Humberger Menu

จากปากช่อง สู่ ศรีย่าน ยกโรงย้อม Natural Dyeing เข้ากรุงฯ เรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติ แบบฉบับ นวล สตูดิโอ

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Everyday Life

Live & Learn

Lifestyle

17 ต.ค. 66

creator
วรรณวรา สุทธิศักดิ์

BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ชวนไปรู้จักการย้อมสีธรรมชาติ จากวัสดุธรรมชาติรอบตัว กับ นวล สตูดิโอ สตูดิโอจากปากช่อง นครราชสีมา ที่นำพาองค์ความรู้ที่เก็บเกี่ยวด้วยตัวเองเป็นเวลาหลายปีจนเป็น ปากช่อง Pantone สีนวลสบายตาที่ทำให้หลายคนหลงใหลในสีสันของธรรมชาติ
  • รู้จักกับวัตถุดิบ เทคนิคการย้อมแบบนับหนึ่ง และวิธีใช้สารช่วยย้อม ที่ทำให้เกิดสีสันที่หลากหลายและช่วยให้สีสันธรรมชาติติดทนนาน

...


ถ่ายภาพ: จิตติมา หลักบุญ


สำหรับคนที่ชื่นชอบและหลงใหลในงานฝีมือ การได้ลงมือสร้างสรรค์งานที่อยู่ตรงหน้าคงไม่ใช่เพียงปลายทางที่เป็นผลงานให้ได้ชื่นชม หากเป็นเรื่องราวระหว่างทาง การเรียนรู้ ศึกษา ฝึกฝน ลองผิดลองถูก ซึ่งนั่นน่าจะเป็นอีกหนึ่งกระบวนสำคัญที่ก่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้เบื้องหลังผลงานเฉกเช่นเดียวกับการเรียนรู้เรื่องราวประเภทอื่นๆ



วันอาทิตย์ปลายฤดูฝนที่บ้านไม้หลังจิ๋วภายในซอยของชุมชนเล็กๆ ย่าน ‘ศรีย่าน’ เชื้อเชิญให้เราได้ใช้เวลาวันหยุดไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่อย่าง ‘การย้อมสีธรรมชาติ’ หรือ Natural Dyeing เทคนิคการยอมสีที่ใช้พืชพรรณธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลัก ผ่านการส่งต่อองค์ความรู้จาก นวล สตูดิโอ สตูดิโอที่ส่งต่อสีสันนวลๆ แบบฉบับปากช่อง Pantone ให้คนรักงานคราฟต์ได้รู้จักและหลงใหลในสีนวลที่อบอวลด้วยความสุขมาเป็นเวลากว่า 6 ปี



นวล สตูดิโอ สตูดิโอย้อมสีธรรมชาติภายใต้การดูแลของ น้อยหน่า-ปนัดดา โพธิ และเพื่อนสนิทอย่าง อีฟ-ณัฐรวี ดีทองหลาง ส่งต่อองค์ความรู้ด้านการย้อมสีธรรมชาติมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ที่สตูดิโอริมน้ำลำตะคอง อันเป็นสถานที่ต้นทางที่ทั้งคู่เริ่มต้นลองผิดลองถูก กับเตา หม้อ และร่มสีแดงหนึ่งคัน 



ย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้น น้อยหน่าที่เกิด เติบโต และผูกพันกับวิถีการทอผ้า โดยมีคุณยายเป็นเหมือนต้นธารองค์ความรู้ และเพราะการซึมซับ ช่วยหยิบจับ กี่และฟืมหรือแม้แต่สังคมของช่างทอในอดีต ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นนำภาพจำให้หวนคืนกลับมาในยามที่เธอเติบโตและได้ศึกษาเล่าเรียนด้าน Textile Designer ซึ่งเธอเล่าว่าใช้เวลาตามหาสิ่งที่รักนั้นกว่า 2 ปี จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจนถึงทุกวันนี้



กลับมาที่คลาส Natural Dyeing Workshop กับป๊อปอัปสตูดิโอขนาดย่อมๆ ที่เราได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ 1 วันเต็มๆ น้อยหน่าเล่าให้เราฟังว่าอยากส่งต่อความรู้แบบที่เธอได้เรียนรู้มาด้วยตัวเอง เรียกว่าเคยทำมาอย่างไรเธอก็ส่งต่อความรู้ในแบบนั้น คลาสนี้จึงไม่มีพิธีรีตอง เป็นความง่ายที่ใช้เพียงใจ สายตา หูฟัง และสองมือในการทดลองกับสีสันที่รอคอยเราอยู่ตรงหน้า



วัตถุดิบหลักของการย้อมในวันนั้นคือไม้ฝาง น้อยหน่าบอกกับเราว่าที่เลือกไม้ฝางเป็นวัตถุดิบให้สีในการเวิร์กช็อปครั้งนี้เพราะเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่คนที่เริ่มเรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติสามารถเรียนรู้ได้ พระเอกหลักของเราจึงเป็นไม้ฝางที่จะให้สีชมพูแดงสดชัดในตอนท้าย เมื่อผ่านการต้มเคี่ยวเป็นเวลา 1-1.40 ชม.

ระหว่างนั่งรอให้ไม้ฝางสกัดสีจากการต้มเคี่ยว เธอชวนเราเรียนรู้ขั้นตอนการย้อมสีธรรมชาติตั้งแต่การทำความสะอาดผ้าก่อนย้อมเพื่อขจัดไขมันและสิ่งสกปรกและสารที่เกาะเคลือบผ้าออกให้หมด นี่คือปราการด่านแรกที่จะยืนยันได้ว่าผ้าที่เราเลือกมาให้ย้อมนั้นสะอาดพอที่จะดูดซับสีสันได้ดี



เมื่อน้ำฝางเดือดได้ที่ตามเวลา ก็ถึงขั้นตอนการกรองแยกกากด้วยผ้าขาวบางเพื่อให้เหลือเพียงน้ำสีแดงอมชมพู ก่อนจะเติมเกลือลงไปในน้ำสีที่กรองแล้ว (ขั้นตอนนี้ควรเติมเกลือลงไปในภาชนะรองรับก่อนแล้วค่อยเทสีที่กรองแล้วตามลงไป เพื่อป้องกันเกลือที่จะปะทุขึ้นมาหากเทผสมในภายหลัง) ก่อนจะรอให้อุณหภูมิน้ำสีลดลงอยู่ที่ประมาณ 60-80 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ทำให้โพรงเส้นใยในเนื้อผ้าเปิดกว้างเพื่อซึมซับสีได้ดีที่สุด เป็นการสกัดร้อน ย้อมอุ่น ซึ่งเป็นเทคนิควิธีตามแบบฉบับของการย้อมสีธรรมชาติให้ติดทนนาน



ขั้นตอนสำคัญของเวิร์กช็อปครั้งนี้น่าจะอยู่ที่การทำความรู้จักกับ Mordant สารช่วยย้อมหรือสารกระตุ้นสี ซึ่งเป็นสารที่จะช่วยกักเก็บเม็ดสีไว้ในเส้นใยทำให้การย้อมสีติดดีขึ้น ขจัดสีตกค้าง และช่วยให้เฉดสีธรรมชาติที่ได้จากการย้อมน้ำแรกนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม


น้อยหน่าลองใช้ผงสารส้มตำละเอียดทดลองการเปลี่ยนสีกับขมิ้นสด

 

น้อยหน่าพาเราไปรู้จักกับมอร์แดนท์หลักๆ ที่ใช้ ซึ่งมี 2 ประเภทใหญ่ๆ คือมอร์แดนท์ที่มีฤทธิ์เป็นกรด ช่วยปรับเฉดสีให้สว่างมากยิ่งขึ้น กลุ่มนี้จะได้จากสารส้มที่ถูกตำให้ละเอียดและกรองจนเป็นชิ้นเล็กๆ เหมาะแก่การละลายน้ำ น้ำส้มสายชูซึ่งมีฤทธิ์ในการกัดสีสูง และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ส่วนมอร์แดนท์อีกประเภทหนึ่งนั้นคือมอร์แดนท์ที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ซึ่งจะช่วยปรับเฉดสีให้ไม่สว่างสดใสจนเกินไป อันได้มาจากขี้เถ้า น้ำปูนใส สนิมเหล็ก จุนสี โคลน (จากเขื่อนลำตะคอง) น้ำแทนนินจากพืชที่มีรสฝาด เช่น เปลือกของมังคุด และเกลือแกง ฯลฯ


น้ำโคลนจากเขื่อลำตะคอง อีกหนึ่งมอแดนท์ที่ให้ฤทธิ์เป็นด่าง ทำให้สีย้อมเข้มขึ้น

 

มอร์แดนท์จึงเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักในการย้อมสีธรรมชาติ ในรูปแบบ ‘กรดสว่าง ด่างตุ่นๆ’  เป็นประโยคที่น้อยหน่าให้เราท่องจำไว้ขึ้นใจ ก่อนที่จะสนุกกับการเลือกสีสันที่ชอบในพาร์ตต่อไป

นอกจากไม้ฝาง ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการให้สีครั้งนี้ น้อยหน้าเลือกขมิ้นผงที่ให้สีเหลืองสดมาเป็นวัตถุดิบให้สีอีกหนึ่งชนิด ก่อนจะบอกเล่าถึงวัตถุดิบอีกหลายรายการที่เธอได้ลองทดลองเองมาทั้งหมด อาทิ เปลือกมะพร้าว ที่เมื่อผ่านมอร์แดนท์ด่างขี้เถ้าจะให้สีเบจนู้ด ชมพูนู้ด สกินโทน ยางจากครั่งที่เมื่อมอร์แดนท์ด้วยสารส้ม ด่างหรือโคลนจะให้สีชมพูแดง หรือเปลือกทับทิมที่เมื่อได้มอร์แดนท์กับสารส้ม เหล็ก โคลน จะให้สีเบจนู้ด กลีบบัว และเทา



การย้อมครั้งนี้เราเลือกผ้าและเส้นใยสองสามชนิด เพื่อทดลองในสีสันที่แตกต่างกันออกไป หนึ่งในนั้นคือเส้นใยเทนเซล ที่ได้จากเปลือกของต้นยูคาลิปตัส ที่ให้ความเหนียว เงางาม เหมาะสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ในงานปัก และผ้าลินินผสมเทนเซลที่ให้สัมผัสหยาบผสานนุ่มนวลในคราวเดียว 

สีสันที่เราและเพื่อนๆ ในคลาสได้ทดลองนั้นแตกต่างกันออกไป แม้ฝางจะให้สีแดงชมพูสดชัด แต่เมื่อนำไปมอร์แดนท์กับน้ำโคลนจากเขื่อนลำตะคอง (ที่น้อยหน่าตักเก็บไว้ในรถทุกครั้ง) ก็จะได้สีม่วงตุ่นๆ หรือสีที่ได้จากขมิ้นผงเมื่อมอร์แดนท์ด้วยน้ำสารส้ม และมอร์แดนท์อีกครั้งด้วยน้ำโคลนเพื่อให้ได้สีเหลืองมัสตาร์ด ก็เป็นองค์ความรู้ในการลองผิดลองถูก เพื่อให้ได้สีสันที่ถูกใจ



แม้จะดูเหมือนว่าสีสันที่เราได้ทดลองย้อมด้วยวัตถุดิบในวันนั้นจะมีความหลากหลาย แต่น้อยหน่าย้ำกับเราเสมอว่า ฤดูกาล พื้นที่ ความหลากหลายของพืชพรรณนั้นให้สีสันที่แตกต่างเสมอ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เราใจฟูว่าวัตถุดิบต่างถิ่นอาจให้สีสันที่แตกต่าง และนี่น่าจะเป็นเครื่องการันตีได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดในประเทศก็สามารถสร้าง Palette เฉพาะได้เช่นเดียวกับ Palette ปากช่อง ที่สร้างสีสันนวลๆ ชวนชื่นใจมาแล้ว



อีกสิ่งสำคัญที่น้อยหน่าย้ำกับเราคือการไม่โยกวัตถุดิบข้ามถิ่น เพราะเชื่อว่าพืชพรรณแต่ละที่จะโดดเด่น และให้สีสันที่เฉพาะเจาะจงหากอยู่ในพื้นที่และภูมิอากาศ ณ ที่แห่งนั้น และนี่จะน่าเป็นคำที่จุดประกายที่ทำให้เราอยากจะไปค้นหาสีสันที่หลบซ่อนอยู่ในพืชพรรณย่านบ้านตัวเองด้วยเช่นกัน

ผืนผ้า เส้นใยที่ผึ่งลมไว้เริ่มแห้งสนิท เป็นเวลาคล้อยเย็นที่เราได้ชื่นชมความงามของสีสันที่บรรจงย้อมเองกับมือ อย่างน้อยๆ องค์ความรู้ที่เราได้จากบ้าน นวล สตูดิโอในวันนี้ ช่วยนำทางให้เราหันมาสนใจวัตถุดิบท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น อยากรู้ว่าไม้ แก่น ดอก และใบจากพื้นที่อื่นๆ จะให้สีสันที่แตกต่างเช่นไร … ส่วนหนึ่งนั้นทำให้พลันนึกขึ้นมาได้ว่า สีสันของธรรมชาติเหล่านั้นพาเรากลับบ้านได้เช่นเดียวกัน…




Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat