Hunger คนหิว เกมกระหาย : การถ่ายทอดภาพความหิวอันขาดพร่อง ที่นำไปสู่ข้อถกเถียงนอกจอ
...
Summary
- หนังไทยที่กำลังสร้างประเด็นเดือดในโลกออนไลน์ขณะนี้ อย่าง ‘Hunger คนหิว เกมกระหาย’ เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เชฟพอล (ปีเตอร์ นพชัย) สตาร์แห่งทีมทำอาหารสุดหรูที่ใครๆ ต่างก็อยากจ่ายเงินก้อนโตให้เพื่อลิ้มลองอาหารของเขา กับ ออย (ออกแบบ ชุติมณฑน์) แม่ครัวร้านราดหน้าผัดซีอิ๊วที่จับพลัดจับผลูถูกดึงเข้าทีมของเชฟพอล เนื่องจาก โตน (กรรณ) ผู้ช่วยของเชฟเล็งเห็นพรสวรรค์ในการผัดด้วยกระทะของเธอ
- หนังหยิบเอาเรื่อง ‘ความหิว’ มาเล่นได้อย่างสนใจ เนื่องจากมันเป็นหัวข้อที่สามารถเชื่อมโยงได้ตั้งแต่ความหิวที่เรียบง่ายที่สุดของมนุษย์ คือ ‘หิวอาหาร’ ไปจนถึงความ ‘หิวกระหาย’ ในบางสิ่งบางอย่างที่ส่งผลต่อการมีชีวิตอยู่อย่างแรงกล้า ผ่านสายตาของตัวเอกในโลกสองฝั่งที่ ‘อยู่เพื่อกิน’ กับ ‘กินเพื่ออยู่’ ซึ่งถูกคนดูส่วนหนึ่งมองว่า ‘ทื่อ’ เกินไป
- อย่างไรก็ดี ถึง Hunger จะยังมีข้อบกพร่องทั้งในเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยของการเป็นเชฟ และการให้ตัวละครเชฟพอลมีทัศนคติที่ดูถูกคนรวยที่มากินอาหารของเขาแบบสุดโต่ง แต่การที่หนังถูกวิจารณ์ว่า “ไม่ให้เกียรติอาชีพเชฟ” นั้น ก็อาจเป็นเรื่องที่รุนแรงเกินไป
...
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง
ในวงการบันเทิงบ้านเรา ณ เวลานี้ หันซ้ายหันขวาไปทางไหน ก็ดูจะเต็มไปด้วยรายการทำอาหารมากมาย อาทิ ‘มาสเตอร์เชฟ’, ‘ท็อปเชฟ’, ‘เชฟกระทะเหล็ก’ หรือรายการทำอาหารเรตติ้งดีอื่นๆ ที่มีฐานแฟนคอยติดตาม จนทำให้เชฟที่แจ้งเกิดจากรายการเหล่านี้ แทบจะกลายเป็นเซเลบริตี้คนหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ดารานักแสดงเลยทีเดียว
ไม่ต่างจากตัวละครเชฟใน ‘Hunger คนหิว เกมกระหาย’ ภาพยนตร์ไทยประเด็นเดือด ที่ตั้งใจจะสะท้อนสภาวะดังกล่าวผ่าน เชฟพอล (ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม) สตาร์แห่งทีมทำอาหารสุดหรูที่ใครๆ ต่างก็อยากจ่ายเงินก้อนโตให้เขา เพื่อให้ได้ชื่อว่าเคยลิ้มรสฝีมือจากยอดเชฟอันดับหนึ่งของประเทศ โดยเราจะได้เข้าไปรู้จักเชฟพอลผ่านสายตาของ ออย (ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) แม่ครัวร้านราดหน้าผัดซีอิ๊วที่จับพลัดจับผลูถูกดึงเข้าทีมของเชฟพอล เนื่องจาก โตน (กรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา) ผู้ช่วยของเชฟเล็งเห็นพรสวรรค์ในการผัดด้วยกระทะของเธอ
โดยเราจะได้เห็นเชฟพอลกับออย ขับเคี่ยวกันผ่านการทำอาหารในสถานการณ์ต่างๆ จนนำไปสู่บทสรุปในตอนท้าย ที่ทั้งสองคนได้พาตัวเองไปลงเอยในปลายทางของภาพยนตร์
ก่อนอื่น คงต้องบอกว่า เราชอบไอเดียของภาพยนตร์ที่หยิบเอาเรื่อง ‘ความหิว’ มาเล่น เนื่องจากมันเป็นหัวข้อที่สามารถเชื่อมโยงได้ตั้งแต่ความหิวที่เรียบง่ายที่สุดของมนุษย์ คือ ‘หิวอาหาร’ ไปจนถึงความ ‘หิวกระหาย’ ในบางสิ่งบางอย่างที่ส่งผลต่อการมีชีวิตอยู่อย่างแรงกล้า ผ่านสายตาของตัวเอกในโลกฝั่งหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ ‘กินเพื่ออยู่’ ไปสู่โลกอีกฝั่งที่ผู้คนต่าง ‘อยู่เพื่อกิน’ หรือก็คือการอยู่เพื่อลิ้มรสและกำซาบสิ่งต่างๆ อันเป็นนามธรรมที่มากกว่าเรื่องของปากท้อง เช่น หิวชัยชนะ, หิวการยอมรับ, หิวความสำเร็จ เป็นต้น – ซึ่งหากเราโหยหาสิ่งเหล่านี้มากเกินไป จนนำไปสู่การกระทำที่ไม่ถูกไม่ควร ก็อาจกลายพฤติกรรมที่คนสมัยนี้บัญญัติกันไว้ว่า ‘หิวแสง’ ก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ผู้เขียนกำลังเรียบเรียงความรู้สึกของตัวเองอยู่นี้ ภาพยนตร์เรื่อง Hunger ก็ยังได้รับความเห็นหลังดูจากผู้ชมค่อนข้างหลากหลาย และหลายหัวข้อก็มีความน่าสนใจจนน่าหยิบมาขบคิดต่อยอด
หากมีรายละเอียดของอาชีพที่ถูกลดทอน หรือบิดเบือนจากความเป็นจริงไปบ้าง เพื่อการนำเสนอในเชิงภาพยนตร์ เราคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ ‘ทำได้’ ตราบใดที่คนทำสามารถกล่อมเกลาและเล่าเรื่องให้คนดูรู้สึกเชื่อตามได้
ความจริงของอาชีพคนทำครัว
หลังจากผู้เขียนรับชม Hunger ก็พบว่า แก่นหลักของภาพยนตร์ถูกเน้นหนักไปที่การเสียดสีสังคมผ่านเมนูต่างๆ ที่สะท้อนสภาวะของผู้รับประทานและผู้ลงมือปรุง ดังนั้น ในสายตาของคนดูส่วนหนึ่ง Hunger มีสถานะเป็น ‘หนังที่ใช้การทำอาหารเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่อง’ มากกว่าที่จะเป็น ‘หนังที่เล่าถึงคนทำอาหารเพื่อล้วงลึกวงการเชฟ’ ดังนั้น หากมีรายละเอียดของอาชีพที่ถูกลดทอน หรือบิดเบือนจากความเป็นจริงไปบ้าง เพื่อการนำเสนอในเชิงภาพยนตร์ เราคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ ‘ทำได้’ ตราบใดที่คนทำสามารถกล่อมเกลาและเล่าเรื่องให้คนดูรู้สึกเชื่อตามได้
เพราะไม่เช่นนั้น เราคงไม่มี Ratatouille แอนิเมชันที่เล่าเรื่อง ‘หนูท่อที่ซ่อนอยู่ใต้หมวกพ่อครัวและชักใยให้คนทำอาหารสุดหรูในภัตตาคารฝรั่งเศส’ ซึ่งฟังดูแล้วช่างห่างไกลจากความจริง แต่ด้วยเส้นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลในโลกของมัน รวมถึงมู้ดโทน และความเป็น ‘การ์ตูน’ จึงทำให้คนดูสามารถเอ็นจอยไปกับพล็อตที่สุ่มเสี่ยงต่อสุขอนามัยในการประกอบอาหารเช่นนี้ได้
แต่หากพิจารณาจาก ‘ภาพแรก’ ของ Hunger ที่ถูกปล่อยออกมาสู่สายตาของคนทั่วไปนั้น ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า เหตุใดเมื่อตัวหนังถูกปล่อยมาให้รับชมแบบเต็มๆ แล้ว ถึงมีความเห็นบางส่วนจับจ้องวิจารณ์ว่า รายละเอียดบางอย่างในเรื่องตกหล่นจากความเป็นจริง สืบเนื่องจากการโปรโมตดังกล่าวถูกนำเสนอออกมาว่า มันจะเป็นหนังที่มีท่าที ‘ขึงขัง’ ผ่านภาพการทำอาหารและเมนูอาหารมากมายที่ใส่เข้ามาเพื่อบิวต์อารมณ์ และมีบรรยากาศ ‘เข้มข้น’ ไปด้วยคำพูดและการกระทำของตัวละครที่แสนเกรี้ยวกราดในระหว่างการทำอาหาร คนดูที่มีประสบการณ์ความรู้ในอาชีพนี้ จึงอาจคาดหวังที่จะได้เห็นถึงรายละเอียดใน ‘โลกของคนครัว’ จากหนังเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม จากที่ได้เกริ่นไปแล้ว ว่าส่วนตัวไม่ได้ติดเรื่องที่ว่าหนังนำเสนอความ ‘จริง’ หรือ ‘ไม่จริง’ เราจึงขอโฟกัสไปยังสิ่งที่หนังทำให้เรา ‘เชื่อ’ หรือ ‘ไม่เชื่อ’ จะดีกว่า ซึ่งเผอิญว่า Hunger ก็มีส่วนที่ถูกนำเสนอให้เชื่อมโยงกับหลักการของโลกความเป็นจริงอยู่เยอะ ดังนั้น เกณฑ์การตัดสินขณะรับชมของคนดูจึงถูกผูกเข้ากับความเป็นเหตุเป็นผลของสายอาชีพเชฟจริงๆ
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงท้ายของเรื่องที่นางเอกได้มาทำร้านอาหารไฟน์ไดนิ่ง/เชฟเทเบิ้ลของตัวเอง เราอาจรู้สึกว่า “นางเอกไปเก่งมาจากไหน?” ถึงสามารถเป็นหัวหน้าชี้นิ้วสั่งคนครัวคนอื่นๆ ที่มีทักษะ (ซึ่งอาจจะมากกว่าเธอด้วยซ้ำ) ว่าแบบไหนดี-ไม่ดี ถูก-ไม่ถูก เพราะจากที่หนังแสดงให้เห็น ภาพแรกของเธอคือคนที่ผัดด้วยกระทะเก่ง ผัดเร็ว ผัดอร่อย (จากซีนความเร่งด่วนในร้านราดหน้าผัดซีอิ๊ว) เราเห็นความมุ่งมั่นของเธอในการผัดเนื้อวากิวให้สุกชุ่มฉ่ำดังใจเชฟพอลได้ในข้ามคืน แต่หลังจากนั้น เราถึงได้รู้ว่าเธอทำอย่างอื่นไม่เป็นเลยนอกจากการผัดเพียงอย่างเดียว
ผู้ชมอาจเห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของเวลา ซึ่งน่าจะทำให้ออย ‘ต่าง’ ไปจากวันแรกที่เข้าทีมเชฟพอล แต่โดยส่วนตัวแล้วเรากลับรู้สึกว่ามันไม่ได้นานพอที่จะทำให้เธอ ‘เหนือชั้น’ จนขึ้นไปเป็นหัวหน้าใครได้
ในการทำอาหาร โดยเฉพาะอาหารหรูๆ แบบในเรื่อง ยังมีอีกหลายเทคนิคที่ต้องใช้เวลาเรียนรู้และฝึกฝนกว่าจะชำนาญ ไหนจะต้ม, หั่น, ซูวี (Sous Vide), ย่าง, อบ, รมควัน, แล่, ชำแหละ หรืออื่นๆ อีกมากมาย - โอเคว่าอาจมีซีนที่เธอไปเรียนรู้ทักษะการครัวเพิ่มเติมกับโตนอยู่บ้าง (หนึ่งซีนถ้วน) แต่มันจะเพียงพอต่อการเป็น ‘เชฟใหญ่ร้านดัง’ ที่จะเข้าใจทุกอย่าง ลงมือทำ และตัดสินใจเด็ดขาดตามแบบฉบับเชฟตัวจริงได้จริงๆ หรือ?
ผู้ชมอาจเห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของเวลา ซึ่งน่าจะทำให้ออย ‘ต่าง’ ไปจากวันแรกที่เข้าทีมเชฟพอล แต่โดยส่วนตัวแล้วเรากลับรู้สึกว่ามันไม่ได้นานพอที่จะทำให้เธอ ‘เหนือชั้น’ จนขึ้นไปเป็นหัวหน้าใครได้ เพราะไม่ใช่แค่ว่ามีสปอนเซอร์ใหญ่ใจดีแล้วจะสามารถทำร้านอาหารให้รอดได้ แต่สำหรับทักษะของคนทำอาหารในเมนูระดับ ‘ไฮเอนด์’ ที่มีความจุกจิก และมีเครื่องมือหลากหลายที่ต้องการเวลาฝึกหัดเช่นนี้ มันควรต้องมีซีนเล่าเหตุการณ์อื่นๆ ที่มาช่วยยืนยันพัฒนาการที่เปลี่ยนผ่านของเธอด้วย แต่เรากลับได้เห็นเพียงแค่ชุดภาพมองตาจที่พอเธอเปิดร้านแล้วอยู่ๆ ก็เก่งเลย และเริ่มทำตัวเกรี้ยวกราดสไตล์เชฟพอลขึ้นมาก็เท่านั้น
เมนูที่มีคอนเซปต์เสียดสี และโปรดักชันที่ช่วยปรุงให้ซีนอาหารดูจัดจ้านสื่อความหมาย
เมื่อการทำอาหารในเรื่องมีขึ้นเพื่อเสิร์ฟสิ่งที่มากกว่าความอร่อยลิ้น ส่วนที่ทำให้หนัง ‘สนุก’ จึงเป็นส่วนของ เมนูที่ถูกนำเสนอผ่านงานโปรดักชันสุดแฟนตาซีที่ทำให้เรารู้สึกตื่นตา รวมถึงกลุ่มคนต่างๆ ที่ได้กินมัน ซึ่งเป็นภาพแทนของผู้คนในรูปแบบต่างๆ ที่ถูกอ้างอิงมาจากคาแรกเตอร์ของบุคคลจริง หรือคนจากข่าวต่างๆ เพื่อสะท้อนถึงภาพชีวิตของคนแต่ละกลุ่มในสังคม
เราจึงประทับใจกับคอนเซปต์ของเมนูเกือบทุกจานในเรื่อง ที่มีเรื่องราวเบื้องหลังสอดแทรก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของครอบครัวออยกับ ‘ผัดงอแง’ เมนูก๋วยเตี๋ยวแสนอร่อยที่ทำจากของง่ายๆ ในตู้เย็นเพื่อให้ลูกหลานหยุดงอแง, ‘กินเลือด กินเนื้อ’ อาหารจานเนื้อ สด ฉ่ำ สีสันจัดจ้าน ที่รังสรรค์ขึ้นในงานปาร์ตี้ของคนใหญ่คนโตทางการเมือง, ‘เมนูสัตว์ป่าต้องห้าม’ ที่ท้าทายกฎหมายและจรรยาบรรณ
หรือไฮไลต์ใหญ่สุดอย่าง ‘อาหารบูชาเทพเจ้า’ ของเชฟพอล ซึ่งเป็นภาพที่เหนือขึ้นไปอีกขั้น ด้วยโปรดักชันที่โอบอุ้มทั้งซีนไว้จนสื่อถึงสารที่ซ่อนอยู่ในเมนูจานนั้นออกมาได้
เรียกได้ว่า การนำเสนออาหารแต่ละครั้งในภาพยนตร์เรื่อง Hunger นี้ เรียกความสนให้เรารอดูปฏิกิริยาของคนกินในเรื่องได้เสมอ รวมไปถึง cameo หรือเหล่านักแสดงรับเชิญที่โผล่มาอยู่ในเรื่อง ก็ช่วยให้หนังบันเทิงขึ้นเช่นกัน หากเรารู้จักคนเหล่านั้น
การออกแบบเสียงชวนระทึก ที่ช่วยขับเน้นอารมณ์ของหนัง
ความจริงแล้ว ผู้เขียนได้ดูเรื่อง Hunger ถึงสองรอบ รอบแรกคือการนั่งดูที่บ้านผ่านช่องทางที่ Netflix ส่งให้เพื่อใช้เป็นข้อมูลล่วงหน้า และรอบที่สองการนั่งดูในโรงภาพยนตร์จากงานอีเวนต์เปิดตัวหนัง ซึ่งการดูทั้งสองรอบนี้ให้ความรู้สึกแตกต่างกันอยู่มาก
เนื่องจากการดูในโรงภาพยนตร์ ทำให้เราสามารถรับสารได้เต็มที่มากกว่า ทั้งเรื่องของขนาดภาพ และบรรยากาศ โดยเฉพาะระบบเสียงของโรงภาพยนตร์ที่ทำให้เพลงกับซาวนด์ที่ถูกออกแบบมา ทำงานกับคนดูได้ดีกว่า เพราะบางซีนที่เราเคยดูแล้วรู้สึก ‘แห้งๆ’ ที่บ้าน กลับกลายเป็นว่าพอได้ฟังได้ดูแบบ ‘เต็มหูเต็มตา’ ในโรงหนัง มันก็กลับทำงานได้มากกว่า
การออกแบบเสียงของภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าขั้นน่าประทับใจ จนเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ผู้ชมทางบ้านอาจไม่ได้รู้สึกเต็มอิ่มไปกับหนังอย่างที่ควรเป็น – นี่จึงอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่การจัดฉายรอบสื่อในโรง มีเสียงตอบรับที่ดี แต่พอลงสตรีมมิงบนแพลตฟอร์มแล้ว เสียงวิจารณ์กลับแตกออกเป็นหลายทาง
กล่าวรวมๆ คือ การออกแบบเสียงของภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าขั้นน่าประทับใจ จนเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ผู้ชมทางบ้านอาจไม่ได้รู้สึกเต็มอิ่มไปกับหนังอย่างที่ควรเป็น – นี่จึงอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่การจัดฉายรอบสื่อในโรง มีเสียงตอบรับที่ดี แต่พอลงสตรีมมิงบนแพลตฟอร์มแล้ว เสียงวิจารณ์กลับแตกออกเป็นหลายทาง เพราะหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของภาพยนตร์อย่าง ‘เสียง’ มันดร็อปลงไปเมื่อดูที่บ้าน
ดังนั้น เราจึงอยากแนะนำให้ใครก็ตามที่ยังไม่เคยดู หรือคิดจะดูซ้ำบนสตรีมมิง ‘ใส่หูฟัง’ ระหว่างรับชม เพื่อที่จะสามารถฟังเสียงที่ถูกออกแบบมาได้เต็มๆ ส่วนเนื้อหาหนังจะถูกจริตหรือไม่ อย่างไร คงต้องว่ากันไปตามรสนิยมของผู้ชมอีกที
นักแสดงที่ทุ่มเทกับบทบาทได้อย่างยอดเยี่ยม
ต้องยอมรับเลยว่า เราเห็นพลังของนักแสดงที่เป็น ‘นักแสดง’ จริงๆ ไม่ใช่แค่ดาราหน้ากล้อง เนื่องจากคาแรกเตอร์ของตัวละครส่วนใหญ่เป็นคนที่ต้องหยิบจับทำท่าทางต่างๆ ให้เหมือนกับคนที่ใช้ชีวิตหน้าเตาอยู่เป็นนิตย์ ดังนั้น นอกจากต้องทำความเข้าใจเพื่อสวมบทเป็นตัวละครที่ได้รับแล้ว พวกเขายังต้องเข้าเวิร์กช็อปการทำอาหารอย่างเข้มข้นพอสมควร เพื่อให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ในครัวได้ถึงขนาดนี้
โดยเฉพาะ ออกแบบ (รับบท ออย) ที่ตามปกติมีรูปร่างลีนๆ ตามสไตล์นางแบบ แต่พอมารับบทเป็นแม่ครัวก๋วยเตี๋ยวผัดที่ต้องแบกกระทะทุกวัน เธอจึงต้องมีการเพิ่มกล้ามเนื้อแขนมากขึ้น เพื่อให้สมกับบทบาทที่ได้รับ
รวมถึง ปีเตอร์ (เชฟพอล), กรรณ (โตน) และนักแสดงที่มาเล่นเป็นเชฟท่านอื่นๆ ที่มีทั้งคนที่เป็นเชฟจริงๆ และคนที่ไม่ใช่ – ทุกคนสามารถถ่ายทอดคาแรกเตอร์ของคนทำอาหารออกมาได้ดีมาก
ขณะที่กลุ่มตัวละครที่ไม่เกี่ยวกับโลกฝั่งเชฟ เช่น คนในครอบครัว หรือเพื่อนใกล้ชิดของออย ต่างก็ดูมีเสน่ห์ทางการแสดงที่เป็นธรรมชาติยามเมื่อต้องเข้าซีนร่วมกัน
ตรรกะในเรื่องที่ชวนงุนงงบางจุด อันมาจากบท (โดยเฉพาะไดอะล็อก) ที่เหมือนถูกจับวาง
ถึงงานโปรดักชันและการแสดงจะออกมาน่าชื่มมากๆ แต่เราก็ยังรู้สึกว่า หนังใช้ ‘การมีอยู่ของตัวละคร’ เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้เรื่องราวเดินไปข้างหน้าเท่านั้น เพราะหนังยังไม่สามารถทำให้เรารู้สึกว่า ‘ตัวละคร’ เหล่านี้เป็น ‘มนุษย์’ ที่มีเลือดเนื้อมากพอ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่เราแทบไม่ได้เห็นถึงอุปนิสัย หรือความต้องการเบื้องลึกของตัวละครอย่างชัดเจน
อย่างเช่น ออย ที่ไม่ได้ถูกเล่าว่า เธอเป็นคนแบบไหน และต้องการอะไรกันแน่ เรารู้พื้นเพแค่ว่าเธอเป็นลูกคนโตในครอบครัวที่พออยู่พอกิน ซึ่งอาศัยและเปิดร้านอาหารอยู่ในห้องแถวเก่าๆ แห่งหนึ่ง เธอเสียสละให้น้องได้เรียน ในขณะที่ตัวเองต้องรับช่วงต่อเพื่อมาผัดก๋วยเตี๋ยวขาย เธออาจมีบ่นๆ บ้างถึงชีวิตที่ไม่ได้เลือกเอง และอาจดูเหมือนไม่มีความสุขกับการทำอาหาร ทว่าก็ไม่ได้ดูเดือดร้อนถึงขั้น ‘หิวกระหาย’ จนต้องอยากออกไปประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง แต่หนังก็ยังเล่าต่อไปว่า เมื่อเธอได้รับโอกาสจากโตนที่เข้ามายื่นนามบัตร และเปิดโอกาสให้เธอได้ลองเลือกทางใหม่ๆ ประกอบกับประโยคชวนเชื่อของเชฟพอลเรื่องการ ‘เป็นคนพิเศษ’ ในครัวของเขา ตัวละครของออยจึงตัดสินใจคว้ามันไว้ เพื่อค้นหาความหมายใหม่ๆ ให้ชีวิตเสียอย่างนั้น
ถึงงานโปรดักชันและการแสดงจะออกมาน่าชื่มมากๆ แต่เราก็ยังรู้สึกว่า หนังใช้ ‘การมีอยู่ของตัวละคร’ เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อให้เรื่องราวเดินไปข้างหน้าเท่านั้น เพราะหนังยังไม่สามารถทำให้เรารู้สึกว่า ‘ตัวละคร’ เหล่านี้เป็น ‘มนุษย์’ ที่มีเลือดเนื้อมากพอ
นอกจากนี้ หนังยังเล่าถึงโลกสองฝั่ง -ทั้งคนรวยและคนจน- เพื่อเสียดสีสังคมแบบชั้นเดียว กล่าวคือ มองคนรวยว่าเป็นพวกที่อยู่เพื่อกิน ไม่เข้าใจคุณค่าที่แท้จริงของอาหาร เพราะมัวแต่ฝากความหิวเอาไว้กับเรื่องอื่นในชีวิตมากกว่า และมองคนจนว่า เป็นพวกที่กินเอาอิ่มท้อง รวมถึงรู้ซึ้งและเคารพอาหารที่กินด้วยความจริงใจ
โดยเฉพาะตอนที่หนังเอ่ยถึงเรื่องความจน-ความรวยแบบทื่อๆ ผ่านบทพูด (เช่น ตัวละครเพื่อนออยที่บ่นเรื่องความไม่เท่าเทียม และเศรษฐกิจย่ำแย่ที่กดทับฐานะของคนรุ่นใหม่) หรือการกระทำของตัวละคร (เช่น หลังจากที่ออยได้ออกไปลุยเดี่ยวกับเส้นทางใหม่ และมีความกดดันเรื่องพ่อป่วยเพราะต้องใช้เงิน แต่จู่ๆ หนังก็เดินมาสู่ตอนจบที่ออยตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง กลับมาบ้าน โดยมีพ่อที่หายป่วยแล้วรอคอยอยู่ หรือการที่เชฟพอลประกาศก้องถึงอภิสิทธิ์ที่ตัวเองมีท่ามกลางผู้คนมากมายอย่างโจ่งแจ้งก่อนที่จะโดนตำรวจลากออกไป ราวกับคิวละคร) มันจึงดูเหมือนเรื่องราวทั้งหมดถูกเล่าออกมา ‘ง่าย’ เกินไปหน่อย
หรือตอนที่ อู๋ (เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ) เพื่อนข้างบ้านที่แอบชอบออย โทรศัพท์หาเธอในช่วงองก์ท้ายของเรื่อง แล้วพูดว่า “ชาวบ้านแถวนี้เขาพูดกันหมด ว่ามึงเปลี่ยนไปแล้ว แต่กูเชื่อนะว่ามึงยังไม่เปลี่ยน” ซึ่งก็ทำให้เราสงสัยขึ้นมา เพราะเหมือนอยู่ๆ ประโยคนี้ถูกจับมาวางไว้เพื่อกระตุกให้ออย ‘คิดได้’ แบบตรงไปตรงมาเกินไป เพราะถ้ามองตามความเป็นจริง หากชาวบ้านแถวนั้นเห็นออยกลายมาเป็นเชฟที่เริ่มโด่งดัง ทำงานมีเงินมาจ่ายค่ารักษาพ่อ พวกเขาก็น่าจะร่วมชื่นชมยินดีตามไปด้วยหรือเปล่า ไม่ใช่มานินทาว่าออยเปลี่ยนไป
หรือการที่ออยถูกเลือกให้เข้าทีมเชฟพอล เพราะเธอรู้ว่าการใช้ข้าวเก่าจะทำให้ ‘ข้าวผัด’ ออกมาอร่อยกว่าการใช้ข้าวหุงสุกใหม่ๆ นั้น ก็มีความแปลกประหลาดในตรรกะอยู่พอสมควร เพราะถ้าจะบอกว่า เธอถูกชวนมาสอบเข้าทีมเพราะความสามารถในการผัดแล้วละก็ สิ่งที่ทำให้เธอชนะ น่าจะเป็นการควบคุมไฟ, ลีลาการผัด หรือเทคนิคที่เกี่ยวกับกระทะอื่นๆ ไม่น่าใช่ด้วยการเลือกวัตถุดิบที่เหมาะสมแต่เพียงอย่างเดียว
ถึง Hunger จะแอบมีข้อบกพร่องทั้งในเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยของการเป็นเชฟ หรือตรรกะในการดำเนินเรื่องบางอย่าง แต่การที่หนังถูกโจมตีในทางลบเพราะรายละเอียดที่ไม่ได้ถูกเล่า หรือการมีอยู่ตัวละครเชฟพอลมีทัศนคติดูถูกคนรวยที่มากินอาหารของเขาแบบสุดโต่ง จนนำไปสู่การที่หนังถูกวิจารณ์ว่า “ไม่ให้เกียรติอาชีพเชฟ” นั้น ก็อาจเป็นเรื่องที่รุนแรงเกินไป
อย่างไรก็ดี ถึง Hunger จะแอบมีข้อบกพร่องทั้งในเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยของการเป็นเชฟ หรือตรรกะในการดำเนินเรื่องบางอย่าง แต่การที่หนังถูกโจมตีในทางลบเพราะรายละเอียดที่ไม่ได้ถูกเล่า หรือการมีอยู่ตัวละครเชฟพอลมีทัศนคติดูถูกคนรวยที่มากินอาหารของเขาแบบสุดโต่ง จนนำไปสู่การที่หนังถูกวิจารณ์ว่า “ไม่ให้เกียรติอาชีพเชฟ” นั้น ก็อาจเป็นเรื่องที่รุนแรงเกินไป เพราะถึงที่สุดแล้ว หากเราต้องเล่าหนังสักเรื่องให้ออกมาตรงตามสิ่งที่ ‘ควรเป็น’ เสมอ และตัวละครในทุกสาขาอาชีพต้องเป็นคนที่ ‘คิดดีทำดี’ เสียหมด มันก็คงกลายเป็นข้อจำกัดด้านความคิดสร้างสรรค์สำหรับคนทำหนัง รวมถึงยังเป็นการดูถูกวิจารณญาณของคนดูหนังไปอย่างน่าเสียดาย
