‘Baan Noorg - บ้านนอก’ : พลังของกลุ่มศิลปินไทยใน Documenta นิทรรศการใหญ่ของโลกศิลปะ
...
LATEST
Summary
- ในงานใหญ่ของโลกศิลปะอย่าง Documenta ครั้งที่ 15 กลุ่มศิลปินไทยที่ได้ไปจัดแสดงงานคือ Baan Noorg Collaborative Arts and Culture หรือกลุ่มความร่วมมือทางศิลปะและวัฒนธรรม ‘บ้านนอก’ เป็นกลุ่มศิลปินร่วมสมัยที่ทำงานเชื่อมโยงกับชุมชน อยู่ที่ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ก่อตั้งโดย จิระเดช และพรพิไล มีมาลัย
- บ้านนอกเป็นกลุ่มที่มุ่งทำงานแบบ ‘สหวิทยาการ’ โดยไม่ได้โฟกัสไปที่ความเป็น Visual Art หรือศิลปะสาขาใดสาขาหนึ่ง แต่เป็นการพบกันระหว่างศิลปะ สังคมศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี และนิเวศทางสังคม โดยมีหัวใจสำคัญคือ ‘การทำงานร่วมกับชุมชน’
- 'Churning Milk: the Rituals of Things’ คือชื่องานศิลปะที่บ้านนอกสร้างสรรค์ไว้ใน Documenta โดยพวกเขาใช้วิธีวิทยาที่เรียกว่า ‘สัมพันธบท’ นำองค์ประกอบอันสลับซับซ้อนหรือไม่เกี่ยวข้องกัน ให้มาอยู่ด้วยกันและอยู่บนไทม์ไลน์เดียวกัน โดยสิ่งที่บ้านนอกจับมารวมกันในครั้งนี้คือ รามายณะตอนกวนเกษียรสมุทร, สเกตบอร์ด, นิทานกริมม์, วัวนมหนองโพ และหนังใหญ่
...
ในโลกของศิลปะ จะมีงานนิทรรศการใหญ่ๆ ที่หลายประเทศรอคอยอยู่ไม่มากนัก และหนึ่งในนิทรรศการแบบที่ว่าคือ ‘Documenta’ นิทรรรศการศิลปกรรมนานาชาติที่จัดแสดง ณ ประเทศเยอรมนีในทุกๆ 5 ปี
Documenta ขึ้นชื่อเรื่องการจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัย อีกทั้งประวัติศาสตร์ที่มาของนิทรรศการนี้ก็มีรากฐานที่น่าสนใจ เป็นงานที่ขึ้นชื่อว่ายึดโยงและเป็นของ ‘ประชาชน’ ลบภาพของนิทรรศการศิลปะอันฟู่ฟ่าที่เป็นเรื่องของชนชั้นสูงเพียงเท่านั้น
แต่เหตุผลที่เราหยิบยกเรื่อง Documenta มาเล่าถึงในวันนี้ ไม่ใช่เพียงเอกลักษณ์อันแตกต่างของมันเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะงาน Documenta ในปี 2022 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 นี้ มีกลุ่มศิลปินไทยกลุ่มหนึ่งที่ได้ร่วมจัดแสดงงานที่นิทรรศการ โดยที่เรื่องราวของพวกเขาก็ชวนให้เราอยากทำความรู้จักไม่แพ้นิทรรศการใหญ่ครั้งนี้เลย
กลุ่มศิลปินที่ว่าก็คือ Baan Noorg Collaborative Arts and Culture หรือ กลุ่มความร่วมมือทางศิลปะและวัฒนธรรม ‘บ้านนอก’ เป็นกลุ่มศิลปินที่ทำงานเชื่อมโยงกับชุมชน อยู่ที่ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ก่อตั้งโดย จิระเดช และ พรพิไล มีมาลัย
แน่นอนว่าโอกาสที่เราจะไปเยือนเยอรมนีและชมผลงานของศิลปินไทยกับตาก็เป็นเรื่องยาก วันนี้ เราจึงขอชวนคุณมาทำความรู้จัก ‘บ้านนอก’ ให้มากขึ้น ผ่านน้ำเสียงของพวกเขาที่บอกเล่าให้เราฟังตั้งแต่คำถามง่ายๆ ว่า ‘บ้านนอก’ เป็นใคร เรื่อยไปถึงการถือกำเนิดของนิทรรศการ Documenta, บรรยากาศของนิทรรศการครั้งที่ 15 ที่พลิกโฉมและความหมายของศิลปะจากกรอบเดิมๆ ไปจนถึงไอเดียเบื้องหลังงานที่พวกเขานำไปจัดแสดงในงานนี้ด้วย
ภาพโดย : Liam Morgan
‘บ้านนอกฯ’ กลุ่มศิลปินที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และทำงานร่วมกับชุมชน
Baan Noorg Collaborative Arts and Culture หรือ 'บ้านนอก' ความร่วมมือทางศิลปะและวัฒนธรรม เป็นกลุ่มศิลปินร่วมสมัย และองค์กรไม่แสวงผลกำไรซึ่งอยู่ที่ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
บ้านนอกเป็นกลุ่มที่มุ่งทำงานแบบ ‘สหวิทยาการ’ โดยไม่ได้โฟกัสไปที่ความเป็น Visual Art หรือศิลปะสาขาใดสาขาหนึ่ง แต่เป็นการพบกันระหว่างศิลปะ สังคมศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยี และนิเวศทางสังคม โดยมีหัวใจสำคัญคือการทำงานร่วมกับชุมชน
“เรามุ่งเน้นที่จะทำงานเป็น Community Base คือทำงานร่วมกับชุมชน เพราะเราอยู่ในชุมชน เราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะฉะนั้นประสบการณ์ในการเป็น Visual Artist มันไม่ตอบโจทย์เรื่องแบบนี้ เพราะรูป ทรง สี แสง เงา ประติมากรรม ภาพเพนต์ มันอาจสื่อสารกับเขาไม่ได้
“ป้าที่ขายก๋วยเตี๋ยวข้างบ้าน เขาไม่มีทางรู้เลยว่ารูปนี้มันสวยเพราะว่าเส้นมันดี เงามันเฉียบ แต่ในงานที่มี social engagement หรือการที่เราเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคมโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ สิ่งนี้มันทำงานมากกว่าสำหรับเรา”
“บ้านนอกเป็นกลุ่มศิลปินที่ริเริ่มและขับเคลื่อนโครงการด้วยตัวเอง คือเราริเร่ิมโดยไม่ได้มีใครมาจ้าง เราไม่ได้เป็นองค์กรที่อยู่ตามเมืองใหญ่ๆ หรืออะไรก็ตามที่ใช้งบของรัฐ หรืองบของท้องถิ่น เราเป็นกลุ่มศิลปินที่ทำโปรเจกต์เมื่อหาเงินได้เอง เพราะฉะนั้นความยากของการต่อรองกับกลุ่มทุน หรือผู้ที่ให้ทุนแบบนี้ คือเราต้องมีความขยันในการเขียน proposal ขอทุนจากต่างประเทศ เพื่อที่จะมารันโปรเจกต์ในชุมชนของเรา” จิระเดชกล่าว
บ้านนอกก่อตั้งในปี 2011 โดยจิระเดช และพรพิไล ในฐานะที่เป็นกลุ่มศิลปะร่วมสมัย จวบจนทุกวันนี้ก็ถือว่าบ้านนอกใกล้จะย่างเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว จากที่เริ่มทำงานกันเพียงสองคน จิระเดชและพรพิไลเริ่มค่อยๆ ขยายความร่วมมือไปสู่ชุมชน ศิลปินหรือกลุ่มศิลปินจากต่างประเทศ รวมไปถึงองค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ
กิจกรรมก็แตกกระจายออกมาหลายแบบ เช่น Artist Residency พื้นที่รองรับศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศเพื่อให้มาพำนักกับบ้านนอกและทำงานศิลปะร่วมกับคนในชุมชน, โปรแกรมฝึกงาน, คลาสเรียนศิลปะ, โครงการที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชื่อ หนองโพ Kid ดี (NongpoKiDdee), Community Lab ไปจนถึงอีเวนต์ ฯลฯ โดยทั้งหมดมีหัวใจสำคัญคือการทำงานกับชุมชน
“ยุทธศาสตร์สำคัญของของเราคือ Community Development หรือการพัฒนาชุมชน เราไม่ใช่กลุ่มศิลปินที่อยู่ในเมือง หรือกลุ่มศิลปินที่รับจ้างงาน เพราะฉะนั้นเราทำงานกับคอมมูนิตีเป็นหลัก โดยชุมชนหนองโพเป็นชุมชนที่มีขนาดเล็กมาก มีประชากรรวมกันทั้งหมดประมาณ 4,500 คน ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน เราทำงานสหวิทยาการ และต้องทำงานร่วมกับคนอื่นถึงจะถือว่าเป็น ‘บ้านนอก'”
ตัวอย่างงานที่บ้านนอกทำร่วมกับชุมชนก็เช่น ‘หนองโพ Kid ดี’ (NongpoKiDdee) ซึ่งเริ่มจากการทำเทศกาลหนังสั้นร่วมกับเด็กและเยาวชน โดยพาเด็กในชุมชนไปรู้จักกับรากเหง้าของชุมชนผ่านเรื่องราวจากผู้สูงวัยหรือปราชญ์ของชุมชน จากนั้นจึงให้เด็กๆ ทำภาพยนตร์จากเรื่องราวเหล่านั้น โดยบ้านนอกยังมีโอกาสเดินทางไปทำกิจกรรมเดียวกันนี้กับเด็กและเยาวชนในเมืองไทเป ไต้หวันอีกด้วย
จิระเดชยังเล่าถึงการต่อยอดเฟสติวัลของเขาว่า “ในปี 2017 เราขยับจากการทำ Film Festival มาเริ่มทำโปรเจกต์เกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชน โดยในพื้นที่ของเรา ใครๆ ก็รู้จักว่านมหนองโพเป็นนมที่มีชื่อเสียง เป็นสหกรณ์โคนมที่มีอายุยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เราก็เลยให้เยาวชนลงพื้นที่และศึกษาฟาร์มในหมู่บ้าน ขณะเดียวกันเมื่อศึกษาเสร็จเขาก็มาทำหนังสั้นของตัวเอง ไม่ใช่เพื่อเอาไปฉายเฉยๆ เหมือนเดิมนะ แต่ทำหนังเพื่อที่จะโปรโมตสินค้าของชุมชน ซึ่งเอาวัตถุดิบของชุมชนมาเพิ่มคุณค่า (Value Added)”
ในภายหลังเด็กๆ ในชุมชนยังได้นำผลิตภัณฑ์นมมาพัฒนาเป็นสินค้า ได้ออกมาเป็น ‘สบู่นมหนองโพ’ หลังจากนั้นในปี 2019 ก็เริ่มที่จะทำแบรนดิ้ง มาร์เก็ตติ้ง โดยบ้านนอกก็ได้จัดเวิร์กช็อป เชิญคนที่ทำงานในเอเจนซี่จริงๆ มาบรรยายให้คนในชุมชนฟัง เพื่อที่จะได้นำผลิตภัณฑ์ที่เด็กๆ ทำมาขยายผลและออกตลาดได้จริง
นอกจากหนองโพ Kid ดี ก็ยังมีกิจกรรมรูปแบบอื่นอีกมากมายที่บ้านนอกทำ เช่นในปี 2014 มีโครงการ ‘บ้านนอก biennale’ เป็นโปรเจกต์ที่ทำพิพิธภัณฑ์แบบ ‘pop-up' โดยทำงานร่วมกับนักศึกษาจากทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร และธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งศิลปินรับเชิญจากต่างประเทศมาค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำงานในชุมชน
“ยกตัวอย่างโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นในงานนี้ก็เช่น กิจกรรมที่เข้าไปค้นคว้ารูปถ่ายของชุมชน และพบรูปถ่ายเก่าๆ จากชุมชนหลายครัวเรือน โดยมีอยู่รูปหนึ่งที่เขาตั้งชื่อว่า 'ครูของคุณชื่ออะไร' โปรเจกต์นี้น่าสนใจตรงที่วันจัดแสดงงาน มีคนในชุมชนหลายคนมาร่วมงาน เราอาจจะไม่รู้จักคนในรูปเลยเพราะเกิดไม่ทัน แต่คนในชุมชนหลายคนจำได้ และมันทำให้เกิดบทสนทนา ทำให้คนในอดีตเหล่านั้นมีชีวิตขึ้นมาใหม่ ผ่านเรื่องเล่า ผ่านประสบการณ์ของแต่ละคนที่แบ่งปันกันในงาน” จิระเดชเล่า
นอกจากงานศิลปะแล้วในปี 2020 บ้านนอกยังให้ทุนทางศิลปะ โดยเปิดให้นักศึกษาผู้สนใจด้านศิลปะทั่วไป ไม่จำกัดสาขาวิชา ส่งพอร์ตเข้ามาเพื่อที่จะสมัครขอรับทุน ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้จากรัฐบาลไต้หวัน ทำโปรเจกต์ในพื้นที่ราชบุรีด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยจากงานทั้งหมดที่บ้านนอกทำมาตลอดกว่าทศวรรษ และแสดงให้เห็นหัวใจสำคัญของคอลเลกทีฟนี้ได้เป็นอย่างดี – งานศิลปะแบบบ้านนอกนั้นมีชุมชนเป็นศูนย์กลาง และความงามก็เกิดขึ้นระหว่างทาง เมื่อศิลปะและคอมมูนิตีก้าวเดินร่วมกันนั่นเอง
เรามุ่งเน้นที่จะทำงานร่วมกับชุมชน เพราะเราอยู่ในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะฉะนั้นประสบการณ์ในการเป็น Visual Artist มันไม่ตอบโจทย์เรื่องแบบนี้ รูป ทรง สี แสง เงา มันอาจสื่อสารกับเขาไม่ได้
สิ่งที่ทำให้ Documenta ต่างจากนิทรรศการศิลปะอื่น
ก่อนจะไปสำรวจว่าบ้านนอกได้สร้างสรรค์งานแบบไหนไว้ใน Documenta ครั้งที่ 15 พวกเขาได้แนะนำให้เรารู้จักกับนิทรรศการนี้ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของมัน
จิระเดชและพรพิไลเล่าว่า ย้อนกลับไปในอดีตนั้นประเทศเยอรมนีถูกโจมตีจากระเบิดทางอากาศในช่วงปี 1944 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และนาซีล่มสลาย โดยเป้าหมายสำคัญของการโจมตีอยู่ที่เมืองคัสเซิล เพราะเป็นเมืองฐานผลิตรถถังและยุทโธปกรณ์ทางสงคราม
“การโจมตีที่เกิดขึ้นทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง Documenta -- งานศิลปะแบบอื่นๆ เช่น Biennale มักจะให้ภาพของประเทศต่างๆ ส่งผลงานมาแข่งกัน เป็นเหมือนโอลิมปิกในด้านศิลปะ เกิดจากความภาคภูมิใจของแต่ละประเทศ และทุกประเทศก็จะพยายามแสดงถึงความล้ำสมัยในเชิงทัศนศิลป์ แล้วเอามาโชว์กัน
"แต่ Documenta มันตั้งต้นจากความอับอายของการที่คัสเซิลเคยเป็นเมืองผลิตอาวุธ และพอมันโดนถล่ม เขาก็เลยสร้าง Documenta ขึ้นมาบนซากปรักหักพัง เพื่อรีแบรนด์ตัวเองให้มีความศิวิไลซ์ หรือฟื้นคืนชีพให้เมืองที่เคยเป็นเป้าหมายการโจมตีทางอากาศ ดังนั้นงานเทศกาลศิลปะ Documenta จึงต่างจากงานอื่นที่ต้นตอ เพราะมันเกิดจากความล้มเหลวของชาติ ความหมายของชาติ หรือ Nationalism”
พวกเขายังเล่าให้เห็นภาพว่าในเมืองคัสเซิลจะมี ‘Fridericianum' พิพิธภัณฑ์หลักของเมือง ซึ่งเป็นมิวเซียมแห่งแรกของโลกที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมงานภายในมิวเซียมได้ จากแต่เดิมที่พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมักจะเป็นที่เก็บงานสะสมของราชวงศ์และชนชั้นสูง
“เมืองคัสเซิลเคยถูกทำลายจนไม่เหลือภาพความเป็นเมืองจนถึงปี 1945 ขณะที่ Documenta ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1955 แปลว่าเมืองนี้ใช้เวลาแค่ 10 ปีในการฟื้นคืนชีพขึ้นมา และกลายเป็นเมืองต้นแบบของโลกในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรม ในอดีตงานของศิลปินชื่อดังมากมายถูกจัดแสดงขึ้นที่งานนี้ เช่น เฮนรี่ มัวร์, ปิกัสโซ่, ฌองอาร์ป (Jean Arp) และศิลปินมีชื่อเสียงดังๆ ในยุคโมเดิร์นอาร์ต
“เมืองคัสเซิลพยายามลบภาพด้านมืดของความเป็นนาซี และทำให้ Documenta กลายเป็นของประชาชน เพราะฉะนั้นการจัดแสดง Documenta ในจำนวน 100 วัน เขาจะเปิดให้ประชาชนทุกชนชั้นเข้าไปชมงาน และ Documenta ยังทำให้เกิดวิธีคิดทางการศึกษาเกี่ยวกับศิลปะ คือมีการกำหนดให้โรงเรียนต่างๆ พาเด็กๆ เข้ามาดูงาน มาศึกษาศิลปะ จนกลายเป็นสิ่งที่ปลูกฝังความเข้าใจ การรับรู้ของเยาวชนในเรื่องของศิลปะด้วย” จิระเดชเล่า
หากพูดถึงนิทรรศการ Documenta งานศิลปะหนึ่งที่หลายคนมักจะนึกถึง คืองานของศิลปินคนหนึ่งที่หลายคนรู้จักเขาผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ และเป็นคนที่มีชื่อเสียงมากๆ นั่นคือ โจเซฟ บอยส์ เขาแสดงงานใน Documenta ครั้งที่ 7 ในปี 1982 โดยงานศิลปะของเขาเป็นโปรเจกต์ปลูกต้นโอ๊ค 7,000 ต้นในระยะเวลา 5 ปี (เท่ากับระยะว่างเว้นของ Documenta ที่จัดแสดงขึ้นทุกๆ 5 ปี โดยโปรเจกต์ของเขาจึงสิ้นสุดเมื่อ Documenta ครั้งที่ 8 เริ่มต้นขึ้น)
“บอยส์เป็นนักสร้างประติมากรรม และเขามองงานนี้เป็น Social Sculpter หรือประติมากรรมทางสังคม คือบอยส์ใช้ต้นโอ๊คหนึ่งต้นบวกกับหินหนึ่งแท่งขายเป็นชุดๆ ให้กับผู้คน โดยคนที่ซื้อจะได้ Cerfiticate พร้อมลายเซ็น เมื่อมีคนสั่งซื้อ ก็จะมีทีมงานคอยไปปลูกต้นไม้ตามยอดสั่งซื้อ
“เราจะเห็นได้ว่าความคิดของเขาที่ล้ำไปข้างหน้า และมันแปลงโฉมของเมืองไปอย่างสิ้นเชิง จากเมืองที่มองไม่เห็นสีเขียว กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยต้นไม้ตามข้างทาง ทุกวันนี้เมืองคัสเซิลมีต้นโอ๊คเต็มเมือง โดยที่ต้นโอ๊คเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเยอรมนี มันเป็นต้นไม้ที่มีอายุเกินกว่า 300-1,000 ปี และเป็นต้นไม้ที่ถือว่าเป็นราชาของต้นไม้”
นอกจากนี้จิระเดชยังเล่าให้ฟังถึงศิลปินไทยคนแรกที่ไปร่วม Documenta นั่นคือ อาจารย์สาครินทร์ เครืออ่อน ที่ไปร่วมใน Documenta ครั้งที่ 12 ปี 2007 โดยแนวคิดของการทำงานในครั้งนั้นก็เป็นประติมากรรมทางสังคมเช่นกัน โดย อ.สาครินทร์ ได้ไปปลูกข้าวบนเชิงเขาที่หน้ามิวเซียมแห่งหนึ่งซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ โดยเขาใช้ระเบียงเชิงเขาหน้ามิวเซียมทำเป็นนาขั้นบันได แล้วก็เอาเมล็ดข้าวจากราชบุรีไปเพาะพันธุ์ และดำนาลงไปในพื้นดินที่เยอรมนี
Documenta จะเปิดให้ประชาชนทุกชนชั้นเข้าไปชมงาน และยังทำให้เกิดวิธีคิดทางการศึกษาเกี่ยวกับศิลปะ คือมีการกำหนดให้โรงเรียนต่างๆ พาเด็กๆ เข้ามาดูงาน มาศึกษาศิลปะ จนกลายเป็นสิ่งที่ปลูกฝังความเข้าใจ การรับรู้ของเยาวชนในเรื่องของศิลปะด้วย
การพลิกโฉมนิทรรศการ Documenta ครั้งที่ 15
ลำพังเอกลักษณ์ของ Documenta ก็ทำให้นิทรรศการนานาชาติงานนี้น่าสนใจมากอยู่แล้ว แต่ในนิทรรศการครั้งที่ 15 ก็มีสิ่งที่ทำให้ Documenta พิเศษกว่าปีไหนๆ ด้วย
โดยจิระเดชและพรพิไลเล่าว่า นับตั้งแต่ Documenta ถือกำเนิดขึ้นมา จนถึง Documenta ครั้งที่ 14 นิทรรศการศิลปะนี้ไม่เคยมีภัณฑารักษ์แบบกลุ่มมาก่อน แต่จะเป็นคนคนเดียวที่บริหารจัดการทุกอย่าง เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือกอะไร วางตำแหน่งอย่างไร เรียกได้ว่าภัณฑารักษ์คือผู้ที่อยู่บนสุดของพีระมิดการตัดสินใจ
แต่ Documenta ในครั้งนี้กลับเปลี่ยนแปลงวิธีคิดไปอย่างสิ้นเชิงทั้งรูปแบบ และวิธีการดำเนินงาน เพราะการเข้ามาของภัณฑารักษ์ที่เป็น ‘กลุ่ม’ ชื่อว่า ‘Ruangrupa'
Ruangrupa เป็นกลุ่มคอลเลกทีฟจากอินโดนีเซียที่ก่อตั้งมานาน พวกเขารวมตัวกันทำงานในพื้นที่เดียวกัน โดยแต่ละคนมาจากแบ็กกราวนด์ที่ต่างกัน บ้างมาจากสายสถาปนิก บ้างมาจากสายสังคมศึกษา และมารวมตัวกันทำงานในยุคหลังการปกครองของผู้นำเผด็จการซูฮาร์โต
แนวคิดของ Ruangrupa คือการชวนกลุ่มศิลปินต่างๆ ไปที่ Documenta เพื่อไปทำโปรเจกต์ที่แต่ละศิลปินอยากทำ นอกจากผลงานของศิลปินแต่ละคอลเลกทีฟแล้ว และยังมีงานที่ชวนคอลเลกทีฟต่างๆ มารวมกลุ่มและทำงานขึ้นมาร่วมกันด้วย
“งานในรอบนี้ทุกคนทำงานในแนวระนาบเดียวกัน ทุกคนแม้แต่ภัณฑารักษ์ก็ไม่ได้อยู่เหนือกว่าเรา Ruangrupa ทำให้เกิดการตั้งคำถามใหม่ๆ ในโลกศิลปะอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะใน South East Asia หากเราได้รู้จักตัวตนของสมาชิก Ruangrupa เราจะพบว่าเขาไม่แคร์เรื่องลิมิตของศิลปะ และพยายามจะออกนอกกรอบไปสู่สิ่งที่โลกศิลปะตะวันตกเคยกดทับเราอยู่เสมอ”
Ruangrupa ได้คัดเลือกศิลปินโดยพยายามที่จะรื้อโครงสร้างที่มักถูกกำหนดไว้จากฝั่งยุโรปหรืออเมริกา โดยการดำเนินงานครั้งนี้อยู่ภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า 'Lumbung' ซึ่งแปลว่า 'ยุ้งฉาง' ในวัฒนธรรมพื้นบ้านของอินโดนีเซีย -- ยุ้งเป็นพื้นที่ที่ชาวนาหรือคนท้องถิ่นใช้สอยร่วมกัน เกิดการรวมตัวและช่วยเหลือกันภายใต้พื้นที่นี้ และผลผลิตจากยุ้งฉางก็จะถูกแจกจ่ายกลับไปให้ชุมชน จึงจะเห็นได้ว่าระบบคิดเช่นนี้เป็นระบบคิดแบบ ‘Community Base’ หรือเน้นความเป็นชุมชน
"งานครั้งนี้ดำเนินบนหลักการที่ทุกคนสามารถออกเสียงได้ และเสียงของทุกคนก็จะมีคนฟัง ไม่ว่าคุณจะเป็นใครเมื่อเข้าไปสู่ระบบของ Documenta ครั้งนี้ ทุกคนได้พูดหมด มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างแตกต่างจากการถูกคัดเลือกในงาน Documenta ครั้งก่อนๆ หรือในเทศกาลระดับโลกอื่นๆ มันเป็นการทำงานที่ทำให้ทุกคนเท่ากัน เมื่อคนเท่ากัน วิธีการทำงานจึงเกิดกระบวนการใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย" จิระเดชกล่าว
‘บ้านนอกฯ’ ในนิทรรศการ Documenta
'Churning Milk: the Rituals of Things’ คือชื่องานศิลปะที่บ้านนอกสร้างสรรค์ไว้ใน Documenta ครั้งที่ 15 นอกจาก จิระเดช และพรพิไล ยังมีสมาชิกศิลปินคนรุ่นใหม่อีกหลายคนที่ร่วมกันสร้างผลงานนี้ออกมา เช่น อวิกา สมัครสมาน, กฤตพร มหาวีระรัตน์, ดังชนก พงษ์ดำ ฯลฯ
โดยพวกเขาเล่าว่า 'Churning Milk: the Rituals of Things’ เริ่มต้นจากการพยายามหยิบสิ่งเป็นยุทธศาสตร์ของบ้านนอกมาเป็นไอเดีย เช่น การทำงานกับชุมชน การทำงานกับพื้นที่ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมร่วมสมัย ฯลฯ จนสุดท้ายก็ได้เลือกวิธีวิทยาที่จะนำองค์ประกอบอันสลับซับซ้อนหรือไม่เกี่ยวข้องกัน ให้มาอยู่ด้วยกันและอยู่บนไทม์ไลน์เดียวกันให้ได้ นั่นคือแนวคิดแบบ ‘สัมพันธบท’
“เราเลือกใช้ Intertextuality หรือที่เรียกว่า 'สัมพันธบท' เป็นวิธีคิดที่ช่วยนำเอารายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่ดูแล้วเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน มาอยู่บนไทม์ไลน์หรือแพลตฟอร์มด้วยกันได้ โดยสิ่งที่บ้านนอกจับมารวมกันในครั้งนี้คือ รามายณะ, สเกตบอร์ด, นิทานกริมม์, วัวนมหนองโพ และหนังใหญ่”
สิ่งที่บ้านนอกใช้เป็นหลักในการแสดงงานครั้งนี้คือรามายณะ ตอน 'กวนเกษียรสมุทร' ซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่บ้านนอกคอลเลกทีฟดำเนินงานอยู่นั่นคือชุมชนหนองโพ ความเชื่อมโยงนั้นมีทั้งในแง่ว่ารามายณะเป็นอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และรามายณะตอนเกษียรสมุทร ก็ยังไม่เคยถูกนำไปแสดงในการแสดงหนังใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของราชบุรี
จิระเดชอธิบายเพิ่มว่า รามายณะตอนเกษียรสมุทรจะบอกเล่าเหตุการณ์ที่ทั้งเทพและอสูรต้องร่วมมือกัน ทำงานร่วมกัน แตกต่างจากรามายณะตอนอื่นๆ ที่มักเกิดความขัดแย้งกัน การร่วมงานกันครั้งนี้ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำอมฤต ที่จะนำมาซึ่งความเป็นอมตะ โดยเรื่องราวการทำงานร่วมกันของเทพและอสูรนี้ก็ไปตรงกับปรัชญาในการทำงานของบ้านนอกที่เน้นการทำงานแบบ 'collaborate' อีกทั้งตามความเชื่อแล้ว 'เกษียรสมุทร' ก็เป็นทะเลน้ำนม ซึ่งสอดคล้องกับการทำฟาร์มและแปรรูปนมของคนในพื้นที่ราชบุรีด้วย
"ในบางบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเทพในรามายณะ ยังมองว่าเทพในรามายณะคือ 'อารยัน' หรือคนขาวที่อพยพมาจากทางเหนือและมายึดครองคนผิวสี ส่วนอสูรคือ 'ดราวิเดียน' หรือคนผิวสี แล้วแนวคิดนี้มันสัมพันธ์กับแนวคิดที่บอกว่าคนไทยมาจากเขาอัลไต เป็นวิธีการสร้างชาติโดยการสร้างคำอธิบายที่ดูว่าเราเป็นผู้ที่เหนือกว่า เป็นผู้มีชาติพันธุ์ที่สูงส่ง แล้วอพยพมารุกรานและยึดครองทางใต้ได้ มันเป็นวิธีคิดที่มองคนไม่เท่ากัน และแนวคิดนี้ก็เกิดขึ้นอยู่ทั่วในประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งในยุโรป"
นอกจากนี้ งานของบ้านนอกยังนำเสนอสัมพันธบทอีกอย่างคือ ‘วัวนม’ -- บ้านนอกเป็นคอลเลกทีฟที่มาจากตำบลหนองโพ ตำบลซึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงวัวและมีสหกรณ์นมวัวอันเก่าแก่ ตรงกับเมืองคัสเซิลซึ่งมีสหกรณ์นมวัวเช่นกัน
วัวที่คัสเซิลและวัวหนองโพนั้นเป็นวัวพันธุ์เดียวกัน คือสายพันธุ์ 'โฮลสไตน์' ที่ในอดีตชาวบ้านหนองโพได้นำเข้าวัวชนิดนี้จากเยอรมนี บ้านนอกจึงดึงเรื่องวัวที่สัมพันธ์นี้มาพัฒนาต่อเป็นงานศิลปะ โดยถ่ายทอดผ่าน 'หนังใหญ่' ที่ทำมาจากหนังวัว ภายในงานนี้จึงจะปรากฏหนังใหญ่ที่มีลวดลายเล่าเรื่องรามายณะ อีกทั้งยังมีหนังใหญ่ลวดลายที่พัฒนาขึ้นมาเป็นนิทานของพี่น้องตระกูลกริมม์อีกด้วย
นอกจากหนังใหญ่แล้ว ยังมีผลงานที่สร้างจากสัมพันธบทอีกข้อคือ 'สเกตบอร์ด' จิระเดชเล่าว่า ที่อำเภอหนองโพ ไม่มีใครเล่นสเกตเป็น แต่ที่คัสเซิลเขามีชุมชนสเกตที่รวมตัวกันทำพื้นที่เล่นสเกตขนาดใหญ่ที่สุดในเยอรมนี บ้านนอกจึงขอความร่วมมือจากกลุ่มสเกตที่คัสเซิล เพื่อทำให้หนองโพเกิดเป็นพื้นที่เล่นสเกตบอร์ดขึ้นมา โดยให้ทางเยอรมนีบริจาคบอร์ดสเกตและอะไหล่มาที่หนองโพ ในอนาคตเด็กและเยาวชนในหนองโพก็จะมีสเกตให้เล่น
นอกจากนี้บ้านนอกยังสร้างลานสเกตขึ้นมาในพื้นที่จัดแสดงงาน และเปิดให้ผู้คนในเมืองคัสเซิลหอบสเกตเข้ามาเล่นที่นิทรรศการได้จริงๆ โดยกลุ่มศิลปินจากบ้านนอกได้บอกเล่าว่า ตลอดหลายวันที่จัดแสดงงาน มีผู้คนเข้ามาเล่นกันไม่ขาดสาย รวมไปถึงสตาฟฟ์ภายในงานด้วย อีกทั้งเมื่อลานสเกตถูกจัดวางร่วมกับนิทรรศการส่วนอื่นๆ นั้น การเคลื่อนไหวของผู้ที่เล่นสเกตยังมีมูฟเมนต์ที่เคลื่อนไหวไปมา สอดคล้องกับมูฟเมนต์การกวนเกษียรสมุทรในรามายณะนั่นเอง
แม้จะเริ่มต้นจากไอเดียของรามายณะ แต่ผลงานของบ้านนอกที่ออกมานั้นกลับร่วมสมัยอย่างที่คิดไม่ถึง และที่สำคัญคือความหมายของมันนั้นเปิดกว้างให้เราเชื่อมโยง และได้ใคร่ครวญถึงบริบทอื่นๆ ที่อาจเทียบเคียงกันได้ไม่รู้จบจริงๆ
หากใครสนใจผลงานของ ‘บ้านนอก’ ก็สามารถเข้าไปติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.baannoorg.org/
หมายเหตุ* บทความนี้เรียบเรียงจากการบรรยายที่ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ และคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
