Humberger Menu

ไข้หวัดใหญ่ อีกหนึ่งโรคภัยใกล้ตัวที่น่ากลัวไม่แพ้โควิด

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Everyday Life

Lifestyle

6 ก.ย. 64

creator
ธนพัฒน์ ชูวาธิวัฒน์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ดูเหมือนว่าหลังจากที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ความตื่นกลัวต่อโรคนี้ก็ทำให้ผู้คนหลงลืมโรคร้ายแรงอื่นๆ กันไปหมด โดยเฉพาะโรคทางระบบทางเดินหายใจอย่าง ‘ไข้หวัดใหญ่’ ที่หากติดเชื้อแล้ว ก็อาจมีอาการรุนแรงได้ไม่แพ้กัน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที

...


ดูเหมือนว่าหลังจากที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2019 ความตื่นกลัวต่อโรคนี้ก็ทำให้ผู้คนหลงลืมโรคร้ายแรงอื่นๆ กันไปหมด โดยเฉพาะโรคทางระบบทางเดินหายใจอย่าง ‘ไข้หวัดใหญ่’ ที่หากติดเชื้อแล้ว ก็อาจมีอาการรุนแรงได้ไม่แพ้กัน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที


รู้จักไข้หวัดใหญ่ และความรุนแรงร้ายกาจของโรค

ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อที่เรียกตรงตัวว่า ‘ไวรัสไข้หวัดใหญ่’ (Influenza Virus) และในปัจจุบันยังคงกระจายตัวอยู่ทั่วโลก โดยสามารถแพร่ได้ผ่านการที่มนุษย์เราหายใจเอาละอองฝอยที่อยู่ในอากาศเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจ อันเชื่อมต่อกันจากโพรงจมูกผ่านไปยังลำคอ, หลอดลม และปอด ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการต่างๆ ตั้งแต่อาการไข้ ไอจามเล็กๆ น้อยๆ ไปถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

หลายคนคงเคยได้ยิน ‘นามสกุลต่อท้าย’ ที่เป็นเหมือนการระบุสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่กันมาบ้าง ซึ่งมีการจำแนกชนิด (Type) ออกมาถึง 4 นามสกุล คือ A, B, C และ D โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A นั้นก็มีอยู่หลายชนิด และมีชื่อตามชนิดโปรตีน H และ N ซึ่งที่พบบ่อยคือ A (H1N1) และ A (H3N2) อันถือเป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว แถมนอกจากพบในมนุษย์แล้ว ยังสามารถระบาดได้ในสัตว์อย่างหมูและม้าได้อีกต่างหาก 

สำหรับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ก็ได้แก่ สายพันธุ์ B ตระกูล Victoria และสายพันธุ์ B ตระกูล Yamagata ส่วนเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C ยังพบได้ไม่บ่อยนัก และอาการติดเชื้อไม่รุนแรง จึงไม่ได้สำคัญต่อระบบสาธารณสุข เช่นเดียวกันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ D ที่ติดเชื้อได้แค่ในหมูและวัว แต่ยังไม่มีการค้นพบว่าสามารถติดเชื้อในมนุษย์ได้ จึงถูกลดทอนความสำคัญลงไป

ถ้าใครเคยป่วยด้วยการเป็นไข้หวัดใหญ่คงจะพอเข้าใจความทรมานจากอาการของโรค ส่วนใครที่ยังไม่เคยเป็น ก็สามารถเฝ้าสังเกตอาการของตัวเองได้ เพราะไข้หวัดใหญ่มักเริ่มต้นจากการมีไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับอาการไอแห้งๆ, ปวดหัว, ปวดเมื่อยไปตามร่างกาย โดยเฉพาะส่วนกล้ามเนื้อ แถมยังมีอาการหนาวสั่น, อ่อนเพลีย, รวมถึงเจ็บคอและมีน้ำมูก บางรายอาจถึงขั้นอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย โดยหากเราได้รับเชื้อแล้ว อาการมักปรากฏภายใน 1-4 วันหลังจากได้รับเชื้อ และอาการของโรคมักคงอยู่ไปประมาณ 5-7 วัน โดยที่ร่างกายจะพยายามกำจัดเชื้อโรคออกไป ซึ่งอาจสามารถหายได้เอง แต่กว่าที่อาการจะค่อยๆ ทุเลาลง ก็มักมีอาการตามที่ได้กล่าวมา ซึ่งสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยไม่น้อยเลยทีเดียว

ทว่าก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเช่นนั้น เพราะบางรายอาจมีอาการรุนแรง ซึ่งส่วนมากมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว โดยกลุ่มประชากรที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายหากติดเชื้อ ประกอบไปด้วย กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน, เด็กเล็กอายุ 6 เดือน-1 ปี, ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี, ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หอบหืด, หัวใจ, หลอดเลือดสมอง, ไตวาย, เบาหวาน และมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัด), ผู้ที่เป็นโรคอ้วน โดยที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร รวมไปถึงผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่องจากการติดเชื้อ HIV ซึ่งตามสถิติแล้วในแต่ละปี ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยจากไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรงถึง 3-5 ล้านราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนหลายหมื่นราย

สำหรับการดูแลรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ในขั้นเบื้องต้นนั้น เราสามารถรักษาได้ตามอาการ ซึ่งหากอาการน้อย ไม่หนักมาก ควรพักผ่อนอยู่ในที่พักอาศัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น, หากมีไข้ควรรับประทานยาลดไข้ร่วมกับยาชนิดอื่นๆ ตามอาการ แต่หากเกิดอาการแทรกซ้อน หรือรู้สึกว่ามีอาการหนักกว่าปกติ ก็ควรรีบเข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีดูแลรักษาให้เหมาะสม

ประวัติศาสตร์ไข้หวัดใหญ่ และการผลิตวัคซีนเพื่อลดทอนความรุนแรง

หากเราลองย้อนไปมองยังประวัติศาสตร์ของโรคชนิดนี้ ไข้หวัดใหญ่ถือเป็นภัยคุกคามมนุษย์มาเนิ่นนานแล้ว โดยถูกสันนิษฐานกันว่ามันเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อราว 400 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งการระบาดครั้งที่ยิ่งใหญ่และรุนแรงจนสร้างผลกระทบในระดับโลก เริ่มต้นด้วยไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) ในปี 1918-1919 ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปถึง 50 ล้านคน, ต่อมาในปี 1956-1958 ก็เกิด ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian Flu) จากไวรัส H2N1 โดยแพร่ระบาดจากจีนไปยังฮ่องกง, สิงคโปร์ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ราว 2 ล้านคน, ส่วนปี 1968 ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong Flu) ที่พัฒนาสายพันธุ์ไวรัสมาจากไข้หวัดเอเชีย ได้คร่าชีวิตผู้คนไปโดยประมาณ 1 ล้านคน, และในปี 2009 กับ ไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่มีส่วนประกอบจากไวรัส 3 ชนิด คือ ไข้หวัดในมนุษย์, ไข้หวัดนกอเมริกาเหนือ และไข้หวัดหมู ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกเฉียด 2 หมื่นราย

ในช่วงปี 1940 ได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ออกมาใช้ โดยในช่วงเริ่มแรก วัคซีนมีประสิทธิภาพที่ดี แต่ก็มีผลข้างเคียงอยู่ไม่น้อย หลังจากนั้นในปี 1970 ได้มีการพัฒนาวัคซีนเชื้อตาย -ซึ่งผลิตจากไวรัสที่หมดฤทธิ์แล้ว- ออกมาเป็นวัคซีนแยกส่วน (Split Vaccine) และวัคซีนหน่วยย่อย (Subunit Vaccine) ซึ่งช่วยให้เกิดปฏิกิริยาจากวัคซีนลดลง และเกิดการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องด้วยโรคไข้หวัดใหญ่นั้นมีระยะในการฟักตัวค่อนข้างสั้น ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเป็นประจำทุกปี

สำหรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีโครงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ‘ฟรี’ ให้เฉพาะกับประชาชนกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น (คนทั่วไปที่ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะต้องชำระเงินเพื่อฉีดวัคซีนเอง) โดยเป็นวัคซีนประเภทเชื้อตายที่ประกอบด้วยชนิด A (H1N1), A (H3N2) และ B (คือ B Victoria หรือ B Yamagata) โดยผู้เชี่ยวชาญจะคัดเลือกจากสายพันธุ์ที่คาดว่าจะมีการระบาดมากกว่าในฤดูกาลนั้นๆ -- ส่วนประชาชนนอกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สามารถเลือกฉีด (พร้อมชำระเงินเอง) ได้ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน (แน่นอนว่าค่าบริการจะแตกต่างกันไป) 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ยังมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น (Live Attenuated Influenza Vaccine หรือ LAIV) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถพ่นเข้าทางจมูกได้ เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุ 2 ขวบ จนถึงผู้ใหญ่อายุ 49 ปี โดยสามารถป้องกันโรคได้ในช่วงเวลา 12-24 เดือน แต่น่าเสียดายที่วัคซีนในรูปแบบนี้ยังไม่มีการจัดจำหน่ายและนำเข้ามาใช้กันในประเทศไทย

คำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และความเชื่อมโยงที่มีต่อวัคซีนโควิด

ในปีที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโควิด ดังนี้

1) ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อนได้ โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

2) ผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) เข็มที่ 1 แล้ว แต่อยู่ระหว่างรอกำหนดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามกำหนด (หรือสรุปง่ายๆ คือ ฉีดหลังเข็มแรก 1 เดือน และก่อนเข็ม 2 อีก 1 เดือน) 

3) สำหรับผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค (Sinovac) ควรได้รับวัคซีนให้ครบทั้ง 2 โดสก่อนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เดือน

นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การป้องกันตัวเบื้องต้นจากไข้หวัดใหญ่ก็มีหลักการปฏิบัติและดูแลตัวเองไม่ต่างจากโควิด-19 นั่นคือการสวมหน้ากากอนามัย, หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์, หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนเป็นจำนวนมากหรือแออัด, อย่าอยู่ในสถานที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท, พยายามเว้นระยะห่างทางสังคม และหมั่นสังเกตอาการทางร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ

ในช่วงหน้าฝนของทุกปี ไข้หวัดใหญ่ยังถือเป็นอีกหนึ่งโรคระบบทางเดินหายใจที่เราไม่ควรหลงลืม และควรดูแลป้องกันตัวเองอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการป่วยหนักจนถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะอาการไข้สูงนอนซมหลายวันของโรคนี้ ก็ทรมานไม่ต่างจากการติดโควิด-19 เลย

อ้างอิง: Who.int (1, 2), Ddc.moph.go.th (1, 2




Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

ความหวังมนุษยชาติ เมื่อวิทยาศาสตร์เริ่มเข้าใกล้ ‘วัคซีนไข้หวัดครอบจักรวาล’

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat