ดูซีรีส์เกาหลี Crash Course in Romance แล้วหันมามองบาดแผล และการเยียวยาในครอบครัว
...
Summary
- Crash Course in Romance เล่าถึงชีวิตของ นัมแฮงซอน อดีตนักกีฬาแฮนด์บอลทีมชาติ ที่ต้องหยุดเรียนกลางคัน ละทิ้งความฝันมาเปิดร้านขายเครื่องเคียงเพื่อทำหน้าที่ดูแลครอบครัวแทนแม่ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยอุบัติเหตุ ครอบครัวของนัมแฮงซอนมีสมาชิก 3 คน คือ ตัวเธอ, นัมแจอู น้องชายที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม และนัมแฮอี หลานสาว ซึ่งพี่สาวแท้ๆ ของเธอนำมาทิ้งไว้และไม่เคยติดต่อกลับมา
- การถูกทอดทิ้งในวัยเด็กสร้างแผลใจให้แฮอีไม่น้อย เพราะถึงแม้น้าแฮงซอนจะดูแลเธอเป็นอย่างดี แต่บางครั้งแฮอีก็สงสัยคุณค่าในตัวเอง ซึ่งในซีรีส์ แฮอีเป็นตัวละครที่ถูกกระทำมากที่สุด แต่เธอกลับไม่เคยต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิ์ของตนเองสักครั้ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความรู้สึกว่า ตนเองไม่คู่ควรกับสิ่งดีๆ เพราะขนาดแม่แท้ๆ ยังไม่เห็นคุณค่าในตัวเธอเลย
- ขณะเดียวกัน แฮงซอนที่เคยเป็นนักกีฬาแฮนด์บอลทีมชาติดาวรุ่งในตอนนั้น ก็ถูกกระทบจากเรื่องนี้ไปด้วย เพราะเมื่อเกิดเรื่องไม่คาดคิด แฮงซอนต้องทั้งเรียน ฝึกซ้อม และทำงานเลี้ยงครอบครัวไปด้วย ชีวิตของเธอจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
- ครอบครัวจึงเปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้าน ทั้งด้านที่ทำร้าย และด้านที่เยียวยา อยู่ที่เราเลือกเป็นแบบใด จะเลือกอยู่เพื่อทำร้ายหรืออยู่เป็นแรงใจให้กัน อยู่เพื่อสร้างภาระหรืออยู่เพื่อรับผิดชอบ จะเลือกมองเห็นความดีหรือมองเห็นแต่ความผิดพลาด
...
หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยรายละเอียดของซีรีส์
วันที่ 14 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันครอบครัว ซึ่งแม้ครอบครัวจะเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม แต่ความสำคัญของครอบครัวนั้นไม่ได้เล็กตามไปด้วย เพราะหากจะกล่าวว่า ครอบครัวคือสถาบันแรกในชีวิตที่มีอิทธิพลต่อความคิดและตัวตนของคนคนหนึ่ง ก็คงไม่ผิดนัก
การเติบโตในครอบครัวที่มีสัมพันธภาพอันดี ทำให้คนเรามีภูมิคุ้มกันทางใจ ก้าวข้ามอุปสรรคที่เผชิญในชีวิตไปได้ หรือหากต้องเผชิญความผิดหวัง เสียใจ ครอบครัวก็ช่วยเยียวยาให้มีแรงลุกขึ้นสู้อีกครั้ง
ในทางกลับกัน อาจเป็นครอบครัวอีกเช่นกันที่ฝากบาดแผลในใจ สร้างปมในชีวิต เพราะเมื่อคนเราอยู่ร่วมกัน แม้จะมาจากครอบครัวเดียวกัน แต่ก็อาจมีความคิด ความเชื่อ พฤติกรรม ความคาดหวังที่ส่งผลกระทบต่อกันและกันได้ ครอบครัวจึงอาจเป็นทั้งสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุด และอันตรายที่สุดได้ในเวลาเดียวกัน
เพื่อให้เห็นภาพความสัมพันธ์อันหลากหลายภายในครอบครัว บทความนี้ชวนผู้อ่านมาสำรวจความสัมพันธ์ในครอบครัวผ่านตัวละครจากซีรีส์เกาหลี Crash Course in Romance ที่แม้จะเป็นแนวโรแมนติกคอมเมดี้ แต่ก็นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ได้อย่างครบถ้วนและกินใจ ทำให้เราเห็นทั้งความสวยงามและความอัปลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
Crash Course in Romance เล่าถึงชีวิตของ นัมแฮงซอน อดีตนักกีฬาแฮนด์บอลทีมชาติ ที่ต้องหยุดเรียนกลางคัน ละทิ้งความฝันมาเปิดร้านขายเครื่องเคียงเพื่อทำหน้าที่ดูแลครอบครัวแทนแม่ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยอุบัติเหตุ ครอบครัวของนัมแฮงซอนมีสมาชิก 3 คน คือ ตัวเธอ, นัมแจอู น้องชายที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม และ นัมแฮอี หลานสาว ซึ่งพี่สาวแท้ๆ ของเธอนำมาทิ้งไว้และไม่เคยติดต่อกลับมา
การร่วงหล่นจาก ‘ครอบครัว’ ที่คอยรองรับ
หากด้านที่สวยงามของครอบครัว คือสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างพ่อแม่ลูก ด้านที่ตรงข้ามและไม่สวยงามนัก ก็คงเป็นการถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง
นัมแฮอี คือเด็กสาวที่มีแผลใจจากการถูกทอดทิ้ง เมื่อ นัมแฮงจา แม่ของเธอไม่เพียงขาดความรับผิดชอบ แต่ยังขาดวุฒิภาวะที่จะสื่อสารด้วยเหตุผลอย่างที่ผู้ใหญ่พึงกระทำ แฮงจานำแฮอีมาทิ้งไว้หน้าร้านอาหารของครอบครัว และหนีไปโดยไม่ร่ำลา
แฮอีจึงเติบโตมาอย่างดีด้วยการดูแลของน้าแฮงซอน ซึ่งเธอเรียกว่า ‘แม่’ แต่แล้วจู่ๆ วันหนึ่ง แฮงจา แม่แท้ๆ ก็กลับเข้ามาในชีวิต ทำตัวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนทุกคนรู้สึกอึดอัด หนำซ้ำยังแอบโทร.ขอยืมเงินคนรักของแฮงซอนด้วย เมื่อแฮอีรู้เข้า เธอจึงผิดหวังอย่างมากกับการกระทำของแม่
“แม่ไม่รู้สึกผิดกับน้าบ้างเหรอ แม่เป็นคนไม่มีจิตสำนึกพื้นฐานอะไรแบบนั้นเลยเหรอ เพราะหนูกับน้าชาย น้าแฮงซอนเลยต้องเลิกเล่นกีฬา และไม่มีแฟน ต้องออกไปจ่ายตลาดแต่เช้ามาทำเครื่องเคียงขาย น้าต้องใช้ชีวิตแบบนั้นมาเป็นสิบปี แล้วเวลานั้นแม่ไปทำอะไรอยู่ที่ไหน มัวไปทำอะไรถึงโผล่มาป่านนี้ ทำไมถึงสร้างความเดือดร้อนแบบนี้”
แฮอีที่ปกติมักเก็บงำความรู้สึก เมื่อเห็นพฤติกรรมของแม่แท้ๆ เธอก็ทนไม่ไหวอีกต่อไป
การถูกทอดทิ้งในวัยเด็กสร้างแผลใจให้แฮอีไม่น้อย เพราะถึงแม้น้าแฮงซอนจะดูแลเธอเป็นอย่างดี แต่บางครั้งแฮอีก็สงสัยคุณค่าในตัวเอง ซึ่งในซีรีส์ แฮอีเป็นตัวละครที่ถูกกระทำมากที่สุด แต่เธอกลับไม่เคยต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิ์ของตนเองสักครั้ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่อยากให้น้าต้องลำบากเพราะเธออีก แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นเพราะความรู้สึกว่า ตนเองไม่คู่ควรกับสิ่งดีๆ เพราะขนาดแม่แท้ๆ ยังไม่เห็นคุณค่าในตัวเธอเลย
การถูกทอดทิ้งในวัยเด็กสร้างแผลใจให้แฮอีไม่น้อย เพราะถึงแม้น้าแฮงซอนจะดูแลเธอเป็นอย่างดี แต่บางครั้งแฮอีก็สงสัยคุณค่าในตัวเอง ซึ่งในซีรีส์ แฮอีเป็นตัวละครที่ถูกกระทำมากที่สุด แต่เธอกลับไม่เคยต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิ์ของตนเองสักครั้ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่อยากให้น้าต้องลำบากเพราะเธออีก แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นเพราะความรู้สึกว่า ตนเองไม่คู่ควรกับสิ่งดีๆ เพราะขนาดแม่แท้ๆ ยังไม่เห็นคุณค่าในตัวเธอเลย
การศึกษาในต่างประเทศพบว่า ผลเสียระยะยาวของการถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก คือการเติบโตขึ้นมาพร้อมความรู้สึกไม่มั่นคง หรือวิตกกังวลอย่างมากในความสัมพันธ์ มักกลัวว่าตนเองจะถูกทิ้ง มีความนับถือตนเองต่ำ รู้สึกสงสัยในคุณค่าของตนเอง พยายามทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ และมักหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้า
แต่สำหรับแฮอี ในความ ‘โชคร้าย’ ที่ถูกทอดทิ้ง ก็ยังมี ‘โชคดี’ อยู่บ้าง นั่นคือ เธอได้รับความรักและความเข้าอกเข้าใจจากน้าแฮงซอนอย่างเต็มที่ ถึงแม้เธอจะไม่เคยต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเอง แต่น้าแฮงซอนก็ทำหน้าที่นั้นแทนอย่างไม่ย่อท้อ
หากแม่คือผู้สร้างบาดแผลในใจของแฮอี น้าแฮงซอนก็คงเป็นยาสมานแผลที่ทำให้เธอมีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตอย่างดี ยิ่งในฉากที่แม่ของแฮอีกลับมา แล้วแสดงพฤติกรรมไร้วุฒิภาวะ ก็ยิ่งตอกย้ำว่า การไม่ได้เติบโตมากับแม่อย่างแฮงจา อาจเป็นโชคดี เหมือนกับที่แฮอีกล่าวกับน้าแฮงซอนว่า
“หรือว่าพระเจ้ายุติธรรมนะ ท่านมอบความโชคร้ายอย่างหนึ่งให้ แล้วก็แอบยื่นความโชคดีมาให้ด้วยนี่นา”
ในโลกความจริง หลายครอบครัวก็อาจเป็นเช่นนี้ มีบางคนทำเรื่องแย่ๆ สร้างบาดแผลในใจให้กันไม่หยุด บางครั้งเราก็ไม่อาจเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงทำ เหมือนกับที่เราไม่รู้ว่า เพราะอะไรแฮงจาถึงทิ้งลูกไปและทำตัวน่าละอายเช่นนั้น
ขณะเดียวกันก็มักมีใครบางคนในครอบครัวเช่นกัน ที่พร้อมเยียวยารักษาไม่ให้บาดแผลจากการถูกทอดทิ้งเลวร้ายเกินไป
ความฝันที่สูญหายใน ‘ครอบครัว’ ที่สร้างฝันขึ้นมาใหม่
ขณะที่แฮอีโชคดีมีน้าแฮงซอนคอยโอบอุ้มไว้ไม่ให้บุบสลายเกินไปจากการถูกแม่ทอดทิ้ง แต่แฮงซอนเองกลับต้องแบกทุกคนไว้บนบ่า ทั้งแฮอี หลานสาว และแจอู น้องชายที่มีภาวะแอสเพอร์เกอร์
