การประท้วงหยุดงานของนักเขียน (และนักแสดง) ในอเมริกา ที่อาจนำไปสู่การ ‘รีเซต’ ฮอลลีวูดทั้งระบบ
...
LATEST
Summary
- แม้สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพยนตร์อย่าง Barbie และ Oppenheimer จะทำเงินได้ดี แต่ ‘นักเขียนบท’ ในฮอลลีวูด -ผู้เล่นคนสำคัญที่ถือว่าเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการสร้างภาพยนตร์- ก็ไม่สามารถฉลองได้อย่างเต็มที่ เพราะพวกเขากำลังอยู่ในการประท้วงสุดเข้มข้น เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในมิติต่างๆ โดยเฉพาะในแง่ของค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล ซึ่งว่ากันว่า หากสำเร็จ ก็จะเป็นการ ‘รีเซต’ วงการบันเทิงฮอลลีวูดอย่างใหญ่หลวง
- สมาคมนักเขียนได้ปักหลักประท้วงด้วยการเดินขบวน และปฏิเสธการเขียนบทภาพยนตร์ และบทโทรทัศน์มาตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ส่วนสมาคมนักแสดงก็ร่วมลงประท้วงเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะปฏิเสธการถ่ายทำภาพยนตร์และซีรีส์แล้ว เหล่านักแสดงก็ร่วมประท้วงด้วยการไม่ออกสื่อโปรโมตโปรเจกต์ใดๆ อีกด้วย
- ข้อสำคัญของการประท้วงครั้งนี้ มีอยู่สองประเด็นหลักๆ ประเด็นแรกคือ เรื่องของรายได้ปันผล หรือ Residuals ที่ทางผู้สร้างภาพยนตร์จะได้รับเมื่อผลงานของพวกเขาถูกนำไปฉาย หรือผลิตซ้ำในช่องทางต่างๆ แต่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีได้พัฒนาไปได้ไกลขึ้น และการเข้ามาของสตรีมมิงสามารถกระจายการรับชมไปสู่ผู้ชมได้กว้างขวางขึ้น รายได้ Residuals ในส่วนนี้ยังไม่เคยได้ถูกปรับให้เป็นไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน
- ส่วนข้อที่สองของการเจรจาครั้งนี้ คืออนาคตการทำงาน และการใช้ AI ในการสร้างผลงานหนังและซีรีส์อย่างเอารัดเอาเปรียบคนทำงาน ซึ่งทำให้ทั้งทางสมาคมนักเขียน WGA และสมาคมนักแสดง SAG-AFTRA ได้ออกมาต่อต้าน AMPTP อย่างจริงจัง และไม่ยินยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น เพื่อให้มนุษย์ยังคงเป็นตัวแปรหลักในการสร้างสรรค์งานภาพยนตร์และซีรีส์ต่อไป
- นี่คือเหตุการณ์ที่น่าจับตามองว่าจะคลี่คลายต่อไปอย่างไร และก็น่าจับตาด้วยว่า ไม่ว่าผลลัพธ์จากฝั่งอเมริกาจะออกมาเป็นอย่างไร บทเรียนจากการประท้วงครั้งนี้จะส่งผลมาถึงวงการบ้านเราได้มากน้อยขนาดไหน
...
เมื่อสุดสัปดาห์วันที่ 20-22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นสุดสัปดาห์แห่งชัยชนะของวงการภาพยนตร์ เนื่องด้วยภาพยนตร์อย่าง Barbie และ Oppenheimer กลายเป็นหนังที่สามารถสร้างรายได้รวมกันได้มากถึง 235 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสุดสัปดาห์ที่ทำเงินมากที่สุดอันดับ 4 ในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูด พาผู้ชม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งหญิงและชาย กลับเข้าสู่โรงหนังได้อย่างสมบูรณ์แบบหลังจากที่โรคระบาดโควิด-19 ทำให้วงการหนังซบเซา และมีผู้ชมมากถึง 200,000 คน ที่ออกมาชมภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ในวันเดียวกัน
นี่คือช่วงเวลาที่คนทั้งวงการภาพยนตร์รอคอย และเป็นสัญญาณที่ดีว่า คนรักหนังยังมีใจออกจากบ้านมาดูหนังในโรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเฉลิมฉลอง
แต่สำหรับ ‘นักเขียนบท’ ผู้เล่นคนสำคัญที่ถือว่าเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการสร้างภาพยนตร์ ก็ไม่สามารถฉลองได้อย่างเต็มที่ เพราะพวกเขากำลังอยู่ในการประท้วงสุดเข้มข้น เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในมิติต่างๆ โดยเฉพาะในแง่ของค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล – ซึ่งสมาคมนักเขียนได้ปักหลักประท้วงด้วยการเดินขบวน และปฏิเสธการเขียนบทภาพยนตร์และบทโทรทัศน์มาตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ส่วนสมาคมนักแสดงก็ร่วมลงประท้วงเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะปฏิเสธการถ่ายทำภาพยนตร์และซีรีส์แล้ว เหล่านักแสดงก็ร่วมประท้วงด้วยการไม่ออกสื่อโปรโมตโปรเจกต์ใดๆ อีกด้วย
ฝั่งแรกของการประท้วงครั้งนี้ คือ 2 สมาคมที่ดูแลคนทำงานในวงการฮอลลีวูด โดยสมาคมแรกคือ Writers Guild of America (WGA) ที่มีสมาชิกกว่า 22,000 คน อันประกอบไปด้วยนักเขียนบทหนัง ซีรีส์ และรายการทีวีต่างๆ ซึ่งผลงานจากฮอลลีวูดที่เราได้ดูกันตามช่องทีวีหรือสตรีมมิงเจ้าต่างๆ จะต้องใช้นักเขียนจากสมาคมนี้
ส่วนอีกสมาคมก็คือ Screen Actors Guild (SAG-AFTRA) สมาคมนักแสดง ที่มีสมาชิกมากถึง 160,000 คน โดยดูแลตั้งแต่นักแสดงระดับ A-List ในวงการที่เรารู้จักกันดี ไปจนถึงนักแสดงตัวประกอบ หรือนักแสดง Extra ที่ศัพท์ทางการจะเรียกว่า Day Players
ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งของการประท้วงก็คือ Alliance of Motion Picture and Television Producers (AMPTP) สมาคมโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์และทีวี ซึ่งประกอบไปด้วยสตูดิโอต่างๆ ทั้งสตูดิโอหนังโรงอย่าง Warner Bros., Universal Pictures, Disney, Paramount Pictures ไปจนถึงสตูดิโอสตรีมมิงอย่าง Netflix และ Amazon ซึ่งก่อนที่จะมีการประท้วงหยุดการทำงานในทุกโปรเจกต์ ทางสมาคมทั้งสองก็ได้มีการเจรจากับ AMPTP มาแล้วแรมเดือน แต่การเจรจาไม่สำเร็จ มันจึงนำมาสู่การที่สมาชิกในสมาคมลงคะแนนตัดสินใจประท้วงหยุดงาน
โดยทาง WGA ได้เริ่มประท้วงกันมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ส่วนฝั่งนักแสดงตามมาประท้วงกันตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งการประท้วงพร้อมกันของสองสมาคมในรูปแบบนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 1960 ซึ่งกินระยะเวลายาวนานกว่าครึ่งปี
ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีได้พัฒนาไปได้ไกลขึ้น และการเข้ามาของสตรีมมิงสามารถกระจายการรับชมไปสู่ผู้ชมได้กว้างขวางขึ้น รายได้ Residuals หรือรายได้ปันผลเมื่อผลงานของพวกเขาถูกนำไปฉาย หรือผลิตซ้ำในช่องทางต่างๆ ยังไม่เคยได้ถูกปรับให้เป็นไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งนี่คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่เป็นใจกลางของการเจรจา และการประท้วงครั้งนี้
ข้อสำคัญของการประท้วงครั้งนี้ มีอยู่สองประเด็นหลักๆ ประเด็นแรกคือ เรื่องของรายได้ปันผล หรือ Residuals ที่ทางผู้สร้างภาพยนตร์จะได้รับเมื่อผลงานของพวกเขาถูกนำไปฉาย หรือผลิตซ้ำในช่องทางต่างๆ ซึ่งสมัยก่อน รายได้ในส่วนของ Residuals จะมาจากการฉายซ้ำตามเคเบิล ทีวีช่องต่างๆ หรือการผลิต Physical Media อย่างแผ่น DVD และ Blu-Ray แต่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีได้พัฒนาไปได้ไกลขึ้น และการเข้ามาของสตรีมมิงสามารถกระจายการรับชมไปสู่ผู้ชมได้กว้างขวางขึ้น รายได้ Residuals ในส่วนนี้ยังไม่เคยได้ถูกปรับให้เป็นไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งนี่คือหนึ่งในสิ่งสำคัญที่เป็นใจกลางของการเจรจา และการประท้วงครั้งนี้
จากที่นักเขียนและนักแสดงสามารถได้รับเงินปันผลจากโปรเจกต์ของตัวเองเป็นจำนวนที่มากพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ ในระหว่างที่พวกเขาทำเรื่องต่อไป แต่ขณะนี้ รายได้ส่วนนั้นได้หายไปอย่างมหาศาลถึงขั้นที่พวกเขาไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้
โดยหนึ่งในนักเขียนของซีรีส์น้ำดีสุดฮิต The Bear อย่าง อเล็กซ์ โอคีฟ (Alex O’Keefe) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าซีรีส์ที่เขาเขียนจะโด่งดัง มียอดผู้ชมมากมาย และชนะรางวัล WGA แต่ตัวเองกลับมีเงินในบัญชีติดลบ ต้องผ่อนค่าเนกไทที่ซื้อไปใส่วันรับรางวัล และเขาต้องไปทำงานเป็นบาริสต้าที่ Starbucks เนื่องจากเงินปันผลที่เขาได้จากการเขียนซีรีส์ไม่มากพอที่จะทำให้เขาใช้ชีวิตได้
ส่วนข้อที่สองของการเจรจาครั้งนี้ คืออนาคตการทำงาน และการใช้ AI ในการสร้างผลงานหนังและซีรีส์ ซึ่งในฟากนักเขียน ทาง AMPTP มีข้อเสนออยากจะใช้ AI อย่าง ChatGPT ในการประมวลผลบทหนัง หรือบทซีรีส์ขึ้นมาทั้งเรื่อง โดยป้อนแนวเรื่อง หรือคาแรกเตอร์แบบที่ต้องการเข้าไป แล้วค่อยให้นักเขียนที่เป็นมนุษย์เข้าไปแก้บทที่ถูกคิดจาก AI จนแล้วเสร็จในภายหลัง
หรือในกรณีของนักแสดง ที่ทาง AMPTP อยากจะใช้เทคโนโลยีสแกนใบหน้า และร่างกายทั้งตัว เพื่อเอารูปลักษณ์ทางกายภาพของนักแสดงคนนั้นๆ ไปใช้ในงานใดๆ ก็ได้ ลักษณะใดๆ ก็ได้ โดยที่จ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างเพียงหนึ่งวันเท่านั้น
ทำให้ทั้งทางสมาคมนักเขียน WGA และสมาคมนักแสดง SAG-AFTRA ได้ออกมาต่อต้าน AMPTP อย่างจริงจัง และไม่ยินยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น เพื่อให้มนุษย์ยังคงเป็นตัวแปรหลักในการสร้างสรรค์งานภาพยนตร์และซีรีส์ต่อไป
สมาคมนักเขียน WGA และสมาคมนักแสดง SAG-AFTRA ได้ออกมาต่อต้าน AMPTP อย่างจริงจัง และไม่ยินยอมให้การใช้ AI ในการสร้างผลงานหนังและซีรีส์จนละเลยคนทำงานจริงๆ ไปต้องเกิดขึ้น เพื่อให้มนุษย์ยังคงเป็นตัวแปรหลักในการสร้างสรรค์งานภาพยนตร์และซีรีส์ต่อไป
ด้วยเหตุนี้ ทางสมาคมนักเขียน WGA จึงต้องการเพิ่มรายได้ให้สมาชิกในสมาคมทุกคน จาก 86 ล้านเหรียญต่อปี เป็น 429 ล้าน ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้ของซีอีโอสตูดิโอภาพยนตร์บางค่ายด้วยซ้ำ ส่วนในฟากของสมาคมนักแสดง SAG-AFTRA บอกว่า ข้อเรียกร้องนี้ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อนักแสดง หรือดาราระดับ A-List ที่เรารู้จักกันดี แต่เป็นการเรียกร้องให้กับเหล่านักแสดงสมทบ และนักแสดงตัวประกอบ ซึ่งนับเป็นสมาชิกกว่า 87% ของสมาคม เพื่อให้พวกเขามีรายได้ขั้นต่ำเพียงพอที่จะสามารถเลี้ยงชีพด้วยอาชีพการแสดงได้ (นักแสดงส่วนใหญ่ในสมาคมได้เงินไม่ถึง 26,470 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งตัวเลขนี้เป็นขั้นต่ำเพื่อให้ได้สิทธิประกันสุขภาพ)
แต่ทาง AMPTP ไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวของทั้งสองสมาคม และเจรจาให้กลับมาไม่ถึงครึ่งหนึ่งของข้อเรียกร้อง ขณะที่ในส่วนของการบังคับห้ามใช้ AI ในการสร้างงาน ทาง AMPTP ปฏิเสธข้อเสนอนี้ โดยไม่มีการเจรจาทางเลือกอื่นเลยแม้แต่น้อย ซึ่งก็ส่งผลมาสู่การประท้วงของทั้งนักแสดง นักเขียนทั้งสมาคม และนำไปสู่การที่ซีรีส์และภาพยนตร์หลายๆ เรื่องต้องหยุดถ่ายทำทันที
ไม่ว่าจะเป็นรายการสด Late Night Talk Show ที่ยกเลิกการจัดรายการทันทีตั้งแต่ที่การประท้วงของนักเขียนได้เริ่มขึ้น หรือซีรีส์อย่าง Severance ของ Apple TV+ และ Abbott Elementary ของ ABC ที่พักการถ่ายทำอย่างไม่มีกำหนด ส่วนในโลกของภาพยนตร์ นอกจากหนังบล็อกบัสเตอร์อย่าง Deadpool 3 ที่เพิ่งเปิดกองถ่ายทำไปไม่นาน หรือ Wicked ภาพยนตร์มิวสิคัลที่เหลือเวลาถ่ายทำเพียงแค่ 10 วัน ต้องหยุดถ่ายทำทันทีที่ประท้วง
ขณะที่นักแสดงในสมาคมก็ตัดสินใจไม่ร่วมโปรโมตภาพยนตร์เพื่อแสดงจุดยืน ดังเช่นกรณีที่งานเปิดตัวของภาพยนตร์ Oppenheimer ที่ลอนดอน ต้องเลื่อนขึ้นมาเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง เพื่อให้นักแสดงทุกคนได้เดินพรมแดง และให้สัมภาษณ์กับสื่อ และเมื่อถึงเวลาเริ่มประท้วง ทุกคนก็จับมือกันเดินออกจากงานพรมแดงทันที
ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์ทั้งระบบ เพราะนอกจากภาพยนตร์ที่ยังถ่ายทำไม่เสร็จ อาจไม่สามารถฉายได้ตามกำหนดเดิม หากการประท้วงกินเวลาถึงสิ้นปีอย่างที่ทุกคนคาดการณ์กัน ภาพยนตร์ที่มีกำหนดฉายในครึ่งปีหลังก็อาจจะต้องเลื่อนฉาย เช่นในกรณีของ Challengers ภาพยนตร์ตีแผ่วงการเทนนิสที่นำแสดงโดยนักแสดงวัยรุ่นแห่งยุคอย่าง เซนดายา (Zendaya) ที่ถอนตัวจากการเป็นหนังเปิดเทศกาลภาพยนตร์เวนิซในปีนี้ และเลื่อนกำหนดฉายจากเดือนกันยายน ไปเป็นเมษายนปีหน้าแทน เนื่องด้วยเธอและนักแสดงร่วมอย่าง จอช โอคอนเนอร์ (Josh O’ Conner) และ ไมก์ เฟสต์ (Mike Faist) จะไม่สามารถเดินสายโปรโมตหนังได้
AMPTP จะต้องคิดระบบกลางสากลในการชี้วัดผลผู้ชมได้อย่างชัดเจน ที่ทุกสตูดิโอต้องใช้อย่างเคร่งครัด และต้องถูกเปิดเผยอย่างโปร่งใส เช่นเดียวกับยอดคนซื้อบัตรในโรงหนัง หรือยอดขายแผ่น DVD และ Blu-Ray ในอดีต ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ เปรียบเสมือน ‘กล่องดำ’ ที่คนทั้งวงการอยากได้ เพื่อ ‘รีเซต’ วงการบันเทิงให้เป็นธรรม และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นส่วนที่ทางสตูดิโอกอดไว้แน่น ไม่อยากเปิดเผยออกไปอย่างชัดเจน
และด้วยผลกระทบมากมายเช่นนี้ ทาง AMPTP อาจจะต้องยอมแพ้ในเร็ววัน แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขายังกัดฟันไม่ยอมเจรจากับทั้ง WGA และ SAG-AFTRA ก็คือหากจะเจรจาให้สัญญาการว่าจ้าง และการจ่ายเงินเป็นธรรม ทาง AMPTP จะต้องให้เปิดเผยข้อมูลสำคัญที่สุดที่พวกเขาครอบครองไว้ นั่นคือ ยอดของผู้ชมที่ชมคอนเทนต์ต่างๆ ในช่องทางสตรีมมิงทั้งหลาย
ไม่เพียงแค่นั้น ทาง AMPTP จะต้องคิดระบบกลางสากลในการชี้วัดผลผู้ชมได้อย่างชัดเจน ที่ทุกสตูดิโอต้องใช้อย่างเคร่งครัด และต้องถูกเปิดเผยอย่างโปร่งใส เช่นเดียวกับยอดคนซื้อบัตรในโรงหนัง หรือยอดขายแผ่น DVD และ Blu-Ray ในอดีต ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ เปรียบเสมือน ‘กล่องดำ’ ที่คนทั้งวงการอยากได้ เพื่อ ‘รีเซต’ วงการบันเทิงให้เป็นธรรม และในเวลาเดียวกัน ก็เป็นส่วนที่ทางสตูดิโอกอดไว้แน่น ไม่อยากเปิดเผยออกไปอย่างชัดเจน
ฟราน เดรสเชอร์ (Fran Drescher) นักแสดง และประธานสมาคมนักแสดง SAG-AFTRA กล่าวไว้ในวันที่เหล่านักแสดงเริ่มประท้วงกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมว่า “สายตาของคนทั้งโลก และโดยเฉพาะสายตาของคนทำงานทุกคน กำลังจับจ้องเราอยู่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้จะสำคัญมากๆ และการเรียกร้องความเป็นธรรมเช่นนี้ เกิดขึ้นในแรงงานทุกสายอาชีพ เหล่านายทุนกำลังยืนอยู่ผิดฝั่งของประวัติศาสตร์ และพวกเราทุกคนในสมาคม และรวมไปถึงทุกคนในสายงานภาพยนตร์จะยืนเคียงข้างเราเป็นหนึ่งเดียวกันในการประท้วงครั้งนี้”
ในฟากของประเทศไทย ทางฝั่งของนักเขียนก็มีอะไรที่คล้ายๆ กับนักเขียนที่อเมริกาเช่นกัน โดยเพจ ‘อาชีพเขียนบทเท่าที่รู้’ กำลังรวบรวมผู้เขียนบทหนังและซีรีส์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในโรงหนังและช่องทางออนไลน์ เพื่อประชุมหารือปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ไม่ธรรม, สัญญาที่เอารัดเอาเปรียบ, สิทธิในการได้รับค่าลิขสิทธิ์, เงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง และประเด็นอื่นๆ เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตนักเขียนบท และนำไปสู่การจัดตั้งสมาคมนักเขียนบทภาพยนตร์และซีรีส์แห่งประเทศไทย (ชื่อชั่วคราว) เพื่อผลักดัน และคุ้มครองนักเขียน ทั้งยังทำหน้าที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของนักเขียนบทในการจัดการปัญหาต่างๆ ซึ่งได้เกิดขึ้นไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี นี่คือเหตุการณ์ที่น่าจับตามองว่าจะคลี่คลายต่อไปอย่างไร และก็น่าจับตาด้วยว่า ไม่ว่าผลลัพธ์จากฝั่งอเมริกาจะออกมาเป็นอย่างไร บทเรียนจากการประท้วงครั้งนี้จะส่งผลมาถึงวงการบ้านเราได้มากน้อยขนาดไหน
อ้างอิง : edition.cnn.com, vulture.com, vox.com, tvinsider.com
