Humberger Menu

Babylon จดหมายรักฉบับวินาศสันตะโร แด่วงการภาพยนตร์

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Subculture

Film & Series

Culture

30 ม.ค. 66

creator
ศรัณยู ตรีสุคนธ์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ถ้าหากว่า Babylon เป็นจดหมายรักที่ผู้กำกับ เดเมียน ชาเซลล์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทน ‘จดหมายรัก’ ที่มีต่อภาพยนตร์ จดหมายรักฉบับนี้ก็ไม่ได้ขาวสะอาดไปหมดทุกหน้า และไม่ได้เป็นจดหมายรักที่สมบูรณ์พร้อมในทุกบรรทัดที่เขียน
  • เพราะหากเทียบกับหนังเพลงที่เต็มไปด้วยฉากร้องเพลงและเต้นรำที่สวยงามตลอดทั้งเรื่องอย่าง La La Land (2016) แล้ว ฉากงานปาร์ตี้ที่เผยให้เห็นถึงความกักขฬะโสมมในช่วงต้นเรื่องของหนัง Babylon ได้สร้างความกระอักกระอ่วนและช็อกความรู้สึกของผู้ชมอยู่ไม่น้อย รวมถึงฉากต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความรักที่ผู้สร้างมีต่อวงการภาพยนตร์อย่างบริสุทธิ์ใจ แม้หลายครั้งมันจะย้อนกลับมาทำร้ายทำลายพวกเขา
  • แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งความล้นของหนังและความทะเยอทะยานของคนทำหนัง ก็พอที่จะอนุโลมได้ถ้าหากมองข้ามเส้นขีดฆ่าต่างๆ ที่รกรุงรังในจดหมายรักฉบับนี้ออกไป และโฟกัสไปยังเนื้อหาของจดหมายที่ถูกเขียนขึ้นอย่างประณีตบรรจงจริงๆ

...


หมายเหตุ : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนัง


ถ้าหากเทียบกับหนังเพลงที่เต็มไปด้วยฉากร้องเพลงและเต้นรำที่สวยงามตลอดทั้งเรื่องอย่าง La La Land (2016) แล้ว ฉากงานปาร์ตี้ที่เผยให้เห็นถึงความกักขฬะโสมมในช่วงต้นเรื่องของหนัง Babylon ได้สร้างความกระอักกระอ่วนและช็อกความรู้สึกของผู้ชมอยู่ไม่น้อย 

ฉากนี้มีการออกแบบงานสร้างและงานภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่ต่างไปจาก Moulin Rouge (2001) ของผู้กำกับ บาซ เลอห์มานน์ แต่นั่นเป็นเพียงแค่ฉากหน้าเท่านั้น เพราะฉากหลังของซีนนี้เผยให้เห็นถึงด้านมืดของวงการฮอลลีวูดในทศวรรษที่ 20 ที่ผู้กำกับ เดเมียน ชาเซลล์ โชว์ทักษะในการกำกับฉากนี้อย่างสุดฝีมือจนเหมือนกับการนำสไตล์การกำกับของ บาซ เลอห์มานน์ มาผสมผสานกับฉากปาร์ตี้มั่วเซ็กซ์และเสพยาแบบสุดลิ่มทิ่มประตูในหนังหลายๆ เรื่องของผู้กำกับ มาร์ติน สกอร์เซซี

ฉากที่บรรจงสร้างอย่างวิจิตรบรรจง ทว่าซุกซ่อนความเน่าเฟะของมนุษย์ที่หลงระเริงในชื่อเสียงเงินทองนี้ แสดงให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ของแดนมายาที่เพิ่งจะเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ซึ่งการผลิตหนังเป็นอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ผู้ชมยินดีที่จะจ่ายเงินให้กับสตูดิโอผู้สร้าง เพื่อแลกกับการเข้าไปอยู่ในโรงละครแห่งความฝันที่พวกเขาไม่มีปัญญาที่จะเข้าไปอยู่ได้ ซึ่งความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์นี้ ขัดแย้งกับความหวังของคนธรรมดาๆ ที่หลงใหลใฝ่ฝันที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงการมายา ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง หรือว่าคนทำงานเบื้องหลังก็ตาม



แมนนี่ (รับบทโดย ดิเอโก คาลวา) ชายหนุ่มชาวเม็กซิกันอพยพมายังอเมริกา เพราะความฝันที่อยากจะเข้ามาเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของวงการภาพยนตร์ และเขาต้องผลักดันตัวเองอย่างหนักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ ฉากเปิดเรื่องที่เขาต้อง ‘เข็นช้างขึ้นภูเขา’ อย่างทุลักทุเลเพื่อนำไปสร้างความสุขให้กับเหล่าคนดังในงานปาร์ตี้ ชี้ให้เห็นถึงสถานะที่แสนต่ำต้อยของเขา และการได้มาพบกับ เนลลี่ ลารอย (มาร์โก ร็อบบี) สาวสวยที่ยอมทุกอย่างเพื่อที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดง ก็ทำให้ทั้งคู่คลิกกันอย่างรวดเร็ว 

เดเมียน ชาเซลล์ ทำให้ฉากแห่งความมุ่งมาดปรารถนาในการเข้าวงการของทั้งคู่ กลายเป็นโศกนาฏกรรมตั้งแต่แรกเริ่มด้วยการให้ทั้งคู่เสพโคเคนอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งฉากนี้ถือเป็นการสร้าง premise หรือแนวคิดตั้งต้น เพื่อเป็นการเกริ่นให้เห็นว่าความฝันอันบริสุทธิ์ในการสร้างชื่อและทำความฝันให้เป็นจริงของตัวละครหลักทั้งสองคน ถูกทำให้แปดเปื้อนตั้งแต่แรกเริ่ม และบทสรุปของทั้งคู่ก็ไม่ได้ลงเอยอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง

เราจะเห็นได้ว่า ชาเซลล์นำความมุ่งมั่นในการสานฝันเพื่อประสบความสำเร็จในวงการเพลงและฮอลลีวูดของ เซบ และ มีอา จากเรื่อง La La Land มาทำซ้ำอีกครั้ง กับ แมนนี่ และเนลลี่ แต่สิ่งที่แตกต่างกัน ก็คือ ความฝันของทั้งคู่ในหนัง Babylon ถูกทำให้มืดหม่นมาตั้งแต่ยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่วงการด้วยซ้ำ 


ถ้าหากว่า Babylon เป็นจดหมายรักที่ชาเซลล์สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทน ‘จดหมายรัก’ ที่มีต่อภาพยนตร์ จดหมายรักฉบับนี้ก็ไม่ได้ขาวสะอาดไปหมดทุกหน้า และไม่ได้เป็นจดหมายรักที่สมบูรณ์พร้อมในทุกบรรทัดที่เขียน

share


ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับประเด็นสำคัญของหนัง ที่สื่อให้เห็นถึงการสร้างหนังที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ เพื่อเรียกเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากผู้ชมที่ทำให้สตูดิโอในวงการเกิดการแข่งขันอย่างสูง ฉากลองเทค (long take) ที่ถูกถ่ายทำต่อเนื่องยาวไปโดยไม่ตัดต่อฉากหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความวุ่นวายแบบฉิบหายวายป่วงของผู้กำกับ นักแสดง และคนทำงานเบื้องหลัง ที่สร้างหนังแทบจะทุกแนวเป็นจำนวนอย่างน้อยห้าถึงหกเรื่องในพื้นที่และเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้ชมได้ตระหนักว่า เบื้องหลังวงการมายาเป็นดั่ง ‘โรงงานนรก’ ที่กลืนกินจิตวิญญาณของทุกคนที่เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของมันอย่างหนักหนาสาหัสเพียงใด

แต่ถึงอย่างนั้น เดเมียน ชาเซลล์ ก็ยังคงมองเห็นถึงแง่งามของความฝันสำหรับทุกคนที่มองเห็นมนตร์เสน่ห์ของภาพยนตร์ ท่ามกลางความอัปลักษณ์หลายๆ ประการ ซึ่งแง่งามนั้นปรากฏอยู่ในฉากที่แมนนี่ได้รับคำสั่งจากผู้กำกับให้ไปเอากล้องถ่ายหนังที่อยู่ห่างไกลจากกองถ่าย เพราะกล้องที่ใช้ถ่ายตัวอื่นๆ พังในระหว่างถ่ายทำไปหมดแล้ว แมนนี่จึงต้องแข่งกับเวลาในการเอากล้องถ่ายหนังกลับมาถึงกองถ่ายให้ได้ก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ดูสิ้นหวังนี้ เขากลับสร้างปาฏิหาริย์ได้ด้วยการนำกล้องกลับมาที่กองถ่ายได้ทันก่อนที่แสงจะหมด และแสง golden hour ที่ถือเป็นแสงที่สวยที่สุดของวัน ก็ถูกบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มในฉากที่โรแมนติกที่สุดของหนังขาวดำเรื่องหนึ่ง แสงทไวไลต์ที่ตกกระทบลงบนพื้นในฉากแบ็กกราวนด์งดงามจนแทบจะลืมหายใจเลยทีเดียว

ถ้าหากว่า Babylon เป็นจดหมายรักที่ชาเซลล์สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทน ‘จดหมายรัก’ ที่มีต่อภาพยนตร์ จดหมายรักฉบับนี้ก็ไม่ได้ขาวสะอาดไปหมดทุกหน้า และไม่ได้เป็นจดหมายรักที่สมบูรณ์พร้อมในทุกบรรทัดที่เขียน ทั้งนี้เป็นเพราะชาเซลล์ได้รับแรงบันดาลใจสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างหนังเรื่องนี้มาจากหนังสือ Hollywood Babylon ที่เขียนถึงด้านที่แสงสว่างส่องไปไม่ถึงในฮอลลีวูด เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จึงมีทั้งเรื่องการคอร์รัปชัน, ยาเสพติด, เซ็กซ์, ฆาตกรรม, การฆ่าตัวตาย และด้านมืดอีกมากมายที่เกิดขึ้นในฮอลลีวูดนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงทศวรรษที่ 60



จุดเปลี่ยนสำคัญที่เปลี่ยนแปลงมุมมองที่ผู้ชมมีต่อสื่อภาพยนตร์ ก็คือ การเปลี่ยนผ่านจาก ‘หนังเงียบ’ ไปเป็น ‘หนังเสียง’ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชื่อเสียงของ แจ็คสัน คอนราด (แบรด พิตต์) นักแสดงที่มีค่าตัวและทรงอิทธิพลในยุคหนังเงียบ ค่อยๆ ถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของผู้คน เสียงในหนังทำลายเสน่ห์ความเย้ายวนของแจ็คจากยุคหนังเงียบลงในแบบไม่อาจหวนคืน และมันเป็นบาดแผลทางใจที่ไม่อาจเยียวยา ฉากที่ เอลินอร์ (จีน สมาร์ต) นักเขียนทรงอิทธิพลในวงการ บอกกับแจ็คว่า เขาต้องยอมรับว่ายุคสมัยอันรุ่งโรจน์ของเขาได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด และวันคืนอันหอมหวานในอดีตไม่มีวันจะย้อนคืนกลับมาได้อีกแล้ว ซึ่งมันเป็นฉากที่อีกนัยหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงการมองดารานักแสดงเป็นเพียงตัวทำเงินที่มีประโยชน์ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น และเมื่อหมดประโยชน์ สตูดิโอก็ไม่ลังเลที่จะเขี่ยเขาทิ้งอย่างไม่ไยดี จนทำให้เขาจำต้องเล่นหนังเกรดต่ำอย่างช่วยไม่ได้

เลดี้ เฟย์ (หลี่ลี่จวิน) เลสเบี้ยนทรงเสน่ห์ที่ถือเป็นเทพธิดาของวงการในยุคหนังเงียบ ก็มีชะตากรรมไม่ต่างไปจาก แจ็ค คอนราด เมื่ออิทธิพลและวัฒนธรรมสื่อรวมถึงการยอมรับในเพศสภาพในวงการมายาเปลี่ยนไป ซิดนีย์ พาลเมอร์ (โจวาน เอดีโป) นักเป่าทรัมเป็ตแจ๊สที่แมนนี่มองเห็นความสามารถ และปลุกปั้นเขาจนโด่งดัง ก็ตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน เมื่อเขาจำใจต้องทำในสิ่งที่ขัดกับตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเพื่อสนองความต้องการของสตูดิโอ ส่วนแมนนี่เองก็พยายามทุกวิถีทางในการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเนลลี่ที่กำลังติดยาเสพติดงอมแงม ให้กลับมาดูเป็นผู้เป็นคนขึ้นมาอีกครั้ง 

แต่ก็อย่างที่ premise ในช่วงต้นของหนังได้เกริ่นเอาไว้เหมือนเป็นเครื่องหมายวงเล็บเปิด เมื่อความฝันในการอุทิศตนเพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงและความสำเร็จของทุกๆ คน ต่างก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความกักขฬะ สวยนอกเน่าใน ของผู้บริหารที่มองมนุษย์ไม่เท่ากัน วงเล็บปิดของมันเลยหนีไม่พ้นการเปิดโปงความชั่วช้าสามานย์ของคนใหญ่คนโตในวงการ ผ่านคำผรุสวาทแบบไม่ไว้หน้าของเนลลี่ที่ลงเอยด้วยการ ‘สาดอ้วก’ ครั้งมโหฬารใส่ผู้บริหารที่มองเธอเป็นแค่ ‘สินค้า’ ชิ้นหนึ่งเท่านั้น


อย่างที่ premise ในช่วงต้นของหนังได้เกริ่นเอาไว้เหมือนเป็นเครื่องหมายวงเล็บเปิด เมื่อความฝันในการอุทิศตนเพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงและความสำเร็จของทุกๆ คน ต่างก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความกักขฬะ สวยนอกเน่าใน ของผู้บริหารที่มองมนุษย์ไม่เท่ากัน วงเล็บปิดของมันเลยหนีไม่พ้นการเปิดโปงความชั่วช้าสามานย์ของคนใหญ่คนโตในวงการ

share


Babylon เป็นหนังที่นับว่า ‘ล้น’ มาตั้งแต่ต้นเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของตัวละคร, ความวุ่นวายแสนสาหัสในการสร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ไปจนถึงความพยายามในการเขียนบทเพื่อปรุงแต่งความรู้สึกไปในทิศทางที่ผู้สร้างต้องการ โดยความล้นและความทะเยอทะยานของหนังเริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผ่านองก์ที่สองไปแล้ว เมื่อแมนนี่และเนลลี่เริ่มสติแตกจนเหมือนหลุดออกมาจากหนังของ เควนติน ทารันติโน ด้วยฤทธิ์ของยาเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากที่เนลลี่พยายามจับงูหางกระดิ่งด้วยมือเปล่า ก่อนที่จะถูกกัดที่คอ และไม่รู้อีท่าไหนมันกลับลงเอยด้วยฉากจูบอันแสนดูดดื่มระหว่างเธอกับ เลดี้ เฟย์ จนนำมาซึ่งบทสรุปที่น่าเศร้าของทั้งคู่ในภายหลัง

ความล้นของหนังดิ่งไปไกลยิ่งกว่านั้นในฉากที่ แมนนี่ และ เดอะ เคาน์ต (รอรี สโคเวล) พ่อค้ายาในกองถ่ายหนัง ไปพบกับ เจมส์ แม็กเคย์ (โทบี แม็กไกวร์) บอสใหญ่ของแก๊งอันธพาลรายใหญ่ เพื่อใช้จ่ายหนี้ที่เนลลี่ติดพนันเอาไว้ – นี่คือฉากที่ผู้ชมต้องลุ้นก้นไม่ติดเบาะ กับสถานการณ์อันแสนพิลึกพิลั่น ที่ประกอบไปด้วยการเผชิญหน้ามนุษย์ยักษ์กินหนูสดๆ ที่เจมส์อยากให้เข้าวงการหนัง แถมยังต้องมาลุ้นว่าทั้งคู่จะถูกจับได้หรือเปล่าว่า เอาเงินปลอมมาใช้หนี้ ความกดดันของฉากนี้อยู่ในระดับเดียวกับเด็กปาประทัด ก่อนที่จะลงเอยด้วยการยิงกันยับในหนังเรื่อง Boogie Nights (1997) ของผู้กำกับ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน



แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทั้งความล้นของหนังและความทะเยอทะยานของคนทำหนัง ก็พอที่จะอนุโลมได้ถ้าหากมองข้ามเส้นขีดฆ่าต่างๆ ที่รกรุงรังในจดหมายรักฉบับนี้ออกไป และโฟกัสไปยังเนื้อหาของจดหมายที่ถูกเขียนขึ้นอย่างประณีตบรรจงจริงๆ ฉากที่เอลินอร์บอกกับแจ็ค ว่าถึงแม้ว่าจะหมดยุคสมัยของเขาไปแล้ว แต่ตัวละคร รวมถึงตัวตนของเขา จะคงอยู่ตลอดไปในหนัง และวันเวลาอันแสนงดงามจะหวนคืนกลับมาอีกครั้งเมื่อแผ่นฟิล์มถูกนำกลับมาฉายซ้ำอีกครั้ง 

ฉากการถ่ายทำที่ฝืนธรรมชาติและเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากใครเปิดแอร์ในกองถ่าย) จะต้องสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนที่เคยออกกองถ่าย และมีประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งถึงแม้ว่าผู้ชมจะเป็นส่วนหนึ่งในการเย้ยหยันงานสร้าง, การเปลี่ยนแปลงจากยุคหนังเงียบไปเป็นหนังเสียง จนกระทั่งถึงการส่งเสียงหัวเราะดูถูกหนังที่มาก่อนกาล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การได้รับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ท่ามกลางความมืดผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่นั้น ไม่ว่าวันเวลาจะผันผ่านไปสักกี่ยุคกี่สมัย มันก็ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยมนตร์เสน่ห์อันแสนตราตรึงใจไม่เปลี่ยนแปลง

ความดื่มด่ำอันแสนพิเศษดังที่กล่าวมานี้ เดเมียน ชาเซลล์ ใช้เวทมนตร์ในการเนรมิตมันขึ้นมาในฉากที่แมนนี่เข้าไปดูหนังเรื่อง Singin’ in the Rain (1952) และจู่ๆ ผู้ชมก็ได้เห็นฉากจำจากภาพยนตร์คลาสสิกที่อยู่ในความทรงจำของคนรักหนังทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น A Trip to the Moon (1902) ของ จอร์จ เมลิแยส์, The Passion of Joan of Arc (1928) ของ คาร์ล ธีโอดอร์ เดรเยอร์, Un Chien Andalou (1929) ของ หลุยส์ บุนเยล, The Terminator 2: Judgement Day (1991) และ Avatar (2009) ของ เจมส์ แคเมรอน และอีกหลายต่อหลายเรื่อง

นี่คือฉากซีเควนซ์หนังคลาสสิกที่ถ่ายทอดออกมาในลักษณะจงใจเร้าอารมณ์อย่างโจ่งแจ้งทีเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันคลายปมทุกอย่างที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาในทุกแง่มุมของศาสตร์ภาพยนตร์ ซึ่งล้วนส่งผลต่อชีวิตตัวละครในหนังเรื่องนี้ 

ฉากนี้มีความคล้ายคลึงกับฉากไคลแมกซ์ฉากนั้นในหนังเรื่อง Cinema Paradiso (1988) ที่เร้าอารมณ์ผู้ชมอย่างเต็มที่ และที่สำคัญที่สุด ก็คือ มันเป็นฉากที่แสดงให้เห็นถึงความรักที่ผู้สร้างมีต่อวงการภาพยนตร์อย่างบริสุทธิ์ใจ 

ถึงแม้ว่าการเข้ามาเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของวงการจะเหนื่อยยาก และต้องแลกกับ ‘ราคาที่ต้องจ่าย’ มากมายแค่ไหนก็ตาม



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

Weekend Alive ให้ภาพยนตร์-เพลง-หนังสือเหล่านี้ช่วยฟื้นชีวิตชีวา เพราะสัปดาห์นี้หายใจช้าๆ ได้ก็เก่งแล้ว

แฟลตเกิร์ล : ชีวิตที่หมดหวังจะนั่งเฟิร์สคลาส และหมดฝันที่จะล่องเรือสำราญไปเจอจุดหมาย

Memoir of a Snail: หนังที่บอกให้เราออกมาจากคอมฟอร์ตโซน เพื่อทำตามความฝัน แม้โลกจะโหดร้ายแค่ไหนก็ตาม

“ตาคลี เจเนซิสเกิดขึ้นได้เพราะความหวังล้วนๆ เลยนะ” คุยกับ มะเดี่ยว - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล หัวหมู่ทะลวงฟันที่หวังอยากให้ตาคลี เจเนซิส ปักธงภาพยนตร์ไซไฟไทยในตลาดโลก

สรุปภาพเทศกาลคานส์ 2024: การเมือง เรื่องเพศ ประเทศภาพยนตร์

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat