Humberger Menu

ดูยานอวกาศใน ‘ลุงบุญมีฯ’ เดินเข้าโรงหนังโรงแรกของโลก (แบบจำลอง) ที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Everyday Life

Lifestyle

14 ก.ย. 65

creator
ปวีณ์กานต์ อินสว่าง
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย พิพิธภัณฑ์ที่รวมเอาทั้งประวัติและความเป็นมาของวงการภาพยนตร์ มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการความรู้แบบย่อยง่ายและแฝงไปด้วยความสนุก เช่น อาคารจำลองที่บอกเล่าวิวัฒนาการเกี่ยวกับภาพยนตร์, นิทรรศการภาพค้างติดตา ที่บอกเล่าถึงกระบวนการทำแอนิเมชันและภาพยนตร์ให้เด็กๆ เข้าใจได้โดยง่าย

...


สุดสัปดาห์ในเดือนพิพิธภัณฑ์ไทยอย่างนี้ ถ้าไม่รู้จะไปไหน เราขอชวนออกนอกเมืองไปเพียงนิดเพื่อชม 'พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย' ที่พุทธมณฑลสาย 5 พิพิธภัณฑ์ที่รวมเอาทั้งประวัติและความเป็นมาของวงการภาพยนตร์มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการความรู้แบบย่อยง่าย แฝงไปด้วยความสนุก ชนิดที่เด็กก็มาได้ ผู้ใหญ่ก็มาดี และถ้าเป็นนักศึกษาหรือคนที่สนใจภาพยนตร์อยู่แล้วมา ก็ยิ่งสนุก!

ขั้นตอนในการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทำได้โดยเข้าไปลงทะเบียนรับบัตรที่จุดลงทะเบียน ใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชน และเบอร์โทรศัพท์ ก็เตรียมเข้าชมได้เลย 

เจ้าหน้าที่ประจำจุดอธิบายให้ฟังว่า ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีจุดให้เข้าชมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน หนึ่งคือ ในตัวอาคารสีดำที่เรากำลังยืนอยู่ ภายในแบ่งออกเป็นนิทรรศการภาพค้างติดตาที่ชั้น 1 (เข้าชมได้ครั้งละ 12 คน และต้องจองล่วงหน้าที่หน้างาน) ลานไปดวงจันทร์ที่ชั้น 1 ครึ่ง ส่วนห้องนิทรรศการหมุนเวียนอยู่ที่ชั้น 2 ขณะนี้จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ‘เขาชื่อสรพงศ์’ และบริเวณชั้น 3 มีนิทรรศการยานอวกาศบ้านนาบัว

อีกส่วนคือ ด้านนอกอาคาร ซึ่งเป็นโซนโรงหนังจำลองที่เราเห็นตอนเดินเข้ามา แบ่งออกเป็น โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง โรงภาพยนตร์ถาวรแห่งแรกของโลกอย่าง นิกเกิลโลเดียน ร้านหนังตู้ คิเนโตสโคป และรถไฟสายภาพยนตร์



เพราะมีเวลาอีกเกือบๆ สองชั่วโมงกว่าจะถึงรอบชมนิทรรศการภาพค้างติดตาที่จองไว้ เราจึงเลือกเดินชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จากชั้น 2 ที่มีนิทรรศการภาพถ่าย ‘เขาชื่อสรพงศ์’ จัดแสดงอยู่ 

ภายในเป็นห้องมืดสนิทที่มีรูปของ สรพงศ์ ชาตรี แขวนและจัดแสดงอยู่ทั่วบริเวณ รูปถ่ายเหล่านี้เป็นรูปถ่ายโดยช่างภาพนิ่งจากกองถ่ายภาพยนตร์หลายเรื่อง ซึ่งบันทึกถึงตัวตน อารมณ์ และอิริยาบถในมุมต่างๆ ของพระเอกตลอดกาลคนนี้เอาไว้ พร้อมประวัติคร่าวๆ ให้แฟนภาพยนตร์ได้รำลึกถึง




บอกตามตรงว่าแม้เราจะไม่ใช่แฟนของสรพงศ์ แต่ด้วยบรรยากาศโดยรอบ ภาพเบื้องหลังภาพยนตร์ที่คงอยู่ในความทรงจำของแฟนๆ ที่ติดตาม รวมไปถึงจอฉายผลงานภาพยนตร์ของเขาตั้งแต่สมัยไม่มีเสียงในฟิล์ม จวบจนผลงานที่หลายๆ คนจำได้อย่าง สุริโยไท และตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ทำเอาเราค่อยๆ อินตามไปด้วย พร้อมอดชื่นชมไม่ได้ที่เขายึดเอางานศิลปะการแสดงเป็นอาชีพมาตลอดชีวิต และยังฝากผลงานไว้ให้วงการภาพยนตร์มากมายอย่างนี้

ออกจากห้องนิทรรศการมาอีกฟากฝั่งหนึ่งของอาคาร จะเจอกับลานไปดวงจันทร์ ลานสำหรับคนมีฝัน และคนอยากรู้อยากเห็นทุกท่าน!

ลานนี้อยู่ติดกันกับโรงหนังช้างแดง โรงภาพยนตร์ที่มีการจัดฉายภาพยนตร์ฟรีอยู่เรื่อยๆ อย่างวันที่เราไปก็มีฉายภาพยนตร์ต่างประเทศจากเยอรมนีและสเปนด้วย แต่ถึงจะจองตั๋วที่นั่งชมไม่ทันก็ไม่เป็นไร เพราะบริเวณโดยรอบมีสิ่งประดิษฐ์น่าสนใจเกี่ยวกับภาพยนตร์ไว้ให้คนได้ทดลองเล่นกันนั่นคือ ‘โรงหนังกระโปรง’ ประดิษฐกรรมสำหรับดูภาพยนตร์ปาหี่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์มาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสิ่งประดิษฐ์ที่ว่านี้จะมีลักษณะเป็นเหมือนรถไม้ที่มีการเจาะเป็นช่อง หรือบานหน้าต่างเล็กๆ ขนาดให้ตาคนมองดูจอข้างในได้ ให้คนมายืนล้อมดูหนังกัน



รถบางประเภทก็มีเหมือนช่องให้ส่องดูจากด้านบน โดยหากลองก้มหน้าลงส่องดูหนัง จะเจอกับฉากของภาพยนตร์เรื่อง HUGO เพื่อให้เหล่าคนรักภาพยนตร์ได้รู้จักกับประวัติของจอร์จ เมลิแยร์ นักมายากลผู้บุกเบิกภาพยนตร์ไซไฟเรื่องแรกๆ ของโลกอย่าง a trip to the moon โดยข้างๆ กันก็มีซุ้มขายของเล่นและขนมของเมลีแยส ซึ่งเป็นอาชีพในบั้นปลายของนักสร้างภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกคนนี้ด้วย

เสร็จจากการไปเหยียบดวงจันทร์ สายตาเราก็เหลือบไปเห็นบริเวณลานกลางอาคารที่มีประติมากรรมบางอย่างตั้งอยู่อย่างโดดเด่น และเมื่ออ่านรายละเอียดจากป้ายนิทรรศการด้านข้างก็ถึงกับขนแขนลุก เพราะประติมากรรมที่ว่าคือ ‘ยานอวกาศบ้านนาบัว’ พร็อพสำคัญที่อยู่ในเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำมาจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ฝีมือของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีฯ เป็นชิ้นงานหลักในโครงการศิลปะขนาดใหญ่ของเจ้ย ที่เรียกรวมกันว่า primative โดยเนื้อหาของทุกชิ้นงานไม่ว่าจะเป็นหนังสั้น, video installation, ภาพถ่าย ล้วนผูกโยงกันกับการค้นคว้าและเดินทางไปในภาคอีสานของผู้กำกับ โดยเฉพาะที่หมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม สถานที่เกิดเหตุวันเสียงปืนแตก สิ่งที่เจ้ยทำเป็นการเสาะหาประวัติศาสตร์ความทรงจำที่ซ้อนทับด้วยความรุนแรง การต่อสู้ และการถูกกดขี่ที่คนท้องถิ่นเผชิญจากส่วนกลางในช่วงสงครามเย็น 




คำบรรยายด้านข้างทำให้เราเข้าใจเลยว่าทำไมหลายๆ คนถึงยกให้ภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผู้กำกับในดวงใจ เพราะการสร้างภาพยนตร์ของเจ้ยนั้นมีเรื่องราวการเมืองสอดแทรกอยู่ภายในเสมอ อย่างแสงสีแดงที่ปรากฏอยู่ในหนังบ่อยๆ ก็มาจากคำอ้างอิงของคนแก่ในหมู่บ้านที่ว่า ในตอนกลางคืนจะมีแสงซึ่งมาจากทหาร ที่เรียกว่า Millitary flare ยิงขึ้นไปเป็นพลุทหารแล้วแตกเป็นสีเขียวบ้าง แดงบ้าง อยู่บนอากาศนานในระดับหนึ่ง เพื่อให้ทหารรู้ว่ามีใครหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่บ้านหรือป่า ซึ่งเขาบอกว่าแม้ในมุมมองของผู้ทำงานด้านภาพจะเห็นว่ามันสวยงาม แต่มุมมองของชาวบ้านกลับเป็นแสงแห่งการทำลายล้าง หรืออย่างยานอวกาศลำนี้ก็เกิดขึ้นจากการเข้าไปทำงานร่วมกันกับชาวบ้านนาบัว ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ผสมผสานกับความฝันที่อยากจะทำหนังที่มียานอวกาศมานานแล้วของเจ้ย 

เขามองว่าหมู่บ้านนาบัวเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสำหรับเป็นจุดจอดยาน เพราะทั้งจากปัญหาทางสภาพอากาศที่ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้เท่าที่ควร และปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นด้วยความขัดแย้ง ยานอวกาศจึงเป็นยานพาหนะที่เหมาะที่สุดที่จะใช้หนีออกไปจากที่นี่ โดยรูปแบบของยานอวกาศลำนี้ร่างขึ้นโดยวัยรุ่นคนหนึ่งในหมู่บ้าน ตัวโครงยานทำจากเหล็กเชื่อมอย่างดี ฝีมือของพวกพ่อๆ ร่วมมือกันทำจนได้ยานอวกาศขนาดใหญ่พอจะจุคนเกือบสิบคนเข้าไปอยู่ข้างในได้ 



ยังมีเวลามากพอ ก่อนจะถึงเวลาจัดแสดงนิทรรศการภาพติดตา เราเลยเดินลัดเลาะไปชมนิทรรศการที่ตั้งแสดงอยู่บริเวณส่วนนอกอาคาร 

ลานทางเดินระหว่างนั้นคือ ลานดารา ลานที่มีการแปะมือและเซ็นลายเซ็นคล้ายๆ กับ Hollywood Walk of Fame หลายๆ ชื่อคือนักแสดงรุ่นเดอะที่เราเองไม่คุ้นเคย แต่คิดว่าถ้าพ่อแม่มาคงกรี๊ดกันสลบ พากันย้อนความหลังถึงภาพยนตร์ที่ตัวเองเคยดูในวัยเยาว์ เพราะแค่เราเจอรายชื่อนักแสดงอย่าง โฟกัส จีระกุล และชาลี ไตรรัตน์ น้อยหน่าและเจี๊ยบจากแฟนฉัน ก็ทำเอาความทรงจำถึงหนังเรื่องนั้นพรั่งพรูเช่นเดียวกัน



เมื่อเดินไปสุดทางจะเจอกับเวิ้งตึกที่สร้างอย่างสวยงาม เอาใจคนรักการถ่ายรูป เวิ้งตึกเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นอาคารจำลองที่บอกเล่าเรื่องราวและวิวัฒนาการเกี่ยวกับภาพยนตร์ ด้านซ้ายมือคืออาคารสีเหลืองแปร๋นซึ่งจำลองมาจากโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ของพี่น้องสกุล วสุวัต ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2478 กลางทุ่งบางกะปิ หรือต่อมาคือบริเวณปากซอยอโศก ถนนสุขุมวิท 

โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการผลิตและพัฒนาภาพยนตร์เสียงของชาติในช่วงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สามารถผลิตภาพยนตร์เสียงเรื่องยาวปีละราว 3-4 เรื่อง จนได้ชื่อว่าเป็นฮอลลีวูดแห่งสยาม เมื่อหลังสงครามจบ ก็เปลี่ยนเป็นโรงฉายภาพยนตร์ชื่อ ศาลาศรีกรุง พร้อมยกเลิกกิจการและถูกรื้อไปเมื่อปี 2509 ปัจจุบันคือบริเวณลานจอดรถของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสุขุมวิท



ถัดไปทางด้านบริเวณขวามือคือ ร้านหนังตู้ คิเนโตสโคป ที่มีคนซื้อสิ่งประดิษฐ์สำหรับชมภาพยนตร์ของ โทมัส อัลวาเอดิสัน มาเปิดให้บริการที่ถนนบรอดเวย์

เมื่อผลักประตูเข้าไปจะเจอกับคิเนโตสโคปวางเรียงรายให้ทุกคนเข้ามาดูหนังกันที่นี่ แต่ละตู้จะมีฟิล์มภาพยนตร์ประจำไว้ โดยต้องหยอดเหรียญก่อน เมื่อก้มลงดูตรงช่องส่องจึงจะสามารถดูวิดีโอนั้นได้ และความยาวของหนังอยู่ที่เรื่องละประมาณ 1 นาที

ร้านหนังตู้แบบนี้ได้รับความนิยมจากชาวเมืองเป็นอย่างมาก มีการขยายกิจการไปสู่เมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ก่อนจะซบเซาไปเพราะเจอการฉายขึ้นจอเข้ามาแทรกแซง



ฝั่งตรงข้ามคือโรงหนังตังค์แดง หรือนิเกิลโลเดียน (Nickelodeon) โรงหนังถาวรโรงแรกของโลก ฉายครั้งแรกในปี 2448 ที่เมืองพิทท์สเบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา (โรงหนังญี่ปุ่น แถวเวิ้งวัดตึก โรงหนังถาวรโรงแรกของสยามก็เกิดขึ้นในปีเดียวกัน)

ชื่อนิเกิลโลเดียนนี้เป็นภาษากรีก แปลว่า โรงมหรสพ เป็นชื่อที่ผู้คนเรียกกันโดยทั่วไป เกิดจากการนำห้องแถวมาดัดแปลงใหม่เพื่อจัดแสดงละคร ดนตรี หรือการแสดงเบ็ดเตล็ด และจัดเก็บค่าชมเพียง 1 นิเกิล หรือ 5 เซนต์ เปิดภาพยนตร์วนไปเรื่อยๆ วันละหลายๆ รอบ ทำให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าชมตอนไหนก็ได้ 

จากที่แต่ก่อนภาพยนตร์จะเป็นเรื่องสั้นๆ ราว 1 นาที และจัดฉายในโรงหนังตู้แบบที่เราเห็นมาแล้ว ทำให้ไม่มีใครคิดว่าจะต้องมีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้น แต่ผิดคาดเพราะหลังจากนั้นภาพยนตร์ก็กลายเป็นความบันเทิงที่ทุกคนหลงใหล เกิดเป็นโรงหนังนิเกิลโลเดียนกระจายทั่วสหรัฐฯ และยุโรป 



และเมื่อจะเดินกลับเข้าไปในตัวอาคาร สายตาเราก็ป๊ะเข้ากับขบวนรถไฟที่ชื่อว่า ‘รถไฟสายภาพยนตร์’ ซึ่งมีต้นสายปลายเหตุมาจากว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการจัดตั้งกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าวขึ้นมา ทำหน้าที่เป็นศูนย์ผลิตหนังแห่งชาติ และนำใส่รถไฟไปฉายให้ราษฎรในหัวเมืองดู หน่วยงานราชการนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่ทันสมัยที่สุดในยุคหนึ่ง 



และในที่สุดก็ถึงเวลาเข้าชมนิทรรศการภาพค้างติดตา นิทรรศการที่บอกเล่าถึงกระบวนการทำแอนิเมชันและภาพยนตร์ให้เด็กๆ เข้าใจได้โดยง่าย โดยภายในจะอธิบายถึงการจดบันทึกและบอกเล่าเรื่องราวในสมัยเก่า วิวัฒนาการก่อนจะเกิดภาพยนตร์ และเหตุผลว่าทำไมเราจึงเห็นภาพม้าขยับเคลื่อนไหวได้ ทั้งๆ ที่เมื่อดูภาพนิ่งแล้วพบว่าม้าตัวนั้นแค่ยกขาสลับไปมาเท่านั้น 



เข้าไปแล้วทำให้เรารู้สึกเหมือนได้เจอกับโลกใหม่ ภายในจำลองบรรยากาศยุคถ้ำมาให้เราเข้าไปสำรวจ เมื่อเดินมาถึงห้องโถงของถ้ำ ตัวละครที่ชื่อพี่ติ๊ดตาก็ให้เรานั่งพักพร้อมเล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษให้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า คุณปู่ของพี่ติ๊ดตา เป็นมนุษย์ถ้ำ ครั้งหนึ่งขณะออกล่าสัตว์ก็เจอกับหมูป่าตัวหนึ่งที่วิ่งเร็วจี๋ คุณปู่เลยวาดเหตุการณ์ที่ตัวเองล่าสัตว์ได้สำเร็จลงบนผนังถ้ำ

ส่วนแรกนี้นอกจากจะบอกเล่าว่าเมื่อก่อนมนุษย์เราเล่าเรื่องราวผ่านภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ ยังมีความพิเศษอยู่อย่างคือ เมื่อพี่ติ๊ดตาเล่าจบ ก็บอกให้ฟังว่าตัวเองมีความฝันอยากจะเห็นภาพเหล่านั้นเคลื่อนไหวได้ ทันใดนั้นภาพเขียนโบราณที่เราเห็นไปก่อนหน้าก็วิ่งได้จริงๆ!



และเมื่อเดินต่อไปยังห้องถัดไป เราก็เข้าสู่ยุคที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านการใช้หนังสัตว์มาฉลุ แล้วเล่นกับเงา การละเล่นที่ว่านี้คือประวัติศาสตร์ของหนังตะลุงนั่นเอง ในส่วนนี้เด็กๆ ที่เข้ามาชมนิทรรศการสามารถมีส่วนร่วม นำกระดาษที่ฉลุลายมาเล่นกับเงาได้ด้วย 

ถัดไปเพียง 5 ก้าว ก็ถึงห้องรวมอุปกรณ์ทำให้เกิดภาพติดตา ตรงตามชื่อนิทรรศการ ภายในมีสิ่งประดิษฐ์ทั้งโซโทรป ทอมาโทรป ปราริโนสโคป ฟลิบบุ๊ก และ ฟินาคิสติโกป ให้ลองหมุนและพลิกเล่น 



แต่ถ้ายังไม่จุใจก็ชวนเดินผ่านอุโมงค์ดวงตาไปที่ห้องลองเล่น ห้องนี้จะมีเรือขนาดใหญ่ให้เราขึ้นไปดูผลสุดท้ายของภาพติดตา เมื่อกดปุ่มให้เรือทำงาน จากภาพม้าที่วิ่งอยู่ช้าๆ ก็จะค่อยๆ วิ่งอย่างรวดเร็ว และเมื่อห้องเริ่มมืดลงพร้อมมีแสงไฟยิงมาหา ตัวการ์ตูนในตู้ตรงหน้าก็จะค่อยๆ สั่น พร้อมขยับกระดุกกระดิกเหมือนกำลังเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว 

จุดนี้ยังมีจักรยานให้ลองปั่นเพื่อให้ภาพตรงหน้าเคลื่อนไหว และตู้เกมทำแอนิเมชันแบบง่ายๆ ด้วย

เท่าที่สังเกตคือเด็กๆ สนุกกันมากไม่ไหว จนทำเอาเรานึกอิจฉาในใจที่ได้มาพิพิธภัณฑ์ที่เสริมการเรียนรู้อย่างนี้ตั้งแต่เด็กๆ – แต่ไม่เป็นไร วันนี้ผู้ใหญ่อย่างเราก็สนุกสุดๆ ไม่แพ้กัน 

ที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไม่ได้มีแค่นิทรรศการถาวรและชั่วคราวแบบนี้ แต่ยังมีห้องสมุดสำหรับศึกษาค้นคว้าด้วย ภายในมีทั้งวิทยานิพนธ์ หนังสือความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ทั้งไทยและเทศ นิตยสาร ไปจนถึงนวนิยายที่ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ และคอมพิวเตอร์ที่ภายในมีหนังที่หอภาพยนตร์รวบรวมไว้คอยบริการด้วย

ใครมีโอกาสแวะมาได้นะ เปิดบริการทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00-17.00 น. 



Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat