“ศิลปะการแสดงสำคัญกับเด็กไทย” : ตามติด อุ๊ อัจจิมา ผู้พาละครนานาชาติไปให้เด็กดูใน BICT Fest: ON THE MOVE!
...
LATEST
Summary
- Bangkok International Children’s Theatre Festival หรือที่รู้จักกันในชื่อ BICT FEST ถือเป็นการเคลื่อนย้าย ‘ศิลปะการแสดง’ จากโรงละครไปสู่ห้องเรียนและลานสันทนาการ ซึ่งในปีนี้ก็ยังเป็นไปตามธีม On The Move ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการทำละครเร่ในสมัยก่อน เพราะผู้จัดงานมองว่า นี่คือวิธีพาศิลปะเข้าไปหาชุมชนได้แบบ ‘ถึงที่’ และไม่มีค่าบัตร
- เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราได้รับข้อความเชื้อเชิญจาก อุ๊-อัจจิมา ณ พัทลุง และทีมงาน ให้เดินทางไปร่วมชมการแสดง ณ โรงเรียนวัดหัวลำโพง ร่วมกับเด็กๆ ชั้นประถมศึกษาจากสามโรงเรียนในละแวกใกล้เคียง ซึ่งทำให้เราเห็นว่า เยาวชนไทยต้องการศิลปะการแสดงมากกว่าที่คิด และพวกเขาเพียงแค่ต้องการโอกาสที่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น
- “สิ่งที่เราอยากเริ่มเปลี่ยนทัศนคติต่อวงการละครเด็กคือ มันสามารถมีความหลากหลายได้นะ มันมีหลาย Art Form มีได้หลาย Genre มันไม่จำเป็นต้องเล่าคติสอนใจแบบเดิมๆ แต่สามารถปรับหรือเลือกให้เหมาะสมกับช่วงวัยและพัฒนาการของเด็กได้” อุ๊อธิบาย
...
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราได้รับข้อความเชื้อเชิญจากทีมงาน Bangkok International Children’s Theatre Festival หรือที่รู้จักกันในชื่อ BICT FEST ให้เดินทางไปร่วมชมการแสดง ณ โรงเรียนวัดหัวลำโพง ร่วมกับเด็กๆ ชั้นประถมศึกษาจากสามโรงเรียนในละแวกใกล้เคียง
โดยงานนี้เป็นการเคลื่อนย้าย ‘ศิลปะการแสดง’ จากโรงละครไปสู่ห้องเรียนและลานสันทนาการ ตามธีม On The Move ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการทำละครเร่ในสมัยก่อน เพราะมองว่า นี่คือวิธีพาศิลปะเข้าไปหาชุมชนได้แบบ ‘ถึงที่’ และไม่มีค่าบัตร
อุ๊-อัจจิมา ณ พัทลุง หัวเรือใหญ่ของงาน ได้ร่วมแชร์ข้อมูลกับเราว่า จากการจัดเทศกาลตลอดหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 2016 เมื่อครั้งที่เริ่มต้นทำเทศกาลนี้ครั้งแรก เธอค้นพบว่ายังมีกำแพงอีกหลายชั้นที่ทำให้ศิลปะการแสดงเข้าไปไม่ถึงเด็กจากหลายพื้นที่ ซึ่งถือเป็นปัญหาก้อนใหญ่เกินกว่าที่ใครหลายคนจะเข้าใจ แต่ทางทีมก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานตามบริบทของสังคมในแต่ละปีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการจัดแบบออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ระบาด หรือการจัดเป็นเทศกาลที่เน้นเวิร์กช็อปมากกว่าการแสดง เป็นต้น
อุ๊ยกตัวอย่างให้เราเข้าใจมากขึ้น จากปีที่เทศกาลได้จัดในหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC) ว่า แม้มันจะตั้งอยู่ใกล้เด็กๆ ในโรงเรียนย่านบางรักมาก แต่พวกเขากลับเดินทางมาชมละครไม่ได้ด้วยข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่าย และการเข้าไม่ถึงข้อมูลของเทศกาล ซึ่งการที่ผู้ปกครองหรือครูต้องพาเด็กมานั้น ทั้งหมดมีค่าใช้จ่าย
ปีนี้เธอจึงเลือกที่จะประสานงานกับสถานศึกษาโดยตรง เพื่อนำการแสดงเข้าไปหาเด็กๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยก่อนจะมาที่โรงเรียนวัดหัวลำโพง ทางเทศกาลเลือกไปแสดงเปิดในโรงเรียนที่จังหวัดเพชรบุรีมาแล้ว
“ที่เห็นชัดคือศิลปะการแสดงมันไม่ได้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน เราจะเห็นศิลปะในโรงเรียนอย่างมากคือในวิชาวาดรูป แล้วถ้าภาครัฐไม่ให้ความสำคัญกับศิลปะการแสดง มันก็ยากที่จะปลูกฝังให้คนในสังคมเข้าใจ เข้าถึง รับรู้ ชอบดู หรือให้คุณค่าต่อสิ่งนี้ได้”
นอกจากเป้าหมายเรื่องการพาศิลปะการแสดงไปให้ถึงเด็กในชุมชนแล้ว อีกสิ่งที่ BICT FEST มุ่งเน้นคือการ Decentralize หรือการให้ศิลปะกระจายตัวไปทุกที่ทั่วไทย อันนำมาสู่แนวคิดการทำ ‘ละครเร่’ เราเลยตั้งคำถามกับอุ๊ว่า บ่อเกิดของการสลายหายไปของละครเร่ในสังคมไทยคืออะไร
เพราะในหน้าประวัติศาสตร์ไทย เราจะเห็นการเดินทางเร่แสดงตามชุมชนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น ลิเก, งิ้ว, ละครหุ่นมือ, นักเล่าเรื่อง หรือมายากล โดยที่ศิลปินสามารถเดินทางไปยังจังหวัดและหมู่บ้านต่างๆ อย่างอิสระ ทำให้ศิลปะการแสดงไหลเวียนแทรกซึมกับผู้คนได้มากกว่าปัจจุบัน ซึ่งเราแทบไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้อีกแล้ว
“เรายังไม่ได้ศึกษาจริงจัง ว่ามันคือช่วงเวลาไหนที่ทั้งศิลปะการแสดงไทยดั้งเดิม การแสดงในระดับชุมชน หรือการแสดงประเภทต่างๆ มันหายไปจากการดื่มด่ำของคนไทย แต่ที่เห็นชัดคือศิลปะการแสดงมันไม่ได้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน เราจะเห็นศิลปะในโรงเรียนอย่างมากคือในวิชาวาดรูป แล้วถ้าภาครัฐไม่ให้ความสำคัญกับศิลปะการแสดง มันก็ยากที่จะปลูกฝังให้คนในสังคมเข้าใจ เข้าถึง รับรู้ ชอบดู หรือให้คุณค่าต่อสิ่งนี้ได้”
“แต่พอมี ก็มีอยู่ในรูปแบบที่จำกัดมาก โดยเฉพาะงานละครเพื่อเด็ก ที่จะอยู่กับแค่รูปแบบการเล่าเป็นนิทาน หุ่นมือ เน้นการสั่งสอนความถูกผิด ความดีความชั่ว เพราะมันเป็นข้อจำกัดจากทางรัฐว่า ถ้าคุณอยากเอาละครเข้าไปสู่ชุมชน มันต้องมีเนื้อหาที่ตอบสนองสิ่งนี้ สุดท้ายมันจึงเป็นเรื่องของระบบ จนทำให้การที่ศิลปินจะออกไปเร่ทัวร์ ทำการแสดงในชุมชนมันค่อยๆ ร่อยหรอลดน้อยลงไป
“อย่างเช่น คณะละครมะขามป้อม เขาก็เคยไปทัวร์ตามชุมชน โรงเรียน อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ต้องหยุดไปเพราะขาดทุนสนับสนุน ซึ่งตัวคณะละครเองก็มีความพยายามจะทำโปรเจกต์รับบริจาคเพิ่ม เพื่อที่จะได้ทำงานต่อ แต่สุดท้ายอุปสรรคเรื่องงบประมาณก็ทำให้ต้องหยุดการผลิตหรือการพัฒนาผลงาน ซึ่งนี่คือปัญหาที่ศิลปินในไทยกำลังเผชิญอยู่ คือพวกเขาต้องทำงานเองเพื่อหาทุน ยิ่งถ้าทำงานกับชุมชนแบบไม่แสวงหาผลกำไร ก็จะยิ่งเห็นปัญหานี้ได้ชัดเจนเลย”
คำบอกเล่าของอุ๊ ทำให้เราเริ่มตระหนักว่า ทั้งหมดนั้นอาจต้องเริ่มจากการทำให้ภาครัฐมองเห็นคุณค่าของศิลปะการแสดงให้ได้เสียก่อน
“ภาครัฐยังไม่มองเห็นว่า ศิลปะคือการเรียนรู้ และระบบก็มุ่งให้เด็กเติบโตมาเก่งแค่ด้านวิชาการ มากกว่าความเก่งเรื่องโลกและชีวิต”
แล้วอุ๊ก็พาเราย้อนกลับไปหาต้นตอสำคัญที่ทำให้เด็กไทยอยู่ห่างไกลกับศิลปะแขนงนี้มากๆ นั่นคือการที่ผู้ให้ทุนยังไม่เห็นฟังก์ชันของสิ่งนี้ ว่ามันสามารถช่วยให้เยาวชนเติบโตไปได้อย่างมีคุณภาพได้ไม่แพ้ความรู้ด้านวิชาการ
“ภาครัฐยังไม่มองเห็นว่า ศิลปะคือการเรียนรู้ และระบบก็มุ่งให้เด็กเติบโตมาเก่งแค่ด้านวิชาการ มากกว่าความเก่งเรื่องโลกและชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่กับเด็กนะ หากเราลองมองไปที่การให้ทุกคนไปศึกษาต่อ หรือดูงานต่างประเทศ ทุนด้านแพทย์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม มีให้เห็นเยอะมากเมื่อเทียบอัตราส่วนกับทุนด้านศิลปะที่มีน้อย หรือศิลปะบางแขนงที่แทบไม่มีเลย บางครั้งก็ถูกจำกัดไว้แค่สำหรับศิลปินที่ทำงานในแนวทาง Traditional หรือตามขนบเท่านั้น”
การพยายามทลายกำแพงที่ระบบการศึกษาไทยมีต่อศิลปะการแสดงของ BICT FEST จึงมีมากกว่าแค่การนำละครเข้าไปหาเด็ก แต่เป็นการคัดเลือกโชว์ที่จะนำไปแสดงเพื่อทำให้ทั้งเด็กและครูได้เห็นมิติอื่นๆ ของศิลปะการแสดงที่มีมากกว่าการเล่านิทาน โดยในปีนี้ทางผู้จัดได้รับความร่วมมือจากศิลปินยุโรปสองกลุ่ม ที่เข้ามาร่วมสร้างสรรค์ถึง 2 การแสดง
เรื่องแรกคือ OTHER WORLD การแสดง Physical Theatre แนว Abstract โดยสองนักแสดงคู่หู อัลเฟรโด ซิโนลา (Alfredo Zinola) และ แอนน์-เฮลีน โคทูวจันสกี (Anne-Hélène Kotoujansky) จากคณะละคร Alfredo Zinola Productions ประเทศเยอรมนี ที่มองว่าการเต้นหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย คือภาษาสากลที่ไร้พรมแดน เพราะต่อให้พวกเขาเป็นศิลปินที่มาจากอีกฟากของโลกตามชื่อการแสดง ผลงานของพวกเขาก็จะสามารถทำให้เด็กๆ เพลิดเพลินได้ โดยศิลปินทั้งสองได้ผสานการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระ เข้ากับพื้นที่และวัตถุรอบตัวในห้องเรียน และดำเนินการแสดงไปพร้อมกับการสังเกตปฏิกิริยาของผู้ชม
จากการพูดคุยกับศิลปินถึงสาเหตุที่พวกเขาเลือกเดินทางมาร่วมแสดงในเทศกาลนี้ ทั้งคู่แบ่งปันว่าแม้ประเทศทางฝั่งยุโรปจะให้ความสำคัญด้านศิลปะและสนับสนุนศิลปินมากๆ อยู่แล้ว แต่งบประมาณเพื่อศิลปะสำหรับเด็ก ก็มีสัดส่วนน้อยจนแทบจะน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับทุนศิลปะอื่นๆ แต่ก็เป็นโชคดีที่ภาคเอกชนในเยอรมนีทำงานอย่างหนัก เพื่อสนับสนุนศิลปินละครเด็กในการทำงานวิจัยหรือผลิตการแสดง
เมื่อทั้งคู่ได้ทราบถึงปัญหาข้างต้นในประเทศไทย จึงอยากมาร่วมงานกับ BICT FEST ในการช่วยพาศิลปะการแสดงแขนงใหม่ๆ มาแนะนำให้เด็กชาวไทยได้รู้จัก และผลตอบรับของน้องๆ ก็ทำให้พวกเขาประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขารับชมการแสดงอย่างจดจ่อ และมีข้อสงสัยแลกเปลี่ยนกับนักแสดงในช่วงพูดคุยหลังจบการแสดงไม่น้อย
ต่อมาคือการแสดงชุด KILL YOUR DARLINGS โดย แปเตอร์ เนดบัล (Petr Nedbal) และ คอนสแตนติโน ครานิดิโอทิส (Konstantinos Kranidiotis) จากคณะ Joshua Monten Dance Company ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับการแสดง Contemporary Dance ที่เล่นกับการใช้พื้นที่โดยการนำเอาการละเล่น Hopscotch ของเด็กตะวันตกมาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเติบโตว่า บางครั้งการโตเป็นผู้ใหญ่อาจทำให้เราต้องละทิ้งความฝันหรือความสุขบางอย่างในชีวิตไป เหมือนจำนวนช่องสี่เหลี่ยมบนพื้นที่ค่อยๆ ลดหรือแคบลงเรื่อยๆ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าพื้นที่จะมีจำกัดแค่ไหน พวกเขาก็อยากให้ทุกคนพยายามสนุกกับชีวิตให้มากที่สุด
เมื่อเราถามถึงมุมมองที่ได้จากการทำงานในเทศกาลนี้ในสองจังหวัด ศิลปินทั้งสองได้สะท้อนมุมมองของพวกเขากลับมาว่า ความชอบที่ผู้ชมรุ่นเยาว์มีต่อการแสดงของพวกเขา ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ศิลปะการแสดงสำคัญต่อการเติบโตของเด็กๆ มากแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจให้ความเพลิดเพลิน แต่การดูงานศิลปะก็สามารถทำให้เด็กเติบโตไปอย่างเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และความอ่อนไหวอันงดงามของตัวเอง รวมถึงมีมุมมองที่ลึกซึ้งต่อชีวิตและสิ่งรอบตัวด้วย
เราเองที่ได้ร่วมชมการแสดงก็มองเห็นสิ่งนี้เช่นกัน เพราะไม่คาดคิดว่าผู้คนในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีและสื่อคอยดึงดูดความสนใจ จะสามารถจดจ่อกับการแสดงที่ใช้เวลานานได้ แต่กลับกลายเป็นว่า ตลอดเวลาหลักชั่วโมงกับทั้งสองการแสดงที่ไร้บทพูด เราได้เห็นน้องๆ วัยประถมจับจ้องไปที่การแสดงแบบไม่วางตา พวกเขาส่งเสียง ปรบมือ แสดงความรู้สึกร่วมและติดตามเส้นเรื่องไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ แบบไม่ดื้อซน หรือสร้างความวุ่นวายให้ครูเลย
มันจึงเป็นที่ประจักษ์ว่า เยาวชนไทยต้องการศิลปะการแสดงมากกว่าที่คิดจริงๆ พวกเขาเพียงแค่ต้องการโอกาสที่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น แล้วสังคมไทยก็จะสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมแห่งศิลปะได้ไม่ยาก
“สิ่งที่เราอยากเริ่มเปลี่ยนทัศนคติต่อวงการละครเด็กคือ มันสามารถมีความหลากหลายได้นะ มันมีหลาย Art Form มีได้หลาย Genre มันไม่จำเป็นต้องเล่าคติสอนใจแบบเดิมๆ แต่สามารถปรับหรือเลือกให้เหมาะสมกับช่วงวัยและพัฒนาการของเด็กได้”
ก่อนจากกัน อุ๊ได้ทิ้งท้ายกับเราไว้อย่างน่าสนใจว่า “สิ่งที่เราอยากเริ่มเปลี่ยนทัศนคติต่อวงการละครเด็กคือ มันสามารถมีความหลากหลายได้นะ มันมีหลาย Art Form มีได้หลาย Genre มันไม่จำเป็นต้องเล่าคติสอนใจแบบเดิมๆ แต่สามารถปรับหรือเลือกให้เหมาะสมกับช่วงวัยและพัฒนาการของเด็กได้”
“เวลาที่เทศกาลของเราเดินทางไปตามที่ต่างๆ เราเลยพยายามทำให้ครูเห็นปฏิกิริยาของเด็กเวลาชมการแสดง จนมีครูหลายคนมาบอกเราว่า ดีจังเลยที่เด็กๆ ได้ดูการแสดงแบบที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน และเด็กได้เรียนรู้ในแบบที่ ‘กลมขึ้น’ รวมถึงเด็กที่ไม่เก่งด้านวิชาการ ก็ได้เห็นช่องทางอื่น หรือสิ่งอื่นที่เขาจะชอบได้ เราเลยอยากให้ครูเป็นตัวกลางส่งต่อสารนี้ไปยังภาครัฐและองค์กร ว่าสิ่งนี้มันมีประโยชน์กับเด็กแค่ไหน”
“เรายังต้องทำงานอีกเยอะมากในการทำให้ทุกคนเข้าใจในวงกว้าง ว่าการดู Performing Arts มันทำหน้าที่มากกว่าแค่การให้ความรู้สึกสนุก การดูละครมันสร้างการเรียนรู้หลายระดับ ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา และเราก็ต้องทำให้ความเข้าใจไปถึงองค์กรที่สนับสนุนเราในด้านงบประมาณให้ได้ เพราะมันเป็นศิลปะที่จะพัฒนาคน”
สำหรับผู้อ่านท่านใดที่สนใจ และอยากสนับสนุนเทศกาลนี้ในปีต่อๆ ไป สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง bictfest.com
