Fast Fashion ช็อปล้างโลก นิทรรศการที่พาเราบุกสุสานเสื้อผ้า ส่องผลกระทบของการช็อป
...
Summary
- นิทรรศการ Fast Fashion ช็อปล้างโลก นิทรรศการที่จะทำให้เราเปิดหู เปิดตา และรับรู้ว่าพวกเราเองก็เป็นหนึ่งในตัวการทำลายล้างโลกอยู่ทุกวัน ผ่านพฤติกรรมการช็อปไม่ยั้ง จัดแสดงที่มิวเซียมสยามถึงวันที่ 3 ธันวาคมนี้
...
หากทุกคนได้เห็นกองเสื้อผ้ามือสองไม่ผ่านเกณฑ์ที่มีคนบริจาคให้กับมูลนิธิกระจกเงาวางพะเนินเต็มขั้นบันไดหน้าโถงทางเข้า มิวเซียมสยาม แล้วรู้สึกช็อก เราชวนให้ลองคิดต่อไปถึงกองสุสานเสื้อผ้าในประเทศเฮติ ประเทศเคนยา หรือแม้แต่ประเทศชิลี ที่เป็นสถานที่สำหรับทิ้งเสื้อผ้าของโลกนี้ดูสิ
จากนั้นลองจินตนาการต่ออีกนิด คิดภาพว่าเสื้อผ้าที่ถูกส่งไปที่นั่นหลายครั้งก็เป็นเพียงแค่เสื้อผ้าคุณภาพดีและยังไม่เคยถูกใช้เลยสักครั้ง เพียงแต่ขายไม่ออกเพราะตกรุ่นไปแล้ว แต่พวกมันก็มีจำนวนมากถึงปีละ 59,000 ตัน
เราขอเรียนเชิญให้เลี้ยวขวาเข้ามาช็อกต่อที่ นิทรรศการ Fast Fashion ช็อปล้างโลก นิทรรศการที่จะทำให้เราเปิดหู เปิดตา และรับรู้ว่าพวกเราเองก็เป็นหนึ่งในตัวการทำลายล้างโลกอยู่ทุกวัน ผ่านพฤติกรรมการช็อปไม่ยั้ง
เมื่อเข้าไปจะเจอกับโซนแฟชั่นจานด่วน หรือราวแขวนเสื้อผ้าขนาดมหึมาที่เป็นตัวแทนของความรุ่งเรืองของธุรกิจแฟชั่นในปัจจุบัน
ข้อมูลในโซนนี้เปิดเผยว่าทุกวันนี้ทั่วโลกเรามีการผลิตเสื้อผ้ากว่า 150,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นมากเป็นเท่าตัวหากเทียบกับ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และในขณะเดียวกันปริมาณการซื้อเสื้อผ้าของคนทั่วโลกก็เพิ่มมากขึ้นถึง 60% เนื่องจากคนในเจเนอเรชันหลังมีค่านิยมไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำสอง
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกเราเกิดภาวะโลกร้อน เพราะอุตสาหกรรมเสื้อผ้านั้นจะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 3.3 พันล้านตันต่อปี สูงเท่ากับอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทวีปยุโรปทั้งทวีป หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์กว่า 372 ล้านคันใน 1 ปี เลยทีเดียว
เมื่อฉายภาพให้เห็นว่าพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าของคนในปัจจุบันเชื่อมโยงไปยังปัญหาต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามากมาย ทั้งปัญหาเรื่องการกดขี่แรงงาน ไปจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม นิทรรศการจึงขยายปัญหาแต่ละอย่างให้ลงลึกถึงรายละเอียด
ก่อนหน้านี้เราอาจเคยได้ยินเรื่องการห้ามอุดหนุนแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นบางแบรนด์ เนื่องจากแบรนด์เหล่านั้นมักใช้แรงงานทาสอุยกูร์ แต่พอได้มานิทรรศการนี้จึงทำให้เราเปิดโลกมากขึ้นว่าจริงๆ แล้วยังมีแรงงานถูกกดค่าแรงอยู่ในอีกหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
อย่างป้าย made in china ที่เราเจอบ่อยๆ ก็มาจากแรงงานชาวจีนที่ต้องทำงานมากถึง 18 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด แถมยังได้ค่าจ้างตัดเย็บแค่ตัวละ 0.7 สตางค์ ไม่ต่างจากป้าย made in vietnam ที่ก็มาจากแรงงานชาวเวียดนามที่ต้องทำงานเกินจากชั่วโมงทำงานที่กำหนด
ส่วนป้าย made in thailand ที่บ่อยครั้งเมื่อเห็นเรามักจะภูมิใจในฝีมือของคนในประเทศ แต่เบื้องหลังของสิ่งนี้ก็เกิดมาจากฝีมือคนงานกว่า 2 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานต่างด้าว ซึ่งได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทย แถมไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ
ปัญหาหลักของอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ไม่ได้จบอยู่แค่การที่คนใส่เสื้อผ้าครั้งเดียวทิ้ง หรือค่าจ้างที่ต่ำแสนต่ำ แต่ยังก่อปัญหาตั้งแต่วัตถุดิบตั้งต้นสำหรับทำเสื้อผ้า
เบื้องหน้าของเราคือขวดน้ำดื่มกว่า 4,500 ขวด ตั้งเป็นกำแพงสูงท่วมหัว ทั้งหมดนี้นับได้เป็นน้ำ 2,700 ลิตร แม้จะมีปริมาณมหาศาล แต่เชื่อไหมว่าน้ำเหล่านี้สามารถใช้ผลิตเสื้อยืดได้เพียงแค่ 1 ตัวเท่านั้น
เนื่องจากฝ้ายเป็นพืชที่ต้องใช้น้ำในการปลูกเยอะ มีการสำรวจว่าทุ่งฝ้ายทั่วโลกซดน้ำมากถึง 93 พันล้าน ลบ.ม. ต่อปี เท่ากับ 57% ของน้ำที่ใช้ในการเกษตรทั่วโลก หรือน้ำที่คน 5 ล้านคน ใช้ดื่มกินใน 1 ปี
ส่วนฝ้ายอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ ปลูกโดยไม่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรม ไม่ใช้สารเคมี หรือยาฆ่าแมลงใดๆ กลับถูกใช้ไปในการผลิตเสื้อผ้าไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ
ขณะเดียวกัน นิทรรศการนี้ก็ทำให้เพิ่งทำให้เราได้ความรู้ใหม่ที่ว่า เส้นใยสังเคราะห์อย่าง โพลีเอสเตอร์ ที่มักถูกนำไปทำเป็นเสื้อแจ็กเกตกันน้ำ เสื้อกันหนาว ผ้าพันคอ หรือชุดกีฬาต่างๆ คือเส้นใยพลาสติกที่ผลิตมาจากสารเคมีตัวเดียวกันกับที่ใช้ผลิตขวดน้ำพลาสติก
เมื่อน้ำผ้าเหล่านี้ไปซัก แรงเหวี่ยงจากการซักเสื้อผ้าก็ทำให้ไมโครพลาสติกหลุดออกมาปนเปื้อนไปกับน้ำทิ้ง และไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติด้วย ที่สำคัญคือไมโครไฟเบอร์เหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน แต่กลายไปเป็นอาหารของแพลงก์ตอน กุ้ง ปลา สัตว์ทะเล และท้ายที่สุดก็วนกลับมาอยู่ในอาหารทะเลที่เรากิน
ว่ากันว่า 25% ของ อาหารทะเลที่เรากิน ล้วนมีไมโครพลาสติกเลยล่ะ ช็อก
หลังถูกความจริงตบหน้าว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นก่อปัญหายิ่งกว่าที่คาดคิด และหลายครั้งเราเองก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้สร้างปัญหานั้นด้วย ในห้องถัดไปผู้จัดนิทรรศการจึงรวมหนทางแก้ไขไว้ให้ เผื่อเป็นแนวทางว่าเราจะช่วยโลกนี้ได้อย่างไรบ้าง
วิธีแรกง่ายที่สุด คือ Rewear ทำได้ง่ายๆ ด้วยการ #wearวนไป มิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้าในตู้ก็เหมือนได้เสื้อผ้าใหม่ ว่ากันว่าการใส่เสื้อให้ถึง 9 เดือนจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ 30% เลยนะ
หากมีเสื้อผ้าตัวเก่ง แต่ชำรุดนิดหน่อยก็ไม่ต้องถึงขั้นทิ้ง เราสามารถนำไปแปลงโฉมใหม่กับช่างแถวบ้าน แค่นี้ก็นำกลับมาใส่ได้ใหม่อีกครั้ง
การซื้อเสื้อมือสองก็เป็นอีกหนึ่งหนทาง สำหรับคนที่ยังหยุดการช็อปไม่ได้ ขอรับเสื้อผ้าตัวใหม่เข้าตู้อีกนิด โดยการใช้เสื้อมือสองจะช่วยลดน้ำในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ได้ถึง 65 เท่า และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 7 เท่าเลยทีเดียว
เจ้าของแบรนด์หรือผู้ผลิตเองก็เป็นหนึ่งในคนที่จะช่วยโลกนี้ได้ ทั้งการนำผ้าเหลือ ผ้าค้างสต๊อกจากโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาใช้ทำประโยชน์ต่อ เช่น มอร์ลูป ที่ขายผ้าค้างสต๊อกที่เหลือจากการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้กับผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการผ้าในปริมาณไม่มาก หรือห้องเสื้อเอกมล ที่นำเศษผ้าไทยที่เหลือจากการตัดเย็บทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ ผ้าจกบิด มาทำเป็นกางเกงฮาเร็มที่มีลวดลายผ้าที่ไม่ซ้ำกันเลยสักตัว
บางแบรนด์ก็เป็นสายคิดใหม่ทำใหม่ นำเสื้อผ้าเก่ามา upcycling ให้กลายเป็นของลิมิเต็ด เช่น Dry Clean Only แบรนด์ที่นำเสื้อผ้ามือสองมาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก ทำเสื้อยืด ให้เป็นเสื้อสูท ทำเสื้อเชิ้ต หรือกางเกงเก่า ให้กลายเป็นกระโปรง, มูลนิธิโอกาสที่สองแห่งชีวิต (Second Chance Bangkok) ที่นำกางเกงยีนส์มือสองมาเลาะ แล้วประกอบร่างขึ้นใหม่เป็นกระเป๋า, Farmer Rangers แบรนด์จากเชียงคาน จังหวัดเลย ที่นำเศษผ้าฝ้ายทอมือและผ้าฝ้ายโรงงาน ทั้งที่ย้อมธรรมชาติและย้อมเคมี มาปะติดกันด้วยเทคนิคเฉพาะที่หยิบยืมมาจากญี่ปุ่น แล้วค่อยนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าฝ้ายย้อมครามที่ดูเก๋ไปอีกขั้น
บางแบรนด์ก็เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม สามารถทำสิ่งยากอย่างการรีไซเคิลเสื้อผ้าได้สำเร็จ SC Grand นำเศษด้ายที่เหลือจากการทอผ้า หรือเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บมารีไซเคิล ย่อยผ้าจนเป็นปุย แล้วนำมาปั่นเป็นเส้นด้าย ทอเป็นผ้าผืนใหม่ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง โดยตัวอย่างที่นำมาจัดแสดงทำให้เราเห็นถึงความเจ๋งของวิธีนี้คือ สายการบินไทยสมายล์เคยนำเครื่องแบบพนักงานต้อนรับที่ใช้จนเก่าซีด เลอะ ไม่สามารถใส่ต่อได้กว่า 330 กิโลกรัม มารีไซเคิล และปั่นทอจนได้ด้ายไปทำเป็นเสื้อโปโลตัวใหม่ถึง 600 ตัว โดยที่เสื้อโปโลเหล่านั้นไม่ต้องใช้สีย้อมผ้าเลย
หลังดูนิทรรศการนี้จบ จากที่เอฟเสื้อผ้าใหม่เข้าตะกร้าไว้กะรอวันแอปฯ ส้มเซลล์ เราเลยขอกลับมาคิดใหม่อีกที พร้อมพิจารณาถึงความจำเป็นของเสื้อตัวนั้นอีกครั้ง เพราะเห็นที่มาที่ไปของเสื้อผ้าแต่ละตัวคิดย้อนไปถึงมลภาวะที่ปล่อยออกมาให้โลกแล้วทำใจซื้อตอนนี้ไม่ไหว
ขาช็อปคนไหนที่รู้สึกอยู่ทุกวันว่าเปิดตู้มาแล้วไม่มีอะไรใส่เลย มาเลือกกันว่าจะช็อปล้างโลก หรือช็อปช่วยโลก ได้ถึงวันที่ 3 ธันวาคมนี้ ที่มิวเซียมสยามนะ
