Humberger Menu

Idol Manager : เกมที่วัดว่า ‘แฟนคลับที่ดี’ จะดูแลวงไอดอลให้ดีได้ด้วยหรือไม่?

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Subculture

Culture

2 ก.ย. 64

creator
ปารณพัฒน์ แอนุ้ย
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • Idol Manager คือเกมคอมพิวเตอร์แนวจำลองสถานการณ์ (Simulation Game) จากผู้พัฒนาสัญชาติรัสเซียอย่าง Glitch Patch ที่อาจช่วยให้เราเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของวงการไอดอลได้มากขึ้น เพราะไม่เพียงช่วยให้ผู้เล่นได้รู้ซึ้งถึงความยากลำบากของการเป็นไอดอล แต่เกมนี้ยังทำให้เห็นแง่มุมเบื้องหลังด้วยว่า การจะบริหารวงไอดอลสักวงนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครก็สามารถทำได้
  • ตัวเกมจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็น ‘ผู้บริหารวงไอดอล’ ที่มีภารกิจสำคัญคือการปลุกปั้นวงจากศูนย์ให้กลายเป็นวงที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่น โดยอีกสิ่งที่ผู้สร้างใส่เข้ามาเพื่อเป็นไฮไลต์สำคัญ คือการสะท้อนถึงด้านเทาๆ ไปจนถึงด้านดำมืดของวงการไอดอล ซึ่งพวกเขามั่นใจว่า ในจุดนี้ยังไม่มีนักพัฒนาเกมชาวญี่ปุ่นคนไหนกล้าพาไปสำรวจได้ลึกเท่าพวกเขาอีกแล้ว
  • ความสนุกของ Idol Manager คือการพาผู้คนไปร่วมเรียนรู้ความล้มเหลวของการทำธุรกิจไอดอล ทว่าอีกด้านหนึ่ง เกมนี้ก็สามารถสร้างความรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกให้กับผู้เล่นได้เช่นกัน เพราะในชีวิตจริง บางคนอาจเป็นแฟนวงไอดอลที่เข้าอกเข้าใจ และให้ความเคารพพวกเธอในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่พอลองนั่งเก้าอี้ผู้บริหารวงเองแล้ว เราอาจพบว่า การใช้หลักคิดดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ติดตัวแดงในบัญชี

...


ในสายตาของผู้คนทั่วไป อาจมีภาพจำต่อ ‘ไอดอลญี่ปุ่น’ โดยเฉพาะไอดอลผู้หญิง ว่าเป็นเพียงหญิงสาวที่ขายความน่ารักหรือโมเอะ (เซ็กซี่) แต่อาจไม่มีความสามารถด้านการร้องการเต้นมาก เมื่อเทียบกับไอดอลจากประเทศอื่นๆ 

และหากใครยังยึดติดกับภาพดังกล่าว Idol Manager เกมคอมพิวเตอร์แนวจำลองสถานการณ์ (Simulation Game) จากผู้พัฒนา Glitch Patch อาจช่วยให้เราเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของวงการนี้ได้มากขึ้น โดยตัวเกมจะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็น ‘ผู้บริหารวงไอดอล’ ที่มีภารกิจสำคัญคือการปลุกปั้นวงจากศูนย์ให้กลายเป็นวงที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่น

Idol Manager ไม่เพียงช่วยให้ผู้เล่นได้รู้ซึ้งถึงความยากลำบากของการเป็นไอดอล แต่เกมนี้ยังทำให้เห็นแง่มุมเบื้องหลังด้วยว่า การจะบริหารวงไอดอลสักวงนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครก็สามารถทำได้ ...และต่อให้มันเป็นแค่เกมก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะ ‘ง่าย’ อย่างที่คิด


 

เกมไอดอลญี่ปุ่น ...จากผู้สร้างรัสเซีย?

ตามปกติแล้ว เกมที่เกี่ยวกับไอดอลญี่ปุ่นมักจะถูกพัฒนาขึ้นโดยคนญี่ปุ่นเอง และบ่อยครั้ง ผู้สร้างวงไอดอลยังเป็นผู้ทำเกมเองด้วยซ้ำ หากมีทุนมากพอ เช่น เกมออกเดตกับไอดอล AKB1/153 Renai Sousenkyo ของวง AKB48 และ NogiKoi ~Sakamichi no shita de, ano hi boku wa koi o shita~ ของวง Nogizaka46 โดยเกมเหล่านี้จะใช้ภาษาญี่ปุ่นล้วน ซึ่งอาจยากต่อการเข้าถึงของคนต่างชาติ

แต่ความพิเศษของ Idol Manager จะอยู่ที่หัวหอกผู้พัฒนาเกมนี้ไม่ใช่คนญี่ปุ่น แต่เป็นโอตาคุไอดอลชาวรัสเซียนามว่า แม็กซ์ โรโกซิน ผู้สนใจในวัฒนธรรมไอดอลญี่ปุ่นแบบเข้าเส้น และตั้งใจทำเกมนี้ออกมาด้วยการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อทลายกำแพงทางภาษาลงเสีย

โรโกซินเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเริ่มหลงใหลในแวดวงไอดอลเมื่อปี 2010 โดยมีวงโปรดคือ AKB48 และ Morning Musume นับแต่นั้น เขาก็พยายามติดตามผลงานของวงโปรดผ่านสื่อต่างๆ ทั้งรายการโทรทัศน์, สื่อสังคมออนไลน์, คอนเสิร์ต, ไลฟ์สด รวมถึงสะสมของที่ระลึกเท่าที่จะทำได้จากบ้านเกิด

วันหนึ่ง ขณะขบคิดอะไรเรื่อยเปื่อย เขาก็เกิดปิ๊งไอเดียขึ้นว่า ที่ผ่านมา กีฬาอย่างฟุตบอล หรือรถแข่ง Formula 1 เคยทำเกมที่ให้ผู้เล่นได้สร้างสรรค์และบริหารทีมตามใจชอบ (อาทิ เกม Football Manager) แต่เมื่อหันมาดูแวดวงไอดอลแล้ว กลับไม่ค่อยมีเกมแนวนี้เท่าไร มันจึงกลายเป็นเหตุผลที่เขาอยากพัฒนาเกมนี้ และเชื่อว่าต้องมีหลายคนอยากเล่นเกมไอดอลแบบเขาเหมือนกัน

เดิมที โรโกซินมีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่เขายอมรับว่าตอนนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องการทำเกมเท่าไร จึงออกตามหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ และได้ จัสติน ไคเปอร์ มาทำหน้าที่นักออกแบบร่วมและเขียนบทเกม โดยทั้งคู่ในนามทีม Glitch Pitch เริ่มต้นพัฒนา Idol Manager อย่างเป็นทางการในปี 2014 

และรู้ตัวอีกทีมันกลายเป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว



ผลพวงจากยุคทองของ AKB48

ในช่วงระหว่างปี 2010-2014 ที่โรโกซินให้ความสนใจไอดอลญี่ปุ่นและวางแผนพัฒนาเกม Idol Manager แวดวงไอดอลญี่ปุ่นเกิดเรื่องน่าสนใจขึ้นมากมาย โดยวงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในตอนนั้นจะเป็นวงไหนไปไม่ได้นอกจาก AKB48 อันเป็นผลงานการปลุกปั้นโดยโปรดิวเซอร์มือฉมัง ยาสุชิ อากิโมโต และก็ยังเป็นช่วงที่วง Morning Musume จากค่าย Hello! Project ที่ครองความนิยมมานาน กำลังร่วงโรยพอดี

อาจกล่าวได้ว่าช่วงนั้น AKB48 อยู่ในจุดสูงสุด เพราะไม่ว่าวงจะปล่อยผลงานอะไรออกมาก็ล้วนขายดิบขายดี แผ่นซิงเกิลแต่ละเพลงมียอดขายสูงกว่า 1 ล้านแผ่นเสมอ ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารวงยังมาพร้อมแผนการตลาดสุดหวือหวา ที่สามารถดูดเงินจากกระเป๋าของโอตะ (แฟนคลับ) ได้เสมอ ซึ่งหนึ่งในนั้นคืองานจับมือ ซึ่งเปิดโอกาสให้แฟนๆ สามารถเข้ามาพูดคุยกับไอดอลคนโปรดอย่างใกล้ชิดได้ โดยหากใครอยากคุย อยากจับมือนานๆ ก็ต้องซื้อบัตรเพิ่มจำนวนเยอะๆ

อีกงานที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง คืองานเลือกตั้ง Senbatsu Election ภายในกลุ่มไอดอล 48Group เพื่อหาว่าใครจะได้รับความนิยมสูงสุด และเธอผู้นั้นจะได้ครองตำแหน่ง ‘เซ็นเตอร์’ (ผู้ร้องหลัก) ในซิงเกิลถัดไป ทว่านี่ไม่ใช่งานเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยที่แต่ละคนจะมีเพียง 1 สิทธิ์ 1 เสียง เพราะมันคือสงครามแห่งเงินตรา บรรดาโอตะผู้ไม่อยากให้ ‘โอชิ’ (สมาชิกที่เราชอบ) ของตัวเองได้อันดับแย่ จึงพร้อมทุ่มสุดตัว ชนิดยอมขายบ้านขายรถ เพียงเพื่อส่งให้นางในดวงใจได้อันดับดีๆ 

และเมื่อทุ่มโหวตด้วยเงิน อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ ดูจากการเลือกตั้งในปี 2010 ที่มาพร้อมผลอันไม่คาดคิด เมื่อ โอชิมา ยูโกะ เฉือนเอาชนะเซ็นเตอร์ตลอดกาลของวงอย่าง ‘อัตจัง’ มาเอดะ อัตสึโกะ คว้าอันดับที่ 1 ไปครอง จนได้เป็นเซ็นเตอร์ในเพลง Heavy Rotation ซึ่งกลายเป็น ‘เพลงชาติ’ ของโอตะในเวลาไม่นาน หรือจะเป็นในปี 2013 ที่ ‘ซัชชี่’ ซาชิฮารา ริโนะ แห่ง HKT48 ผู้ย้ายมาจาก AKB48 ก็ฉกอันดับ 1 ไปจากยูโกะ แบบไม่มีใครคาดคิด ส่งให้เธอกลายเป็นเซ็นเตอร์เพลง Koisuru Fortune Cookie หรือ ‘คุ้กกี้เสี่ยงทาย’ และเลื่อนสถานะกลายเป็นไอดอลตัวท็อปตั้งแต่นั้น

ในเมื่อโตมากับยุคทองของ AKB48 ทั้งโรโกซิน และไคเปอร์ จึงหยิบเอาองค์ประกอบต่างๆ ของวงมาใช้ในเกม Idol Manager อย่างเปิดเผย ทั้งการให้ไอดอลแสดงในเธียเตอร์, การจัดงานจับมือ และการจัดงานเลือกตั้ง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทางความสำเร็จของ AKB48 นั้นได้ช่วยแผ้วถางหนทางให้วงอื่นๆ นำมามาปรับใช้ จนยากที่จะหาวงไหนสร้างปรากฏการณ์ในระดับนี้ได้อีกแล้ว



เกมไอดอลที่ไม่เหมือนเกมไอดอลที่ไหน

เกมเกี่ยวกับไอดอลไม่ใช่ของใหม่ และมีคนทำออกมาเป็นประจำ ซึ่งโจทย์หลักที่ผู้สร้างทั้งสองต้องคิดให้ออกก็คือ จะหาอะไรมาเป็นจุดขายเพื่อให้ Idol Manager แตกต่างจากเกมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกมที่ว่าด้วยการผลักดันวงไอดอลให้กลายเป็นวงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลกซึ่งมีอยู่หลายเกม

ในบรรดาเกมแนวนี้ทั้งหมด THE IDOLM@STER เกมอาร์เคดที่เปิดตัวในปี 2005 เป็นเกมยอดฮิตอันดับต้นๆ เนื่องด้วยความสนุกของเนื้อเรื่องที่เชิญชวนให้ผู้คนอยากอยากหยอดตู้ตลอดเวลา เพื่อเฝ้ามองพัฒนาการของไอดอลที่ชอบ และผลักดันให้มีฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไหนจะรวมถึงการใช้เพลงที่ติดหูมาช่วยเสริมให้มันเป็นเกมที่ผู้เล่นสามารถเพลิดเพลินไปกับทุกอิริยาบถของไอดอลได้ 

THE IDOLM@STER ถือเป็นปรากฏการณ์เกมที่ไม่มีใครคาดคิด เมื่อผู้คนแห่แหนกันไปเฝ้ารอเล่นเกมนี้ในแต่ละวัน ส่งผลให้ผู้สร้างตัดสินใจขยับขยายไปอยู่บนแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย เช่น บนเครื่อง X-Box และ Playstation แถมยังถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะ, มังงะ และอื่นๆ อีกมากมาย



อีกเกมที่น่าสนใจคือ K-POP Idol Producer เกมบริหารวงไอดอลจากประเทศเกาหลี โดยผู้เล่นจะปั้นวงไอดอลชายหรือหญิงก็ได้ และเมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว พวกเขาจะต้องพาไอดอลฝ่าร้อนฝ่าหนาวและฝ่าอุปสรรคนานัปการ เพื่อให้วงได้รับความนิยมสูงสุดในระดับโลก ซึ่งเกมนี้ได้รับคำชมว่าสามารถจำลองภาพของวงการไอดอลเกาหลีได้อย่างถูกใจแฟนๆ ทีเดียว

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกันแล้ว Idol Manager ดูจะมีความใกล้เคียงกับ K-POP Idol Producer พอสมควร แต่อาจต่างกันตรงที่เกมหนึ่งเน้นความเป็น K-Pop ส่วนอีกเกมเน้น J-Pop แถมเกม Idol Producer ยังเล่นได้แค่บนสมาร์ทโฟนเท่านั้น ขณะที่ Idol Manager เล่นบนคอมพิวเตอร์เป็นหลัก 

อย่างไรก็ตาม เกมที่โรโกซิน และไคเปอร์ ยึดถือเป็นแบบอย่างมากที่สุด กลับเป็นเกมที่มีชื่อว่า Long Live the Queen ที่ว่าด้วย เจ้าหญิงอีโลดี วัยเพียง 14 ปี ที่จำเป็นต้องสละชีวิตอันแสนสุข แล้วขึ้นมารับตำแหน่งราชินีกะทันหัน โดยผู้เล่นจะต้องพาเธอเข้าเรียนคอร์สต่างๆ เพื่อฝึกตนเองเป็นราชินีที่ดี ใช้ความรู้ที่ได้ป้องกันเหตุร้าย และแก้ปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่ออาณาจักรในภายหน้า

หลังจากได้เกมต้นแบบแล้ว อีกสิ่งที่พวกเขาใส่เข้ามาเพื่อเป็นไฮไลต์สำคัญ คือการสะท้อนถึงด้านเทาๆ ไปจนถึงด้านดำมืดของวงการไอดอล ซึ่งพวกเขามั่นใจว่า ในจุดนี้ยังไม่มีนักพัฒนาเกมชาวญี่ปุ่นคนไหนกล้าพาไปสำรวจได้ลึกเท่าพวกเขาอีกแล้ว


Idol Manager

 

เส้นทางแห่งความฝันที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

จากการค้นคว้าและติดตามวงการไอดอลมาตลอด ทั้งคู่พบว่าสื่อที่นำเสนอเรื่องราวของวงไอดอลจำนวนมาก มักพูดถึงแต่ด้านที่สดใส และขายเฉพาะความน่ารักของหญิงสาววัยกระเตาะเป็นหลัก แต่กลับไม่ค่อยมีใครสำรวจเรื่องอื้อฉาว หรือด้านที่ไม่น่าอภิรมย์ของวงการนี้เท่าที่ควร

ไคเปอร์ยกตัวอย่างหนึ่งในเหตุอื้อฉาวระดับโลก เมื่อไอดอลคนหนึ่งโดนสื่อแฉว่าแอบคบหากับผู้ชาย ด้วยความสำนึกผิด เธอจึงอัดคลิปกล่าวขอโทษต่อสาธารณชนทั้งน้ำตา พร้อมโกนหัวตัวเองเป็นการไถ่โทษที่แหกกฎ ‘ห้ามมีความรัก’ และกระแสที่ออกมากลายเป็นว่าฝั่งแฟนระดับ ‘ฮาร์ดคอร์’ มองว่าเป็นเรื่องสมควรแล้ว เพราะถือว่าเธอไม่ซื่อสัตย์กับแฟนๆ ที่ลงทุนลงแรงเปย์ แต่ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามว่า อะไรผลักดันให้คนในวงการต้องยอมทำถึงขนาดนี้ด้วย

เหตุการณ์ไม่น่าพิสมัยดังกล่าวเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นที่เกิดขึ้นจริงในแวดวงไอดอล ซึ่งสองหัวหอกแห่ง Glitch Pitch ยืนยันว่าพวกเขาต้องการเอาอีกหลายกรณี ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและเป็นเพียงเสียงลือเสียงเล่าอ้าง มาใช้ในเกมด้วย เช่น ปัญหาสตอล์กเกอร์ (Stalker) สะกดรอยตามไอดอล, การกลั่นแกล้งรังแกกันระหว่างไอดอลเอง และการโดนข่มขู่แบล็กเมล์ เป็นต้น

ในกรณีของเรื่องรักๆ ใคร่ๆ Idol Manager อาจไม่ถึงขั้นให้ไอดอลต้องโกนหัว แต่น่าสนใจว่าพวกเขาใส่ฟีเจอร์ให้ผู้เล่นสามารถกำหนดนโยบายของวงได้ว่า จะเข้มงวดเรื่องไอดอลมีความรักมากน้อยเพียงใด และหากมีนักข่าวแอบถ่ายรูปไอดอลกำลังเดตกับผู้ชายเพื่อนำไปขายสร้างความฉาวโฉ่ เราในฐานะโปรดิวเซอร์จะรับมือตามนโยบายอย่างไร โดยไม่ว่าเราจะเลือกวิธีไหน มันก็จะส่งผลต่อตัววงและแผนธุรกิจแตกต่างกันไปไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ดี หลังใช้เวลาระดมทุน Kickstarter และพัฒนาเกมนี้นาน 7 ปี โดยมีการเลื่อนเปิดตัวหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุด Idol Manager ที่โรโกซินและไคเปอร์ฟูมฟักดั่งไข่ในหิน ก็เปิดให้ลองเล่นทดสอบระบบในเดือนมิถุนายน ก่อนเปิดขายเวอร์ชันสมบูรณ์ในวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทาง Steam ในราคา 289 บาท และกลายเป็นกระแสในหมู่โอตาคุทั่วโลกทันทีว่า ...มันเล่นยากกว่าที่คิด!


Idol Manager

 

ทุกการตัดสินใจมีราคาที่ต้องจ่าย

เป้าหมายของเกมนี้ดังที่กล่าวไปก็คือ การทำให้วงไอดอลที่ตั้งขึ้นมาใหม่ได้รับความนิยมสูงสุดในญี่ปุ่น แต่การที่จะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องเริ่มจากก้าวย่างเล็กๆ ก่อน โดยมีตัวละครอย่าง ฟูจิโมโต นักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จคอยให้คำแนะนำ และเป็นท่อน้ำเลี้ยงรายสำคัญ ซึ่งเขายังใจดีถึงขั้นให้เลือกชั้นใดชั้นหนึ่งในตึกของเขาสำหรับใช้ในการบริหารวงได้แบบฟรีๆ ด้วย (แต่ถ้าเกิดอยากได้ห้องหับในตึกเพิ่ม ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม)

แต่ถึงอย่างนั้น ผู้เล่นก็ยังได้รับเบาะแสจากผู้หญิงคนหนึ่งด้วยว่า ฉากหน้าที่ดูเป็นคนใจกว้างของเขาผู้นี้ จริงๆ แล้วมีเบื้องลึกเบื้องหลังน่าสงสัย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเราเองว่าจะเชื่อไหม และจะบอกข้อความที่ได้รับมา ให้ฟูจิโมโตซังรับรู้ด้วยหรือไม่

หลังพูดคุยเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะเข้าสู่การก่อร่างสร้างวงอย่างเป็นทางการ โดยเกมนี้อนุญาตให้ผู้เล่นมีสิทธิ์เลือกในทุกขั้นตอนว่าอยากได้วงไอดอลแบบไหน จะทำเพลงแนวอะไร จะวางตัวเองเป็นวงกระแสหลักหวังโด่งดังในวงกว้าง หรือจะเป็นไอดอลใต้ดินที่ทำตัวหัวขบถแหกขนบ ฯลฯ โดยฟูจิโมโตพร้อมจะให้คำแนะนำทุกเมื่อ ขอเพียงไม่ถลุงเงินจนขาดทุนระเนระนาดเป็นพอ

การเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ ‘เลือก’ คือข้อดีประการสำคัญของ Idol Manager เพราะผู้เล่นจะได้เรียนรู้ผ่านเกมว่า การสร้างวงไอดอลให้ประสบความสำเร็จมาพร้อมความยากลำบากเพียงใด ทั้งนี้ความสำเร็จอาจไม่มีสูตรแน่นอนตายตัว และเป็นไปได้ว่าหากเกณฑ์คน 100 คนมาเล่นเกมนี้ ทั้ง 100 คนก็อาจพบเจอสถานการณ์และเส้นเรื่องที่ไม่เหมือนกันเลยก็ได้

ต้องย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่เราเลือกเองนี้อาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดได้เสมอ บางครั้งตัดสินใจแล้ว วงได้กำรี่กำไรก็ดีไป แต่บ่อยครั้งก็มักเกิดปัญหา ไล่ระดับได้ตั้งแต่ความไม่พอใจเล็กๆ น้อยๆ เช่น หากประคบประหงมไอดอลคนใดคนหนึ่งมากเกินไป เราอาจทำให้ไอดอลในสังกัดคนอื่นไม่พอใจ หรือบางที ดันใครให้เป็นหน้าเป็นตาของวงบ่อยๆ แต่เลิกดันในระยะเวลาต่อมา ก็อาจสร้างความไม่พอใจให้ไอดอลคนนั้นและแฟนๆ ที่เงินหนาได้

บางครั้งการเลือกของเราอาจทำให้มีคนบุกเข้ามาทำลายข้าวของในออฟฟิศ พร้อมข้อความขู่กรรโชกประทุษร้าย หรือการเสี่ยงโชคในบางครั้งอาจทำให้สูญเสียกำไรและล้มละลายไม่รู้ตัว เพราะไม่รู้จะหาเงินจำนวนมหาศาลจากที่ไหนมาจ่ายให้วงดำเนินต่อไป


Idol Manager

 

เมื่อความสำเร็จของเราไม่เท่ากัน

ถึงแม้โรโกซิน และไคเปอร์ จะขีดเส้นชัยของเกมไว้ที่การทำวงจนได้รับความนิยมสูงสุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ไม่ได้มีเส้นกำหนดตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับตัวของผู้เล่นเองว่าจะวางนิยามความสำเร็จเอาไว้อย่างไร บางคนอาจตั้งเป้าไว้ว่า แค่จัดทัวร์ทั่วโลกก็ถือว่าทะลุมาตรวัดดังกล่าวแล้ว หรือบางคนอาจวัดความสำเร็จที่การจัดงานเลือกตั้งได้ลุล่วงเท่านั้น เป็นต้น 

และหากผ่านตรงนั้นไปได้ ก็อยู่ที่ตัวเราเองว่าจะเล่นต่อ หรือจะย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างวงในรูปแบบอื่นที่ไม่เหมือนกับรอบก่อนหน้า

สำหรับบางคน การเล่นจนไปถึงจุดนั้นอาจต้องใช้เวลานานกว่าปกติ หรืออาจมาไม่ถึงเลยก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามากหากจะมีผู้เล่นล้มละลายและเป็นหนี้หัวโตอย่างน้อยหนี่งรอบ แต่หากจับจุดได้เมื่อไรว่าควรบริหารอย่างไรจึงจะเจอช่องทางรวย ก็จะช่วยปลดล็อกด่านสำคัญๆ ให้สามารถก้าวเดินต่อไปได้

ความสนุกของ Idol Manager คือการพาผู้คนไปร่วมเรียนรู้ความล้มเหลวของการทำธุรกิจไอดอล เพราะคงไม่บ่อยนักที่เราจะได้ลองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว และรับอนุญาตให้ล้มละลายได้กี่ครั้งก็ได้แบบนี้

ทว่าอีกด้านหนึ่ง เกมนี้ก็สามารถสร้างความรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกให้กับผู้เล่นได้เช่นกัน เพราะในชีวิตจริง บางคนอาจเป็นแฟนวงไอดอลที่เข้าอกเข้าใจ และให้ความเคารพพวกเธอในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่พอลองนั่งเก้าอี้ผู้บริหารวงเองแล้ว เราอาจพบว่า การใช้หลักคิดดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ติดตัวแดงในบัญชี

เมื่อมีเรื่องของผลประโยชน์อยู่ตรงหน้า ผู้เล่น/แฟนๆ อย่างเราพร้อมจะกลายเป็นนายทุนหน้าเลือด หากินกับความทุกข์ของไอดอลและแฟนๆ หรือไม่ บางคนอาจไม่ลังเลเมื่อเจอปัญหาดังกล่าว เพราะคิดว่ามันเป็นแค่เกมเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำในชีวิตจริงเสียหน่อย แต่มั่นใจได้ว่าเมื่อเจอทางแยกแบบนี้จริงๆ ก็น่าจะเกิดความลังเลและความรู้สึกผิดอยู่ในใจบ้างไม่มากก็น้อย

อาจเป็นไปได้ด้วยว่า ถ้าเกมนี้ได้กระตุ้นให้ฉุกคิดถึงหัวจิตหัวใจของไอดอลมากขึ้น ว่าพวกเธอคือคน ไม่ใช่สิ่งของที่ไร้หัวใจ แค่นั้นก็อาจจะถือว่าเราประสบความสำเร็จกับเกมนี้แล้วได้เช่นกัน 

แล้วแฟนคลับวงไอดอลอย่างคุณล่ะ ตั้งเป้าความสำเร็จจากการเล่นเกมนี้ไว้อย่างไร?




Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

เมื่อถึงเวลาต้องฆ่า ‘ซิมส์’ : เราอาจไม่ได้รักความรุนแรง แต่แค่อยากรู้อยากเห็น

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat