ทหารเกณฑ์กับปัญหาสุขภาพจิต รั้วของชาติที่เข้มแข็ง ก็มีวันแตกสลายได้จากข้างใน
...
LATEST
Summary
- เดือนเมษายน เดือนที่หลายคนเฝ้ารอที่จะหยุดยาวไปเจอครอบครัว หรือพักผ่อนจากงานที่ทำมาอย่างยาวนาน แต่ในเดือนนี้ก็เป็นเดือนที่ชายไทยหลายคนอาจไม่อยากให้มันมาถึง เพราะเป็นเดือนที่ต้อง เกณฑ์ทหาร
- ปัญหาสุขภาพจิตนั้น เป็นปัญหาที่สามารถเกิดได้กับทุกคนไม่เว้นแม้แต่พลทหาร ที่มีการฝึกร่างกายให้แข็งแรง แต่มีข่าวการเลือกจบชีวิตตัวเองหลายกรณี แล้วในค่ายทหารมีการดูแลปัญหาสุขภาพจิต พลเรือนที่จะเข้าไปเป็นทหารอย่างไร
- เรื่องเล่าของ ปนพ อดีตพลเรือน ที่ป่วยซึมเศร้า และต้องเข้าไปเป็นรั้วของชาตินั้น ต้องผ่านการฝึกและการรักษาอย่างไร ในฐานะ ทหาร ที่ต้องแข็งแรงอยู่เสมอ
...
เมื่อวันนั้นมาถึง วันที่จะต้องจับใบดำใบแดงเพื่อ ‘เกณฑ์ทหาร’ เดือนเมษายน นอกจากเป็นเดือนที่ขึ้นชื่อว่าร้อนที่สุดในรอบปี และมีวันหยุดยาวมากที่สุด เป็นช่วงที่หลายคนจะได้ใช้ชีวิตในช่วงวันหยุดกับครอบครัว แต่เดือนเดียวกันนี้อาจจะไม่ใช่เดือนที่มีความสุขสำหรับชายไทยหลายคน เพราะเป็นเดือนที่รู้กันดีว่ามีการเกณฑ์ทหารเกิดขึ้น
ใบแดง - ปนพ (นามสมมติ) หลังเรียนจบปริญญาตรี เขาใช้ชีวิตเหมือนเด็กจบใหม่ทั่วไป ที่จบมาพร้อมกับไฟที่จะทำงานตามที่หวังไว้ แต่มันก็ต้องหยุดชะงักลงในเดือนเมษายน เมื่อปนพจับได้ใบแดง และอนาคตของเขาหลังจากนี้อีก 6 เดือน ต้องเปลี่ยนจาก ‘พลเรือน’ เป็น ‘พลทหาร’
เมื่อรู้ว่าต้องเป็นทหารเกณฑ์ ปนพ เครียดมาก เพราะได้ศึกษาและดูเรื่องราวต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต และเริ่มกังวลในเรื่องของความรุนแรงในค่าย เนื่องจากตัวปนพเองก็เป็น LGBTQ และมีอาการซึมเศร้า
ปนพ เลือกที่จะขอหมอหยุดยารักษาด้านจิตเวชก่อนที่จะเข้าไปอยู่ในค่ายทหาร โดยคิดว่า ถ้าไม่หยุดยาจะเป็นปัญหาต่อการฝึก แต่พอเข้าไปอยู่ในระบบของกองทัพแล้ว แม้ความรุนแรงไม่ได้มาก แต่บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในค่ายตึงเครียดกว่าที่ปนพคิดไว้เยอะมาก จนสุดท้ายต้องขอแพทย์กลับมารับยาอีกครั้ง
การดูแลผู้ป่วยเมื่ออยู่ในค่ายทหาร
จากตอนแรกขอหยุดยารักษาซึมเศร้าจากแพทย์ แต่เมื่อปนพเข้ามาในค่าย มีการสอบถามว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่เบื้องต้น จากนั้นหน่วยให้สวมริสต์แบนด์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าแต่ละคนมีอาการป่วยของโรคอยู่ในระดับใด เช่น โรคต้องเฝ้าระวัง โรคที่ต้องรักษา ซึ่งปนพเองเป็นหนึ่งในทหารเกณฑ์ที่ได้สวมริสต์แบนด์ สัญลักษณ์ที่ทำให้เห็นว่า ‘บุคคลนี้ป่วย’
“ถ้าใส่ริสต์แบนด์ ทุกคนก็รู้ความหมาย แต่เขาแค่รับรู้ ไม่ได้ให้เราทำอะไรต่างจากคนอื่น กลุ่มคนที่ป่วยก็ฝึกหนักเหมือนเดิม”
ประมาณ 1-2 สัปดาห์แรกของการฝึก ปนพเล่าว่ามีการเรียกคนที่ใส่ริสต์แบนด์เข้าไปตรวจโรค ปนพเองก็ได้รับการตรวจและได้พบกับจิตแพทย์ในโรงพยาบาลทหาร ซึ่งการได้รับการรักษานั้น แม้จะรับทราบว่าหมอที่พบคือจิตแพทย์ แต่การรักษาต่างกับจิตแพทย์ที่เคยรักษาเป็นอย่างมาก เช่น การใช้คำพูดกับผู้ป่วยซึมเศร้า การจ่ายยาก็เหมือนทำเป็นแพตเทิร์นเหมือนๆ กันกับคนอื่น
แพทย์ที่เจอข้างในค่ายใช้คำพูดคือแปลก สิ่งแรกที่เขาพูดตอนเจอกันคือเขาพูดว่า หมอคงไม่สามารถส่งน้องกลับไปได้เพราะว่าแค่เป็นซึมเศร้า หรือ เออ ก็ใช่สิ ในค่ายมันต่างจากชีวิตข้างนอกไง พอฟังก็รู้สึกว่าเจอคำพูดแบบนี้แล้วทำให้ไม่อยากแชร์อะไร ไม่อยากเล่าอะไร ยาก็ไม่ได้จัดสรรอะไรมาให้เราขนาดนั้น เหมือนเขามองว่าสิ่งที่คนแบบเราจะรู้สึกมันเป็นเรื่องปกติ ฟังแล้วก็งง เพราะว่าหมอข้างนอกที่เราเจอมาไม่ได้มีลักษณะการพูดแบบนี้
ระหว่างการเป็นทหารเกณฑ์ของปนพ 6 เดือน พบกับจิตแพทย์เพียงเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วง 3 เดือนแรกที่ต้องอยู่ศูนย์ฝึกร่วม ซึ่งการพบจิตแพทย์ต้องเดินทางนั่งรถออกจากค่ายที่ตัวเองฝึกไปอีกค่ายที่มีโรงพยาบาลทหาร และภายในค่ายที่ปนพฝึกไม่มีหน่วยรองรับผู้มีปัญหาสุขภาพจิต และหลังจากแยกออกมาอยู่ตามเหล่าของตัวเอง ได้รับเพียงยาเท่านั้น
ภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ในค่ายทหาร
เอกสารรายงานของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่อง ‘ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าในทหารกองประจำการใหม่’ โดย วรัมพร ยั่งยืน, ปัญจภรณ์ วาลีประโคน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ทหารกองประจำการใหม่มีความชุกของภาวะซึมเศร้าสูงกว่าประชากรทั่วไป โดยมีทั้งปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยด้านชีวิตความเป็นอยู่ภายในกองพันและการฝึก มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะซึมเศร้า
รายงานการศึกษาชิ้นนี้พบว่า จำนวนทหารกองประจำการใหม่ที่มีภาวะซึมเศร้าคิดเป็นร้อยละ 19.95 ซึ่งมากกว่าความชุกของโรคซึมเศร้าในประชากรทั่วไป คือร้อยละ 2.7 ของประชากรไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป
ข้อมูลพื้นฐานที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า เช่น ระดับการศึกษา โดยในกลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้าส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ขณะกลุ่มที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาอนุปริญญาขึ้นไป
ที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้ามีสัดส่วนของคนที่เป็นผู้หารายได้หลักในครอบครัวสูงกว่ากลุ่มที่ไม่มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการมีภาระที่ต้องดูแลรับผิดชอบสูงกว่า ทำให้เกิดความเครียดได้มากกว่า
การตระหนักถึงสุขภาพจิตของทหาร
เคดิตภาพ : armyprcenter
ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่สามารถเกิดได้กับทุกคนและทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่คนที่ขึ้นชื่อว่า ‘พลทหาร’ และเรื่องนี้ ‘ครูฝึก’ ที่จะต้องใกล้ชิดกับทหารนั้น มีความตระถึงเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
เสียงนกหวีด - เสียงที่เป็นสัญญาณสำคัญในการฝึกพลทหาร ที่ถูกเข้ามากำกับชีวิต เมื่อได้ยินเสียงทำได้แค่เพียงเงียบและรับคำสั่ง
ชีวิตของปนพ เมื่อเข้าไปอยู่ในค่ายทหารต้องพบเจอกับเสียงนกหวีดทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะตื่น นอน กินข้าว หรือตอนฝึก
“ตื่นเช้า นอน ฝึก โดนทำโทษ ด้วยเสียงนกหวีด และวนลูปแบบนี้ในช่วงฝึก 3 เดือนแรก เจอแบบนี้ทุกวันๆ ถ้าคนที่มีสภาพจิตใจอาจไม่เข้มแข็งมากเจอแบบนี้เข้าไปก็คือ เหมือนฝัน เหมือนฝันร้าย”
นอกจากเสียงนกหวีดที่เป็นฝันร้ายสำหรับพลทหารใหม่ เสียงพูดคุยในช่วงเวลาที่คิดว่าเป็นอิสระแล้วก็ยังคงเป็นสิ่งที่อาจดูไม่ดีในค่าย ปนพ เล่าถึงการรับประทานอาหารในฐานะทหาร ที่เมื่อเสียงดังก็จะถูกทำโทษ ปนพ เองเคยโดนบังคับให้กินเปลือกไข่ เพราะมีคนเสียงดังระหว่างการรับประทานอาหาร
ขณะเดียวกัน การทำความเข้าใจเรื่องการฝึกที่พลเรือนอาจมองว่าหนัก เพราะปรับตัวไม่ได้ แต่การฝึกทหารนั้นย่อมอยู่บนพื้นฐานของเจตนาที่ดี แต่ความคิดเรื่องสุขภาพจิตกับร่างกายของทหารนั้นเป็นอย่างไร
“จิตใจที่เข้มแข็งและดีงาม ล้วนอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์” พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวถึงนโยบายประจำปีงบประมาณ 2563
อย่างที่รู้กันดี ทหารต้องมีร่างกายที่แข็งแรง เนื่องจากภาระหน้าที่ในการเป็นรั้วของชาติ แต่ร่างกายที่แข็งแรงนั้นอาจไม่ได้หมายความว่าจิตใจจะแข็งแรงตามร่างกายไปด้วย เมื่อปนพต้องมาเจอการฝึกแบบทหารที่ต้องการให้ร่างกายและจิตใจเข้มแข็ง ปัญหาเริ่มเกิดจากภายใน
การแสดงออกมันอาจจะดูเข้มแข็ง แต่เรารู้สึกว่าคนข้างในค่อนข้างแตกหักเหมือนกัน คือเขาไม่รู้วิธีการจัดการที่ถูก สิ่งที่เขารับรู้ว่าอันนี้คือการจัดการอารมณ์ นี่คือความเข้มแข็ง แต่เราฝึกแล้วรู้สึกว่ามันอาจจะทำให้คนคนหนึ่งพังไปเลยก็ได้ เพราะว่ามันเป็นระบบที่ เขาไม่ได้ให้เราคิดว่าเราจะต้องเข้มแข็ง เขาเหมือนฝืนให้เราเข้มแข็งมากกว่า
“การฝึกมันเปลี่ยนทั้งจิตใจและร่างกาย พอเราต้องตื่นเวลาเท่านี้ นอนเวลาเท่านี้ ทำให้ร่างกายรู้สึกกดดันและส่งผลมาถึงสภาพจิตใจว่าเราไม่มีสิทธิอะไรเท่าไร เวลาอยู่ในค่าย และพอทำวนซ้ำๆ ก็เหมือนกระตุ่นให้เกิดความเศร้า”
“เรารู้สึกว่าการฝึกหนักๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความซึมเศร้าได้ เพราะว่าร่างกายมันไม่ได้พักเลย และใช้งานร่างกายหนัก อย่างเราเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหนักมากจนแบบกลายเป็นภูมิแพ้ ผิวลอก ผิวแห้ง ร่างกายมันเปลี่ยนแปลงหนักเกิน แล้วภูมิในร่างกายเราเสีย เรากลายเป็นแพ้พวกโลชั่น หรือโฟมล้างหน้าต่างๆ ที่เคยมีหมดเลย”
เมื่อการฝึกร่างกายจะแข็งแรงขึ้น แต่สภาพจิตใจทำอ่อนแอลง ปนพ ที่เป็นผู้ป่วยซึมเศร้ามาก่อน ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจของเพื่อนในค่าย ที่อาจเป็นสัญญาณการป่วยโรคซึมเศร้า
“ด้วยความที่เราเป็นโรคซึมเศร้าเอง เราก็จะเห็นพวกสัญญาณต่างๆ ได้ เช่น ทำไมคนนี้อยู่ดีๆ วีนแตก กลายเป็นภาวะต่อต้าน เราเห็นแล้วเรารู้สึกว่าคนนี้ก็น่าจะเป็นซึมเศร้าเหมือนกัน”
ด้วยระบบของทหารที่ทำให้ไม่ได้รู้สึกปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยทางจิตในการที่จะแชร์หรือเล่าเรื่องพวกนี้ แม้ปนพเองจะเป็นคนที่เปิดเผยตัวว่าเป็นซึมเศร้า แต่ก็ไม่ได้รับการฝึกที่แตกต่าง และตัวปนพเองก็มองการเปิดเผยว่าเป็นซึมเศร้าไม่ใช่ผลดี แม้จะได้สิทธิในการรักษา เพราะสุดท้ายกลายเป็นถูกเพ่งเล็งตลอดเวลาฝึก
เราเป็นคนปากคว่ำเวลาปกติ ตอนฝึกเราก็แอบเครียด ทำให้มีการแสดงออกทางสีหน้าได้ เขาก็พูดชื่อเราขึ้นมา และบอกว่าทำไมไม่ยิ้ม แค่การแสดงสีหน้าก็ต้องถูกกำหนดเหรอว่าจะต้องทำยังไง คนฝึกให้เราในค่ายบางคนเขาก็จะพูดว่า โรคที่เราเป็นมันก็เป็นโรคคนรวย โรคกระแดะ
เมื่อเข้าไปในค่ายทหาร อย่างที่รู้กันว่า กฎระเบียบและสภาพแวดล้อมจะแตกต่างจากนอกค่ายอย่างมาก และสิ่งต่างๆ เหล่านี้เองส่งผลอย่างมากต่อผู้ป่วยซึมเศร้า ปนพเองเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ แม้ร่างกายเขาภายนอกอาจจะดูแข็งแรงขึ้นจากการฝึก แต่ภายในนั้นกลับเปราะบางยิ่งกว่าเดิม และข้อนี้เองอาจจะเป็นสิ่งที่การฝึกพลเรือนให้เป็นพลทหารไม่สามารถมองข้ามได้
กองทัพจัดการปัญหาสุขภาพจิตทหารเกณฑ์อย่างไร
ในคู่มือ ‘การดูแลสุขภาวะทางจิตใจกำลังพลกองทัพบก สำหรับหน่วยเสนารักษ์’ ระบุแนวทางการจัดการแก้ไขผู้มีปัญหาสุขภาพจิตว่า
1. แยกแยะผู้มีปัญหา โดยการหาข้อมูลและสาเหตุของปัญหาร่วมกันระหว่างผู้บังคับบัญชาและหัวหน้าชุดปฏิบัติการ
2. ให้เวลาและความใกล้ชิดกับทหารประจำการใหม่มากขึ้น พูดคุยเป็นกลุ่มใหญ่ เพื่อเกิดความเข้าใจในแนวทางเดียวกัน
3. ใช้กิจกรรมนันทนาการมาช่วยเสริมเพื่อลดความตึงเครียด
4. อนุญาตให้โทรศัพท์หาญาติหรือให้ญาติมาเยี่ยมในกรณีจำเป็น
5. มีการประชุมทีมที่ดูแลทหารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการดูแลด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม
6. ทำความเข้าใจกับครอบครัว
7. ในทหารที่ป่วยเป็นโรคจิตตั้งแต่ก่อนประจำการและมียาจิตเวชกินเป็นประจำ ไม่ควรงดยา และกำชับให้มีการกินยาอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดยา เนื่องจากจะทำให้อาการกำเริบ
8. ในรายที่มีปัญหาทางจิตใจ ควรมีระบบเพื่อนคู่หูคอยดูแลช่วยเหลือ เฝ้าระวังปัญหา และรายงานผู้บังคับบัญชาทันทีหากเห็นอาการผิดปกติ
9. ผู้ที่มีปัญหาทางกายและจิตที่รุนแรงให้ส่งต่อหน่วยรักษาพยาบาลใกล้เคียง
ปัญหาสุขภาพจิตที่ไม่ควรมองข้าม แม้จะกลายเป็นพลทหาร
เคดิตภาพ : armyprcenter
การเป็นทหารนั้น แน่นอนว่าย่อมต้องมีรูปแบบชีวิตที่แตกต่างจากประชาชนทั่วไป แต่การมีปัญหาสุขภาพจิตนั้นไม่สามารถมองข้ามหรือตีความว่าทหารทุกคนนั้นมีจิตใจที่เข้มแข็ง
ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีข่าวการเลือกจบชีวิตของทหารให้เห็นมากขึ้นจากการที่มีโลกออนไลน์ ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่ทางเลือกดังกล่าว เช่น ในปี 2561 พลทหารเรวัต เพชรเรือง สังกัดอยู่ที่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน ผูกคอตาย ขณะรักษาตัวที่กองร้อยพยาบาล ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยมีประวัติป่วยซึมเศร้าตั้งแต่ก่อนเข้ารับราชการทหาร ซึ่งรับการรักษามาตลอด แต่สุดท้ายก็เลือกจบชีวิตตัวเอง
ล่าสุดที่มีการหยิบยกมาพูดในสภาอย่างกรณีการเสียชีวิตของ พลทหารคมทัช พันฤทธิ์ อดีตผู้ช่วยหาเสียงของ ธิษะณา ชุณหะวัน สส. เขต 2 กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ภายในค่ายทหารเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 โดยผลชันสูตรระบุสาเหตุของการเสียชีวิตจากการผูกคอตาย ภายในห้องน้ำโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์โยธินวิทยา จังหวัดราชบุรี
กรณีนี้มีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร หรือ กมธ.ทหารฯ ตรวจสอบเหตุจูงใจการฆ่าตัวตายของพลทหารคมทัช ซึ่งมีอาการบ่งชี้ถึงโรคซึมเศร้า และมีปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับกองพัน เนื่องจากยังไม่ปักใจเชื่อว่า เหตุจูงใจการอัตวินิบาตกรรมมาจากปัญหาส่วนตัวกับแฟนสาว ตามที่กองทัพบกชี้แจง
นี่เป็นการสูญเสียที่อาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ หากกองทัพมีการฝึกที่ตระหนักรู้ถึงอาการป่วยของโรคซึมเศร้ามากพอ ทั้งการรักษาภายในค่ายทหารเองที่จิตแพทย์ของค่ายทหารแตกต่างจากภายนอก หรือการที่ในแต่ละค่ายไม่มีหน่วยที่รองรับปัญหาสุขภาพจิต ทำให้กว่าจะเข้าถึงการรักษานั้นช้าไปเสียแล้ว
คู่มือ ‘การดูแลสุขภาวะทางจิตใจกำลังพลกองทัพบก สำหรับหน่วยเสนารักษ์’ ได้บอกแนวทางปฏิบัติสำหรับดูแลกำลังพลที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายเช่นกัน โดยมีชุดคำถามเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย เพื่อช่วยรักษาชีวิต โดยถามเป็นขั้นบันไดดังนี้
1. เมื่อพบว่ามีอารมณ์ซึมเศร้า ให้ถามต่อไปว่า “ความเศร้านั้นมากจนทำให้เบื่อชีวิตหรือไม่”
2. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดอยากตายหรือไม่”
3. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำหรือไม่”
4. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำอย่างไร”
5. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำหรือไม่”
6. ถ้าตอบรับ ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำอย่างไร”
7. สุดท้าย ให้ถามต่อไปว่า “มีอะไรยับยั้งใจ จนทำให้ไม่ได้ทำ”
คำถามสุดท้าย ไม่ว่าจะตอบอย่างไร จะเป็นปัจจัยทางบวกที่ช่วยให้เขายั้งคิด ไม่ทำในครั้งต่อไปเช่นกัน
แนวทางการช่วยเหลือตามคู่มือ คือ
1. ลักษณะดังต่อไปนี้เป็นผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการทำร้ายตนเองและฆ่าตัวตาย ควรเฝ้าระวังและส่งต่อกำลังพลไปยังหน่วยพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อไป
- มีโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิต หูแว่ว ประสาทหลอน การติดยาเสพติด
- มีประวัติการพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน และยังคงมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายอยู่
- มีแผนการในการฆ่าตัวตายชัดเจน วิธีการรุนแรง มีอุปกรณ์ที่จะใช้ทำร้ายตนเองอยู่ใกล้ตัว เช่น เชือกหรือผ้าผืนยาว ของมีคม อาวุธปืน
- มีสัญญาณเตือนถึงการฆ่าตัวตาย เช่น จดหมายลาตาย การเปรยว่าถ้าตัวเองไม่มีชีวิตอยู่คนรอบข้างจะทำอย่างไร
2. การดูแลด้านจิตใจเบื้องต้นก่อนส่งต่อ
- การพูดคุยซักถามตรงๆ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยอมรับว่ามีความทุกข์ใจและหาวิธีแก้ไข ให้ความเห็นใจ และเข้าใจ ไม่ตำหนิ ควรมีท่าทีสนใจ ให้ความสำคัญ ไม่แสดงความรำคาญวิธีการฆ่าตัวตายของผู้ป่วย ชี้ให้กำลังพลเห็นว่ากำลังเกิดความลังเลภายในใจระหว่างความอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปกับความอยากตาย
