Humberger Menu

Monday ใจฟู – 3 หนังสือวัยเด็กดีต่อใจ : แฮร์รี่ พอตเตอร์-เจ้าชายน้อย-โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Everyday Life

Live & Learn

Culture

9 ต.ค. 65

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ‘Monday Blues’ หรือความรู้สึกหน่ายเหนื่อยในวันจันทร์เป็นเรื่องกวนใจใครหลายคน ในทุกวันจันทร์ เราจึงจะขอเสนอ ‘Monday ใจฟู’ 3 สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่คัดสรรมาช่วยกอบกู้อารมณ์บลูๆ ของคุณ
  • โดยสัปดาห์นี้ 3 สิ่งใจฟู คือหนังสือในวัยเด็กอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ จักรวาลเวทมนตร์ที่เรารัก, เจ้าชายน้อย หนังสือที่ทำให้เราทบทวนความเป็นเด็กที่อยู่ข้างใน และโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง กับความทรงจำที่ทำให้เชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์

...


ในบรรดาสิ่งของมากมายที่ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นจากวันเวลาแย่ๆ ‘หนังสือ’ เป็นสิ่งทรงพลังที่สามารถช่วยให้เราทั้งหลบหลีก ผ่อนคลาย และยังอาจมอบบทเรียนให้เราได้ไปพร้อมกัน หนังสือเพียงเล่มเล็กๆ ที่อยู่ในมืออาจพาเราเดินทางไปยังโลกกว้างไกลและโลกจินตนาการอันไม่รู้จบ

ในช่วงใกล้สัปดาห์หนังสือเช่นนี้ คอลัมน์ Monday ใจฟู ที่มักจะคัดสรรสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มากอบกู้วันจันทร์หม่นๆ ของคุณ จึงขอเสนอหนังสือในวัยเด็ก 3 เล่ม ได้แก่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ จักรวาลเวทมนตร์ที่เรารัก, เจ้าชายน้อย หนังสือที่ทำให้เราทบทวนความเป็นเด็กที่อยู่ข้างใน และโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง กับความทรงจำที่ทำให้เชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์


 


1. แฮร์รี่ พอตเตอร์ : โลกเวทมนตร์ที่เป็นเหมือนธนาคารแห่งความเยาว์วัย ให้เราตักตวงพลังงานดีๆ กลับไปเสมอ

ในยามที่เรารู้สึกว่าโลกความเป็นจริงมันช่างเหนื่อยยาก เต็มไปด้วยความรับผิดชอบที่ยากจะวางลง และปัญหายุ่งเหยิงที่เราต้องใช้พลังจัดการ บางครั้งการได้หลบหลีกไปยังโลกที่ทำให้เรามีชีวิตชีวา ทิ้งความจริงอันสาหัส แล้วปล่อยหัวใจเพลิดเพลินไปกับจินตนาการสักพัก ก็เป็นหนทางพักผ่อนและเยียวยาพลังใจได้ดีอย่าบอกใคร

และในบรรดาโลกในจินตนาการที่เราจะเลือกหลบหลีกไปได้ คงต้องยกให้โลกเวทมนตร์ของจักรวาลหนังสือ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ เป็นโลกใบโปรดของใครหลายๆ คนทั่วโลก 

แฮร์รี่ พอตเตอร์ ตีพิมพ์ฉบับแปลภาษาไทยครั้งแรกในปี 2540 เมื่อนั้นเด็กชายผู้มีแผลเป็นรูปสายฟ้าและก๊วนเพื่อนอันน่ารักของเขาก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตใครหลายคน แฮร์รี่ พอตเตอร์ เด็กชายธรรมดาคนหนึ่งถูกเลี้ยงดูโดยญาติผู้ใจร้ายที่เป็นมักเกิล (หรือมนุษย์ธรรมดา) มาจนโต โดยไม่รู้ว่าตัวเขานั้นมีสายเลือดพ่อมดแม่มด กระทั่งได้รับจดหมายเชิญให้เข้าเรียนที่โรงเรียนเวทมนตร์นามว่า ฮอกวอตส์ 

และเมื่อนั้นประตูของโลกเวทมนตร์ก็ถูกเปิดให้เราได้ไปลิ้มรส ผู้อ่านค่อยๆ ก้าวเท้าเข้าสู่โลกใบใหม่พร้อมกับแฮร์รี่ โดยไม่ล่วงรู้ว่าอีกหลายปีข้างหน้า ในหนังสือภาคต่อๆ มา ความตื่นเต้นและจรรโลงใจจะแปรเปลี่ยนเป็นการผจญภัยและการต่อสู้ ที่สะท้อนให้เราเห็นในมิตรภาพอันงดงาม – เราหลายคนคงไม่ล่วงรู้เลยว่า มันจะกลายเป็นหนังสือแห่งเยาว์วัยของเราไปตลอดกาล

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี แต่หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ยังทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นเป็นเด็กๆ ในทุกครั้งที่เขาเดินเข้าตรอกไดแอกอน ในยามที่เขาเลือกไม้กายสิทธิ์ในร้านโอลลิแวนเดอร์ ยามที่พวกเขาป้ำๆ เป๋อๆ กับการเสกคาถาลอยได้ หรือเมื่อเกมการแข่งควิดดิชเริ่มต้นขึ้น และโลกใบนี้จะเปิดประตูต้อนรับเราเสมอ ไม่ว่าชีวิตจะไปเจอกับอะไร ราวกับมันเป็นธนาคารแห่งความเยาว์วัย ที่เราเดินเข้าไปหยิบยืมพลังงานดีๆ กลับมาได้เสมอ

 


2. เจ้าชายน้อย : ทบทวนประกายแห่งจินตนาการ ที่วัยผู้ใหญ่อาจทำให้เราหลงลืม

หากการเติบโตจะทำให้เราหลงลืมบางเรื่องราวไปทีละเล็กละน้อย เรื่องราวของเด็กหนุ่มผมสีทองจากดาว B612 ในวรรณกรรมคลาสสิกตลอดการ ‘เจ้าชายน้อย’ คงเป็นหนึ่งเรื่องที่เราไม่อยากลืม

เจ้าชายน้อย คือวรรณกรรมจากปลายปากกาของนักเขียนชาวฝรั่งเศส อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1943 เนื้อเรื่องบอกเล่าการพบกันของผู้เขียน กับเจ้าชายตัวน้อยที่มาจากดาวอื่น แต่การมาของเขานั้นก็เต็มไปด้วยเรื่องราว และช่วยกระตุกใจให้เราได้ทบทวนหลายๆ อย่างที่อาจทำหล่นหายไปในชีวิต 

"เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา" คือหนึ่งประโยคจากเจ้าชายน้อยที่ทำงานกับความรู้สึกของใครหลายคน และเป็นประเด็นที่เป็นหัวใจหลักอย่างหนึ่งของเรื่อง โดยผู้เขียนกล่าวถึงภาพๆ หนึ่ง ที่ในสายตาของผู้ใหญ่หลายคน มันก็เป็นเพียงหมวกธรรมดาๆ แต่หากเราถอดสายตาของผู้ใหญ่ออกไป เราอาจมองเห็นภาพงูที่กำลังย่อยช้างตัวหนึ่งอยู่ก็ได้ และด้วยสถานการณ์ง่ายๆ เท่านี้ มันกลับทำให้เราตระหนักถึงประกายแห่งจินตนาการที่เคยมีอยู่ในตัวของเราทุกคน แต่อาจเลือนลางไปตามกาลเวลาและการเติบโต

ในยามที่ทุกย่างก้าวของชีวิตทำให้เราหลงลืมตัวเราเองในเวอร์ชันที่มีชีวิตชีวา มีจินตนาการ และมีหัวใจอันเปี่ยมไปด้วยความรัก หนังสือเล่มเล็กๆ อย่างเจ้าชายน้อยอาจมีบทบาทกับหัวใจเราอย่างประเมินค่าไม่ได้ ภาพและข้อความง่ายๆ ในหนังสือจะสัมผัสและสั่นสะเทือนหัวใจของเราได้มากกว่าหนังสือเล่มไหนๆ

 


3. โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง : ภาพความทรงจำที่ทำให้เรา (ยัง) เชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์

ในวันที่การงานของสัปดาห์ใหม่กองพะเนินท่วมหัว และข่าวสารบ้านเมืองก็มีแต่ตอกย้ำให้เราเครียดจิตตกจนแทบไม่มีกะจิตกะใจจะทำงาน โดยเฉพาะกับข่าวร้ายๆ ที่ทำให้เราแทบจะหมดความเชื่อมั่นในความดีงามของมนุษย์ร่วมสังคม หนังสือจากวัยเด็กบางเล่มก็อาจจะพอช่วยเยียวยา ชุบชูใจ หรือทำให้เราผ่อนคลายกับชีวิตขึ้นมาได้บ้าง 

โดยเฉพาะ ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ ที่เป็นบันทึกความทรงจำจากวัยเด็กของ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ (แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิต สำนักพิมพ์ผีเสื้อ) ที่เรากำลังจะแนะนำให้อ่านกันต่อไปนี้

เนื้อหาในเล่มก็ตรงตามชื่อของหนังสือ เพราะมันเล่าถึงชีวิตของ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงวัยหกขวบในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง (หรือก็คือคุณเท็ตสึโกะในวัยเด็ก) ที่แม้โลกจะเต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงสำหรับผู้ใหญ่ แต่เด็กอย่างเธอก็ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ และมุมมองอันสดใสไร้เดียงสาที่มีต่อโลก จนเกิดกลายเป็นพฤติกรรมแสนเอ็นดู ที่ช่วยเสริมพลังบวกได้อย่างน่าอบอุ่นใจ ผ่านการสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และคราบน้ำตา ให้แก่ผู้คนรอบข้างในชีวิตประจำวันของโต๊ะโตะจัง โดยที่เธอเองก็ไม่รู้ตัว 

นอกจากตัวตนอันแสนน่ารักน่าหยิกของเด็กสาวเจ้าของเรื่องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านหลายคนประทับใจก็คือ ฉากหลังอย่าง ‘โรงเรียนโทโมเอ’ ที่เกิดจากการดัดแปลงตู้รถไฟให้กลายมาเป็น ‘ห้องเรียน’ ที่ไม่เหมือนใครของ ครูใหญ่โคบายาชิ ที่บอกสอนเด็กๆ ให้เข้าใจความเป็นไปของโลกและชีวิต ด้วยกุศโลบายที่แยบยล ผ่านมื้ออาหารกลางวัน, กิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ และตารางสอนที่เน้นวิชา ‘การใช้ชีวิต’ มากกว่าวิชาท่องจำ ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนมีส่วนหล่อหลอมให้โต๊ะโตะจังเติบใหญ่มาเป็นคนที่รู้จักเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือผู้อื่น มากกว่าจ้องแต่จะตัดสินกันอย่างฉาบฉวย หรือเอารัดเอาเปรียบกันอย่างไร้หัวใจ แบบผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในโลกยุคหลังสงคราม ที่คิดถึงแต่การพยายามเอาตัวรอดแบบ ‘ตัวใครตัวมัน’

– จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังสือซึ่งถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี 1981 อย่าง ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ จะถูกนำไปแปลเพื่อตีพิมพ์ในอีกหลายภาษา และกลายเป็นหนังสือขายดีทั่วโลก

แต่เหนืออื่นใด เรื่องเล่าเก่าเก็บในหนังสือเล่มนี้ ก็ยังคล้ายกับเป็น ‘ภาพความทรงจำดีๆ’ ในประวัติศาสตร์ ที่อาจทำให้เราหวนกลับมามองให้เห็นถึงความดีงามในตัวมนุษย์ร่วมโลกได้อีกครั้ง และพร้อมจะลุกขึ้นมาสู้กับงานเพื่อตัวเราเองและคนรอบข้างต่อไป



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

Weekend Alive ให้ภาพยนตร์-เพลง-หนังสือเหล่านี้ช่วยฟื้นชีวิตชีวา เพราะสัปดาห์นี้หายใจช้าๆ ได้ก็เก่งแล้ว

20 Years of ‘Never Let Me Go’ หนังสือดิสโทเปียอายุ 20 ปี ที่ประเด็นยังสดใหม่แม้ในปัจจุบัน

โลกหนังสือและวรรณกรรมที่ประกอบสร้าง ‘เน PERSES’ ไอดอลผู้เป็นเจ้าของคลังหนังสือออนไลน์ชื่อ #ณรัณอ่าน

โลกมันไม่ง่าย แต่เราเติบโตได้ด้วยความเข้าใจ รวม ‘หนังสือเด็ก’ ที่ ‘ผู้ใหญ่’ จะอ่านโลกใบนี้ให้พวกเขาฟัง

The Writers' Desks : 6 เรื่องเล่า ‘6 โต๊ะเขียนหนังสือ’ ของ 6 นักเขียนไทย

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat