Humberger Menu

รำลึกถึง Random Access Memories อัลบั้มสุดท้ายจากคู่หูอิเล็กทรอนิกส์ Daft Punk

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Subculture

Culture

17 พ.ค. 64

creator
ศรัณยู ตรีสุคนธ์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • แม้ว่า Daft Punk จะโลดแล่นอยู่ในวงการเพลงมานาน 27 ปี และเคยสร้างสรรค์สตูดิโออัลบั้มออกมาเพียง 4 ชุดเท่านั้น แต่ทุกชุดก็ถือเป็นงานเพลงที่ปฏิวัติวงการเพลงเต้นรำร่วมสมัยได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะ Homework (1997) ที่ช่วยจุดกระแสดนตรี เฟรนช์ เฮาส์ ก่อนจะตามมาด้วย Discovery (2001) และ Human After All (2005)
  • เป็นเวลานานถึง 8 ปีเต็มกว่าที่ Daft Punk จะเปิดตัวอัลบั้มชุดที่ 4 -ซึ่งไม่มีใครคิดว่าจะเป็นชุดสุดท้ายของวง- อย่าง Random Access Memories (2013) ที่กลายมาเป็นงานเพลงชิ้นเอกแบบ ‘ขึ้นหิ้งในทันใด’ (Instant Classic) สำหรับวงการดนตรียุคนั้น ก่อนที่พวกเขาจะประกาศยุบวงอย่างไม่มีใครได้ทันตั้งตัวเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา
  • และเนื่องในโอกาสที่ 17 พฤษภาคมนี้ เป็นวันที่อัลบั้มสุดท้ายของพวกเขาออกวางจำหน่ายครบรอบ 8 ปี เราจึงขอย้อนไปสำรวจที่มาของวงดนตรีที่ถือได้ว่าเป็น ‘ตำนาน’ อีกบทหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีเต้นรำวงนี้กัน

...


นับตั้งแต่คลับ Warehouse ถือกำเนิดขึ้นมาในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 1977 การนำดนตรีดิสโก้มามิกซ์เข้ากับดนตรีโซลและคลาสสิก ร็อก ก็ก่อให้เกิด เฮาส์ มิวสิก (House Music) ขึ้นมาตามชื่อท้ายของคลับในตำนานแห่งนี้

ในขณะนั้น แฟรงกี นักเคิลส์ ดีเจคนดังแห่งยุค 80 คงไม่รู้ด้วยซ้ำว่า การนำบีตของดนตรีดิสโก้มาใส่ไว้กับดนตรีหลายๆ แนวของเขา จะส่งอิทธิพลอย่างแรงกล้าต่อวัฒนธรรมเพลงป๊อปในช่วงกลางยุค 90 และการที่ จิออร์จิโอ โมโรเดอร์ เคยโปรดิวซ์งานเพลงในแนวดิสโก้หลายๆ ชุดของ ดอนนา ซัมเมอร์ จากช่วงปลายยุค 70 จะทำให้ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทกับดนตรีป๊อปมากขึ้น -- ซึ่งทั้งหมดนี้นำไปสู่การเติบโตของดนตรีเต้นรำยุคโพสต์ดิสโก้ (Post-disco) ที่ก่อให้เกิดดนตรี เฮาส์, ดับ (Dub) ไปจนถึง เทคโน มิวสิก

Daft Punk (ดาฟต์ พังก์) ถือเป็นวงดนตรีวงแรกๆ ในช่วงปลายยุค 90 ที่ปลุกกระแสดนตรีเฮาส์จากยุคคลาสสิกให้กลายเป็นที่นิยมถึงขีดสุดด้วยอัลบั้ม Homework (1997) ที่อบอวลไปด้วยดนตรี เฟรนช์ เฮาส์, เทคโน และ อิเล็กทรอนิกส์ มิวสิก ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา ทิศทางของ ‘ดนตรีเต้นรำ’ ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยมีวงของพวกเขาเป็นหัวหอกสำคัญ

และนี่คือที่มาของวงดนตรีที่ถือได้ว่าเป็น ‘ตำนาน’ อีกบทหนึ่งในประวัติศาสตร์ดนตรีเต้นรำวงนี้


The Beginning : ช่วงเริ่มต้นของดนตรีอิเล็กโทรนิกส์อันแสนฉูดฉาด

ในปี 1992 โธมัส แบงกอลเตอร์ และ กีย์-มานูเอล เดอ โฮเมม-คริสโต ตั้งวงร็อกที่มีชื่อว่า Darlin’ ขึ้นมา โดยแบงกอลเตอร์เล่นเบสส์ โฮเมม-คริสโตเล่นกีตาร์ พร้อมด้วยมือกีตาร์อีกคนหนึ่งคือ โลรองต์ แบรนโควิตซ์ แต่ Darlin’ เป็นวงที่มีอายุสั้นมากคือราว 6 เดือนเท่านั้น โดยเป็นวงที่มีเพลงออกมาแค่ 4 เพลง และเคยแสดงสดแค่ 2 ครั้ง

เดฟ เจนนิงส์ นักวิจารณ์เพลงแห่งนิตยสาร Melody Maker ในสมัยนั้น เป็นผู้ตั้งชื่อวง Daft Punk ให้แบบไม่ตั้งใจ โดยการรีวิวเพลงของวง Darlin’ ว่าเป็นเพลง “ขยะพังก์โง่ๆ” (daft punky trash) แต่แทนที่จะโกรธ คู่หูคู่นี้กลับมองว่าเป็นเรื่องที่ตลกดี จนกระทั่ง Darlin’ มีอันต้องยุบวงไปเพราะแบรนโควิตซ์ลาออกจากวงไปอยู่กับ Phoenix ส่งผลให้สมาชิกที่เหลืออีก 2 คนหยิบชื่อที่เจนนิงส์ด่าทอแบบเสียๆ หายๆ มาตั้งเป็นชื่อวงใหม่ ซึ่งเป็นตอนที่ทั้งคู่หันไปเรียนรู้ในการเล่นดนตรีจาก ดรัม แมชชีน และ ซินธิไซเซอร์ เพิ่มเติม

Daft Punk จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1993 ภายใต้สถานะของคู่หูอิเล็กทรอนิกส์แนวเต้นรำ ที่สวม ‘หน้ากาก’ ปิดบังใบหน้าของตัวเองอยู่ตลอดเวลาที่ออกสื่อ เพราะไม่อยากให้ผู้คนสนใจรูปลักษณ์หรือชีวิตส่วนตัวของพวกเขา มากไปกว่างานเพลง

แม้ว่า Daft Punk จะโลดแล่นอยู่ในวงการเพลงมานาน 27 ปี และเคยสร้างสรรค์สตูดิโออัลบั้มออกมาเพียง 4 ชุดเท่านั้น แต่ทุกชุดก็ถือเป็นงานเพลงที่ปฏิวัติวงการเพลงเต้นรำร่วมสมัยได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะ Homework ที่ได้เรตคะแนนสูงถึง 9.2 เต็ม 10 จาก Pitchfork ซึ่งถือเป็นสื่อดนตรีที่นับว่า ‘เขี้ยว’ ที่สุดในการให้คะแนน โดยมันยังถือเป็นอัลบั้มชุดแรกๆ ที่ช่วยจุดกระแสดนตรี เฟรนช์ เฮาส์ หรือดนตรีเฮาส์ในแบบฝรั่งเศส ผ่านการผสมผสานกันของดนตรีแนวเทคโนและโปรเกรสซีฟ เฮาส์ ซึ่งวงดนตรีที่ขึ้นชื่อและร่วมบุกเบิกดนตรีแนวนี้ในภายหลัง ก็เช่น Cassius, Modjo และ เบนจามิน ไดมอนด์

นอกจากนี้ ใน Homework ก็ยังมีกลิ่นอายของดนตรีแบบ บิ๊ก บีต (Big Beat) ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมอย่างสูงระหว่างช่วงกลางยุค 90 อยู่ด้วย โดยเพลงอย่าง Revolution 909, Da Funk และ Around the World ได้กลายเป็นเพลงเต้นรำที่ฟังเมื่อไร ก็ยังทันสมัยอยู่


เฟรนช์ เฮาส์ ยังคงเป็นแนวเพลงหลักใน Discovery (2001) อัลบั้มชุดที่ 2 ของวง แต่ด้วยความที่ทั้งแบงกอลเตอร์และโฮเมม-คริสโตต่างก็เป็นนักฟังเพลงตัวฉกาจ งานเพลงชุดนี้จึงใช้ ‘แซมเพิล’ (Sample - ท่อนดนตรีหรือท่อนร้องจากเพลงอื่นๆ) มามิกซ์และบิดซาวด์ให้เข้ากับหลายๆ เพลงในอัลบั้ม โดยเน้นไปที่งานเพลงปลายยุค 70 อย่าง I Love You More ของศิลปินแนวแจ๊ซ/ฟังก์อย่าง จอร์จ ดุก (ถูกนำมาใช้ในเพลง Digital Love); Cola Bottle Baby ในแนวฟังก์/โซลของ เอ็ดวิน เบิร์ดซอง (ในเพลง Harder, Better, Faster, Stronger); Can You Imagine ของวงอาร์แอนด์บี The Imperials (ในเพลง Crescendolls) หรือ More Spell On You ของศิลปินดิสโก้อย่าง เอ็ดดี จอห์นส์ ที่ถูกนำมาใช้เป็นแซมเพิลในเพลงฮิตที่สุดเพลงหนึ่งของวงอย่าง One More Time (แม้ว่าชื่อของจอห์นส์จะไม่ได้ปรากฏอยู่ในเครดิตอัลบั้มก็ตาม) -- อนึ่ง ในอัลบั้มนี้ ทั้งคู่ยังเปลี่ยนมา 'สวมใส่หมวกกันน็อคจนดูเหมือนหุ่นยนต์' เป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งได้กลายเป็นภาพจำของพวกเขาในอีกตลอดสองทศวรรษถัดมา

Human After All (2005) น่าจะเป็นอัลบั้มที่มีเพลงฮิตน้อยที่สุดของ Daft Punk เพราะทางวงได้ลดทอนอิทธิพลของ เฟรนช์ เฮาส์ ซึ่งเป็นแนวดนตรีหลักของอัลบั้มทุกชุดออกไปค่อนข้างมาก และหันไปหาแนวเพลง คลาสสิก ร็อก ที่เป็นการใช้กีตาร์เข้ามาแทนที่ ...แต่ถึงอย่างนั้น อัลบั้มนี้ก็มีเพลงดังอย่าง Robot Rock และ Technologic ที่มีดนตรีเทคโนและอิเล็กทรอนิกส์ยุคเก่าผสมอยู่ ซึ่งการนำเทคโนยีดนตรีอนาล็อกและดิจิตอล หรือก็คือดนตรีร็อกยุคเก่ามามิกซ์เข้ากับดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ร่วมสมัย ก็ได้ก่อเกิดเป็นซาวด์ดนตรีในรูปแบบใหม่ขึ้นมา

งานเพลงชุดนี้นับว่ามีอิทธิพลต่อดนตรีแนว EDM ในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย แต่น่าเสียดายตรงที่ว่ามันเป็นงานเพลงที่ขาดชั้นเชิงด้านความคิดสร้างสรรค์และความสดใหม่ไปเยอะ หากเทียบกับอัลบั้ม 2 ชุดก่อนหน้านี้


The Masterpiece : ผลงานชิ้นเอกที่เปรียบดั่งดาวดวงเด่นบนฟากฟ้า

เป็นเวลานานถึง 8 ปีเต็มกว่าที่ Daft Punk จะเปิดตัวอัลบั้มชุดที่ 4 -ซึ่งไม่มีใครคิดว่าจะเป็นชุดสุดท้ายของวง- อย่าง Random Access Memories (2013) ที่กลายมาเป็นงานเพลงชิ้นเอกแบบ ‘ขึ้นหิ้งในทันใด’ (Instant Classic) สำหรับวงการดนตรียุคนั้น

จริงอยู่ที่พื้นฐานของอัลบั้มนี้ยังคงเป็น ‘ดนตรีเต้นรำ’ แต่ด้วยความแพรวพราวจากเทคนิคการบันทึกเสียงและการนำเอาดนตรีในตระกูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคลาสสิก ร็อก, อิเล็กทรอนิกส์, ดิสโก้, ฟังก์ และโซล มาหลอมรวมอยู่ในอัลบั้มชุดเดียวกันได้อย่างมีเอกลักษณ์และเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิง

ทอดด์ เอ็ดเวิร์ดส์ โปรดิวเซอร์แนวเฮาส์/การาจในลอสแองเจลิสที่ร่วมทำเพลง Fragments of Time ในอัลบั้มชุดนี้ ได้เผยขั้นตอนในการทำเพลงโดยรวมว่า “เพลงทุกเพลงในอัลบั้มนี้ได้รับการบันทึกเสียงโดยศิลปินมืออาชีพ โครงสร้างของดนตรีทั้งเสียงกลอง, เบสส์, ออร์แกน, กีตาร์ และอื่นๆ ถูกวางไว้อย่างเป็นขั้นตอนเพื่อให้ซาวด์ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โธมัสและผมใช้เวลา 5 ชั่วโมงเพื่อแต่งเนื้อเพลง ท่อนริฟฟ์ (ท่อนบรรเลงของกีตาร์ที่ถูกขับเน้นให้โดดเด่น) และท่วงทำนองต่างๆ”

ปีเตอร์ (ฟรังโก) ที่มิกซ์อัลบั้ม Discovery ทำหน้าที่บันทึกเสียงดนตรีทุกชิ้น มีการทดลองหลายๆ อย่างเพื่อให้การบันทึกเสียงออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด โดยมันจะมีซาวด์จากเครื่องสังเคราะห์เสียงน้อยมากๆ และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ แทนที่จะนำเอาเพลงของศิลปินคนอื่นมาใช้เป็นแซมเพิล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งผมและวง Daft Punk ถนัด เราตัดสินใจทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นก็คือการทำแซมเพิลขึ้นมาเองโดยได้รับอิทธิพลทางดนตรีจากศิลปินที่เราชื่นชอบและนำมาใส่ไว้ในเพลงอีกทีในภายหลัง”

“ท้ายที่สุดแล้ว ทุกเพลงในอัลบั้มก็เหมือนกับการใช้แซมเพิลจากเพลงของศิลปินคนอื่น ทั้งๆ ที่มันไม่มีการใช้แซมเพิลอะไรเลย ผมเป็นโปรดิวเซอร์มานานมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าการทำงานเพลงของ Daft Punk ในอัลบั้มชุดนี้สอนผมได้เยอะมาก การทำงานกับพวกเขาทำให้ผมกลายเป็นนักเรียนดนตรีไปเลย และมันทำให้ผมตระหนักได้ว่ามันยังมีสิ่งที่ผมต้องเรียนรู้อีกมากในเรื่องของการทำเพลง ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ”

Random Access Memories ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่มีการบันทึกเสียงที่ดีที่สุดชุดหนึ่งเท่าที่เคยมีการทำกันมาในประวัติศาสตร์วงการเพลง ด้วยวิธีการบันทึกเสียงที่พิถีพิถันและความสามารถของนักดนตรี เสียงไม้กลองที่ตีลงบนสแนร์ ดรัม, เบสส์ ดรัม, ฟลอร์ ทอม และอื่นๆ จะทำให้นักฟังเพลงสัมผัสได้ทันทีถึงดนตรีแนวโซลหรือดนตรีจากยุคโมทาวน์ แม้ว่าจะไม่มีเสียงเครื่องดนตรีชนิดอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ซึ่งหากได้ฟังอัลบั้มชุดนี้ผ่านเครื่องเสียงชั้นเลิศ เราจะได้ยินคลื่นเสียงของกลองและฉาบที่เหมือนกำลังถูกนักดนตรี ‘ตี’ อยู่ตรงเบื้องหน้าของผู้ฟัง ไม่ต่างจากเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ ที่เราได้ยินจากอัลบั้มชุดนี้

“พวกเขาแค่บอกว่าต้องการซาวด์แบบไหน และบันทึกเสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นให้ฟังเป็นไกด์ก่อน เพราะอยากให้อัลบั้มชุดนี้มอบความรู้สึกที่นึกไปถึงดนตรียุคเก่า เนี้ยบเนียนฟังได้เรื่อยๆ และที่สำคัญที่สุดก็คือมันต้องทันสมัยด้วย พวกเขาต้องการให้ผมบันทึกเสียงเครื่องดนตรีทั้งในแบบอนาล็อกและดิจิตอล ซึ่งต้องกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกันเป๊ะๆ โดยเครื่องดนตรีสังเคราะห์ที่ทั้งคู่นำมาใช้ในห้องอัดด้วยตัวเองก็คือ Oberheim OB8 และ Juno 106 ไปจนถึงอนาล็อกซินธิไซเซอร์อีกหลายตัวจากยุค 80 ซึ่งทั้งหมดถูกนำมาบันทึกร่วมกับวงดนตรีที่บันทึกเสียงสดๆ รวมถึงวงออร์เคสตราด้วย คุณจะได้สัมผัสถึงดนตรีทุกรูปแบบ ไล่ตั้งแต่ คลาสสิก ร็อก ไปจนถึง ฟิวชั่น แจ๊ซ เลยก็ว่าได้” มิก กูซาสกี วิศวกรด้านการผสมเสียงผู้มีบทบาทสำคัญในการมิกซ์เสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นในอัลบั้มกล่าวไว้เช่นนั้น


Daft Punk ได้ทิ้ง Random Access Memories เอาไว้เป็นอัลบั้มชุดสุดท้าย ก่อนที่จะประกาศยุบวงอย่างไม่มีใครได้ทันตั้งตัวเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยทางวงปล่อยคลิปวิดีโออำลาที่มีชื่อว่า Epilogue ออกมา โดยเป็นการนำเอาฉากในหนังไซ-ไฟ/ทดลองเรื่อง Electroma ที่พวกเขากำกับเองเมื่อปี 2006 มาใช้ พร้อมกับเลือกเพลง Touch มาเป็นดนตรีประกอบภาพของสมาชิกวง Daft Punk คนหนึ่งแหลกสลายกลายเป็นจุณจากระเบิดเวลา

สาเหตุของการยุติบทบาทของวง Daft Punk ในวงการดนตรีไม่มีการระบุอย่างแน่ชัด แต่ก็มีบางกระแสบอกว่า ที่ทางวงต้องการทำอัลบั้ม Random Access Memories ให้ดีที่สุด ก็เพราะคิดไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่านี่จะเป็นอัลบั้มชุดสุดท้าย เพราะพวกเขาได้เดินทางมาจนถึงจุดอิ่มตัว โดยแบงกอลเตอร์และโฮเมม-คริสโตต้องการให้มันเป็นงานเพลงที่เป็นเหมือน ‘ดาวดวงเด่น’ บนท้องฟ้าที่สว่างไสวที่สุด ท่ามกลางแสงของดาวอีกนับแสนล้านดวงในยามค่ำคืนนั่นเอง


อ้างอิง: DaftPunk.com, Wikipedia (1, 2)




Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat