แค่เลียไอติมก็ผิด? ทำไมผู้หญิงเลียไอติมถึงมักกลายเป็นเรื่อง 18+
...
Summary
- ช่วงอากาศร้อนแรงจนแทบละลายในฤดูร้อน ‘ไอศกรีม’ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ไอติม’ มักเป็นสิ่งแรกๆ ที่คนนึกถึง ด้วยความหวานเย็น รวมถึงสีสันสดใส ทำให้ขนมชิ้นนี้เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ ไปจนถึงผู้ใหญ่
- ท่ามกลางความร้อนอบอ้าว การค่อยๆ เลียไอติมให้ละลายไปช้าๆ และลิ้มรสความหวานได้นานขึ้นถือเป็นความสุขในวัยเด็กที่น่าคิดถึง แต่หลายครั้งเราอาจพบว่าเมื่อเป็นเด็กผู้หญิงเลียไอติม หลายคนจะถูกเตือนว่า “อย่าเลียไอติม มันดูไม่ดี” เสียอย่างนั้น
- การเชื่อฟังผู้ใหญ่ไว้ก่อนอาจไม่เคยทำให้เด็กๆ ฉุกคิดว่า ทำไมถึงห้ามเลียไอติม มันจะทำให้ดูไม่ดีอย่างไร? แต่เมื่อเติบโตขึ้นมาแล้ว เราจะพบว่าการเลียไอติมมักถูกโยงกับเรื่องเพศและเรื่อง 18+ อยู่เสมอ และยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกด้วย
...
ช่วงอากาศร้อนแรงจนแทบละลายในฤดูร้อน ‘ไอศกรีม’ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ไอติม’ มักเป็นสิ่งแรกๆ ที่คนนึกถึง ด้วยความหวานเย็น รวมถึงสีสันสดใส ทำให้ขนมชิ้นนี้เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ ไปจนถึงผู้ใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นไอติมแท่ง โคน ใส่ถ้วย หรือขนมปัง ทุกคนก็สามารถเลือกตามความชอบของตัวเอง ยิ่งสำหรับเด็กๆ ต้องขอยกให้ไอติมแท่งเป็นอันดับ 1 ในใจ เพราะราคาที่ไม่แพง เด็กๆ จึงสามารถซื้อด้วยเงินค่าขนมของตัวเองได้
ท่ามกลางความร้อนอบอ้าว การค่อยๆ เลียไอติมให้ละลายไปช้าๆ และลิ้มรสความหวานได้นานขึ้นถือเป็นความสุขในวัยเด็กที่น่าคิดถึง แต่หลายครั้งเราอาจพบว่าเมื่อเป็นเด็กผู้หญิงเลียไอติม หลายคนจะถูกเตือนว่า “อย่าเลียไอติม มันดูไม่ดี” เสียอย่างนั้น
การเชื่อฟังผู้ใหญ่ไว้ก่อนอาจไม่เคยทำให้เด็กๆ ฉุกคิดว่า ทำไมถึงห้ามเลียไอติม มันจะทำให้ดูไม่ดีอย่างไร? แต่เมื่อเติบโตขึ้นมาแล้ว เราจะพบว่าการเลียไอติมมักถูกโยงกับเรื่องเพศและเรื่อง 18+ อยู่เสมอ และยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกด้วย
การเลียไอติมกลายเป็นเรื่อง 18+
ไอติมกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่คนมักโยงไปถึงเรื่องเพศ และสื่อไปถึงการชวนไปทำกิจกรรมทางเพศ เช่น การชวนไปกินไอติมก็อาจสื่อได้ในความหมายสองแง่สองง่าม ซึ่งสื่อมักใช้พาดหัวข่าวให้เห็นอยู่ประจำ
ที่น่าสนใจคือการห้ามผู้หญิงเลียไอติมนั้นเกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก และในช่วงปี 2011 เรื่องนี้เคยเป็นไวรัลดังในโซเชียลมีเดีย เมื่อสภาทนายความของประเทศฟินแลนด์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายรับรองว่า ผู้หญิงที่ทานไอศกรีมแบบแท่งในที่ทำงาน จัดเป็นพฤติกรรมในเชิงยั่วยุในสถานที่สาธารณะ เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ในการคุกคามเพศชาย
นอกจากนี้สภาทนายความยังจัดทำวิดีโอโพสต์ใน YouTube วิดีโอเล่าถึงผู้หญิงในที่ทำงานที่กำลังเลียไอติม โดยมีเพื่อนร่วมงานชายหลายคนที่ขมวดคิ้วแล้วหันมองไปที่เธอ พร้อมขึ้นข้อความว่า Is this sexual harassment? (นี่คือการคุกคามทางเพศหรือเปล่า)
หรือเมื่อปี 2019 ในตุรกีเคยมีการจัดสอนหลักสูตรมารยาทที่ใช้ชื่อว่า ‘ทำอย่างไรจึงจะเป็นสุภาพสตรี’ โดยหลักสูตรนี้แนะนำผู้หญิงว่าห้ามเลียไอติม
ตามรายงานของเว็บไซต์ Milliyet Daily ในตุรกี ระบุว่า หลักสูตรนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมในเทศบาลบักซิลาร์ อิสตันบูล โดยจะสอนทั้งมารยาท การแต่งกาย การเดิน และการพูด และเรื่องนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโซเชียลมีเดีย
แม้ว่าเคล็ดลับจากหลักสูตรหลายๆ ข้ออาจมองได้ว่าเป็นมาตรฐานมารยาทที่ดี แต่คำแนะนำในการกินไอติมกลับทำให้ชาวโซเชียลแอบมองบน
คำแนะนำจากหลักสูตร ไม่ได้ระบุว่าเหตุใดการเลียไอศกรีมจึงถือว่าไม่เป็นกุลสตรี แต่ก็มีผู้ใช้ Twitter รายหนึ่งตั้งคำถามว่า "แล้วพวกเขาต้องการให้เรากินไอติมยังไง?"
ผู้อ่านรายหนึ่งใน เอ็กซี โซซลุก (Eksi Sozluk) แพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยมของชาวตุรกี กล่าวว่า “นี่เป็นเรื่องไร้สาระและเป็นการเหยียดเพศโดยสิ้นเชิง ใครจะมาสนใจว่าฉันกินไอติมอย่างไร ลองยอมรับสิ่งที่คนเขาทำเป็นปกติบ้าง”
ในขณะที่มีอีกความเห็นที่บอกว่า “ผู้ชายก็เลียไอติมเหมือนกัน และมันก็น่ารังเกียจ” พร้อมกับที่หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมหลักสูตรนี้จึงมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงเท่านั้น
เรื่องกินไอติมยังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันไม่นานมานี้ด้วย เมื่อปี 2023 นักข่าวชาวซีเรียที่อาศัยอยู่ในเยอรมนีจุดชนวนในโซเชียลมีเดียอีกครั้ง หลังจากเขียนบทความโดยตั้งคำถามว่า การที่ผู้หญิงเลียโคนไอศกรีมในที่สาธารณะในสังคมที่เจริญแล้วนั้นเหมาะสมแค่ไหน
นักข่าวคนนี้คือ โมฮัมหมัด อัลคาลาฟ (Mohamad Alkhalaf) เขาเขียนในหนังสือพิมพ์ซู้ดด้อยเช่อ (Süddeutsche Zeitung) ที่ตั้งอยู่ในรัฐบาวาเรีย โดยพยายามตั้งคำถามความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างสังคมเยอรมันกับสังคมซีเรียบ้านเกิดของเขา และใช้การกินไอติมในที่สาธารณะเป็นตัวอย่างหนึ่ง
ในบทความของเขาเรื่อง ‘การกินไอติมนอกบ้านถือเป็นเรื่องลามกหรือเปล่า’ เขาอ้างว่าผู้หญิงที่เลียไอศกรีมจากโคนถือเป็น ‘พฤติกรรมหยาบคาย’ ในซีเรีย
“ในสังคมอนุรักษนิยมหลายแห่ง ซึ่งซีเรียเป็นหนึ่งในนั้นแน่นอน โดยเฉพาะผู้หญิงได้รับการคาดหวังให้สงวนท่าทางกิริยาและให้ความเคารพในที่สาธารณะ การกินไอศกรีมและอาหารอื่นๆ ที่ถือว่ามีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศชายนั้นจะถูกมองว่าเป็นการยั่วยุหรือน่ารังเกียจ” อัลคาลาฟเขียน
อัลคาลาฟ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อมาถึงมิวนิก เขารู้สึกละอายใจที่เห็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจเช่นนี้ในที่สาธารณะ แต่ตอนนี้เริ่มชินแล้ว อย่างไรก็ตาม คนใหม่ๆ ที่มาเยอรมันจำนวนมากอาจจะไม่เข้าใจหรือชื่นชมการกินไอติมในที่สาธารณะ และพบว่าทำให้คนกลุ่มนั้นปรับตัวยากขึ้น
นักวิจารณ์และตัวแทนทางการเมืองหลายคนออกมาตอบโต้ต่อบทความนี้ เป็นจำนวนมาก เช่น แจน เวนเซล ชมิดต์ (Jan Wenzel Schmidt) สส.จากพรรค AfD (Alternative for Germany) โพสต์ทวิตเตอร์ว่า
“นี่คือปี 2023 และโมฮัมหมัด มุสลิมชาวซีเรีย ซึ่งซีเรียเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้าย IS ออกมาวิจารณ์ในบทความที่ลงในหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้าย กล่าวหาว่าชาวเยอรมันกำลังกินไอศกรีมในที่สาธารณะ”
ส่วน อเล็กซานเดอร์ โมห์นเล (Alexander Möhnle) หัวหน้า Talk Bild TV สื่อในเยอรมัน ตั้งคำถามว่าหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเป็น “การค้าวารสารใหม่สำหรับกลุ่มตาลีบันหรือไม่”
ในขณะที่ มาเรียนนา วอน อาร์ทรูนี (Marianna von Artsruni) จากแพลตฟอร์มคนรุ่นใหม่ในสังคมชาวเยอรมันและอิสราเอล (Young Forum of the German-Israeli Society) กล่าวว่า หนังสือพิมพ์ซู้ดด้อยเช่อไม่ควรให้พื้นที่สำหรับคนที่ทำให้กิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การกินไอศกรีมและการขี่จักรยาน กลายเป็นเรื่องน่าอาย
“ความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ ไม่ใช่สิ่งที่หนังสือพิมพ์ควรช่วยเพื่อให้สิ่งนี้เป็นที่ยอมรับในสังคม” มาเรียนนา กล่าว
เรื่องผู้หญิงและการเลียไอติมเป็นหนึ่งในอคติทางเพศที่ฝังรากลึกในสังคม และดำเนินอยู่จนเหมือนความเคยชิน แม้กระทั่งแวดวง Pop Culture ก็จะพอเห็นประเด็นนี้เช่นกัน
เช่นในเพลง ‘Ice Cream’ ของ BLACKPINK ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลี และ Selena Gomez ศิลปินนักร้องชาวอเมริกันชื่อดัง เพลงดังกล่าวดังเป็นพลุแตก มียอดเข้าชมเกือบพันล้านวิว แต่ก็ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเนื้อหาของเพลงสื่อไปในทางเพศและใช้คำที่ไม่เหมาะสม
แม้จะมีฝั่งที่แก้ต่างว่า เพลงเพียงนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการยั่วยวนผู้ชายโดยใช้ไอติมเป็นการ ‘เปรียบเปรย’ เท่านั้น แต่หลายคนก็คิดว่าไม่ควรนำเพลงนี้มาเปิดในที่สาธารณะอยู่ดี
ผู้หญิงจะกินไอติมแบบไหนก็ได้
หลายตัวอย่างที่ยกมาทำให้เห็นว่า แม้ผู้หญิงจะกินหรือเลียไอติมเหมือนกับคนอื่นๆ แต่ก็มักจะถูกโยงเข้ากับเรื่องเพศอยู่เสมอ ไม่ว่าจะกล่าวโดยตรงหรือมาในคราบของการบอกว่ามันเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ผิดมารยาทก็ตาม
เรื่องเล็กๆ อย่างการเลียไอติมทำให้เราเห็นว่าผู้หญิงอาจถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิต เพียงเพราะเรื่องบางเรื่องดันถูกโยงไปเกี่ยวกับเรื่องเพศ
กรณีของการเลียไอติมคล้ายกับข้อถกเถียงเรื่องการแต่งกาย เมื่อผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศ หลายคนจะกล่าวหาว่าเป็นเพราะพวกเธอแต่งตัวโป๊ ราวกับเสื้อผ้าคือสาเหตุของอาชญากรรม แม้ความจริงแล้วจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะต่อให้เหยื่อที่ถูกคุกคามใส่เสื้อผ้ามิดชิดแค่ไหน ก็ยังถูกกระทำได้เช่นเดียวกัน และเหยื่อจากการคุกคามทางเพศหลายคนก็ออกมายืนยันข้อเท็จจริงนั้น ว่าพวกเธอไม่ได้แต่งตัวโป๊เลยในยามที่ถูกคุกคาม
อคติอาจปรากฏตัวอย่างแนบเนียนในชีวิตประจำวัน และผู้หญิงก็ยังถูกสั่งสอนให้แต่งตัวมิดชิดอยู่เสมอในทุกยุคทุกสมัย เช่นเดียวกับการกิน ‘ไอติม’
สีสันและรสชาติที่แสนอร่อยของไอติมนั้นไม่ได้ผิดอะไร หน้าร้อนนี้เราจะกินไอติมด้วยการเลียหรือกัด มันก็ยังคงเป็นสิทธิของเราทุกคน สิทธิที่ไม่ควรถูกอคติทางเพศมาแปะป้ายให้มันกลายเป็นอื่น
อ้างอิง: bbc.com , pantip.com , kapook.com , ojjdp.ojp.gov , rmx.news , quora.com
