เรียนนายจ้างที่เคารพ ค่อยคุยกันวันจันทร์ ออสเตรเลียออกกฎหมาย 'เลิกงานแล้วไม่ต้องรับสาย-ตอบข้อความ'
...
Summary
- ออสเตรเลียออกกฎหมายคุ้มครองพนักงานที่รู้สึกว่าถูกบังคับให้รับสาย ตอบข้อความ หรืออ่านข้อความหลังเลิกงาน โดยรู้จักกันภายใต้ชื่อ ‘Right to disconnect’ (สิทธิที่จะตัดการเชื่อมต่อ)
- กฎหมายใหม่นี้ไม่ได้สั่งให้นายจ้างห้ามติดต่อกับคนทำงานโดยเด็ดขาด แต่เป็นกฎหมายที่อนุญาตให้พนักงานสามารถ ‘เพิกเฉย’ ต่อการสื่อสารใดๆ นอกเวลางานได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกลงโทษ
...
ชีวิตที่เรามีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตติดตัว ในอีกมุมก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิตที่ ‘งาน’ คอยติดตามเราไปได้ทุกที่ทุกเวลา และหนึ่งสิ่งที่ทำให้หลายคนกังวลใจเอามากๆ คือข้อความจากนายจ้างที่โผล่มานอกเวลางาน
ประเทศออสเตรเลียเล็งเห็นปัญหานี้ และล่าสุดได้ออกกฎหมายคุ้มครองพนักงานที่รู้สึกว่าถูกบังคับให้รับสาย ตอบข้อความ หรืออ่านข้อความหลังเลิกงาน โดยรู้จักกันภายใต้ชื่อ ‘Right to disconnect’ (สิทธิที่จะตัดการเชื่อมต่อ)
กฎหมายใหม่นี้ไม่ได้สั่งให้นายจ้างห้ามติดต่อกับคนทำงานโดยเด็ดขาด แต่เป็นกฎหมายที่อนุญาตให้พนักงานสามารถ ‘เพิกเฉย’ ต่อการสื่อสารใดๆ นอกเวลางานได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกลงโทษ หรือพูดง่ายๆ ว่าแม้นายจ้างจะส่งข้อความมาเช้าวันอาทิตย์ แต่คนทำงานก็เลือกที่จะไม่อ่านหรือไม่ตอบได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม กฎนี้ก็ยังต้องเป็นไปตามความสมเหตุสมผล ซึ่งนายจ้างและลูกจ้างจำต้องตกลงหาข้อยุติกันเองว่ากรณีไหนเข้าข่าย ‘จำเป็นจริงๆ’ ที่จะต้องติดต่อสื่อสาร แต่หากมีข้อพิพาทแล้วหาข้อยุติไม่ได้ ก็จะมีคณะกรรมการ Fair Work Commission (FWC) ของออสเตรเลียเข้ามามีส่วนร่วม คณะกรรมการจะพิจารณาว่าในกรณีนั้นๆ ควรเป็นฝ่ายนายจ้างที่ต้องหยุดติดต่อลูกจ้าง หรือสามารถสั่งให้ลูกจ้างตอบกลับได้เช่นกัน
กฎหมายดังกล่าวมีโทษทางกฎหมายเป็นการปรับ โทษสูงสำหรับพนักงานคิดเป็นค่าปรับกว่า 19,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 430,000 บาทไทย และโทษสูงสุดสำหรับบริษัทหรือองค์กรคิดเป็นค่าปรับกว่า 94,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือกว่าสองล้านบาทไทย
สภาสหภาพแรงงานออสเตรเลียกล่าวว่า “กฎนี้จะช่วยให้คนทำงานปฏิเสธการติดต่อสื่อสารนอกเวลางานที่ไม่สมเหตุสมผล และทำให้เกิดสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานมากขึ้น”
ส่วนประโยชน์ของนายจ้างต่อกฎนี้ จอห์น ฮอปกินส์ นักวิชาการในออสเตรเลียได้กล่าวว่า “องค์กรใดก็ตามที่พนักงานได้พักผ่อน และมีสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ย่อมทำให้มีพนักงานลาป่วยน้อยกว่า และมีโอกาสลาออกจากบริษัทน้อยกว่าด้วย”
ไอเดียว่าบริษัทต่างๆ จะได้ประโยชน์จากกฎนี้ ถูกยืนยันอีกเสียงโดย ดร.กาเบรียล โกลดิง นักวิชาการจากโรงเรียนกฎหมาย มหาวิทยาลัยแอดิเลด โดยดร.กาเบรียลเสนอว่าหากการทำงานล่วงเวลาที่ไม่ได้รับค่าจ้างลดลงจะนำไปสู่อัตราความเครียดและความเหนื่อยหน่ายที่น้อยลงด้วย
“พนักงานจะจบวันทำงานของตัวเองอย่างขัดเจน และไม่มีภาระในการติดต่อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานในเวลาส่วนตัวอีกต่อไป เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นที่สมเหตุสมผลบางประการ
“ผลลัพธ์นี้ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางสังคมในด้านคุณค่าที่มีต่อการทำงาน รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีและเวลาส่วนตัวด้วย”
“ชีวิตคือการใช้ชีวิต และงานของคุณเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต – ไม่ใช่ทั้งหมด” ดร.กาเบรียลกล่าว
อ้างอิง :
