3 เหตุการณ์สำคัญในปี 2022 ที่จะส่งผลในทางที่ดีต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก
...
LATEST
Summary
- ภาวะโลกร้อนที่เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อมนุษยชาติยังดำเนินต่อไป หลายประเทศไม่สามารถบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกและจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส แต่ถึงอย่างนั้น ความพยายามในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือว่ามีพัฒนาการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
- มี 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2022 ที่จะมาเปลี่ยนขั้วปรากฏการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลก นั่นก็คือ การเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีประเทศบราซิลคนใหม่ของ หลุยส์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inacio Lula da Silva) บวกกับรายงานอัตราการใช้พลังงานฟอสซิลที่มีแนวโน้มจะแตะระดับสูงสุดในเร็วๆ นี้ (แล้วจะลดลง) และปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
- การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ อาจจะเร่งให้การเลิกใช้พลังงานฟอสซิลเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น และรื้อฟื้นความพยายามที่จะปกป้องผืนป่าแอมะซอน อันเป็นปราการด่านสำคัญในการแก้วิกฤติโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก และยังเปลี่ยนกระแสการเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีสหประชาชาติด้วย
...
ภาวะโลกร้อนที่เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อมนุษยชาติยังดำเนินต่อไป หลายประเทศไม่สามารถบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกและจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส
ถึงแม้ว่าบริบทในวงกว้างจะดูน่ากลัว แต่ความพยายามในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือว่ามีพัฒนาการในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตามที่ แคลร์ ฮีลี (Claire Healy) ผู้อำนวยการสำนักงานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของ E3G องค์กรด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศที่มีสำนักงานใหญ่ในลอนดอนกล่าวว่า ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับการสนับสนุนในการแก้ไขขั้นพื้นฐาน กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง แม้ว่าจะช้ากว่าที่วิทยาศาสตร์บอกว่าจำเป็นก็ตาม
The Washington Post วิเคราะห์ว่า มี 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2022 ที่จะมาเปลี่ยนขั้วปรากฏการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลก นั่นก็คือ การเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีประเทศบราซิลคนใหม่ของ หลุยส์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inacio Lula da Silva) หรือ ‘ลูลา’ บวกกับรายงานอัตราการใช้พลังงานฟอสซิลที่มีแนวโน้มจะแตะระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ และปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ อาจจะเร่งให้การเลิกใช้พลังงานฟอสซิลเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น และรื้อฟื้นความพยายามที่จะปกป้องผืนป่าแอมะซอน อันเป็นปราการด่านสำคัญในการแก้วิกฤติโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก และยังเปลี่ยนกระแสการเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีสหประชาชาติด้วย
บราซิลได้ผู้นำใหม่ และเตรียมชุบชีวิตผืนป่าแอมะซอน
ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีบราซิลครั้งล่าสุดของลูลา ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่คาดว่าจะนำไปสู่กระบวนการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระดับชาติ และถ่วงดุลวิกฤติโลกร้อนที่คาดการณ์ว่าจะเข้าสู่จุดที่ย่ำแย่ที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเขาได้ให้คำมั่นว่าจะยุติการถางป่าแอมะซอนที่เกิดขึ้นอย่างดุเดือดในช่วงที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro)
ในการหาเสียงเลือกตั้ง ลูลาได้ชูนโยบายด้านสภาพอากาศขึ้นมาเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งทำให้เขาสามารถพลิกเอาชนะโบลโซนาโร นักการเมืองฝ่ายขวาจัดที่กุมบังเหียนการเมืองบราซิลมาตั้งแต่ปี 2019 โดยในการปราศรัยต่อหน้าประชาชนผู้สนับสนุนในนครเซาเปาโลเพื่อฉลองชัยชนะ ลูลาได้เน้นย้ำว่า การยุติการตัดไม้ทำลายป่า เป็นหนึ่งในนโยบายที่ต้องจัดลำดับความสำคัญไว้ต้นๆ
หลุยส์ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา
“โลกต้องการให้ป่าแอมะซอนมีชีวิต ต้นไม้หลายต้นถูกจำหน่ายอย่างผิดกฎหมาย โดยผู้ที่คิดแต่จะแสวงหาผลกำไรง่ายๆ แลกกับความเสื่อมโทรมของสิ่งมีชีวิตบนโลก” ลูลาประกาศต่อหน้าผู้สนับสนุน
ในช่วงที่ผ่านมา ป่าฝนแอมะซอนถูกคุกคามจากกลุ่มผู้ลักลอบตัดไม้และเกษตรกรเป็นอย่างหนัก จนได้กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ แทนที่จะเป็นพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาจากทั่วโลก
การกลับเข้าสู่ตำแหน่งของลูลา หลังหายไปนาน 12 ปี นับจากลงจากเก้าอี้ในสมัยปี 2023-2010 ทำให้นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมใจชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะลูลาเป็นนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการควบคุมการตัดไม้ทำลายป่า
ผู้สนับสนุนด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของบราซิลคาดการณ์ว่า หลังลูลาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี บราซิลจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งใหญ่
อาเดรียนา รามอส (Adriana Ramos) ที่ปรึกษาของ Instituto Socioambiental ภาคประชาสังคมของบราซิลที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิของชนพื้นเมืองและปัญหาสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า “เราทุกคนมีความคาดหวัง เพราะ (ผลการเลือกตั้ง) ถือเป็นกุญแจสำคัญในการกำจัดโบลโซนาโร ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยนักวิทยาศาสตร์ทุกคนกำลังพูดว่า หากเรายังปฏิบัติแบบที่เป็นอยู่ในผืนป่าแอมะซอน เราจะพลาดโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้สภาวะโลกร้อนแตะจุดสูงสุด ซึ่งจะเป็นเวลาที่สายไปแล้วในการฟื้นฟูป่าฝนแอมะซอน”
อย่างไรก็ตาม ความพยายามของลูลาในการแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เนื่องจากชัยชนะของลูลามาจากการเฉือนเอาชนะฝ่ายตรงข้ามอย่างเฉียดฉิว และฝ่ายค้านยังมีเสียงสนับสนุนที่สูงถึง 49.1% นอกจากนี้ นักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ป่าแอมะซอนก็ยังมีบางส่วนที่จงรักภักดีต่อโบลโซนาโร ซึ่งจะมาท้าทายอำนาจจากส่วนกลางของรัฐบาล
ขณะที่ในเวทีระดับโลก บราซิลอาจจะกลับมามีส่วนร่วมในการเจรจาด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศ และดำเนินบทนำของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาร่วมกับจีนและอินเดียอีกครั้ง หลังละทิ้งการเป็นผู้นำในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโบลโซนาโร โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสภาพอากาศของบราซิลหลังจากนี้ น่าจะเป็นไปในทางบวก และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ เคลื่อนไหวไปพร้อมกัน
จอห์น เวอร์ดีก (John Verdieck) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสภาพอากาศระหว่างประเทศของ Nature Conservancy องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกกล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบายของบราซิลเมื่อมีการเปลี่ยนผู้นำว่า “เช่นเดียวกับปีที่แล้วที่เราเห็นว่าสหรัฐฯ เริ่มกลับมามีส่วนร่วมอีกครั้ง เราน่าจะเริ่มเห็นความไว้วางใจที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างนานาชาติ”
สหรัฐฯ-ยุโรป เดินหน้าปรับแผนพลังงานด้วยการเมือง
การลงทุนอย่างแพร่หลายในด้านพลังงานทางเลือกในยุโรปที่ขับเคลื่อนด้วยโศกนาฏกรรม หลังรัสเซียลดอัตราการส่งก๊าซธรรมชาติเข้าไปขายในยุโรปเนื่องจากวิกฤติสงครามในยูเครน
ส่วนด้านสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งกลางเทอม กำลังจะมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act: IRA) ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ลงนามไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายนี้ สหรัฐฯ ทุ่มเงิน 369,000 ดอลลาร์ฯ ในการลงทุน เครดิตภาษี และเงินทุนต่างๆ สำหรับความพยายามด้านสภาพอากาศ ซึ่งคาดว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจของอเมริกา และลดราคาพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกลง
เจนนิเฟอร์ เลย์เก (Jennifer Layke) ผู้อำนวยการระดับโลกจากโครงการพลังงาน ภายใต้สถาบันทรัพยากรโลก ของศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศในวอชิงตัน ระบุว่า “IRA เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ พูดกันตรงๆ ในบริบททางการเมืองของสหรัฐฯ คงไม่มีใครจินตนาการถึงเครื่องมือที่ดีกว่านี้ ซึ่งเหมาะกับเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของสหรัฐฯ มากกว่าการมุ่งแต่จะทำให้เทคโนโลยีเป็นรากฐานที่สำคัญ”
ขณะที่ในฝั่งยุโรป สงครามในยูเครนที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และการหยุดชะงักของพลังงานที่ส่งมาจากรัสเซีย ทำให้ชาติยุโรปหลายประเทศหันมาลงทุนในด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แม้ว่าในระยะสั้นจะหันไปพึ่งพาการเผาถ่านหิน และใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นในระยะสั้น
การพัฒนาที่เกิดขึ้นควบคู่กันในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศเริ่มมองโลกในแง่ดี
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนกังวลว่า ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก จะทำให้ผู้ผลิตกระตุ้นกำลังการผลิตจนเป็นสต๊อกที่มากเกินกว่าความขาดแคลนในปัจจุบัน ซึ่งจะนำไปสู่ความล้มเหลวในการพยายามลดการปล่อยมลพิษ
อ็อตต์มาร์ เอเดนโฮเฟอร์ (Ottmar Edenhofer) ผู้อำนวยการสถาบัน Potsdam Institute for Climate Impact Research ในประเทศเยอรมนี กล่าวว่า “สิ่งที่เราเห็นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาก็คือ แม้ว่าจะมีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้อย่างรวดเร็ว ก็ไม่ได้ทำให้การปล่อยมลพิษลดลง ดังนั้น คำถามที่สำคัญ คือ อะไรเป็นเครื่องมือในการลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน”
การใช้พลังงานฟอสซิลกำลังจะแตะจุดสูงสุด
การพัฒนาในสหรัฐอเมริกาและยุโรป พร้อมกับเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นในจีนและอินเดีย ทำให้สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) คาดการณ์ว่า ความต้องการทั่วโลกสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลทุกชนิดจะสูงสุดภายในกลางทศวรรษหน้า แล้วการใช้ถ่านหินทั่วโลกจะเริ่มลดลงในไม่กี่ปีข้างหน้า ส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ใช้จะคงที่ภายในปี 2030 และความต้องการใช้น้ำมันจะลดลงภายในกลางปี 2030
“แม้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายด้านพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน ความต้องการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ยังจะพุ่งสูงขึ้นจนแตะจุดสูงสุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม … สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สถานการณ์เกี่ยวกับสภาพอากาศ แต่เป็นปัญหาเชิงนโยบาย ซึ่งปีแล้วปีเล่า ความต้องการของเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ฟาตีห์ ไบรอล (Fatih Birol) หัวหน้าสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) แสดงความคิดเห็น
แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนจะมั่นใจว่า ความต้องการใช้พลังงานฟอสซิลจะลดลงในอนาคต ยังมีบางคนบอกว่า การใช้พลังงานฟอสซิลจะแตะจุดสูงสุด (แล้วลดลง) หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลายประเทศในยุโรปว่าจะรักษาคำมั่นสัญญาในการลดการใช้พลังงานฟอสซิลได้หรือไม่ หลังล้มเหลวมานาน
จอร์จ แซคแมนน์ (Georg Zachmann) เจ้าหน้าที่อาวุโสของ Bruegel สถาบันวิจัยเศรษฐกิจในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ที่ติดตามนโยบายพลังงานของยุโรปในช่วงวิกฤติยูเครน กล่าวว่า “เราเห็นแถลงการณ์ที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราเห็นในแง่ของถ้อยแถลงล้วนเป็นสีเขียวและดี ... แต่เรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งทางเลือกที่ยากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปซึ่งกำลังถังแตก และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไม่มีท่าทีว่าจะเป็นผลดีต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีต้นทุนสูงแตกต่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
“ทางเลือกที่ยากลำบากรออยู่ข้างหน้าแล้ว” จอร์จกล่าว
ในขณะที่ผู้สนับสนุนและกำหนดนโยบายด้านสภาพอากาศหลายคนมองว่า แม้การเปลี่ยนแปลงจะน่าประทับใจ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดย เดวิด วอสโกว (David Waskow) ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศ ของ World Resources Institute กล่าวว่า “แม้ว่าเราจะมีพลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้า แต่การเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่เกิดขึ้นในระดับที่เราต้องการ ซึ่งก็คือ การบีบให้ระดับอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส”
“เรายังมีงานต้องทำอีกมาก และต้องลงมือให้ลึกขึ้น และไวขึ้น” เดวิด วอสโกว กล่าว
อ้างอิง : The Washington Post
