‘เสือแทสมาเนีย’ สัตว์สูญพันธ์ุเกือบหนึ่งศตวรรษ อาจฟื้นคืนชีพได้ภายใน 10 ปี
...
Summary
- เสือแทสมาเนียตัวสุดท้ายตายลงที่สวนสัตว์เมืองโฮบาร์ต รัฐแทสมาเนีย เมื่อปี 1936 หลังจากนั้นมันก็กลายเป็นสัตว์สูญพันธุ์
- โครงการฟื้นชีพเสือแทสมาเนีย หรือ ‘ไธลาซีน’ มีต้นทางจากสเต็มเซลล์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใกล้เคียง หาความเข้ากันได้ และจากนั้นใช้เทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม โดยตั้งเป้าว่าไธลาซีนตัวแรกจะถือกำเนิดภายใน 10 ปี
...
‘เสือแทสมาเนีย’ สูญพันธุ์ไปเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน แต่นักวิทยาศาสตร์พยายามฟื้นชีพมันอีกครั้งด้วยเทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรม
เสือแทสมาเนีย หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ไธลาซีน (thylacine) หายไปจากแผ่นดินใหญ่ออสเตรเลียราว 2,000 ปีก่อน ต่อมาเหลือเพียงแค่ที่บนเกาะแทสมาเนียเท่านั้น และสูญพันธุ์ไปในที่สุด
ไธลาซีนมาจากภาษากรีกแปลว่า สัตว์หัวสุนัขที่มีกระเป๋าหน้าท้อง มันเป็นสัตว์กินเนื้อ สามารถยืน 2 ขาหลังได้เหมือนจิงโจ้ และมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ แต่มนุษย์ไม่ค่อยชอบใจนัก มีรายงานของชาวยุโรปที่อยู่บนเกาะระบุว่า ไธลาซีนทำลายสัตว์เลี้ยงและผลผลิตของเกษตรกร ไธลาซีนตัวสุดท้ายอยู่ในสวนสัตว์เมืองโฮบาร์ต รัฐแทสมาเนีย ตายเมื่อปี 1936
โครงการฟื้นชีพไธลาซีนนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคอลอซซอล ไบโอไซน์ (Colossal Biosciences) บริษัทไบโอเทค รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่เคยมีโครงการฟื้นชีพแมมมอธมาแล้วก่อนหน้านี้ และมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย
แม้จะถูกตั้งคำถามและมองว่าการคืนชีพนี้เป็นเพียงแค่นิยายวิทยาศาสตร์ แต่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่า สามารถฟื้นชีพมันได้จากสเต็มเซลล์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใกล้เคียง เพื่อหาความเข้ากันได้ และจากนั้นใช้เทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม โดยตั้งเป้าว่าไธลาซีนตัวแรกจะถูกเพาะพันธุ์ในป่าได้ภายใน 10 ปี
เริ่มแรก นักวิทยาศาสตร์จะสร้างจีโนมของสัตว์ที่สูญพันธุ์และเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งก็คือ ดันนาร์ต (dunnart) สัตว์คล้ายหนูขนาดเล็กและมีกระเป๋าหน้าท้องเหมือนจิงโจ้ เพื่อหาความแตกต่าง จากนั้นจะนำเซลล์จากดันนาร์ตมาตัดต่อดีเอ็นเอทุกตำแหน่งที่ต่างจากไธลาซีน เพื่อให้มันกลายเป็นเซลล์ไธลาซีน
หากสำเร็จ ตัวดันนาร์ตก็จะเปรียบเหมือนแม่อุ้มบุญของไธลาซีน แม้ว่ามันจะตัวเล็กกว่า แต่ว่ามันสามารถให้กำเนิดสัตว์ที่ตัวเล็กๆ ได้ ซึ่งอาจจะเล็กเท่ากับเมล็ดข้าว
แอนดรูว พาสก์ (Andrew Pask) หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เชื่อว่า ในระยะเวลา 10 ปี เราจะได้เห็นไธลาซีนตัวแรก นับตั้งแต่มันถูกไล่ล่าจนสูญพันธุ์ไปเกือบ 100 ปี เขากล่าวว่า เรายืนยันหนักแน่นว่าต้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพก่อนที่จะสูญพันธุ์ แต่โชคไม่ดีนักที่ไม่สามารถชะลอการสูญพันธุ์ของส่ิงมีชีวิตต่างๆ ได้
“เทคโนโลยีนี้ทำให้เรามีโอกาสแก้ไขความผิดพลาด และสามารถใช้ในกรณีที่สิ่งมีชีวิตสปีชีส์นั้นกำลังจนมุม”
เขายืนยันว่า การผลิตไธลาซีนใหม่จะทำอย่างระมัดระวังมาก การปล่อยสัตว์ออกมาจะต้องมีการศึกษาและดูการปฏิสัมพันธ์ของมันในระบบนิเวศ ในฤดูกาลต่างๆ รวมทั้งในพื้นที่บริเวณกว้าง ก่อนที่จะปล่อยมันเข้าป่าจริงๆ
มีการพูดถึงการฟื้นชีพเสือแทสมาเนียมามากกว่า 20 ปีแล้วในปี 1999 พิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียริเริ่มโครงการโคลนนิ่งสัตว์และพยายามสร้างหรือคัดแยกดีเอ็นเอจากสารพันธุกรรมตัวอย่าง หากการฟื้นชีพสัตว์สูญพันธุ์สำเร็จได้ จะถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์และเป็นก้าวที่สำคัญของวงการวิทยาศาสตร์
อ้างอิง: edition.cnn.com, abc.net.au, bbc.com
