REVOLT : ทำไมโลกาภิวัตน์จึงให้กำเนิด ‘เจเนอเรชันแห่งการลุกฮือ’
...
Summary
- หนังสือ 'โลกาปฏิวัติ Revolt' โดย นาดาฟ เอยัล ว่าด้วย ‘เจเนอเรชันแห่งการลุกฮือ’ ปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่ทั่วโลกต่างพยายามหยัดยืนและส่งเสียง ท่ามกลางระเบียบโลกที่กำลังล่มสลาย กับระเบียบโลกใหม่ที่กำลังก่อร่างขึ้น โดยหนังสือเล่มนี้ไม่ได้สำรวจปรากฏการณ์ดังกล่าวผ่านผู้นำประเทศ หรือเหตุการณ์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่สำรวจผ่าน ‘ชีวิต’ ของคนจริงๆ ทั่วทุกมุมโลก
...
‘รอบตัวเราวันนี้เต็มไปด้วยความโกรธ’ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่กำลังโกรธหรือไม่ได้โกรธ แต่หากคุณเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ เราไปกันต่อ และถ้าคุณไม่เห็นด้วย ไม่ว่ากัน แต่บทความนี้อาจทำให้คุณรู้สึกเสียเวลา เพราะ 'โลกาปฏิวัติ Revolt' คือหนังสือที่เขียนสำหรับผู้ที่สัมผัสได้แล้วถึงกระแสลมอันเกรี้ยวกราดแห่งยุคสมัย คุณควรอ่านหากคุณรับรู้ว่ามันกำลังพัดกระโชกรุนแรง ทำกระจกหน้าต่างสั่นไหว และคุณเริ่มแน่ใจว่ามีบางอย่างเคลื่อนไหวอยู่ข้างนอก... และคุณยิ่งควรอ่านหากคุณคือหนึ่งในกระแสลมนั้น
หนังสือเล่มนี้เขียนอุทิศแด่ลูกหลานในเจเนอเรชันแห่งรอยต่อ ผู้กำลังพยายามหยัดยืนอย่างสับสน ระหว่างระเบียบโลกที่กำลังล่มสลาย กับระเบียบโลกใหม่ที่กำลังก่อร่างขึ้น โดยอาจรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ว่า ตนนั่นเองคือผู้ที่ต้องก่อร่างมัน ตนนั่นเองคือผู้มีอำนาจ ตนนั่นเองคือผู้รับผลัดไม้ – หรือกล่าวได้ว่า ‘เรานั่นเอง’
นาดาฟ เอยัล ผู้เขียน พาเราไปสำรวจปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยไม่ได้สำรวจผ่านผู้นำประเทศ หรือเหตุการณ์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่สำรวจผ่าน ‘ชีวิต’ ของคนจริงๆ ทั่วทุกมุมโลก…เด็กหนุ่มช่างฝันจากหมู่บ้านห่างไกลในปากีสถาน ที่กลายเป็นผู้ก่อการร้ายในเมืองหลวง, คุณพ่อชาวอเมริกันที่สูญเสียแก้วตาดวงใจไปในเหตุกราดยิงที่โรงเรียน และสร้างงานวิจัยเพื่อหาทางแก้ปัญหา ก่อนจะฆ่าตัวตายเสียเอง, คนหนุ่มแห่งลัทธินีโอนาซีที่ไม่เชื่อว่าคนยิวเคยถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, คุณปู่ชาวยิวโปแลนด์ที่รอดชีวิตอย่างไร้ชีวิต หลังจากทุกคนในครอบครัวถูกนาซีสังหาร, แม่บ้านญี่ปุ่นที่คอยเย็บตุ๊กตาตัวแล้วตัวเล่า เป็นตัวแทนผู้คนที่หายไปจากเมืองทีละคน, เด็กสาวชาวซีเรียที่มีรอยสักรูปกุญแจซอลที่ต้นคอ ซึ่งลี้ภัยด้วยการเดินเท้าผ่านตุรกี กรีซ มาซิโดเนีย เซอร์เบีย ฮังการี และกำลังจะหมดแรง, เศรษฐีจอมปดและสมาธิสั้น ซึ่งวันหนึ่งกลายมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ, ช้างป่าหิวโซแห่งศรีลังกา ที่หอบต้นไม้ใหญ่มาจากป่าเพื่อพังรั้วไฟฟ้าของมนุษย์, เด็กสาวที่ตั้งครรภ์อย่างไร้เงินทองและไร้อนาคต และถูกกลุ่มผู้ประท้วงตะโกนด่าอย่างเกรี้ยวกราดอยู่หน้าคลินิกทำแท้ง, เด็กอนุบาลที่เศร้าสร้อยเพราะเพื่อนสนิทไม่ชวนเธอไปงานวันเกิดอีกแล้ว หลังจากรู้ว่าแม่เธอเป็นผู้หญิงข้ามเพศ ฯลฯ
ในความหลากหลายของเรื่องราวคือความเศร้าลึกล้ำ เศร้าอย่างโทษใครไม่ได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเศร้าแล้วจะทำอะไรไม่ได้
ตัวผู้เขียนเองเป็นนักข่าวชาวอิสราเอล แลดูไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับประเทศไทยเรา แต่ในมุมมองระดับโลกาภิวัตน์ เรากลับไม่ต่างกันมากนัก ประเทศเราสองไม่ไร้ซึ่งความเจริญ แต่ก็ไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจ ประชากรเราทั้งสองศรัทธาในศาสนาและความเชื่อเก่าแก่ หากแต่ถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมอเมริกันระดับเข้าเส้นเลือด เราชินชากับการผลิตและการนำเข้าสินค้าระดับมหภาคที่ทำให้เราเสพซื้อได้ในราคาแสนถูก แต่เราไม่ชินกับการเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้น เราฟัง-ร้อง-เต้น-รับชม ความบันเทิงแบบอเมริกัน แม้เราจะดูหนังอินเดียบ้าง เกาหลีบ้าง แต่เราจำนวนมากก็ดูในแพลตฟอร์มสัญชาติอเมริกัน อาจกล่าวได้ว่าในระดับจิตใต้สำนึกทางวัฒนธรรม เราเป็นหนึ่งในอาณานิคมของอเมริกา
ถามว่าแล้วมันไม่ดีอย่างไร หนังสือเล่มนี้ไม่มีคำตอบให้กับคำถามพื้นๆ เช่นนั้น เพราะไม่มีเรื่องราวใดที่เห็นชัดง่ายดายว่าเป็นสีขาว หรือสีดำ อะไรดี อะไรไม่ดี อเมริกาเป็นนายหน้าค้าโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลกทั้งใบเชื่อมโยงถึงกัน พาให้ชีวิตเรามีสีสัน ไม่จืดชืดเหมือนทีวีขาวดำ ประชาธิปไตยก็นำพาความเท่าเทียมมาให้ อย่างน้อยที่สุดก็ในระดับหลักการ และเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการตะวันตก ก็พาความเจริญก้าวหน้าแทบทุกด้านมาให้ประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่มีความดีงามมากมาย ตัวอย่างยอดฮิตหนึ่งก็คือมันทำให้ชาวบ้านเข้าถึงร้านสะดวกซื้อ มันทำชาวบ้านกลายเป็นฟันเฟืองหนึ่งในระบบส่งออกอันไพศาล มันทำให้ลูกหลานพวกเขามีการศึกษา และสร้างร้านค้าในเฟซบุ๊กให้พ่อแม่ได้...
ความรุนแรงที่แท้จริงอยู่ในสายลม การลุกฮือเป็นเพียงจุดเริ่มต้น กำราบตรงนี้ได้ก็จะถูกพัดให้โหมกระพือใหม่ตรงโน้น และผู้ที่ต้องการกำราบสายลมก็ไม่รู้ตัวว่ามีเชือกที่มองไม่เห็นเชื่อมโยงเขากับยุคสมัยเช่นกัน เราอยู่ในบ้านหลังใหญ่เดียวกัน อยู่ในระเบียบโลกเดียวกัน ที่กำลังล่มสลาย
นี่คือของขวัญจากโลกาภิวัตน์ ที่พ่วงมาด้วยของแถมชิ้นโตเป็นเหมือนตุ๊กตาไม้รัสเซีย ที่เปิดออกแล้วก็เจอตุ๊กตาข้างในอีกตัว อีกตัว อีกตัว และอีกตัว… ระบบเศรษฐกิจใหม่เอื้อให้เจ้าของทุนกอบโกยผลประโยชน์ข้ามแดนอย่างเสรี นำมาซึ่งตุ๊กตาตัวแรกที่ใหญ่ที่สุดชื่อ ‘ความไม่เสมอภาค’ พอเปิดมันออกก็พบตุ๊กตา ‘ความเท็จเทียมและคอร์รัปชัน’ อยู่ในนั้น และพอเปิดมันออกก็พบตุ๊กตา ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ เปิดออกอีกก็จะพบตุ๊กตา ‘ลัทธิหัวรุนแรงสุดโต่ง’ แล้วก็ยังเปิดออกได้อีกเป็นตุ๊กตา ‘สงครามกลางเมือง’ โดยในนั้นก็ยังมีตุ๊กตา ‘ผู้อพยพ’ ฯลฯ
ของแถมจากโลกาภิวัตน์นั้นไม่รู้จบ และสิ่งเหล่านี้เองที่สั่นคลอนรากฐานของสมาชิกเจเนอเรชันล่าสุด ในระดับที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง พวกเขาจึงเริ่มต้นด้วยการ ‘ลุกฮือ’ ซึ่งเกิดขึ้นโดยพร้อมเพรียงกันทั่วโลกโดยมิได้นัดหมาย ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่เข้าใจความโกรธแค้นนี้ เพราะแรงสั่นสะเทือนอาจมาไม่ถึงคุณหรือครอบครัว คุณก็เลยเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าคนที่เจอเรื่องอยุติธรรม ก็น่าจะเพราะทำอะไรผิดทำนองคลองธรรม คุณอาจคิดว่าทางออกคือ กำราบผู้ลุกฮือเหล่านี้ให้ได้ แล้วความสงบก็จะกลับมา มันก็เท่านั้นเองมิใช่หรือ
...มิใช่
เพราะความรุนแรงที่แท้จริงอยู่ในสายลม การลุกฮือเป็นเพียงจุดเริ่มต้น กำราบตรงนี้ได้ก็จะถูกพัดให้โหมกระพือใหม่ตรงโน้น และผู้ที่ต้องการกำราบสายลมก็ไม่รู้ตัวว่ามีเชือกที่มองไม่เห็นเชื่อมโยงเขากับยุคสมัยเช่นกัน เราอยู่ในบ้านหลังใหญ่เดียวกัน อยู่ในระเบียบโลกเดียวกัน ที่กำลังล่มสลาย
จริงอยู่ นี่คือหนังสือแสดงด้านเสื่อมทรามแห่งความก้าวหน้า แต่ความไม่ธรรมดาคือ ผู้เขียนไม่เน้นกล่าวโทษสิ่งใด ไม่ใช่แค่เพราะการกล่าวโทษเป็นเรื่องเสียเวลา แต่เพราะในร้ายมีดีและในดีมีร้าย มนุษยชาติพาอารยธรรมก้าวหน้าสลับถอยหลัง จนเราก็มาถึงตรงนี้กันแล้ว และนอกจากความเสื่อมทราม สิ่งที่เรารับมาด้วยคือความรู้ความเข้าใจอันลึกล้ำ ในตัวตนของเรา ในประวัติศาสตร์ของเรา ในยุคสมัยของเรา
ด้วยความเข้าใจเหล่านี้ ท่ามกลางความรุนแรงของสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง และลูกหลานเจเนอเรชันนี้ที่ไม่อาจสงบได้ด้วยการบอกให้ไปนั่งสมาธิ หนังสือ REVOLT เสนอว่าเราควรหาทางใช้ประโยชน์จากการลุกฮือที่ไม่อาจหลบเลี่ยง กระโดดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสายลม แล้วผันมันให้เป็นพลังในการก่ออิฐสร้างระเบียบโลกใหม่แทน
ยังไม่สายเกินไป
