Be Yourself and Be Proud : ชีวิตการทำละครเวทีที่เคลื่อนด้วย ‘ความรัก’ ของ จ๋า สุดาพิมพ์ CEO หญิงเก่งแห่ง Be Musical
...
LATEST
Summary
- จ๋า-สุดาพิมพ์ โพธิภักติ อาจมีบทบาทในชีวิตจริงของเธอหลากหลายพอๆ กับบทบาทบนเวที เพราะบางคนอาจรู้จักเธอในฐานะ ‘นักแสดง’ หรือ ‘นักร้อง’ บ้างก็รู้จักเธอในบท ‘ผู้ก่อตั้ง’ พ่วง ‘ผู้บริหาร’ ของ Be Musical หรือ บริษัท บี มิวสิคัล จำกัด ที่เน้นการทำละครมิวสิคัล feel good เพื่อนำเสนอด้านที่รื่นรมย์และหลากหลายของผู้คน
- เมื่อจังหวะชีวิตผลักพามาสู่ทางเดินที่เหนื่อยยากกว่า ลำบากกว่า และไม่ได้รุ่งโรจน์อยู่ท่ามกลางแสงสีเหมือนบนเวที เธอผ่านสิ่งเหล่านั้นมาด้วรอยยิ้มได้อย่างไร – บางที คำว่า ‘ความรัก’ อาจมีส่วนสำคัญในชีวิตคนทำละครเวทีของเธอ
- “การทำละครเวทีเรื่องหนึ่งใช้เงินเยอะมาก ผลตอบแทนก็ไม่ได้ฟู่ฟ่า ดังนั้น ความรัก ความอดทน และความบ้า ในการทำงาน มันจำเป็นต้องใช้ ถ้ารักไม่มากพอ บ้าไม่มากพอ ยากค่ะ” เธอว่า
...
แวดวงของผู้รักละครเวทีในไทยอาจไม่ได้กว้างใหญ่นัก โดยเฉพาะกับผู้มีใจรักในมิวสิคัล (Musical) แล้ว มันก็ยิ่งหดแคบลงไปอีก
แต่ภายในเนื้อที่อันจำกัดนั้น ความรักที่มีมิวสิคัลก็ยังผลักดันให้ใครบางคนสามารถสร้างสรรค์สิ่งสวยงามออกมาได้ – ซึ่งเส้นทางชีวิตและผลงานของ จ๋า-สุดาพิมพ์ โพธิภักติ ดูจะเน้นย้ำเรื่องที่ว่านี้ได้อย่างดี
บทบาทในชีวิตจริงของเธอหลากหลายพอๆ กับบทบาทบนเวที เพราะบางคนอาจรู้จักเธอในฐานะ ‘นักแสดง’ หรือ ‘นักร้อง’ บ้างก็รู้จักเธอในบท ‘ผู้ก่อตั้ง’ พ่วง ‘ผู้บริหาร’ ของ Be Musical หรือ บริษัท บี มิวสิคัล จำกัด ที่เน้นการทำละครมิวสิคัล feel good เพื่อนำเสนอด้านที่รื่นรมย์และหลากหลายของผู้คน
แต่เชื่อไหมว่า เธอเกือบจะได้รับบท ‘ผู้พิพากษา’ เสียแล้ว ค่าที่เธอเคยเรียนจบมาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทว่าเมื่อจังหวะชีวิตผลักพามาสู่ทางเดินที่เหนื่อยยากกว่า ลำบากกว่า และไม่ได้รุ่งโรจน์อยู่ท่ามกลางแสงสีเหมือนบนเวที เธอผ่านสิ่งเหล่านั้นมาด้วรอยยิ้มได้อย่างไร
ก่อนจะมาร่วมหาคำตอบจากบรรทัดถัดไป เราขอบอกใบ้สั้นๆ ว่า …‘ความรัก’ มีส่วนสำคัญจริงๆ
ผู้พิพากษาร้องเพลงไม่ได้?
แม้เหตุผลที่จ๋าเลือกเรียนในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นั้นจะค่อนข้างเรียบง่าย เพราะเธอบอกว่าต้องการหนีห่างจากวิชาคณิตศาสตร์ แต่เหนืออื่นใดก็คือ เธออยากเป็นผู้พิพากษา
อย่างไรก็ดี หลังจากได้คุยกับคนในอาชีพนี้หลายคน เธอก็พบเงื่อนไขสุดท้าทาย นั่นคือเมื่อเป็นผู้พิพากษาแล้ว อาจจะไม่ได้ร้องเพลง หรือเล่นละคร ซึ่งเป็นสองสิ่งที่เธอรัก สืบเนื่องจากมันอาจกระทบกับภาพลักษณ์ หรือความน่าเชื่อถือได้
“เราก็ต้องรักษาภาพลักษณ์ จะไปเที่ยวผับอะไรอย่างนี้ก็ไม่ควร” จ๋าเล่า “หรือหากจะเล่นละคร ถ้าเล่นเป็นตัวดีก็โอเค แต่ถ้าเล่นเป็นบทที่มีอะไรวุ่นวายหน่อย เวลาไปเจอผู้พิพากษาจ๋าบนบัลลังก์ ก็อาจจะดูไม่น่าเชื่อถือ คนอาจคิดว่าเธอเล่นละครใส่ฉันอยู่หรือเปล่า” เธอหัวเราะ
ด้วยความรักที่มีต่อมิวสิคัล ความตั้งใจแรกในการเป็นผู้พิพากษาจึงหันเหไป โดยระหว่างที่เรียน เธอเริ่มเข้าไปขลุกตัวอยู่กับชมรมดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ หรือ CU Band ซึ่งก็ทำให้ได้ร้องเพลงสมใจอยาก
และจากการร่วมชมรมนี้เอง จังหวะชีวิตของจ๋าจึงได้ทะยานขึ้นอีกครั้ง เมื่อรุ่นพี่จาก CU Band ผู้เคยร่วมแสดงในละครเวที ‘บัลลังก์เมฆ เดอะ มิวสิคัล’ (2544) ได้เล็งเห็นความสนใจในมิวสิคัลของจ๋า จึงชักชวนเธอมาคัดตัวเป็น ‘นักแสดงหมู่มวล’ หรือ อองซอมเบิล (Ensemble) ใน ‘ทวิภพ เดอะ มิวสิคัล’ (2548) ละครเวทีเรื่องต่อมาของค่ายเอ็กแซ็กท์
นิสิตปี 4 อย่างจ๋าในขณะนั้น ผู้ไม่เคยคิดฝันว่าจะได้แสดงละครเวทีโรงใหญ่ เลยตัดสินใจก้าวสู่การออดิชันครั้งนั้น
แล้วฝันที่ไม่กล้าฝัน ก็กลายเป็นจริง – เธอกำลังจะได้เป็นหมู่มวลบนเวทีศูนย์วัฒนธรรม
“จ๋าเป็นคนตั้งต้นเลยนะ” บอย ถกลเกียรติ กล่าว
เมื่อได้สัมผัสกระบวนการซ้อมละครจริง จ๋าก็พบว่า การก้าวเข้าสู่ความฝันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
“เหนื่อยกว่าที่คิด แต่ด้วยความที่เราชอบการแสดงสด ถึงเราเหนื่อยมากก็จริง แต่พอเราได้ขึ้นไปอยู่บนเวทีแล้ว ได้เจอการตอบรับของคนดู ได้โค้งขอบคุณผู้ชมตอนจบละคร เราเหมือนได้รางวัลกลับมา ณ ตอนนั้นเลย แต่ละวันเราจึงรู้สึกหายเหนื่อย และอยากตื่นมาทำอีกเรื่อยๆ ในวันรุ่งขึ้น – นี่แหละเป็นสิ่งที่เราชอบ"
ความรู้สึกของจ๋าในวันนั้น น่าจะพ้องพานกับเหตุผลที่ใครต่อใครยังคงรักในอาชีพนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อเล่าย้อนถึงประสบการณ์นี้ ภารกิจแรกๆ ที่เธอได้รับในฐานะหมู่มวล คือการถ่ายทอดบทเพลง ‘โลกหมุนเร็ว’ ซึ่งเป็นเพลงเปิดเรื่อง – ความท้าทายกว่านั้น คือเธอเป็นหมู่มวลคนแรกที่ต้องร้องเดี่ยวในเพลงนั้น ซึ่งเท่ากับเป็นเสียงแรกที่ผู้ชมจะได้ยินแบบเต็มหู
บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้กำกับละครคนดัง กำชับกับเธอว่า “จ๋าเป็นคนตั้งต้นเลยนะ ถ้าจ๋าพลังไม่ถึง ถ้าร้องเพี้ยน หรืออะไรก็ตาม ทุกอย่างลงเหวตั้งแต่ตรงนั้นเลยนะ”
จ๋ายิ้มออกมาเมื่อเล่าถึงตรงนี้ “ไม่กดดันเลย” เธอลากเสียงยาว
หลายคนที่เคยผ่านงานละครเวที หรือเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัชดาลัยฯ ต่างรู้ดีถึงกิตติศัพท์ของ ‘คุณบอย’ ซึ่งจ๋าก็ช่วยเรายืนยันในข้อนี้ ว่าคุณบอยคือผู้กำกับที่มีความเป็นเลิศ และต้องเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว โดยหลายครั้งอาจมีการขึ้นเสียง หากนักแสดงเคลื่อนตัวไปผิดพลาดจากที่เคยซักซ้อมไว้ – แต่ถึงอย่างนั้นประสบการณ์ในรัชดาลัยฯ ก็กลายเป็นบทเรียนที่จ๋าอาจยังไม่ล่วงรู้ ว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเธอในเวลาต่อมา
“พอเราโตขึ้นเรื่อยๆ เราก็เหมือนกับจะเข้าใจพี่บอยมากขึ้นนะ ตัวพี่บอยเองใจเย็นลง และเราก็เข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการมากขึ้น” เธอย้อนความหลัง
“พี่บอยเปรียบเสมือนเป็นครูของจ๋าเลย”
เป็นทุกตำแหน่ง – รวมถึงแม่บ้าน
จ๋ายังคงโลดแล่นบนเวทีอยู่พักใหญ่ เธอได้เป็น Understudy (นักแสดงแทนในบทหลัก เผื่อกรณีที่นักแสดงบทนั้น ขึ้นแสดงไม่ได้) ของละครรัชดาลัยฯ ในหลายวาระ ไม่ว่าจะเป็น แคชฟีย่า จาก ‘ฟ้าจรดทราย เดอะ มิวสิคัล’ (2550) ซึ่งเธอมีโอกาสได้ขึ้นเวทีแสดงแทน หญิง-รฐา โพธิ์งาม อยู่หลายรอบ ก่อนจะทะยานขึ้นสู่การเป็นนักแสดงหลักใน ‘เรยา เดอะ มิวสิคัล’ ประชันกับ ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ในบทแม่ของ เรยา และบท พระนางซูอันไทเฮา จาก ‘ซูสีไทเฮา เดอะ มิวสิคัล’ (2557)
และจากละครเรื่องหลังนี่เอง ที่เธอได้เริ่มผันตัวมาสู่งานเบื้องหลัง ในบทบาทโปรดิวเซอร์คู่ขนานกันไปด้วย
แม้ดูเหมือนเป็นจุดหักเหครั้งใหญ่ แต่เอาเข้าจริงแล้วเส้นทางสู่เบื้องหลังของจ๋า เริ่มต้นมาก่อนหน้านั้นพอสมควร
“จริงๆ ตอนปริญญาโท ก็เรียนด้าน Arts Administration มาด้วยค่ะ และที่บ้านเองก็อยากให้เป็นเบื้องหลัง เพราะเขาก็รู้ว่าการเป็นนักแสดง หรือแม้แต่อองซอมเบิล มันเหนื่อยมาก ใช้เวลาเยอะ และเอาเข้าจริงค่าตอบแทนก็ไม่ได้เยอะ หรือคุ้ม เขากลัวว่าเราจะทำไปได้อีกไม่กี่ปี แล้วเราก็อายุเยอะขึ้นๆ พอไปเรียน ป.โท กลับมา ที่บ้านก็คงอยากให้ทำอะไรที่เป็นของตัวเอง หรือผันตัวเองเป็นผู้จัดละครมากกว่า”
งานเบื้องหลังของจ๋า เริ่มตั้งแต่คอนเสิร์ตการกุศล Musical Musicals (2552) ที่กลับมาจัดแสดงอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ ‘ซูสีไทเฮาฯ’ นั้น ถือเป็นงานเบื้องหลังเต็มตัวครั้งแรกของเธอ และเป็นพื้นที่สำหรับเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ทั้งการประสานงานและวางแผน
เราไม่ได้รู้สึกว่าเรายิ่งใหญ่ หรือใหญ่โตอะไรขนาดนั้น เราเป็นแค่เจ้าของกิจการเล็กๆ ที่พอไปได้ พอถูไถอยู่ แต่ตอนนี้ก็อาจจะหนักนิดหนึ่ง เราเลยค่อยๆ ไป เราไม่รีบ
และบริษัท Be Musical ก็กำเนิดขึ้นมาไม่นานหลังจากนั้น – แต่ในชื่ออื่น
“ตอนแรกก็ใช้ชื่อ Musical Musicals ไปเลย เพราะเรานึกชื่อไม่ออก เราก็เอาชื่อคอนเสิร์ตที่เราทำมาหลายๆ ครั้งมาตั้งชื่อบริษัท เหตุผลที่เปลี่ยนคือไม่มีอะไรเลยค่ะ เพราะเราไปดูดวงมา” เธอหัวเราะ
โดยเธออธิบายว่า ชื่อ Musical Musicals เป็นชื่อที่ซ้ำกันสองครั้ง มันเลยอาจจะมีการแข่งขัน หรือทะเลาะกันระหว่างหุ้นส่วน เธอจึงได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อ Be Musical ซึ่งมีความหมายที่เรียบง่าย แต่ชวนอบอุ่นใจ
“มันก็มาจากตัว B ที่เป็นนามสกุลเราด้วย และเรายังอยากใช้คำว่า Musical อยู่ เพราะนั่นคือความรักของเราที่มีต่อสิ่งนี้”
สำหรับบนเวทีแห่งใหม่ที่ชื่อ Be Musical นี้ บทบาทของเธอดูจะท้าทายกว่าที่เคย โดยเจ้าตัวแจงว่า ไม่ได้สำคัญตัวเองว่าเป็นผู้บริหาร หรือ CEO เพราะทุกวันนี้เธอยังคงทำงานทุกตำแหน่งในบริษัท รวมไปถึงแม่บ้านด้วย
“เราไม่ได้รู้สึกว่าเรายิ่งใหญ่ หรือใหญ่โตอะไรขนาดนั้น เราเป็นแค่เจ้าของกิจการเล็กๆ ที่พอไปได้ พอถูไถอยู่ แต่ตอนนี้ก็อาจจะหนักนิดหนึ่ง เราเลยค่อยๆ ไป เราไม่รีบ”
ทำมิวสิคัล แบบ Be Musical
สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับผลงานของ Be Musical มาบ้าง คงสัมผัสได้ถึงจุดเด่นเฉพาะตัวของละครเวทีจากค่ายนี้
แน่นอนว่าบทเพลงที่ไพเราะก็ส่วนหนึ่ง แต่กลิ่นอายหวานละมุน และเรื่องราวสนุกสนานชวนยิ้ม ก็เป็นส่วนสำคัญที่มีอยู่ในละครทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ‘ก๊วนคานทอง Love Game The Musical’ (2559) หรือ ‘สูตรเสน่หา เดอะ มิวสิคัล’ (2562) ไปจนถึงละครเวทีไซส์เล็กอย่าง Be Your Size (2562)
“จุดแข็งของเราน่าจะเป็นละครที่ทำให้รู้สึกดี (feel good) อาจจะเพราะโดยส่วนตัวเราชอบดูละครที่ดูจบแล้วยิ้มออกมา ชีวิตจริงมันเครียดจะตายอยู่แล้ว จะดูละครเครียดๆ ก็ไม่ไหว เราว่าจุดแข็งของเราคือ มาดูละครเรา แล้วคุณจะ feel good” จ๋าให้คำนิยาม
“เพลงก็ฟังง่าย แต่ร้องยากหรือเปล่าอีกเรื่อง” เธอตบท้ายด้วยเสียงหัวเราะ
ขณะเดียวกัน นอกจากความรื่นรมย์แล้ว เนื้อหาในบทละครของ Be Musical เอง ก็มุ่งหวังที่จะบอกอะไรบางอย่างแก่ผู้ชมและสังคม นั่นคือการไม่ตัดสินคนด้วยรูปลักษณ์ภายนอก – นี่เป็นสิ่งที่จ๋าแฝงฝังไว้ในละครแทบทุกเรื่องที่ทำ
“อย่าง ‘สูตรเสน่หาฯ’ ตัวละครอย่าง อลิน เอง ก็ให้คะแนนคนจากภายนอก ชาติตระกูลเอย รูปร่างหน้าตา การศึกษา แต่สุดท้ายคนที่ใช่สำหรับเขา อาจจะเป็น ครูกุ๊ก ก็ได้ ซึ่งไม่ใช่ลูกคนใหญ่คนโต เป็นลูกเมียน้อยด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายแล้วกลับเป็นคนที่พอดีกัน
“หรือก่อนหน้านี้อย่าง Be Your Size เราก็อยากทำละครที่บอกว่า อย่าดูคนจากภายนอก มีความ แอนชิลี (แอนชิลี-สก็อต เคมมิส) มาก ...แต่เรามาก่อนแอนนะคะ (หัวเราะ) คือเราอยากให้คนมองผ่านจุดนั้น ตอนนี้ทุกคนรู้สึกว่าต้องเพอร์เฟกต์ทุกอย่างเลย ลงรูปก็ต้องผ่านฟิลเตอร์ หรือต้องทำศัลยกรรม ซึ่งเราไม่ได้ต่อต้านคนที่ทำศัลยกรรมนะ แต่เรารู้สึกว่า ถึงเราจะไม่ทำ เราก็ต้องรู้สึกสวยในแบบของเราได้ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องไปศัลยกรรมหมด เราถึงจะสวย
“เราอยากให้คนมองเรื่องภายในมากขึ้น เราอยากสอดแทรกความรู้สึกรักตัวเอง และรักในความที่ไม่ต้องเพอร์เฟกต์ไปเสียทุกอย่างของคนอื่นด้วย”
ถ้ารักไม่พอ บ้าไม่พอ ก็ทำละครยาก
จากประสบการณ์ในวงการละครเวที ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง หากจะสรุปรวบยอดเป็นคำเพียงหนึ่งคำ ที่จ๋าพกพาสิ่งนั้นเดินมาด้วยตลอดเส้นทางแล้วล่ะก็ – ‘ความรัก’ คือคำตอบของเธอ
“ถ้าคุณรักในสิ่งที่คุณทำ คุณจะอยากทำมันให้ดีขึ้นทุกวัน เวลาออดิชันนักแสดง ก็จะบอกน้องๆ เสมอว่า จำวันที่อยากเล่น อยากมาออดิชันให้ผ่านเอาไว้ จำความรู้สึกนั้นไว้ เพราะว่าการอยู่กับละครเวทีมันเหนื่อยมาก จำวันที่อยากเข้ามาให้ได้ เพราะบางทีเราอาจทำไปจนเหนื่อยจนรู้สึกว่าไม่อยากทำแล้ว
“แต่อย่าลืมวันนั้นที่คุณอยากทำ เอาความรักนั้นมาทำงานด้วยในทุกๆ วัน
“การทำละครเวทีเรื่องหนึ่งใช้เงินเยอะมาก ผลตอบแทนก็ไม่ได้ฟู่ฟ่า ดังนั้น ความรัก ความอดทน และความบ้า ในการทำงาน มันจำเป็นต้องใช้ ถ้ารักไม่มากพอ บ้าไม่มากพอ ยากค่ะ
“แต่ก็พยายามจะบอกทุกคนนะ ว่าไม่ต้องเลียนแบบเราก็ได้ เราแค่เป็นคนบ้า” จ๋ายังคงส่งเสียงหัวเราะเช่นเคย
การทำละครเวทีเรื่องหนึ่งใช้เงินเยอะมาก ผลตอบแทนก็ไม่ได้ฟู่ฟ่า ดังนั้น ความรัก ความอดทน และความบ้า ในการทำงาน มันจำเป็นต้องใช้ ถ้ารักไม่มากพอ บ้าไม่มากพอ ยากค่ะ
กลับมาพบผู้ชมครั้งแรก …ในรอบปี!
เช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพการแสดงสดทั่วประเทศ เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา Be Musical ก็ซวนเซไป ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจ๋าบอกว่า เธอผันตัวไปทำขนมอยู่ปีกว่า เพื่อไม่ให้ว่างจนเครียด แต่ถึงอย่างนั้นความอยากทำละครก็ยังคงอยู่
แถมเธอยังคงพยายามพัฒนาบทละครต่างๆ เพื่อพร้อมที่จะกลับมาอีกครั้งหลังสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น เพราะเธอเชื่อว่า สักวันโควิด-19 จะต้องจากไป หรือจะมีวันที่เราจะอยู่กับโรคนี้ได้โดยไม่ต้องหวาดระแวงมากเท่าทุกวันนี้
แน่นอนว่า ทุกคนในทีมของเธอล้วนคิดถึงการแสดงสด เพราะแม้จะแยกย้ายไปทำเป็นละครโทรทัศน์ หรือละครสตรีมมิง แต่มันก็ยังขาดเสียงตอบสนองแบบสดๆ จากผู้ชมอยู่ดี
“ความรู้สึกนั้นมันหาซื้อไม่ได้จริงๆ” เธอว่า
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ใช่มิวสิคัลเต็มรูปแบบเสียทีเดียว แต่อีกไม่นาน เราก็จะได้เห็นจ๋ากลับไปบนเวทีอีกครั้ง กับการแสดงสดครั้งแรกในรอบปีของเธออย่างคอนเสิร์ต ‘WOMEN OF BROADWAY’ An Underground Party ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในวันที่ 7 และ 8 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ บนเวทีใต้ดินของ Philtration
“ถือเป็นการร้องเพลงจริงๆ ในรอบปี เพราะก่อนหน้านี้มีแค่งานคอนเสิร์ตเล็กๆ เมื่อมีนาคม 2564 ซึ่งก็คือปีกว่ามาแล้ว” จ๋าเล่าย้อน “ตอนแรกก็ว่าจะร้องสัก 18 เพลงแล้วกันนะ แต่ตอนนี้ ไปๆ มาๆ ก็เป็น 24 เพลงแล้ว ก็เลยไม่ร้องคนเดียวเนาะ ไม่ไหว ฉันแก่แล้ว ฉันเหนื่อย” เธอหัวเราะ
ด้วยเหตุนี้มันจึงกลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า Mini Concert by Jah and friends ไปโดยปริยาย “คนกลุ่มนี้เป็นเพื่อนจริงๆ ที่ร้องเพลงด้วยกันมา 20 ปีแล้ว ก็เข้าขากัน ซึ่งนอกจากเราจะได้กลับมาทำงานกับเพื่อนสนิท เรายังได้กลับมาเจอคนดูด้วย ก็ถือว่าได้สองเด้ง”
ส่วนที่มาของธีม Women of Broadway นั้น จ๋าเผยว่า เมื่อพูดถึงเพลงมิวสิคัลของผู้หญิง รายชื่อเพลงจำนวนมหาศาลก็พรั่งพรูออกมาโดยไม่ต้องใช้ความคิดมากนัก เพราะที่ผ่านมาผลงานละครของเธอมีการส่งเสริมความเป็น ‘เพื่อนหญิง-พลังหญิง’ อย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากตัวละครนำหญิงที่มีบุคลิกอันโดดเด่นในเรื่องต่างๆ
จ๋ายอมรับว่าตื่นเต้นกับการกลับมาครั้งนี้อยู่ไม่น้อย – คงไม่ต่างกับหลายคนที่โหยหาการฟังมิวสิคัลสดๆ มานาน
There are some born to shine, but can’t do it alone.
เมื่อพูดถึง Women of Broadway แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะถามว่า สำหรับจ๋า ‘หญิงแห่งบรอดเวย์’ คนใดที่อยู่ในหัวใจของเธอ?
คำตอบแรกคือ ชื่อที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง เอลฟาบา จาก Wicked (2003) แม่มดผิวเขียวผู้ถูกตีตราว่าเป็น ‘นางร้าย’
“คือทุกคนมองว่า คนตัวเขียวเป็นคนประหลาด ต้องเป็นคนไม่ดี ทำแต่เรื่องแย่ๆ แต่พอ Wicked เอามาทำ กลายเป็นว่า มีแต่คนใส่ความเขา เพราะรูปร่างหน้าตาเขาเป็นแบบนั้น และเรื่องนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับเพื่อนด้วย ซึ่งเราชอบมากๆ เพราะบางทีคนเราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างเดียว”
โดยในคอนเสิร์ตที่กำลังจะมาถึงนี้ นอกจากเพลงใน Wicked แล้ว ยังมีเพลงจาก Smash (2021) ที่บอกเล่าแนวคิดนี้ คือเพลง Don’t Forget Me ซึ่งมีท่อนหนึ่งที่ร้องว่า “But there are some born to shine who can't do it alone.” (มีบางคนเกิดมาเพื่อเด่นดัง แต่เขาทำเพียงคนเดียวไม่ได้)
“ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง หรือใครก็ตามที่มีความสามารถ แต่ถ้าไม่มีคนให้โอกาส ไม่มีคนดู ไม่มีใครมาคอยจับตามองผลงานของเรา เราก็แจ้งเกิดไม่ได้ ซึ่งเราชอบแนวคิดนี้”
เรารู้สึกว่าเราก็เป็นคนเหมือนเทรซี ที่ก็อ้วน แต่เต้นได้ (ขำ) ฉันเต้นสวยด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง สวยไม่สวย อ้วนผอม สูงต่ำ ขาวดำ มันก็เป็นคนน่ะ
ขณะที่อีกตัวละครหนึ่งที่จ๋าหลงรัก คือ เทรซี จาก Hairspray (2002) “รู้สึกว่าเขาไม่แคร์สื่อดี เขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาอ้วน คือเขารู้ว่าเขาอ้วน แต่เขาทำได้ทุกอย่าง อยากให้เขาทำอะไร เขาทำได้หมด อยากให้เขาเต้นอะไร เขาเต้นได้หมด
“เรารู้สึกว่าเราก็เป็นคนเหมือนเทรซี ที่ก็อ้วน แต่เต้นได้ (ขำ) ฉันเต้นสวยด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง สวยไม่สวย อ้วนผอม สูงต่ำ ขาวดำ มันก็เป็นคนน่ะ”
และชีวิตของหลากหลายตัวละครบนเวทีแห่งบรอดเวย์เหล่านี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่ได้ต่างจากเส้นทางชีวิตของ จ๋า สุดาพิมพ์ เท่าใดนัก
– ชีวิตที่ต้องดิ้นรนฟันฝ่า เผชิญกับคำตัดสิน เพื่อพิสูจน์ความรักที่เธอมีต่อมิวสิคัล
รับรองได้ว่าเสียงร้องของเธอบนเวทีคอนเสิร์ตครั้งนี้จะสะเทือนไปสู่ทุกหัวใจของคนรักมิวสิคัลแน่นอน
