สนทนากับทีมผู้สร้างสรรค์ INTERMISSION ศิลปะการเต้นร่วมสมัยที่สำรวจ ‘อำนาจทางสังคม’ ที่ซ่อนอยู่ภายในร่างกาย
...
LATEST
Summary
- ย้อนกลับไปเกือบสามปีก่อน ตั๋ม-ธนพล วิรุฬหกุล คือศิลปินนักเต้น/นักออกแบบท่าเต้นเนื้อหอม ซึ่งกำลังมีผลงานโลดแล่นอยู่ทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่หลังจากการแสดงชุด The Retreat เมื่อปี 2020 จบลง เขาก็หยุดสร้างงาน ก่อนจะผันตัวมาเป็น ‘ผู้เยียวยา’ (Healer) ประจำ Placebo Club กลุ่มที่รวมตัวผู้ที่สนใจในศาสตร์การเยียวยาหลากหลายรูปแบบ
- และในเทศกาล BIPAM ปี 2023 นี้ ตั๋ม ธนพล ก็กลับมาสร้างสรรค์งานแสดงอีกครั้ง ในการแสดงที่มีชื่อว่า INTERMISSION ซึ่งต่อยอดพัฒนามาจากโปรเจกต์ 1 Table 2 Chairs ในเทศกาล BIPAM 2018 ซึ่งเป็นการพา วิ-วิทุรา อัมระนันทน์ นักเต้นร่วมสมัย และ แม่จำปา แสนพรม ครูซอล้านนาจากจังหวัดเชียงราย สองศิลปินที่มีภูมิหลังต่างกัน ให้มาทำงานร่วมกันในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์
- การกลับมาในครั้งนี้ ตั๋มได้เชิญศิลปินทั้งสองท่านกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง ที่ไม่ใช่เพียงการนำเอาความร่วมสมัยไปท้าทายขนบประเพณี แต่เขายังสนใจ ‘ร่างกาย’ ของนักเต้น/นักแสดง ในฐานะของการเป็นแหล่งบันทึกเรื่องราวด้วย เพราะจากคำกล่าวที่ว่า “ทุกที่เป็นการเมือง” ทำให้ร่างกายของเรา ก็ไม่ใช่สิ่งยกเว้นเช่นเดียวกัน
...
ภาพเปิด : การแสดง 1 Table 2 Chairs, BIPAM 2018
ในฐานะพลเมืองไทย มันไม่ง่ายเลยที่จะคิดถึงหน้าตาของอนาคต
อนาคตที่เราเฝ้าฝันถึงมันอาจจะเป็นอดีตของอีกที่หนึ่งก็เป็นได้ อย่างเช่น ประชาธิปไตย, เสรีภาพทางการพูด, รัฐสวัสดิการ ถ้าอย่างนั้นแล้วเราฝันถึงอะไรกันแน่ อดีตหรืออนาคต?
ระบบสถาบันและการปกครองโดยทหารทำให้อดีตไม่น่าหวนกลับไป ระบบทุนนิยมก็กดทับท้าทายเราในปัจจุบัน บวกกับอนาคตที่เอื้อมไม่ถึง มันจะมีช่วงเวลาไหนที่พาเราออกจากตรงนี้ได้บ้าง
แล้วถ้าหากว่าเรามี ‘การเคลื่อนไหวแบบ Post Modern’ ในประเทศไทยล่ะ?
ตั๋ม-ธนพล วิรุฬหกุล
ย้อนกลับไปเกือบสามปีก่อน ตั๋ม-ธนพล วิรุฬหกุล คือศิลปินนักเต้น/นักออกแบบท่าเต้นเนื้อหอม ซึ่งกำลังมีผลงานโลดแล่นอยู่ทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่หลังจากการแสดงชุด The Retreat เมื่อปี 2020 จบลง เขาก็หยุดสร้างงาน ก่อนจะผันตัวมาเป็น ‘ผู้เยียวยา’ (Healer) ประจำ Placebo Club กลุ่มที่รวมตัวผู้ที่สนใจในศาสตร์การเยียวยาหลากหลายรูปแบบ
และในเทศกาล BIPAM ปี 2023 นี้ ตั๋ม ธนพล ก็กลับมาสร้างสรรค์งานแสดงอีกครั้ง ในการแสดงที่มีชื่อว่า INTERMISSION ซึ่งต่อยอดพัฒนามาจากโปรเจกต์ 1 Table 2 Chairs ในเทศกาล BIPAM 2018 ซึ่งเป็นการพา วิ-วิทุรา อัมระนันทน์ นักเต้นร่วมสมัย และ แม่จำปา แสนพรม ครูซอล้านนาจากจังหวัดเชียงราย สองศิลปินที่มีภูมิหลังต่างกัน ให้มาทำงานร่วมกันในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์
การกลับมาในครั้งนี้ ตั๋มได้เชิญศิลปินทั้งสองท่านกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง ที่ไม่ใช่เพียงการนำเอาความร่วมสมัยไปท้าทายขนบประเพณี แต่เขายังสนใจ ‘ร่างกาย’ ของนักเต้น/นักแสดง ในฐานะของการเป็นแหล่งบันทึกเรื่องราวด้วย
เพราะจากคำกล่าวที่ว่า “ทุกที่เป็นการเมือง” ทำให้ร่างกายของเรา ก็ไม่ใช่สิ่งยกเว้นเช่นเดียวกัน
ในงานชิ้นนี้ เขารวบรวมเอาการเคลื่อนไหวหลายอย่างในสังคมไทยมาชำแหละ ตรวจสอบ และประกอบสร้างเพื่อค้นหาคำตอบหรืออำนาจทางสังคมการเมืองที่ซ่อนอยู่ในร่างกายที่เคลื่อนไหว ภายใต้แนวคิด Post-Modern Dance ซึ่งเจ้าตัวกล่าวว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การเต้นของไทย
โดยหลังจากนี้ เราจะพาไปร่วมพูดคุยเจาะลึกกับเขาและนักแสดงอีกสองคน ถึงเบื้องหลังแนวคิดและที่มาที่ไปของงานชิ้นนี้
ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้ให้เราฟังหน่อย
ตั๋ม : ยาวนิดนึงนะครับ ต้องค่อยๆ เรียบเรียงเลย (หัวเราะ) ตอนแรกก็คือ BIPAM เขาติดต่อมา ว่าสนใจเข้ามาทำงานต่อจากโปรดักชันที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 หรือเปล่า คือตอนนั้น เราได้เข้าไปมีส่วนแวบๆ ในงาน เพราะวิเขาขอให้เข้าไปช่วยดูหน่อย ก็เลยได้เห็นงาน แล้วก็เห็นกระบวนการทำงานของงานชิ้นนั้น ซึ่งก็จะมีวิและแม่จำปาแสดงอยู่
มันเลยนำมาสู่การตั้งคำถามต่อจากงานชิ้นนั้นว่า แล้วถ้าเกิดสองคนนี้ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง เราจะเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง - นั่นแหละครับ หลังจากนั้นก็เลยมาสู่ขั้นตอนของการค้นคว้าทดลอง ซึ่งจริงๆ ก็ต้องบอกว่า โชว์ชุดปัจจุบันที่กำลังทำกันอยู่เนี่ยมันเกิดจากการทดลองก่อนซ้อมนะ เพราะตอนนั้น เรามีทำ dance lab เพื่อหาไอเดียว่าโชว์มันควรจะไปในทิศทางไหน
ในแล็บนั้นเราเอาทั้งวิ และแม่จำปามาเจอกันจริงๆ เลย มาลองคิด ลองเล่นกันดูอีกครั้ง เพื่อจะดูว่าเราพบอะไรบ้าง ซึ่งเราพบอยู่สองอย่างจากการทำแบบนั้น
อย่างแรก คือมันทำให้เราคิดย้อนไปถึงการแสดงตอนปี 2018 ว่าจริงๆ แล้ว บริบทของการแสดงตอนนั้น มันอยู่ในพื้นที่ หรือบริบทของแม่จำปาเป็นหลัก เพราะว่าชิ้นนั้นให้แม่ร้องซอเพลงบายศรีสู่ขวัญ แล้วกระบวนการทุกอย่างมันก็ตั้งต้นมาจากบริบทของการบายศรีสู่ขวัญ จากนั้นจึงค่อยเพิ่มวิเข้าไปอยู่ในกระบวนการนี้
มันน่าสนใจตรงที่ว่า ทุกอย่างมันโฟลว์ไปด้วยกันอย่างดี ทั้งที่บริบทของงานมันค่อนข้างเข้าทางแม่มากกว่า ดังนั้น เราก็เลยมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วมันมีพื้นที่ไหนไหมนะ ที่ไม่ได้เป็นบริบทของทั้งแม่และวิ เราสนใจการมาเจอกันจริงๆ หมายถึงการมาเจอกันนอกเหนือบริบทที่เป็น comfort zone (พื้นที่ปลอดภัย) ของแต่ละคน เพราะถ้าเป็นบริบทของการบายศรีสู่ขวัญ แม่ก็จะรู้ว่าแม่ต้องทำอะไรบ้าง มันเป็นสิ่งที่แม่คุ้นชิน หรือถ้าจะเข้ามาสู่บริบทของการเต้น มันก็เป็นสิ่งที่วิคุ้นชินอีก ก็เลยพยายามจะหาพื้นที่ตรงกลางให้พวกเขา อันนี้เป็นอย่างแรกที่เจอ
ภาพการแสดง 1 Table 2 Chairs, BIPAM 2018
ส่วนอย่างที่สองก็คือ พอได้ลองเล่น ลองโยนไอเดียนู่นนี่นั่นกันในแล็บก็พบว่า ในร่างกายของเรามันจะมี training เฉพาะอันนึง ที่ถูกส่งต่อมาจากยุค Post-Modern Dance ซึ่งตรงนี้ขอค้างไว้ก่อนนะครับ
แล้วพอพูดถึง Post-Modern Dance ปุ๊บ มันก็ไปผนวกกับไอเดียของการเป็น ‘พลเมือง’ ในประเทศนี้ เพราะก่อนหน้าที่จะทำโชว์ เรามีความรู้สึกอยู่ตลอดว่า เรามองไม่เห็น ไม่สามารถจินตนาการถึงอนาคตของพลเมือง ของประเทศ หรือแม้แต่ของตัวเราเองได้ชัดเท่าไร รู้สึกว่ามันยากจังเลยที่จะจินตนาการถึงอนาคต ซึ่งสำหรับเรา เราว่ามันมีสาเหตุหลายอย่างผสมปนๆ อยู่ในนั้น เราก็พยายามจะหาคำตอบว่ามันคืออะไรบ้าง
โดยส่วนตัว เราเชื่อว่าหนึ่งในนั้นก็คือความเป็น Neoliberalism หรือเป็น Capitalism ที่ปฏิเสธไม่ได้ ที่เราจะต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกทุนนิยม เราคิดว่าไอเดียนี้มันทำให้คนคิดถึงแต่ปัจจุบัน หมายถึงมันจะเรียกร้องให้เราผลิตหรือทำอะไรบางอย่างเพื่ออยู่กับปัจจุบันอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น คนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ก็จะคิดแค่ว่าวันนี้ต้องหาตังค์เท่าไรเพื่อเอาตัวรอด คือมันยากมากเลยนะ คิดแค่ว่าจะหาตังค์ยังไง จะจ่ายหนี้ยังไง จ่ายบัตรเครดิตยังไง ก็จะคิดวนๆ อยู่แค่นี้ทุกวัน พูดง่ายๆ ก็คือมันไม่อนุญาตให้เราคิดถึงอนาคตดีๆ หรืออนาคตแบบที่เราฝันได้เลย
"เราคิดว่า อนาคตของพลเมือง กับอนาคตของประเทศมันเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน แต่นอกจากแรงของการหาเช้ากินค่ำแล้ว เรายังพบกับอีกประเด็นนึงนั่นก็คือ ‘การวนกลับของอดีต’ คือประเทศนี้มันเหมือนแบบ พอกำลังจะก้าวไปข้างหน้า ก็จะมีเหตุอะไรไม่รู้ดึงเรากลับไปสู่จุดเดียวกับอดีต หรือไม่มันก็มีความพยายามทำให้อดีตยังคงอยู่หรือกลับมาอีกครั้งเสมอ" -- ตั๋ม ธนพล
จริงๆ เราคิดว่า อนาคตของพลเมือง กับอนาคตของประเทศมันเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน แต่นอกจากแรงของการหาเช้ากินค่ำแล้ว เรายังพบกับอีกประเด็นนึงนั่นก็คือ ‘การวนกลับของอดีต’ คือประเทศนี้มันเหมือนแบบ พอกำลังจะก้าวไปข้างหน้า ก็จะมีเหตุอะไรไม่รู้ดึงเรากลับไปสู่จุดเดียวกับอดีต หรือไม่มันก็มีความพยายามทำให้อดีตยังคงอยู่หรือกลับมาอีกครั้งเสมอ
สำหรับเรา แค่หาเช้ากินค่ำคิดกับชีวิตในแต่ละวันก็ยากแล้วนะ คราวนี้พอมีการดึงกลับเข้ามาอีก มันก็เหมือนกับมีสองแรงที่คอยฉุดพลเมืองแบบเราเอาไว้ ก็เลยมานั่งคิดว่าถ้านึกถึงช่วงเวลาในอนาคตไม่ออกแล้วต้องติดอยู่ในหล่มเวลาแบบนี้ - เราจะสามารถจินตนาการถึงช่วงเวลาไหนได้อีกนะ?
ทีนี้ ทุกอย่างก็เลยมาประกอบเข้ากับสิ่งที่วิพูดถึงในช่วงที่ทำแล็บ ก็คือเรื่องของ Post-Modern Dance เหมือนกับจิ๊กซอว์ทุกตัวมันมาต่อกันลงล็อกพอดี เพราะตอนนั้นเราคุยกันว่า เออ ใช่ ประเทศนี้มันไม่เคยมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับช่วงเวลานี้อยู่เลย หมายถึงว่ามันไม่มีการเคลื่อนไหวของ Post-Modern Dance มาก่อน
เพราะว่าในความเข้าใจของเรา การเต้นในประเทศนี้ก็จะมีการเต้นแบบ Traditional แล้วก็มีพวกงานคลาสสิกที่นำเข้ามาจากตะวันตก ยกตัวอย่างเช่น พวกบัลเลต์ หลังจากนั้นก็จะมีการเข้ามาของ Modern Dance ต่างๆ ซึ่งอันนี้เกิดจากการที่มีใครบางคนได้ออกไปเรียนข้างนอก แล้วเอาสิ่งเหล่านี้กลับมาด้วย หลังจากนั้นโผล่มาอีกที มันก็มาสู่ยุค Contemporary Dance แล้ว
มันเลยน่าคิดนะ ว่าทำไมเราถึงไม่มียุคสมัยของ Post-Modern Dance กับเขาบ้าง
วิ-วิทุรา อัมระนันทน์
ช่วยขยายความของ Post-Modern Dance ให้เราเข้าใจหน่อยได้ไหม
วิ : จริงๆ พอพูดถึง Post-Modern Dance อะ ส่วนใหญ่บริบทมันมักจะพูดถึงที่นิวยอร์ก เพราะว่าในนิวยอร์กช่วงนั้น พวกศิลปินเขาจะพยายามสร้างเทคนิคของตัวเอง พยายามที่จะขบถออกจากบัลเลต์ หรือพวกงานคลาสสิกต่างๆ เพราะเขาคิดว่ามันมีวิธีอื่นที่ร่างกายสามารถปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่า
ยกตัวอย่างเช่น บัลเลต์มันจะมีท่าทางของมันเอง เราจะไปเปลี่ยน ไปคิด ไปขึ้นท่าเองไม่ได้ นั่นจะไม่ถูกนับว่าเป็นบัลเลต์แล้ว แต่ศิลปินพวกนี้เขาจะมีแนวคิดว่า จริงๆ เราสามารถทำแบบนี้กับร่างกายได้ ไม่จำเป็นต้องพอยต์เท้า หรือตั้งท่าอะไรแบบนั้น เขาจะค้นหาเทคนิคของเขาเองที่สามารถปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้หลากหลายมากกว่า
สิ่งนึงที่ศิลปินยุคนั้นทำ ก็คือ เขามองออกไปนอกสตูดิโอเต้น คือเริ่มออกไปมองผู้คนว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เขาดูแพตเทิร์นของคนที่เดินอยู่บนถนน ดูสิ่งที่เกิดในสังคมข้างนอก แล้วก็เลยเริ่มหยิบการเดิน การนั่ง การเล่นกับสิ่งของ เข้ามาประยุกต์ท่าทาง
แล้วทีนี้ Post-Modern Dance ก็คือรับเอาแนวคิดนี้มาเลย ว่าจริงๆ การเต้นมันไม่จำเป็นต้องมาจากนักเต้นที่ถูกฝึกฝนมา หรือไม่จำเป็นจะต้องปลอดปล่อยความรู้สึกใดๆ ออกมาก็ได้ การเต้นอาจเป็นแค่การเคลื่อนไหวอย่างการนั่งพยักหน้า เดิน นั่ง วิ่ง เหมือนวิธีที่เราใช้ร่างกายในชีวิตประจำวัน เขาจะถือว่านี่คือการเต้นในช่วง Post-Modern ด้วยเหมือนกัน
"Post-Modern Dance คือรับเอาแนวคิดนี้มาเลย ว่าจริงๆ การเต้นมันไม่จำเป็นต้องมาจากนักเต้นที่ถูกฝึกฝนมา หรือไม่จำเป็นจะต้องปลอดปล่อยความรู้สึกใดๆ ออกมาก็ได้ การเต้นอาจเป็นแค่การเคลื่อนไหวอย่างการนั่งพยักหน้า เดิน นั่ง วิ่ง เหมือนวิธีที่เราใช้ร่างกายในชีวิตประจำวัน เขาจะถือว่านี่คือการเต้นในช่วง Post-Modern ด้วยเหมือนกัน" -- วิ วิทุรา
ตั๋ม : คือนิวยอร์กตอนนั้นมันเป็นช่วงยุค 70s เนอะ เป็นช่วงเวลาที่ประวัติศาสตร์มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ มีทั้งสงครามเวียดนาม และการเคลื่อนไหวอย่างอื่นในสังคมด้วย
แต่อันนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าที่อื่นจะไม่มีนะครับ เราคิดว่ามันมีในที่อื่นๆ อยู่แล้ว ในยุโรปก็มี สแกนดิเนเวียก็มี เพียงแต่เขาอาจจะไม่ได้เรียกมันว่า Post-Modern Dance เท่านั้นเอง
แล้วแบบนี้มันจะไม่เคยมีในไทยจริงเหรอ
ตั๋ม : เราคิดว่ามันเอาไปเทียบคู่ขนานกันเลยไม่ได้ เราไม่ได้คิดว่าในไทยมันไม่ได้พัฒนาอะไรขึ้นมาเลยนะ นั่นมันไม่จริง เพราะว่าเมื่อมนุษย์มีชีวิต มันย่อมมีไดนามิกของการพัฒนาบางอย่างเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่เคยมียุคสมัยของสิ่งที่เรียกว่า Post-Modern Dance ก็เพราะว่า แนวคิดในแบบนี้มันไม่เคยปรากฏขึ้นที่นี่มาก่อน แนวคิดที่พยายามจะมอง การนั่ง การยืน การเดิน การเคลื่อนไหวต่างๆ ว่าเป็นการเต้นเนี่ย มันแทบไม่เคยมีอยู่เลย
วิ : คือมันแทบไม่มีการปัดหรือปฏิเสธสิ่งที่มีมาก่อนเลยอะ ไม่เคยมีเคสที่แบบฉันจะปฏิเสธสิ่งนี้ ฉันจะสร้างไอเดียใหม่เกี่ยวกับร่างกาย
แล้วถ้าเป็นศิลปะพื้นบ้านล่ะ เขามีการขบถ การต่อสู้หรือไม่ยอมรับสิ่งที่มาก่อนแบบนี้บ้างไหม
แม่จำปา : ถ้าทางชาวบ้าน บอกตรงๆ ว่า ผู้นำว่าไง เขาก็ตามกันไปหมด คนพื้นบ้านน่ะนะ มันไหลไปตามๆ กัน แต่เอาจริงๆ ในทางศิลปะมันก็พอมีอยู่นะ ที่คนนี้ไม่ชอบแบบนั้น คนนั้นจะทำแบบนี้ แต่ว่าสุดท้ายแล้วสังคมส่วนใหญ่จะตัดสินเองว่าเขาจะเอาอันไหน
ตั๋ม : ใช่ คือสำหรับเรา Post-Modern Dance มันกำลังเปิดให้เราตั้งคำถาม ไม่ได้ตั้งคำถามกับสังคมด้วยนะ เป็นการตั้งคำถามกับการเต้นและการเคลื่อนไหว คือจะไม่ใช่คำถามที่แบบ “อันนี้สวยรึยัง”, “ท่านี้ดีรึยัง” แต่มันกำลังตั้งคำถามว่า ในเมื่อทุกอย่างสามารถเป็นการเต้นได้ แล้วหลังจากนั้น เราจะสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ในการพับแขน ข้อพับของเราจริงๆ แล้วมันทำงานยังไง
เราคิดว่าสิ่งนี้มันกำลังเข้าไปสำรวจร่างกายและตั้งคำถามกับร่างกายอย่างจริงจัง ว่านี่ไม่ใช่ร่างกายสำหรับเพื่อแสดงหรือเพื่องานศิลปะเท่านั้น แต่นี่คือร่างกายมนุษย์ ไอเดียนี้มีอยู่ใน Post-Modern Dance ค่อนข้างสูง
วิ : ซึ่งพี่ตั๋มพยายามสร้างช่วงเวลา Post-Modern Dance ให้เกิดขึ้นมาในโชว์ชิ้นนี้
ตั๋ม : ใช่ นี่แหละครับ เราก็เลยจินตนาการว่า ถ้าประเทศไทยมีช่วงเวลาแบบนี้อยู่ล่ะ มันจะเกิดอะไรขึ้น?
เราพยายามใช้มุมมองเดียวกันกับศิลปินที่นิวยอร์ก พยายามจินตนาการตามเขาว่า ถ้ามองออกไปข้างนอกหมายถึงว่า ถ้าเรามองออกไปในสังคมข้างนอกจริงๆ เราจะมองเห็นอะไรในร่างกายคนบ้าง แล้วก็ใช่เลย สิ่งที่เราพบในไทยมันไม่ได้มีแค่การเดิน การยืน การนั่ง เหมือนกับของฝรั่ง เพราะในประเทศนี้แม้แต่การเดิน นั่ง นอน ยืน ก็ยังมีกฎเกณฑ์และแบบแผนอยู่
"(เกี่ยวกับความขบถ เพราะไม่ยอมรับกรอบกฎเกณฑ์ที่มาก่อน) ถ้าทางชาวบ้าน บอกตรงๆ ว่า ผู้นำว่าไง เขาก็ตามกันไปหมด คนพื้นบ้านน่ะนะ มันไหลไปตามๆ กัน แต่เอาจริงๆ ในทางศิลปะมันก็พอมีอยู่นะ ที่คนนี้ไม่ชอบแบบนั้น คนนั้นจะทำแบบนี้ แต่ว่าสุดท้ายแล้วสังคมส่วนใหญ่จะตัดสินเองว่าเขาจะเอาอันไหน" -- แม่จำปา
หมายถึงยังไง ช่วยอธิบายต่อได้ไหม
ตั๋ม : มารยาทไทยไงครับ ยกตัวอย่างเช่น เวลาเดินผ่านผู้ใหญ่ คุณต้องเดินยังไง เวลาเจอพระสงฆ์ ต้องทำตัวยังไง นึกออกใช่ไหม? นี่แหละครับ สำหรับเรา ร่างกายมันซึมซับอำนาจบางอย่างเข้าไป เวลาเราพูดถึงการเดิน การนั่ง การยืน บริบทการเคลื่อนไหวของคนไทยมันไม่ได้เหมือนกับที่อื่น อิสรภาพในร่างกายที่เรารู้สึกว่ามี จริงๆ แล้วมันอาจไม่มีเลยก็ได้ เพราะประเทศนี้มีการบอกเอาไว้เลยว่า คุณควรจะเดินยังไง ควรจะนั่งยังไง ควรจะนอนยังไง ทุกอย่างมันถูกกำหนดเอาไว้ด้วยกฎเกณฑ์บางอย่าง
คือไม่ใช่ว่าประเทศอื่นมันไม่มีแบบแผนนะ แต่สำหรับเรามันชัดเจนมากว่าประเทศนี้มี แล้วชัดเจนมากว่าคนไทยจะต้องทำอะไรบ้าง ต้องยืนแบบนี้ ต้องเดินแบบนี้ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือเรายังคงซึมซับสิ่งนี้อยู่ลงไปในร่างกายตลอดเวลา
แม่จำปา : นั่งขัดสมาธิก็ไม่ได้ เดินเสียงดังก็ไม่ได้ วิ่งบนบ้านก็ไม่ได้
ตั๋ม : ใช่ไหมล่ะ การเดินเบาๆ คือมารยาทที่ดี อะไรแบบนี้ นึกออกกันใช่ไหม? แล้วพอมองลึกลงไปอีก เราก็เริ่มคิดว่า แล้วร่างกายของคนไทยที่ผ่านอะไรมาตั้งแต่เด็กจนโต มันยังมีอะไรซึมซับเข้าไปอีกวะ?
ดังนั้น เราก็เลยสนใจว่า ถ้างั้นภายใต้บริบทของประเทศนี้ มันมีการเต้นอะไรที่ทุกคนเคยผ่านกันมาบ้าง ซึ่งมีเยอะมากนะ หนึ่งในนั้นก็คือพวก ‘จินตลีลา’ ถ้าผ่านโรงเรียนไทยมา เชื่อว่าทุกคนจะต้องโดนหรือจะต้องได้สัมผัสสิ่งนี้แน่นอน หรือแม้แต่ ‘หลีดมือ’ มันก็มีอยู่คู่บ้านเรานานแล้วนะ แต่เอาเข้าจริง สิ่งนี้มันคืออะไรล่ะ?
นี่แหละ อะไรแบบนี้อยู่ตามจุดต่างๆ ในแลนด์สเคปของประเทศนี้เยอะมาก เราเลยสนใจว่าถ้าเกิดคนที่เป็นนักเต้น (Dancer) หรือนักออกแบบท่าเต้น (Choreographer) หยิบเอาสิ่งนี้มาใช้ แล้วจริงจังกับมัน จะค้นพบอะไรบ้าง? แล้วภายใต้การเต้นในลักษณะนี้ เราจะเห็น ‘อำนาจ’ ที่กระทำต่อมันได้ยังไง?
ตรงจุดนี้ เราเชื่อว่าเบื้องหลังของทุกการเต้นมันมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจยึดโยงกับบริบทต่างๆ ด้วยตัวของมันเอง แล้วถ้าเกิดเราหยิบสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาแสดง มันจะทำให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายใต้บริบทของประเทศนี้ได้บ้างไหม? แล้วเราจะหยอกล้อกับอำนาจเหล่านี้ได้ยังไงบ้าง? นี่แหละก็เลยเป็นที่มาของงานชิ้นนี้
"สำหรับเรา ร่างกายมันซึมซับอำนาจบางอย่างเข้าไป เวลาเราพูดถึงการเดิน การนั่ง การยืน บริบทการเคลื่อนไหวของคนไทยมันไม่ได้เหมือนกับที่อื่น อิสรภาพในร่างกายที่เรารู้สึกว่ามี จริงๆ แล้วมันอาจไม่มีเลยก็ได้ เพราะประเทศนี้มีการบอกเอาไว้เลยว่า คุณควรจะเดินยังไง ควรจะนั่งยังไง ควรจะนอนยังไง ทุกอย่างมันถูกกำหนดเอาไว้ด้วยกฎเกณฑ์บางอย่าง" -- ตั๋ม ธนพล
แล้วพอเอาบริบททางการเมืองมาใส่ ทางทีมค้นพบอะไรบ้าง
ตั๋ม : อืม สิ่งที่เราพบในอำนาจเหล่านี้คือ มันมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่เขาสามารถเดินได้อย่างอิสระ นั่งได้อย่างอิสระ หรือมีตัวเลือกมากมายให้เลือกทำอะไรก็ได้ แล้วก็พอจะเห็นว่า ไอ้อำนาจที่เราอยู่รอบตัวเราเนี่ย มันพยายามจะเข้ามา แล้วมันอยู่ในตัวเราแล้วมากน้อยขนาดไหน
วิ : จริงๆ ด้วยตัวกระบวนการหรือเรื่องราวของโชว์เอง มันก็พูดถึงอิสรภาพหรือการปลดปล่อย คือเราไม่ได้จะหาคำตอบกับมัน แค่เอามาสำรวจแล้วก็ปล่อยมันออกมาให้คนเห็นว่า มันเป็นแบบไหน
เลยคิดว่าเราได้หยอกล้อกับมัน ในงานนี้เรากำลังหยอกล้อกับสิ่งนี้อยู่ ซึ่งหลังจากการหยอกล้อนี้มันอาจจะนำมาซึ่งการเห็นอะไรบางอย่าง อาจจะไม่ได้ให้คำตอบที่แน่ชัด แต่มันอาจจะนำมาซึ่งความคิดอะไรบางอย่าง หรือความเป็นไปได้บางอย่าง
คิดว่าผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงอะไรในการแสดงชิ้นนี้
ตั๋ม : เรารู้สึกว่าถ้าเป็นคนที่โตมาในประเทศนี้ เขาจะได้เห็นการเคลื่อนไหว เห็นการเต้นแบบต่างๆ ที่จริงๆ ตัวเขาเคยผ่านมันมาบ้าง แต่อาจจะไม่เคยตั้งคำถามกับมัน หรือไม่เคยเห็นมันในอีกรูปแบบหนึ่ง คิดว่าคนดูน่าจะเห็นสิ่งนี้
วิ : คิดว่าจะได้เห็นการหยอกล้อในบางส่วนของงาน แล้วก็เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ สำหรับการเต้นหรือการเคลื่อนไหว
แม่จำปา : คิดว่าเขาต้องสัมผัสได้แน่นอน มันดูรู้นะแม่ว่า ขนาดอายุปูนนี้ แม่เห็นเขาเต้น แม่ยังดูออกเลย บางท่ามันชัดมาก เห็น เชื่อแม่สิ (หัวเราะ) เขาต้องคิดตามได้แน่นอน ต้องคิดได้แหละ ว่าเราจะสื่ออะไร
INTERMISSION จะจัดแสดง ณ ห้องประชุมสถาบันเกอเธ่ สาทร ตั้งแต่วันที่ 22-23 มีนาคมนี้ เพียงสามรอบการแสดงเท่านั้น
โดยนอกจากเรื่องนี้ ในเทศกาล BIPAM 2023 ก็ยังจัดแสดงผลงานศิลปะการแสดงร่วมสมัยจากไทยและต่างประเทศอีกถึงสามเรื่อง พร้อมทั้งยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ให้ร่วมสนุกอีกมากมาย ใครที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม และสำรองบัตรได้แล้วตอนนี้ ที่เว็บไซต์ www.bipam.org
ภาพโดย Wichaya Artamat
หมายเหตุ : ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานจากความร่วมมือของสามเทศกาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ BIPAM ประเทศไทย, Singapore International Festival of Arts ประเทศสิงคโปร์ และ George Town Festival ประเทศมาเลเซีย โดยหลังจากเปิดตัวครั้งแรกที่ไทยแล้ว โปรดักชันนี้ก็จะเดินทางไปจัดแสดงในอีกสองประเทศในช่วงกลางปี 2023
