Humberger Menu

BOYd-NOP FAMILY CONCERT ตอน BACK TO THE 90’s คอนเสิร์ตที่พาทุกคนย้อนคืนสู่ช่วงเวลาดีๆ ที่ไม่เคยเลือนหายไปจากใจ

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Subculture

Music

Culture

29 ธ.ค. 65

creator
ศรัณยู ตรีสุคนธ์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ศรัณยู ตรีสุคนธ์ นักเขียนสายดนตรีของไทยรัฐพลัส เขียนถึง BOYd-NOP FAMILY CONCERT ตอน BACK TO THE 90’s ที่จัดขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่ายในวันคริสต์มาสอีฟล่วงเลยไปจนถึงช่วงตีหนึ่งของวันคริสต์มาส ซึ่งพาทุกคนย้อนคืนสู่ช่วงเวลาดีๆ ที่ไม่เคยเลือนหายไปจากใจ ผ่านความทรงจำ, บทเพลงรัก และข้าวเหนียวมะม่วงของค่าย เบเกอรี่ มิวสิค

...


ย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณยี่สิบกว่าปีที่แล้ว สมัยที่เรียนจบใหม่ๆ และเพิ่งจะเริ่มทำงานในฐานะนักเขียนและนักข่าว เบเกอรี่ มิวสิค เป็นค่ายเพลงที่ผมแวะเวียนไปบ่อยที่สุด (ช่วงนั้นสำนักงานของค่ายอยู่แถวๆ ชิดลม) และมักจะเสนอตัวไปที่นั่นเสมอ หากว่ามีงานแถลงข่าว หรือมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นก็ตาม 

ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าทั้งพนักงาน, ศิลปิน ไปถึงผู้บริหารให้การต้อนรับทุกคนเป็นอย่างดี จนรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งที่ได้ไปเยือน และทางค่ายก็มักเตรียมอาหารอร่อยๆ เอาไว้ให้เสมอ ยังจำได้ว่า ‘พิซซ่า’ และ ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ เป็นของกินที่ผมได้ลิ้มรสแทบทุกครั้ง จนเพื่อนนักข่าวด้วยกันบอกว่า ข้าวเหนียวมะม่วง เบเกอรี่ มิวสิค นี่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวงจริงๆ


เมื่อได้สัมผัสกับบรรยากาศในค่ายเพลงค่ายนี้ด้วยตัวเองแล้ว ผมหายสงสัยทันทีว่า ทำไม เบเกอรี่ มิวสิค ถึงได้สร้างสรรค์เพลงป๊อปและอาร์แอนด์บีที่มีเนื้อหาและความหมายงดงามลึกซึ้งออกมาประดับวงการได้ไม่รู้กี่เพลงต่อกี่เพลง ซึ่งทุกวันนี้บทเพลงเหล่านั้นก็ยังคงสร้างความรู้สึกอันอบอุ่นลึกๆ ในหัวใจได้เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน

share


กล่าวเปิดเรื่องมาแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเห็นแก่กินแต่อย่างใด แต่ที่ต้องเกริ่นเช่นนี้ก็เพื่อที่จะบอกว่า เวลาไป เบเกอรี่ มิวสิค ทีไรจะรู้สึกอบอุ่นทุกครั้ง พนักงานบางคนในสมัยนั้นก็เป็นเพื่อนๆ กัน ศิลปินบางคนก็เจอกันบ่อย ทักทายกันตลอด ส่วนผู้บริหารถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยได้เจอกันเท่าไรนัก แต่ก็ยังจำได้เสมอว่าหากได้มีโอกาสพบเจอกัน ก็จะได้ยินเสียงไถ่ถามถึงสารทุกข์สุกดิบเป็นประจำ 

ผมได้เรียนรู้การทำงานสื่อเกือบทุกอย่างจากที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์, เขียนข่าว หรือว่าจะเป็นการคิดสกู๊ปเพื่อทำบทความพิเศษ และเมื่อไม่มีค่าย เบเกอรี่ มิวสิค แล้ว ผมก็ยังสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นเหล่านั้นเสมอในทุกครั้งที่นึกถึง

เมื่อได้สัมผัสกับบรรยากาศในค่ายเพลงค่ายนี้ด้วยตัวเองแล้ว ผมหายสงสัยทันทีว่า ทำไม เบเกอรี่ มิวสิค ถึงได้สร้างสรรค์เพลงป๊อปและอาร์แอนด์บีที่มีเนื้อหาและความหมายงดงามลึกซึ้งออกมาประดับวงการได้ไม่รู้กี่เพลงต่อกี่เพลง ซึ่งทุกวันนี้บทเพลงเหล่านั้นก็ยังคงสร้างความรู้สึกอันอบอุ่นลึกๆ ในหัวใจได้เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน

ผมมองว่า ค่ายเพลงค่ายนี้ปฏิบัติกับใครก็ตามที่เข้ามามีความสัมพันธ์ด้วย ราวกับสมาชิกในครอบครัว เป็นเหมือนเพื่อนพี่น้องที่รักใคร่กลมเกลียวกัน และถึงคุณจะไม่ได้สัมผัสกับบรรยากาศในค่ายเพลง แต่ผมก็เชื่อว่า แฟนเพลงของ เบเกอรี่ มิวสิค ทุกคนต่างก็สัมผัสมันได้ไม่ต่างกัน ผ่านการฟังเพลงทุกๆ เพลงของค่ายเพลงค่ายนี้



คอนเสิร์ตและความสุขในคืนคริสต์มาสอีฟ

ถึงทุกวันนี้จะไม่มีค่ายเพลงที่มีชื่อว่า เบเกอรี่ มิวสิค แล้วก็ตาม แต่ศิลปินที่เคยอยู่ในสังกัดนี้ ก็ยังคงกลับมาสร้างสีสันความสนุกให้กับแฟนๆ อยู่บ่อยครั้ง ผ่านรียูเนียนคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นเป็นประจำ โดยคอนเสิร์ตที่ถือว่าเป็นการรวมพลอดีตศิลปินของค่าย และศิลปินรับเชิญที่ใหญ่ที่สุด ก็คือ คอนเสิร์ตที่ พี่บอย โกสิยพงษ์ และ นภ พรชำนิ จัดขึ้นในวันคริสต์มาสอีฟ ซึ่งจัดมาแล้วหลายครั้ง ก่อนที่จะหยุดไปนานกว่าสามปีเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 

จากการไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคอนเสิร์ตนี้มาตลอดทุกครั้ง สิ่งที่ถือว่าพิเศษมากๆ นอกเหนือไปจากการเซอร์ไพรส์ของศิลปินที่มาร่วมโชว์แล้ว มันก็ยังอยู่ตรงบรรยากาศที่เหมือนเป็นการจัด ‘งานเลี้ยงในสวนหลังบ้าน’ ซึ่งการเล่นมุกตลกแบบซื่อๆ จากใจของพี่บอย ก็เรียกเสียงหัวเราะจากแฟนๆ ตลอดโชว์ จนผมแอบหวังอยู่ลึกๆ ว่าอยากเห็นพี่บอย โกสิยพงษ์ จัด Stand-Up Comedy ไปเลย 

แต่การจัดคอนเสิร์ตใหญ่ๆ แบบอินดอร์ ก็ดูไม่ค่อยเข้ากับบรรยากาศของงานที่เหมือนชวนญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมสนุกในช่วงเทศกาลแห่งความสุขสักเท่าไร ทำให้ผมแอบหวังมาตั้งแต่ปีแรกๆ แล้วว่า ถ้าหากได้กางเต็นท์ ปูเสื่อ หรือนั่งเก้าอี้ดูคอนเสิร์ตบนสนามหญ้าผืนใหญ่แบบชิลๆ แล้วถ้าคิดจะโดดจะแดนซ์เมื่อไร ก็ลุกขึ้นมาได้ตลอด โดยไม่ต้องกลัวบังคนอื่น มันก็น่าจะดีไม่น้อย



เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา สิ่งที่ผมคิดเอาไว้เมื่อหลายปีก่อนในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงๆ โดยคอนเสิร์ต BOYd-NOP FAMILY CONCERT ตอน BACK TO THE 90’s ที่จัดขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่ายในวันคริสต์มาสอีฟล่วงเลยไปจนถึงช่วงตีหนึ่งของวันคริสต์มาสจัดขึ้นบนสนามหญ้าผืนใหญ่ที่สนามกอล์ฟ Treasure Hill จังหวัดชลบุรี 

สนามแห่งนี้รองรับแฟนเพลงได้ราวๆ สองหมื่นคน มีโซนสำหรับขายอาหารและเครื่องดื่มแยกออกมาต่างหาก ในขณะที่โซนสำหรับรับชมคอนเสิร์ตแบ่งออกเป็นสองโซนด้วยกัน โดยโซนด้านหน้าเวทีมีเก้าอี้พับไว้คอยบริการสำหรับแฟนเพลงที่ต้องการใกล้ชิดศิลปิน ส่วนโซนด้านหลังเหมาะสำหรับแฟนเพลงสายชิลที่อยากดูคอนเสิร์ตสบายๆ นั่งกินดื่มบนเสื่อกระเป๋าขนาดใหญ่ที่ทางผู้จัดเตรียมไว้ให้ ส่วนใครที่อยากชิลกว่านั้น ก็สามารถเอาเก้าอี้พับมานั่งดูกันเป็นกลุ่มได้ จะพูดคุย ตะโกนร้องเพลง หรือจู๋จี๋กัน ก็สามารถทำได้หมดโดยไม่เดือดร้อนใคร ซึ่งโซนนี้จะอยู่ด้านข้างสนามทั้งสองด้าน

ทั้งหมดนี้เป็นรูปแบบมาตรฐานสากลในการจัดเทศกาลดนตรี ซึ่งมีไม่บ่อยนักที่คอนเสิร์ตของศิลปินไทยจะมีการจัดระเบียบงานได้ในระดับที่ค่อนข้างน่าพอใจแบบนี้ 



จริงอยู่ที่ภาพรวมของการจัดคอนเสิร์ตยังมีจุดที่ต้องแก้ไขหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณโทรศัพท์บางค่ายที่ถึงขั้น ‘ไม่มีสัญญาณ’ จนต้องยืมฮอตสปอตเพื่อนเพื่อโอนเงิน Top Up บัตรสำหรับซื้ออาหารและสินค้าต่างๆ ในงาน / จุด Top Up และแลกเงินคืนที่น้อยเกินไปมาก หากเทียบกับปริมาณผู้มาร่วมงาน จนต้องเสียเวลาต่อคิวนานเป็นชั่วโมง / ร้านอาหารที่ถึงแม้ว่าจะมีเมนูให้เลือกหลากหลาย แต่การจัดการด้านเวลาในการทำอาหารอยู่ในระดับต้องปรับปรุงมากๆ ไปจนถึงเรื่องพื้นที่สำหรับจอดรถทางเข้า-ออกที่แคบเกินไป จนทำให้เสียเวลาในการระบายรถนานมาก 

แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังอยู่ในขั้นที่พอเข้าใจได้ เพราะเป็นการจัดงานเอาต์ดอร์ครั้งแรก และสเกลของงานก็นับว่าใหญ่โตจนยากที่จะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ทัน แต่ส่วนตัวแล้ว เชื่อว่าในปีต่อๆ ไปทางผู้จัดจะมีการปรับปรุงและจัดงานได้ดีกว่านี้



เราทำทุกๆ สิ่งด้วยหัวใจเดียวกัน

พี่บอย โกสิยพงษ์ มักจะพูดอยู่บ่อยๆ หากมีอะไรผิดพลาดว่า “ขอให้โทษสมอง แต่อย่าโทษหัวใจของพวกเรา” ซึ่งถ้ามองในมุมของผู้ชมและแฟนเพลง ผมมองว่า สำหรับการจัดการคอนเสิร์ตทั้งในแง่ของโปรดักชัน ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกต่างๆ แม้ว่าเราจะทำเต็มที่อย่างไร แต่ก็มักจะมีบางสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาเป็นอุปสรรคอยู่เสมอ 

บางอย่างรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดปัญหาแน่ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศของเราไม่ได้มีวัฒนธรรมในการเสพงานศิลปะที่แข็งแรงมากพอ ไม่ใช่เฉพาะวัฒนธรรมป๊อปอย่างการจัดคอนเสิร์ตเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงงานศิลปะแทบทุกแขนง เพราะทุกวันนี้ คนดูคอนเสิร์ตที่ไม่มีรถ ต้องเผชิญกับปัญหาการหารถไปงานไม่ได้ และการเกิดรถติด ทั้งขาไปและขากลับ โดยที่ระบบขนส่งมวลชนไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย ทั้งๆ ที่คอนเสิร์ตจัดในเมืองหลวงที่มีรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นชะตากรรมที่น่ารันทดทีเดียว 

ส่วนการจัดคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีในต่างจังหวัด ถึงแม้ว่ากลุ่มเป้าหมายจะเจาะจงไปยังกลุ่มคนทำงานที่มีกำลังทรัพย์มากพอก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า การจะหาสถานที่จัดคอนเสิร์ตที่สมบูรณ์พร้อมไปเสียทุกอย่างได้นั้น มันช่างยากเย็นแสนเข็ญ


การสร้างวัฒนธรรมป๊อปให้แข็งแรงโดยที่มีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เป็นขวากหนามแบบนี้ ต่อให้สมองมีไอคิวสูงแค่ไหน ก็ยากที่จะทำให้ออกมาดีได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ (หากเทียบกับประเทศในเอเชียที่มีวัฒนธรรมทางด้านนี้ที่รุ่มรวยเอามากๆ อย่างญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์) หรือถ้ามองข้ามเรื่องสมอง มาโฟกัสเรื่องใจแทน หัวใจของพี่บอยและทีมงานผู้จัดคอนเสิร์ตทุกๆ ฝ่ายก็นับได้ว่า สามารถสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนทั่วร่างได้อย่างอบอุ่น

share


การสร้างวัฒนธรรมป๊อปให้แข็งแรงโดยที่มีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เป็นขวากหนามแบบนี้ ต่อให้สมองมีไอคิวสูงแค่ไหน ก็ยากที่จะทำให้ออกมาดีได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ (หากเทียบกับประเทศในเอเชียที่มีวัฒนธรรมทางด้านนี้ที่รุ่มรวยเอามากๆ อย่างญี่ปุ่นหรือสิงคโปร์) หรือถ้ามองข้ามเรื่องสมอง มาโฟกัสเรื่องใจแทน หัวใจของพี่บอยและทีมงานผู้จัดคอนเสิร์ตทุกๆ ฝ่ายก็นับได้ว่า สามารถสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนทั่วร่างได้อย่างอบอุ่น 

ไม่ว่าจะเป็นการขนไลน์อัปศิลปิน และการเรียงลำดับในการขึ้นเวทีคอนเสิร์ตของศิลปินทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว ที่ผ่านการคิดมาเป็นอย่างดี ซึ่งถ้าเป็นหนังก็ถือได้ว่ามีการเล่าเรื่องและการร้อยเรียงทั้งสามองก์ได้อย่างมีจังหวะจะโคน โดยช่วงที่สนุก ก็สนุกมากจริงๆ ส่วนช่วงที่ซาบซึ้งประทับใจ ก็ดูแล้วน้ำตาแทบซึม 

ที่สำคัญที่สุด ก็คือ นี่คือคอนเสิร์ตที่ดึงเอาอารมณ์ร่วมของแฟนเพลงที่เติบโตมาในยุค 90 ออกมาได้อย่างงดงามจับใจ โดยเฉพาะแฟนเพลงของ เบเกอรี่ มิวสิค ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงยุคท้ายๆ



สนุกทุกช่วง ซาบซึ้งทุกโชว์

แน่นอนว่ายังมีศิลปินของค่ายเพลงค่ายนี้หลายคนที่แฟนๆ คิดถึง แต่ไม่ได้มาร่วมงาน แต่โชว์ของ บี-พีระพัฒน์ เถรว่อง, เบน-ชลาทิศ ตันติวุฒิ, สุวีระ บุญรอด (คิว วง Flure), บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์, โป้ โยคี เพลย์บอย และ บอย-ตรัย ภูมิรัตน ที่หยิบเอาเพลงฮิตของแต่ละคนมาร้องในช่วง Hits After Hits โดยมีพี่บอยและนภทำหน้าที่เป็นพิธีกรดำเนินรายการ ก่อนจะเข้าสู่ช่วง ‘โดด!’ ที่ร็อกที่สุดในคอนเสิร์ต เพราะเป็นโชว์รวมเพลงฮิตของวง Moderndog (ภาพเด็กๆ อายุ 4-5 ขวบหลายคนกระโดดกันตัวลอยในเพลง ‘บุษบา’ เป็นภาพที่เห็นแล้วรู้สึกดีมากๆ) ส่วนการได้ พี่ตูน บอดี้สแลม มาเป็นศิลปินรับเชิญร้องเพลง ‘ตาสว่าง’ กับเพลง ‘สิ่งที่ไม่เคยบอก’ ก็ทำให้ พี่ป๊อด ธนชัย นักร้องนำ ถึงกับบอกว่า เหมือนฝันที่เป็นจริงที่ได้เห็นพี่ตูนร้องเพลงเพลงนี้

โชว์ในช่วง The Reasons ของ ต๊งเหน่ง-รัดเกล้า อามระดิษ มีช่วงเวลาที่ทั้งสวยงามและอบอุ่น จากทั้งบทเพลงของเธอเองที่เป็นเหมือนมนตร์สะกดอยู่แล้ว และเหล่าแขกรับเชิญ ซึ่งเป็นเด็กๆ ที่มาดูคอนเสิร์ตกับพ่อแม่ที่โตมากับเพลงของ เบเกอรี่ มิวสิค ในยุค 90 ซึ่งพี่บอยบอกว่า “ไม่น่าเชื่อว่าจะถึงวันที่เราจัดคอนเสิร์ตที่มีลูกๆ หลานๆ ของแฟนเพลงมากันเยอะแยะมากมายขนาดนี้”


“ไม่น่าเชื่อว่าจะถึงวันที่เราจัดคอนเสิร์ตที่มีลูกๆ หลานๆ ของแฟนเพลงมากันเยอะแยะมากมายขนาดนี้” -- บอย โกสิยพงษ์

share


หรือช่วง Boyz II Band ที่พอได้ฟังชื่อก็รู้แล้วว่า เราจะต้องได้ฟังเพลงอาร์แอนด์บีดีๆ แน่นอน และกลุ่มศิลปินที่มาร้องเพลงในช่วงนี้ ก็คือ วง B5 ที่มีสมาชิกประกอบไปด้วย เบน ชลาทิศ, โต๋-ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร, มาเรียม เกรย์ อัลคาลาลี่, คิว สุวีระ และ เค้ก-อุทัย ปุญญมันต์ ที่ทำให้แฟนๆ กรี๊ดกันดังสนั่น เพราะมันผ่านมานานจนแทบจะลืมไปแล้วว่า โชว์ของวง B5 ครั้งล่าสุดที่ได้ดูนี่ ต้องย้อนเวลากลับไปกี่ปี

ในช่วงค่ำที่อากาศเริ่มเย็น และมีการแบ่งโซนสำหรับกลุ่มผู้ชมที่แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน ทำให้บรรยากาศในการชมคอนเสิร์ตน่าประทับใจ และเหมาะกับผู้ชมทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคู่รักที่ได้ฟังเพลงรักซึ้งๆ จากค่ายเพลงที่ทำเพลงแนวนี้ได้ดีที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ, กลุ่มเพื่อนที่เน้นการสังสรรค์โดยที่มีเพลงที่โตมาด้วยกันบรรเลงเป็นฉากหลัง และกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ที่เกาะกลุ่มอยู่หน้าเวทีคอนเสิร์ต ช่วงที่พี่บอยพา ดีใจ กับ ใจดี ลูกทั้งสองคนที่โตเป็นสาวแล้วทั้งคู่มาร้องเพลงด้วยกัน ซึ่งถือเป็นช่วงที่น่ารักอบอุ่นแบบ Family Man มากๆ (ถึงแม้คำโปรยที่ขึ้นบนจอจะเขียนว่า “พักฉี่” ก็ตาม) 



ช่วงที่เซอร์ไพรส์ที่สุด หนีไม่พ้นช่วง Heart Warming ที่ อ่ำ-อัมรินทร์ นิติพน ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า เคยคลั่งไคล้ นัท-มีเรีย เบนเนเดดตี้ ถึงขั้นนำเอาลูกเกาลัดที่นัทแกะให้ ไปเลี่ยมทำเป็นสร้อยคอมาแล้ว มาร้องเพลงคู่กัน ซึ่งเป็นภาพที่หาดูยากและน่ารักมากๆ

หลังจากช่วงนี้ วง P.O.P. และวง 2 Days Ago Kids ก็ขึ้นมาร้องเพลงฮิตของทั้งสองวง อย่างเช่น ‘ไม่มี’, ‘แค่ได้พบเธอ’, ‘กลับมา’ ในช่วง Circle of Friends ก็ทำให้ภาพความหลังเมื่อครั้งที่เคยฟังเพลงเหล่านี้เป็นครั้งแรกๆ หวนกลับมาอีก โดยช่วงที่ทำให้หลายคนน้ำตาซึมมากที่สุด อยู่ในช่วงที่ อานนท์ สายแสงจันทร์ (ปู Blackhead) ร้องเพลง ‘รักเธอทั้งหมดของหัวใจ’ ของวง Pause ที่ โจ้-อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ ได้ฝากเสียงร้องเอาไว้ ซึ่งพอได้มาฟังปูร้องเพลงนี้เพื่ออุทิศให้กับ นุ๊กซี่-อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์ คนรักสาวที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ยิ่งทำให้เพลงนี้ออกมาเศร้า แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็ยังช่วยรักษาเยียวยาจิตใจให้กับทุกคนที่คิดถึงใครก็ตามในชีวิตที่จากไปแล้ว



The Legendary Acoustic คือช่วงที่พอได้ยินชื่อ ภาพของ พี่โอ๋-ธีร์ ไชยเดช ก็ลอยเข้ามาในหัวทันที ซึ่งช่วงนี้พี่โอ๋ทำหน้าที่ทั้งเล่นกีตาร์ และแนะนำศิลปินแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น พี่ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว, พี่ปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, ตูน บอดี้สแลม และ พี่ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ ที่มาร้องเพลงในช่วงนี้ได้อย่างมีมนตร์ขลังเหมือนน้ำเสียงของเธอ – ช่วงนี้เป็นโชว์ที่เบรกอารมณ์คนดูได้ดี เพราะต่อจากช่วงนี้เป็นต้นไป คือช่วงแดนซ์แบบแทบจะไม่มีใครนั่งติดพื้นกันแล้ว 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง Everybody Dance Now! และช่วง Dance of the 90’s ที่นำขบวนโดย สิงโต นำโชค, วง Lipta, ตู่-ภพธร สุนทรญาณกิจ, ป๊อด Moderndog, นภ พรชำนิ, Triumphs Kingdom และ ติ๊ก ชิโร่ โดยมีพี่บอยขึ้นมาโชว์ลีลาการเต้นด้วย ซึ่งเป็นภาพที่หาดูไม่ได้ง่ายๆ 



ในช่วงแดนซ์กันสนั่นหวั่นไหวนี้ หลายคนอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า เวลาได้ล่วงเข้าสู่วันคริสต์มาสแล้ว ก่อนที่คอนเสิร์ตจะปิดฉากด้วยช่วง The Finale ที่พี่บอยและนภชวนศิลปินทั้งหมดมาขึ้นโชว์บนเวทีร่วมกัน ภาพที่เห็นเป็นภาพที่อบอุ่นหัวใจ ให้ความรู้สึกเหมือนนำความรู้สึกอิ่มเอมที่ได้เห็นการรวมตัวของศิลปินในโชว์ช่วงสุดท้ายของคอนเสิร์ต 10 ปี เบเกอรี่ ที่ราชมังคลากีฬาสถานเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วให้หวนคืนกลับมาอีกครั้ง

มีช่วงเดียวที่คิดว่าค่อนข้างน่าเบื่อไปสักนิด ก็คือ ช่วง Megahurtz ที่พี่ป๊อด, บอย, โป้, บี และนภ ขึ้นมาร้องเพลงด้วยกันในแบบวงบอยแบนด์ แต่การผิดคิวและเคมีที่ไม่เข้ากันเท่าไร ทั้งในเรื่องลุคของศิลปินแต่ละคน และการแบ่งพาร์ตร้องในแต่ละท่อน ก็ทำเอาผู้ชมนั่งกันค่อนข้างนิ่งเลยทีเดียว – แต่นั่นเป็นเพียงข้อเสียเพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น หากเทียบกับความสุขและความสนุกสนานที่ทุกคนได้รับ และส่งผ่านต่อๆ กันไป จนปกคลุมทุกตารางนิ้วของคอนเสิร์ตนี้



Signature Dish ที่จะยังคงอยู่ตลอดไป

การได้นั่งอยู่ท่ามกลางผู้คนนับหมื่นที่มีความรู้สึกเดียวกัน นั่นก็คือความอบอุ่นที่ได้รับจากบทเพลง และความรักที่ผู้จัดและศิลปินทุกคนมีให้ เหมือนเป็นการย้อนเวลากลับไปยังยุคสมัยที่ยังคงฟังเพลงผ่านเทปคาสเซต, ซีดี หรือแม้กระทั่งสถานีวิทยุ เฝ้ารอให้ถึงวันปล่อยซิงเกิลและอัลบั้ม เพื่อที่จะฟังทุกบทเพลงไปพร้อมๆ กัน 

แต่ผมยังมีความรู้สึกกับคอนเสิร์ตนี้มากกว่านั้น 


รสมือที่ได้จากความเป็นครอบครัวเดียวกันแบบนี้ หาซื้อที่ไหนไม่ได้นะครับ ผมว่าต้องขอให้เจ้าของสูตรมาทำให้ทานเท่านั้น ถึงจะสัมผัสได้ถึง Signature Dish หรือ ‘อาหารจานเด่นของร้าน’ ที่แท้จริง และน่ามหัศจรรย์มากที่ค่ายเพลงค่ายนี้ ยังคงรักษารสชาติอันเป็นเอกลักษณ์นี้มาได้อย่างยาวนานขนาดนี้

share


ผมมองเห็นสำนักงาน เบเกอรี่ มิวสิค เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว กลายมาเป็นสนามหญ้าขนาดใหญ่ ห้องที่ถูกกั้นด้วยผนังอันตรธานหายไปกลายเป็นห้องใหญ่เพียงห้องเดียว และทุกคนก็มารวมตัวสังสรรค์กันอยู่ในนั้น หลังสำนักงานที่เคยเป็นลานจอดรถ กลายเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ศิลปินที่ผมเคยสัมภาษณ์และเคยเจอกันมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ถึงแม้ว่าวันนี้ทุกคนจะมีอายุมากขึ้น และทุกๆ อย่างเริ่มโรยราไปตามกาลเวลา แต่ลึกๆ แล้ว ผมยังเห็นความหนุ่มสาวอยู่ข้างในของทุกคน

ผมเดินออกจากคอนเสิร์ตมาด้วยความสุขและความอิ่มเอมใจ เหมือนได้กลับไปกินพิซซ่าและข้าวเหนียวมะม่วงที่สำนักงาน เบเกอรี่ มิวสิค อีกครั้ง 

รสมือที่ได้จากความเป็นครอบครัวเดียวกันแบบนี้ หาซื้อที่ไหนไม่ได้นะครับ ผมว่าต้องขอให้เจ้าของสูตรมาทำให้ทานเท่านั้น ถึงจะสัมผัสได้ถึง Signature Dish หรือ ‘อาหารจานเด่นของร้าน’ ที่แท้จริง และน่ามหัศจรรย์มากที่ค่ายเพลงค่ายนี้ ยังคงรักษารสชาติอันเป็นเอกลักษณ์นี้มาได้อย่างยาวนานขนาดนี้

ภาพโดย ศรัณยู ตรีสุคนธ์



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

Weekend Alive ให้ภาพยนตร์-เพลง-หนังสือเหล่านี้ช่วยฟื้นชีวิตชีวา เพราะสัปดาห์นี้หายใจช้าๆ ได้ก็เก่งแล้ว

พูดจาภาษาอาร์แอนด์บีกับ Corinne Bailey Rae ศิลปินที่บอกให้เรากล้าเป็นตัวของตัวเอง

PELUPO Journal บันทึกถึงเทศกาลดนตรีเพลูโป้ 2025 ความทรงจำและดนตรีดีๆ ในฤดูร้อน

โลกที่มืดมนและสุขสว่าง – ธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ: รู้จักดนตรีแนว ‘แบล็กเกซ’ ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ ผ่านเรื่องราวของวง Alcest

ภวังค์แห่งดนตรี ในการเดินทางเกือบ 30 ปีของวง AIR คุยกับคู่หู ‘นิโกลา โกแดง’ และ ‘ฌอง-เบอนัวต์ ดังเคล’

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat