Humberger Menu

ปลุกความหวังก่อนออกไปเลือกตั้งใน #ทราบแล้วโหวต นิทรรศการที่ชวนนักออกแบบเล่าเรื่องผ่านโปสเตอร์

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Everyday Life

Travel

Lifestyle

27 เม.ย. 66

creator
ปวีณ์กานต์ อินสว่าง
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • BANGKOK THROUGH POSTER ร่วมกับ iLaw ร่วมกันจัดงานที่เปิดโอกาสให้คนทำงานสร้างสรรค์ได้ร่วมกันส่งเสียงสะท้อนปัญหาสังคมผ่านการออกแบบโปสเตอร์ โดยงานคราวนี้มาในธีม Election Through Poster 2023 ‘#ทราบแล้วโหวต’ รับบรรยากาศก่อนเลือกตั้ง จัดแสดงอยู่ที่ Kinjai Contemporary แกลเลอรีย่านบางพลัด
  • ภายในงานมีผลงานของศิลปิน นักออกแบบ และคนทำงานสร้างสรรค์จำนวนถึง 66 ชิ้น แต่ละคนต่างออกแบบโปสเตอร์เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันออกไปกำหนดอนาคตของประเทศ และยังมีนิทรรศการย่อยจาก พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History ที่รวบรวมสิ่งของเกี่ยวกับการหาเสียง เพื่อย้อนดูคำสัญญาที่พรรคการเมืองต่างๆ เคยให้ไว้

...


อีกเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ ก็จะถึงเวลาที่อำนาจในการเลือกคนมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ จะกลับมาอยู่ในมือประชาชนคนไทยอีกครั้ง 

เพื่อรณรงค์ให้คนไทยออกมาจรดปากกาใช้สิทธิเลือกตั้ง BANGKOK THROUGH POSTER โปรเจกต์ที่เปิดโอกาสให้คนทำงานสร้างสรรค์ได้ร่วมกันส่งเสียงสะท้อนปัญหาสังคม แสดงความคิดเห็นผ่านการออกแบบโปสเตอร์ จึงจัดงานแสดงขึ้นที่ Kinjai Contemporary แกลเลอรีย่านบางพลัด

กลับมาในรอบ 3 ปีทั้งที โปรเจกต์ครั้งนี้จึงเล่นใหญ่กว่าเดิม เพราะได้ iLaw โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน มาเสริมทัพ เกิดเป็นธีม Election Through Poster 2023  ‘#ทราบแล้วโหวต’ ซึ่งภายในงาน นอกจากจะมีผลงานจากศิลปิน นักออกแบบ ที่ได้รับเชิญมาร่วมจัดแสดง งานนี้ยังเปิดรับผลงานการออกแบบโปสเตอร์จากศิลปิน นักออกแบบ และคนทำงานสร้างสรรค์ที่สนใจ มาจัดแสดงรวมทั้งสิ้นจำนวน 66 ชิ้น



ชั้นล่างของ Kinjai Contemporary ถูกปรับเปลี่ยนใหม่ให้เป็นเหมือนคูหาเลือกตั้งที่มีป้ายบอกเลขเบอร์ของสมาชิกแต่ละพรรค พร้อมบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งให้กาเลือก ส.ส. เขต อีกใบให้กาเลือกพรรค ไว้จำลองฝึกฝนวิธีการกาคะแนนก่อนวันจริง พร้อมกล่องลงคะแนนให้หยอดกันจริงๆ  

โดยในส่วนแรกสุดนี้เองจะมีการแจกคู่มือเลือกตั้งจาก iLaw ให้นำกลับไปอ่านเพื่อเตรียมความพร้อมด้วย (ดาวน์โหลดได้ ที่นี่)



