การลุกฮือของประชาชนในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเมื่อปี 2011 แรกเริ่มเดิมทีมีเป้าหมายเพื่อขับไล่ผู้นำเผด็จการซึ่งยื้ออำนาจปกครองประเทศยาวนานหลายทศวรรษ แต่ในที่สุดก็กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่า ‘อาหรับสปริง’ (Arab Spring) ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างฉับพลันของการเมืองที่มีส่วนร่วมโดยภาคประชาชน จากจุดเริ่มต้นที่ตูนีเซีย ก่อนจะลามไปยังลิเบีย อียิปต์ เยเมน และซีเรีย
แต่การเดินขบวนของประชาชนซีเรียเพื่อต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมจบไม่สวยเหมือนประเทศอื่น เพราะถูกตอบโต้กลับอย่างรุนแรงจากประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ทายาทตระกูลการเมืองซึ่งปกครองซีเรียอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จนถูกเปรียบเป็นหนึ่งใน ‘ราชวงศ์การเมือง’ เทียบเท่ากับราชวงศ์อื่นๆ ในประเทศอาหรับ
อัล-อัสซาด สั่งจับกุมและกวาดล้างผู้ต่อต้านรัฐบาลด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน จนกลายเป็นชนวนให้ประชาชนจำนวนมากหันไปเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธเพื่อโค่นล้มรัฐบาล และกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 13 ปี
ผลพวงจากสงครามกลางเมืองซีเรียทำให้เกิด ‘วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัย’ เพราะมีผู้หนีภัยสงครามเดินทางไปประเทศต่างๆ รวมกว่า 130 ประเทศทั่วโลก โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีทั้งผู้ที่ไปถึงจุดหมายปลายทางและผู้ที่จบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าระหว่างอพยพ โดยเฉพาะการเสี่ยงตายล่องเรือออกสู่มหาสมุทร มีจำนวนมากตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงประชากรกลุ่มเปราะบางที่ควรได้รับการคุ้มครองอย่างเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงวัย
ส่วนชาวซีเรียอีกหลายล้านคนก็กลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศตัวเอง และต้องเผชิญกับวิกฤติหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะอดอยาก ขาดแคลนอาหาร ถูกลูกหลงจากการต่อสู้ด้วยอาวุธจนได้รับบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต ทั้งยังสูญเสียโอกาสในด้านต่างๆ ซึ่งกระทบต่อสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เพราะประเทศตกอยู่ในภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจและการเมืองนานข้ามทศวรรษ
นอกจากนี้ จำนวนผู้ลี้ภัยจากซีเรียที่หลั่งไหลเข้าไปในประเทศแถบยุโรปตั้งแต่ปี 2015 และมีจำนวนกว่า 2 ล้านคนในปัจจุบัน ได้กลายเป็นชนวนขัดแย้งทางการเมืองส่งผลให้นักการเมืองที่ชูอุดมการณ์ชาตินิยมต่อต้านผู้ลี้ภัยได้รับความนิยมในยุโรป ถึงขั้นได้รับเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาของหลายประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงสภายุโรปซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติให้กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เพราะผู้มีแนวคิดขวาจัดมองว่าการเปิดรับผู้ลี้ภัยเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งยังเป็นภาระใหญ่หลวงด้านเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคม
ปรากฏการณ์ ‘ยุโรปเลี้ยวขวา’ จึงทำให้นักสิทธิมนุษยชนและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศออกมาเตือนว่าแนวคิดขวาจัดอ้างอิงอุดมการณ์ชาตินิยมในยุโรปอาจส่งผลให้เกิดกระแสความเกลียดชังและเลือกปฏิบัติแบบเหมารวมกับชาวต่างชาติทั้งหมด และอาจเปิดช่องให้กลุ่มสุดโต่งขวาจัดยิ่งเติบโตและหาแนวร่วมได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกรณีของ ‘เยอรมนี’ เคยมีบทเรียนอันเลวร้ายจากความคลั่งเชื้อชาติและการกวาดล้างคนต่างเชื้อชาติในยุคนาซีมาก่อน ทำให้องค์กรพิทักษ์ด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ พากันจับตามองกระแสขวาจัดเพราะกลัวว่าจะลุกลามจนเกินควบคุม
ธันวาคม 2024 เผด็จการซีเรียก็ถูกโค่น เมื่อกลุ่มติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียนำกำลังบุกเข้ายึดกรุงดามัสกัสซึ่งเป็นเมืองหลวงของซีเรียได้สำเร็จ อดีตผู้นำ บาชาร์ อัล-อัสซาด ลี้ภัยไปรัสเซีย และกองทัพของอดีตรัฐบาลก็วางอาวุธไม่ต่อสู้กับกลุ่มกบฏ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าสงครามกลางเมืองซีเรียที่ยืดเยื้อมากว่า 13 ปีได้จบลงแล้ว
ประเด็นผู้ลี้ภัยจึงกลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาใหม่ เพราะกลุ่มขวาจัดในยุโรปเริ่มเสนอให้รัฐบาลทบทวนหรือระงับการอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยเอาไว้ก่อน เพื่อจะได้ไม่เพิ่มจำนวนผู้ลี้ภัยในประเทศ แต่องค์กรที่ดูแลผู้ลี้ภัยไม่เห็นด้วย และมองว่าการส่งคนกลับประเทศยังเร็วเกินไป
ถึงแม้ประเด็นผู้ลี้ภัยจะเป็นชนวนความขัดแย้งสำคัญในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) แต่ประเทศที่เปิดรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียมากสุด 3 อันดับแรกของโลกไม่ได้อยู่ในกลุ่ม EU หรืออย่างน้อยก็ยังไม่ได้อยู่ในกลุ่ม EU อย่างเป็นทางการ
ขณะที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอย่างน้อย 4 ประเทศที่รองรับผู้ลี้ภัยจากซีเรีย ได้แก่ มาเลเซีย 449 คน, ไทย 215 คน, ฟิลิปปินส์ 130 คน และอินโดนีเซีย 20 คน
โดยตัวเลขเหล่านี้อ้างอิงจากสถาบัน Arab Center Washington DC ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ฉบับเผยแพร่ล่าสุดต้นปี 2024 มาแยกย่อยอีกต่อหนึ่ง
ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา กลุ่มการเมืองขวาจัดได้รับเลือกตั้งเพิ่มขึ้นในหลายประเทศแถบยุโรป และนโยบายที่กลุ่มขวาจัดส่วนใหญ่นำเสนอเป็นจุดขายมีประเด็นร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ การต่อต้านผู้อพยพลี้ภัย ซึ่งบางประเทศอาจจะเรียกอย่างแตกต่างออกไปว่าเป็นนโยบายด้านความมั่นคง หรือการคัดกรอง ‘ภัยคุกคาม’ ความมั่นคงออกไปจากสังคม
นอกเหนือจากรัฐสภายุโรป (EU Parliament) ที่กลุ่มการเมืองขวาจัดได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2024 ยังมีอย่างน้อย 8 ประเทศสมาชิก EU ที่พรรคขวาจัดได้รับเสียงข้างมากจนกลายเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้แก่ อิตาลี ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ สโลวาเกีย ฮังการี โครเอเชีย และสาธารณรัฐเช็ก
แต่ประเทศที่ฝ่ายขวาจัดประสบความสำเร็จมากที่สุดน่าจะเป็นอิตาลี เพราะ จอร์จา เมโลนี นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลีซึ่งได้รับเลือกมาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2022 และยังดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นหนึ่งในผู้สร้างมาตรฐานใหม่ในฐานะผู้นำรัฐบาล EU รายแรกที่ส่งกลับผู้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยในประเทศตัวเองทันทีที่เข้าทำเนียบทำงานในตำแหน่งนายกฯ โดยผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นชาวแอลเบเนียที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นฐานด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลอิตาลีซึ่งนำโดยเมโลนีผลักดันการทำข้อตกลงร่วมกับแอลเบเนียจนสำเร็จ โดยกำหนดเงื่อนไขว่าแอลเบเนียจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดตั้งศูนย์พักพิงผู้อพยพลี้ภัยชั่วคราวเพื่อทำหน้าที่คัดกรองผู้ที่ควรได้รับความคุ้มครองหรือช่วยเหลือในฐานะผู้ลี้ภัยจริงๆ เท่านั้น ส่วนผู้อพยพที่ต้องการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อเข้าไปหางานทำหรือแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในชาติยุโรปนั้นถือว่าเป็นผู้อพยพที่ ‘ไม่มีความจำเป็นต้องเปิดรับ’ และนโยบายนี้ของอิตาลีได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมากจากแกนนำรัฐบาลขวาจัดในยุโรป
อีกหนึ่งในผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง คือ เกียร์ต ไวลเดอร์ส จากพรรคเพื่อเสรีภาพ (Partij voor de Vrijheid: PVV) แห่งเนเธอร์แลนด์ ได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในปี 2023 และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่ถูกกล่าวขานว่า ‘ขวาจัดที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองชาวดัตช์’ โดยเขาเป็นที่จดจำจากการเปรียบเปรยออกสื่อว่า คัมภีร์อัล-กุรอานของศาสนาอิสลามนั้นเทียบเท่ากับ Mein Kampf หรือบทบันทึกชีวประวัติและแถลงการณ์ทางการเมืองของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมนีซึ่งก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ในอดีตสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลายเป็นหนังสือที่ห้ามพิมพ์เผยแพร่ในเยอรมนีปัจจุบัน
ล่าสุดรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ที่มีแกนนำเป็นพรรคขวาจัด ผลักดันการปรับแก้กฎหมายผู้อพยพได้สำเร็จ 3 ฉบับเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2024 โดยกฎหมายใหม่นี้ได้ยกเลิกสิทธิของผู้อพยพลี้ภัยในการขออนุญาตเป็นผู้พำนักอาศัยถาวรในเนเธอร์แลนด์ และปรับลดจำนวนปีที่จะอนุญาตให้ผู้อพยพลี้ภัยพำนักในเนเธอร์แลนด์จาก 5 ปีเหลือแค่ 3 ปี ซึ่งเงื่อนไขนี้จะทำให้ผู้ลี้ภัยต้องยื่นเรื่องขอต่อสถานะของตัวเองเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังผลักดันระบบคัดกรองผู้อพยพลี้ภัยแบบใหม่โดยแบ่งเงื่อนไขในการพิจารณามอบสถานะผู้ลี้ภัยออกเป็น 2 ระดับ (Two-Tier) คือ ภัยคุกคามส่วนบุคคลกับภัยสงคราม แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์มองว่ามาตรการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ยื่นเรื่องขอลี้ภัย เนื่องจากถูกคุกคามหรือตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิตด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือเพศสภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนน้อยกว่าผู้ลี้ภัยสงครามหรือความขัดแย้งทางการเมือง จึงมีผู้กังวลว่ากฎหมายนี้จะเอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือเตะถ่วงกระบวนการพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัยสงครามซึ่งมีจำนวนมากและต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน
ยังมีกรณีของออสเตรียที่พรรคประชานิยมขวาจัดอย่างพรรคเสรีภาพออสเตรีย (Freedom Party of Austria: FPÖ) ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งเดือนกันยายน 2024 ชนะพรรคประชาชนออสเตรีย (Austrian People's Party: ÖVP) ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมขวากลางที่เคยเป็นแกนนำรัฐบาลมาก่อน โดยนโยบายหาเสียงที่สำคัญของ FPÖ คือ “ปิดพรมแดน รับประกันความปลอดภัย” และเสนอให้มีการเนรเทศ ‘ชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับเชิญ’ ออกไปจากประเทศ
เฮอร์เบิร์ต คิกเคิล หัวหน้าพรรค FPÖ ยังเคยประกาศด้วยว่า วิกตอร์ ออร์บัน ผู้นำฮังการีซึ่งอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 2010 และเป็นหนึ่งในผู้นำ EU ไม่กี่คนที่มีจุดยืนสนับสนุนรัสเซียอย่างชัดเจน (แต่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นผู้บ่อนทำลายประชาธิปไตยในประเทศตัวเอง) คือแบบอย่างผู้นำที่เขาชื่นชม เนื่องจากคิกเคิลเองก็เป็นหนึ่งในผู้ประกาศตัวว่า ‘โปรรัสเซีย’ และต่อต้านอิสลาม
ส่วนผลงานที่โดดเด่นของพรรค FPÖ คือการเรียกร้องผลักดันให้ยกเลิกการจัดคอนเสิร์ตของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ 3 ครั้งในกรุงเวียนนาเมื่อเดือนสิงหาคม 2024 โดยอ้างเหตุผลว่าการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินดังระดับโลกอาจเป็นเป้าหมายการก่อการร้ายจากกลุ่มอิสลามนิยม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
วันที่ 8 ธันวาคม 2024 กองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย นำโดยกลุ่ม ฮายัต ทาห์รีร์ อัลชาม (Hayat Tahrir al-Sham: HTS) ได้นำกำลังบุกยึดกรุงดามัสกัส เมืองหลวงเดิมของซีเรีย และเป็นฐานที่มั่นของรัฐบาล บาชาร์ อัล-อัสซาด โดยปราศจากการต่อต้านของกองทัพรัฐบาล นำไปสู่การประกาศชัยชนะและประกาศอิสรภาพ และกลุ่ม HTS ยังได้ปล่อยตัวนักโทษในเรือนจำดามัสกัส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขังเพราะต่อต้านอดีตรัฐบาล อัล-อัสซาด นำไปสู่การรวมตัวตามท้องถนนเพื่อประกาศชัยชนะของประชาชน
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ปฏิบัติการยึดซีเรียของกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้นำหลายประเทศที่เคยแถลงประณามประธานาธิบดีเผด็จการแห่งซีเรียก็ร่วมแสดงความยินดีกับการต่อสู้ของกลุ่มกบฏที่สามารถโค่นล้มผู้นำอย่าง อัล-อัสซาด ได้สำเร็จ เพราะนี่คือหนึ่งในผู้นำที่ยื้ออำนาจและมีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนยาวเป็นหางว่าว ทั้งยังเป็นผู้ถูกฟ้องร้องในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในฐานะอาชญากรสงคราม เพราะมีเบาะแสบ่งชี้ว่าเขาคือผู้สั่งการให้ใช้อาวุธเคมีกับกลุ่มผู้ต่อต้านในปี 2016
สิ่งที่ตามมาในเวลาไล่เลี่ยกันคือ ข้อเสนอให้พิจารณาทบทวนนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในประเทศแถบยุโรป โดยสำนักข่าว Euro News รายงานว่า สส. และ สว.บางส่วนในเยอรมนี อิตาลี สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และเบลเยียม เริ่มพูดถึงการระงับกระบวนการพิจารณามอบสถานะผู้ลี้ภัยให้แก่ชาวซีเรียที่ยื่นเรื่องขอพำนักในประเทศแถบยุโรปในช่วงที่ผ่านมา โดยมองว่าไม่ควรอนุมัติสถานะผู้ลี้ภัยเพิ่มเติม เพราะสงครามกลางเมืองซีเรียได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงควรรอให้รัฐบาลใหม่ของซีเรียดำเนินการรับตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศไป
รีมา ฌามูส์ อิมเซส์ ผู้อำนวยการ UNHCR ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ประเมินว่า ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2025 อาจมีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียประมาณ 1 ล้านคนที่ขอเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ แต่ขณะเดียวกันก็เตือนประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะชาติยุโรป ที่กระแสความนิยมในกลุ่มการเมืองขวาจัดกำลังเฟื่องฟู อย่าเพิ่งรีบร้อนดำเนินการผลักดันผู้ลี้ภัยซีเรียกลับประเทศ เพราะสถานการณ์ในซีเรียยังไม่ชัดเจน และยังรอการฟื้นฟูอีกหลายด้าน
ที่ผ่านมา องค์กรทางการเมือง โครงสร้างสาธารณูปโภค และสภาพเศรษฐกิจซีเรียบอบช้ำอย่างหนักจากการทำสงครามกลางเมืองยืดเยื้อข้ามทศวรรษ เช่นเดียวกับการคว่ำบาตรจากนานาประเทศต่ออดีตรัฐบาลซีเรียและกลุ่มติดอาวุธที่เป็นแนวร่วมกับเครือข่ายก่อการร้ายที่หลายประเทศขึ้นบัญชีดำ ทำให้ประชาชนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะอดอยาก ขาดแคลนอาหาร ต้องอาศัยการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศ
ที่สำคัญคือ ซีเรียเผชิญกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในปี 2023 ส่งผลให้บ้านเรือนจำนวนมากถูกทำลาย พื้นที่หลายส่วนไม่ปลอดภัยต่อการกลับไปพำนักอาศัย ซึ่งเรื่องนี้ซ้ำเติมให้ผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDP) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกนับล้านคน และรัฐบาลซีเรียที่จะมาบริหารต่อในอนาคตก็ยังไม่รู้ว่าจะจัดตั้งได้อย่างเรียบร้อยหรือไม่ เพราะเรื่องนี้อาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองระลอกใหม่ได้เช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายรายประเมินว่าสถานการณ์ในซีเรียยังอยู่ในภาวะผันผวนที่ยากจะสงบ เพราะการเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการไปสู่การปกครองที่ขั้วอำนาจต่างๆ เห็นชอบร่วมกันได้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยมีการไล่เรียงกลุ่มติดอาวุธที่เข้มแข็งในซีเรียช่วงสงครามกลางเมือง แบ่งได้อย่างน้อย 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มสามารถยึดครองพื้นที่จัดตั้งเขตปกครองตนเองมาได้ระยะหนึ่งแล้ว การรวมตัวจัดตั้งรัฐบาลที่มีความปรองดองสมานฉันท์เพื่อปกครองซีเรียร่วมกันจึงอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะแต่ละกลุ่มมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน
แกนนำการบุกยึดพื้นที่สำคัญชองซีเรีย
กลุ่มนักรบเชื้อสายเคิร์ด
กลุ่มมุสลิมนิกายซุนนี
อดีตกองทัพของ บาชาร์ อัล-อัสซาด
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายรายประเมินว่าสถานการณ์ในซีเรียยังอยู่ในภาวะผันผวนที่ยากจะสงบ เพราะการเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการไปสู่การปกครองที่ขั้วอำนาจต่างๆ เห็นชอบร่วมกันได้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยมีการไล่เรียงกลุ่มติดอาวุธที่เข้มแข็งในซีเรียช่วงสงครามกลางเมือง แบ่งได้อย่างน้อย 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มสามารถยึดครองพื้นที่จัดตั้งเขตปกครองตนเองมาได้ระยะหนึ่งแล้ว การรวมตัวจัดตั้งรัฐบาลที่มีความปรองดองสมานฉันท์เพื่อปกครองซีเรียร่วมกันจึงอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะแต่ละกลุ่มมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน
ยึดครองพื้นที่ขนาดใหญ่สุด และเป็นแกนนำการบุกยึดพื้นที่กรุงดามัสกัส เมืองอเลปโป และเมืองฮอม ที่เคยอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลเผด็จการ บาชาร์ อัล-อัสซาด เป็นกลุ่มอิสลามนิยมที่เคยเป็นแนวร่วมของกลุ่มนูซราฟรอนต์ หรือ จาบัต อัล-นุสรา (Jabhat an-Nusra) พันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธอัลกออิดะห์ ซึ่งหลายประเทศขึ้นบัญชีเป็นเครือข่ายก่อการร้าย เพราะอยู่เบื้องหลังการวินาศกรรม 9/11 ทำให้นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเกรงว่า HTS จะผลักดันแนวทางการปกครองซีเรียโดยยึดจารีตศาสนาอิสลาม
ประเด็นนี้คือเรื่องที่ HTS ต่างจากอดีตรัฐบาลเผด็จการซีเรียอย่างมาก เพราะตระกูล อัล-อัสซาด ปกครองซีเรียแบบบรัฐโลกวิสัย (Secular State) ที่ไม่ยึดโยงกับศาสนาใด และที่ผ่านมาอัล-อัสซาด ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียและอิหร่าน ซึ่งต้องการใช้ซีเรียเป็นฐานทัพลำเลียงกำลังพลและอาวุธเพื่อขยายอิทธิพลในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เมื่อ HTS กลายเป็นขั้วอำนาจสำคัญในการล้มล้างอดีตรัฐบาล อัล-อัสซาด หลายฝ่ายจึงเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับที่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดอัฟกานิสถานสำเร็จในเดือนสิงหาคม 2021แต่กลับส่งผลให้สิทธิมนุษชนในหลายด้านถดถอย โดยเฉพาะสิทธิสตรีและสิทธิในการนับถือศาสนา
กองกำลังติดอาวุธอีกกลุ่มซึ่งมีฐานที่มั่นในซีเรีย ได้แก่กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (SDF) ยึดครองพื้นที่หลายเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียเอาไว้ได้ และเป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์แตกต่างจาก HTS อย่างมากเพราะเป็นการรวมตัวของกลุ่มนักรบเชื้อสายเคิร์ดที่ชูอุดมการณ์ประชาธิปไตย จึงได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการจากสหรัฐอเมริกา
ส่วนกองกำลังติดอาวุธขั้วที่ 3 ได้แก่ กลุ่มกองทัพแห่งชาติซีเรีย (SNA) เป็นกลุ่มมุสลิมนิกายซุนนีที่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี มีฐานที่มั่นอยู่ทางเหนือของซีเรียซึ่งมีพรมแดนติดกับตุรกี และกลุ่มนี้เป็นปฏิปักษ์กับ SDF เพราะกลุ่มหลังขัดแย้งกับรัฐบาลตุรกีเรื่องการแบ่งแยกดินแดนและการเรียกร้องสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองของชาวเคิร์ดในตุรกี ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่า SNA อาจไม่ยอมรับการปกครองแบบจารีตสุดโต่งของกลุ่ม HTS และไม่อาจหลอมรวมกับ SDF ที่มีเชื้อสายเคิร์ดได้
ขั้วอำนาจที่ 4 คือ กองทัพรัฐบาลซีเรีย (NDF) ซึ่งเดิมทีอยู่ภายใต้การควบคุมของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด และสมาชิกส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์อะลาวี ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยแต่มีอำนาจมากในซีเรีย เพราะเป็นนิกายเดียวกับที่ตระกูล อัล-อัสซาด นับถือ แต่กองทัพเผชิญความระส่ำระสายอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากประเทศมหาอำนาจที่เคยเป็นแนวร่วมของรัฐบาล อัล-อัสซาด ทยอยลดระดับความช่วยเหลือ ทำให้กองทัพซีเรียอ่อนแอตามไปด้วย
ประเทศที่เคยสนับสนุนกองทัพรัฐบาลซีเรีย ได้แก่ รัสเซียและอิหร่าน แต่รัสเซียเริ่มลดทอนความสำคัญของสมรภูมิในซีเรีย ไม่ได้ส่งความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธศาสตร์ต่างๆ ให้แก่กองทัพซีเรียอย่างเต็มที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะหันไปทุ่มเทกับการทำสงครามยูเครนแทน ขณะที่อิหร่านถูกอิสราเอลตอบโต้อย่างหนักด้วยการตัดกำลังของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สำคัญของอิหร่าน จึงไม่ได้สนับสนุนกองทัพซีเรียเหมือนช่วงแรกที่เกิดสงครามกลางเมือง
นักวิเคราะห์มองว่า การจัดตั้งรัฐบาลซีเรียที่จะอยู่รอดปลอดภัยได้จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากขั้วอำนาจทั้ง 4 กลุ่มนี้เป็นหลัก แม้ว่า อาบู โมฮัมหมัด อัล-โจลานี ผู้นำ HTS จะประกาศว่ากลุ่มของเขาสนับสนุนแนวคิดเรื่องการปรองดองสมานฉันท์ และจะไม่นำแนวทางจารีตสุดโต่งของศาสนาอิสลามมาใช้ในการปกครองซีเรียในอนาคต ทั้งยังจะพิจารณาเรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองตนเอง แต่ก็ยังมีผู้กังวลว่าเมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงอาจทำไม่ได้ เพราะแต่ละกลุ่มมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนและแตกต่างกันมาก
เมื่อย้อนกลับไปดูหลายๆ ประเทศที่ร่วมปรากฏการณ์อาหรับสปริงก็จะเห็นว่าการล้มล้างรัฐบาลเผด็จการสำเร็จไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าหลังจากนั้นประเทศจะมีความสงบสุขและปรองดองโดยทันที โดยเฉพาะถ้าขั้วอำนาจที่ยังเข้มแข็งไม่อาจหาข้อตกลงกันได้ ก็อาจเกิดสงครามกลางเมืองรอบใหม่ หรืออาจบ่มเพาะกลุ่มก่อความรุนแรงสุดโต่งขึ้นมาใหม่อีกหลายกลุ่ม
นักวิเคราะห์ต่างชาติจึงเตือนให้ขั้วอำนาจต่างๆ ในซีเรียพยายามหาทางแสวงจุดร่วมและสงวนจุดต่างให้ได้โดยไม่ก่อศึกสงครามรอบใหม่ เพราะทั้งประชาชนและประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการพัฒนาไปมากแล้วในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ส่วนกระแสยุโรปเลี้ยวขวาเพราะประเด็นผู้ลี้ภัยอาจยังอยู่ต่อไปอีกนาน เพราะการส่งกลับผู้ลี้ภัยกว่า 2 ล้านคนเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและอาจขัดต่อหลักกฎหมายสากล