Homo Gaia มนุษย์กาญ่า : ก้าวข้ามการสูญพันธุ์หมู่ ด้วยการคืนดีกับพระแม่ธรณี
...
LATEST
Summary
- นภัทร มะลิกุล เขียนถึงหนังสือ ‘Homo Gaia มนุษย์กาญ่า’ ของสำนักพิมพ์ SALT ที่เล่าถึงการกลับไปเชื่อมโยงถึงกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างต้นไม้หรือสัตว์ป่า เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตเคียงข้างกับสรรพชีวิตอื่นๆ และ “เป็นสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการผ่านพ้นวิกฤติการทำลายล้างธรรมชาติของ โฮโม เซเปียนส์”
...
น่าแปลกใจเหลือเกิน ที่หนังสือเล่มนี้ทำให้ฉันน้ำตาซึมเมื่ออ่านไปเพียงบทเดียว
ในบทนำ ผู้เขียนเล่าถึงทริปสำรวจธรรมชาติที่ทะเลเซลิซ ถิ่นเก่าแก่อันศักดิ์สิทธิ์ของชนอเมริกันพื้นเมือง ในทริปนั้น เธอตั้งใจอยากจะเจอวาฬออร์กา และพลันได้สบตากับแมวน้ำที่ว่ายเข้ามาทักทายต้อนรับที่กราบเรือ ซึ่งในวินาทีหยุดหัวใจนั้น เธอรู้สึกราวกับตกหลุมรัก หน้าแดงซ่าน ใจเต้นไม่เป็นปกติ
และวาฬออร์กา ที่เพื่อนร่วมทริปต่างบอกว่าไม่น่าจะได้เห็นนั้น ก็มาให้เห็นจริงๆ
ความสวยงามของธรรมชาติที่ได้พบ ทำให้การเดินทางทริปดังกล่าวเป็นดั่งชั่วโมงต้องมนตร์ ซึ่งผู้เขียนบรรยายว่า เธอรู้สึกเหมือนตัวเองได้เปิดประตูสู่โพรงกระต่ายของ อลิซ และเมื่อกลับออกมา แม้เวลาจะผ่านไปหลายปี เพื่อนนักวิทยาศาสตร์ของเธอก็ยังจำเหตุการณ์นั้นได้ และรู้สึกว่ามี ‘อะไรบางอย่าง’ เกี่ยวกับสถานที่และเหตุการณ์แสนพิเศษนั้น
‘อะไรบางอย่าง’ ที่ว่านั้น ไม่สามารถบรรยายได้เพียงความรู้ทางผัสสะพื้นฐาน ตา หู จมูก ลิ้น อย่างเดียว แต่เราต้องเปิดผัสสะของตนเองออก เพื่อให้สามารถรับสารอันลี้ลับและลึกซึ้งจากธรรมชาติได้ เป็นภาวะที่ใจเราเปิดออก สงบ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เคลื่อนไหว มันมีความซาบซึ้งในการโอบอุ้มจากธรรมชาติอยู่ในนั้นด้วย เป็นความไว้ใจอันสมบูรณ์แบบ
ในหนังสือ บ่อยครั้งผู้เขียนได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติถูก ‘ดาวน์โหลด’ เข้ามาในสมองเอง เมื่อเธออยู่ในสภาวะจิตดังที่กล่าวไว้ข้างต้น – เป็นไปได้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วธรรมชาติกำลัง ‘สื่อสาร’ กับเรา แต่มนุษย์เราที่ฝึกให้จิตใจตนเองด้านชา และปิดผัสสะละเอียดของตน ไม่สามารถรับรู้ถึงสารนั้นได้?
เป็นไปได้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วธรรมชาติกำลัง ‘สื่อสาร’ กับเรา แต่มนุษย์เราที่ฝึกให้จิตใจตนเองด้านชา และปิดผัสสะละเอียดของตน ไม่สามารถรับรู้ถึงสารนั้นได้?
กลับมาที่เรื่องโพรงกระต่าย ผู้เขียนยังบอกว่า การหาทางเข้าโพรงกระต่ายเจอ เหมือนที่เธอสัมผัสได้ที่ทะเลเซลิซ เป็นสิ่งสำคัญต่ออนาคตของมนุษยชาติ
คำพูดนี้มีนัยสำคัญ เพราะในแง่หนึ่ง มันสื่อให้เห็นว่า อารยธรรมที่เราสร้างขึ้นมา ได้เดินมาไกลจากจุดเริ่มต้นนานโข และการออกมาไกลนั้น คือความไกลห่างจากการเชื่อมโยงกับธรรมชาติอันเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิต
พวกเรา ‘disconnect’ กับธรรมชาติ ถึงขั้นมองว่า เขาเป็นสิ่งขัดขวางความเจริญ หรือเป็นความอันตรายอันป่าเถื่อน ซึ่งหนังฮอลลีวูดจำนวนมาก ทำให้การติดอยู่ในป่า และเผชิญหน้ากับสัตว์ป่าเป็นความน่าสะพรึง – การขาดความเชื่อมโยงนี้ ทำให้มนุษย์เราทำตัวเองให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง ตัดแขนตัดขาของตนเองด้วยการทำลายธรรมชาติอันเป็นแหล่งกำเนิด
การหาประตูเชื่อมต่อนี้เจอ จึงเป็นเสมือนการย้อนกลับไปเชื่อมต่อ (reconnect) กับธรรมชาติ ที่เราตีตัวออกห่างมานาน และทำให้เรากลายเป็น ‘มนุษย์กาญ่า’ (Homo Gaia)
คำว่า ‘มนุษย์’ ทุกคนอาจพอเข้าใจกันอยู่แล้ว แต่คำว่า ‘กาญ่า’ หรือ ‘ไกอา’ (Gaia) อาจจะเป็นคำที่ไม่คุ้นชินนัก
ในนิยามของหนังสือเล่มนี้ กาญ่า หมายถึง พระแม่ธรณี เทพเจ้าผู้สร้างโลกในตำนานกรีกโบราณ ซึ่งนักเคมีชาวอังกฤษ เจมส์ เลิฟล็อก นำชื่อของท่านมาใช้บรรยายถึงภาวะที่โลกประกอบด้วยสรรพสิ่งที่มีกลไกซับซ้อน ตอบสนอง และเอื้อให้เกิดสมดุลแก่กัน เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้
มนุษย์กาญ่า คือมนุษย์ที่กลับไป reconnect กับธรรมชาติ สามารถใช้ชีวิตเคียงข้างกับสรรพชีวิตอื่นๆ และ “เป็นสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการผ่านพ้นวิกฤติการทำลายล้างธรรมชาติของ โฮโม เซเปียนส์”
มนุษย์กาญ่า คือมนุษย์ที่กลับไป reconnect กับธรรมชาติ สามารถใช้ชีวิตเคียงข้างกับสรรพชีวิตอื่นๆ และ “เป็นสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการผ่านพ้นวิกฤติการทำลายล้างธรรมชาติของ โฮโม เซเปียนส์”
ก่อนจะไปกันต่อว่า เราจะกลายเป็นมนุษย์กาญ่าได้อย่างไร ฉันขอแนะนำให้คุณรู้จัก อันน่า ไบรเทนบัค ล่ามสัตว์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
ไบรเทนบัคเรียนจบด้านจิตวิทยา การตลาด และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ในแอฟริกาใต้ แต่เธอมีความสนใจสัตว์ป่า และได้เป็นอาสาสมัครทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า เธอใช้ ‘ความรู้สึกภายใน’ ในการเชื่อมโยงกับสัตว์ป่าต่างๆ แม้เธอจะไม่รู้พื้นเพของมันมาก่อน
ในสารคดี The Animal Communicator หรือ ‘นักสื่อสารสัตว์’ มีแบบทดสอบหนึ่งที่นักข่าวให้ไบรเทนบัคทำ นั่นคือการไปสื่อสารกับ ดียาโบล (Diablo) เสือดำที่ดุร้ายและไม่ไว้ใจคน มันเป็นเสือที่ไม่ค่อยยอมออกจากเพิง แม้จะมีทุ่งหญ้าให้เดินเล่น ทันทีที่ไบรเทนบัคเข้าไปหา มันกลับนั่งเฉยอย่างผ่อนคลาย
เธอสื่อสารกับเสือ และได้รู้ว่า มันไม่ชอบชื่อ ดียาโบล ของตน ที่สื่อถึงปีศาจร้าย นอกจากนั้น มันยังมาจากที่แคบ เครียด และมันก็ไม่ไว้ใจมนุษย์ ซึ่งที่น่าทึ่งกว่า ก็คือ ไบรเทนบัคสามารถบอกได้ว่า มันมีความเป็นห่วงลูกเสือดาวสองตัวที่อยู่กรงข้างๆ สมัยที่มันยังอยู่สวนสัตว์ที่เบลเยียม จนทำให้ผู้ดูแลถึงกับทึ่ง เพราะไบรเทนบัคสามารถบอกข้อมูลนี้ได้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีการเปิดเผยเกี่ยวกับลูกเสือดาวสองตัวนั้นให้ใครรู้เลย
ไบรเทนบัคยังบอกเสือดำว่า มันสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เมื่ออยู่ที่นี่ ไม่ต้องแสดงโชว์ หรือทำอะไร หลังจากนั้น ทางผู้ดูแลสวนสัตว์ได้เปลี่ยนชื่อเสือดำตัวนั้น เป็น สปิริต และเป็นครั้งแรกที่มันออกมาเดินนอกเพิง ซึ่งสปิริตยังทำเสียงในลำคอ ตอบกับผู้ดูแลเมื่อเขาพูดกับมันอีกด้วย
คำว่า ‘โทรจิต’ อาจจะเป็นคำที่ใกล้เคียงที่สุด ที่จะใช้อธิบายวิธีการสื่อสารของไบรเทนบัคกับสัตว์ ซึ่งอันที่จริง มันมีหลักฐานหลงเหลือว่า มนุษย์สามารถสื่อสารกับสัตว์ได้ในนิทานและเรื่องเล่าปรัมปราต่างๆ ทว่าตั้งแต่มนุษย์มีภาษาของตัวเอง และสร้างสิ่งต่างๆ บนโลกของภาษา เราก็หลงลืมสิ่งนี้ไป ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองหลายชนเผ่าในโลก ยังสามารถสื่อสารกับสัตว์ได้ แต่เรากลับไม่ได้ให้ความสนใจในทักษะแบบนี้มากนัก
ผู้เขียนยังพูดถึงกรณีที่คนรู้จักพยายามพูดกับช้างที่เข้ามาทำลายไร่นา โดยบอกให้มันมาเด็ดอาหารกินได้ แต่อย่ามากเกินไปนัก และให้เด็ดเบาๆ ปรากฏว่า หลังจากนั้น ช้างทำตามที่บอก ทำให้พวกเขาทำไร่นาต่อไปได้อย่างสงบสุข
นอกจากนี้ เธอยังเคยมีประสบการณ์สื่อสารกับต้นไม้ โดยเป็นความรู้ที่ ‘ดาวน์โหลด’ เข้ามาเองในสมอง หลังจากยืนมองแมกไม้ในสวน แต่เดิมผู้เขียนจัดกิจกรรมจับคู่คนเข้ากับต้นไม้ เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้สัมผัสกับการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ แต่ในวันหนึ่ง เธอก็รับรู้ได้ว่า ต้นไม้เองก็ต้องการจะ ‘เลือก’ คนที่เข้าคู่กับเขา และอยากจะเป็นสื่อกลางระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์
อันที่จริง มันมีหลักฐานหลงเหลือว่า มนุษย์สามารถสื่อสารกับสัตว์ได้ในนิทานและเรื่องเล่าปรัมปราต่างๆ ทว่าตั้งแต่มนุษย์มีภาษาของตัวเอง และสร้างสิ่งต่างๆ บนโลกของภาษา เราก็หลงลืมสิ่งนี้ไป ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองหลายชนเผ่าในโลก ยังสามารถสื่อสารกับสัตว์ได้ แต่เรากลับไม่ได้ให้ความสนใจในทักษะแบบนี้มากนัก
พัฒนาการของมนุษย์ที่ทำให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง ทำให้เราจำกัดความว่าตัวเองคือ ‘ผู้กระทำ’ ต่อธรรมชาติที่ ‘ไร้ชีวิต’ เราทำทุกอย่างราวกับว่า เราเป็นเจ้าของโลก และธรรมชาติเป็นเพียง ‘ทรัพยากร’ ให้เราถลุงใช้ราวกับไม่มีวันหมด ดังที่กล่าวไปแล้วว่าเราทำตัวเหมือนเซลล์มะเร็งต่อโลกใบนี้
ในวันนี้ หนังสือ Homo Gaia ได้เชื้อเชิญให้เราเปลี่ยนมุมมองที่ว่านั้น ด้วยการ ‘อยู่ร่วมกัน’ กับสรรพสิ่งอื่นๆ ในโลก แทนที่จะ ‘แสวงหาประโยชน์’ จากสรรพสิ่งต่างๆ
แม้แต่เห็ดราเองก็มีภาษาของตัวเอง และพืชก็ยังส่งเสียงเพื่อบอกอะไรกับเราได้ สิ่งเหล่านี้มีงานวิจัยยืนยันทางวิทยาศาสตร์ – ซึ่งวิทยาศาสตร์ในตัวมันเอง สามารถเป็นเครื่องมือสร้างการอยู่ร่วมกันได้ ดังที่พูดถึงในบทท้ายๆ กับเรื่องของการสร้าง ‘ชีวลอกเลียน’ (Biomimicry) เช่น สร้างบ้านให้มีรูปทรงคล้ายรังปลวก เพื่อถ่ายเทอากาศและประหยัดพลังงาน
มนุษย์กาญ่าไม่จำเป็นต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบบรรพชนเก่าแก่ ปลูกกระท่อมอยู่ริมน้ำ แต่เราสามารถประดิษฐ์บางอย่างร่วมกับธรรมชาติ เพื่อเอื้อให้เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยได้
มนุษย์กาญ่าไม่จำเป็นต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบบรรพชนเก่าแก่ ปลูกกระท่อมอยู่ริมน้ำ แต่เราสามารถประดิษฐ์บางอย่างร่วมกับธรรมชาติ เพื่อเอื้อให้เราอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยได้
กลับไปที่เรื่องการสื่อสารของเห็ดราและพืช – สิ่งนี้ยืนยันว่าธรรมชาติไม่ได้ไร้ชีวิต แต่กำลังสื่อสารบางอย่างกับเราเสมอ มนุษย์กาญ่าต้องเปิดผัสสะของตนเองออกเพื่อรับสารต่างๆ เหล่านี้ และในอนาคต หากสังคมมนุษย์กาญ่าเกิดขึ้น เราจะต้องใช้ล่ามสัตว์ป่าแบบไบรเทนบัคมากกว่าเดิม เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ และคนกับธรรมชาติ
การอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้ฉันคิดถึงในประสบการณ์ส่วนตัวใน Energy Healing Session ฉันมีโอกาสได้ทำงานกับกาญ่าในการบำบัดด้วยพลังงาน และพบว่ากาญ่าเป็นพลังงานที่โอบรับทุกอย่างมาไว้กับตัว เราสามารถให้กาญ่าชำระล้างพลังงานที่ไม่ดีจากเราได้ และกาญ่าจะกลืนกินมันพร้อมทำให้ผืนดินสะเทือนไหว เรายังสามารถหยั่งรากลึกลงไปในกาญ่าเพื่อให้เรารู้สึกมั่นคง และทุกครั้งที่กินอาหาร ได้รับแสงแดด ได้อาบน้ำ เราก็ยังรับการบำรุงเลี้ยงจากกาญ่า
ดังนั้นแล้ว เราทุกคนมาจากกาญ่า และต้องคืนสัมพันธ์กับกาญ่าอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สายพันธุ์เราดำรงอยู่ต่อไปได้
สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือเปิดใจ เปิดผัสสะ และเตรียมพบกับประสบการณ์ที่เลยไปจากสิ่งที่สัมผัสได้ในชีวิตประจำวัน อาจเป็นการไปเดินในธรรมชาติ หรือลงเล่นน้ำในสระ ถ้าคุณมีใจที่เปิดกว้าง ธรรมชาติจะสื่อสารกับคุณและทำให้คุณได้รู้ว่า คุณไม่เคยโดดเดี่ยว และธรรมชาตินั้นมีชีวิตจิตใจจริงๆ ดังในบทเพลง Colors of the Wind
You think you own whatever land you land on
(คุณคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของทุกแผ่นดินที่สัมผัส)
The Earth is just a dead thing you can claim
(และคิดว่าผืนธรณีเป็นเพียงสิ่งไร้ชีวิตที่สามารถครอบครองได้)
But I know every rock and tree and creature
(แต่ฉันรู้จักก้อนหิน ต้นไม้ และสรรพสิ่งทุกอย่าง)
Has a life, has a spirit, has a name
(สิ่งเหล่านี้มีชีวิต มีจิตวิญญาณ และมีนามเรียกขาน)
