All the Beauty and the Bloodshed แนน โกลดิน ศิลปินขบถผู้ใช้พลังแห่งภาพถ่ายเขย่ายอดพีระมิด
...
LATEST
Summary
- ภาพถ่ายของ แนน โกลดิน (Nan Goldin) ศิลปินภาพถ่ายหญิงชาวอเมริกัน มักมีความเป็นภาพยนตร์ (Cinematic) อยู่สูง เพราะภาพถ่ายบุคคลของเธอทุกภาพ เล่าเรื่องราวบางอย่างในแบบตรงไปตรงมา และมีการซ่อนความหมายระหว่างบรรทัดเอาไว้ด้วย ไม่ต่างไปจากภาพยนตร์ชั้นดีเรื่องหนึ่ง
- โกลดินใช้กล้องเป็นอาวุธ เธอมองเห็นความสวยงามในสิ่งที่ไม่ชวนมอง ภายใต้กรอบที่สังคมกำหนด ซึ่งเธอมองว่ามันไม่ถูกต้อง ชีวิตมนุษย์ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ทุกคนต่างก็มีความหลงใหลใฝ่ฝันและความมุ่งมั่นปรารถนา แต่ความหวังเหล่านั้นถูกบั่นทอนด้วยระบบชนชั้นที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนำเท่านั้น
- ลอรา พอยทราส (Laura Poitras) ผู้กำกับหนังสารคดี All the Beauty and Bloodshed บอกว่าภาพถ่ายดิบๆ ของโกลดิน ที่ไม่แคร์ถึงองค์ประกอบ, คุณภาพ หรือแม้กระทั่งแสงซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของภาพถ่าย ทำให้ผู้ชมโฟกัสไปที่ความเป็นธรรมชาติที่แทบจะไร้ซึ่งการตระเตรียมใดๆ ของทั้งตัวแบบและสถานที่ ความหยาบกร้านของชีวิต, บาดแผลภายใน และความทุกข์โศกที่แสดงออกมาทางสายตา
...
หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง
แอนเซล อดัมส์ (Ansel Adams) ช่างภาพแนวแลนด์สเคปชาวอเมริกัน เคยกล่าวคำพูดที่ทั้งเฉียบขาดและน่าฉงนในเวลาเดียวกันเอาไว้ว่า “A good photograph is knowing where to stand” ที่แปลได้ว่า “ภาพที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากคุณรู้ว่าจะยืนถ่ายมันจากตรงไหน”
คำกล่าวที่ว่าได้บอกเราอย่างตรงไปตรงมาว่า เราจะไม่มีทางมีรูปที่ดีได้เลย หากยืนอยู่ผิดตำแหน่งที่ควรจะเป็น เพราะมันจะทำให้สูญเสียองค์ประกอบภาพที่ดี จนเรื่องราวในภาพอาจถูกบิดเบือนไปจากความจริง การยืนอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดเท่านั้น ที่จะทำให้เราจัดองค์ประกอบภาพได้ตามต้องการ และนั่นก็ส่งผลโดยตรงต่อเรื่องราวที่เราต้องการสื่อผ่านภาพด้วย
หากคิดให้ลึกลงไปคำกล่าวของ แอนเซล อดัมส์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงศิลปะการถ่ายภาพเท่านั้น แต่มันยังซ่อนนัยเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อชีวิตด้วย เพราะหากเรารู้จักตัวเองและเชื่อมั่นในจุดยืนที่มีเพียงเราที่รู้ว่ามันเป็นพื้นที่ของเราจริงๆ เราจะมองเห็นชีวิตในแบบที่มีแต่เราเท่านั้นที่มองเห็น ซึ่ง แนน โกลดิน (Nan Goldin) ศิลปินภาพถ่ายหญิงชาวอเมริกันเป็นผู้ที่รู้และตระหนักอย่างถ่องแท้ว่า “จุดที่เธอควรยืนนั้นอยู่ตรงไหน”
มันคือพื้นที่ที่เข้าไปสำรวจความเป็นมนุษย์ในแบบที่แทบจะไม่เคยมีช่างภาพคนไหนเข้าไปสำรวจได้ลึกขนาดนั้นมาก่อน ซึ่งก็ทำให้ภาพถ่ายของโกลดิน มีความเป็นภาพยนตร์ (Cinematic) อยู่สูงด้วยเช่นกัน เพราะภาพถ่ายบุคคลของเธอทุกภาพ เล่าเรื่องราวบางอย่างในแบบตรงไปตรงมา และมีการซ่อนความหมายระหว่างบรรทัดเอาไว้ด้วย ไม่ต่างไปจากภาพยนตร์ชั้นดีเรื่องหนึ่ง
ลอรา พอยทราส (Laura Poitras) ผู้กำกับหนังสารคดี All the Beauty and Bloodshed บอกว่าภาพถ่ายดิบๆ ของโกลดิน ที่ไม่แคร์ถึงองค์ประกอบ, คุณภาพ หรือแม้กระทั่งแสงซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของภาพถ่าย ทำให้ผู้ชมโฟกัสไปที่ความเป็นธรรมชาติที่แทบจะไร้ซึ่งการตระเตรียมใดๆ ของทั้งตัวแบบและสถานที่ ความหยาบกร้านของชีวิต, บาดแผลภายใน และความทุกข์โศกที่แสดงออกมาทางสายตา
งานวิชวลและศิลปะเหล่านี้ของ แนน โกลดิน เป็นแรงบันดาลใจหลักในการทำหนังสารคดีของ ลอรา พอยทราส มานานหลายปี และไม่ได้มีแต่เพียงเธอเท่านั้นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายของโกลดิน แต่หมายรวมถึงคนทำหนังอิสระรุ่นหลังๆ อีกมากมาย
เพื่อให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนที่สุด ว่าภาพนิ่งของ แนน โกลดิน ลงลึกถึงความเป็นมนุษย์ได้มากแค่ไหน และมีศิลปะการเล่าเรื่องในรูปแบบศิลปะภาพยนตร์มากเพียงใด ลอรา พอยทราสจึงเลือกที่จะนำภาพนิ่งจากโปรเจกต์ภาพถ่ายสำคัญๆ ของเธอมาทำเป็นซีเควนซ์หรือเรียงลำดับรูปให้สามารถเล่าเรื่องได้ ไม่ต่างไปจากภาพเคลื่อนไหว พร้อมทั้งเปิดเสียงบรรยายของโกลดิน ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับภาพนิ่งที่ปรากฏอยู่บนจอภาพยนตร์ไปด้วย กลวิธีเหล่านี้เหมือนเป็นการนำ Photobook ของเธอมาฉายบนจอภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ชื่นชอบผลงานของช่างภาพหญิงจอมขบถคนนี้อยู่แล้ว
การนำภาพนิ่งจากหนังสือภาพชิ้นมาสเตอร์พีซของเธออย่าง The Ballad of Sexual Dependency (1986) และอีกหลายโปรเจกต์เป็นจำนวนหลายร้อยรูป มาฉายขึ้นจอใหญ่ เป็นประสบการณ์ในการรับชมศิลปะภาพถ่ายอันล้ำค่า การดูหนังสือภาพเล่มนี้โดยใช้มือพลิกไปทีละหน้าแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการได้รับชมบนจอภาพยนตร์ เพราะเห็นได้ชัดว่า ภาพถ่ายแต่ละใบที่ แนน โกลดิน ถ่าย คล้ายๆ กับการเขียนสตอรี่บอร์ดที่มีความเป็นภาษาภาพยนตร์สูง โดยเฉพาะการวางเฟรมที่ตำแหน่งของซับเจกต์หรือตัวแบบ จะอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ส่วนเรื่องขององค์ประกอบภาพ หากเป็นภาพนิ่งแบบเดี่ยวๆ อาจจะดูไม่สมบูรณ์มากนัก เพราะการวางเฟรมของเธอผ่านวิธีคิดแบบเป็นภาพรวมเอาไว้แล้ว ซึ่งเมื่อภาพนำมาเรียงลำดับอย่างเหมาะสมแบบสไลด์โชว์ผ่านวิธีคิดที่เข้าใจในศาสตร์ในการเล่าเรื่องจริงๆ มันก็เลยไม่ต่างไปจากการดูหนังชีวิตสุดรันทดชั้นดีเรื่องหนึ่ง
The Ballad of Sexual Dependency เคยถูกนำไปจัดแสดงแบบสไลด์โชว์ในปี 1985 ซึ่งนี่คือโปรเจกต์ส่วนตัวระยะยาวที่ แนน โกลดิน ใช้เวลาถ่ายราวๆ เจ็ดปี ถาพถ่ายชุดนี้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตส่วนหนึ่งของคนชายขอบที่ใช้ชีวิตอยู่นอกกฎเกณฑ์ของสังคม เพราะสังคมไม่ต้อนรับคนเหล่านี้ แนน โกลดิน ถ่ายภาพผู้คนที่ใช้ชีวิตในยามค่ำคืน ทั้งในคลับใต้ดินที่เปิดเพลง No Wave ที่เป็นส่วนผสมของดนตรีพังก์ร็อกและฟรีแจ๊ซ นอกจากนี้ก็ยังบันทึกภาพของกลุ่มรักเพศเดียวกัน ที่ลุกขึ้นท้าทายกฎเกณฑ์ล้าหลังทางสังคมซึ่งทวีความขบถมากขึ้นเรื่อยๆ หลังการก่อจลาจลเรียกร้องสิทธิในนิวยอร์กครั้งใหญ่ในปี 1969
ที่สำคัญ มันยังเป็นโปรเจกต์ที่บันทึกภาพเพื่อนของเธอที่กำลังใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฮโรอีน, ภาพคนใกล้ตายจากเอดส์ที่ไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ, ภาพครอบครัวที่บิดเบี้ยวและชีวิตรักที่เต็มไปด้วยความรุนแรง
ภาพนิ่งที่ แนน โกลดิน ถ่าย มีความดิบ, หยาบ และทำลายภาพจำของศิลปะภาพถ่ายดั้งเดิมที่เน้นในเรื่องของสุนทรียศาสตร์ สิ่งที่โกลดินถ่ายนั้นแสดงออกถึงความจริงที่ปรากฏในสังคม และสถาบันที่เสื่อมโทรม โดยมีตัวเธอเองเป็นซับเจกต์หลัก
ภาพนิ่งที่ แนน โกลดิน ถ่าย มีความดิบ, หยาบ และทำลายภาพจำของศิลปะภาพถ่ายดั้งเดิมที่เน้นในเรื่องของสุนทรียศาสตร์ สิ่งที่โกลดินถ่ายนั้นแสดงออกถึงความจริงที่ปรากฏในสังคม และสถาบันที่เสื่อมโทรม โดยมีตัวเธอเองเป็นซับเจกต์หลัก กล่าวโดยสรุปก็คือ ภาพชุดของเธอเป็นภาพชุดแบบ Subjective ที่มองโลกด้วยมุมมองส่วนตัว
เธอกล่าวในหนังว่า ในยุคนั้นไม่มีแกลเลอรี หรือนักวิจารณ์ศิลปะคนไหน สนใจช่างภาพที่ถ่ายชีวิตตัวเองหรอก ซึ่งเธอเป็นช่างภาพที่ทำลายกรอบนั้นด้วยภาพของคนเสพยา, ภาพกิจกรรมทางเพศแบบไม่ปิดบัง, ภาพเปลือย, รอยฟกช้ำตามร่างกาย โดยสายตาที่คนในภาพมองกลับมายังกล้อง และปรากฏอยู่บนแผ่นฟิล์มนั้น เป็นการจับจังหวะที่สมจริง เหมือนว่าผู้ชมกำลังเผชิญหน้าอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับผู้ที่ถูกถ่าย
การผลิตงานศิลปะในเชิงทดลองลักษณะนี้ แนน โกลดิน ได้รับอิทธิพลมาจากหนังทดลองในยุคแรกๆ ของ แอนดี วอร์ฮอล, หนังเรื่อง Blow-Up (1966) ของ มิเคลันเจโล อันโตนิโอนี, หนังกึ่งจริงกึ่งฝันของผู้กำกับ เฟเดริโก เฟลลินี, ผู้กำกับหนังใต้ดินยุคแรกอย่าง แจ็ค สมิธ และช่างภาพแฟชั่นระดับตำนาน กี บูร์แดง
บุคคลที่โกลดินถ่าย ล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนๆ ของเธอที่ใช้ชีวิตอยู่ในที่พักซอมซ่อ ใช้ยาเสพติดเพื่อหนีความจริงที่เลวร้าย หลายคนเป็นเกย์และหญิงชายข้ามเพศที่ป่วยด้วยเอดส์ระยะสุดท้าย เธอเป็นไบเซ็กชวลและเคยทำงานเป็นโสเภณีในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่านอกจากชีวิตของเธอจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแล้ว มันยังเต็มไปด้วยขวากหนานและซากศพของกลุ่มเพื่อนคนชายขอบที่ถูกสังคมทอดทิ้งและตายจากไปอย่างน่าอเนจอนาถ
และถึงแม้ว่าจะมีคนรัก แต่ชีวิตรักของเธอก็ไม่ได้ราบรื่น ไบรอัน คนรักของเธอทำร้ายเธอด้วยการชกเข้าที่เบ้าตาซ้ายของเธออย่างหนัก โดยมุ่งหมายให้เธอตาบอด แต่การแก้แค้นของเธอกลับไม่ใช่ความรุนแรง แนน โกลดิน หยิบกล้องมาถ่ายรูปของตัวเองที่ได้รับบาดเจ็บ สายตาของเธอจ้องเขม็งเข้าไปยังเลนส์ เธอจัดฉากภาพ Self Portrait เป็นอย่างดี เพื่อแสดงให้เห็นถึงบาดแผลในใจที่เกิดจากความรุนแรงภายในครอบครัว ซึ่งแทบจะรักษาให้หายขาดไม่ได้
– เป็นอีกครั้งที่เธอใช้งานศิลปะในการตอบโต้โลกชายเป็นใหญ่ และใช้เลือดล้างมลทินให้กับคนชายขอบทุกคน
สิ่งที่ทำให้หนังสารคดีเรื่องนี้ มีความพิเศษมากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากภาพถ่ายที่สะท้อนปัญหาชีวิตส่วนตัวของโกลดิน ก็คือการเล่าเรื่องโดยใช้สองเส้นเรื่องขนานกันไป
หนังเปิดฉากด้วยการที่ แนน โกลดิน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแคมเปญ Prescription Addiction Intervention Now (PAIN) เป็นผู้นำในการประท้วงตระกูล แซ็กเลอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาที่มีอิทธิพลอย่างสูงในอเมริกา และเป็นเจ้าของบริษัท Purdue Pharma โดยทางบริษัทได้รับกำไรมหาศาลในการจำหน่าย โอปิออยด์ ยาแก้ปวดที่ทำให้เคลิบเคลิ้มล่องลอยคล้ายสารเสพติด แต่ทางตระกูลแซ็กเลอร์ยืนยันว่า โอปิออยด์ไม่ได้เป็นยาเสพติดทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง การประท้วงด้วยการปาขวดยาโอปิออยด์จำนวนนับร้อยในพิพิธภัณฑ์ MET ที่นิวยอร์กเป็นการต่อต้านอำนาจฉ้อฉลต่อผู้มีอำนาจ ซึ่ง แนน โกลดิน รู้ดีว่ามันส่งผลกระทบร้ายกาจเพียงใดหลังจากที่เธอเห็นเพื่อนตายไปทีละคนสองคน จากการติดยาเสพติด และการถูกสังคมชนชั้นสูงขับไล่ไสส่ง
ลอรา พอยทราส ให้เครดิต โจ ไบนี (Joe Bini) -ผู้ลำดับภาพที่เคยตัดต่อหนังของผู้กำกับ แวร์เนอร์ แฮร์โซก มาแล้วหลายเรื่อง- ที่ให้คำแนะนำว่า จุดศูนย์กลางในตอนแรกที่ชื่อ Merciless Logic ควรโฟกัสไปยังชีวิตของ บาร์บารา พี่สาวของโกลดินที่ดูแลเธอมาเป็นอย่างดี แต่สังคมกลับไม่มอบพื้นที่ที่เหมาะสมให้
บาร์บาราไร้พื้นที่ยืนหยัดเพราะเธอมีทัศนคติที่ผิดแผกไปจากกรอบหรือจารีตที่กำหนดไว้ และความโหดร้ายของสังคมชายเป็นใหญ่ก็ทำให้ แนน โกลดิน เริ่มตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งดีงาม และอะไรคือความอัปลักษณ์ ก่อนที่เธอจะพบว่า จิตใจอันงดงามที่พี่สาวเธอมีให้กับเธอ กลับถูกทำให้แปดเปื้อนด้วยสังคมที่อัปลักษณ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของเธอเอง และแม่ที่บังคับให้บาร์บาราพูดให้เป็นประโยคให้ได้ ตั้งแต่อายุเพียงหนึ่งขวบ (ภายหลังแม่ของโกลดินได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคประสาท และบาร์บาราตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการนอนให้รถไฟทับ) อำนาจที่ฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จนี้เอง ที่ทำให้โกลดินลุกขึ้นมาหยิบฟิล์มใส่กล้องแล้วกดชัตเตอร์เพื่อบันทึกสิ่งที่สังคมมองว่าอัปลักษณ์ ให้กลายเป็นสิ่งที่สวยงาม ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว มันผลักดันให้เธอเดินหน้าเต็มตัวในการต่อกรกับอำนาจฉ้อฉลด้วยการปฏิเสธที่จะนำผลงานภาพถ่ายไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่ได้รับเงินทุนจากตระกูลแซ็กเลอร์ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์, Tate ในกรุงลอนดอน และอีกหลายแห่ง
แนน โกลดิน ใช้กล้องเป็นอาวุธ เธอมองเห็นความสวยงามในสิ่งที่ไม่ชวนมอง ภายใต้กรอบที่สังคมกำหนด ซึ่งเธอมองว่ามันไม่ถูกต้อง ชีวิตมนุษย์ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ทุกคนต่างก็มีความหลงใหลใฝ่ฝันและความมุ่งมั่นปรารถนา แต่ความหวังเหล่านั้นถูกบั่นทอนด้วยระบบชนชั้นที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนำเท่านั้น
แนน โกลดิน ใช้กล้องเป็นอาวุธ เธอมองเห็นความสวยงามในสิ่งที่ไม่ชวนมอง ภายใต้กรอบที่สังคมกำหนด ซึ่งเธอมองว่ามันไม่ถูกต้อง ชีวิตมนุษย์ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ทุกคนต่างก็มีความหลงใหลใฝ่ฝันและความมุ่งมั่นปรารถนา แต่ความหวังเหล่านั้นถูกบั่นทอนด้วยระบบชนชั้นที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นนำเท่านั้น
เมื่อลมหายใจของคนชายขอบเริ่มรวยรินและถูกขับไล่ไสส่ง ในขณะที่ชนชั้นสูงที่ฉ้อฉล กลับได้รับการเชิดหน้าชูตา โกลดินได้ทำสิ่งที่เธอถนัดที่สุด ก็คือการใช้ทักษะการถ่ายภาพ -ที่มีประสบการณ์แสนหดหู่ทั้งชีวิตคอยเป็นครูสอนเธอ- ตอกกลับเพื่อให้ผู้ที่อยู่บนหอคอยงาช้างได้เห็นว่า ชีวิตอันสวยงามเลิศหรูของพวกเขานั้น แลกมากับเลือดเนื้อและชีวิตของชนชั้นล่าง
– ซึ่งนั่นคือพื้นที่ที่เธอเลือกที่จะยืนเพื่อให้ภาพถ่ายออกมามีพลัง และทะลุทะลวงเข้าไปในมโนสำนึกของผู้คนมากที่สุด
ความงดงามใดๆ ในโลก กับหยดเลือดจากบาดแผลแท้ ที่จริงแล้วห่างกันเพียงส้นกั้นบางๆ เท่านั้น ภาพถ่ายของ แนน โกลดิน เป็นสื่อกลางในการเปิดโปงความจริงที่เป็นสัจธรรมในโลกทุนนิยมอันสามานย์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาพชีวิตของคนชายขอบเหล่านี้ได้ถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ระดับโลกหลายแห่ง และหนังสือภาพของ แนน โกลดิน ก็ถูกนำไปใช้สอนในคลาสวิชาถ่ายภาพแนวศิลปะสัจนิยม (Realism) ทั่วโลก เนื่องจากภาพถ่ายของเธอสะท้อนสัญญะซ่อนเร้น ทั้งในแง่การเมืองและมนุษย์นิยม ถึงแม้ว่าพวกเขาจะตกอยู่ในสภาวะที่น่าขมขื่นสักเพียงใดก็ตาม
เพราะ แนน โกลดิน เชื่อว่าการทำความเข้าใจในประสบการณ์อันแสนเจ็บปวดและทุกข์ทรมานเท่านั้น จะทำให้มนุษย์เข้าถึงความงดงามที่แท้จริงของชีวิตได้
