Humberger Menu

เพราะ 'หลากหลาย' จึง 'งดงาม' คุยกับ Ping Hatta ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลัง Bangkok Pride 2023

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Everyday Life

Travel

Interview

8 มิ.ย. 66

creator
วรรณวรา สุทธิศักดิ์

BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • งาน Bangkok Pride 2023 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้งานครั้งนี้ได้รับความสนใจคือภาพ Key Visual (ภาพการสื่อสารหลักที่นำมาสื่อสารในงานออกแบบของแคมเปญ) หลักของการจัดงานที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไปของกลุ่ม LGBTQ+ ในไทยได้อย่างชัดเจน หลากหลาย และเข้าถึงง่าย ผ่านลายเส้น และสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินหญิงชาวไทย อย่าง ปิ๊ง-เปี่ยมรัก หัตถกิจโกศล หรือ Ping Hatta (ปิ๊ง หัตถะ)
  • ผลงานของเธอที่ได้ร่วมงานกับกลุ่มนฤมิตไพรด์ในครั้งนี้จึงตั้งใจสื่อสารออกมาให้เห็นถึงความสวยงามที่หลากหลายของเพศสภาพที่ต่าง แต่สามารถสะท้อนออกมาในรูปแบบที่มีความหลากหลายได้อย่างงดงาม
  • นอกไปจากผลงานที่ได้ร่วมงานกับกลุ่มนฤมิตไพรด์ ปิ๊งยังสื่อสารอัตลักษณ์ทางเพศที่มีความหลากหลายออกมาในงานส่วนตัวของเธอเอง และได้ร่วมงานกับแบรนด์และองค์กรต่างๆ ซึ่งผลงานที่เธอมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นั้นล้วนสื่อสารในมุมมองของเพศสภาพที่มีความหลากหลาย งดงาม และเป็นการอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ

...


เดือนมิถุนายนของทุกปี มีวาระสำคัญและการเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Pride Month ซึ่งมีกิจกรรมและงานเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศของกลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยได้มีการจัดกิจกรรม Bangkok Pride 2023 ไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มนฤมิตไพรด์ เครือข่าย และองค์กรต่างๆ ที่พร้อมใจปลุกปั้นเพื่อเป้าหมายการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับความสนใจจากกลุ่มที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก 



การจัดงานในครั้งนี้นอกเหนือจากการนำเสนอ และถ่ายทอดแนวคิดการรณรงค์ผ่านขบวนพาเหรดที่แฝงไว้ซึ่งสัญลักษณ์ของการขับเคลื่อนความเป็นไปของกลุ่ม LGBTQ+ ในประเทศไทย ตั้งแต่ภาพของอัตลักษณ์ของกลุ่มไปจนถึงภาพใหญ่อย่างการรณรงค์ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อคืนสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพให้กับ Sex Worker รวมไปถึงการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฯลฯ นอกไปจากนั้นสิ่งที่ทำให้งานครั้งนี้ได้รับความสนใจคือภาพ Key Visual (ภาพการสื่อสารหลักที่นำมาสื่อสารในงานออกแบบของแคมเปญ) หลักของการจัดงานที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไปของกลุ่ม LGBTQ+ ในไทยได้อย่างชัดเจน หลากหลาย และเข้าถึงง่าย ผ่านลายเส้น และสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินหญิงชาวไทย อย่าง ปิ๊ง-เปี่ยมรัก หัตถกิจโกศล หรือ Ping Hatta (ปิ๊ง หัตถะ)



ปิ๊ง เปี่ยมรัก เป็นนักวาดภาพประกอบ ศิลปิน นักออกแบบ ที่ฝากผลงานให้กับแบรนด์และสื่อชื่อดังทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ Nike, Sephora, Joe Malone London, Gucci Beauty, HARNN, Vogue Japan, Harper’s Baazaar Japan ฯลฯ ด้วยลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปร่างและท่วงท่าของความเป็นหญิงในหลากหลายอิริยาบถทั้งยังสื่อสารความเป็นไปของอารมณ์ ความรู้สึกและจิตวิญญาณ จึงนำเสนอออกมาเป็นผลงานที่มีสีสัน สดใหม่ และน่าดึงดูดใจ

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 เดือนก่อน ศิลปินสาวได้รับการติดต่อจากกลุ่มนฤมิตไพรด์เพื่อสร้างสรรค์ Key Visual หลักของงาน Bangkok Pride 2023 นับเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกที่เธอเองยินดีเป็นอย่างมาก



“สองเดือนก่อน Bangkok Pride โดยนฤมิตไพรด์ได้ติดต่อปิ๊งผ่าน Instagram มาค่ะ ก็รู้สึกดีใจ ตื่นเต้น แล้วก็เป็นเกียรติมากๆ ที่ได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันกับนฤมิตไพรด์ และได้เป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศในครั้งนี้ค่ะ”

เมื่อเอ่ยถามถึงแนวความคิดและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ เธอบอกเล่าถึงโจทย์หลัก และสิ่งที่ต้องการสื่อสารผ่านผลงานของเธอว่า…

“ปิ๊งอยากนำเสนอ ความ Expressive (การแสดงออก), Joy (ความสนุกสนาน), Celebration (การเฉลิมฉลอง) และความงามในความต่าง (Beauty in Diversity) ค่ะ ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ หรือเชื้อชาติใดก็ตาม โดยที่ตัวคาแรกเตอร์แต่ละตัวมีเรื่องราวที่คนดูสามารถเชื่อมต่อถึงได้ค่ะ”


ผลงาน Key Visual ของ Ping Hatta สำหรับงาน Bangkok Pride 2023


ผลงานของเธอที่ได้ร่วมงานกับกลุ่มนฤมิตไพรด์ในครั้งนี้จึงตั้งใจสื่อสารออกมาให้เห็นถึงความสวยงามที่หลากหลายของเพศสภาพที่ต่าง แต่สามารถสะท้อนออกมาในรูปแบบที่มีความหลากหลายได้อย่างงดงาม อาทิ Drag Queen (กลุ่มคนที่มีร่างกายเป็นชายแต่สามารถแต่งตัวแปลงร่างให้เป็นผู้หญิงได้ทั้งเนื้อตัว เสื้อผ้า และอากัปกิริยา) ผิวสีในชุดคาบาเรต์สีรุ้ง หรือแม้แต่ผู้พิการที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายก็สามารถสื่อสารตัวตนที่แท้จริง ในเพศสภาพที่ตนเองเลือกได้ และสำหรับเธอเองนั้นคำว่าศิลปะและเพศสภาพอันหลากหลายคือความสวยงามในมุมมองเดียวกัน




“ปิ๊งมองว่า ‘Art is meant to be felt’ ไม่ตัดสินว่าสวยหรือไม่สวย ดีหรือไม่ดี ความงามเป็นอะไรที่ปัจเจกมาก ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล เช่นเดียวกันกับเพศสภาพที่มีความหลากหลาย เราไม่ควรไปตัดสินใครจากเพศสภาพ บุคลิก รูปร่างหน้าตา หรือรสนิยมทางเพศค่ะ”


ผลงานส่วนตัวของศิลปิน นำเสนออัตลักษณ์ความงามของเพศหญิงที่ไม่อิง ‘พิมพ์นิยม’


ด้วยอัตลักษณ์ของลายเส้น รูปทรง สีสัน และการนำเสนอภาพลักษณ์ของเพศสภาพที่ไม่ยึดโยงกับภาพจำเดิม อาทิ เพศหญิงที่มีเค้าโครงร่างกายใหญ่ แตกต่างจาก ‘พิมพ์นิยม’ ทำให้งานของเธอมีเอกลักษณ์และความแตกต่างที่มาจากเบื้องหลังคือความต้องการในการสื่อสารเรื่องเพศสภาพในมุมมองที่ต่าง

“ปิ๊งคิดว่ามันไม่ควรจะมีสิ่งที่เรียกว่า “พิมพ์นิยม” เพราะทุกๆ คน ทุกๆ วัย ทุกๆ เพศ มีความงามในแบบฉบับของเขา สไตล์ของปิ๊งในการวาดตัวคาแรกเตอร์ เป็นสัญลักษณ์ของความงามในความแตกต่าง มีทั้งความอ่อนนุ่ม อ่อนโยน (soft) และมีพลัง (strong) และสองสิ่งนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้ในทุกเพศ สำหรับปิ๊ง คำว่าพิมพ์นิยมนั้นเป็นแค่เครื่องมือของทุนนิยม เพื่อที่จะทำให้เราต้องพยายามมี พยายามเป็น พยายามบรรลุ “พิมพ์” นั้น ๆ ที่เป็นมาตรฐานความงามที่แคบมาก ๆ ที่สังคมให้ค่า ปิ๊งคิดว่าสิ่งที่ปิ๊งนำเสนอไปมันคือร่างกายที่แท้จริงมากกว่า คนเข้าถึงและเข้าใจได้มากกว่า พิมพ์นิยม ที่เรามักเห็นกันในสื่อโฆษณาต่าง ๆ ค่ะ” 


ผลงานที่ร่วมงานกับแบรนด์ HARNN เพื่อเฉลิมฉลอง Pride Month ในปี 2022 นำเสนอความหลากหลายทางเพศที่เธอได้พบเห็นเมื่อครั้งอาศัยที่เมือง New York 


นอกไปจากผลงานที่ได้ร่วมงานกับกลุ่มนฤมิตไพรด์ ปิ๊งยังสื่อสารอัตลักษณ์ทางเพศที่มีความหลากหลายออกมาในงานส่วนตัวของเธอเอง และได้ร่วมงานกับแบรนด์และองค์ต่างๆ อาทิ HARNN แบรนด์ผลิตภัณฑ์สกินแคร์สัญชาติไทย, Cheewid แพลตฟอร์มช่วยระดมทุนและอาสาสมัครเพื่อต่อชีวิตองค์กรและสังคมไทย และกลุ่ม IPPF (International Planned Parenthood Federation) องค์กรพัฒนาเอกชนระดับโลกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และสนับสนุนสิทธิของบุคคลในการเลือกวางแผนครอบครอบครัวด้วยตัวเอง ซึ่งผลงานที่เธอมีส่วนในการสร้างสรรค์นั้นล้วนสื่อสารในมุมมองของเพศสภาพที่มีความหลากหลาย งดงาม และการอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ


ผลงานที่ปิ๊งได้ร่วมงานกับองค์กร CHEEWID นำเสนอเรื่องความรักในเพศสภาพที่หลากหลาย

 


อีกหนึ่งผลงานที่ได้ร่วมงานกับองค์กร IPPF โดยนำเสนอความหลากหลายของกลุ่มเยาวชนจากทั่วทุกมุมโลก

 

เมื่อเอ่ยถามถึงมุมมองในฐานะศิลปินกับการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศในเมืองไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่ศิลปินสาวแสดงความกังวล คือ ประเด็นของกำแพงของทัศนคติที่มีส่วนปิดกั้นสิทธิ และความเท่าเทียมทางเพศที่ยังคงปรากฏให้เห็น

“การเปิดรับต่าง ๆ เช่น การ normalize (การทำให้เป็นปกติ) เพศสภาพที่แตกต่างจากแค่หญิง - ชาย การเปิดรับของสื่อ การที่ไทยเป็นประเทศที่ “pride friendly” ดูจะเสรี เป็นเรื่องที่ดี และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีค่ะ และปิ๊งอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปถึงกฎหมายที่คุ้มครองและให้สิทธิมนุษย์ทุกเพศที่เท่าเทียมกันค่ะ เพราะมันยังมีกำแพง และสังคมไทย องค์กรบ้าง การศึกษาบ้าง ที่ยังมีค่านิยมบางอย่างที่ค่อนข้างปิดกั้นโอกาสอยู่ ยังมีแรงต่อต้านอยู่ ซึ่งก็ส่งผลกระทบไปถึงชีวิตประจำวันของเพื่อน ๆ LGBTQ+”

เพราะความงามของเพศสภาพที่มีความหลากหลายคงไม่ต่างจากศิลปะสักหนึ่งชิ้น การไม่จำกัดกรอบของความคิด กรอบของการตัดสิน และการมองให้เห็นภาพใหญ่ที่เราทุกคนควรร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์ให้ภาพของ LGBTQ+ เป็นภาพของสังคมแห่งความแตกต่าง หลากหลายและงดงาม เฉกเช่นเดียวกับผลงานของเธอ


ติดตามผลงานของ Ping Hatta ได้ที่: เว็บไซต์ผลงาน และ อินสตาแกรม



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

มองโลกแบบ ‘Queer’ ในวันที่สมรสเท่าเทียมผ่านและคำย่อแทนอัตลักษณ์ยาวขึ้นเรื่อยๆ กับ ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

Love Pride Parade 2024 ร่วมฉลอง Pride Month ด้วยขบวนพาเหรดสุดยิ่งใหญ่

When the party’s over, Diversity remains. การต่อสู้ยังดำเนินต่อไปหลังการพลิ้วไหวของธงสีรุ้ง

On Earth We're Briefly Gorgeous : ‘เราต่างงดงามแล้วจางหาย’ …ในชีวิตที่เราต่างทยอยวิ่งลงเหว

คู่เพื่อนซี้ ‘ชายแท้’ และ LGBTQ+ มิตรภาพที่บอกว่าเราเดินไปด้วยกันได้ในเส้นทางสู่ความเท่าเทียม

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat