What is Reforestation? เพราะการฟื้นฟูป่าไม่ใช่เรื่องเหนือจริง ว่าด้วยบทเรียนที่ป่าเขาในบราซิลกำลังตะโกนบอกเรา
...
LATEST
Summary
- พื้นที่ป่าทั่วโลกลดลงอย่างน่าใจหาย ภาวะโลกร้อนมีส่วนเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทำให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ หลากหลายภาคส่วนจึงเข้ามาช่วยกันฟื้นฟูป่าไม้จนเกิดโครงการปลูกป่ามากมายในหลายพื้นที่ทั่วโลก
- ตัวอย่างที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง เช่น โครงการฟื้นฟูป่าแอตแลนติกในรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ที่ชื่อ ‘Refloresta Rio’ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลท้องถิ่นในปี 1986 จนกระทั่งในปี 2019 โครงการนี้ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของเมืองจากพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นป่าไม้
- Refloresta Rio มุ่งเป้าไปที่พื้นที่รอบๆ ชุมชนแออัด เพื่อลดความเสี่ยงของดินถล่มและป้องกันไม่ให้ชุมชนแออัดขยายเข้าไปยังบริเวณที่อันตรายต่อบ้านเรือน
- การเชิญชวนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นโจทย์หิน ด้วยภาระงานที่หนักและการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล โครงการ Refloresta Rio จึงใช้วิธีการให้ค่าจ้างกับอาสาสมัครเป็นการตอบแทน
...
พื้นที่ป่าทั่วโลกลดลงอย่างน่าใจหาย เมื่อวิถีชีวิตของมนุษย์ขยายตัวกลายเป็นเมืองมากขึ้น ต้นไม้จำนวนมากจึงถูกทำลายและกลายเป็นแหล่งแสวงหาประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติ
ภาวะโลกร้อนมีส่วนเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทำให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ต้องการแหล่งดูดซับคาร์บอนเพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น หลากหลายภาคส่วนจึงเข้ามาช่วยกันฟื้นฟูป่าไม้จนเกิดโครงการปลูกป่ามากมายในหลายพื้นที่ทั่วโลก
แม้จะมีวิธีอันแสนง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้อย่าง ‘การปลูกต้นไม้’ แต่กว่าต้นไม้จะเติบโตจนกลายเป็นป่าก็ต้องใช้ระยะเวลาอยู่นานหลายปี ซึ่งอาจจะช้าเกินไปจนทำให้หลายคนมองข้ามและลืมเลือนเรื่องการฟื้นฟูป่าไม้ไป
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเหล่าโครงการฟื้นฟูป่าไม้ที่ริเริ่มเมื่อหลายสิบปีก่อนได้เริ่มแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ในปัจจุบัน เมื่อการปลูกต้นกล้าหลายล้านต้นในอดีตเติบโตเป็นป่าใหญ่ แสดงผลลัพธ์อันเป็นที่ประจักษ์ให้เห็นว่าความพยายามของมนุษย์ที่ผ่านมานั้นไม่สูญเปล่า
ตัวอย่างที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง เช่น โครงการฟื้นฟูป่าแอตแลนติกในรีโอเดจาเนโร (Rio de Janeiro) ประเทศบราซิล ที่ชื่อ ‘Refloresta Rio’ (Reforest Rio) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลท้องถิ่นในปี 1986 จนกระทั่งในปี 2019 โครงการนี้ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของเมืองจากพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นป่าไม้
Refloresta Rio ประสบความสำเร็จได้อย่างไร?
“ฉันไม่เคยเห็นโครงการไหนในโลกที่ทำโดยรัฐบาลท้องถิ่นจะยิ่งใหญ่เท่ากับโครงการ Refloresta Rio” ริเชียรี ซาร์โตรี (Richieri Sartori) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากมหาวิทยาลัยสันตะสํานักบัณฑิตคาทอลิกแห่งริโอเดอจาเนโร (Pontifical Catholic University of Rio de Janeiro:PUC-Rio) กล่าว
รีโอเดจาเนโร ถือเป็นเมืองสำคัญที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโกในปี 2012 ด้วยภูมิทัศน์อันโดดเด่นระหว่างเมืองและป่าดิบชื้นท่ามกลางภูเขาและทะเล
โดยมีสัญลักษณ์สำคัญที่หลายคนน่าจะเคยเห็นคือรูปปั้นพระเยซูผู้ไถ่ขนาดใหญ่บนภูเขา หรือที่เรียกว่า กริชตูเรเดงโตร์ (Cristo Redentor) ซึ่งถูกยกให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก เมื่อมองลงมาจากรูปปั้นจะเห็นทิวทัศน์ของภูเขาชูการ์โลฟ (Sugarloaf) ที่เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจี ซึ่งนี่คือผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการฟื้นฟูป่าไม้ที่ทำต่อเนื่องมายาวนานหลายปี
การใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นถือเป็นส่วนสำคัญที่เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างดี เนื่องจากพันธุ์ไม้พวกนี้จะเติบโตได้ไวและสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยปรับปรุงวิธีการปลูกพันธุ์ไม้แบบดั้งเดิม
โดยเริ่มแรก Refloresta Rio มุ่งเป้าไปที่พื้นที่รอบๆ ชุมชนแออัด เพื่อลดความเสี่ยงของดินถล่มและป้องกันไม่ให้ชุมชนแออัดขยายเข้าไปยังบริเวณที่อันตรายต่อบ้านเรือน โดยอาศัยความร่วมมือของคนในพื้นที่จำนวน 15,000 คน ปลูกต้นกล้า 10 ล้านต้นในพื้นที่ 21,638 ไร่ บริเวณป่าชายเลน เนินทรายและภูเขาต่างๆ
แต่ก็มีพื้นที่บางแห่งถูกทิ้งร้าง เนื่องจากมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในชุมชนแออัดของรีโอเดจาเนโรที่มักเกิดความรุนแรงในหลายพื้นที่ ทำให้คนในชุมชนไม่ได้เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้และปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น
“พื้นที่ปลูกป่าทดแทนมักเอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะบางแห่งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย บางแห่งอยู่ในพื้นที่ที่มีความรุนแรงมาก แต่เราก็มีพื้นที่ปลูกป่าทดแทนมากอยู่แล้วถึงประมาณ 100 แห่งทั่วทั้งเมือง” ปีเตอร์สัน ซานโตส ซิลวา (Peterson Santos Silva) ผู้ประสานงานโครงการจากศูนย์ราชการท้องถิ่นกล่าว
แต่การเชิญชวนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมก็ยังคงเป็นโจทย์หินที่ไม่ว่าประเทศไหนก็ต้องเผชิญ ด้วยภาระงานที่หนักและการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล โครงการ Refloresta Rio จึงใช้วิธีการให้ค่าจ้างกับเหล่าอาสาสมัครเป็นการตอบแทน แม้ส่วนใหญ่จะได้รับค่าจ้างเพียง 1,000 เรียล (5,858 บาท) ต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ 1,412 เรียล (8,272 บาท) ก็ตาม แต่ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยคนที่ต้องการหางานทำ
“นี่เป็นงานที่ท้าทายและต้องทำงานกันอย่างหนักในอากาศร้อน แต่เมื่อผมมองดูพื้นที่นี้ก็รู้สึกว่าผมต้องเป็นคนดูแลป่าพวกนี้ ทั้งการกำจัดวัชพืช และการปีนขึ้นไปปลูกบนเนินที่ลาดชัน ผมมีส่วนทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมา จนกระทั่งปัจจุบันผมเห็นสัตว์กลับเข้ามาอยู่ในป่าอีกครั้ง” เลเลโก (Leleco) ชายวัย 40 ปี หนึ่งในผู้ร่วมปลูกต้นไม้ในโครงการ Refloresta Rio ที่ทาวาเรส บาสโตสชุมชนแออัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาและปัจจุบันกลายเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์
Refloresta Rio ไม่ใช่โครงการฟื้นฟูป่าไม้ครั้งแรก?
ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ (INPE) ระบุว่าในบราซิลมีป่าพื้นเมืองเหลืออยู่เพียง 12.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งจากพื้นที่ทั้งหมดถือเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากการขยายตัวของเมืองและการใช้ประโยชน์จากไม้บราซิล อ้อย ทองคำ และกาแฟ นับตั้งแต่โปรตุเกสเข้ามายึดบราซิลเป็นอาณานิคมเมื่อปี 1500
แม้โครงการ Refloresta Rio จะริเริ่มเมื่อประมาณปี 1986 แต่ในสมัยก่อนก็มีแนวคิดปลูกป่าทดแทนมาตั้งแต่ปี 1862 ในช่วงที่มีการขาดแคลนน้ำ จักรพรรดิเปโดรที่ 2 (Emperor Dom Pedro II) สั่งให้ปลูกป่าทดแทนในเทือกเขาชายฝั่งติชูกาเพื่อฟื้นฟูแหล่งน้ำ ถือเป็นโครงการปลูกป่าเขตร้อนแห่งแรกของโลก ทำให้ป่าติชูกากลายเป็นอุทยานแห่งชาติในใจกลางเมืองริโอเดจาเนโร
ด้วยการปลูกฝังเรื่องการฟื้นฟูป่าไม้ที่มีมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์บราซิล ทำให้เกิดการปลูกป่าใหม่ในหลายพื้นที่ตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ Refloresta Rio และส่งต่อจนกลายเป็นนโยบายสาธารณะมาหลายยุคสมัย เช่น บริเวณภูเขาชูการ์โลฟที่เคยได้รับการปลูกป่าใหม่ตั้งแต่ช่วงปี 1970 เป็นต้นมา
ในขณะที่ขอบเขตการฟื้นฟูของโครงการ Refloresta Rio จะเน้นไปที่ป่าแอตแลนติกซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 17 รัฐในบราซิล ซึ่งปัจจุบันเป็นป่าที่ถูกทำลายระบบนิเวศมากที่สุดในประเทศ และเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 72 เปอร์เซ็นต์ของชาวบราซิล
การฟื้นฟูป่าไม้ช่วยลดภัยธรรมชาติ
พื้นที่ป่าไม้อื่นๆ เช่น ป่าอะเมซอน (Amazon) และพื้นที่ชุ่มน้ำปันตานัล (Pantanal) ปัจจุบันถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตรและการเลี้ยงปศุสัตว์ ส่งผลให้เมื่อเกิดไฟป่าจะไม่มีพื้นที่ป่าไม้ป้องกันและเข้าไปในพื้นที่เมืองได้ เช่นเหตุการณ์ที่เกิดล่าสุดในอุทยานแห่งชาติติชูกา (Tijuca National Park) ในรีโอเดจาเนโร การฟื้นฟูป่าแอตแลนติกจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันภัยธรรมชาติเหล่านี้
การฟื้นฟูป่าในเมืองจึงทำให้เกิดประโยชน์มากมายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ ทั้งช่วยส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยควบคุมปริมาณน้ำ ทำให้ดินแข็งแรงขึ้น ลดความเสี่ยงจากการกัดเซาะ และลดผลกระทบจากปรากฏการณ์ ‘เกาะความร้อนในเมือง’ (ปรากฏการณ์ที่พื้นที่บริเวณสังคมเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบ)
ด้วยคลื่นความร้อนระอุและไฟป่าที่รุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งในบราซิล ทำให้รีโอเดจาเนโรมีอุณหภูมิถึง 41.1 องศาเซลเซียสในเดือนกันยายน ถือเป็นสถิติใหม่สำหรับในช่วงฤดูหนาว
“ผมคิดว่าอุณหภูมิความร้อนระอุในปัจจุบันอาจทำให้คนไม่สามารถอยู่รอดในรีโอได้แน่นอน หากไม่มีพื้นที่ป่าทดแทนเหล่านี้เข้ามาช่วย” ริเชียรี ซาร์โตรี (Richieri Sartori) ผู้ศึกษาประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวที่มีต่อเมืองกล่าว
อ้างอิง: theguardian , nytimes.com