เดินขึ้นบันไดไปเพียงหนึ่งชั้น ที่ชั้นลอยของนิทรรศการถูกแบ่งมุมไว้สำหรับนิทรรศการพิเศษจากพิพิธภัณฑ์สามัญชน ที่ชื่อ ‘เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกสี่ปี’ ซึ่งรวบรวมเอาใบปลิวหาเสียง ข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์มาบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นจริง ย้อนดูคำสัญญาที่พรรคการเมืองต่างๆ เคยให้ไว้ เช่น ป้ายหาเสียงของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แบนเนอร์เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่ รวมถึงคำสัญญาใหม่ๆ ที่หลากหลายพรรคกล่าวไว้ก่อนวันเลือกตั้งที่จะถึงนี้

นอกจากนี้ยังมีการรวมเอาบัตรเลือกตั้งที่ใช้ในปีก่อนๆ มาจัดแสดงให้เห็น ว่าระบบการเมืองไทยแทบจะไม่เคยมีความแน่นอนเลยสักครั้ง นับตั้งแต่บัตรขาวในปี 2475 ที่ใช้เพียงกระดาษเปล่าในการโหวต บัตรเลือกตั้งของปี 2550 ที่ต้องใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ในการเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต และเลือก ส.ส. แบบสัดส่วนตามรายชื่อพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งของปี 2554 และ 2557 ที่ต้องใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ในการเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตตามรายชื่อของพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้ง และเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ตามรายชื่อของผู้สมัคร และบัตรเลือกตั้งของปี 2562 ที่ถูกเปลี่ยนใหม่อีกครั้ง ให้ใช้เป็นบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบ ที่สามารถเลือกได้ทั้ง ส.ส. และพรรคการเมือง 

(ใช่ค่ะ หากจำที่เราเล่าไปด้านบนได้ บัตรเลือกตั้งของปี 2566 ก็ถูกเปลี่ยนรูปแบบ กลับมาใช้สองใบอีกแล้ว ใบหนึ่งให้กาเลือก ส.ส. เขต อีกใบให้กาเลือกพรรค ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจำเลขเบอร์ผู้สมัครที่ต้องการเลือกเป็น ส.ส. เขตให้ดี เพราะหากอยู่ต่างเขต ก็ต่างเบอร์กันนะ)



‘เรามองเห็นความหวัง’ อาจไม่ฟังดูเกินจริงไปนัก หากจะใช้คำนี้บรรยายความรู้สึกครั้งแรกเห็นโปสเตอร์กว่าหลายสิบใบที่ติดเรียงรายเต็มผนังแกลเลอรีทั้งสองด้าน

ต่างใบ ต่างเทคนิค ต่างรูปแบบ แต่ศิลปินล้วนออกแบบโดยมีแกนหลักเดียวกันคือเชิญชวนให้ประชาชนผู้มีสิทธิ มีเสียงในการเลือกตั้งออกมาใช้คะแนนโหวต 

บ้างทำเป็นเกมกระดาน บอกเล่าว่าแม้ความหวังของประชาชนในประเทศ จะถูกคนบางกลุ่มทำเหมือนนี่เป็นเพียงเกมเกมหนึ่ง แต่การเลือกตั้งก็นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาพลิกเกมได้ บ้างออกแบบเป็น Typography นำสัญลักษณ์ X ที่ใช้ในการลงเสียง มาออกแบบเป็นคำว่า โหวต บ้างเล่าผ่าน data visualization นำข้อมูลมาจัดเรียงให้เห็นภาพว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคไหนคว้าชัยในการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ละพื้นที่ 

และบ้างก็ใช้กระแสที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยมอย่าง Y2K มาสื่อสาร ให้ฐานเสียงคนสำคัญอย่างกลุ่มเด็กและเยาวชนออกมาใช้สิทธิ กำหนดอนาคตของประเทศด้วยตัวของพวกเขาเอง

โปสเตอร์แต่ละแผ่นไม่ได้แสดงให้เราเห็นถึงความเก่งกาจในการออกแบบเพียงอย่างเดียว แต่ยังแสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนที่เห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง เชื่อว่าการเลือกตั้งคือวิธีการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยปราศจากความรุนแรง และเห็นผลลัพธ์ได้โดยตรง



เมื่อเดินขึ้นมาที่ชั้น 4 จะเจอกับห้องเล็กๆ ที่ภายในมีตัวเลขที่ส่งผลกับการเลือกตั้งจัดแสดงอยู่ โดยที่เราสามารถหยิบกระดาษที่อยู่หลังตัวเลขนั้นๆ ขึ้นมาอ่านหาคำตอบได้ 

ส่วนนี้เป็นส่วนที่เราชอบมากที่สุดในนิทรรศการ เพราะแม้กลวิธีนำเสนออาจดูเรียบง่าย มีเพียงกระดาษไม่กี่แผ่นติดอยู่บนผนัง แต่ก็เป็นส่วนที่สามารถสื่อสารข้อมูลต่างๆ ให้คนเข้าใจได้ดี เมื่ออ่านจบเราจึงได้รับทราบข้อมูลที่ควรต้องรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้กลับไปเพียบ เช่น เลข 2 หมายถึง ระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ให้ ‘เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ’ 

บัตรใบแรก เลือก ส.ส. เขต เป็นตัวแทนของพื้นที่ที่เราอยู่ 

บัตรใบที่สอง เลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือเลือกพรรคที่มีนโยบายตรงใจ 

และส่วนสำคัญที่ต้องจำให้ดีคือ เบอร์ของ ส.ส. แต่ละเขตจะไม่เหมือนกัน ต้องจำเบอร์ไว้ให้แม่น เพราะที่ใบเลือกตั้งไม่มีชื่อให้ ส่วนเบอร์ของ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์จะเหมือนกันทั้งประเทศ ดูชื่อพรรค หรือโลโก้พรรคก่อนกาได้



เลข 14 หมายถึง วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 คือวันเลือกตั้ง ส.ส. นับเป็นวันสำคัญที่เราทุกคนจะได้ร่วมกันกำหนดอนาคตของประเทศ เป็นโอกาสเดียวที่จะออกจากระบอบการเมืองที่ คสช. วางไว้

เลข 5 หมายถึง ความไม่ปกติในระบบการเมืองไทย ที่นับตั้งแต่ปี 2548, 2550, 2554, 2562 และปัจจุบันปี 2566 เราใช้ระบบเลือกตั้งไม่เหมือนกันเลยสักครั้ง บ้างถูกเปลี่ยนใหม่โดยคณะรัฐประหาร บ้างถูกเปลี่ยนโดยสภาจากการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร ยังไม่นับรวมถึงการเลือกตั้งอีกสองครั้งระหว่างนี้ที่ประชาชนไปออกเสียงแล้วแต่ถูกสั่งให้เป็น โมฆะ 

เลข 376 หมายถึง จำนวนเสียงที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยต้องการ กล่าวคือ เมื่อรวมจำนวน ส.ส. 500 คน กับ ส.ว. 250 คน จะทำให้ในสภามีที่นั่งทั้งหมด 750 ที่นั่ง ซึ่งคนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง จะต้องได้เสียงสนับสนุนจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ‘เกินครึ่ง’ 

ครึ่งหนึ่งของ 750 เท่ากับ 375 ที่นั่ง เมื่อต้องการเสียงเกินครึ่ง จึงเท่ากับแต่ละพรรคต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงคะแนนมา 376 เสียง โดยฝ่ายที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ อาจมีเสียง ส.ว. อยู่แล้ว 250 เสียง หา ส.ส. อีกเพียง 126 เสียงก็เพียงพอ แต่ฝ่ายที่จะไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ไม่มีเสียง ส.ว. อยู่เลย จึงต้องหา ส.ส. อีกถึง 376 เสียง



ในชั้นเดียวกันนี้ ยังมีผลงานโปสเตอร์ให้เดินชมต่อด้วย โดยที่หลายๆ ชิ้นก็เป็นผลงานจากกลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่าง ‘prachathipatype’ ที่สร้างสรรค์บัตรเลือกตั้งออกมาเป็นคำว่า ความเปลี่ยนแปลง ‘ทะลุฟ้า’ ที่ใช้คำกลอนมาร่วมอยู่ในงานออกแบบ และ ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ที่นอกจากจะนำเสนอรูปภาพได้กระแทกใจ คำบรรยายข้างรูปที่บอกว่าตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุม และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,898 คน และในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ไปแล้วกว่า 284 คน ก็ทำให้สะเทือนอารมณ์อยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ ยังมีผลงานจากกลุ่มคนในแวดวงดีไซน์อย่าง ‘TNOP’ เจ้าของสตูดิโอออกแบบที่นำสัญลักษณ์พีระมิดมาใช้อธิบายถึงบริบทของการเมืองไทยที่ระบบการปกครองมีลักษณะของการควบคุมจากบนลงล่าง ทำให้ไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ที่การบริหารประเทศล้าหลังและไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่อำนาจจะกลับมาสู่ประชาชนได้ก็ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ และ ‘Cudson Demak’ ที่ใช้การออกแบบ Typography ซึ่งถือเป็นลายเซ็นของบริษัทมาชวนคนออกมา กาเครื่องหมายผิด เพื่อเลือกคนที่ถูก



ผลงานที่เราชอบไอเดียเป็นพิเศษในบรรดาผลงานทั้งหมดบนชั้นนี้ คือผลงานของ ‘Pare Patcharapa’ ที่ใช้สีฝุ่นวาดขึ้นมา เพราะต้องการสื่อถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ผลงานของ ‘Ctypemag’ ที่หยิบเรื่องการกินลูกชิ้นทอดในที่ชุมนุมมาพูดถึง ผลงานของ ‘Poon Patchanakase’ ที่ทำเป็นไดอะแกรมโปสเตอร์ ชวนคนมายืนทบทวนความคิด พร้อมตอบคำถามว่า ทำไมเราจึงควรไปเลือกตั้ง? และด้วยความที่เธอมีชื่อด้านการนำชุดข้อมูล data มาเล่าเรื่อง ด้านล่างของโปสเตอร์จึงมี ไทม์ไลน์ตลอด 91 ปี ประชาธิปไตยไทย ประกอบให้เห็นความเป็นมาเป็นไป รวมถึงอนาคตของการเมืองไทยรวมอยู่ด้วย 

หรืออย่างผลงานของ ‘Beanslab’ ก็นำความมูเตลูเข้ามาผสม ทำเป็น ยันต์นางกวัก กวักเรียกสิทธิและสวัสดิการให้กับประเทศไทย

ส่วนท้ายสุดของนิทรรศการอยู่ที่ชั้นสุดท้าย ซึ่งออกแบบไว้ให้เป็นพื้นที่ขายของ ในวันที่เราไป (วันเปิดงาน) แม้จะมีร้านค้าไม่มากมาย แต่ก็นับว่าของที่นำมาขายน่าเลือกซื้ออยู่ทีเดียว มีทั้งสติกเกอร์ไว้แปะย้ำจุดยืนด้านประชาธิปไตย หนังสือเสริมความรู้ และเสื้อผ้า

แต่หากอยากสัมผัสความคึกคักแนะนำให้มาในวันสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ (29-30 เมษายน) เพราะจะมีตลาดไซส์มินิ ที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดให้ร้านค้าทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นงานอาร์ต งานคราฟต์ ของที่ระลึก สินค้ามือสอง อาหาร เสื้อผ้า เครื่องดื่ม มาจับจองพื้นที่ พร้อมกันนั้นยังมีกิจกรรมมากมายในงาน ไม่ว่าจะเป็น วงเสวนา กิจกรรมฉายหนังจาก Doc Club & Pub. และดนตรีสดที่จะจัดขึ้นพร้อมๆ กันด้วย



นิทรรศการจะจัดแสดงถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ ไปรับพลังและจุดประกายความหวังว่าเราเองก็สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ ก่อนใช้สิทธิเลือกตั้งกัน 

Kinjai Contemporary อยู่ใกล้กับ MRT สิรินธร ทางออก 1 เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11:00-19:00 น. 



Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat