คุยกับ Jonas Blue + Wooli สองดีเจตัวจี๊ดของงาน Together Festival 2023
...
LATEST
Summary
- Together Festival 2023 จัดขึ้นในวันที่ 4-5 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยดีเจที่เป็นเฮดไลน์ของสุดยอดปาร์ตี้รวมพลคนชอบเต้นงานนี้ ก็นับว่าดีงามสมกับเป็นการฉลองครบรอบสิบปี โดยเฉพาะ Jonas Blue กับ Wooli ที่เราได้มีโอกาสพูดคุยด้วย
- Jonas Blue หรือ กาย เจมส์ โรบิน เป็นทั้งดีเจ, โปรดิวเซอร์ และนักแต่งเพลงจากอังกฤษ ที่หลงใหลในมนตร์เสน่ห์ของดนตรีเฮาส์จากยุค 90 ซึ่งดีเจเซตที่เขาเล่นมักจะมีองค์ประกอบของดนตรียูเคการาจซุกซ่อนอยู่ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
- ขณะที่ดีเจ Wooli หรือ อดัม โฟรช เป็นดีเจสายดับสเตป และริดดิม (Riddim) ซึ่งเป็นสาขาย่อยของดับสเตป ที่มีผลงานเพลงอันหนักหน่วงและโหดสุดๆ จนทำให้ผู้ชมอดไม่ได้ที่จะโยกหัวและเล่นมอชพิต (การผลักและกระแทกกันเป็นวงใหญ่บ้างเล็กบ้าง)
...
ถ่ายภาพดีเจ : ธวัช วิโรจน์ประชา
ปีนี้เป็นปีครบรอบหนึ่งทศวรรษของ Together Festival ที่ถึงแม้จะเคยว่างเว้นจากการจัดงานไปสองปีจากสถานการณ์โควิด แต่งานก็กลับมาจัดได้อีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยมี KSHMR, AXMO, Blaster Jaxx และ SUBZERO PROJECT ที่เป็นการผสมผสานของดนตรีเต้นรำร่วมสมัยอย่างฮาร์ดสไตล์ (Hardstyle เป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนกับฮาร์ดคอร์เฮาส์ ที่มีอัตราเร่งของจังหวะสูงกว่า 140 BPM ขึ้นไป), บิ๊กรูม (แขนงย่อยของดนตรีเฮาส์ที่ใช้เครื่องให้จังหวะแต่น้อย ขณะที่ก็ยังโดดเด่นด้วยการไล่ระดับของเสียงเบส) และแทร็ป (ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างดนตรีเทคโน, ดับ และ เนเธอร์แลนด์เฮาส์)
มาในปีนี้ งาน Together Festival จัดขึ้นในวันที่ 4-5 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยดีเจที่เป็นเฮดไลน์ของสุดยอดปาร์ตี้รวมพลคนชอบเต้นงานนี้ ก็นับว่าดีงามสมกับเป็นการฉลองครบรอบสิบปี โดยเฉพาะ Jonas Blue กับ Wooli ที่เราได้มีโอกาสพูดคุยด้วย
โดย Jonas Blue หรือ กาย เจมส์ โรบิน เป็นทั้งดีเจ, โปรดิวเซอร์ และนักแต่งเพลงจากอังกฤษ ที่หลงใหลในมนตร์เสน่ห์ของดนตรีเฮาส์จากยุค 90 ซึ่งดีเจเซตที่เขาเล่นมักจะมีองค์ประกอบของดนตรียูเคการาจซุกซ่อนอยู่ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และผลงานของเขาอย่าง Mama, Fast Car, Rise, Perfect Stranger และอีกหลายเพลงที่ติดชาร์ตเพลงฮิต แถมยังสร้างยอดขายที่ไม่ธรรมดาไปทั่วยุโรป
ขณะที่ดีเจ Wooli หรือ อดัม โฟรช เป็นดีเจสายดับสเตป และริดดิม (Riddim) ซึ่งเป็นสาขาย่อยของดับสเตปที่แบ่งสัดส่วนโน้ตของกลองเป็นแบบสามพยางค์ เพื่อที่จะได้ใส่อารมณ์ในทำนองเพลงให้หนักขึ้น โดยริดดิมได้รับอิทธิพลมาจากดนตรีเร็กเก้และดับมากเป็นพิเศษ โดยพร้อมกันนั้นก็มีการใช้เสียงสังเคราะห์ที่หนักหน่วงและการเล่นโน้ตแบบย้ำๆ ไปมา ที่ฟังดูคล้ายกับการริฟฟ์กีตาร์ของวงเมทัล – จึงไม่แปลกที่ Wooli จะสร้างโชว์ที่ทั้งหนักหน่วงและโหดสุดๆ จนทำให้ผู้ชมอดไม่ได้ที่จะโยกหัวและเล่นมอชพิต (การผลักและกระแทกกันเป็นวงใหญ่บ้างเล็กบ้าง)
ย้อนส่องไลน์อัปสุดเดือด สมกับการฉลองครบรอบหนึ่งทศวรรษ Together Festival
แต่ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับดีเจทั้งคู่ เราอยากชวนคุณย้อนไปส่องไลน์อัปดีเจของ Together Festival 2023 กันสักหน่อย
โดยดีเจที่เป็นเฮดไลน์ของงานปีนี้ นำทีมโดย Alesso ดีเจชาวสวีดิชที่เปิดเพลงในแนว โปรเกรสซีฟเฮาส์ ที่มีส่วนผสมของดนตรียูโรแดนซ์และเทคโน (โดย 2 Unlimited เป็นวงที่ทำให้ดนตรีแนวนี้ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ต้นยุค 90) และ Boyz Noise ดีเจแนวอิเล็กโทรเฮาส์และเทคโนจากเยอรมนี
Galantis คู่หูดีเจชาวสวีดิชที่เปิดดนตรีที่ผสมผสานแนวย่อยของดนตรีเฮาส์ ไม่ว่าจะเป็นโปรเกรสซีฟ, บิ๊กรูม, ดีฟเฮาส์ ไปจนถึงฟิวเจอร์เฮาส์ ที่นำองค์ประกอบของดนตรียูเคการาจ ซึ่งมีทั้งดนตรีแดนซ์ป๊อป, อาร์แอนด์บี, เบรกบีต มารวมไว้ด้วยกัน ซึ่งยูเคการาจนั้นมักมีการใช้จังหวะคิกดรัมแบบ 4/4 ในหนึ่งห้องอย่างชัดเจน แต่ก็จะมีการนำดนตรีเต้นรำหลายๆ แขนงอย่างดับสเตป, ฟังก์ และอื่นๆ เข้ามารวมอยู่ด้วย โดยมีอัตราความเร่งของจังหวะในหนึ่งนาทีอยู่ที่ราวๆ 130 BPM
นอกจากนี้ ยังรวมถึง Slander คู่หูดีเจชาวอเมริกันในแนวทางฟิวเจอร์เบส/ดับสเตป และที่ขาดไม่ได้ ก็คือ อีริก พริดซ์ (Eric Prydz) ดีเจชาวสวีดิชแนวเทคโนและโปรเกรสซีฟเฮาส์ระดับโลก ที่มาโชว์ในไทยเป็นครั้งแรกที่งานนี้
ส่วนดีเจคนอื่นๆ ที่เปิดเพลงได้อย่างกระแทกกระทั้นจนแดนซ์ฟลอร์สั่นสะเทือน ก็มี Dirtyphonics, Koven, Ookay, Adventure Club และ Wooli โดยทั้งหมดส่งเพลงแดนซ์สุดโหดขึ้นโชว์ในแบบดับสเตป, แทร็ป และดรัมแอนด์เบส ซึ่งแม้จะจัดบนเวทีเล็ก Monster Cat Stage แต่ความมันนั้นไม่ได้เล็กตามไปด้วย
โดยเวทีนี้ได้ทาง Monster Cat ซึ่งเป็นค่ายเพลง EDM ระดับแถวหน้าของแคนาดา มาคัดเลือกดีเจ และดูแลคิวในการขึ้นโชว์ โดยอิงจากธรรมชาติของดนตรีแนวดับสเตปที่มีการใช้เบสไลน์อย่างหนักหน่วงผสมกับดนตรีโบรคเคนบีตและไกรม์ ที่พัฒนามาจากดรัมแอนด์เบส, ฮิปฮอป และยูเคการาจยุคแรกๆ ที่เน้นบีตสุดมัน
เพราะผู้คนคือดนตรี : Jonas Blue ดีเจรุ่นใหม่ที่หลงใหลในดนตรีเต้นรำ ‘โอลด์สคูล’
“ในช่วงที่ผมกำลังจะปล่อยเพลง Fast Car วงการเพลงแดนซ์ในช่วงนั้นไม่มีดีเจจากอังกฤษเลย ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้ทุกสิ่งที่ผมทำได้รับการพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือซาวนด์ดนตรีที่ผมใช้เวลาบ่มเพาะมานาน ผมเลยต้องดูตลาดว่า ในตอนนี้ เพลงเต้นรำแบบไหน หรือว่าดีเจชาติใดที่กำลังโด่งดังอยู่บ้าง” ดีเจหนุ่มวัย 33 ปีอย่าง กาย เจมส์ โรบิน เริ่มต้นเล่าถึงสาเหตุในการใช้ชื่อนี้สำหรับการทำงานเพลงและการเป็นดีเจในวงการ
“แล้วผมก็พบว่า เกือบทั้งหมดเป็นดีเจชาวสวีดิช อย่างเช่น Swedish House Mafia หรือ Avicii ผมก็เลยคิดว่า ถ้าใช้ชื่อที่ฟังแล้วเหมือนดีเจจากสวีเดนก็คงดี (หัวเราะ) ผมเลยเลือกใช้ชื่อที่ฟังดูคล้ายๆ กับชาวสวีดิช ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ก็มาลงเอยที่ชื่อ Jonas Blue นี่แหละครับ”
ก่อนหน้านี้ Jonas Blue เคยเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยและขึ้นโชว์ในกรุงเทพฯ มาแล้ว ซึ่งเจ้าตัวก็บอกถึงความรู้สึกที่ได้กลับมาไทยอีกรอบว่า “ผมไม่ใช่แค่ชอบนะ แต่รักที่จะกลับมาที่กรุงเทพฯ และประเทศไทยเสมอ เพราะผมชอบคนไทยเป็นการส่วนตัวในหลายๆ เรื่อง แถมแฟนเพลงก็ยังเต็มไปด้วยพลัง ผมชอบอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวมากๆ โดยเฉพาะเกาะหลายแห่งที่มีความสวยงาม เป็นธรรมชาติ”
นอกจากนั้น เขายังเผยถึงความรู้สึกที่ได้กลับมาเปิดเพลงแดนซ์ตามแบบฉบับเฉพาะตัวที่ไทยอีกครั้งด้วยว่า “ผมรู้สึกเยี่ยมไปเลยครับ มันดีมากๆ ที่ได้กลับมาอีกครั้ง และผมก็ตื่นเต้นมากที่จะได้ขึ้นโชว์อีกครั้ง มันเป็นช่วงเวลาที่ดี เพราะแฟนๆ ชาวไทยได้ส่งแรงใจมาให้ ผมจึงสามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีที่สุดตอนอยู่บนบูทดีเจอยู่เสมอ”
“ทุกครั้งที่ผมทำงานในวงการดนตรี ผมต้องแน่ใจว่า สิ่งที่กำลังจะทำ และทำเสร็จแล้ว มันจะออกมาดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ในเวลานั้น ผมชอบช่วงเวลาในการแต่งเพลง และเมื่อแต่งเพลงเสร็จ ผมจะต้องมีความเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ว่าเวลาเปิดเพลงที่ผมแต่งไปแล้ว ทุกคนจะต้องเต้นตามได้อย่างมีความสุข”
แล้วถ้าพูดถึงเสน่ห์ของการเป็นดีเจในแบบ Jonas Blue มีอะไรที่ทำให้คุณแตกต่างไปจากดีเจคนอื่นๆ บ้าง – เราถามเขา
“ทุกครั้งที่ผมทำงานในวงการดนตรี ผมต้องแน่ใจว่า สิ่งที่กำลังจะทำ และทำเสร็จแล้ว มันจะออกมาดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ในเวลานั้น ผมชอบช่วงเวลาในการแต่งเพลง และเมื่อแต่งเพลงเสร็จ ผมจะต้องมีความเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ว่าเวลาเปิดเพลงที่ผมแต่งไปแล้ว ทุกคนจะต้องเต้นตามได้อย่างมีความสุข ซึ่งส่วนมากผลลัพธ์จะออกมาเป็นแบบนั้น มันจึงเป็นช่วงเวลาที่น่าเหลือเชื่อสำหรับผมอยู่เสมอ
“และไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพลงในคลับ หรือว่าในเทศกาลดนตรีก็ตาม สิ่งที่ผมให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าการเลือกเซตเพลงในการเปิดเลย ก็คือ เทคนิคในการปรับเปลี่ยนซาวนด์ให้เข้ากับบรรยากาศของสถานที่และแฟนเพลง เพราะผมรักการแต่งเพลง และการได้ยินแฟนๆ ร้องเพลงที่ผมแต่ง ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่บรรยายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ นอกจากนี้ ผมก็ยังฟังเพลงเต้นรำอันเดอร์กราวนด์เยอะมาก ผมเลยนำเอาองค์ประกอบบางอย่างจากเพลงเต้นรำที่ไม่ได้อยู่ในความนิยมกระแสหลัก มามิกซ์เข้ากับเพลงของตัวเองเยอะพอสมควรเลย”
เมื่อไม่นานมานี้ Jonas Blue เพิ่งจะปล่อยเพลง Crying On the Dance Floor ออกมา ซึ่งก็ได้สุดยอดดีเจและศิลปินเพลงแดนซ์ระดับท็อปของวงการอย่าง แซม เฟลด์ต (Sam Feldt), Endless Summer และ ไวโอเลต เดย์ส (Violet Days) มาร่วมงานด้วย โดยซาวนด์ของเพลงนี้มีกลิ่นอายของดนตรียูโรแดนซ์ยุค 90, เฮาส์, แทรนซ์ และอิเล็กโทรป๊อป ที่มิกซ์กันได้อย่างกลมกลืนและฟังสนุก – ซึ่งเราได้บอกกับเขาว่า เราชื่นชอบเพลงนี้มาก และอยากรู้ที่มาที่ไปของเพลงนี้ด้วย
“ขอบคุณที่ชอบเพลงนี้นะครับ คือมันเริ่มมาจาก ไวโอเลต เดย์ส ที่ฝากเสียงร้องไว้ เป็นคนส่งเดโม่แบบหยาบๆ มาให้ผมก่อน ส่วนดนตรีแบ็กกราวนด์เป็นทำนองเพลงเก่าของ Alice DJ (กลุ่มศิลปินแนวยูโรแดนซ์ชาวเนเธอร์แลนด์) ซึ่งติดหูมาก ผมฟังแล้วก็ชอบทันที เพราะรู้เลยว่านี่จะเป็นเพลงที่เหมาะสำหรับฤดูร้อนมากๆ ซึ่งช่วงก่อนนั้น ผมยังไม่มีเพลงใหม่ ผมเลยคิดจะเอาเพลงนี้ไปเปิดที่เทศกาลดนตรี Ultra-Festival ที่ไมอามี ดังนั้น เราเลยมีเวลาทำเพลงกันแค่สัปดาห์เดียว ทำกันอย่างรวดเร็วเลยจริงๆ แต่แฟนๆ ก็ชอบเพลงนี้กันมากครับ”
ดนตรีเต้นรำของ Jonas Blue เหมาะสำหรับผู้ฟังทุกคน แม้ว่าคุณจะไม่ได้ชอบเพลงแนว EDM ก็ตาม และถึงเพลงของเขาจะไม่ค่อยมีเสียงเบสหนักๆ อย่างฮาร์ดสไตล์หรือแทร็ป แต่ก็สังเกตได้ว่า กระทั่งแฟนๆ ที่ชอบดนตรี EDM ร่วมสมัยที่เน้นเสียงเบสและจังหวะที่รวดเร็วแบบเบรกบีต ก็ยังมารอดูโชว์ของ Jonas Blue เช่นกัน ส่งผลให้โชว์ของดีเจหนุ่มคนนี้มีจำนวนผู้ชมเยอะ และไม่ว่าใครๆ ต่างก็สนุกที่จะเต้นตาม เราจึงเริ่มอยากรู้ถึงเคล็ดลับในการสร้างสรรค์ดนตรีเต้นรำของเขา
“ดนตรีเต้นรำก็มีศิลปะของมันอยู่นะ ถึงแม้ว่าตรงหน้าคุณจะมีแค่แผงมิกเซอร์, เครื่องเล่นสำหรับมิกซ์เพลง, ซินธิไซเซอร์ และแล็ปท็อปก็ตาม คุณต้องทำเองทุกอย่างคนเดียว เพื่อให้เซตเพลงออกมาดีที่สุด และผมก็ไม่ได้เปิดเพลงเพื่อตัวผมเอง ผมเปิดเพลงเพื่อผู้คน ผมอยากเห็นทุกๆ คนเต้นรำ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเพลงของตัวผมเอง หรือว่าเพลงของศิลปินคนอื่นๆ ก็ตาม
“เป้าหมายเดียวของผม ก็คือ การได้เห็นทุกคนมีความสุขกับการเต้นแบบนันสตอป นี่ถือเป็นเป้าหมายหลักของผมมาโดยตลอด ผมไม่เคยเป็นดีเจประเภทที่ว่า ต้องเปิดเพลงเท่ๆ หรือเพลงอินดี้อันเดอร์กราวนด์ แต่ไม่เข้ากับสถานที่หรือความต้องการของผู้คนเลย – สำหรับผมแล้วผู้คนคือดนตรี”
“ผมได้รับแรงบันดาลใจในการทำเพลงจากการฟังเพลงหลากหลายแนวมาตั้งแต่เด็กครับ ผมโตมากับการฟังเพลงยูเคการาจ รวมถึงดนตรีโซล, แดนซ์ และป๊อปด้วย เวลาที่ผมทำเพลงของตัวเองไม่ว่าจะเป็นการแต่งเนื้อเพลง ทำดนตรี หรือทำอะไรก็ตาม ผมจะพยายามผสมสิ่งละอันพันละน้อยที่ผมชอบเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากและท้าทายมาก”
ดนตรีของ Jonas Blue มีส่วนผสมของดนตรีเต้นรำ ทั้งยุคเก่า โดยเฉพาะจากยุค 90 และยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นยูเคการาจ, เฮาส์, อาร์แอนด์บี และฟังกี้ ซึ่งเขาก็เล่าถึงเคล็ดลับในการผสมผสานดนตรีเหล่านี้ให้กลายมาเป็นดนตรีในแบบของตัวเอง ให้เราได้ฟัง
“ผมได้รับแรงบันดาลใจในการทำเพลงจากการฟังเพลงหลากหลายแนวมาตั้งแต่เด็กครับ ผมโตมากับการฟังเพลงยูเคการาจ รวมถึงดนตรีโซล, แดนซ์ และป๊อปด้วย เวลาที่ผมทำเพลงของตัวเองไม่ว่าจะเป็นการแต่งเนื้อเพลง ทำดนตรี หรือทำอะไรก็ตาม ผมจะพยายามผสมสิ่งละอันพันละน้อยที่ผมชอบเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากและท้าทายมาก เพราะผมไม่อยากทำเพลงให้เหมือนกับศิลปินที่ผมชอบ แต่พอฟังแล้วผู้ฟังจะรู้ได้ทันทีว่า ผมชอบเพลงแบบไหน และชอบศิลปินคนไหน
“ส่วนศิลปินที่ผมชอบและมีอิทธิพลในการทำเพลงของผมคือ คาลวิน แฮร์ริส (Calvin Harris) ครับ เพราะผมเห็นถึงพัฒนาการที่ไม่ธรรมดาของเขา ตั้งแต่อัลบั้มชุดแรกจนถึงชุดปัจจุบัน แล้วดนตรีของเขาในตอนนี้ คือ ‘ว้าว!’ มากสำหรับผม”
สำหรับผลงานเพลงทั้งในตอนนี้และในอนาคต Jonas Blue บอกว่า “ในตอนนี้ ผมเพิ่งปล่อยเพลงใหม่ออกมา 3 เพลงนะครับ ผมกำลังจะมีเพลงใหม่ออกมาในอีกไม่นานนี้ ซึ่งได้ นิคกี โรเมโร (Nicky Romeo) และ นิโค ซานโตส (Nico Santos) มาร่วมงานด้วย แล้วผมก็กำลังจะมีผลงานเพลงใหม่ๆ ออกมาตลอดทั้งปีเลยครับ สามารถติดตามกันได้ตลอด
“สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณแฟนๆ ชาวไทยที่ให้การสนับสนุนติดตามผลงาน และคอยรอดูโชว์ของผมตลอดมา ผมหวังว่าจะได้กลับมาเปิดเพลงให้ทุกคนได้ฟังกันอีกนะครับ”
หัวใจของดับสเตปคือจังหวะที่เร่งเร้า : Wooli ดีเจสายริดดิมและดับสเตป ผู้พิสมัยดนตรีเมทัลและเคป๊อป
Wooli เป็นดีเจอีกหนึ่งคนที่ทางเราได้มีโอกาสพูดคุยด้วย ก่อนที่ดีเจเจ้าของเพลงฮิตอย่าง Island และ Another Me คนนี้จะขึ้นโชว์ โดยเจ้าตัวบอกว่า ครั้งนี้ถือเป็นการมาเปิดเพลงที่นี่เป็นครั้งที่ 2 ของเขาแล้ว
“ครั้งแรกผมมาเปิดเพลงที่งาน OMG ครับ มันเป็นเหมือนงานปาร์ตีฮาโลวีน แล้วผมก็รู้สึกดีที่ได้รับเชิญให้มาเปิดเพลงที่งาน Together ในปีนี้ด้วย หลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้นจนสามารถเปิดคอนเสิร์ตได้ เพราะปกติโชว์ของผมทั้งหมดจะจัดแค่ในสหรัฐอเมริกา หรือไม่ก็แคนาดา
“สำหรับผมการมาเปิดโชว์ในเอเชียถือว่ายากพอสมควรหลังจากที่โควิดเพิ่งจะผ่านพ้นไปได้ไม่นาน พอผมรู้ว่าตัวเองจะได้มาเล่นที่ไทยอีกครั้ง ผมเลยตื่นเต้นมาก แล้วผมก็ชอบแฟนๆ ชาวไทยมากๆ ด้วย มีแฟนคลับชาวไทยหลายคนที่ส่งข้อความมาหาผมทางไอจี ซึ่งน่ารักมาก ประกอบกับการที่ผมไม่ค่อยได้มาทัวร์เอเชียหรือไทยบ่อยขนาดนั้น มันก็เลยเป็นความพิเศษเสมอเวลาที่ได้มา ผมรู้ว่ามีแฟนๆ ที่เฝ้ารอโอกาสเพื่อดูโชว์ของผม รวมถึงศิลปินต่างชาติ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาด้วยแล้ว ซึ่งก็โชคดีมากที่มีโปรโมเตอร์ในไทยที่รู้ว่า ซีนดนตรีต้องการอะไร และมันทำให้ผมได้กลับมาที่นี่อีกครั้ง”
ภาพโดย ศรัณยู ตรีสุคนธ์
ดนตรีของ Wooli มีเสียงเบสและคิกดรัม (Kick Drum – กระเดื่องกลองจากดรัมแมชชีน) ที่หนักหน่วงสม่ำเสมอ – คำถามก็คือ ดนตรีเต้นรำหนักๆ แบบดับสเตปและริดดิมที่เขาทำนั้น มีเสน่ห์เฉพาะตัวอย่างไร
“หัวใจของดับสเตปคือจังหวะที่เร่งเร้า สำหรับผมมันคือ Bass Music ซึ่งเป็นสไตล์ดนตรีที่ซับซ้อน เพราะว่าต้องนำเอาองค์ประกอบของดนตรีร็อกและเมทัลมาใส่ไว้ในทำนองด้วย แฟนๆ ของดนตรีแนวนี้จึงมีการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก ไม่ต่างไปจากการดูคอนเสิร์ตเมทัลเลยครับ โดยใช้มือเกาะรั้วด้านหน้าเอาไว้ แล้วก็โยกศีรษะขึ้นลงอย่างหนักและรวดเร็ว มีการเล่นมอชพิต
“ดนตรีทุกแนวมีวิวัฒนาการของมัน และผมก็นำเอาวัฒนธรรมและองค์ประกอบของดนตรีเมทัลมาใส่ไว้ในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าคุณชอบดนตรีที่มีเบสหนัก และชอบเมทัล ดับสเตปคือคำตอบที่ดีที่สุดแน่นอน”
เพลง Reasons ของ Wooli ถือเป็นคำตอบที่ครอบคลุมถึงคำถามที่ว่า ทำไมงานเพลงของเขาถึงได้โหดและหนักหน่วงนัก เพราะเพลงนี้ได้ Excision สุดยอดดีเจแนวดับสเตปและดรัมแอนด์เบสจากแคนาดามาร่วมทำเพลงด้วย แถมยังได้ The Devil Wears Prada วงดนตรีแนวเมทัลคอร์มาร่วมสร้างความมันให้เป็นทวีคูณ
“เพลงนี้เริ่มจากการที่ผมกับเพื่อนแต่งริฟฟ์กีตาร์กันก่อน แล้วผมก็เอาไปให้ Excision ฟัง เขาก็แนะนำว่าเพลงสามารถโหดได้มากกว่านี้อีก จากการใส่บีตอิเล็กทรอนิกส์หนักๆ ผสมกับดนตรีดับสเตป และดรอป (Drop) ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่เปลี่ยนจากเสียงเบสหรือบีตหนักๆ ไปเป็นเสียงคลีนสลับกันไปมา
“หลังจากที่ได้คอนเซปต์แล้ว เราก็มองหาวงที่จะมาใส่ริฟฟ์กีตาร์หนักๆ รวมถึงกลองสดในเพลงนี้ด้วย เพื่อไม่ให้มันเหมือนกับเพลงดับสเตปทั่วไป เพลงนี้ก็เลยกลายเป็นเพลงดับสเตปผสมเมทัลคอร์ ที่มีองค์ประกอบลงตัว ผมชอบทำเพลงที่เมื่อทุกคนได้ฟังแล้ว ไม่มีใครคาดถึงว่ามันจะออกมาเป็นแบบนี้ เพราะมันจะฉีกออกไปเลย”
“ดนตรีทุกแนวมีวิวัฒนาการของมัน และผมก็นำเอาวัฒนธรรมและองค์ประกอบของดนตรีเมทัลมาใส่ไว้ในดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าคุณชอบดนตรีที่มีเบสหนัก และชอบเมทัล ดับสเตปคือคำตอบที่ดีที่สุดแน่นอน”
แต่นอกจากการทำเพลงและฟังเพลงดับสเตป Wooli ยังชอบฟังเพลงแนวอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
“ผมชอบฟังเพลงแทรนซ์, เทค/เฮาส์ อย่างเช่น เพลงเก่าของ Kaskade (ดีเจแนวอิเล็กโทร/เฮาส์ชื่อดัง) รวมถึงเพลงแจ๊สด้วย ผมชอบฟังเพลงแนวนี้บนเครื่องบินในระหว่างการเดินทางเพื่อเป็นการผ่อนคลายนะ ซึ่งจะแตกต่างจากการเปิดเพลงสำหรับโชว์มากๆ เลย
“อย่างในอเมริกา ผมรู้ดีว่าตลาดเพลงป๊อปชอบเพลงอะไรกัน ผมก็นำเอาเพลงป๊อป หรือทำนองเพลงป๊อปเหล่านั้นมาผสมกับเซตของตัวเอง แต่ในไทย ผมต้องทำรีเสิร์ชพอสมควรเพื่อที่จะให้แฟนๆ อินไปกับโชว์ได้ ซึ่งตอนนี้ เคป๊อปกำลังฮิตมากใช่ไหมครับ”
“ใช่ครับ” เราตอบ ก่อนจะยิงคำถามกลับไปว่า แล้วคุณชอบเคป๊อปด้วยหรือเปล่า
“ผมไม่ได้เกลียดมันนะ ผมเพิ่งจะดูวง BLACKPINK เล่นที่เทศกาลดนตรี Coachella พวกเธอเก่งมากๆ เลย คือผมก็ไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของซีนเคป๊อปหรอก แต่ผมก็เข้าใจนะ ว่าทำไมมันถึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพราะเพลงและทุกอย่างมันดีจริง แล้วดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ก็มีบทบาทสำคัญต่อเคป๊อปอย่างเห็นได้ชัดด้วย ตอนนี้ผมเลยกลายมาเป็นแฟนคลับของวง BLACKPINK คนหนึ่งไปแล้วครับ”
ก่อนจากกัน Wooli จึงขอส่งสารถึงแฟนๆ ของเขาผ่านไทยรัฐพลัสว่า “ผมหวังว่าคุณจะสนุกกับโชว์ของผมนะครับ แล้วก็หวังว่าจะได้เจอกันใหม่เร็วๆ นี้”
ขอบคุณภาพบางส่วนจากเพจ Together Festival
