุดปีใหม่ แม้จะไม่ใช่เรื่องราวสดใสเหมาะกับปีใหม่มากนัก แต่เรื่องนี้ก็สร้างความตื่นเต้นและน่าติดตาม หลังจากดูภาคแรกไปเมื่อหลายปีก่อน 


แม้บทความนี้เราจะไม่ได้มารีวิวว่า Squid Game 2 สนุกอย่างไร แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าเรื่องราวในซีรีส์คือ หลังจากเพื่อนร่วมงานที่ดู Squid Game 2 เหมือนกันเล่าว่า “เรานั่งทำงานอยู่ แล้วแฟนเปิดทีวีดู Squid Game 2 น่าแปลกที่แม้เราจะไม่ได้ตั้งใจดู แต่เรากลับเข้าใจเรื่อง Squid Game 2 หมดเลย”

ถ้านี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญก็คงต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ๆ เพราะตอนที่เราดู Squid Game 2 ก็ไม่ได้จดจ่ออยู่กับหน้าจอขนาดนั้นเช่นกัน เพียงเปิดทิ้งไว้แล้วทำอย่างอื่นไปด้วย เช่น เล่นโทรศัพท์ ทำความสะอาดห้อง หรือแม้กระทั่งอ่านหนังสือ

แน่นอนว่าเราไม่ใช่คนเดียวที่เปิดหนังและซีรีส์ทิ้งไว้ และ Netflix ก็รู้ว่าผู้ชมของเขามีพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะคนดูหนังที่บ้านส่วนใหญ่มักมีสิ่งที่ทำให้เราวอกแวกไปทำอย่างอื่นได้อยู่บ่อยครั้งและหลายคนยังเลือกเปิดหนังให้เล่นต่อเนื่องไปโดยไม่กดหยุด 

นี่จึงเป็นจุดสำคัญที่ Netflix คิดกลยุทธ์ในการทำหนังหรือซีรีส์ที่แม้ผู้ชมจะไม่ได้ตั้งใจดู แต่ก็ยังเข้าใจเนื้อหาเหล่านั้นได้ คำถามคือ Netflix ทำได้อย่างไร?


ถ้าเปิดทิ้งไว้ แล้วเรารู้ได้อย่างไรว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

ในบทความล่าสุดของ n+1 นิตยสารวรรณกรรม วัฒนธรรมและการเมืองในสหรัฐอเมริการายงานว่า  Netflix จะมีหมายเหตุที่ระบุให้กับนักเขียนต้นฉบับทุกคนว่าจะต้องให้ตัวละครมีบทพูดว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อให้ผู้ชมที่เปิดหนังเหล่านี้โดยไม่ได้ตั้งใจดูสามารถเข้าใจเนื้อหาของเรื่องได้ 

นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรามีความสามารถพิเศษในการแยกประสาทการรับรู้ระหว่างการดูหนังและทำกิจกรรมอย่างอื่นไปด้วยเท่านั้น แต่ด้วยเทคนิคการเขียนบทหนังของ Netflix กำลังช่วยให้คนที่มักเปิดหนังทิ้งไว้สามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้ แม้ว่าจะไม่ได้จดจ่อบนจอ

แต่ในอีกด้านหนึ่งเรื่องนี้ก็ถูกมองว่าเป็นการไม่ให้เกียรตินักเขียนบท เพราะต้องเขียนเพื่อเอาใจผู้ชมที่ไม่สามารถนั่งดูอยู่เฉยๆ ได้ มากกว่าถ่ายทอดเรื่องราวตามสไตล์ของพวกเขา อีกทั้งยังทำให้บทเหล่านั้นไม่เป็นธรรมชาติ ด้วยคำพูดที่คนทั่วไปไม่พูดกัน 


ในบทความ n+1 ยกตัวอย่างเรื่อง Irish Wish นำแสดงโดย Lindsay Lohan และ Ed Speleers ที่มีบทพูดบอกว่าตัวละครจะทำอะไรอย่างชัดเจน เช่น

"เราใช้เวลาทั้งวันด้วยกัน ฉันยอมรับว่ามันเป็นวันที่สวยงามเต็มไปด้วยทัศนียภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจและฝนที่โรแมนติก แต่สิ่งนั้นไม่ได้ทำให้คุณมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับทางเลือกในชีวิตของฉัน พรุ่งนี้ฉันจะแต่งงานกับ Paul Kennedy" Lohan บอกกับ James คนรักของเธอใน Irish Wish

การบรรยายของการกระทำของตัวละครที่ดูล้นเกินเหล่านี้ทำให้หลายคนมองว่า เนื้อเรื่องของภาพยนตร์และซีรีส์เริ่มน่าเบื่อสำหรับคนที่ตั้งใจดูอย่างจริงจัง และหากลงสังเกตดูในเรื่อง Squid Game 2 ก็มีบทพูดในลักษณะนี้เช่นกัน เช่น การบอกว่ากำลังเล่นเกมอะไร หรือใครกำลังจะทำอะไร 

นอกจากนี้ Netflix ยังมีประเภทรายการที่เรียกว่า ‘casual viewing’ หรือ การรับชมแบบสบายๆ เป็นตัวเลือกในแพลตฟอร์ม ซึ่งส่วนใหญ่คนมักเข้าใจว่าเป็นรายการประเภททำอาหาร เรียลลิตี้ หรือซิทคอม แต่รายการประเภทนี้กลับเป็นหนังที่มีเนื้อหาซีเรียส เช่น Atlas หนังไซไฟที่นำแสดงโดย Jennifer Lopez ที่แม้คนจะกำลังซักผ้าไปด้วยก็ดูได้อย่างสบายๆ โดยยังเข้าใจเนื้อหาอยู่ 

อีกทั้งด้วยตัวเลือกการเล่นต่อเนื่องแบบอัตโนมัติที่สะดวกสบายโดยไม่ต้องแตะหรือใช้รีโมตกดข้าม ทำให้หนังหลายเรื่องใน Netflix ถูกฉายไปเรื่อยๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดผู้ชมของ Netflix ในแต่ละเรื่องมีตัวเลขผู้ชมเป็นจำนวนมาก 

แต่ในความเป็นจริง Netflix ไม่ได้แยกเหล่าผู้ชมที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผู้ชมที่ดูหนังเรื่องนั้นจนจบ ผู้ชมที่ดูน้อยกว่า 2 นาที และผู้ที่ดูเพียงไม่กี่วินาทีด้วยวิธีการเล่นอัตโนมัติ หรือดูที่ความเร็ว 1.5 เท่า ทำให้ตัวเลขยอดผู้ชมที่ดูสูงเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลยุทธ์เพื่อใช้เป็นสถิติทางการค้าเท่านั้น 


กลยุทธ์เหล่านี้ทำให้ผลงานของ Netflix ถูกตั้งคำถามจากโปรดิวเซอร์ฮอลลีวูดคนหนึ่งว่า Netflix กำลังพยายามทำหนังให้กับคนที่ไม่ตั้งใจดูหนัง เพื่อหาเงินและให้คนทำหนังมีงานทำต่อแค่นั้นหรือ 

ปัจจุบัน Netflix ถือเป็นผู้ให้ทุนหลักกับสตูดิโอภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ผู้กำกับภาพยนตร์ส่วนใหญ่จึงยังคงหนีไม่พ้น ที่จะต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอย่าง Netflix และต้องทำผลงานภายใต้ข้อตกลงบางอย่างเพื่อให้ผลงานของพวกเขายังคงถูกมองเห็น 

อย่างไรก็ตาม ผู้ชมทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกดูหนังหรือซีรี่อะไรก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงคุณค่าหรือคำวิจารณ์จากนักทำหนังทั้งหลาย 

แต่ความเห็นบางส่วนก็แสดงข้อกังวลว่ากลยุทธ์ของ Netflix ที่เสมือนกับการป้อนหนังหรือซีรีส์ให้ผู้ชมโดยแทบไม่ต้องเคี้ยว อาจส่งผลเสียได้ในอนาคต เช่น เด็กที่ดูหนังประเภทนี้อย่างเดียวอาจขาดการเรียนรู้และขาดการค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองเพราะชินกับการได้รับข้อมูลแบบป้อนเข้าปาก ทั้งยังส่งผลให้คนสมาธิสั้นขึ้นและอาจทำให้เกิดความเครียดทางสมองโดยไม่รู้ตัว ด้วยการทำหลายๆ อย่างไปพร้อมกับการดูหนัง

คนบางส่วนยังตั้งข้อสงสัยอีกว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอื่นๆ เช่น  Prime Video, Apple TV หรือ Disney+ ที่เป็นคู่แข่งของ Netflix ก็อาจนำกลยุทธ์เหล่านี้มาใช้ด้วยหรือไม่ เพราะปัจจุบันการรักษาลูกค้าที่เป็นสมาชิกกลายเป็นเรื่องยากขึ้น 

และนั่นอาจทำให้ในอนาคตผู้ชมต้องดูหนังหรือซีรีส์ที่เต็มไปด้วยบทพูดของตัวละครที่ดูไม่ธรรมชาติ หรือบทที่บรรยายเยอะเกินไป จนส่งผลให้คุณภาพของการแสดงลดลงและอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมทำภาพยนตร์โดยรวมในที่สุด

แม้การดูหนังแบบ ‘ไม่ตั้งใจดูแต่เข้าใจ’ จะกลายเป็นเรื่องปกติของใครหลายคนไปแล้ว แต่หากลองหันมามองหน้าจอและจดจ่อกับเรื่องราวตรงหน้ามากขึ้น เราอาจพบว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เราคิดก็ได้




Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

กว่าจะเป็น ‘นักเขียนบทซีรีส์เกาหลี’ อาชีพที่ฟันรายได้กว่าพันล้านวอนต่อปี

เส้นทางความสำเร็จของ Netflix กับซีรีส์เกาหลีตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

จาก Parasite ถึง Squid Game : เข้าใจความ Ignorance ผ่านตัวละครจากสื่อบันเทิงเกาหลี

ลูกโลกทองคำ กับการถูกคนฮอลลีวูดบอยคอตต์ + การประกาศรางวัลอย่างโดดเดี่ยว

Squid Game ในฐานะ ซอฟต์ พาวเวอร์ และคำถามว่า ใครควรแสดงความห่วงใยใคร ไม่ให้ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา?

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat