Humberger Menu

ชวนอ่าน The Knowledge นิตยสารออนไลน์ของ OKMD ที่ย่อยองค์ความรู้ ให้เราได้ต่อยอดการเรียนรู้

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Subculture

Books

Culture

21 ก.ย. 66

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • The Knowledge เป็นนิตยสารเพื่อกระตุกต่อมคิดและพัฒนาวิถีชีวิต โดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือที่เรารู้จักกันในนาม OKMD ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่ามีอยู่ และออกเผยแพร่ทุกๆ สองเดือน เป็นเวลายาวนานถึงเกือบทศวรรษแล้ว
  • ในปัจจุบัน The Knowledge ที่เดินทางผ่านกาลเวลามาถึงฉบับที่ 28 (กันยายน-ตุลาคม 2566) มีบรรณาธิการที่ชื่อ โตมร ศุขปรีชา นักคิดนักเขียนที่เรารู้จักกันดี ซึ่งมารับตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจอย่างเรื่อง Bio-Circular-Green Economy (BCG) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การใส่ใจทั้งชุมชน สิ่งแวดล้อม และทักษะทางอาชีพของผู้คน
  • นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกหลายหัวข้อในอีกหลายฉบับให้ได้อ่านกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในยุคดิจิทัล (ฉบับที่ 12), เบื้องลึกเบื้องหลังของธุรกิจฮาลาล (ฉบับที่ 17), พลังของการ ‘มูเตลู’ ที่กระตุ้นเศรษฐกิจไทย (ฉบับที่ 24) หรือพลังของ ‘แฟนด้อม’ อันทรงอิทธิพล โดยเฉพาะในบ้านเรา (ฉบับที่ 25) – ซึ่งหากใครพอมีเวลาว่าง ก็สามารถเข้าไปกดอ่าน The Knowledge ย้อนหลังกันได้เลยที่ okmd.or.th

...


คนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่า นอกจาก สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือที่เรารู้จักกันในนาม OKMD (Office of Knowledge Management and Development) จะจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อขยับขยายองค์ความรู้เชิงสังคมและวัฒนธรรมให้แก่คนไทยอยู่เป็นนิตย์ ก็ยังมีการผลิต ‘นิตยสารออนไลน์’ เพื่อเป้าประสงค์เดียวกันออกมาเป็นเวลายาวนานถึงเกือบทศวรรษเสียด้วย โดยออกเผยแพร่ทุกๆ สองเดือน

นิตยสารเพื่อกระตุกต่อมคิดและพัฒนาวิถีชีวิตเล่มนี้ มีชื่อว่า The Knowledge 

โดยถูกเผยแพร่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ซึ่งปีนี้ก็ถือเป็นปีที่ 8 พอดิบพอดี ซึ่งในฉบับแรกสุด (ฉบับที่ 1 : มกราคม-กุมภาพันธ์ 2558) นั้น มี อารยะ มาอินทร์ รองผู้อำนวยการ OKMD ในเวลานั้นเป็นบรรณาธิการบริหาร ก่อนที่ในปัจจุบัน The Knowledge ที่เดินทางผ่านกาลเวลามาถึงฉบับที่ 28 (กันยายน-ตุลาคม 2566) จะมีบรรณาธิการที่ชื่อ โตมร ศุขปรีชา นักคิดนักเขียนที่เรารู้จักกันดี ซึ่งมารับตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ 



“The Knowledge เป็นแมกกาซีนที่สร้างขึ้นมาเพื่อความ ‘ย่อยง่าย’ ให้กับ policy makers (ผู้สร้างสรรค์นโยบาย) ทั้งหลาย จะได้ไม่ต้องไปตามอ่าน executive brief (ที่บางทีอ่านแล้วยัง ‘เมาหัว’) อยู่ดี” โตมรเคยอธิบายถึงนิตยสารออนไลน์ -ที่เล่าเรื่อง ‘ตามธีม’ โดยสลับสับเปลี่ยนหัวข้อไปเรื่อยๆ- เล่มนี้ไว้ในโซเชียลฯ ของตน

“แต่ละเล่มเล่าเรื่องนโยบายที่พึงเป็น ที่มาที่ไป และ best practice (แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด) ในอนาคตที่ควรทำ (ทำไม่ทำอีกเรื่อง ถกกันได้ คุยกันได้ ขอให้ ‘เห็น’ เสียก่อนว่ามีอะไรอยู่ในจักรวาลทรรศน์) โดยใช้งบประมาณน้อยๆ เพื่อเล่าเรื่องสนุกๆ แบบคนทำหนังสือมืออาชีพ”

โดยล่าสุด โตมรได้แชร์ The Knowledge ฉบับที่ 22 (มิถุนายน-กรกฎาคม 2565) จากเมื่อปีที่แล้ว มาเพื่อให้คนในโซเชียลฯ ได้ย้อนใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการสร้างบทสนทนาและข้อถกเถียงเรื่อง Soft Power ที่กลายเป็นประเด็นร้อนในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการหยิบเอาคำนี้ไปใช้อย่างผิดไปจากความหมายที่แท้จริง



โดยใน The Knowledge ฉบับดังกล่าวเป็นการพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับความหมายที่แท้จริง และความสำคัญของ Soft Power ในมิติต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งการพาไปรู้จัก ‘อาวุธทางวัฒนธรรม’ ที่ช่วยขยายอำนาจ Soft Power ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ จากอุตสาหกรรมบันเทิง กีฬา ไปจนถึงอาหาร / การเจาะลึกกลยุทธ์การขับเคลื่อนของประเทศที่โดดเด่นด้าน Soft Power อย่างสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ / และการย้อนมองกลับมายังบ้านเราว่าจะสามารถสร้างปรากฏการณ์ Soft Power ให้เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง โดยเป็นไปตามกระบวนการพัฒนาที่ควรจะเป็นจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่การแปะป้ายผ่าน ‘ชื่อนโยบาย’ ไปอย่างนั้น  

และในเล่มก็ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจจากช่วงเวลานั้น เช่น มูลค่าตลาดรวมของ ‘ซีรีส์วายไทย’ ที่ได้รับความนิยมในไต้หวัน, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และประเทศกลุ่มลาตินอเมริกา อยู่ที่ตัวเลข 1,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการซื้อขายซีรีส์วายของไทยในการเจรจาผ่านระบบธุรกิจออนไลน์เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 ก็อยู่ที่ 360 ล้านบาท โดยญี่ปุ่น, ไต้หวัน และเวียดนาม เป็นประเทศที่สนใจซื้อคอนเทนต์เหล่านี้มากที่สุด

– ซึ่งแม้จะผ่านมากว่าหนึ่งปีแล้ว แต่ข้อมูลหลายอย่างในเล่ม ก็น่าจะใช้สามารถใช้อ้างอิงและมอบความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจได้อยู่ 



ส่วน The Knowledge เล่มอื่นๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก็ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจให้อ่านกันอย่างจุใจ เช่น ฉบับที่ 26 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2566) ที่ชวนเรามาทำความรู้จักกับความสำคัญของ ‘การเล่น’ ผ่านหัวข้อสนุกๆ อย่างการพาไปดูพัฒนาการของ ‘การเล่น’ ของมนุษย์ที่ดูจะเล่นไม่หยุดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน / การทำความรู้จักแนวคิด Gamification หรือการฝึกทำกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบของ ‘เกม’ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้ / การสำรวจ ‘เกม’ ที่กลายมาเป็นสื่อออนไลน์มาแรงสำหรับการเรียนรู้และการสร้างรายได้ / หรือการสร้างเมืองที่อยากให้เด็กรู้จัก ‘ออกไปเล่น’ เพื่อพัฒนาทั้งตัวเองและสังคมรอบข้าง เช่น เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ออกแบบหลายอย่างโดยคำนึงถึงพัฒนาการของเด็กๆ



ฉบับที่ 27 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2566) ที่ว่าด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับ Future Food หรือ ‘อาหารแห่งอนาคต’ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้คนบนโลก ทั้งในแง่ของการดำรงชีวิตและการทำธุรกิจ โดยมีเนื้อหาอย่างการพาไปดู 5 อาหารแห่งอนาคตที่น่าจะตอบโจทย์โลกยั่งยืนได้ เช่น เนื้อที่ทำจากพืชหรือถูกเพาะในห้องแล็บ, อาหารจากแมลง หรือแม้แต่อาหาร 3 มิติที่เกิดจากเทคโนโลยีการพิมพ์ / 8 เทรนด์อาหารแห่งอนาคต สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย อย่าง การกินเสริมระบบภูมิคุ้มกัน, อาหารที่มาจาก ‘ขยะอาหาร’, โภชนาการเฉพาะบุคคล หรือการกลับไปหาอาหารประจำท้องถิ่น – ซึ่งทำให้เราได้เห็นโลกของอาหารในมุมที่ยั่งยืนขึ้น



รวมถึงฉบับที่ 28 อันเป็นฉบับล่าสุด ที่พาเราไปรู้จักสิ่งที่เรียกว่า Bio-Circular-Green Economy (BCG) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การใส่ใจทั้งชุมชน สิ่งแวดล้อม และทักษะทางอาชีพของผู้คน ซึ่งมีทั้งการสำรวจโมเดลธุรกิจ BCG Model จากยูเอ็นถึงประเทศไทย ที่มีทั้งการนำเอาวัสดุที่รีไซเคิลได้ และพลังงานหมุนเวียนมาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก และการนำทรัพยากรที่ผลิตแล้วกลับมาเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ / หรือกระทั่งตัวเลขน่าสนใจเกี่ยวกับการคาดการณ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยในอนาคต ที่บอกเราว่า มูลค่าที่อาจเกิดขึ้นภายในปี 2564-2570 อาจจะอยู่ที่ตัวเลขกว่า 4.4 ล้านล้านบาท และอาจเกิดตัวเลขการจ้างงานกว่า 16.5 ล้านคนเลยทีเดียว  

นอกจากนี้ หากย้อนไปไกลกว่าที่เราแนะนำกัน ก็ยังมีอีกหลายหัวข้อในอีกหลายฉบับให้ได้อ่านกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในยุคดิจิทัล (ฉบับที่ 12), เบื้องลึกเบื้องหลังของธุรกิจฮาลาล (ฉบับที่ 17), พลังของการ ‘มูเตลู’ ที่กระตุ้นเศรษฐกิจไทย (ฉบับที่ 24) หรือพลังของ ‘แฟนด้อม’ อันทรงอิทธิพล โดยเฉพาะในบ้านเรา (ฉบับที่ 25) – ซึ่งหากใครพอมีเวลาว่าง ก็สามารถเข้าไปกดอ่าน The Knowledge ย้อนหลังกันได้เลย ที่นี่!


อ้างอิง : okmd.or.th



Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat