ประวัติศาสตร์ : เมื่อ ‘เขียน’ ได้ ก็ต้อง ‘แก้ไข’ ได้
...
LATEST
Summary
- ‘เป็ดนอกกะลา’ คือชุดเรื่องเล่าของเป็ดธรรมดาตัวหนึ่งที่อยู่อย่างเป็ด รู้อย่างเป็ด คิดอย่างเป็ด แต่มีความฝันและข้อสงสัยไกลกว่าภาชนะของตนเอง โดยวันนี้ เป็ดนอกกะลาเล่าถึงวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบ 45 ปีของเหตุการณ์ล้อมปราบสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน และการตรวจสอบ ‘ประวัติศาสตร์’ ฉบับจารีตนิยมผ่านสื่อและศิลปะของคนรุ่นใหม่ ที่ไปไกลกว่า ‘คนรุ่นก่อน’ ผู้ยังคอยกล่าวหาว่า คนรุ่นใหม่เกิดไม่ทันจะไปรู้ข้อเท็จจริงอะไร
...
วันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบ 45 ปีของเหตุการณ์ล้อมปราบสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน ที่สนามหลวงและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่เราเรียกเหตุการณ์นี้กันติดปากว่าเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ ซึ่งว่ากันว่าเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย เพราะมีผู้เสียชีวิต 40 กว่าราย ส่วนจำนวนผู้บาดเจ็บยังไม่มีตัวเลขแน่ชัด เพราะแหล่งข้อมูลหลายแห่งระบุไม่ตรงกัน แต่ก็เชื่อกันว่าอยู่ในหลักหลายร้อย และนี่ยังไม่นับความเจ็บปวดที่กลายเป็นบาดแผลทางใจของญาติสนิท ครอบครัว และคนใกล้ตัวของผู้สูญเสียสูญหายอีกไม่รู้เท่าไร
แม้จะเกิดทันเหตุการณ์ก็ตาม แต่ตอนนั้น ภารกิจใหญ่ในชีวิตน่าจะอยู่ที่การตั้งคอให้ได้ คลานให้ไกล และตั้งไข่หัดเดินให้สำเร็จมากกว่า จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น (พูดคำว่า “แม่” ให้ได้ก่อน)
แต่ตลอดเวลา 45 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ ‘6 ตุลา 19’ (และรวมถึงเหตุการณ์ ‘14 ตุลา 16’) อยู่ในการรับรู้มาโดยตลอด ทั้งจากเรื่องเล่าของพวกผู้ใหญ่ ทั้งจากหนังสือที่ได้อ่าน-เพลงที่ได้ฟัง ฯลฯ อีกทั้งตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็มีโอกาสได้ไปงานรำลึก 15- 20 ปี ได้ซื้อหนังสือมาอ่านจำนวนหนึ่ง ซึ่งนี่เป็นข้อพิสูจน์ว่า ถึงแม้จะเกิด (โต) ไม่ทัน แต่ประวัติศาสตร์นั้นสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจได้ หากเราต้องการที่จะเรียนรู้มัน
กลับมาที่วาระครบ 45 ปีเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ จะเห็นได้ว่าบรรยากาศปีนี้คึกคักมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกออนไลน์ ที่มีอะไรให้อ่านรู้-ดู-ฟังเยอะแยะไปหมด นอกจากการแทรกซึมไปได้ในทุกพื้นที่ทุกเวลา อันเป็นข้อดีของโซเชียลมีเดียแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ มีความแมส โดยถูกพูดถึงมากกว่าหลายปีที่ผ่านมานั้น มาจากบรรยากาศทางการเมืองของเราในรอบหลายเดือนมานี้ ทั้งการรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองก็ดี ทั้งการเคลื่อนไหวขององค์กรประชาธิปไตยต่างๆ ก็ดี หรือแม้แต่ปฏิกิริยาที่รัฐบาลมีต่อการชุมนุมเคลื่อนไหว ทั้งการดำเนินคดีที่ไร้หลักการ-ไม่มีความเป็นธรรม การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามยัดเยียดประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นแบบตัดตอน จงใจมองข้ามความสำคัญและบิดเบือนข้อเท็จจริง ก็ (ไม่) ดี
เหล่านี้เป็นเชื้อไฟที่ช่วยให้โหมกระพือให้คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามว่า ตกลงแล้วเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ มันเป็นอย่างไรกันแน่ และเพื่อหาคำตอบ พวกเขาจึงต้องเรียนรู้ ศึกษาประวัติศาสตร์จากแหล่งข้อมูลที่มากกว่า กว้างกว่า ลึกกว่า และแตกต่างไปจากข้อมูลเดิมๆ ที่รัฐเป็นคนจัดสรรให้ผ่านแบบเรียนต่างๆ ที่ปลูกฝังมาเป็นเวลานาน
หลังจากนั้นเมื่อรู้แล้ว ก็เป็นเรื่องของการเผยแพร่ บอกต่อ ด้วยการทำซ้ำ ตีความใหม่ ผ่านงานศิลปะหลายแขนงเพื่อให้เข้ากับบริบทร่วมสมัย ปรากฏการณ์ ‘6 ตุลา’ ที่กลายเป็นไวรัลมากๆ ในปีที่ 45 นี้ จึงเกิดขึ้นและเป็นไปด้วยประการฉะนี้
นานมาแล้ว ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยพูดถึงนิยามของการจดจำประวัติศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าคุณไม่เชื่อในประวัติศาสตร์-คุณตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อในประวัติศาสตร์ทั้งหมดไม่สงสัยอะไรเลย-คุณตาบอดทั้งสองข้าง” สิ่งที่อาจารย์ชาญวิทย์บอก (ไม่แน่ใจว่าอาจารย์จำมาจากใครอีกทีหรือเปล่า แต่เอาเป็นว่าเราจำมาจากการที่อาจารย์เป็นคนบอก) ก็พอจะตีความได้ว่า ‘ประวัติศาสตร์’ ในตัวมันเอง ก็ถือเป็นเรื่องเล่า-เรื่องแต่งเรื่องหนึ่งที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้จดจำ
ดังนั้น ในฐานะเรื่องเล่าที่ไม่ต่างอะไรจากนิยายหรือพงศาวดาร ที่ผู้ชนะเป็นฝ่ายเขียนและเป็นฝ่ายเลือกว่าอยากให้ผู้คนจดจำประวัติศาสตร์หรือเรื่องเล่านี้อย่างไร ในแง่มุมไหน การไม่เชื่อไม่สนใจเอาเสียเลยจึงถือเป็นเรื่องอันตราย แต่ในทางกลับกัน การเชื่อทั้งหมดโดยไม่ตั้งคำถามอะไรเลยนั้นอันตรายยิ่งกว่า เพราะเท่ากับว่าเรากำลังรับรู้ข้อมูลเพียงแค่ชุดเดียวโดยไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอข้อมูลจากมุมอื่น มิติอื่นเลย
การออกมาท้วงติงคนรุ่นใหม่ต่อกรณีการมอง ‘6 ตุลา’ ในปีนี้ของฝ่ายจารีตนิยมว่า ‘คนรุ่นใหม่เกิดไม่ทันจะไปรู้ข้อเท็จจริงอะไร’ นั้น ก็เป็นเหมือนการยืนกรานว่า ตนเองจะอยู่ในถ้ำมืดมิดต่อไป ปฏิเสธตะเกียงให้แสงสว่างที่คนรุ่นใหม่หยิบยื่นให้ แล้วก็ขยับก้อนหินปิดปากถ้ำเป็นการถาวร ยินดีที่ได้มืดบอดไปตลอดชีวิต
เพราะไม่ยอมรับว่า ประวัติศาสตร์นั้น แท้จริงมีสถานะเป็นของเหลว เคลื่อนไหวเป็นไปตามภาชนะที่ผู้เขียนกำหนดไว้ จารีตนิยมจึงพลาดโอกาสที่จะเปิดกะลา เปิดปากถ้ำเงยหน้ามองหาแสงสว่าง
ในฐานะที่ทำงานหนังสือ นิตยสาร ขีดๆ เขียนๆ มาค่อนชีวิต ขอยืนยันว่า อะไรที่ ‘เขียน’ ได้ ก็ย่อม ‘แก้ไข’ ได้ (ไม่อย่างนั้นจะมีบรรณาธิการไว้ทำไม) ‘ประวัติศาสตร์’ ก็เช่นเดียวกัน ตราบใดที่คำกริยาของมันยังเป็นคำว่า ‘เขียน’ อยู่ เมื่อนั้นมันก็ย่อมต้องถูกตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การ ‘แก้ไข’ ได้เสมอ
ดังนั้น จึงค่อนข้างเชื่อว่า ‘6 ตุลา’ ในปีที่ 45 นี้จะไม่ใช่ปีแรกที่ท้าทายประวัติศาสตร์ในแบบเดิม ปีต่อๆ ไป สิ่งที่ฝ่ายจารีตนิยมขีดเขียนไว้จะถูกตั้งคำถามและเผชิญกับความท้าทายมากกว่านี้