ย้อนกลับไป ชีวิตแฮงซอนกำลังไปได้ดี เธอเป็นนักกีฬาแฮนด์บอลทีมชาติดาวรุ่ง แต่เมื่อเกิดเรื่องไม่คาดคิด แฮงซอนต้องทั้งเรียน ฝึกซ้อม และทำงานเลี้ยงครอบครัวไปด้วย ชีวิตของเธอจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
“อีกแล้วเหรอ คราวก่อนเธอก็ขาดซ้อมเพราะใครสักคนป่วย” แฮงซอนถูกโค้ชต่อว่า เมื่อขอลาหยุด
“คราวก่อนน้องชายต้องไปตรวจสุขภาพ แต่คราวนี้เป็นหลานหนูค่ะ”
“นี่! นัมแฮงซอน เธอเห็นที่นี่เป็นศูนย์สวัสดิการเหรอ แกเป็นแค่หลาน ไม่ใช่ลูกนี่ ถ้างั้นก็เลือกมาสักอย่างเถอะ หลานหรือแฮนด์บอล”
“ถ้าอย่างนั้นหนูขอเลิกเล่นแฮนด์บอลค่ะ”
นัมแฮงซอนตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยว ทิ้งความฝันและความสามารถด้านกีฬา เพราะมองเห็นความจริงว่าตัวเธอคงมาไกลได้แค่นี้ หากเธอเลือกตามความฝันของตัวเอง หมายความว่าเธอต้องทอดทิ้งน้องชายและหลานตามยถากรรม ซึ่งเธอทำเช่นนั้นไม่ได้ หลังจากตัดสินใจแล้ว แฮงซอนก็เปิดร้านขายเครื่องเคียงหาเลี้ยงครอบครัว ทำงานหนักจนไม่มีแฟน เพราะแค่ทำมาหากินและคอยตามดูแลแก้ปัญหาให้กับแจอู ผู้เป็นน้องชาย ก็หมดเวลาแล้ว
ในโลกความจริง หลายครอบครัวก็อาจเป็นเช่นนี้ มีบางคนทำเรื่องแย่ๆ สร้างบาดแผลในใจให้กันไม่หยุด ขณะเดียวกันก็มักมีใครบางคนในครอบครัวเช่นกัน ที่พร้อมเยียวยารักษาไม่ให้บาดแผลจากการถูกทอดทิ้งเลวร้ายเกินไป
ยิ่งเมื่อแฮอีใกล้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็เป็นแฮงซอนอีกนั่นแหละ ที่ต่อสู้แย่งชิงเพื่อให้หลานสาวได้กวดวิชากับติวเตอร์อันดับหนึ่งของประเทศ
“ถ้าชีวิตเธอไม่พิเศษ แล้วชีวิตใครจะพิเศษได้อีก มีน้องที่ป่วย แล้วยังมีหลานที่พี่สาวทิ้งไว้อีก พูดตามตรง นอกจากที่ไม่ได้ให้แกกินนมแล้ว เธอก็ไม่ต่างอะไรจากแม่เลย ถึงขั้นต้องลาออกจากทีมชาติ เลิกเล่นกีฬา ไม่มีใครทำแบบเธอได้หรอก ฉันน่ะนับถือเธอจริงๆ” เพื่อนของแฮงซอนปลอบใจ เมื่อแฮงซอนรู้สึกผิดที่ไม่เคยรู้ว่าหลานสาวอยากเรียนกวดวิชา
“ฉันสมควรได้รับการนับถือเหรอ ยังบกพร่องอีกเยอะ” แฮงซอนไม่เชื่อว่าตัวเองจะทำเพื่อหลานได้ดีเหมือนบรรดาแม่แท้ๆ ที่ทำทุกทางเพื่อให้ลูกได้เข้าเรียนกวดวิชา
“คนเป็นแม่ยังทำพลาดได้ แต่อย่างน้อยตอนนี้รู้แล้ว ก็สนับสนุนแฮอีได้นะ” คำพูดให้กำลังใจจากเพื่อน ช่วยจุดประกายให้แฮงซอนพร้อมจะทุ่มเทเพื่อหลานอย่างเต็มที่อีกสักตั้ง และนั่นก็กลายเป็นเป้าหมายใหม่ในชีวิตของนัมแฮงซอน
หลายครั้งชีวิตอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้เราหลุดออกจากเส้นทางที่ตั้งใจไว้ ภาระหน้าที่และความจำเป็นบางอย่าง อาจทำให้ต้องละทิ้งความฝัน เพื่อรักษาสิ่งที่สำคัญกว่าในชีวิต นั่นก็คือ คนในครอบครัวที่เรารัก
การละทิ้งความฝันเพื่อครอบครัว จะมองว่าเป็นเรื่องร้ายที่กลายเป็นแผลใจก็ย่อมได้ แต่จะมองว่าเป็นเรื่องดีๆ ที่ช่วยฮีลจิตใจก็ได้อีกเช่นกัน เพราะหากการเลือกความฝันของตัวเอง ทำให้เราต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว แม้ประสบความสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นจะมีคุณค่าอะไรหากไม่มีใครร่วมชื่นชมยินดี
สถานการณ์อาจทำให้นัมแฮงซอนต้องเลือกด้วยความจำเป็น เพราะเมื่อมีคนหนึ่งไร้ความรับผิดชอบ คนหนึ่งต้องรับผิดชอบมากขึ้นเสมอ แต่เมื่อเลือกแล้ว การยอมรับผลที่ตามมาอย่างยินดีและเต็มใจ โดยไม่คิดน้อยอกน้อยใจโทษโชคชะตา หรือโทษหาคนผิด ซึ่งจะยิ่งบั่นทอนจิตใจตัวเอง ก็น่าจะทำให้เรามีความสุขกับชีวิตได้มากกว่า เหมือนกับที่แฮงซอนใช้เป้าหมายเพื่อครอบครัวเป็นแรงผลักดันในการดำเนินชีวิต ทำให้หลานและน้องชายดูแลตนเองได้ ในที่สุดก็ยังไม่สายที่เธอจะทำตามความฝันครั้งใหม่ด้วยการเป็นโค้ชฝึกสอนกีฬา
ครอบครัวเปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้าน ทั้งด้านที่ทำร้าย และด้านที่เยียวยา อยู่ที่เราเลือกเป็นแบบใด จะเลือกอยู่เพื่อทำร้ายหรืออยู่เป็นแรงใจให้กัน อยู่เพื่อสร้างภาระหรืออยู่เพื่อรับผิดชอบ จะเลือกมองเห็นความดีหรือมองเห็นแต่ความผิดพลาด
อย่างไรก็ตาม ชีวิตจริงอาจไม่ได้ฟีลกู๊ดเหมือนในซีรีส์ การเดินทางที่ไม่รู้ว่าจะพบตอนจบที่แฮปปี้เอนดิ้งหรือเปล่า อาจทำให้คนเรากดดัน ยิ่งหากต้องแบกรับภาระมากมายที่เราไม่ได้เป็นคนก่อ ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจย่อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งเราอาจเลือกมองเพียงด้านโชคร้ายของโชคชะตา แล้วใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างทุกข์ทนก็ย่อมได้ หรือจะเลือกมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อตั้งเป้าหมายอย่างมีความหวังก็ได้เช่นกัน
ครอบครัวจึงเปรียบเสมือนเหรียญที่มีสองด้าน ทั้งด้านที่ทำร้าย และด้านที่เยียวยา อยู่ที่เราเลือกเป็นแบบใด จะเลือกอยู่เพื่อทำร้ายหรืออยู่เป็นแรงใจให้กัน อยู่เพื่อสร้างภาระหรืออยู่เพื่อรับผิดชอบ จะเลือกมองเห็นความดีหรือมองเห็นแต่ความผิดพลาด
เหมือนกับที่เพื่อนของแฮอีปลอบใจเธอว่า
“เราเลือกพ่อแม่ก่อนเกิดไม่ได้นี่นา พวกเราทำได้แค่พยายามเป็นคนที่ดีกว่าพวกท่าน”
ครอบครัวก็เช่นกัน เราเลือกครอบครัวไม่ได้ แต่เราเลือกสร้างครอบครัวแบบที่ไม่ทำร้ายกันได้ เหมือนกับที่นัมแฮงซอนเลือกสร้างครอบครัวที่ดี ที่อาจไม่ต้องมีพ่อแม่ลูกตามคำนิยาม แต่เป็นครอบครัวที่ช่วยเยียวยาบาดแผลซึ่งกันและกัน
เพื่อให้แต่ละคนออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้างได้โดยไม่บุบสลายมากเกินไปนัก
อ้างอิง : talkspace.com
