Humberger Menu

The Hopeful Eight จับตาหนัง 8 เรื่องที่คาดว่าจะมีบทบาทอย่างมากบนเวทีออสการ์ 2022

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Subculture

Culture

30 ธ.ค. 64

creator
บดินทร์ เทพรัตน์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • รางวัลออสการ์ปี 2022 จะประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงและจัดงานประกาศผลรางวัลในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งระหว่างนี้ได้มีการคาดการณ์จากสื่อหลายสำนัก ถึงหนังที่น่าจะมีบทบาทบนเวทีออสการ์ เช่น The Power of the Dog, West Side Story, Dune และ Drive My Car เป็นต้น

...


รางวัลออสการ์ปี 2022 จะประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ และจัดงานประกาศผลรางวัลในคืนวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม (เวลาในไทยคือ เช้าวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม) ซึ่งระหว่างนี้ได้มีการคาดการณ์จากสื่อหลายสำนัก ถึงหนังที่น่าจะมีบทบาทบนเวทีออสการ์ โดยพิจารณาผ่านผลรางวัลจากเทศกาลหนัง และเวทีรางวัลต่างๆ รวมถึงอันดับหนังแห่งปีของนักวิจารณ์ และโพลที่จัดขึ้นโดยนิตยสารทั้งหลาย 

โดยผลสรุปรวมพบว่า หนังทั้ง 8 เรื่องในบทความนี้ คือหนังที่การันตีได้ว่าจะมีบทบาทอย่างมากบนเวทีออสการ์ช่วงต้นปีหน้า



Belfast

(กำกับ : เคนเนธ บรานาห์)

เคนเนธ บรานาห์ เป็นผู้กำกับและนักแสดงฝีมือดีที่มีผลงานหลากหลายแนว ผลงานกำกับของเขามีตั้งแต่หนังอิสระที่สร้างจากวรรณกรรมของเชกสเปียร์ (Henry V, Hamlet) ไปจนถึงหนังบล็อกบัสเตอร์แนวซุปเปอร์ฮีโร่ (Thor) แต่ Belfast เป็นหนังที่ถือได้ว่าเป็นหนังอัตชีวประวัติของเขา โดยถูกนิยามว่าเป็น ‘หนังที่มีความเป็นส่วนตัวที่สุด’ 

หนังเล่าเรื่องราวของ บัดดี้ เด็กชายที่เติบโตขึ้นมาในย่านของผู้ใช้แรงงานที่เบลฟาสต์ (เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือ) ยุค The Troubles ช่วงทศวรรษที่ 60 ซึ่งบ้านเมืองเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคริสต์นิกายคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสาธารณรัฐนิยมกับกลุ่มที่สนับสนุนการขึ้นตรงต่อสหราชอาณาจักร - ความขัดแย้งดังกล่าวก่อให้เกิดการประท้วงทางการเมืองหลายครั้ง รวมถึงมีความรุนแรงอันเกิดจากการสู้รบ และการก่อการร้ายมากมาย ซึ่งเหล่านี้ถูกใช้เป็นฉากหลังของเรื่องราวหลักที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวหนึ่งที่ต้องการผลักดันให้ลูกชายมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยประสบการณ์ต่างๆ นี้เองก็ได้ส่งผลต่อการเติบโต และหล่อหลอมตัวตนของบัดดี้ขึ้นมา

จุดเด่นของหนังอยู่ที่การแสดงของทีมนักแสดงฝีมือดี รวมถึงงานด้านภาพที่เป็นขาวดำ (ซึ่งชวนให้คิดถึงหนังอย่าง Roma ของ อัลฟองโซ กัวร็อง) ส่งผลให้หนังได้รางวัลขวัญใจผู้ชมจากเทศกาลหนังโตรอนโต และทำให้มีโอกาสที่จะได้ชิงออสการ์หนังยอดเยี่ยม (นับตั้งแต่ปี 2011 มีหนังชนะรางวัลนี้ที่ได้เข้าชิงออสการ์หนังยอดเยี่ยมมากถึง 9 เรื่อง) 

นั่นจึงทำให้หนังส่วนตัวที่สุดของบรานาห์เรื่องนี้อาจกลายเป็นหนังของเขาที่ได้รับเสียงชื่นชมในวงกว้างที่สุดและกวาดรางวัลมาได้มากที่สุดก็เป็นได้

(ช่องทางรับชม - รอลุ้นว่าจะเข้าฉายในโรงหรือไม่)



The Power of the Dog 

(กำกับ : เจน แคมเปียน)

หนังแนวคาวบอยตะวันตกเคยฮิตในอดีต แต่ปัจจุบันได้เสื่อมความนิยมลง ขณะเดียวกันก็มีหนังที่นำองค์ประกอบหรือแนวคิดจากหนังแนวนี้มารื้อสร้างหรือตีความใหม่ได้น่าสนใจหลายเรื่อง เห็นได้จากหนังเรื่องนี้ที่มีการใส่ความเป็นหนังเควียร์และหนังดราม่าทริลเลอร์จิตวิทยาเข้าไปด้วย 

หนังดัดแปลงมาจากนิยายปี 1967 ของ โธมัส ซาเวจ โดยเล่าเรื่องของ ฟิล (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ในมอนทานายุค 1920 ผู้หยาบกร้านไร้หัวใจ ที่พบว่าน้องชายของเขาได้นำภรรยาที่เพิ่งแต่งงานใหม่และลูกติดเข้ามาในบ้าน ทำให้เกิดเรื่องราวที่พลิกผันมากมาย โดยหนังได้พูดถึงการวิพากษ์ความเป็นชาย ความปรารถนาที่ถูกกดทับ และความรุนแรงที่ระเบิดออกมา

นี่คืองานกำกับและเขียนบทโดย เจน แคมเปียน ผู้กำกับหญิงที่ได้รับการยกย่องอย่างมากจาก The Piano (1993) โดย The Power of the Dog ถือเป็นผลงานหนังยาวเรื่องแรกของเธอในรอบสิบสองปี ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของบท, การกำกับ, การแสดง และงานภาพ ซึ่งด้วยความที่หนังคว้ารางวัลจากเทศกาลและเวทีรางวัลต่างๆ มาเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายคนมองว่าหนังเป็นตัวเต็งอันดับต้นๆ ในสาขาหนังและผู้กำกับยอดเยี่ยม ซึ่งถ้าหนังชนะรางวัลก็จะช่วยสร้างสถิติให้กับสตูดิโอผู้สร้างหนังเรื่องนี้อย่าง Netflix ได้ชนะรางวัลนี้เป็นครั้งแรก (หลังจากที่เคยได้ออสการ์มาแล้วหลายครั้ง แต่กลับไม่เคยได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมเลยสักที)

(ช่องทางรับชม - Netflix)



West Side Story

(กำกับ : สตีเวน สปีลเบิร์ก)

ปีนี้ถือเป็นปีทองของหนังเพลง เพราะมีหนังแนวนี้ออกฉายเกือบ 10 เรื่อง แต่เรื่องที่เข้าใกล้เวทีรางวัลที่สุดได้แก่ West Side Story ผลงานกำกับของ สตีเวน สปีลเบิร์ก (ซึ่งถือเป็นหนังเพลงเรื่องแรกที่พ่อมดฮอลลีวูดคนนี้กำกับ) โดยหนังดัดแปลงมาจากนิยายและละครเวทีสุดคลาสสิกที่นำเค้าโครงมาจาก Romeo & Juliet ทั้งยังเคยถูกสร้างเป็นหนังมาแล้วในปี 1961 ซึ่งคว้าออสการ์ 10 สาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

หนังเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในย่านเวสต์ไซด์ของนิวยอร์กยุค 50 ว่าด้วยแก๊งอันธพาลข้างถนนสองกลุ่มอย่าง เจตส์ -วัยรุ่นผิวขาวลูกหลานผู้อพยพชาวยุโรป- และ ชาร์กส์ -วัยรุ่นเชื้อสายเปอร์โตริโก- ได้ทะเลาะวิวาทและต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงความเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ต่อมา ชายหนุ่มที่เกี่ยวข้องกับแก๊งแรก และหญิงสาวจากแก๊งหลังได้ตกหลุมรักกัน มันจึงก่อเกิดเป็นโศกนาฏกรรมความรักระหว่างความขัดแย้งที่รุนแรงถึงชีวิต

ในช่วงแรกๆ มันเคยเป็นโปรเจกต์ที่หลายคนตั้งคำถามว่าจะรีเมกไปทำไมด้วยซ้ำ ซึ่งสปีลเบิร์กก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เขาสามารถทำมันออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่เสียของ ทั้งการคารวะของเก่าได้ถูกใจแฟนคลับมิวสิคัลดั้งเดิม แต่ขณะเดียวกันก็มีการอัปเดตหลายอย่างให้ดูดีขึ้น เช่น เทคนิคทางภาพยนตร์, งานภาพและงานสร้างอันสวยงามที่ชวนตกตะลึง และมีความสมจริงมากขึ้น, เนื้อหาและประเด็นในเรื่องที่ยังคงร่วมสมัยมาจนถึงตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเกลียดชัง, การแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง, คนชายขอบ, ความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ, ความเหลื่อมล้ำ, ความฝัน, ฯลฯ – ด้วยเหตุนี้การที่ West Side Story จะสามารถคว้าออสการ์มาได้เป็นรอบที่สองจึงมีโอกาสเป็นจริงได้สูงมาก 

(ช่องทางรับชม – เข้าฉายแล้วในโรงภาพยนตร์)



Licorice Pizza

(กำกับ : พอล โธมัส แอนเดอร์สัน)

พอล โธมัส แอนเดอร์สัน เป็นผู้กำกับยอดฝีมือแห่งยุคซึ่งยังไม่เคยได้ออสการ์เลยสักครั้ง แต่หนังเรื่องใหม่ของเขาอย่าง Licorice Pizza อาจทำให้เขามีสิทธิ์ได้ลุ้นรางวัลอีกครั้ง ซึ่งน่าสนใจว่ามันถือเป็นหนังที่ตลก อบอุ่น งดงาม และนอสตัลเจียที่สุดของเขา (ต่างจากหนังช่วงหลังของเขาส่วนใหญ่อย่าง There Will Be Blood หรือ The Master ที่เล่าเรื่องราวแสนหนักอึ้ง)

หนังโรแมนติกผสมการก้าวข้ามวัยเรื่องนี้มีฉากหลังเป็นซานเฟอร์นานโดวัลเลย์ที่แอลเอในยุค 70 (ซึ่งเคยเป็นฉากหลังในหนังของเขาอย่าง Boogie Nights และ Magnolia มาแล้ว) และเล่าถึงชายหนุ่มวัย 15 (คูเปอร์ ฮอฟฟ์แมน) ผู้เป็นนักแสดงและผู้ประกอบการหน้าใหม่ เขาตกหลุมรักหญิงสาววัย 25 (อลานา ไฮม์) ซึ่งยังไม่รู้เส้นทางชีวิต ทั้งคู่ได้ออกเดินทางไปทั่วเมือง โดยได้พบกับสถานการณ์และผู้คนแปลกประหลาดมากมาย 

ด้วยความที่หนังมีพล็อตเบาบางและมีตัวละครที่เตร็ดเตร่ไปมาในแอลเอยุค 70 ทำให้หลายคนคิดถึงหนังอย่าง Once Upon a Time... in Hollywood ของ เควนติน ทารันติโน ซึ่งหนังก็ได้รับเสียงชื่นชมไม่แพ้กันในด้านของบท, งานสร้าง และเสน่ห์ของนักแสดงนำ แต่ถึงอย่างนั้น หนังก็ถูกมองว่ายังไม่ใช่ผลงานยอดเยี่ยมอันดับต้นๆ ของแอนเดอร์สัน ซึ่งเมื่อบวกกับคู่แข่งที่แข็งกว่า ก็อาจทำให้โอกาสคว้ารางวัลใหญ่ของเขาต้องหลุดลอยอีกหน (แต่หนังยังคงมีลุ้นในสาขาบทออริจินัลอยู่)

(ช่องทางรับชม - รอลุ้นว่าจะเข้าฉายในโรงหรือไม่)



Dune 

(กำกับ : เดอนีส์ วีลล์เนิฟ)

ทุกปีมักจะมีหนังฮอลลีวูดบล็อกบัสเตอร์เข้าชิงในสาขารางวัลใหญ่อยู่เสมอ ซึ่งหนังที่มีโอกาสเป็นตัวแทนของหนังแนวนี้ในปี 2021 ได้แก่ Dune หนังมหากาพย์ไซไฟแฟนตาซีของผู้กำกับ เดอนีส์ วิลล์เนิฟ (Arrival, Blade Runner 2049) ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายชุดของ แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต

หนังเล่าถึงชะตากรรมของตระกูล อทรีเดส ที่ต้องถูกจักรพรรดิส่งไปปกครองดาวเคราะห์ทะเลทรายแห่งหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยทรัพยากรมีค่า แต่ต่อมา พวกเขากลับถูกทรยศจากจักรพรรดิ และถูกโจมตีจากกองทัพอันชั่วร้าย ทำให้ พอล (ทิโมธี ชาลาเมต์) ทายาทอทรีเดสผู้มองเห็นนิมิตได้ ต้องหาทางเอาตัวรอดในทะเลทรายและล้างแค้นผู้หักหลังตระกูลเขา

จุดเด่นของหนังอยู่ที่การถ่ายทอดเนื้อหาในเชิงวิทยาศาสตร์และการเมืองออกมาได้อย่างลงตัว (แม้หนังจะถ่ายทอดแค่ครึ่งแรกของนิยาย) รวมถึงงานเทคนิคอันสวยงามชวนตื่นตะลึง ไม่ว่าจะเป็นงานภาพ, การออกแบบฉาก, เครื่องแต่งกาย, เมกอัพ, ดนตรีประกอบ, เสียง และวิชวลเอฟเฟกต์ ซึ่งก็น่าจะส่งผลให้หนังกลายเป็นตัวเก็งอันดับต้นๆ ในสาขาเทคนิคต่างๆ 

(ช่องทางรับชม – HBO Go)



King Richard

(กำกับ : เรนัลโด ริชาร์ด กรีน)

วีนัส วิลเลียมส์ และ เซเรนา วิลเลียมส์ เป็นสองพี่น้องนักเทนนิสที่มีชื่อเสียงระดับโลกมายาวนาน ทำให้หลายคนแปลกใจว่า เหตุใดถึงเพิ่งมีการสร้างหนังเกี่ยวกับพวกเธอออกฉายในปีนี้ โดย King Richard เลือกที่จะถ่ายทอดเรื่องพ่อของทั้งคู่อย่าง ริชาร์ด วิลเลียมส์ (วิลล์ สมิธ) ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งโค้ชที่คอยผลักดันลูกสาวในเส้นทางนักเทนนิสมืออาชีพอย่างเข้มงวด โดยพยายามก้าวข้ามอุปสรรคทางด้านความยากจน และอคติด้านสีผิวไปให้ได้ 

หนังเป็นแนวดราม่าเสริมกำลังใจแบบโอลด์สคูลที่มีเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของครอบครัวและความพยายาม (ซึ่งเนื้อเรื่องชวนให้คิดถึงหนังอินเดียอย่าง Dangal และหนังไทยอย่าง ‘โปรเม อัจฉริยะ/ต้อง/สร้าง’) ซึ่งหนังก็ทำออกมาได้ดีจนกลายเป็นขวัญใจผู้ชมและนักวิจารณ์ โดยตัวเก็งที่น่าจะคว้ารางวัล ได้แก่ วิลล์ สมิธ ในสาขานักแสดงนำชาย รวมถึง อันจานู เอลลิส ในสาขานักแสดงสมทบหญิง จากบทแม่ของนักเทนนิสทั้งสองที่อุทิศทุกอย่างให้ครอบครัว

(ช่องทางรับชม – เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ กุมภาพันธ์ 2022)



Nightmare Alley

(กำกับ : กีเยร์โม เดลโทโร)

หลังประสบความสำเร็จจาก The Shape of Water (2017) ซึ่งทำให้ กีเยร์โม เดลโทโร คว้ารางวัลออสการ์หนังยอดเยี่ยมกับผู้กำกับยอดเยี่ยม เขาก็ได้กลับมาอีกครั้งด้วยหนังอย่าง Nightmare Alley ซึ่งแตกต่างไปจากหนังเรื่องอื่นๆ ของเขา ตรงที่มันเป็นครั้งแรกที่ในหนังไม่มีสัตว์ประหลาด หรือองค์ประกอบเหนือธรรมชาติอยู่เลย แต่มันก็ยังคงไว้ซึ่งลายเซ็นของเขา โดยเฉพาะความเป็นหนังทริลเลอร์มืดหม่น ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวในหนังเรื่องนี้เหนือกว่าสัตว์ประหลาดใดๆ นั่นคือ จิตใจของมนุษย์

หนังดัดแปลงจากนิยายปี 1946 ของ วิลเลียม ลินดเซย์ เกรแชม และเคยถูกสร้างเป็นหนังในปี 1947 มาแล้ว ว่าด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กยุค 40 ของ สแตน (แบรดลีย์ คูเปอร์) คนงานในคาร์นิวัลที่มีพรสวรรค์ในการจูงใจผู้คนด้วยคำพูด เขาได้ร่วมมือกับ ลิลิธ (เคต แบลนเชตต์) จิตแพทย์หญิงลึกลับในการต้มตุ๋มเงินจากเศรษฐี แต่เขากลับพบว่าลิลิธน่ากลัวมากกว่าที่คิด และเหตุการณ์ก็พลิกผันไปในแบบที่ผู้ชมไม่คาดฝัน

หนังมีทีมนักแสดงที่แข็งแกร่ง และมีเทคนิคกับงานสร้างที่เปี่ยมเอกลักษณ์ แต่ก็ยังมีบางคนมองว่า ด้วยเนื้อหาสุดดาร์ก และความที่มันเป็นหนังผู้ใหญ่แนวดราม่าย้อนยุค ก็อาจผลักความสนใจของผู้ชมในวงกว้างและกรรมการออสการ์ออกไปได้เหมือนกัน

(ช่องทางรับชม – เข้าฉายในโรงภาพยนตร์  มกราคม 2022)



Drive My Car 

(กำกับ : ริวสุเกะ ฮามากุชิ) 

โดยปกติแล้ว สาขาหนังยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์มักเป็นพื้นที่ของหนังภาษาอังกฤษ จนกระทั่งหนังเกาหลีใต้เรื่อง Parasite สร้างสถิติคว้ารางวัลทั้งสาขาหนังยอดเยี่ยมและหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมเมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งในปีนี้ หนังญี่ปุ่นเรื่อง Drive My Car ก็อาจมีโอกาสที่จะสร้างสถิติดังกล่าวได้เช่นกัน

หนังดัดแปลงจากเรื่องสั้นในชื่อเดียวกันของ ฮารูกิ มูราคามิ โดยเล่าเรื่องราวของ ฮาฟุกุ (ฮิเดโตชิ นิชิจิมะ) ผู้กำกับละครเวทีหนุ่มใหญ่ที่สูญเสียภรรยากะทันหันโดยที่พวกเขายังมีเรื่องค้างคาใจกัน สองปีต่อมาเมื่อเขารับหน้าที่กำกับละครเวที Uncle Vanya ที่เมืองฮิโรชิมะ เขาได้พบกับ มิซากิ (โทโกะ มิอุระ) หญิงสาวที่ได้รับมอบหมายให้เป็นโชเฟอร์ให้เขา การใช้เวลาร่วมกันบนรถได้นำไปสู่มิตรภาพที่ไม่คาดคิด, การเปิดเผยความหลังที่เจ็บปวด, การเยียวยาบาดแผลและความรู้สึกผิดในใจ

จุดแข็งของหนังเรื่องนี้อยู่ที่บทหนัง (ซึ่งคว้ารางวัลบทยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์) ที่สอดแทรกบทละครเวทีคลาสสิกเข้ามาในเรื่องราวด้วย ซึ่งก็แสดงให้เห็นแง่มุมของความเป็นมนุษย์ที่เปราะบางได้อย่างรอบด้าน และถึงแม้หนังจะไม่ใช่ทางออสการ์ เนื่องด้วยความยาว 3 ชั่วโมง บวกกับการดำเนินเรื่องที่เนิบช้า และยังเต็มไปด้วยบทสนทนาที่ยืดยาว แต่หลังจากที่หนังชนะรางวัลหนังยอดเยี่ยมจากเวทีนักวิจารณ์ชื่อดังอย่างนิวยอร์กและแอลเอ ก็ทำให้มันโอกาสในการคว้าออสการ์สาขาใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งนอกเหนือจากสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมแล้ว มันยังอาจมีลุ้นในสาขาบทออริจินัลยอดเยี่ยม และหนังยอดเยี่ยมอีกด้วย

(ช่องทางรับชม – เข้าฉายในโรงภาพยนตร์)

หมายเหตุ : นอกจากนี้ ยังมีหนังเรื่องอื่นๆ ที่น่าจะมีบทบาทบนเวทีออสการ์เช่นกัน ได้แก่ House of Gucci, CODA, Spencer, The Lost Daughter, Tick Tick…Boom!, Passing, A Hero, Don’t Look Up, Being the Ricardos, The Tragedy of Macbeth, Flee, Cyrano, The Green Knight, Summer of Soul    


อ้างอิง : collider.com, ew.com, variety.com




Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

Weekend Alive ให้ภาพยนตร์-เพลง-หนังสือเหล่านี้ช่วยฟื้นชีวิตชีวา เพราะสัปดาห์นี้หายใจช้าๆ ได้ก็เก่งแล้ว

แฟลตเกิร์ล : ชีวิตที่หมดหวังจะนั่งเฟิร์สคลาส และหมดฝันที่จะล่องเรือสำราญไปเจอจุดหมาย

Memoir of a Snail: หนังที่บอกให้เราออกมาจากคอมฟอร์ตโซน เพื่อทำตามความฝัน แม้โลกจะโหดร้ายแค่ไหนก็ตาม

“ตาคลี เจเนซิสเกิดขึ้นได้เพราะความหวังล้วนๆ เลยนะ” คุยกับ มะเดี่ยว - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล หัวหมู่ทะลวงฟันที่หวังอยากให้ตาคลี เจเนซิส ปักธงภาพยนตร์ไซไฟไทยในตลาดโลก

สรุปภาพเทศกาลคานส์ 2024: การเมือง เรื่องเพศ ประเทศภาพยนตร์

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat