Humberger Menu

โครงการ ‘1 ตำบล 1 ดิจิทัล’ งบโดรนการเกษตร 200 ล้านบาท จะคุ้มค่าแค่ไหน

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Everyday Life

Futurism

Science & Tech

15 ธ.ค. 66

creator
ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) โดยเป็นโครงการที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติเมื่อปี 2565 เพื่อนำโดรนไปใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร
  • เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมเปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท จากการใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 200 ล้านบาท
  • หากเมื่อเทียบกับประเทศไทยมีพื้นที่เขตเกษตรกรรมประมาณ 153 ล้านไร่ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และจะเป็นแบบแผนต่อไปว่าการลงทุนในครั้งนี้จะคุ้มค่าในระยะยาวตามแผนของรัฐบาลหรือไม่

...


เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน (drone) เริ่มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา และถูกพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการเกษตรทั่วโลก รวมถึงไทย ที่โดรนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยลดภาระแรงงานมนุษย์

นโยบายการใช้โดรนเพื่อการเกษตรของไทยก็ได้เริ่มแล้วเช่นกัน ในโครงการ ‘1 ตำบล 1 ดิจิทัล’ (ชุมชนโดรนใจ) โดยเป็นโครงการที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ เมื่อปี 2565 ได้อนุมัติโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล เพื่อนำเทคโนโลยีโดรนไปใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร 

โดยเมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมเปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล โดยคาดว่าภายใน 1 ปี จะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศ 50 ศูนย์ ผลักดันให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน คิดเป็นพื้นที่ทางการเกษตรรวมไม่น้อยกว่า 4 ล้านไร่ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท จากการใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 200 ล้านบาท 

หากเมื่อเทียบกับประเทศไทยมีพื้นที่เขตเกษตรกรรมประมาณ 153 ล้านไร่ หรือร้อยละ 47.77 ของพื้นที่ประเทศไทย นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และจะเป็นแบบแผนต่อไปว่าการลงทุนในครั้งนี้จะคุ้มค่าในระยะยาวตามแผนของรัฐบาลหรือไม่ 



โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง?

ในรัฐบาลของ ครม. เศรษฐา 1 ที่มี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าวถึงโครงการนี้ว่า กระทรวงดีอีภายใต้นโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้ มีนโยบายที่จะดำเนินการภายใต้แผนงานหลายอย่าง สิ่งที่สำคัญที่อยากเห็นคือการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ให้เกษตรกรได้มีโอกาสได้เข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อมาพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เป็นสิ่งที่ประเทศไทย และเชื่อว่าทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ประเสริฐ เล่าถึงการเข้ามาทำงานช่วงเริ่มต้นว่ามีแนวคิดคือ ‘The Growth Engine of Thailand’ หรือเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักในการใช้เทคโนโลยี ส่งเสริมเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญอยู่ 3 ด้าน ได้แก่

ด้านที่ 1 เป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน คิดว่าเราต้องสร้างความได้เปรียบให้กับประชาชนในประเทศ เพื่อทำให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันกับที่อื่น

ด้านที่ 2 คือเรื่องการสร้างความมั่นคงและความปลอดภัย (Safety and Security) 

ด้านที่ 3 คือเรื่องการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (human capital) วันนี้บุคลากรทางด้านดิจิทัลยังมีไม่เพียงพอ โครงการเหล่านี้นอกจากจะลดความเหลื่อมล้ำ ยังทำให้ชุมชนซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา มีอาชีพด้านการประกอบเครื่องยนต์หรือช่างยนต์เล็กน้อยในหมู่บ้าน ก็สามารถซ่อมโดรนและสร้างอาชีพขึ้นในชุมชนได้ 


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี


ประเสริฐ กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรในสภาวะที่แรงงานหายาก วันนี้แรงงานที่ไปจ้างพี่น้องเกษตรกรไปหว่านปุ๋ย ฉีดยาปราบศัตรูพืช วันหนึ่งมีไม่น้อยกว่า 500 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาค่าจ้างรายวันตามกฎหมายกำหนด 300 กว่าบาท เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพด้วย และหลายหน่วยงานการเกษตรให้ความสนใจ

“ถ้าจ้างพื้นที่คน 10 คน วันละ 500 รวม 5,000 บาท แต่ถ้าใช้โดรนมาใช้คิดว่าประมาณ 1,000 กว่าบาท เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายมันต่างกันเยอะมาก และถ้าใช้โดรน 1 ไร่ ใช้เวลา 2 นาทีครึ่ง แต่ถ้าคนทำ 1 ไร่ ใช้เวลาประมาณ 10 นาที เพราะฉะนั้นโครงการนี้จะประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วก็ทำในปริมาณมากได้”



ทั้งนี้ ประเสริฐ อธิบายต่อว่า โดรนมีหลายสเปก ผู้ดำเนินโครงการทำมาหลายสเปก เช่น โดรนที่มีขนาดความจุ 10 ลิตร หรือ 17 ลิตร และมีลักษณะการบินที่เวลาเท่าไร เพราะฉะนั้นต้องดูว่าแปลงของเกษตรกรเหมาะกับโดรนชนิดไหน ทั้งนี้ ต้องดูมาตรฐานด้วยว่าที่เหมาะสมเป็นอย่างไร 

“ตอนนี้เราทำโครงการนี้ยังไม่ถึง 2 เดือน ตั้งแต่ผมมาเป็นรัฐมนตรีและให้นโยบายไป เพราะฉะนั้นขอทำไประยะหนึ่ง เราให้มีการลงทะเบียนและขึ้นทะเบียนกับดีป้า หลังจากนั้นเราก็ติดตามผลดำเนินการ และได้รวบรวมสิ่งต่างๆ อะไรที่เป็นข้อดีและจุดที่ต้องแก้ไข”

“ในเรื่องกฎหมาย ที่ต้องมีการขออนุญาตบิน โดยทางดีป้าจะเป็นคนประสานให้ ทั้ง กสทช. สถาบันการบินพลเรือน เรื่องนี้เกษตรกรไม่ต้องทำอะไร เพราะทางดีป้าจะทำให้ทั้งหมด เป็น one stop service”

“เราก็หวังว่าเราลงทุนตรงนี้ไปแล้ว สิ่งที่ได้มาในระบบเศรษฐกิจจะได้มามากกว่านั้น เกิดอาชีพซ่อมโดรนในหมู่บ้าน แล้วเกิดการสร้างรายได้ที่มากขึ้น จัดการรวมตัวของเกษตรกรและการเก็บข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการพยากรณ์อะไรต่างๆ ได้ในอนาคตอีกหลายอย่าง ดีกว่าปล่อยให้ทำแบบไม่มีทิศทาง”



ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า เสริมว่า ชุมชนที่รวมกลุ่มแล้วต้องเรียนการบิน วิธีขึ้นลงมาตรฐานต่างๆ หลังจากนั้นต้องไปสอบใบอนุญาตการบิน หลังจากนั้นจึงสามารถขอรับโดรนในการไปทำเกษตรกรรม 

ส่วนงบประมาณที่ใช้ทั้งหมดโครงการนี้ ทั้งหมด 500 ชุมชน ตกประมาณ 200 ล้านบาท โดยราคาโดรนต่อเครื่องประมาณ 200,000 บาท ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่งบกิจกรรม  แต่เป็นงบเงินอุดหนุนลงไปที่ภาคชุมชนในภาคการเกษตรกับโดรนทั้งหมด และมีศูนย์ซ่อมอีก 50 ศูนย์ ศูนย์ละประมาณ 500,000 บาท ซึ่งชุมชนต้องไปหาเงินสินเชื่อเพื่อเปิดศูนย์ซ่อม และมีศูนย์อนุญาตการบินโดรนกับสถาบันการบินพลเรือน ตั้งเป้าผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยโดรน 1,000 คน และหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร 100 คน



ตลาดโดรนต่างประเทศโตต่อเนื่อง แต่ยังคงมีอุปสรรค

เป็นที่รู้จักกันดีว่านวัตกรรมโดรนเพื่อการเกษตรถูกใช้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศที่มีพื้นที่เกษตรมากที่สุดในโลก เช่น จีน ซึ่งมีประมาณการว่าผู้ผลิตโดรนในเพียงแค่จีนประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ที่จำหน่ายทั่วโลกในปี 2560 โดยคาดว่าประมาณ 13-17 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำไปใช้เพื่อการเกษตร โดยการใช้โดรนเพื่อการเกษตรได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศจีนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 

โดยความสามารถทางการตลาดในอนาคตของอุตสาหกรรมโดรนของจีน ลิ่ว ต้าเชียง (Liu Daxiang) นักวิชาการของสถาบันการศึกษาแห่งชาติด้านวิศวกรรมของสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ขนาดของตลาดคาดว่าจะสูงถึง 96,800 ล้านหยวน (483,007 ล้านบาท) ภายในปี 2566 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อน 3 ประการ ได้แก่ ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี การสนับสนุนนโยบาย และการลงทุนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโดรนของจีนยังประสบปัญหามากมาย เช่น เทคโนโลยีโดรนของจีนยังล้าหลังในแง่ของชิป เซนเซอร์ และวัสดุ ซึ่งยังต้องการการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งการพัฒนาอย่างรวดเร็วของโดรนยังนำมาซึ่งปัญหาสำคัญ เช่น ความล่าช้าด้านกฎระเบียบ มาตรฐาน และระบบการจัดการ



ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา มีตลาดโดรนเพื่อการเกษตรเติบโตขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ประมาณ 347.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (12,204 ล้านบาท) ในปี 2565 และคาดว่าจะเติบโตที่อัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 22.8 เปอร์เซ็นต์ เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2573 ด้วยพื้นที่เกษตรกรรมที่กว้างขวางในประเทศ โดรนจะช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มผลผลิตในภาคเกษตรกรรม

แต่ในช่วงสถานการณ์โควิดก็เกิดผลกระทบใหญ่ ทำให้กระทบการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกต่อตลาดโดรนเพื่อการเกษตร ที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายการผลิตและจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตร ทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดหาส่วนประกอบ การประกอบโดรน และการส่งมอบให้กับลูกค้า ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนและราคาที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรเข้าถึงโดรนได้น้อยลง 

อีกทั้งด้วยมาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้การทดสอบและการสาธิตภาคสนามมีข้อจำกัด นำไปสู่การชะลอตัวในการนำไปใช้และการเจาะตลาด การระบาดใหญ่ส่งผลกระทบในทางลบต่อรายได้ของเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรต้องชะลอแผนการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ 

นอกจากนี้ ในบางประเทศมีข้อจำกัดอื่นๆ ในการใช้โดรนเพื่อการเกษตร เช่น ในประเทศญี่ปุ่น ที่แม้มีจำนวนโดรนเพื่อการเกษตรที่ใช้เพิ่มขึ้น แต่ด้วยระบบกฎหมายที่ล้าสมัย ทำให้เกษตรกรยังต้องขออนุมัติการบินจากทางการด้วยระบบที่ซับซ้อน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตรที่ทันสมัย

เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทย อาจเรียกได้ว่า โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล เป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ในการใช้โดรนเพื่อการเกษตร ที่อาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เป็นอีกสิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงและหาแนวทางแก้ไขในอนาคต 


เกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ 

เกษตรกรและชุมชนที่สนใจ รวมถึงประชาชนทั่วไป สามารถติดตามข่าวสารและศึกษารายละเอียดโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) ได้ที่ depa Thailand หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ 0851251340 และ 0825166224




Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat