ยูกันดาเตรียมประกาศให้ LGBTQ+ เป็นอาชญากรรม
...
LATEST
Summary
- วันที่ 9 มีนาคม 2023 ยูกันดาเสนอกฎหมายให้การรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม และมีบทลงโทษทางอาญาต่อผู้ประกาศว่าตนเองเป็น LGBTQ+
- หากกฎหมายใหม่ของยูกันดาผ่าน จะทำให้ยูกันดาเป็นประเทศแรกที่กำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ที่ระบุว่าเป็น LGBTQ+ หรือเพศสภาพใดก็ตามที่ไม่ใช่ชายหรือหญิง
- กฎหมายนี้เกิดขึ้นท่ามกลางทฤษฎีสมคบคิดในโซเชียลมีเดียของกลุ่มอนุรักษนิยมที่อ้างว่า มีอำนาจจากต่างชาติสนับสนุนกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน
...
ยูกันดาเป็นหนึ่งในประเทศที่ระบุให้การรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม เมื่อปี 2014 รัฐสภายูกันดาผ่านกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน แต่ภายหลังถูกศาลวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ
วันที่ 9 มีนาคม 2023 มีการเสนอกฎหมายนี้อีกครั้ง และรุนแรงมากยิ่งขึ้น ด้วยการกำหนดบทลงโทษทางอาญาต่อผู้ประกาศว่าตนเองเป็น LGBTQ+ ด้วย
ร่างกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในรัฐสภา กำหนดบทลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปีต่อผู้ที่ระบุว่าตนเองเป็นเพศสภาพอื่นที่ไม่ใช่ชายหรือหญิง นอกจากนี้ยังกำหนดโทษทางอาญาต่อกิจกรรมใดๆ ที่ส่งเสริมการรักเพศเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เจ้าของบ้านที่ให้เกย์เช่าบ้านก็ถือว่ามีความผิด ถึงขั้นต้องโทษจำคุก
แอนเน็ต อนิตา อามอง (Annet Anita Among) ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกันที่อยู่ในคณะกรรมาธิการแปรญัติติว่า เป็นขั้นแรกของการเร่งออกกฎหมาย โดยจะมีการรับฟังความคิดเห็นที่เปิดให้กลุ่มชนกลุ่มน้อยทางเพศ (sexual minorities) เข้าร่วม “ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น รวมทั้งกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน อนุญาตให้พวกเขาเข้ามาได้” จากนั้นจะมีการอภิปรายและลงคะแนนในรัฐสภา
กฎหมายนี้เกิดขึ้นท่ามกลางทฤษฎีสมคบคิดในโซเชียลมีเดียของกลุ่มอนุรักษนิยมที่อ้างว่า มีอำนาจจากต่างชาติสนับสนุนกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน นักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการออกกฎหมายนี้กล่าวหาว่า กลุ่มสิทธิเกย์ล่อลวงเด็กด้วยเงินหรือทุนการศึกษา แต่ก็ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้
ออร์เยม นายโก (Oryem Nyeko) นักวิจัย ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแสดงความเห็นว่า การกำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ที่ยืนยันการแสดงตัวตนของตัวเอง ถือว่าเป็นสิ่งที่ร้ายแรงที่สุดของกฎหมาย ละเมิดความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพการรวมกลุ่ม
นอกจากนี้ชุมชนนักกิจกรรม LGBTQ+ ระบุว่า การสอบสวนของคณะกรรมาธิการในรัฐสภาเมื่อเดือนมกราคมที่เอาผิดผู้ที่สนับสนุนการรักเพศเดียวกันในโรงเรียนก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อชุมชน LGBTQ+
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า กระบวนการทั้งหมดจะใช้ระยะเวลานานเท่าใด ปัจจุบันประเทศในแอฟริกากว่า 30 ประเทศห้ามคนรักเพศเดียวกันและมีโทษทางอาญา โดยเป็นผลมาจากกฎหมายในยุคอาณานิคมและการเคร่งศาสนา
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ศาลฎีกาเคนยาเพิ่งรับรองเสรีภาพในการรวมกลุ่มของ LGBTQ+ และวินิจฉัยว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการขององค์กรที่กีดกัน LGBTQ+ เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยระบุว่า แม้การเป็นเกย์จะผิดกฎหมาย แต่พวกเขามีสิทธิที่จะรวมกลุ่ม แต่ประธานาธิบดีที่เพิ่งได้รับเลือกตั้ง วิลเลียม รูโต ประกาศว่า จะไม่ยอมให้มีการกระทำใดๆ ของคนรักเพศเดียวกัน หรือการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันโดยเด็ดขาด ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง
หากกฎหมายใหม่ของยูกันดาผ่าน จะทำให้ยูกันดาเป็นประเทศแรกที่กำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ที่ระบุว่าเป็น LGBTQ+ หรือเพศสภาพใดก็ตามที่ไม่ใช่ชายหรือหญิง
