Humberger Menu

เปิด 5 มุมมองไลฟ์สไตล์/วัฒนธรรม ที่อาจนำไปสู่การปรับวิถีชีวิตใหม่อย่าง ‘มีหวัง’

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Everyday Life

Lifestyle

7 ม.ค. 65

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ในปี 2022 นี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปี ‘เสือ’ ที่ช่างดูน่าเกรงขามสำหรับใครต่อใคร วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกน่าจะยังคงต้องถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องเพราะโรคระบาดที่ไม่ได้หายไปไหน ทั้งการดำเนินชีวิตและการทำงานประจำวันที่ยังต้องมีมาตรการอันรัดกุม, การท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการเยียวยาตัวเอง และวงการสื่อบันเทิงโลกที่ต้องพยายามเปิดรับความหลากหลาย

...


ในปี 2022 นี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปี ‘เสือ’ ที่ช่างดูน่าเกรงขามสำหรับใครต่อใคร วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกน่าจะยังคงต้องถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องเพราะโรคระบาดที่ไม่ได้หายไปไหน (แถมยังกลายพันธุ์ได้ไม่มีที่สิ้นสุด) ทั้งการดำเนินชีวิตและการทำงานประจำวันที่ยังต้องมีมาตรการอันรัดกุม, การท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการเยียวยาตัวเอง, เมืองที่ออกแบบระบบระเบียบต่างๆ ขึ้นใหม่, วงการสื่อบันเทิงโลกที่ต้องพยายามเปิดรับความหลากหลาย และแฟชั่นที่หันมาใส่ใจในประเด็นละเอียดอ่อนรอบตัวมากขึ้น

แต่ถึงต้องเดินทางต่อไปใน ‘โลกใบใหม่’ ที่เราไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง เราก็ได้แต่หวังว่า ‘เสือ’ ตัวนี้ จะไม่ดุร้ายกับชีวิตของเราจนเกินไปนัก


(ที่มาภาพ : Microbizmag.co.uk) 

 

ทำงานแบบ ‘บ้านบ้าง-ออฟฟิศบ้าง’ เพื่อตั้งรับกับความไม่แน่นอน

เข้าปีที่สามแล้วที่ทั่วโลกตกอยู่ในการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 แม้จะมีช่วงที่สถานการณ์การระบาดดูดีขึ้น จนเริ่มสร้างความหวังให้บริษัทและองค์กรต่างๆ แต่การกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอย่างเต็มรูปแบบ ก็ดูเหมือนจะยังไกลห่างจากความเป็นจริง เนื่องด้วยตัวแปรสำคัญอย่างโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับสังคมโลกอีกครั้ง บวกกับการที่วัฒนธรรมการทำงานในปัจจุบันเองก็เปลี่ยนไปเป็นการ Work From Home มากขึ้น ราวกับเป็นของที่ระลึกที่โควิดได้ฝากไว้ 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและยากจะคาดเดา ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศที่ศึกษาเรื่องการจ้างงานและวัฒนธรรมการทำงาน ได้ประเมินแนวโน้มบางประการที่อาจพอจะทำให้เราเห็นหน้าค่าตาของ ‘ชีวิตการทำงาน’ ในปีนี้ได้บ้าง

สิ่งหนึ่งที่เราอาจได้เห็น คือการที่องค์กรต่างๆ เลือกใช้ ‘กลยุทธ์การจ้างงานที่เหมาะกับพนักงานแต่ละคน’ มากขึ้น เนื่องจากปีที่ผ่านมาโลกประสบกับภาวะ The Great Resignation หรือการลาออกของพนักงานระลอกใหญ่ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังสถานการณ์โควิดเริ่มซา ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องหาหนทางเพื่อรักษาจำนวนคนทำงานในองค์กรไว้

แอนโธนี คลอตซ์ รองศาสตราจารย์ด้านการจัดการ มหาวิทยาลัย Texas A&M สหรัฐอเมริกา ผู้คิดค้นคำว่า Great Resignation ให้ความเห็นว่า ในปี 2022 เราจะเห็นนายจ้างตอบสนองความต้องการของพนักงานมากขึ้น เพื่อดึงดูดพนักงานปัจจุบัน รวมถึงพนักงานที่มีผลงานดีเด่นจากบริษัทอื่นๆ และแทนที่จะใช้กลยุทธ์การจ้างงานแบบเดียวเพื่อดึงดูดพนักงานทั้งหมด บริษัทต่างๆ ได้เริ่มลงทุนทั้งเวลาและทรัพยากรเพื่อสร้างเส้นทางอาชีพที่เหมาะกับ ‘ความหลากหลาย’ ของพนักงานมากขึ้น ตลอดจนการให้ความสำคัญกับ ‘สุขภาพจิต’ ของคนทำงานที่อาจอยู่ในระดับแตกต่างกันไปด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้คนอยากรู้ คือเราจะได้กลับไปทำงานในที่ทำงานหรือออฟฟิศแบบเดิมไหม ซึ่งแม้จะยังมองไม่เห็นถึงความแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้ คือ ‘ที่ทำงานที่เดิมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป’ โดย นิโคลัส บลูม ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า บริษัทต่างๆ จะออกแบบการใช้ ‘พื้นที่’ ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของพนักงานแบบ ‘ไฮบริด’ (Hybrid) หรือการทำงานที่สามารถเลือกทำได้ ทั้งจากที่บ้าน หรือที่ออฟฟิศ 

บลูมเชื่อว่ารูปแบบการทำงานในยุคก่อนการระบาด จะไม่ตอบโจทย์พนักงานในปี 2022 อีกแล้ว องค์กรต่างๆ จะให้ความสำคัญไปที่การประสานงาน และพิจารณาความต้องการเมื่อพนักงานทำงานอยู่ร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้การทำงานแบบไฮบริดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น – อย่างไรก็ดี พื้นที่การทำงานจะไม่ได้ถูกลดขนาดลง แต่จะถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนทำงานยิ่งขึ้น เช่น การจัดพื้นแบบกว้างขวาง ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัด มีคนพลุกพล่าน หรือการเปลี่ยนสำนักงานให้เป็นพื้นที่สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น

สุดท้าย ขณะที่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ (เช่น วัคซีน หรือยารักษาโควิด-19) อาจทำให้เรากลับไปสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโรคระบาดได้ในไม่ช้า แต่ทุกคนต่างรู้ดีว่า เรากำลังอยู่ใน ‘เส้นทางที่เราไม่รู้’ เพราะการระบาดที่ผ่านมา บอกให้รู้ว่าอนาคตคือสิ่งที่อะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น วิถีการทำงานในปี 2022 นี้ ก็เช่นกัน 

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า คงเป็นการดีที่สุดที่จะรักษาความคาดหวังให้ต่ำเอาไว้ แม้ว่าเราจะยังต้องเดินหน้าเพื่อก้าวไปสู่ความ ‘ปกติสุข’ อีกครั้ง โดยสิ่งสำคัญก็คือ เราต้องรู้ว่าจะเดินไปข้างหน้าเมื่อไร หยุดตอนไหน และเริ่มต้นใหม่อย่างไรในสถานการณ์ที่เราไม่อาจคาดเดาได้ถัดจากนี้


(ที่มาภาพ : Central Park Tours NYC)

 

ใช้ ‘เมือง’ ให้ยืดหยุ่น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป ยังทำให้หลายคนได้ทบทวนเกี่ยวกับคุณค่าของ ‘เมือง’ เช่น การใช้พื้นที่สาธารณะ หรือความรู้สึกที่เรามีต่อการออกไปทำกิจกรรมข้างนอก ซึ่งแม้จะยังคาดการณ์ไม่ได้ว่า ปี 2022 จะเป็นปีที่ผู้คนได้ออกมาทำกิจกรรมมากขึ้นหรือไม่ แต่ ‘เมือง’ ย่อมมีลมหายใจเดียวกับผู้คนที่อาศัยอยู่ ตั้งแต่การให้ความสำคัญกับสุขภาพกาย-สุขภาพจิตมากขึ้น ไปจนถึงความต้องการพื้นที่แบบเปิดโล่ง ซึ่งให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ

การเพิ่ม ‘พื้นที่สีเขียว’ ในเมืองเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมานักต่อนักในอดีต และทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เพราะนอกจากการตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นแล้ว คนในยุคปัจจุบันยังมีความต้องการที่จะ ‘เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ’ เพราะค้นพบแล้วว่าสิ่งแวดล้อมรอบข้างสามารถช่วยเยียวยาสุขภาพจิตให้กับผู้คนได้ โดยเฉพาะในภาวะที่เราพยายามหยุดยั้งการแพร่ขยายของสุขภาพจิตที่เลวร้ายไปพร้อมๆ กับไวรัสเช่นนี้

เมื่อความต้องการพื้นที่สีเขียวมีมากขึ้น ประเด็นที่ถูกพูดถึงตามกันมาติดๆ คือ ‘การออกแบบที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศ' ซึ่งพื้นที่ในเมืองต่างๆ มักถูกออกแบบโดยให้ความสำคัญกับมนุษย์มากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ฉะนั้น โจทย์ที่ท้าทายของเมืองในปัจจุบันจึงเป็นความรอบคอบในการออกแบบและการใช้พื้นที่ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญให้มากพอๆ กับประโยชน์การใช้สอยของมนุษย์

นอกจากพื้นที่สีเขียวแล้ว ‘พื้นที่เปิดโล่ง’ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กันในยุคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้คนไม่ต้องการเสี่ยงภัย หรือไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไกล ผู้คนจึงยิ่งต้องการพื้นที่สาธารณะใกล้บ้านที่เปิดโล่ง รวมไปถึงการทำให้พื้นที่ ‘ยืดหยุ่น’ มากขึ้น หรือสามารถใช้สอยผ่านกิจกรรมที่หลากหลายได้ และที่สำคัญคือ พื้นที่ทำนองนี้ควรกระจายอยู่ตามชุมชน แบบที่ผู้คนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงด้วย

เพราะในยุคที่ผู้คนหลีกเลี่ยงการเข้าไปใช้ชีวิตในพื้นที่ที่มีผู้คนเยอะๆ แต่ขณะเดียวกันก็ยังเห็นถึงคุณค่าของการทำออกไปทำกิจกรรมข้างนอกบ้านหรือกลางแจ้ง ผู้คนมีแนวโน้มจะเลือกใช้สอยหรือทำกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ แบบ ‘ชั่วคราว’ มากขึ้น เช่น การเปิดห้องโรงแรมเพื่อทำงาน, การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างจุดออกกำลังกายที่มีให้เลือกหลากหลาย หรือการสรรหาพื้นที่ปิกนิกแบบง่ายๆ เป็นต้น 

แน่นอนว่านอกจากจะเป็นกระแสการใช้ชีวิตคนเมืองในวิถีใหม่แล้ว มันก็ยังถือเป็นกระแสที่นำมาซึ่งการสร้างรายได้ใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจต่างๆ ด้วย


(ที่มาภาพ : Giuseppe Milo)

 

ท่องเที่ยวเพื่อ ‘เยียวยา’ และเพื่อรู้จักที่จะใช้เวลา ‘ตามลำพัง’

เมื่อภาวะโรคระบาดทำให้วิถีชีวิตของคนทั่วโลกต้องเปลี่ยนผันไปอย่าง ‘น่าอึดอัด’ โดยเฉพาะในแง่ของการเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศ การปิดเมืองห้ามไปมาหาสู่ระหว่างกัน ไล่มาจนถึงมาตรการต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ขณะที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ล้วนส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของเราให้รู้สึกเครียดขึงอ่อนล้า 

ด้วยเหตุนี้จึงมีการคาดการณ์กันว่า แนวโน้มการเดินทางของพลเมืองโลกภายในปีนี้ (และปีถัดๆ ไป) น่าจะมุ่งเน้นไปที่การ ‘เยียวยา’ ตัวเองเป็นหลัก

เพราะก่อนหน้านี้ นักท่องเที่ยวในยุคก่อนโควิดมักนิยมการ ‘ปักหมุด’ และมุ่งหน้าไปรวมตัวกันตามสถานที่ยอดฮิตต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ตัวเองได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลกและสังคม หากแต่ในปัจจุบัน การแสวงหา ‘ความสงบสุขภายในตัวเอง’ คือสิ่งที่หลายคนเริ่มปฏิบัติกันมากขึ้นเมื่อได้มีโอกาสไปเที่ยว บ้างก็เน้นการเลือกที่พักและวิธีการเดินทางที่ไม่แออัดจอแจ (เพราะเมืองหลวงเริ่มไม่ใช่ที่ที่คนอยากไป มากเท่าชุมชนเล็กๆ หรือสถานที่กลางแจ้งตามธรรมชาติ) บ้างก็ใช้เวลาอยู่กับการละเลียดลิ้มรสอาหารดีๆ หรือการทำกิจกรรมเบาๆ ที่ทำให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย โดยปราศจากการรวมตัวเป็นกรุ๊ปทัวร์กันให้ต้องปวดหัวเหมือนเมื่อก่อน มีเพียงพวกเขากับสมาชิกครอบครัว หรือกระทั่งแค่พวกเขาตัวคนเดียว

ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวหลายรายทั่วโลก (เช่น เชนโรงแรม, รีสอร์ต) ก็เริ่มหันมาใส่ใจกับรายละเอียดที่จะช่วย ‘ดูแลสุขภาพ’ ของลูกค้ามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรคอร์สสปา-โยคะ, อุปกรณ์ฟิตเนส พร้อมคลาสสอนจากหน้าจอแบบเสมือนจริง, เมนูอาหารสุขภาพโฮมเมดสำหรับนักท่องเที่ยวถึงภายในห้องพัก เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัวที่เหมาะแก่การมาสงบจิตสงบใจ และบางทีก็ยังไปไกลถึงขั้นจัดเส้นทางชมธรรมชาติอันห่างร้างผู้คน เพื่อให้เดินเล่นสร้างสมาธิแบบส่วนตัวกันเลยก็มี

ในผลสำรวจล่าสุดของ American Express เผยว่า มีคนจำนวนถึง 76% ที่อยากใช้เวลาในการท่องเที่ยวไปกับการฟื้นฟูตัวเองให้ ‘ดีขึ้น’ จากการใช้ชีวิตอันเหนื่อยหนักท่ามกลางโรคระบาด และ 55% ยังบอกด้วยว่า พวกเขายอม ‘จ่ายแพงขึ้น’ เพื่อให้ได้มาซึ่งการทำกิจกรรมและการได้รับบริการบริการในลักษณะนี้ – ซึ่งเห็นได้จากการที่สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่พร้อมสรรพ จะมียอดจองคิวยาวไปอีกหลายเดือน 

อนึ่ง ในจำนวนนี้ มีทั้งคนกลุ่มที่ตั้งใจมาเที่ยวผ่อนคลายโดยเฉพาะ และคนกลุ่มที่มาเที่ยวพร้อมทำงานไปด้วย (Workcation) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเจเนอเรชัน ซี ที่เหนื่อยหน่ายกับการมีไลฟ์สไตล์แบบต้องติดแหง็กอยู่กับตารางชีวิตเดิมๆ

นอกจากนี้ อีกหนึ่งแนวโน้มการเดินทางที่น่าจะปรากฏชัดในความรู้สึกของผู้คนร่วมยุคสมัย ก็คือ หากได้มีโอกาสท่องเที่ยวอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้ง -ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางไปในประเทศที่เคยเป็นหมุดหมาย แต่ยังไม่สามารถไปได้เสียที- พวกเขาจะเลือกไปยังสถานที่ที่ ‘เจ๋งที่สุด’, ‘อยากไปที่สุด’ หรือ ‘ต้องไปเยือนให้ได้สักครั้งก่อนตาย’ มากกว่าจะเลือกเที่ยว ‘ทุกที่’ หรือ ‘ที่ไหนก็ได้’ เพื่อกวาดเก็บแต้มมาอวดกันเหมือนในยุคก่อนหน้า เพราะการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้พวกเขามีโอกาสเสี่ยงกับโรคระบาดที่อาจพ่วงติดมากับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น การปลีกตัวมาท่องเที่ยวเพื่อเยียวยาตัวเองกันตามลำพัง จึงน่าจะยังเป็นสิ่งที่นักเดินทางหลายคนเลือกทำต่อไป ตราบเท่าที่สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังไม่มีทีท่าว่าจะคลายลงเช่นนี้


Squid Game

 

เรื่องเล่าที่ไร้พรมแดน และสื่อบันเทิงโลกที่ถึงตัวไกล แต่หัวใจยิ่งใกล้กัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ปี 2021 ที่ผ่านมาจะเป็น ‘ปีแห่งโรคระบาด’ ที่ยังเลวร้ายสำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่มันก็นับเป็นปีที่เต็มไปด้วยสื่อบันเทิงที่น่าสนใจในมิติต่างๆ (อ่าน : รวมสื่อเยียวยาใจหลากสีสัน ที่อาจพาเรา ‘มูฟออน’ ได้ก่อนเปลี่ยนผ่านปี 2021โดยเฉพาะจากช่องทางสตรีมมิงที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถรับชมรับฟังได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งในปี 2022 นี้ ดูมีทีท่าว่าวงการบันเทิงโลกจะเติบโตต่อยอดไปในทิศทางดังกล่าวอย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะเมื่อโควิด-19 มีผลกระทบอยู่เช่นนี้ วิถีการเสพสื่อของผู้คนก็ยังคงต้องแบ่งรับแบ่งสู้ระหว่างการเข้าโรงภาพยนตร์-การไปคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรี กับการรับชมสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ จากที่พักอาศัย โดยมีอินเทอร์เน็ตและระบบสตรีมมิงเป็นหนทางหลัก เช่น Crunchyroll ศูนย์รวมอนิเมะ/มังงะ ที่มียอดคนลงทะเบียนเข้าชมพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมาถึงกว่า 5 ล้านแอ็กเคานต์ 

และก็ไม่เพียงแต่ฝั่งผู้ชมเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แต่ฝั่งผู้จัดงานเองก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการเผยแพร่ผลงานกันต่อไป รวมถึงการใช้นวัตกรรมต่างๆ มาผสมผสาน ยกตัวอย่างเช่น การจัดคอนเสิร์ตเสมือนจริง ทั้งผ่านทางหน้าจอ (เช่น Beyond Live ของบรรดาศิลปินไอดอลจากเกาหลีใต้) และผ่านการใช้เทคโนโลยีภาพเสมือนในสถานที่จริง (เช่น คอนเสิร์ตของวงระดับตำนานอย่าง ABBA ที่จะจัดในช่วงกลางปีนี้) หรือการจัดงานประกาศรางวัลใหญ่ๆ ที่แม้จะมีการใกล้ชิดกันได้อยู่บ้าง แต่การเว้นระยะห่างก็อาจยังต้องคงอยู่ต่อไป – เช่น งานประกาศผลลูกโลกทองคำ 2022 ที่จะไร้การเดินพรมแดงเหมือนปีที่ผ่านมา และมีการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น (แม้จะไม่ได้มีการถ่ายทอดสดอันสืบเนื่องมาจากการถอนตัวของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ท่ามกลางข้อพิพาทเรื่องจริยธรรมและความหลากหลายของผลรางวัลก็ตาม)

ในส่วนของเนื้อหา ก็แน่นอนว่า หลังจากการบุกทะลวงข้ามทวีปตลอดสองสามปีมานี้ของสื่อบันเทิงจากฝั่งตะวันออก -ที่เคยถูกคนตะวันตกมองด้วยสายตาที่ไม่เข้าใจ- จากการชนะออสการ์หนังเยี่ยมของหนัง Parasite จนถึงการกลายเป็นกระแสอันดับหนึ่งทั่วโลกของซีรีส์ Squid Game ซึ่งล้วนมาจากประเทศเกาหลีใต้ ก็น่าจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์เรื่องเล่าที่ ‘ไร้พรมแดน’ มากขึ้น ทั้งทางด้านภาษา, เชื้อชาติ และวัฒนธรรม และคงได้รับความนิยมจากผู้ชมหลากสัญชาติเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ 

ขณะที่ผู้สร้างเองก็จะเล็งเห็นถึงความแปลกใหม่และความงดงามของวัฒนธรรมที่ต่างกันมากกว่าที่เคย ซึ่งอาจส่งให้ผลงานชิ้นหนึ่งไม่จำเป็นต้องพูดภาษาใดภาษาหนึ่ง หรือยึดมั่นกับการเอาคุณค่าความหมายในวัฒนธรรมแค่แบบใดแบบหนึ่งมาเชิดชูอีกต่อไป – เช่นเดียวกับตัวทีมงานและนักแสดงเองที่ก็น่าจะมีความหลากหลายทางรูปลักษณ์, ทัศนคติ, รสนิยม, เพศสภาพ และชาติพันธุ์มากขึ้น

ที่สำคัญ คอนเทนต์ที่มาแรงและครองใจผู้คนอาจไม่ได้มาจากครีเอเตอร์รายใหญ่อีกต่อไป เพราะครีเอเตอร์รายย่อยจะค่อยๆ เข้ามาครอบครองส่วนแบ่งตลาดผู้เสพสื่อมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน ผู้คนเริ่มโหยหาคอนเทนต์ที่เสพได้ง่าย และมีความใกล้ชิดเชื่อมโยงกับพวกเขาได้ในระดับปัจเจก ชนิดที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเสมือน ‘เพื่อน’ ของพวกเขาจริงๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีโปรดักชั่นที่เลิศหรูหรือสมบูรณ์แบบแต่อย่างใด แถมพวกเขายังพร้อมจะจ่ายเงินสนับสนุนให้โดยตรงอีกเสียด้วย 

เห็นตัวอย่างได้จากช่องยูทูบประเภทต่างๆ เช่น ช่องรีแอ็กชั่นหนัง/ซีรีส์ที่ครีเอเตอร์ออกมาแสดงความคิดเห็นขณะรับชมสื่อเหล่านี้อย่างออกรส ราวกับเพื่อนที่ทั้งร่วมฟิน และร่วมด่า หรือช่องสอนทำ/โชว์กินอาหารแบบบ้านๆ ที่เน้นความเรียบง่ายและเรื่องราวที่ดำเนินไป ‘ตามจริง’ จนมีคนที่นิยมชมชอบมากดติดตามและมียอดวิวเป็นหลักแสนหลักล้าน – กระทั่งโซเชียลฯ ที่ฮิตขึ้นเรื่อยๆ อย่าง TikTok ที่สามารถสร้างความรื่นเริงบันเทิงใจให้แก่ผู้เสพสื่อทั่วโลก-โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่-ได้อย่างกว้างขวาง (โดยมียอดผู้ใช้ที่แอ็กทีฟต่อเดือนราว 1 พันล้านแอ็กเคานต์แล้ว) ซึ่งยังถือเป็นส่วนต่อขยายให้กับสื่อเก่าๆ อย่างหนังหรือรายการต่างๆ ได้ดีอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการคาดเดากันว่า สองสื่อบันเทิงที่น่าจะมาแรงสุดๆ ในปี 2022 คือ เกมบนคลาวด์ (Cloud Game) และพอดแคสต์ (Podcast) เนื่องจากสื่อแรกมีบทบาทอย่างมากในการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และเติมเต็มการได้เข้าสังคมกับคนหมู่มาก (ที่ทำได้ยากในช่วงโรคระบาด) จากคนรุ่นใหม่ที่นิยมเล่นเกมผ่านสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ดิจิทัลแบบพกพา โดยไม่ต้องใช้ฮาร์ดแวร์ แต่พึ่งพาคลาวด์อันเป็นพื้นที่สำหรับการเก็บและการประมวลผลข้อมูลบนโลกออนไลน์แทน 

ขณะที่สื่อหลังนั้น ก็สามารถเสพได้ง่ายและไม่ต้องโฟกัสอะไรมาก ซึ่งช่วยให้เราสามารถประกอบกิจกรรมอย่างอื่นไปด้วยได้ (เช่น ขับรถ, ทำงานบ้าน) โดยมีรายการน่าสนใจที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ และมีเอพพิโซดใหม่ๆ ให้ฟังกันได้ทุกวัน ซึ่งในสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ ว่ากันว่ามีพอดแคสต์มากกว่าสองล้านรายการ และมีประชากรที่เปิดฟังสื่อชนิดนี้มากถึง 55% เลยทีเดียว 

อย่างไรก็ดี ภายในปีนี้ ไม่แน่ว่าเราอาจพบกับสื่อบันเทิงรูปแบบใหม่ๆ นอกเหนือไปจากนี้ ที่น่าจับตา และเข้ามา ‘สร้างซีน’ ให้เราได้ตื่นเต้นกันอีกก็เป็นได้


MIU MIU's Spring-Summer Collection 2022 (ที่มาภาพ: miumiu.com)

 

แฟชั่นที่ตะโกนว่า ‘ฉันพร้อมจะกลับไปใช้ชีวิตแบบมีพลังบวกแล้ว!’ 

หนึ่งในสิ่งที่ผู้คนน่าจะคิดถึงมากที่สุดหลังผ่านคืนวันอันยาวนานของการอยู่แต่ในบ้าน คือการแต่งตัวออกไปข้างนอก แม้เราจะอยู่ในสถานการณ์ที่บอกไม่ได้ว่าจะได้หยิบชุดตัวเก่งออกไปเฉิดฉายหรือไม่ แต่ทิศทางของแฟชั่นในปี 2022 นี้ ก็มีเรื่องราวดีๆ และลูกเล่นน่ารักๆ ให้เราเห็นไม่น้อย

ช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจแขวนชุดทำงานเก็บไว้ริมตู้ เพราะหลายองค์กร Work From Home กันยาวๆ จนชุดทำงานอาจให้ความรู้สึกว่าเป็นชุด ‘แฟนซี’ ที่แทบไม่ได้ใส่ในชีวิตจริง แบรนด์ดังบางแบรนด์จึงหยิบไอเดียนี้มาเล่นสนุกบนรันเวย์ โดยนำชุดยูนิฟอร์มหรือชุดทำงานมาใส่ลูกเล่นและจริตให้ดูเหนือจริง อย่างคอลเลกชั่นสปริงซัมเมอร์ของ MIU MIU ก็นำเสนอลุคสเวตเตอร์ที่ถูกตัดจนสั้น กางเกงสแล็กเอวต่ำที่ถูกหั่นเหลือแค่ไม่กี่คืบ ถุงเท้าสีเทายาวถึงหน้าแข้งที่ใส่กับรองเท้าหนังเก๋ๆ เป็นต้น

ในขณะที่ MIU MIU เปลี่ยนชุดทำงานเดิมๆ ให้หวือหวา แต่ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงแฟชั่นบางคนก็คาดการณ์ว่าเทรนด์เสื้อผ้าที่คนจะกลับไปใส่ คือชุดสูทที่ใส่ได้ง่ายขึ้นในหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะกลับไปออฟฟิศ ออกไปจิบกาแฟในยามบ่าย หรือชุดเดินช็อปปิ้งช่วงสุดสัปดาห์

นอกจากการกลับไปมีชีวิตนอกบ้าน แฟชั่นในปีใหม่ยังอบอวลไปด้วยสปิริตเสริมพลังบวก โดยเฉพาะการโอบรับความหลากหลายและการนิยาม ‘ความงาม’ ที่แตกต่างกันไป เพราะเสื้อผ้าที่เราอาจพบเห็นในปี 2022 คือเสื้อผ้าที่ขับให้เห็นส่วนโค้งเว้าและมีส่วนที่เผยผิวเล็กๆ น้อยๆ เช่น เสื้อโชว์ไหล่ หรือเดรสที่เว้ามุมเล็กๆ บริเวณเอว เป็นลูกเล่นของดีไซน์ที่เปิดเผยความงามอย่างที่เจ้าของเรือนร่างเป็น และทำให้ผู้คนรู้สึกเป็นมิตรกับร่างกายตัวเองด้วย 

และแน่นอน สิ่งที่จะกลับมาฮิตเสมอในโลกของแฟชั่นคงหนีไม่พ้นเสื้อผ้าวินเทจ ในปี 2021 เทรนด์แฟชั่นย้อนยุคได้รับความนิยมแบบถล่มทลายและดูเหมือนว่าจะยังส่งไม้ต่อมายังปี 2022 ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นแบบ Y2K ที่ย่อมาจากคำว่า Year 2000 หรือแฟชั่นในยุคสองพัน ทั้งเสื้อครอปท็อป, เสื้อยืดสกรีนลายใหญ่ๆ, กางเกงเอวต่ำทรงหลวม, กระโปรงยีนสั้น, กิ๊บติดผม หรือเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาด 

กระทั่งแฟชั่นแบบย้อนยุคอย่างการใส่คอร์เซ็ต หรือเสื้อที่รัดบริเวณลำตัว ก็เป็นสิ่งที่ขายดิบขายดีในปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยความวินเทจเหล่านี้น่าจะมีลมหายใจต่อไปอีกในปีนี้ ผ่านการเล่นสนุกจากการปรับเสื้อผ้าสไตล์ย้อนยุคให้ทันสมัยและมีเอกลักษณ์มากขึ้นไปอีก

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ปี 2022 ไม่อาจขาดกระแสแฟชั่นที่เติบโตไปพร้อมกับความคิดของคนในสังคมได้ นั่นคือเสื้อผ้าประเภท ‘คราฟต์’ หรือเสื้อผ้าทำมือ เมื่อผู้คนตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม หลายคนย่อมต้องการบริโภคสินค้าที่พวกเขารู้ว่าคนทำคือใคร วิธีการผลิตนั้นเป็นธรรมกับสิ่งแวดล้อมและแรงงานหรือไม่ 

ที่สำคัญ เสื้อผ้าทำมือนั้นมักมีเอกลักษณ์และสร้างคุณค่าทางความรู้สึก ทำให้ผู้คนอยากเก็บรักษากันแบบข้ามกาลเวลา เชิดใส่เทรนด์ที่เปลี่ยนไปรายวัน แล้วยังนำกลับมาใส่ได้เรื่อยๆ อีกด้วย





Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

รักแท้ดูแลไม่ได้ : วางใจยังไงดี เมื่อ ‘เงินเดือน’ ที่มี ดีไม่พอจะดูแลใครๆ

กระแส Y2K กำลังมา! เมื่อการโหยหาอดีต ช่วยเยียวยาปัจจุบัน

ยากที่จะสู้ในตลาดแรงงาน พบ ‘คนพิการ’ 7 ใน 10 คนจากทั่วโลก ‘ไม่มีงานทำ’

สำรวจสุขภาพใจ ชาว ‘เดอะแบก’ เมื่อพ่อแม่ก็แก่เฒ่า ลูกเต้าต้องดูแล

ความรุนแรงอยู่รอบตัว ใช้ชีวิตโดยไม่หวาดกลัวได้อย่างไร

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat