จาก ‘ริวอิจิ ซากาโมโตะ’ ถึง ‘Perfume’ และ ‘ฟูจิอิ คาเสะ’ การเดินทางของ J-Techno แนวดนตรีแดนซ์จากญี่ปุ่นที่กำลังป๊อปอีกครั้ง
...
Summary
- ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เทคโน และดนตรีเต้นรำเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมายาวนาน และมากขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยนี้ มันเป็นดนตรีที่ทั้งปรากฏในปาร์ตี้ของคนรุ่นใหม่ ถูกใช้สื่อสารในแบบที่คำร้องไม่มีทางทำได้ และยิ่งกว่านั้น บางครั้งมันยังเป็นส่วนสำคัญในไลฟ์สไตล์ ที่สร้างเอกลักษณ์ให้ตัวตนของใครหลายคน
- แม้ว่าเมื่อพูดถึงดนตรีเหล่านี้ หลายคนจะนึกถึงประเทศตะวันตกมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะดีเจชื่อดังจากฝั่งตะวันตก หรือเมืองหลวงเพลงเทคโนอย่างเบอร์ลิน แต่รู้หรือไม่ว่ามันมีซามูไรอย่างประเทศ ‘ญี่ปุ่น’ อยู่เบื้องหลังด้วย ในระดับที่ว่าหากไม่มีญี่ปุ่นแล้ว อาจไม่มีทางเลยที่ทั้งดีเจระดับตำนานและดนตรีเต้นรำใน Genre ต่างๆ จะมีที่ทางเป็นของตัวเองเหมือนในทุกวันนี้
- ไทยรัฐพลัสขอพาคุณไปรู้จักกับ J-Techno ดนตรีที่วิวัฒนาการตัวเองและเติบโตมาเรื่อยๆ พร้อมกับญี่ปุ่น ตั้งแต่การสร้าง ‘ดรัมแมชชีน’ เครื่องจักรกลที่เปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมดนตรีเต้นรำ ส่งต่อไปยังการถือกำเนิดของวง Yellow Magic Orchestra หรือ YMO วงดนตรีของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ นักประพันธ์ดนตรีระดับตำนาน และเรื่อยไปจนถึงศิลปินยุคใหม่ที่ยังนำ J-Techno มาสร้างสรรค์ผลงาน
...
นับตั้งแต่พลเรือจัตวา แมทธิว เพอร์รี ผู้บังคับบัญชาทหารเรือชาวอเมริกันได้นำเรือดำน้ำเข้ามาปิดอ่าวในเมืองเอโดะ ญี่ปุ่นที่ปิดประเทศมาโดยตลอดก็จำต้องเจรจาทางการทูตกับชาวต่างชาติที่นับว่าเป็น ‘คนเถื่อน’ ในสายตาของชาวญี่ปุ่น เพื่อทำการค้าขายทางทะเลกับเหล่าคนเถื่อนอย่างจำกัดเฉพาะที่ท่าเรือเมืองนางาซากิ
โดยในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สมัยใหม่ด้วยการตั้งสภาบริหารราชการแผ่นดินแบบประชาธิปไตยอย่างตะวันตก หากแต่ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ยังคงความเป็นโลกยุคเก่าของวัฒนธรรมญี่ปุ่นเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
การปฏิวัติเมจิ เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างโลกใหม่กับโลกเก่าของญี่ปุ่น เมื่อโชกุนตระกูล ‘โตกุกาวะ’ บริหารระบอบราชการเพื่อความสำราญส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม เหล่าซามูไรจึงร่วมมือกันล้มล้างระบอบโชกุน การคืนอำนาจคืนแด่จักรพรรดิเมจิเกิดขึ้นโดยเหล่าซามูไร ซึ่งในที่สุดอำนาจก็ตกมาอยู่ในมือจักรพรรดิย่างเต็มตัว หลังจากที่อำนาจในการบริหารประเทศอยู่ในกำมือของเหล่าโชกุนผู้ฉ้อฉลมานานถึง 250 ปี นับเป็นการทำรัฐประหารเพื่อคืนอำนาจให้แก่กษัตริย์ที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่สมัยใหม่เป็นครั้งแรก
การสร้างรัฐใหม่ของญี่ปุ่นในยุคเมจิค่อนข้างซับซ้อนและเต็มไปด้วยความรุนแรงจากการปฏิวัติ ซึ่งการปฏิรูปนี้ทำให้ญี่ปุ่นเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น มีการยกเลิกระบอบศักดินาและชนชั้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือการแต่งกายและการใช้ชีวิต และแน่นอนว่ารวมไปถึงการรับเอาเครื่องดนตรีจากโลกตะวันตกอย่างเปียโนและอื่นๆ เข้ามามีบทบาทในรั้วในวังด้วย
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็ไม่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือไปเสียทีเดียว เพราะยังมีเหล่าขุนนาง, ซามูไร รวมถึงประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงอนุรักษ์รากฐานทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเอาไว้และนำสิ่งที่มีอยู่แล้วไปผสมผสานกับสิ่งใหม่ จนทำให้ความเป็นชาติของชาวญี่ปุ่นไม่ถูกกลืนไปกับยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไปด้วย
ดนตรีและวัฒนธรรมผสมผสานแบบญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีคุณลักษณะพิเศษอย่างมากในด้านการผสมผสานทางวัฒนธรรม (Acculturation) เพื่อที่จะไม่ทำให้ประเพณีหรือวัฒนธรรมเดิมสูญสลายหายไป ญี่ปุ่นได้นำรากฐานทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมมาประยุกต์กับวัฒนธรรมร่วมสมัยมาตั้งแต่หลังปฏิวัติเมจิ วัฒนธรรมผสมผสานเหล่านี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และยิ่งชัดเจนมากขึ้นไปอีกหลังจากที่สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทาทในการจัดระเบียบประเทศหลังจากญี่ปุ่นเป็นฝ่ายปราชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2
นับตั้งแต่นั้น ‘ดนตรี’ จึงกลายเป็นวัฒนธรรมผสมผสานที่นับว่าเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจและน่าศึกษาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ดนตรีเต้นรำ’
ก่อนที่ เคป๊อป จะเป็นหนึ่งในเสาหลักของวัฒนธรรมดนตรีเต้นรำโลกในปัจจุบัน เจป๊อป เคยรั้งตำแหน่งนี้มาก่อน แม้ว่ามันจะใช้ลูกระเบิดปรมาณูที่ทำลายล้างซีนดนตรีเต้นรำยุคเก่าให้ราบเป็นหน้ากองเพื่อเข้าสู่เทรนด์ยุคใหม่เหมือนที่ เคป๊อป ในยุคนี้ทำได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจป๊อปมีส่วนสำคัญอย่างมากในการปูทางให้วัฒนธรรมดนตรีเต้นรำร่วมสมัยจากฝั่งเอเชียได้มีที่ทางเป็นของตัวเอง
เมื่อสืบค้นไปในอดีต นับตั้งแต่ดีเจ แฟรงกี นักเคิลส์ (Frankie Knuckles) เป็นผู้นำดนตรีโซล, อาร์แอนด์บี และ ดิสโก้ มารื้อสร้างใหม่และให้กำเนิดดนตรีแนว Chicago House ในช่วงกลางยุค 80’s จากการเป็นดีเจในไนต์คลับที่ชื่อ Warehouse ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ‘เฮาส์มิวสิก’ ที่มีบทบาทสูงสุดต่อวงการดนตรีเต้นรำร่วมสมัยมาจนถึงปัจจุบัน
มาจนถึงยุคที่ดีเจ เดอร์ริก เมย์ (Derrick May), เควิน ซอนเดอร์สัน (Kevin Saunderson) และ ฮวน แอตกินส์ (Juan Atkins) ร่วมกันให้กำเนิดดนตรี ‘ดีทรอยต์เทคโน’ ตั้งแต่ช่วงต้นยุค 80’s มาจนถึงยุค 90’s
ไปจนถึงซีนดนตรีเทคโนในเบอร์ลินที่รุ่งเรืองถึงขีดสุดมาจนปัจจุบัน เราจะพบว่าถ้าหากไม่มีญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ ไม่มีทางเลยที่ทั้งดีเจระดับตำนานและดนตรีเต้นรำใน Genre ต่างๆ ดังกล่าวจะมีที่ทางเป็นของตัวเองเหมือนในทุกวันนี้
ดรัมแมชชีน เครื่องจักรกลที่เปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมดนตรีเต้นรำ
Roland Corporation หรือ Rōrando ローランド株式会社 เป็นบริษัทร่วมทุนสัญชาติญี่ปุ่นที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตเครื่องดนตรีไฟฟ้า หรือเครื่องดนตรีสังเคราะห์โดยเฉพาะ ก่อตั้งโดย ไอคุทาโระ คาเคฮาชิ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเขาเป็นผู้สร้างกลองไฟฟ้า หรือ ดรัม แมชชีน อย่าง TR-808, TR-9-9 ซินธ์ฯ เบสอย่าง TB-303 รวมถึงซินธิไซเซอร์สุดคลาสสิกอย่าง Juno-60 ด้วย
ไอคุทาโระ คาเคฮาชิ ไม่เคยเรียนทฤษฎีดนตรีใดๆ มาก่อน แต่เขาค้นพบด้วยตัวเองว่าไม่ว่าจะเป็นดนตรีแนวใดก็ตาม ‘จังหวะ’ เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของดนตรี และเขามีความฝันว่าจะประดิษฐ์เครื่องดนตรีไฟฟ้า ที่จะมอบจังหวะดนตรีในรูปแบบที่ไม่เคยมีใครคิดค้นหรือสร้างสรรค์มันมาก่อน
มอตโตะ (Motto) ประการสำคัญสำหรับเขาก็คือ เครื่องดนตรีสังเคราะห์ที่เขาผลิตขึ้นมาจะต้องเล่นได้ทั้งนักดนตรีอาชีพและนักดนตรีสมัครเล่นด้วย ส่วนสิ่งสำคัญรองๆ ลงมาที่นับว่าสำคัญไม่แพ้กัน คือมันจะต้องเป็นเครื่องดนตรีขนาดเล็กที่ไม่แพงและสามารถเรียนรู้ได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์มากกว่าทฤษฎีดนตรีใดๆ
ไม่แปลกที่ ไอคุทาโระ คาเคฮาชิ จะได้รับการยกย่องว่าเป็นเหมือนไอน์สไตน์แห่งวงการดนตรี เพราะเขามองว่าจินตนาการนั้นสำคัญกว่าความรู้ TR-808 เป็นดรัมแมชชีนที่ดีเจและแร็ปเปอร์ระดับตำนานอย่าง Afrika Bambaata (ซึ่งถือเป็นผู้ให้กำเนิดดนตรีแนว เบรกบีต และ อิเล็กโทรฯ ฟังก์) นำบีตสังคราะห์จากแมชชีนตัวนี้ไปใช้ทำเพลง Planet Rock
เพลงดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์ฟังก์ และฮิปฮอปเพลงแรกของโลก โดย เคิร์ท บี. เรย์ลีห์ (Kurt B. Rayleigh) นักเขียนผู้แต่งหนังสือ Looking for the Perfect Beat: The Art and Culture of the DJ กล่าวว่าเพลงๆ นี้เหมือนนำซินธิไซเซอร์ที่วง Kraftwerk ใช้เพื่อมิกซ์ดนตรีฟังก์และฮิปฮอปเข้าไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ TR-808 ก็ยังเป็นดรัมแมชชีนที่แร็ปเปอร์รุ่นบุกเบิกอย่าง Run-DMC, LL Cool J และ Public Enemy นำไปใช้ทำสร้างบีตสร้างซาวนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ด้วย เครื่องดนตรีชนิดนี้มีความสำคัญต่อวงการดนตรีเต้นรำถึงขั้นที่วงแนวแอซิดเฮาส์ และเทคโนแดนซ์ จากเมืองแมนเชสเตอร์อย่าง 808 State ถึงกับนำไปใช้ตั้งชื่อวง
บีตสังเคราะห์ในเพลงนิวเวฟระดับตำนานอย่าง Psycho Killer ของวง Talking Heads ก็มาจากเจ้า TR-808 วง New Order ก็ใช้ดรัมแมชชีน ตัวนี้ในการทำเพลงคลาสสิกของวงหลายเพลงและถึงแม้ว่ามันจะผลิตในยุค 80’s ที่ยังเป็นยุคแอนาล็อกอยู่ แต่ศิลปินป๊อปยุคดิจิทัลอย่าง เดมอน อัลบาร์น, Fatboy Slim, Diplo, David Guetta, บริทนีย์ สเปียร์ส บียอนเซ่ หรือแม้กระทั่ง มาดอนนา, ริฮานนา และ Kesha ก็ยังนำบีตสังเคราะห์ของ TR-808 มาใช้เป็นจังหวะแทนเสียงเต้นของหัวใจในบทเพลงของพวกเธอ
TR-909 เป็นดรัมแมชชีนที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างบีตของดนตรีแนวดีทรอยต์เทคโน ซาวนด์ที่สร้างจังหวะในเพลง Hunter ของ บียอร์ก รวมถึงเพลง Videotape ของวง Radiohead ก็มาจากดรัมแมชชีนรุ่นนี้ เนื่องจากมันเป็นดรัมแมชชีนที่ให้เสียงเพอร์คัชชันได้ถึง 11 แบบและเป็นดรัมแมชชีนรุ่นแรกที่สามารถใช้กับ Musical Instrument Digital Interface (MIDI) ที่แปลงชุดข้อมูลหรือรหัสแบบดิจิทัลให้คอมพิวเตอร์, ซินธิไซเซอร์, ซาวนด์ โมดูล หรือว่า แซมเพลอร์ เปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นให้กลายเป็นโน้ตดนตรีหรือเสียงของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ได้
ด้วยคุณูปการทั้งหมดนี้ทำให้ ไอคุทาโระ คาเคฮาชิ และ เดฟ สมิธ ที่ร่วมกันพัฒนา MIDI ให้เป็นภาษามาตรฐานของเครื่องดนตรีดิจิทัล ได้รับรางวัล Technical Grammy Awards ในปี 2013 ก่อนที่ คาเคฮาชิ จะเสียชีวิตลงได้ราวๆ 4 ปี
Yellow Magic Orchestra
วงดนตรีที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ไม่ใช่วงเทคโนเสียทีเดียว แต่นี่คือวงดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เพียงมีคุณูปการต่อวงการดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ป๊อปเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ส่งอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมดนตรีเสียงสังเคราะห์ทั่วโลก และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่โดดเด่นด้วยบีตที่ทั้งลึกและหนักหน่วงอย่าง เทคโนมิวสิก ก่อกำเนิดขึ้นจนกลายเป็นตระกูลดนตรีเต้นรำที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินทั้งในสายป๊อป, ร็อก ไปจนถึงเฮฟวีเมทัลในประเทศญี่ปุ่น
วงดนตรีวงนั้นมีชื่อว่า Yellow Magic Orchestra (YMO) ที่ ริวอิจิ ซากาโมโตะ เป็นผู้ก่อตั้งวงร่วมกับ ฮารุโอมิ โฮโซโนะ และ ยูกิฮิโระ ทากาฮาชิ ในปี 1978
YMO เป็นวงอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นที่บุกเบิกการใช้ซินธิไซเซอร์, เครื่องเล่น Samplers (ที่นำเอาองค์ประกอบของซาวนด์, เมโลดี, จังหวะ, เสียงร้องและอื่นๆ มาเล่นซ้ำ), ดรัมแมชชีน, คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงเทคโนโลยีที่นับว่าล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้น อย่างการบันทึกเสียงแบบแอนาล็อกเพื่อแปลงเป็นสัญญาณดิจิทัลเพื่อนำมาใช้ทำงานเพลง
YMO นับได้ว่าเป็นวงดนตรีที่บุกเบิกดนตรีแนวซินธ์ป๊อปและอิเล็กทรอนิกส์ ป๊อปด้วยเช่นกัน ซึ่งในเวลาต่อมาศิลปินญี่ปุ่นรุ่นหลังๆ ได้นำซาวนด์แบบวง YMO ไปประยุกต์จนกลายเป็นแนวทางเฉพาะอย่าง เจป๊อป, อิเล็กโทร ไปจนถึง เทคโนมิวสิก
ซินธ์ป๊อปเป็นแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งทศวรรษที่ 80 โดยในปี 1993 ทางนิตยสารดนตรีและเครื่องเสียงของประเทศอังกฤษอย่าง Hi-Fi News ได้กล่าวถึง YMO ว่าเป็น
“วงดนตรีที่มีอิทธิพลสูงสุดในแง่ของการเนรมิตซาวนด์ดนตรีใหม่ๆ ด้วยเครื่องดนตรีสังเคราะห์ให้กับทั้งแฟนเพลงผู้ที่คลั่งไคล้ในสรรพเสียงอันแปลกใหม่ทั้งปวง การฟังเพลงของ YMO เป็นเหมือนการผจญภัยที่ไม่มีที่สิ้นสุดในโลกของดนตรีอิเล็กโทรและเทคโนแดนซ์ ถ้าหากไม่มีวง YMO และ Kraftwerk แล้วล่ะก็ ดนตรีเต้นรำในวันนี้ก็จะยังคงเหมือนกับดนตรีที่เราเล่นอยู่เมื่อวาน”
ก้าวแรกสู่สังเวียนเทคโน
การใช้ดรีมแมชชีนและเครื่องเล่นแซมเพลอร์ ของวง Yellow Magic Orchestra เป็นแรงผลักดันให้วัฒนธรรมฮิปฮอปในสหรัฐอเมริกาก้าวสู่โลกอนาคตด้วย เมื่อศิลปินแนวเทคโนจากเมือง ดีทรอยต์ รัฐ มิชิแกน, สหรัฐอเมริกาอย่าง ฮวน แอตกินส์, เควิน ซอนเดอร์สัน และ เดอร์ริก เมย์ ต่างก็บอกว่าพวกเขาเป็นแฟนเพลงของวง YMO และนำองค์ประกอบบางอย่างที่วง YMO คิดค้นขึ้นอย่างเช่นบีตหนักๆ จาก TR-808, การใช้แซมเพลอร์และซาวนด์สังเคราะห์มาเบลนด์เข้าไว้ด้วยกัน
ส่วนศิลปินแนวเทคโนรายอื่นๆ อย่าง Surgeon, μ-Ziq และ Cosmic Baby ต่างก็นำเอาดนตรีในแบบวง YMO มาดัดแปลงให้เข้ากับงานเพลงของตัวเอง ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความหลากหลายให้กับดนตรีเทคโน
Technopolis (1979) ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘Blue Print’ ของวงการเพลงเทคโนเท่านั้น แต่มันยังเป็นงานเพลงที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินป๊อปและร็อกในญี่ปุ่นมาอย่างยาวนานด้วย
Technopolis มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ดนตรี ดีทรอยต์ เทคโน มีความร่วมสมัยมากขึ้นจากไอเดียในการใช้เสียงแซมเพลอร์ที่หลากหลาย ซึ่งมิกซ์เข้ากับซาวนด์สังเคราะห์และบีตหนักๆ ได้อย่างน่าสนใจ เป็นการสร้างมิติให้กับดนตรีเทคโนที่เดิมทีเน้นแต่เพียงบีตย่ำๆ หนักๆ เท่านั้น ศิลปินแนวเทคโนอย่าง Cybotron ก็ได้รับอิทธิพลจากงานเพลงชุดนี้ไปเต็มๆ
เช่นเดียวกับงานเพลง Testone ของวงอิเล็กทรอนิกส์ทดลองอย่าง Sweet Exorcist ที่นำเสียงดนตรีแบบ 8 บิตจากเพลง Computer Game ของวง YMO มาใช้เหมือนเป็นแซมเพลอร์ให้กับตัวเพลง โดย Computer Game เป็นเพลงที่ทำให้เกิดตระกูลย่อยของดนตรีเทคโนที่มีชื่อว่า Bleep Techno ขึ้น
จุดเด่นของดนตรีแนวนี้ก็คือการใช้ซาวนด์ในลักษณะน้อยแต่มาก (Minimalism) จากซินธิไซเซอร์ โดยในช่วงปลายยุค 80’s และต้นยุค 90’s ศิลปินจำนวนมากจากค่าย Warp Records ในเมือง เชฟฟิลด์ ของประเทศอังกฤษทำงานเพลงแนวนี้ออกมาเป็นจำนวนมากและมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อวงการเพลง Electronic Dance Music ของสหราชอาณาจักรในยุคแรกอีกด้วย
เอกลักษณ์ประการสำคัญของดนตรีเทคโนก็คือ Sub Bass หรือเสียงเบสย่าน Low End ที่ครอบคลุมความถี่ของเสียงในระดับ 20-60 เฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่ต่ำที่สุดเท่าที่มนุษย์จะได้ยิน เสียงเบสในย่านความถี่ที่ต่ำขนาดนี้ทำให้หน้าอกและแก้วหูถึงกับสั่นระรัว ความหนักหน่วงของบีตสามารถทำให้พื้นสะเทือนและทำให้กระจกแตกร้าวได้เลย
Sub Bass จึงเป็นที่นิยมในการทดสอบคุณภาพของระบบเสียงหรือลำโพงในย่านความถี่ต่ำและเหมาะมากสำหรับ Dub ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตระกูลย่อยของดนตรีเร็กเก ซึ่งในปัจจุบันได้มีการเพิ่มย่านความถี่ของเบสให้มากขึ้นเพื่อนำบีตที่ทุ้มต่ำที่ไม่หนักมากจนเกินไปนี้ไปประยุกต์เข้ากับดนตรีป๊อป
ดนตรีเทคโนในอุตสาหกรรมดนตรีญี่ปุ่น
เพลง Sakura Drop ของ อูทาดะ ฮิคารุ ได้รับแรงบันดาลใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่งมาจากเมนสกอร์ของหนังเรื่อง Merry Christmas, Mr. Lawrence ของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ Sakura Drop หยิบองค์ประกอบหลักที่ริวอิจินำท่วงนองดนตรีตะวันออกแบบญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่จดจำมากที่สุดในประวัติศาสตร์การทำงานสกอร์ในโลกภาพยนตร์มาใช้
โดยอูทาดะใช้คีย์บอร์ดแทนเสียงของ ‘ซามิเซ็ง’ ดนตรีเครื่องสายอันเก่าแก่ของญี่ปุ่นและมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ดนตรีโดยรวมถึงแม้ว่าจะไม่ได้แตะดนตรีเทคโนเลย แต่องค์ประกอบในการใช้ทำนองจากเครื่องดนตรีตะวันออกในการแต่งเพลงถือเป็นสิ่งที่ริวอิจินำมาใช้เพื่อทำดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนในสมัยที่ทำเพลงให้กับวง YMO ด้วย
เจ-เทคโน (J-Techno) มีความแตกต่างไปจากดนตรีเทคโนในวัฒนธรรมตะวันตกค่อนข้างมาก เพราะในประเทศฝั่งตะวันตกดนตรีเทคโนจะอยู่ในวัฒนธรรมเรฟ (งานปาร์ตี้สังสรรค์ขนาดใหญ่ที่เปิดเพลงแดนซ์แบบหนักๆ เช่น เทคโน, เบรกบีต, แทรนซ์, ดรัมแอนด์เบส ไปจนถึงแฮปปี้ฮาร์ดคอร์ ซึ่งมีจังหวะต่อนาที (BPM) ค่อนข้างสูง)
ดนตรีเทคโนในยุโรปไม่มีเนื้อร้องและเป็นตระกูลย่อยของดนตรีเต้นรำที่แสดงออกถึงเสรีภาพอันเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ส่งผลให้ทาง UNESCO ได้ประกาศให้ดนตรีเทคโนในกรุงเบอร์ลินเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นอกจากนี้ในกรุงเบอร์ลินก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของดนตรีเทคโนด้วย
แต่เจ-เทคโนนั้นแตกต่างออกไป อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่เริ่มว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีฉลาดมากในแง่ของการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรม วง YMO เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเอาดนตรีอิเล็กทรอนิกส์จากฝั่งยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวง Kraftwerk ในประเทศเยอรมนีมาประยุกต์ให้มีซาวนด์ในแบบของตัวเอง
ส่วนดนตรีของศิลปิน เจป๊อป จะมีการตัดย่านความถี่ของเสียงที่ไม่จำเป็นต่อการฟังของมนุษย์ออกไป ซึ่งจะอยู่ต่ำกว่า 100 เฮิร์ตซ์ลงไป ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากกีตาร์, เสียงร้อง, ซินธิไซเซอร์ รวมถึง เบส และคิกดรัม เพื่อให้เสียงย่าน Sub Bass มีไดนามิกมากขึ้นและไม่ถูกย่านเสียงจากเครื่องดนตรีชนิดอื่นมาซ้อนทับ
เพลง Boys & Girls ของ อายูมิ ฮามาซากิ ที่ได้รับฉายาว่าเป็น ‘จักรพรรดินีแห่งวงการเพลงเจป๊อป’ เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับนิยาม ‘เจ-เทคโน’ เพราะถ้าหากแยกตามตระกูลจริงๆ นี่คือเพลงอัลเทอร์เนทีฟร็อกผสมเมทัล แต่ด้วยบีตจากเบสที่ค่อนข้างหนา บวกกับดิสทรอชันที่แตกพร่าของกีตาร์ รวมถึงจังหวะในแบบดนตรีเต้นรำที่มีการใช้ดรัมแมชชีนในบางช่วง ก็ทำให้เพลงนี้เป็นเพลงในแนว เจ-เทคโน นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายต่อหลายเพลงของเธอที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของเจ-เทคโนได้เช่นกัน เพราะมีการใช้เครื่องดนตรีเก่าแก่ของญี่ปุ่นมาผสมผสานกับบีตแบบเทคโนป๊อปและอาร์แอนด์บีด้วย
ศิลปินญี่ปุ่นที่นับได้ว่าสร้างสรรค์ดนตรีเต้นรำแบบ เจ-เทคโน ออกมาได้อย่างมีลายเซ็นชัดเจนมีอีกมากมายอย่างศิลปินสาว Aural Vampire ที่นำบีตหนักๆ แบบเทคโนและอินดัสเทรียลซาวนด์มาผสมผสานกับเสียงสังเคราะห์ที่มีเมโลดีในแบบเจป๊อปได้อย่างลงตัว เพลงที่แนะนำเลยก็คือ Cardigan Angel ที่มีโครงสร้างดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แบบวง Kraftwerk อย่างชัดเจน, บีตแบบดนตรีเทคโนและแอมเบียนท์, ซาวนด์กีตาร์ที่ใช้เอฟเฟกต์รีเวิร์บก้องกังวานคล้ายกับบางเพลงของวง Depeche Mode, จังหวะดนตรีสไตล์นิวเวฟแบบวง Devo ทุกอย่างถูกขมวดให้กลายเป็น เจ-เทคโน ด้วยเสียงร้องและทำนองดนตรีที่มีความป๊อปแบบญี่ปุ่น
Kaya เป็นศิลปินในกลุ่ม Visual Kei ที่นำกลิ่นอายของดนตรีเทคโนมาผสมผสานกับดนตรีร็อกในบรรยากาศดนตรีโกธิกและดนตรีคลาสสิก งานเพลงของ โคดะ คูมิ มีการมิกซ์ดนตรีที่หลากหลายและน่าสนใจมากไม่ว่าจะเป็น ฮิปฮอป, เวิลด์มิวสิก, นิวเอจ, ป๊อปร็อก และอีกมากมาย แต่อัลบั้ม affection ที่วาจำหน่ายในปี 2002 ถือเป็นงานเพลงในแนว เจ-เทคโน แน่นอน
ในส่วนของวง เจเมทัล ที่สัดส่วนของดนตรีมีความเป็น เมโลดิก เดธ เมทัล และ เมทัลคอร์ อย่างวง Blood Stain Child ก็นำจุดเด่นของดนตรี แทรนซ์, นิวเวฟ และเทคโน มารื้อสร้าง (Deconstruct) ใหม่ เพื่อให้มันกลายเป็นดนตรี เจ-เมทัล ที่มีสัดส่วนของดนตรี เจ-เทคโน อย่างหลากหลายและน่าสนใจ
วงร็อกและเมทัลระดับแถวหน้าของอุตสาหกรรมดนตรีญี่ปุ่นอย่าง Dir En Grey, L’Arc En Ciel, The Gazette, Versailles Abingdon Boys School, D'espairsRay, Girugamesh, Alice Nine นอกจากนี้ก็ยังมีวงดนตรีแนวอินดัสเทรียลและเมทัลสัญชาติญี่ปุ่นอีกหลายวงที่มีกลิ่นอายในการทำงานเพลงในแบบดาร์กๆ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีเทคโนเสียทีเดียว แต่ความดาร์กของซาวนด์และย่านความถี่ของเบสที่ค่อนข้างต่ำก็พอจะอนุมานได้ว่ามันได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีโกธิก, โพสต์พังก์, ดาร์กเวฟ และแน่นอนดนตรีเทคโน
ถ้าฟังให้ดีๆ แล้วล่ะก็เราจะได้รับกลิ่นอายดนตรี เจ-เทคโน ในงานเพลงของวงอย่าง Buck-Tick, Acid Android, Despair, Schaft, Soft Ballet, Der Eisenrost และ Contagious Orgasm ด้วย
Techno-kayō และอิทธิพลที่มีต่อดนตรี City Pop
Techno-kayō เป็นชื่อที่ชาวญี่ปุ่นใช้เรียกดนตรีเทคโนหรือดนตรีที่มีส่วนผสมของดนตรีเทคโน การที่ดนตรีแนวหนึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะอย่างเป็นทางการเป็นเครื่องชี้วัดว่า เทคโนเป็นดนตรีเต้นรำตระกูลย่อยที่ได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยในซีนดนตรีญี่ปุ่นและผับเรฟจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผับในย่านชิบูยาที่มักจะเปิดเพลงเต้นรำแนวนี้เป็นแนวสุดท้ายก่อนปิดร้าน
เชื่อหรือไม่ว่า Techno-kayō เคยเป็นชื่อที่ใช้เรียกดนตรีแนว City Pop ในช่วงต้นยุค 80’s มาก่อน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าววง YMO นับว่าเป็นวงที่มีชื่อเสียงมากในช่วงเวลานั้น และนักท่องราตรีไม่รู้ว่าจะหาคำจำกัดความดนตรีเต้นรำที่มีการใช้ซินธิไซเซอร์และดรัมแมชชีน ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่องานเพลงแนวนี้ว่าอย่างไรดี
อาจจะกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีทางดนตรีที่ผลิตเครื่องดนตรีสังเคราะห์ใหม่ๆ ขึ้นมามีส่วนสำคัญในการสร้างดนตรีแนว City Pop ทำให้ผู้ที่นอนไม่หลับและใฝ่หาเสียงดนตรีขับกล่อมเพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงาในผับยามค่ำคืนมองว่า Techno-kayō เป็นดนตรีเป็นหมุดหมายสำคัญของดนตรีเต้นรำในยุค 80’s เรียกได้ว่าเป็นการตั้งชื่อแนวดนตรีโดยอาศัยนวัตกรรมทางดนตรีมากกว่าที่จะขุดลึกไปถึงแนวดนตรีอย่าง ซินธ์ป๊อป, ฟังก์, โซล, ฟิวชัน แจ๊ซ และ ดิสโก้ ที่ถือเป็นรากฐานของมันจริงๆ โดยมีศิลปินที่นับว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของดนตรีแนวนี้อย่าง จุนโกะ นากามิ, มาริยะ ทาเกอุจิ (เจ้าของเพลง Plastic Love), มิกิ มัตสึบาระ, ทาเอโกะ โอนุกิ และอีกมากเป็นผู้จุดประกาย
แม้กระทั่งงานเพลงของ ฟูจิอิ คาเสะ ซึ่งเป็นศิลปินในแนวนีโอโซลและอาร์แอนด์บี ที่โด่งดังมากๆ ในเวลานี้ เพลงบางเพลงก็ได้รับแรงบันดาลมาจากดนตรี City Pop และเทคโนอยู่เหมือนกัน อย่างเช่นเพลง Kirari ที่หากขุดให้ลึกลงไปแล้วก็ยังอิทธิพลทางดนตรีมาจากดนตรีเจ-เทคโนด้วย โดยเพลงนี้ได้ถูกนำไปรีมิกซ์ใหม่ในอัลบั้ม Kirari Remixes (Asia Edition) ที่นำไปเรียบเรียงดนตรีใหม่ทั้งในแนว 2-Step Garage, Dubstep, โปรเกรสซีฟ เฮาส์, เบรก บีต รวมถึง City Pop และเทคโนป๊อป
ฟูจิอิ คาเสะ
วัฒนธรรมดนตรี เจ-เทคโน ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก
ในปัจจุบันมีเทศกาลดนตรี เจ-เทคโน ที่ถือเป็นการสร้าง Rave Culture ในญี่ปุ่นหลายงานไม่ว่าจะเป็น WIRE Tokyo, Rainbow Disco Club และ Labyrinth นอกจากนี้ก็ยังมีคลับในกรุงโตเกียวและอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศที่เปิดเพลงเทคโนเป็นหลัก
เจ-เทคโน เป็นดนตรีเต้นรำหนักที่นำเครื่องดนตรีญี่ปุ่นโบราณไม่ว่าจะเป็นซามิเซ็ง, กลองไทโกะ, ชาคุฮาจิ ซึ่งเป็นขลุ่ยไม้ไผ่ดั้งเดิมชนิดหนึ่งของญี่ปุ่นผสมผสานกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ มีชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่มองว่าดนตรีเต้นรำจากยุค 80-90 อย่าง House, Trance, Deep House, Miami Bass, Hi-NRG, Break Beat Hardcore, Jungle, Tech House ไปจนถึง Drum & Bass เป็นดนตรีเทคโน เพราะโฟกัสไปยังเสียงจากซินธิไซเซอร์และดรัมแมชชีนที่วง YMO เป็นผู้บุกเบิกในการใช้และก่อให้เกิดดนตรีเทคโนเป็นหลัก มากกว่าที่จะสนใจในตระกูลหลักหรือตระกูลย่อยของดนตรีเต้นรำ
ปัจจุบันมีศิลปินดนตรีเต้นรำชาวญี่ปุ่นหลายคนที่กลายเป็นเสาหลักของวงการดนตรี เจ-เทคโน และดนตรีเต้นรำทดลองไปแล้วไม่ว่าจะเป็น เคน อิชิอิ (Ken Ishii), DJ Krush, DJ Nobu (ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น DJ Shadow แดนปลาดิบ), DJ Yoji, ชินจิ โฮโซเอะ, โนบุโยชิ ซาโนะ, TECHNOuchi และอีกหลายคน โดยในปัจจุบันก็ยังมีดีเจและโปรดิวเซอร์ที่สานต่อในการทำเพลงแนว เจ-เทคโน อยู่อีกไม่น้อยเลย
ส่วนวงที่มาแรงที่สุดในเวลานี้ก็คือ Perfume กลุ่มศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปที่ประกอบไปด้วย อายาโนะ โอโมโตะ, ยูกะ คาชิโนะ และ อายากะ นิชิวากิ ที่ถือเป็นกลุ่มศิลปินแนวอิเล็กโทรป๊อปและ เจ-เทคโน ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มตั้งวงในปี 2000 โดยมี Game เป็นอัลบั้มชุดแรกที่วางจำหน่ายในปี 2008
Perfume
ด้วยประวัติศาสตร์ในการผสมผสานวัฒนธรรมทางดนตรีเทคโนมาเกือบครึ่งศตวรรษทำให้ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่เน้นบีตหนักหน่วงแทนที่เมโลดีหรือเสียงร้อง แถมยังไม่ประนีประนอมผู้ฟังด้วยความเร็วของจังหวะต่อนาทีซึ่งอยู่ที่ 120-150 BPM มีวิวัฒนาการจนกลายเป็นอีกแขนงหนึ่งของดนตรีป๊อปในประเทศญี่ปุ่นได้อย่างมีเอกลักษณ์
Perfume เป็นผลผลิตที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางดนตรีเต้นรำ นี่คือเกิร์ลกรุ๊ปที่ทำเพลงด้วยการนำบีตหนักๆ แบบดนตรีเทคโนมาเพิ่มย่านความถี่ให้สูงขึ้นกว่า Sub Bass ซึ่งเป็นย่านความถี่ของดนตรีเทคโนแบบดั้งเดิม เพื่อให้เข้ากับดนตรีป๊อปมากขึ้น
งานเพลงของวง Perfume มีส่วนผสมของทั้งดนตรีซินธ์ป๊อป, ชิคาโก, ดีทรอยต์ ไปจนถึงเบอร์ลิน เทคโน, เทคเฮาส์, โพสต์ชิบูยะเค แต่ถ้าหากจะให้สรุปอย่างรวบรัดแล้วล่ะก็ สไตล์ดนตรีของวง Perfume คือเทคโนป๊อป ซึ่งเจ-เทคโน ในแบบวง Perfume ส่งแรงบันดาลใจให้กับศิลปิน เจ-เทคโน รุ่นหลังๆ อย่าง ไอระ มิตสึกิ, มายุ นากาซาวะ (immi), Mizca, SAWA และอีกหลายวงที่ยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
Perfume
ดนตรีเทคโนมีบริบทที่ใช้ในการนิยามที่ค่อนข้างกว้างดังที่กล่าวมา แต่ เจ-เทคโน ปรับมันให้แคบลงมาด้วยการใช้ประโยชน์จากตระกูลย่อยของดนตรีป๊อปที่หลากหลาย การใช้องค์ประกอบของดนตรีเทคโนเป็นโครงร่างคร่าวๆ ในการทำดนตรีแทนที่จะเป็นรากฐานสำคัญเปิดโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับดนตรีแนวนี้
ในกรณีของ Perfume ดนตรีในภาพรวมฟังง่ายและเต้นตามได้ง่ายด้วยเมโลดีที่วิจิตรบรรจง และไพเราะด้วยกำแพงของเสียงสังเคราะห์ที่ซ้อนทับกันหลายชั้น แต่ทว่าไม่หนักหูเลย การใช้ฟิลเตอร์, โวโคเดอร์และดิสทรอชันจากซินธิไซเซอร์ รวมถึงการใช้เสียงคีย์บอร์ดที่อ่อนหวานแบบเฟมินีนและการใช้ซินธ์เลียนแบบทำนองเพลงจากเครื่องดนตรีดั้งเดิมของญี่ปุ่นทำให้ Perfume เป็นวงเจ-เทคโนระดับแถวหน้าของญี่ปุ่นในเวลานี้อย่างไม่ต้องสงสัย
และข่าวดีสำหรับ P.T.A. (ชื่อแฟนคลับของวง Perfume) ก็คือเหล่าแฟนๆ กำลังจะได้ดูวงมาขึ้นเวทีคอนเสิร์ตให้ได้ชมกันสดๆ กับ "Perfume "COD3 OF P3RFUM3 ZOZ5" Asia Tour 2024" ซึ่งจะจัดขึ้นที่ UOB Live ห้างสรรพสินค้า Emsphere ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้โดยผู้จัด Avalon Live
J-Techno in the Nutshell
ถ้าหากวง Yellow Magic Orchestra ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ดนตรีที่พวกเขาเล่นคงใกล้เคียงกับงานเพลงที่วง Perfume สร้างออกมา ซึ่งนับว่าน่าทึ่งมากที่ถึงแม้ว่าเวลาจะผันผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้ว แต่สำเนียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในแบบวง YMO ยังคงมีให้ได้ยินอยู่ในงานเพลงของวง Perfume นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทำไมดนตรีป๊อปและแนวอื่นๆ ของญี่ปุ่นถึงได้โดดเด่นไม่เหมือนใคร และยังคงรักษารากเหง้าของตัวเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่นเช่นนี้
ถึงแม้ว่า ริวอิจิ ซากาโมโตะ จะเคยให้สัมภาษณ์ว่าสาเหตุที่ทำให้ดนตรีเจป๊อปไม่สามารถไปไกลในระดับโลกได้เหมือนเคป๊อป เพราะไม่ได้มีการวางแผนแบบ Go Global ก็ตาม แต่ถ้าหากมองในมุมกลับกัน ถ้าหากการไม่ได้ไปไกลในระดับโลกไม่ได้เป็นปัญหาที่ซีเรียสอะไร การที่เจป๊อป หรือ เจ-เทคโน รวมถึงดนตรีแนวอื่นๆ ในญี่ปุ่นยังคงอัตลักษณ์ของมันเอาไว้ได้ ก็เพราะไม่จำเป็นต้องเดินตามเทรนด์ดนตรีตามสมัยนิยม ส่งผลให้ในทุกวันนี้อุตสาหกรรมดนตรีญี่ปุ่นถือเป็นวงการเพลงที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงที่สุดในโลก
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นประวัติย่นย่ออันยาวนานในประวัติศาสตร์ดนตรีเทคโนและ เจ-เทคโน ซึ่งเป็นอีกแขนงสำคัญของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และก็ต้องยอมรับตามตรงว่ามันเป็นอีกหนึ่งแขนงของดนตรีเต้นรำที่ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ท่ามกลางสายธารดนตรีกระแสหลักที่ไหลอย่างเชี่ยวกรากในปัจจุบัน
ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้ที่สนใจได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของดนตรีเทคโนและวัฒนธรรมผสมผสานทางดนตรีของประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น
อ้างอิง : In Sheep's Clothing Hifi, TECHNO CLOTH, INDEPENDENT
