โซจูท้องถิ่น 7 แบรนด์ ที่ควรดื่มยามไปเยือนเกาหลีใต้
...
Summary
- ธัญศานักเขียนสายอาหารการกินของไทยรัฐพลัสชวนทุกคนไปเยือนประเทศเกาหลีใต้ ผ่านความเข้มข้นกลมกล่อมของสุราท้องถิ่นขึ้นชื่ออย่าง ‘โซจู’ ถึง 7 แบรนด์ 7 โลเคชัน ที่ต่างบอกเล่าทั้งเสน่ห์ในแต่ละพื้นที่ และรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของสุราประจำชาติชนิดนี้
...
สำหรับชาวเกาหลีใต้แล้ว วัฒนธรรมการกินดื่มหลังเลิกงาน ดูจะห่างไกลจากการเป็นมาตรวัดความมีศีลธรรมของผู้คน โดยไม่ต้องมีวันสำคัญทางศาสนามาเป็นข้อห้าม เพราะเมื่อพ้นเลยวัย 21 ปี เมื่อนับตามอายุแบบเกาหลี ผู้คนทุกชนชั้น ต่างก็พากันดื่มเพื่อปลดปล่อยการใช้ชีวิตอย่างหนักหน่วง ก่อนจะตื่นไปใช้ชีวิตในวันต่อมา
แม้ว่าเกาหลีจะมีสุรามากมายหลากหลายชนิดก็ตาม แต่ที่ได้รับความนิยมที่สุดโดยไม่มีข้อกังขา ก็คงจะไม่พ้น โซจู-เจ้าสุราสีใสบริสุทธิ์ แต่ดีกรีแอลกอฮอล์กลับไม่ธรรมดา ไปเสียได้
โซจู (소주) แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Burned Liquor อันหมายถึงเหล้าที่ร้อนแรงจนแผดเผา ซึ่งก็เหมาะกับดีกรีความร้อนแรงของโซจู ที่พร้อมจะเผาไหม้ความเหนื่อยล้าของผู้คนให้หมดไป จนไม่แปลกใจว่าทำไมเวลาที่เราดูสื่อบันเทิงของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหน พวกเขาก็มักจะมีโซจูเป็นเพื่อนคู่ใจเสมอ
นอกจากนี้ เกาหลีเองก็ยังพยายามทำให้โซจูดูมีภาพลักษณ์ที่ดูสดชื่นและเข้าถึงง่าย โดยมักจะนิยมใช้พรีเซนเตอร์เป็นนักแสดง หรือไอดอลสาวที่กำลังมีชื่อเสียงในช่วงเวลานั้นๆ
แต่กระนั้นก็ตาม แบรนด์ใหญ่ที่ทุ่มทุนใช้คนดังโฆษณา ก็ใช่ว่าจะเป็นเจ้าตลาดอยู่แต่เพียงไม่กี่เจ้า เพราะทางรัฐบาลเกาหลีเองก็ได้ออกกฎหมายบังคับไม่ให้มีผู้ใดผูกขาด เพื่อให้ผู้ผลิตโซจูท้องถิ่นได้มีที่ยืนในตลาดด้วย
ฉันคิดว่าเมื่อไปเยือนเกาหลีก็คงจะพบว่ามีโซจูจากผู้ผลิตท้องถิ่นอีกมากมายให้เลือกหาดื่มกัน แต่วันนี้ฉันได้เลือกเอาโซจูท้องถิ่น 7 แบรนด์ ที่แนะนำโดยคุณ Book Do บล็อกเกอร์ชาวเกาหลีใต้ ซึ่งคิดว่านักท่องเที่ยวชาวไทยอย่างเราเองก็คงจะหาดื่มยามเมื่อไปเยือนได้ไม่ยากจนเกินไปนัก และแต่ละแบรนด์เองต่างก็พยายามงัดจุดเด่นมานำเสนอผู้บริโภคกันอย่างเต็มที่
แม้ว่าโซจูบางยี่ห้อก็อาจจะมีวางจำหน่ายในประเทศไทยอยู่แล้วก็ตาม แต่เมื่อไปถึงถิ่นกำเนิดทั้งที ฉันก็อยากให้ทุกคนได้ลิ้มลองผลิตภัณฑ์อื่นอีกหลายๆ รุ่น ที่ยังไม่มีขายในบ้านเราดูบ้าง ประกอบกับอาหารเกาหลีต้นตำรับ อากาศ และบรรยากาศของบ้านเมือง ก็คงจะทำให้รสชาติของโซจูที่ผ่านลำคอนั้นล้ำลึกขึ้นมาไม่มากก็น้อย
โซล: Jinro Chamisul
เมื่อพูดถึงประเทศเกาหลี ก็คงจะผ่านเมืองหลวงอย่างกรุงโซลไปไม่ได้ และใครหลายคน รวมถึงเราชาวไทยเองก็คงจะคุ้นหน้าคุ้นตากับชามิซอล (Chamisul) จาก จินโร (Jinro) แบรนด์โซจูท้องถิ่นสุดแมสของโซล และถือว่าเป็นแบรนด์ที่มียอดจำหน่ายเป็นอันดับต้นๆ ของเกาหลี
ชามิซอล เป็นโซจูที่ผ่านกระบวนการบ่มด้วยนูรุก (누룩 - หัวเชื้อสำหรับหมักบ่มโซจูที่ทำมาจากข้าวเหนียวและข้าวสาลี) ผสานกับข้าวบาร์เลย์, มันสำปะหลัง และน้ำตาลอ้อย ก่อนจะทำการกลั่นด้วยถ่านไม้ไผ่ ทำให้ได้โซจูที่ใสสะอาด และแม้ว่าดีกรีแอลกอฮอล์จะสูงตั้งแต่ 13% ไปจนถึง 24% แต่ในความร้อนแรงของมัน ก็ส่งผ่านความหวานล้ำลึกจากวัตถุดิบออกมาเช่นกัน
คย็องกี/คังวอน: Lotte Chum Churum
ขยับไปอีกไม่ไกล ที่จังหวัดคย็องกีในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในเกาหลีใต้ และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ รวมไปถึงจังหวัดคังวอนที่อยู่ติดทะเล ซึ่งไม่ไกลจากกรุงโซลมากนัก จึงทำให้มีคนเมืองแวะมาพักผ่อนหย่อนใจกันตลอดทั้งปี
ด้วยความที่อุดมไปด้วยธรรมชาติ จึงทำให้ล็อตเต้ (Lotte) บริษัทผู้ผลิตโซจูรายใหญ่แห่งจังหวัดคย็องกี ได้เลือกให้ความสำคัญกับการเลือกแหล่งน้ำที่ดี จึงถือกำเนิดเป็น ชอม ชอรอม (Chum Churum) โซจูที่ใช้น้ำอัลคาไลน์เป็นวัตถุดิบ ซึ่งผู้ผลิตเองก็ได้ให้เหตุผลว่า นอกจากจะอุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมายแล้ว การใช้น้ำอัลคาไลน์ทำให้โซจูของชอม ชอรอม นั้นหลงเหลืออาการเมาค้างน้อยกว่าโซจูยี่ห้ออื่น แม้ว่าจะมีแอลกอฮอล์สูงตั้งแต่ 16.5% ไปจนถึง 21% ก็ตาม
ชุงช็องใต้: Mackiss O2 Linn
มาที่จังหวัดชุงช็องใต้ หรือเรียกโดยย่อชุงนัม ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกของเกาหลีใต้ เป็นภูมิภาคที่พัฒนาจากพื้นที่เกษตรกรรมไปสู่เขตอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้ชุงนัมกลายเป็นจังหวัดที่ร่ำรวย และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดของเกาหลีใต้ ในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา
และที่ชุงนัมนี้เอง เราก็จะได้พบกับ O2 Linn จากแบรนด์ Mackiss ซึ่งได้ตั้งสมญานามให้กับโซจูของตัวเอง ด้วยความภาคภูมิใจว่าเป็น “Oxygen Soju” เพราะเจ้า O2 Linn เองนั้นมีออกซิเจนถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์โซจูในท้องตลาดทั่วไป
คย็องบุก: Kum Bok Ju Charm
ด้วยคำเตือนที่ว่าการดื่มสุราเกินขนาดมีผลเสียต่อร่างกาย รวมไปถึงระบบประสาทและสมอง ทำให้ คึมบ๊กจู (Kum Bok Ju) ผู้ผลิตโซจูจากจังหวัดคย็องบุก เล็งเห็นถึงปัญหานี้ เกิดเป็น Charm หรือชัม (참) ที่แปลว่าจริงแท้แน่นอนในภาษาเกาหลี โซจูที่เน้นรสหวานดื่มง่าย เพราะประกอบไปด้วยวัตถุดิบของธัญพืชและพืชจำพวกมันต่างๆ เช่น มันหวาน มันฝรั่ง และมันสำปะหลัง แต่ก็ทำให้โซจูของชัมนั้นอุดมไปด้วยกรดอะมิโนแอสพาราจีน (Asparagine) ที่ดีต่อระบบประสาทและสมอง รวมไปสารสื่อประสาทในปริมาณที่สูงมาก จึงช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าในวันต่อมา
นอกจากนี้ โซจูของชัมก็ยังกลั่นด้วยไม้โอ๊ค ให้ได้กลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์
คย็องซังใต้: Good Day
มาถึงจังหวัดคย็องซังใต้ หรือคย็องนัม ซึ่งมีสถานที่สำคัญจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก และก็ยังมีท่าเรือปูซานที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมไม่แพ้จังหวัดอื่น นอกจากนี้ จังหวัดคย็องนัมเองก็ยังขึ้นชื่อเรื่องเป็นแหล่งเพาะปลูกธัญพืชและมันฝรั่งชั้นดี
นอกจากข้อได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบแล้ว Good Day โซจูเจ้าถิ่นเองก็ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการกลั่น โดยใช้ถ่านไม้ไผ่ สลับชั้นกับเซรามิก เพื่อให้ได้โซจูสวยใสปราศจากสีที่ดูสะอาดและบริสุทธิ์ และก็ยังมีการเติมฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (Fructooligosaccharides) ที่เป็นอาหารสำหรับแบคทีเรียดีในลำไส้อย่าง พรีไบโอติก (Prebiotics) จึงมั่นใจได้ว่าเมื่อดื่มโซจูจาก Good Day แล้วจะช่วยลดอาการปั่นป่วนในลำไส้จากการบริโภคแอลกอฮอล์ได้
ช็อลลาใต้: Baeju Yipsaeju
ลงมาถึงจังหวัดทางตอนใต้ แต่ยังไม่ใต้สุดอย่างช็อลลาใต้ ภูมิภาคที่ประกอบไปด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยถึง 2,000 เกาะตลอดทั้งชายฝั่ง และด้วยความที่มีพื้นที่ภูเขาน้อย ประกอบกับอากาศอบอุ่นและฝนตกชุก จึงทำให้จังหวัดช็อลลาใต้กลายเป็นพื้นที่ที่เป็นหัวใจของวัตถุดิบอาหารของเกาหลีใต้แห่งหนึ่ง ซึ่งในแต่ละปี ที่นี่ก็ได้ผลิตผลออกไปมากมาย อาทิ ธัญพืช ผัก และผลไม้ต่างๆ
เช่นเดียวกับจังหวัดคย็องนัมที่มีข้อได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบแล้ว ทางแพจู (Baeju) บริษัทผู้ผลิตอิปแซจู (Yipsaeju) โซจูท้องถิ่นของช็อลลาใต้ ก็ยังสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยใช้เทคโนโลยีในการกลั่นอันล้ำสมัยเข้ามาช่วย เพื่อไม่ให้มีกลิ่นเหมือนกับการกลั่นด้วยถ่านไม้ไผ่ ที่บางคนอาจจะรู้สึกไม่ถูกจริตได้ โซจูของอิปแซจูจึงถือว่าปราศจากทั้งสีและกลิ่น ทิ้งไว้เพียงรสหวานลึกและดีกรีแอลกอฮอล์อันหนักหน่วงเท่านั้น
นอกจากนี้ ทางบริษัทแพจูเองก็ยังเน้นย้ำถึงการเป็นของดีถิ่นช็อลลาใต้ ด้วยการเลือกใช้ ซงกาอิน นักร้องเพลงทร็อต (เพลงลูกทุ่งของเกาหลี) ชื่อดัง ที่มีภูมิลำเนาเป็นชาวช็อลลาใต้ มาเป็นพรีเซนเตอร์แทนไอดอลเคป๊อปอีกด้วย
เกาะเชจู: Hallasan
บนเกาะทางใต้สุดของเกาหลีใต้ ที่อุดมไปด้วยวัตถุดิบอันโอชะ ผู้ผลิตโซจูชื่อดังแห่งเกาะเชจูอย่าง ฮัลลาซาน (Hallasan คือภูเขาฮัลลา ซึ่งเป็นภูเขาไฟชื่อดังประจำเกาะเชจู) จึงให้ความสำคัญกับการทำให้โซจูของพวกเขามีรสชาติเข้ากับอาหารทะเลได้เป็นอย่างดี
โซจูของฮัลลาซาน จึงมุ่งเน้นไปที่การใช้น้ำอัลคาไลน์ที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ต่ำกว่าระดับความลึกท้องทะเลถึง 80 เมตร จึงมีรสสะอาดอร่อย และแร่ธาตุมากเป็นพิเศษ และก็ยังเติมออกซิเจนด้วยกระบวนการทางธรรมชาติ ไม่พึ่งพาสารเคมีใดๆ อีกด้วย
แม้โซจูของฮัลลาซานจะแบ่งเป็นรุ่นต่างๆ ตามหมายเลข แต่ที่เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว เพราะดื่มคู่กับอาหารทะเลและปลาดิบแล้วอร่อยเป็นพิเศษ ก็เห็นจะได้แก่ หมายเลข 3, 17 และ 21 ที่สัมผัสได้ถึงรสอันสะอาด สดชื่น และไม่หวานจนเกินไป
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับโซจู 7 แบรนด์ 7 โลเคชันจากเกาหลีใต้ นี่แค่เพียงโซจูอย่างเดียวเท่านั้น แต่ผู้ผลิตแต่ละท้องที่ต่างก็พยายามแข่งขันและสรรสร้างจุดเด่นกันขนาดนี้แล้ว ส่วนในครั้งถัดไป ฉันจะพาทุกคนไปเยี่ยมชม พร้อมทำความรู้จักและลิ้มรสสุราจากที่ไหนอีกนั้น ได้โปรดรอติดตามกันต่อไป
